ขอเชิญทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเราในการสร้า้งสังคมแห่งการเรียนรู้...

หากต้องการลงบทความ/งานเขียนของท่าน สามารถแจ้งความประสงค์ได้ทางเว็บบอร์ด หรือทางอีเมล์แอดเดรส; po_kenchin@hotmail.com
หรือจะสมัครสมาชิกอย่างเดียวก็ได้นะครับ

29 สิงหาคม 2554

ให้โลกรู้พวกกูยังสู้อยู่




   ร่วมรบ
เป็นสหาย..เป็นอื่นได้อย่างไรในเส้นทาง
เคยถูกผิดเคยอ้างว้างร่วมกันสู้
ในเหน็บหนาวร้าวรานเราต่างรู้
มีสหายเคียงอยู่ให้อุ่นใจ
คือสหายกอดความตายในแนวหน้า
แม้มิรู้ชะตาฝ่าภัยร้าย
หวังเพียงเพื่อปลดแอกโค่นจัญไร
สังคมใหม่เปลี่ยนได้โดยประชา
     สับสน
ถนนเส้นนี้เราต่างรู้ต้องสู้หนัก
อยากไถ่ถามทายทักเธอท้อไหม
กับชีวิตเรื่องราวความเป็นไป
หรือโลกยินแต่ร่ำไห้ในค่ำคืน
หรือเป็นเพียงแค่นักรบซากศพฝัน
อุดมการณ์หมายมั่นพลันสลาย
เมื่อโลกเปลี่ยนหรือคนมันกลับกลาย
เราเปลี่ยนแปลงสังคมใหม่เพื่อใครกัน
     หมุดหมายมุ่ง
ฝนหยุดตกนานแล้วพี่น้องเอ๋ย
เมล็ดพันธุ์งอกเงยจงไถ่หว่าน
เรื่องร้ายเรื่องรบจากเมื่อวันวาน
ขอให้ลืมพ้นผ่านกลบฝังดิน
เช็ดน้ำตากุมมือประสานมั่น
ตำราหนึ่งสามัคคีกันเดินหน้าสู้
อันผุกร่อนโลกเก่าเรารับรู้
อีกไม่นานรอดูมันพังทลาย

                                           อุทิศแด่คนทำงานผู้ร้าวรานในยุคสมัย
                                           บางมุมรัษฏา…ภูเก็ต
                                           ปราโมทย์   แสนสวาสดิ์

