ขอเชิญทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเราในการสร้า้งสังคมแห่งการเรียนรู้...

หากต้องการลงบทความ/งานเขียนของท่าน สามารถแจ้งความประสงค์ได้ทางเว็บบอร์ด หรือทางอีเมล์แอดเดรส; po_kenchin@hotmail.com
หรือจะสมัครสมาชิกอย่างเดียวก็ได้นะครับ

31 พฤษภาคม 2554

ปล่อย นศ.-ชาวบ้านค้านวางสายส่งไฟฟ้าแล้ว เผยดูข้อมูลอาจฟ้องกลับเจ้าหน้าที่รัฐ


15 ชาวบ้าน-นักศึกษา ค้านก่อสร้างโครงข่ายไฟฟ้าแรงสูง น้ำพอง 2 - อุดรธานี 3 ได้รับการประกันตัวแล้ว ส่วนในพื้นที่ กฟผ.ยังเดินหน้าโครงการต่อ ด้านกลุ่ม นศ.ร่อน "แถลงการณ์จากคุก" ร้องดำเนินการทางกฎหมายกับเจ้าหน้าที่ กฟผ.-ตร.
 
ภาพ: เหตุการณ์การประจัญหน้าระหว่างกลุ่มนักศึกษาและชาวบ้าน กับเจ้าหน้าที่ กฟผ.และตำรวจ เมื่อวันที่ 27 พ.ค.54
 
วันนี้ (29 พ.ค.54) กรณีกลุ่มนักศึกษาและชาวบ้าน 15 คน ถูกจับกุมในข้อหาขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ โดยอ้าง พ.ร.บ.กำกับกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่กลุ่มนักศึกษาได้ร่วมกับชาวบ้านขัดขวางไม่ให้เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เข้าดำเนินการปรับพื้นที่เพื่อตั้งเสาไฟฟ้าแรงสูงตามโครงการก่อสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าแรงสูงขนาด 500 กิโลโวลต์ (KV) น้ำพอง 2 - อุดรธานี 3 ในพื้นที่ของชาวบ้าน ที่บ้านเหล่ากล้วย ต.เสอเพลอ อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี จนเป็นเหตุให้ถูกนำตัวไปฝากขังที่ สภ.อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี
 
นายณัฐวุฒิ พรมภักดี เจ้าหน้าที่ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพอีสาน ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มนักศึกษาและชาวบ้าน 15 คนที่ถูกจับกุม ให้ข้อมูลว่าขณะนี้ทั้งหมดถูกปล่อยตัวชั่วคราวแล้วตั้งแต่เมื่อเวลาประมาณ 01.00 น.วันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ อบต.ในพื้นที่ใช้ตำแหน่งในการประกันตัว และมีเงื่อนไขห้ามยุ่งเกี่ยว หรือกระทำการใดๆ ในลักษณะที่ขัดขวางการดำเนินการของเจ้าหน้าที่อีก ทั้งนี้ ในวันที่ 20 มิ.ย.54 ผู้ถูกจับกุมทั้ง 15 คนจะต้องไปรายงานตัวที่ สภ.อ.กุมภวาปีอีกครั้งหนึ่ง ส่วนจะส่งฟ้องต่อศาลหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของพนักงานสอบสวน ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการรวบรวมหลักฐานข้อมูล
 
นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีความพยายามโจมตีกลุ่มนักศึกษาที่มาร่วมคัดค้านโครงการดังกล่าวว่าเป็นคนนอกพื้นที่ แต่ส่วนตัวเชื่อว่ากลุ่มนักศึกษาและนักกิจกรรมปฏิบัติตามสิทธิที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญในการปกป้องพื้นที่และเฝ้าระวังการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งชัดเจนว่าเป็นการทำในสิ่งที่ถูกต้อง นอกจากนั้นที่ผ่านมากลุ่มนักศึกษาลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลและติดตามสถานการณ์มาโดยตลอด ตั้งแต่ก่อนหน้าที่ความขัดแย้งของกลุ่มชาวบ้านและ กฟผ.จะลุกลามถึงตอนนี้
 
นายณัฐวุฒิ กล่าวด้วยว่า เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ได้ทำให้ชาวบ้านหวาดกลัวต่ออำนาจของรัฐ แต่กลับเป็นแรงผลักดันให้ชาวบ้านอยากลุกขึ้นมาต่อสู้ปกป้องพื้นแผ่นดินของพวกเขามากยิ่งขึ้น โดยขณะนี้ชาวบ้านได้มีการปรึกษาหารือเพื่อจะหาทางออกร่วมกันต่อไป และกำลังอยู่ระหว่างส่งเรื่องไปยังสภาทนายความเพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือ
 
เจ้าหน้าที่โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อมที่เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านในคดีทางปกครอง กล่าวให้ข้อมูลว่า เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาชาวบ้านได้ทำหนังสือส่งไปยังสภาทนายความเพื่อขอความช่วยเหลือในเรื่องคดี ซึ่งในวันนี้ (29 พ.ค.54) ในพื้นที่มีการรวบข้อมูลและสอบเหตุการณ์กับผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ถูกจับกุมทั้ง 15 คน ซึ่งแนวทางขณะนี้อาจมีการฟ้องกลับเจ้าหน้าที่รัฐได้ในเรื่องบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ ทั้งที่นาที่ได้ไถเตรียมแล้วเพื่อการเพาะปลูก และต้นกล้า รวมทั้งทรัพย์สินอย่างโทรศัพท์มือถือและสร้อยคอที่เสียหายระหว่างเกิดเหตุการณ์ชุลมุน
 
อย่างไรก็ตาม ในแง่กฎหมายเจ้าหน้าที่ กฟผ.สามารถเข้าไปดำเนินโครงการก่อสร้างฯ ในพื้นที่ได้ แม้ว่าชาวบ้านจะไม่ยินยอมและทำการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองไปตั้งแต่เมื่อปี 2551 เนื่องจากคดีดังกล่าวศาลยังไม่มีคำสั่งคุมครองชั่วคราวพื้นที่ อีกทั้งที่ผ่านมาแม้ว่าชาวบ้านจะได้ทำการยื่นหนังสืออุทธรณ์เรื่องพื้นที่ตั้งเสาไฟฟ้าแรงสูงไปยังคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งก็มีการส่งคนมาดูพื้นที่ แต่การลงพื้นที่ดังกล่าวเป็นไปเพื่อการเจรจาเรื่องค่าเสียหายโดยยังยืนยันให้ดำเนินการในพื้นที่เดิม
 
เจ้าหน้าที่โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวต่อมาว่า ที่ผ่านมาทาง กฟผ.ได้นำเงินทดแทนในกรณีที่เจ้าของที่ไม่ยอมรับหรือไม่สามารถหาเจ้าของเจอได้ ไปฝากกับธนาคารเพื่อไว้ให้ไปเบิกถอนแล้ว ซึ่งเมื่อครบระยะที่กำหนดไว้หากไม่มีการเบิกถอนเงินนั้นก็จะถูกยึดคืนไปเป็นของรัฐ โดยในกรณีดังกล่าวส่วนตัวเห็นว่าเป็นการมัดมือชกชาวบ้านที่ถูกประกาศโครงการของรัฐทับที่ดินทำกิน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ภายหลังจากเหตุการณ์การจับกุมชาวบ้านและนักศึกษา ในวันที่ 27 พ.ค.จนถึงวันนี้ (29 พ.ค.54) พนักงานของ กฟผ.ได้นำรถแบคโฮ และคนงานลงปรับพื้นที่นาของชาวบ้านต่อไป โดยยังมีกำลังของเจ้าหน้าที่ และผู้ช่วยเจ้าพนักงาน เข้ามาคอยดูแลความปลอดภัย
 
นศ.ร่อน แถลงการณ์จากคุก ร้องดำเนินการ กฟผ.-ตร.
 
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มนักศึกษาที่ถูกคุมขังอยู่ที่ สภ.อ.กุมภวาปี ได้เขียนแถลงการณ์จากคุก ประณามพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ กฟผ.และเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยระบุว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการปล้นทรัพยากรของชุมชนท้องถิ่นอย่างไร้ยางอาย พร้อมเรียกร้องเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านเข้ามาดำเนินการทางด้านกฎหมายต่อการกระทำของเจ้าหน้าที่ กฟผ.และเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกทั้งเชิญชวนและเรียกร้องให้คนรุ่นใหม่ คนหนุ่มสาว และบุคคลสาธารณะทุกกลุ่มองค์กรร่วมกันดำเนินการเพื่อการปกป้องสิทธิชุมชนท้องถิ่น
 
“พวกเราขอประกาศก้อง กังวาน ต่อความอยุติธรรม ที่หน่วยงานภาครัฐและกลุ่มทุน กระทำต่อชุมชนและสังคม ว่าพวกเราจะขอยืนหยัดต่อสู้เพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรมและให้เกิดความเท่าเทียม ณ บัดนี้ และตลอดไป” แถลงการณ์ระบุ

 
แถลงการณ์จากคุก 
ณ สถานกักขังเสรีภาพและความถูกต้อง สถานีตำรวจภูธรอำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรอุดรธานี
 
พวกเราจะขอยืนหยัดต่อสู้เพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรม และให้เกิดความเท่าเทียม
 
จากกรณีปัญหาการละเมิดสิทธิชุมชนที่การไฟฟ้าฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ดำเนินการสร้างโครงข่ายระบบไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ น้ำพอง2-อุดรธานี3 พาดผ่านที่พื้นที่ทำกินของชาวบ้านในจังหวัดอุดรธานี จึงนำมาซึ่งการรวมกลุ่มกันของชาวบ้านในนาม คณะกรรมการชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง (คชส.) เพื่อคัดค้านการดำเนินโครงการดังกล่าวของ กฟผ. ด้วยเพราะหวั่นเกรงต่อผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และเสียสิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ดิน อีกทั้ง กลุ่มชาวบ้านได้เล็งเห็นว่าการดำเนินการของ กฟผ. ไม่ชอบธรรม และมีพฤติกรรมการละเมิดสิทธิชาวบ้าน เสมอมา
 
ดังปรากฏมาแล้ว เช่น กรณีการบังคับขู่เข็ญเพื่อเข้ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และตัดโค่นต้นไม้ของนางจันทร์เพ็ญ ที่จ.ร้อยเอ็ด เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งยังส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเธอและครอบครัวมาตราบจนทุกวันนี้ และเหตุการณ์ล่าสุด ก็คือ การเข้าไปเหยียบย่ำ และทำลายแปลงนาของชาวบ้านที่อ.ภาชี จ.อยุธยา อย่างไม่มีความละอายต่อบาป และไม่สำนึกถึงบุญคุณของข้าวที่ได้หล่อเลี้ยงพวกเขาให้ได้เติบใหญ่มา ถึงแม้ชาวบ้านจะวิงวอน ร้องขอแล้ว
 
อย่างไรก็ดี เสียงท้วงติงจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสาธารณชน ว่าจะเกิดปัญหาการละเมิดสิทธิ์ หากว่า กฟผ.จะดื้อดึงลงไปดำเนินการในวันที่ 27 พ.ค.นี้ และขอให้ชะลอการดำเนินการเพื่อรอผลคำตัดสินของศาลปกครองเสียก่อน แต่ก็ไม่เป็นผล จึงนำมาซึ่งเหตุการณ์อัปยศในครานี้
 
ที่บ้านเหล่ากล้วย หมู่ 3 ต.เสอเพลอ อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี เจ้าหน้าที่ กฟผ.และเจ้าหน้าที่ตำรวจ กว่า 200 นาย ได้ร่วมกันละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ด้วยการใช้กำลังข่มขู่ บังคับ และทำร้ายร่างกายก่อนเข้าจับกุมชาวบ้านและนักศึกษาที่มีจำนวนไม่ถึง 20 คน พร้อมยึดกล้องบันทึกภาพและลบภาพถ่ายทั้งหมดทิ้ง เพื่อทำลายหลักฐานอันเป็นพฤติกรรมป่าเถื่อนของพวกเขา ก่อนนำมาฝากขัง และยัดเยียด ข้อกล่าวหาว่าเป็นผู้ขัดขวางการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ กฟผ.ในการสำรวจและวางรากฐานเสาไฟฟ้า ทั้งที่ในความจริงกลุ่มชาวบ้านและนักศึกษาได้ร่วมกันปกป้องสิทธิชุมชนท้องถิ่น ตามรัฐธรรมนูญโดยการร่วมกันชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ
 
พวกเราในนามเครือข่ายนักศึกษาคนรุ่นใหม่และประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาและประชาชนที่ได้ร่วมกันทำกิจกรรม และปฏิบัติการร่วมกับกลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการโครงการของรัฐและนายทุนตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา
 
จากข้อเท็จจริงที่พวกเราได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์ และถูกเจ้าหน้าที่ กฟผ.ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกระทำ เฉกเช่นเดรัจฉาน จึงมีข้อเรียกร้องและมีข้อเสนอต่อสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นดังต่อไปนี้
 
ประการแรก พวกเราขอประณามพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ กฟผ. และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ร่วมกันปล้นทรัพยากรของชุมชนท้องถิ่น อย่างไร้ยางอายต่อกลุ่มเด็ก เยาวชน และคนแก่เฒ่า ที่ร่วมกันออกมาปกป้องสิทธิชุมชนท้องถิ่น
 
ประการที่สอง พวกเราขอเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน มาดำเนินการทางด้านกฎหมายต่อการกระทำของเจ้าหน้าที่ กฟผ. และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กระทำการต่อกลุ่มชาวบ้านและกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ถูกกระทำในครั้งนี้
 
ประการที่สาม พวกเราขอเชิญชวนและเรียกร้อง ให้คนรุ่นใหม่ คนหนุ่มสาว และบุคคลสาธารณะทุกกลุ่มองค์กร มาร่วมกันในภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์ของกลุ่มชาวบ้าน เพื่อการปกป้องสิทธิชุมชนท้องถิ่น
 
ประการสุดท้าย พวกเราขอประกาศก้อง กังวาน ต่อความอยุติธรรม ที่หน่วยงานภาครัฐและกลุ่มทุน กระทำต่อชุมชนและสังคม ว่าพวกเราจะขอยืนหยัดต่อสู้เพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรมและให้เกิดความเท่าเทียม ณ บัดนี้ และตลอดไป
 
ด้วยจิตคารวะ
27 พฤษภาคม 2554
 
เครือข่ายนักศึกษาคนรุ่นใหม่และประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม
กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน)
กลุ่มอาศรมบ่มเพาะแนวความคิดและจิตวิญญาณ
ชมรมนักศึกษาเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น
กลุ่มนกกระจอก
กลุ่ม FriendFor Activity (FAN)
กลุ่มไทยอิปูตาเย
กลุ่มคนรุ่นใหม่ภาคอีสาน
กลุ่มสื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม อุดรธานี
กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี

24 พฤษภาคม 2554

ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษผู้สร้างประชาธิปไตยของไทย

ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ถือเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่ง ที่เป็นผู้ก่อร่างระบอบสังคมและการเมืองแบบใหม่ในประเทศไทย ในฐานะที่เป็นผู้นำสายพลเรือนของคณะราษฎร และเป็นผู้เตรียมการทั้งหมดในด้านการบริหารระบอบใหม่ ในการปฏิวัติ ๒๔๗๕ นอกจากนี้ ยังเป็นบุคคลสำคัญ ในการวางรากฐานระบอบการคลังสมัยใหม่ เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการเจรจากับต่างประเทศให้ประเทศสยามได้เอกราชสมบูรณ์  และต่อมาเมื่อเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ญี่ปุ่นเข้ายึดประเทศไทย ปรีดี พนมยงค์ ก็ยังเป็นผู้นำขบวนการเสรีไทยในการต่อต้านญี่ปุ่นและมีส่วนทำให้ประเทศไทยพ้นจากการยึดครองโดยตรงของฝ่ายพันธมิตร แม้ว่า ปรีดี พนมยงค์ จะสร้างประโยชน์ ให้กับประเทศชาติอย่างมากเช่นนี้ แต่ในที่สุด กลับถูกใส่ร้ายป้ายสีจากฝ่ายอนุรักษ์นิยม ในข้อหาสำคัญ คือ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังกรณีปลงพระชนม์พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙ 
 ต่อมา หลังการรัฐประหาร พ.ศ. ๒๔๙๐ ซึ่งทำให้ปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ กลุ่มอนุรักษ์นิยมได้ระบายสีภาพลักษณ์ ให้ปรีดี พยมยงค์ กลายเป็นปีศาจร้ายในทางการเมืองมากขึ้น เพราะนอกเหนือจากการเป็นผู้ก่อเหตุเรื่องกรณีสวรรคตแล้ว ยังถูกโจมตีว่าเป็นหัวหน้าใหญ่คอมมิวนิสต์ ที่จะนำอิทธิพลของจีนแดงมาครอบครองประเทศไทย ภาพลักษณ์ของปรีดี ในลักษณะเช่นนี้ติดตัวจนกระทั่งท่านถึงแก่กรรมในต่างประเทศ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖ ภาพลักษณ์ที่ดี จึงค่อยถูกฟื้นฟูขึ้น จนกระทั่งปัจจุบัน ปรีดี พนมยงค์ ก็กลายเป็นที่ยอมรับในฐานะที่เป็นรัฐบุรุษของประเทศไทย ในลักษณะเช่นนี้ การย้อนกลับไปพิจารณาบทบาทของท่าน จึงมีความน่าสนใจอย่างมาก
ดร.ปรีดี พนมยงค์ เกิดเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๓ ในเรือนแพ หน้าวัดพนมยงค์ อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นลูกคนที่สอง ของนายเสียง ซึ่งเป็นคนไทยเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว มารดาชื่อนางจันทน์ สืบเชื้อสายมาจากพระนมในสมัยกรุงศรีอยุธยา ชื่อ "ประยงค์" ซึ่งเป็นผู้สร้างวัดห่างจากกำแพงพระราชวังด้านตะวันตกชื่อ วัดนมยงค์ หรือ "พนมยงค์" เมื่อมีการประกาศพระราชบัญญัติขนานนามสกุล พ.ศ. ๒๔๕๖ ครอบครัวนี้จึงได้ใช้นามสกุลว่า "พนมยงค์" 
ปรีดีอธิบายฐานะทางครอบครัวของเขาว่า เป็นชาวนา ที่ค่อนข้างมีฐานะที่จังหวัดอยุธยา ซึ่งเรียกว่าเป็น "ชาวนานายทุนน้อยแห่งชนบท" สำเร็จการศึกษาในระดับมัธยม ๓ ที่โรงเรียนวัดศาลาปูน อำเภอกรุงเก่า ได้เข้าศึกษาต่อชั้นมัธยมปลาย ณ โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร และกลับไปศึกษาที่โรงเรียนมัธยมตัวอย่างประจำมณฑลอยุธยา จนจบชั้นมัธยม ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ อายุได้ ๑๔ ปี หลังจากนั้นออกมาช่วยบิดาทำนาหนึ่งปี และจึงได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๒ ปรีดีสอบไล่วิชากฎหมาย ชั้นเนติบัณฑิตได้ และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกเนติบัณฑิตยสภา เนื่องจากกระทรวงยุติธรรมพอใจในผลสอบ จึงให้ทุนเล่าเรียนหลวงไปเรียนต่อด้านกฎหมาย ที่ประเทศฝรั่งเศส ใน พ.ศ. ๒๔๖๓ โดยเข้าเรียนชั้นปริญญาตรีทางกฎหมาย ที่มหาวิทยาลัยก็อง (Univesite de Caen) และศึกษาพิเศษจากศาสตราจารย์เลอบอนนัวส์ (Lebonnois) จนสำเร็จการศึกษาได้ปริญญารัฐ เป็น "บาเซอลิเย" กฎหมาย (Bachelier en Droit) และ "ลิซองซิเย" กฎหมาย (Licencie en Droit) ต่อมา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ สำเร็จการศึกษาด้านนิติศาสตร์ (Sciences Juridiques) และสอบไล่ได้ประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูงในทางด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง (Diplome d"Etudes Superieures Economic Politique) มหาวิทยาลัยปารีส ได้ปริญญารัฐ "ดุษฎีบัณฑิตกฎหมาย"(Docteur en Droit) ณ ประเทศฝรั่งเศส โดยเสนอวิทยานิพนธ์ เรื่อง "Du Sort des Societes de Personnes en cas de Deces d"un Associe" (ศึกษากฎหมายฝรั่งเศสและกฎหมายเปรียบเทียบ) นับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้ศึกษาต่อจนจบดุษฎีบัณฑิตด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยปารีส
และในระหว่างที่ศึกษาอยู่ที่ปารีสนี้เอง ปรีดี พนมยงค์ ได้เริ่มคิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยในระยะแรก ท่านได้สนทนากับเพื่อนสนิท คือ ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี ซึ่งเป็นอดีตนายทหารมหาดเล็กของรัชกาลที่ ๖ และเดินทางไปศึกษาวิชารัฐศาสตร์ที่ประเทศฝรั่งเศส การเริ่มคิดการน่าจะเป็นวันหนึ่งใน พ.ศ. ๒๔๖๘ ซึ่งปรีดี และ ร.ท.ประยูร ได้สนทนากันในเรื่องปัญหา ของประเทศไทย และทั้งสองคนมีความเห็นตรงกันว่า จะต้องก่อการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น จึงได้ชักชวนให้ ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ นักเรียนทหารปืนใหญ่เข้าร่วมด้วย ต่อมา ได้รวบรวมนักเรียนไทยในยุโรป ๗ คน เปิดประชุมครั้งแรก ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๘ (ปฏิทินเก่า ถ้าเป็นปฏิทิน ปัจจุบันจะเป็น พ.ศ. ๒๔๖๙) ซึ่งถือเป็นการก่อตั้งคณะราษฎรอย่างเป็นทางการ
หลังจากนั้น กลุ่มนักเรียนนอกเหล่านี้ได้กลับมายังประเทศไทย และรับราชการ ปรีดี พนมยงค์ รับราชการในกรมร่างกฏหมาย กระทรวงยุติธรรม และได้รับบรรดาศักดิ์เป็น หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ส่วน ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ ได้เลื่อนเป็น พ.ต.หลวงพิบูลสงคราม แต่การคิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ยังไม่มีโอกาสในการดำเนินการ เพราะมีกำลังไม่เพียงพอ จนเมื่อ ประยูร ภมรมนตรี สามารถชักชวนทหารชั้นผู้ใหญ่มาเข้าร่วมอันได้แก่ 
๑. พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา(พจน์ พหลโยธิน) รองจเรทหารบก ๒. พ.อ.พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) อาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาการโรงเรียนนายร้อย ๓. พ.อ.พระยาฤทธิ์อัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) ผู้บัญชาการทหารปืนใหญ่ที่ ๑ ๔. พ.ท.พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) ผู้อำนวยการแผนกโรงเรียนเสนาธิการทหารบก
ดังนั้น กลุ่มคณะราษฎรจึงลงมือดำเนินการยึดอำนาจ ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ โดย พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา รับเป็นหัวหน้าคณะ พ.อ.พระยาทรงสุรเดชเป็นรองหัวหน้าคณะและเป็นผู้วางแผนการยึดอำนาจ หลวงประดิษฐมนูธรรมรับเป็นหัวหน้าสายพลเรือน เป็นผู้รับผิดชอบ ในการร่างแถลงการณ์ ร่างรัฐธรรมนูญการปกครอง และเป็นผู้ดูแลการบริหาร ราชการหลังการปฏิวัติ และในที่สุดการปฏิวัติก็ประสบผลสำเร็จ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ยอมรับเงื่อนไขของคณะราษฎร ที่จะให้มีการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญ และจำกัดอำนาจการบริหารของพระมหากษัตริย์ และให้มีรัฐสภา และมีรัฐธรรมนูญเป็นกฏหมายสูงสุด
หลังจากการปฏิวัติ หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนชุดแรก นอกจากนี้ ยังได้รับตำแหน่งเลขาธิการรัฐสภา นอกจากนี้ ยังได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการราษฎร และกรรมการร่างรัฐธรรมนูญด้วย ปรากฏว่า รัฐธรรมนูญฉบับถาวรร่างเสร็จ และประกาศใช้ในวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ตามหลักการของรัฐธรรมนูญนี้ ได้กำหนดให้ฝ่ายนิติบัญญัติ มีสภาผู้แทนราษฏรเพียงสภาเดียวโดยมีสมาชิก ๒ ประเภท และมีคณะรัฐมนตรีบริหารประเทศ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ก็ยังได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาประเภทที่ ๒ และเป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลด้วย
ในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ (ปฏิทินเก่า ถ้าคิดเป็นปีปัจจุบัน คือ พ.ศ. ๒๔๗๖) หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้เสนอเค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติ ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา เพื่อที่จะใช้เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ แต่ปรากฏว่าเค้าโครงเศรษฐกิจนี้ได้ถูกคัดค้านอย่างหนักจากฝ่ายของพระยามโนปกรณ์นิติธาดานายกรัฐมนตรี และเหตุการณ์ขยายตัวจากการที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยโจมตีว่ามีลักษณะเป็นคอมมิวนิสต์ กรณีนี้ นำมาซึ่งการที่ รัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ ออกพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราในวันขึ้นปีใหม่ที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๖ ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำรัฐประหารครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย เพราะเปิดโอกาสให้รัฐบาลออกกฎหมายบังคับใช้โดยไม่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และทำให้อำนาจสมบูรณ์อยู่ในมือของนายกรัฐมนตรี จากนั้น ในวันต่อมา รัฐบาลก็ได้ออกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ .๒๔๗๖ เพื่อที่จะใช้เล่นงานหลวงประดิษฐ์มนูธรรมว่า มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ดังนั้น รัฐบาลจึงจัดการให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เดินทางออกจากประเทศสยามไปยังประเทศฝรั่งเศสเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน
ต่อมา พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ร่วมด้วย พ.ท.หลวงพิบูลสงคราม และ น.ท.หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย) ก่อการรัฐประหารขึ้นเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖ เพื่อที่จะรื้อฟื้นการใช้รัฐธรรมนูญ และเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในครั้งนี้ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และได้เรียกหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกลับประเทศ เพื่อรับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ต่อมาหลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทย ซึ่งในระหว่างที่ดำรงตำแหน่ง หลวงประดิษฐ์ฯก็มีบทบาทสำคัญในการผลักดันการปกครอง ท้องถิ่นตามแบบประชาธิปไตย โดยให้มีการเลือกตั้งเทศบาลทั่วประเทศ นอกจากนี้ ก็คือ การก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เพื่อเป็นตลาดวิชา ให้ความรู้ทางการเมืองแบบประชาธิปไตยแก่ประชาชน จากนั้น หลวงประดิษฐมนูธรรม ก็ได้รับตำแหน่งผู้ประศาสน์การ (อธิการบดี) คนแรกของมหาวิทยาลัยฯ
ต่อมา ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศไปเจรจาแกัไขสัญญาไม่เสมอภาคกับชาติมหาอำนาจ การเจรจาครั้งนี้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ใน พ.ศ. ๒๔๘๑ จึงทำให้ประเทศสยามมีเอกราชสมบูรณ์เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่การลงนามในสัญญาบาวริง พ.ศ. ๒๓๙๘ เป็นต้นมา และเป็นมูลเหตุหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลใหม่ของ พล.ต.หลวงพิบูลสงคราม เปลี่ยนชื่อประเทศจากประเทศสยามเป็นประเทศไทย ใน พ.ศ. ๒๔๘๒
เมื่อหลวงพิบูลสงครามรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งได้มีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปการคลังของประเทศ เช่น การยกเลิกเงินรัชชูปการ และอากรค่านา ซึ่งเป็นภาษีที่ตกค้างมาจากยุคศักดินา การออกประมวลรัษฎากร เพื่อจัดการภาษีให้เป็นระบบระเบียบ และการเตรียม การตั้งธนาคารแห่งชาติ เพื่อควบคุมเสถียรภาพทางการเงิน ใน พ.ศ. ๒๔๘๕ รัฐบาลได้ยกเลิกบรรดาศักดิ์ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้กลับมาใช้ชื่อเดิมว่า ปรีดี พนมยงค์ อีกครั้ง ในระหว่างนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่ภาวะสงคราม จากการที่ญี่ปุ่นได้ยกกองทัพบุกประเทศไทย และต่อมา รัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงครามก็ได้เข้าร่วมสงคราม โดยประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ปรีดี พยมยงค์ ได้พ้นจากตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี และรับตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และได้อาศัยเงื่อนไขนี้จัดตั้งขบวนการใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่น ซึ่งกลายเป็นที่มาของขบวนการเสรีไทย โดยปรีดีรับตำแหน่งหัวหน้าใหญ่ของเสรีไทยในประเทศ ใช้นามแฝงในขบวนการว่า รูธ ในระหว่างนี้ ท่านได้มีส่วนสำคัญมากในการผลักดันให้ จอมพล ป.พิบูลสงครามต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ และสนับสนุนให้ นายควง อภัยวงศ์ รับตำแหน่งแทน จากนั้นต่อมา ปรีดี พยมยงค์ ก็ขยายบทบาทของขบวนการเสรีไทยเพื่อเตรียมการต่อต้านญี่ปุ่น แต่สงครามได้ยุติลงก่อน เพราะญี่ปุ่นยอมแพ้ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ อย่างไรก็ตาม ด้วยบทบาทของเสรีไทยดังกล่าว มีส่วนทำให้ประเทศไทยพ้นจากภาวะประเทศแพ้สงคราม ในภาวะเช่นนั้น ทำให้เกียรติภูมิของนายปรีดี พนมยงค์ สูงเด่นมาก
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศไทยบริหารด้วยรัฐบาลพลเรือน ที่มีแนวโน้มประชาธิปไตยอย่างมาก ปรีดี พนมยงค์ ได้รับการยกย่องเป็นรัฐบุรุษ และอยู่ในฐานะผู้ที่มีบทบาททางการเมือง จนกระทั่งวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ ท่านก็ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยตนเอง ในระบบรัฐสภา โดยมีพรรคการเมืองที่สนับสนุนคือ พรรคสหชีพ พรรคแนวรัฐธรรมนูญ และ พรรคอิสระ ปรากฏว่า ในระหว่างที่ปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นี้เอง ได้เกิดเหตุร้ายเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ เพราะสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ เสด็จสวรรคตด้วยพระแสงปืน นายปรีดีและคณะรัฐมนตรี ได้ขอความเห็นชอบต่อรัฐสภาว่า ผู้ที่จะขึ้นครองราชย์สืบสันตติวงศ์ ควรได้แก่สมเด็จพระอนุชา เมื่อสภามีมติเห็นชอบแล้ว เจ้าฟ้าภูมิพล ก็ได้ขึ้นครองราชเป็นกษัตริย์รัชกาลที่ ๙
เหตุการณ์นี้ ทำให้ศัตรูทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ ซึ่งก็คือพวกอนุรักษ์นิยมเจ้า และพรรคการเมืองฝ่ายค้าน สบโอกาสในการทำลายนายปรีดี ทางการเมือง โดยการกระจายข่าวไปตามหนังสือพิมพ์ ร้านกาแฟ และสถานที่ต่างๆ รวมทั้งส่งคนไปตะโกนในโรงภาพยนตร์ในกรุงเทพฯ ว่า "ปรีดีฆ่าในหลวง" ซึ่งเป็นคำกล่าวหาที่ร้ายแรงมาก กลายเป็นกระแสข่าวลือ และนำไปสู่การลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองทั้งหมดในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ และ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หัวหน้าพรรคแนวรัฐธรรมนูญ ก็ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน  ต่อมา เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ คณะรัฐประหารซึ่งประกอบ ด้วย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ พ.อ.กาจ กาจสงคราม พ.อ.เผ่า ศรียานนท์ พ.อ. สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ และพยายามจับกุม ตัวปรีดี พนมยงค์ แต่ท่านทราบข่าวก่อนเพียงไม่กี่นาที จึงหนีทัน และต่อมาได้ลี้ภัยการเมืองไปยังบริติชมลายา จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๒ ท่านได้พยายามกลับมาก่อรัฐประหารยึดอำนาจคืน แต่ประสบความพ่ายแพ้ จากนั้นได้ลี้ภัยต่อไปอยู่ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน แล้วได้พำนัก อยู่ที่นั่นเป็นเวลาถึง ๒๑ ปี ก่อนจะลี้ภัยต่อไปยังประเทศฝรั่งเศส ใน พ.ศ. ๒๕๑๓ 
ในระหว่างที่ปรีดี พยมยงค์ ลี้ภัยต่างประเทศนี้ การใส่ร้ายป้ายสีของฝ่ายรัฐบาลเผด็จการ ร่วมกับฝ่ายอนุรักษ์นิยม เพิ่มทวีใน ๒ ข้อหา คือ กรณีสวรรคตของรัชกาลที่ ๘ และข้อหาคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะการใส่ร้ายกรณีสวรรคต ดำเนินการโดยนายตำรวจคนสำคัญ คือ พล.ต.อ.พระพินิจชนคดี (เซ่ง อินทรทูต) และในที่สุด ก็ได้นำคดีฟ้องต่อศาล ทั้งที่หลักฐานอ่อนมาก ในกรณีนี้ นำมาซึ่งการประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์ ๓ คน คือ นายชิต สิงหเสนี นายบุศย์ ปัททมศรินทร์ และนายเฉลียว ปทุมรส กรณีนี้ ถือได้ว่าเป็นจุดด่างในกระบวนการยุติธรรมของไทย
กระแสการใส่ร้ายป้ายสีในฐานะฆาตกรกรณีสวรรคต และการโจมตีว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ทำให้ภาพลักษณ์ของนายปรีดี เสียหายอย่างมาก จนกระทั่ง เมื่อเกิดกรณี ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๖ จึงได้เริ่มเกิดกระแสรื้อฟื้นภาพลักษณ์ ของปรีดี พนมยงค์อย่างจริงจัง โดยเฉพาะกลุ่มขบวนการนักศึกษาฝ่ายสังคมนิยมที่มีบทบาทอย่างมากหลัง ๑๔ ตุลาคม กลุ่มนี้จะวิพากษ์ศักดินานิยมและไม่เชื่อในเรื่องการกล่าวหาว่า ปรีดี พนมยงค์ เป็นฆาตกร และยิ่งต่อมา หลังกรณี ๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๙ การกล่าวหาเรื่องกรณีสวรรคต ก็ไม่เป็นที่ยอมรับอีกต่อไปในวงการวิชาการ ความพยายามในการที่จะสร้างเรื่องตอก ย้ำความเป็นฆาตกรของปรีดี ไม่ประสบผล ส่วนหนึ่ง ก็มาจากการที่หลักฐานในการกล่าวหาไม่สามารถที่จะสร้างให้มีน้ำหนักได้เลย นอกจากนี้คุณงามความดีที่ทำมาในอดีตของนายปรีดี ก็มีผู้นำมาศึกษาและเผยแพร่มากขึ้น
หลังจากที่ใช้ชีวิตอย่างสงบอยู่ชานกรุงปารีสมานาน ๑๓ ปี ปรีดี พนมยงค์ ก็ถึงแก่กรรมในวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ รวมอายุได้ ๘๖ ปี ชีวิตของ ปรีดี พนมยงค์ สามารถที่จะสรุปได้ดังนี้ "คือผู้อภิวัฒน์การปกครองของประเทศไทย หัวหน้าขบวนการเสรีไทย เป็นผู้มีคุณูปการแก่ชาติ อย่างมากมาย แต่กลับกลายเป็นบุคคลที่ถูกใส่ร้ายป้ายสีมากที่สุดคนหนึ่ง ในประวัติศาสตร์ สุดท้ายกลายเป็น "คนดี" ที่เมืองไทยไม่ต้องการและเมื่อถึงแก่กรรมก็ได้ฟื้นเกียรติคืนมา"
สมพร จันทรชัย

02 พฤษภาคม 2554

นพลักษณ์


นพลักษณ์ (อังกฤษ: Enneagram of Personality) คือศาสตร์ที่ช่วยให้ผู้เรียนได้รู้จักกับตนเองตามความเป็นจริง ทำให้รู้จักจริตนิสัย วิชาที่คิดค้นเมื่อหนึ่งพันปี โดยริเริ่มแยกอุปนิสัยของมนุษย์ทั้งผู้หญิง และผู้ชายตำรานพลักษณ์เริ่มถือกำเนิดที่ ดินแดนตะวันออกกลางแหล่งอารยธรรมที่รุ่งเรื่องมานานกว่า 3,000 ปี โดยทั่วไปคนคิดว่าอุปนิสัยของมนุษย์มีนับร้อยนับพัน แต่ตำรานี้ระบุไว้ว่า นิสัยอารมณ์ของคนเมื่อวิเคราะห์ สรุปแล้วมีอยู่ 9 ลักษณะไม่มากไม่น้อยไปกว่านี้ มีอธิบายไว้ในลักษณ์ทั้ง 9 หรือ นพลักษณ์ ซึ่งปัจจุบันนักวิชาการด้านบริหารบุคคลได้นำศาสตร์นี้มาวิเคราะห์เจ้าหน้าที่พนักงานในองค์กรและทั่วไป เป็นศาสตร์องค์ความรู้โบราณระบบหนึ่งที่เกิดขึ้น โดยอาจารย์กลุ่มซูฟี ซึ่งเป็นนักภาวนาในศาสนาอิสลามได้ศึกษาบุคลิกภาพแก่นแท้ของมนุษย์ ได้พัฒนาเป็นศาสตร์ที่มีการถ่ายทอดในวงเฉพาะในหมู่ครูทางจิตวิญญาณ ในช่วงราวคริสต์ศักราชที่ 1920 ศาสตร์นพลักษณ์ถูกนำเข้ามาในทวีปยุโรปโดย G. I. Gurdjieff (ค.ศ. 18701949) แต่ยังคงถ่ายทอดในวงแคบ จนเมื่อประมาณปลายทศวรรษที่ 1960 Oscar Ichazo (เกิดเมื่อ ค.ศ. 1931) ได้ริเริ่มและฝึกอบรมเรื่องจิตวิญญาณ ที่เมืองอะริกา ประเทศชิลี และขยายไปทั่วทวีปยุโรปในเวลาต่อมา
ศาสตร์นพลักษณ์นี้ได้แบ่งอุปนิสัย จิตวิญญาณของคนออกเป็น 9 ลักษณ์ แยกนิสัยผู้คนออกเป็น 9 บุคคลิก 9 ลักษณะ การศึกษาตำรานพลักษณ์ทำให้เราเข้าใจบุคคลรอบข้าง ช่วยให้เราเข้าสังคมได้ การศึกษาอย่างลึกซึ้งทำให้สังคมสงบสุข อันเป็นสุดยอดของสัจธรรม

จิตนิสัยของคนในลักษณ์ทั้ง 9
คน 1 คนสมบูรณ์แบบ The Perfectionist                                                                                                     
เบอร์ 1 เขามีความคิดรอบคอบ การทำกิจกรรมทุกอย่างต้องเป็นแบบแผน วางแผนการทำงานรอบด้าน ทำให้บุคคลอื่นมองว่า เป็นผู้ที่ไม่เคยไว้ใจใคร คนที่ร่วมกิจกรรมในสังคมกับคนลักษณ์นี้ จะคิดว่าเขาเป็นคนไม่มีน้ำใจ เป็นคนหวาดระแวง และมีความคิดว่า คนรอบตัวไม่มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง คนอื่นมักจะทำให้งานเสียหาย หรือไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ได้วางแผนไว้ โดยมีความคิดว่า มนุษย์เป็นตัวตนที่เขาต้องเข้าควบคุมอย่างใกล้ชิด กิจกรรมงานทุกอย่างที่เขาเกี่ยวข้องต้องให้เขาเป็นผู้นำ เป็นคนวางแผนการทำงานตั้งแต่เริ่มต้นจนจบถึงจะวางใจได้ อุปนิสัยเช่นนี้ทำให้เขาเป็นคนที่ขาดเพื่อนคู่คิด ขาดเพื่อนแท้นิสัยชอบอยู่โดดเดี่ยว

คน 2 ผู้ให้ The Giver                                                                                                                                       
เบอร์ 2 เขามองโลกในด้านดีตลอดเวลา คนเบอร์ 2 เป็นบุคคลที่สร้างสรรค์ไมตรีกับคนทุกหมู่เหล่า เช่นบุคคลที่ใกล้ชิดเพื่อนร่วมงาน ญาติพี่น้องได้รักจะได้รับความปรารถนาดีจากคนลักษณ์นี้สม่ำเสมอ เมื่อถึงวันสำคัญ วันเกิดครบรอบแต่งงาน เขาไม่พลาดที่จะรำลึกถึงญาติพี่น้องมิตรสหายพร้อมสิ่งของกำนัล หน้าที่การงานของเขามักจะประสพความสำเร็จสืบเนื่องมาจากอุปนิสัยที่เอื้ออาทรต่อผู้คนรอบข้างผู้คนมักจะยินดีให้ความร่วมมือเมื่อเขาปรารถนาความช่วยเหลือ ในขณะที่มีภัยพิบัติเขาเสนอตัวเองเข้าช่วยเหลือทันที เป็นสาเหตุให้ถูกคนที่ไม่หวังดีหลอกลวงได้ง่าย สืบเนื่องจากการเป็นธุระจัดการนำตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมสารธารณะ

คน 3 นักแสดง The Performer                                                                                                                      
เบอร์ 3 เป็นนักต่อสู้ชีวิตที่น่ายกย่องใฝ่ฝันแต่สิ่งดีๆ เขาชอบการแข่งขัน มีคติประจำตัวชีวิตคือการต่อสู้ สิ่งที่เขากระทำเพื่อต้องการให้ผู้คนยอมรับเขา ไม่ว่าจะเป็นหญิง หรือชาย คนเบอร์ 3 เป็นบุคคลที่ให้ความสำคัญต่อเพศตรงข้าม ถ้าเป็นสุภาพสตรีเธอจะเป็นผู้ที่พร้อมจะเป็นผู้นำทุกโอกาสที่เปิดให้เธอแสดงความรู้ความสามารถ ภาพลักษณ์ของคนเบอร์ 3 ต้องสดใสเรียบร้อยในทุกกริยาบทเนื่องจากการเป็นนักต่อสู้ที่ต้องการให้รูปลักษณ์เป็นที่ยอมรับของผู้คนทั่วไปเป็นประการแรก สิ่งใดที่จะทำให้เขาดูดีแม้ว่าราคาแพงเขาพร้อมที่จะซื้อมาเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ให้โดดเด่น

คน 4 ผู้สร้างสรรค์ The Romantic                                                                                                                 
เบอร์ 4 บุคคลที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ศิลปิน เป็นคนละเอียดอ่อนต่อสิ่งแวดล้อม มีรสนิยมในการเสพ คนเบอร์4พร้อมที่จะทุ่มแทบทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้ผู้ที่เขาปรารถนาพึงพอใจเพื่อการได้ครอบครอง เมื่อได้ตามที่ตั้งใจแล้ว เขาก็จะไปค้นหาสิ่งใหม่ๆ ต่อไปคนลักษณ์นี้เป็นคนที่เสาะแสวงหาสิ่งที่ตัวเขาขาดหายไป ไม่ชอบสิ่งใดที่ธรรมดา สิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตต้องแปลกใหม่ เขามีจินตนาการไร้ขอบเขต มีความสร้างสรรค์สูง เขาพร้อมที่จะสระทุกสิ่งที่กำลังสร้างอยู่เพื่อมุ่งกับสัมพันธภาพใหม่ที่คิดว่าเร้าใจแทรกเข้ามาในชีวิต เขาจะเป็นคนที่ผู้คนรอบข้างหลงไหลได้อย่างง่ายดาย

คน 5 นักสังเกตการณ์ The Observer                                                                                                            
เบอร์ 5 เขาคือนักสังเกตการณ์เป็นคนชอบอยู่โดดเดี่ยวต้องการความเป็นส่วนตัวสูง เนื่องจากการประพฤติกรรมเช่นนี้ทำให้เขามีความมั่นใจว่าได้เฝ้าดูอย่างรอบด้านด้านแล้ว มองดูสังคมรอบตัวแล้วเมื่อเข้าไปร่วมกิจกรรมจึงจะมั่นใจได้ว่าไม่มีสิ่งผิดพลาด เมื่อได้มีโอกาสไปร่วมทำกิจกรรมกับสังคมหรือร่วมมือกับชุมชน ก่อนลงมือคนเบอร์ 5 ต้องการข้อมูลมาศึกษาตัดสินใจ และต้องมีการวางแผนงานตลอดเวลา แม้แต่การขับรถเดินทางที่เป็นกิจวัตรประจำวัน คนลักษณ์นี้ต้องมีการวางแผนการเดินทางไว้ล่วงหน้าทุกครั้งเป็นนิสัยปลอดภัยไว้ก่อน

คน 6 นักปุจฉา The Questioner                                                                                                                     
เบอร์ 6 คนลักษณ์นี้มองสังคมว่าเป็นสิ่งที่คุกคามล่วงล้ำชีวิตส่วนตัวของเขา การกระทำสิ่งใดที่ไม่ใช่กิจวัตรประจำวันเมื่อเขาจำเป็นต้องร่วมด้วย เขาจะหวาดระแวงว่าจะมีอันตรายหรือไม่ ต้องคิดวางแผนงานก่อนเริ่มต้น เป็นผู้ชอบร่วมงานและเป็นผู้ร่วมทีมงานที่ดี แต่ไม่ชอบเป็นผู้นำทีม ไม่ชอบผู้ที่ใช้อำนาจ เข้าใจและเห็นใจคนที่ถูกเอาเปรียบ ถ้าเขาได้เป็นผู้นำ เขาจะไม่สะดวกใจที่จะแสดงอำนาจ ชอบเก็บตัวไม่ค่อยชอบสังคมไร้สาระ ความที่เป็นคนระมัดระวังตัว จีงมักตั้งคำถามให้กับตัวเองเสมอ เป็นคนช่างสงสัยไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าจะให้ระบุอาชีพที่เหมาะสม เขานักสืบ หน่วยรักษาความปลอดภัยที่ดีเยี่ยมเนื่องจากเป็นคนหวาดระแวงไปเสียหมด ปัญหาต่างๆ จึงไม่รอดไปจากสายตา

คน 7 ผู้พิถีพิถันในการเสพ รวมทั้งเป็นนักผจญภัย The Adventure                                                   
คนเบอร์ 7 เป็นบุคคลที่มีเสน่ห์ มองโลกในด้านบวก เขามีดีๆ สิ่งสร้างสรรค์ให้กับสังคม ขณะที่อยู่ในเหตุการณ์วิกฤติ เขาจะยิ้มได้อย่างเปิดเผยและเป็นบุคคลที่มักจะเห็นโอกาสในยามวิกฤติและฉกฉวยได้ทันเหตุการณ์ เป็นคนที่เปลี่ยนง่าย สิ่งที่ได้ประสพผลสำเร็จแล้ว เขาจะชื่นชมสักพักแล้วจะหันไปสนใจสิ่งใหม่ๆที่เข้ามาท้าทายความสามารถ และเขาจะไม่ลังเลใจที่จะอาสาทันที คติของเขา ชีวิตต้องการสร้างสรรค์ในสิ่งใหม่

คน 8 เจ้านายหรือคนกล้า The Protector                                                                                                    
คนเบอร์ 8 เป็นคนตรง แต่ไม่ใช่คนซื่อ คนลักษณ์นี้จะไม่ทนกันความไม่ยุติธรรมแม้ว่าจะไม่ได้เกิดแก่ตัวเขา ถ้ามีโอกาสเขาพร้อมที่จะนำเสนอความยุติธรรมเพื่อบุคคลอื่น หรือเพื่อสังคม เป็นลักษณ์ที่มีอุปนิสัยตัดสินใจเร็วถ้าเป็นสิ่งที่ยุติธรรม จนคนรอบข้างมองว่าเป็นคนก้าวร้าว ไม่อ่อนตามเหตุการณ์ที่ควรจะยอมๆกัน เปรียบได้ว่าเป็นคนแข็งนอกอ่อนใน ฟังเหตุผลที่ถูกต้อง ยอมรับในเวลาที่ผู้อื่นนำเสนอความยุติธรรมเพื่อให้ตัดสินใจ เป็นบุคคลที่ทนไม่ได้เมื่อเห็นคนอ่อนแอไม่สู้คน และเขามักจะไม่เข้าใจในสิ่งนี้ว่าคนผู้นี้ทนให้คนอื่นเอาเปรียบได้อย่างไร

คน 9 ผู้ประสานไมตรี The Peacemaker                                                                                                      
เบอร์ 9 เป็นบุคคลใฝ่สันติ เป้าหมายสำคัญของคนลักษณ์เก้าคือช่วยเหลือผู้อื่น ลักษณ์ที่เข้าใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างท่องแท้ ไม่ชอบการเสี่ยงภัยใดๆ ไม่ชอบความขัดแย้ง ที่ไหนมีการชุมนุมต่อต้านเขาจะปฏิเสธที่จะไปร่วมวง ถ้ามีสิ่งของสมบัติที่จะแบ่งกัน และเขาเป็นคนจัดการทุกคนจะได้สิ่งตอบแทนเท่าเทียมกัน คนลักษณ์นี้มีความเข้าใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างยอดเยี่ยม เขามีมนุษยสัมพันธ์ดี ในด้านส่วนตัวของคนลักษณ์นี้เขาไม่ชอบให้บุคคลอื่นมาก้าวก่ายชีวิตส่วนตัว คติประจำตัวคนลักษณ์นี้ เมื่อช่วยเขาไม่ได้ ก็ขออย่าได้ทำร้ายพวกเขาเลย
 เอ็นเนียแกรมหรือนพลักษณ์ คือ บูรณาการของภูมิปัญญาโบราณ ใช้ในการศึกษาบุคลิกลักษณะของบุคคล โดยแบ่งคนออกเป็น ๙ ประเภท ทำให้เข้าใจตนเองและผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง นำไปสู่การพัฒนาตนเอง เข้าใจในความแตกต่างของเพื่อนมนุษย์ และช่วยพัฒนาทำให้ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ปัจจุบันนิยมใช้เอ็นเนียแกรมในทางจิตวิทยา และเป็นซอฟต์สกิลในการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์

สรุปลักษณ์ทั้ง ๙

ลักษณ์ ๑ คนสมบูรณ์แบบ นักปฏิรูป นักสู้เพื่อคุณธรรม คนมีศีลธรรม
  • ข้อเด่น: มีจริยธรรม มีอุดมคติ สร้างผลงาน ไว้ใจได้ มีความยุติธรรม ซื่อสัตย์ มีวินัยในตนเอง มีมโนธรรม ช่วยเหลือคนอื่น มีความเป็นปรนัยไม่ใช้ความรู้สึก
  • ข้อด้อย: ตัดสินคนอื่น ไม่ยืดหยุ่น ควบคุมคนอื่น กังวล ชอบโต้เถียง มักเหน็บแนม ไม่ประนีประนอม ดื้อ เอาจริงเอาจังเกินไป วิพากษ์วิจารณ์คนอื่น
ลักษณ์ ๒ ผู้ให้ ผู้ช่วยเหลือ ผู้คอยดูแล นักพัฒนาคน
  • ข้อเด่น: น่ารัก อบอุ่น ปรับตัวเก่ง ใจกว้าง กระตือรือร้น กตัญญูรู้คุณ เข้าใจความรู้สึกคนอื่น แสดงความรู้สึกได้ดี เป็นมิตร เอาใจใส่ผู้อื่น
  • ข้อด้อย: ชอบอ้อมค้อม เอาใจคนอื่นจนเกินไป แสดงความรู้สึกมากเกินไป ชอบควบคุม หวงแหนหรือแสดงความเป็นเจ้าของ ไม่จริงใจ เล่นบทผู้เสียสละจนตัวเองลำบาก เล่นเล่ห์เพทุบาย ฮีสทีเรีย
ลักษณ์ ๓ นักแสดง ผู้ใฝ่สำเร็จ ผู้สร้างความสำเร็จ ผู้ริเริ่ม
  • ข้อเด่น: มีพลัง มีประสิทธิภาพ มองโลกในแง่ดี ขยันหมั่นเพียร ผลักดันตัวเอง เป็นนักปฏิบัติ มีความรับผิดชอบ ไม่หวงอำนาจ มีความสามารถ
  • ข้อด้อย: เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง อวดอ้างตนเอง หลงลำพอง ฉาบฉวย ผูกพยาบาท ชอบช่วงชิงแข่งขันเกินไป หลอกลวง ปกป้องตัวเอง เป็นนักฉวยโอกาส
ลักษณ์ ๔ คนโศกซึ้ง ศิลปิน ผู้ใฝ่ความงาม ปัจเจกชน
  • ข้อเด่น: เป็นตัวของตัวเอง รับรู้สิ่งต่างๆได้ดี แสดงออกได้ดี มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นคนอบอุ่น คอยช่วยเหลือผู้อื่น ประณีต เห็นอกเห็นใจคนอื่น อ่อนโยน มีไหวพริบ
  • ข้อด้อย: อารมณ์ไม่แน่นอน เก็บตัว หมกมุ่นกับตัวเอง ขี้อิจฉา เรียกร้องความต้องการทางอารมณ์ รู้สึกเจ็บปวดได้ง่าย วางท่ายโส ซึมเศร้า ชอบวิพากษ์วิจารณ์ ชอบตามใจตัวเอง
ลักษณ์ ๕ ผู้สังเกตการณ์ ฤาษี นักคิด นักค้นคว้าสำรวจ
  • ข้อเด่น: มีความเป็นปรนัยไม่ใช้ความรู้สึก จดจ่อแน่วแน่ ฉลาด มีเมตตา เปิดกว้าง เข้าใจได้เร็ว ไว้วางใจได้ สงบ สนใจใฝ่รู้ เข้าใจอะไรได้ลึกซึ้ง
  • ข้อด้อย: ชอบโต้เถียง หยิ่งยโส ตระหนี่ ช่างติ คิดในแง่ลบ ชอบเก็บตัว ดื้อ ตัดสินหรือตำหนิคนอื่น เก็บเรื่องต่างๆไว้ไม่ให้คนอื่นรู้ แปลกแยกจากคนอื่น
ลักษณ์ ๖ นักปุจฉา ผู้จงรักภักดี นักตั้งคำถาม คนช่างสงสัย
  • ข้อเด่น: ซื่อตรง ระมัดระวัง สนใจใฝ่รู้ เอาใจใส่ผู้อื่น เห็นอกเห็นใจคนอื่น มีไหวพริบ เป็นนักปฏิบัติ มีความรับผิดชอบ ชอบช่วยเหลือสนับสนุน ซื่อสัตย์ เชื่อถือได้
  • ข้อด้อย: วิตกจริต ชอบควบคุมคนอื่น เอาแน่ไม่ได้ หวาดระแวง ชอบต่อต้าน ไม่ยืดหยุ่น โกรธง่ายอารมณ์ร้าย ช่างสงสัย ชอบเยาะเย้ยเหน็บแนมเสียดสี ระแวดระวังจนเกินไป โหดร้าย
ลักษณ์ ๗ ผู้เสพย์สุข ผู้รู้รอบด้าน ผู้มีวิสัยทัศน์ ผู้ชื่นชมสิ่งดีๆในชีวิต
  • ข้อเด่น: กระตือรือร้น มีพลัง มีชีวิตชีวา รักสนุก แสดงออกอย่างเป็นธรรมชาติ มีจินตนาการ มีเสน่ห์ สนใจใฝ่รู้ ร่าเริง โอบอ้อมอารี
  • ข้อด้อย: เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง หุนหันพลันแล่น ชอบต่อต้าน เพ้อเจ้อ ร้อนใจอยู่นิ่งไม่ได้ ถือความคิดเห็นตนเองเป็นใหญ่ ปกป้องตนเอง วอกแวก เชื่อถือไม่ได้ ทำสิ่งที่เป็นผลเสียต่อตัวเอง
ลักษณ์ ๘ เจ้านาย ผู้นำ ผู้ท้าทาย ผู้ปกป้อง
  • ข้อเด่น: มั่นใจในตนเอง มีพลัง พูดความจริง ตัดสินใจเฉียบขาด ตรงไปตรงมา ซื่อตรง ปกป้องคนอื่น ใจกว้าง ให้กำลังใจ กล้าหาญ
  • ข้อด้อย: ขาดความละเอียดอ่อน ชอบครอบงำคนอื่น เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ก้าวร้าวจนเกินไป เรียกร้องความต้องการ หยิ่งยโส ชอบต่อสู้ถกเถียง หวงแหนครอบครอง ไม่ประนีประนอม ชอบจับผิด
ลักษณ์ ๙ นักไกล่เกลี่ย ผู้ประสานไมตรี ตัวเชื่อม กาวใจ
  • ข้อเด่น: ยอมรับคนอื่น อดทน ฉลาด เข้าอกเข้าใจคนอื่น มีความกรุณา อ่อนโยน ชอบช่วยเหลือ ไม่ตัดสินคนอื่น เปิดกว้าง
  • ข้อด้อย: ก้าวร้าวแบบดื้อเงียบ ดื้อดึง เฉยเมย นิ่งเฉย ไม่มั่นใจในตนเอง ปกป้องตนเอง ใจลอย ขี้ลืม หมกมุ่นย้ำคิด ยอมตามคนอื่นมากไป