26 สิงหาคม 2554

เขื่อนแก่งเสือเต้น การหากินบนคราบน้ำตาของชาวบ้าน



แก่งเสือเต้น
ภาพ : www.trekkingthai.com
เรื่อง : วันชัย ตัน
“ผมคิดว่าการสร้างเขื่อนเป็นกระบวนการทำลายแหล่งพันธุกรรม ตลอดจนแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของสัตว์ป่า ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของผืนป่าทั้งหมด ที่มนุษย์มิอาจจะสร้างขึ้นมาใหม่ได้”
สืบ นาคะเสถียร
แก่งเสือเต้นเป็นชื่อเกาะแก่งของโขดหินในแม่น้ำยม ช่วงที่ไหลผ่านแม่น้ำยมบริเวณอุทยานแห่งชาติแม่ยม มีความยาว 2 กิโลเมตร ชื่อของแก่งเสือเต้นมาจากปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ทำให้เกิดรอยเท้าเสืออยู่บนโขดหินก้อนหนึ่งบนหาดทรายริมแม่น้ำ
ลำพังแก่งเสือเต้นก็ไม่น่าจะมีใครรู้จักมากมาย จนกระทั่งเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน มีข่าวว่าจะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นกั้นแม่น้ำยม ชื่อของแก่งเสือเต้นก็เป็นที่รู้จักของคนทั่วประเทศ โดยเฉพาะเมื่อมีปัญหาน้ำท่วม ฝนแล้ง บริเวณจังหวัดสุโขทัย หรือจังหวัดแพร่ ข่าวการสนับสนุนให้สร้างเขื่อแก่งเสือเต้นก็ดังสนั่นขึ้นจากปากของนักการเมืองทุกพรรคอย่างพร้อมเพรียงกัน ด้วยความเชื่อมั่นว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นจะเป็นยาสารพัดประโยชน์ สามารถป้องกันน้ำท่วมหรือฝนแล้งได้อย่างเด็ดขาด
ช่วงนี้พี่น้องชาวจังหวัดแพร่ สุโขทัย และอีกหลายจังหวัดทางภาคเหนือถูกภัยพิบัติซ้ำเติม โดนน้ำเอ่อล้นตลิ่ง น้ำป่าไหลท่วมบ้าน เรือกสวน ไร่นาเสียหายยับเยิน ซึ่งน่าเห็นใจเป็นอย่างยิ่ง และควรจะได้รับการเยียวยาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและถูกวิธีจากรัฐบาล
สิบกว่าปีที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ลงพื้นที่ป่าแม่ยมมาหลายครั้งแล้ว และอยู่ในบรรยากาศการขัดแย้งและโต้เถียงกันระหว่างผู้สนับสนุนและผู้คัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
ผู้เขียนจำได้ว่า เมื่อแรกเริ่มมีโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นนั้น ผู้ผลักดันโครงการคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือเรื่องการผลิตไฟฟ้า 48 เมกะวัตต์ และการเพิ่มพื้นที่ชลประทานขนาด 300,000 ไร่ ให้แก่เกษตรกร ส่วนการป้องกันน้ำท่วม การป้องกันอุทกภัยไม่ได้อยู่ในวัตถุประสงค์ของการสร้างเขื่อเลย
พูดตามประสาชาวบ้านก็คือ เขื่อนแก่งเสือเต้น เหมาะที่จะลงทุนสร้างเพื่อผลิตไฟฟ้าและการสร้างพื้นที่ชลประทาน ส่วนเรื่องป้องกันน้ำท่วมเป็นผลพลอยได้มากกว่า แต่เมื่อข่าวการสร้างเขื่อนถูกวิจารณ์มากๆ เจ้าภาพผู้รับผิดชอบการสร้างเขื่อนก็ถูกเปลี่ยนมือมาเป็นกรมชลประทาน ผู้หมายมั่นปั้นมือว่าจะสร้างเขื่อนแห่งแรกที่กั้นแม่น้ำยมขนาดความสูง 72 เมตรให้ได้
แต่ประเด็นการโต้แย้งจากผู้คัดค้านที่ชัดเจนมากที่สุดก็คือ หากมีการสร้างเขื่อนแล้วต้องสูญเสียพื้นที่ป่ามากกว่า 60,000 ไร่ ในจำนวนนี้มีเป็นป่าสักทองธรรมชาติผืนสุดท้ายกว่า 20,000 ไร่ ที่ต้องจมน้ำไป ชาวบ้านหลายพันคนต้องอพยพออกจากบ้านเกิด โดยที่ไม่แน่ใจว่าเขื่อนแห่งนี้จะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้งได้จริงหรือ
ไม่มีใครปฏิเสธว่าไม้สักเป็นราชินีของไม้ทั้งหลายทั้งปวง เนื้อไม้สักทองถือว่าเป็นไม้คุณภาพดีและแพงที่สุดในโลก บ้านราคาแพงก็ใช้ไม้สักบ่งบอกฐานะ ส่วนประกอบของเฟอร์นิเจอร์ที่ประดับในรถยนต์หรู หรือเครื่องบินโดยสารก็ใช้ไม้สักเป็นเครื่องบ่งบอกรสนิยม และบนเรือบรรทุกเครื่องบืนส่วนใหญ่ก็ใช้ไม้สักปูดาดฟ้าเรือ จากคุณสมบัติที่มีความคงทนต่อสภาพอากาศ น้ำทะเล และการยืดหดตัวน้อยกว่าไม้ชนิดอื่น
พระเจ้าได้ประทานไม้สักบนโลกนี้เพียงสามประเทศ คือ พม่า อินเดีย ไทย และที่เมืองไทย ป่าแม่ยมคือแหล่งสุดท้ายที่มีไม้สักทองตามธรรมชาติผืนใหญ่ที่สุด และไม้สักคุณภาพดีที่สุดคือไม้สักทอง เนื้อไม้สีเหลืองทองอร่ามตา หาใช่ไม้สักหยวก ไม้สักไข หรือไม้สักขี้ควาย
ที่ผ่านมาชาวบ้านและหน่วยงานรัฐหลายแห่ง ได้ช่วยกันป้องกันและรักษาให้ป่าสักทองผืนนี้เป็นแหล่งเพาะพันธุกรรมไม้สักทอง เพื่อเป็นมรดกให้กับลูกหลานในอนาคต
แต่อีกด้านหนึ่ง พื้นที่แห่งนี้ก็ตกเป็นเป้าสายตาของบุคคลบางกลุ่มที่เห็นประโยชน์มหาศาลจากการได้สัมปทานตัดไม้สักทองร่วมสองหมื่นไร่แห่งนี้มาอย่างเงียบๆ ซึ่งเป็นการยากที่จะได้ เพราะพื้นที่ป่าแห่งนี้อยู่ในอุทยานแห่งชาติแม่ยม มีกฎหมายคุ้มครองอย่างเคร่งครัด
เมื่อมีข่าวการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นเกิดขึ้น ส่งผลให้ต้องมีการตัดไม้สักสองหมื่นกว่าไร่ดีกว่าจะจมน้ำเปล่าๆ ผลประโยชน์ร่วมกันจึงเกิดขึ้น

สมัยก่อนข้ออ้างการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้า หรือการชลประทาน คงไม่ได้รับแรงสนับสนุนจากชาวบ้านเท่าที่ควร จนกระทั่งเมื่อดินฟ้าอากาศแปรปรวนหนักขึ้น มีข่าวน้ำท่วม ภัยแล้ง สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านอยู่ไม่เว้นแต่ละปี การปลุกผีเขื่อนแก่งเสือเต้นจึงเกิดขึ้นทั้งๆ ที่จุดประสงค์ของการสร้างเขื่อนแห่งนี้ มีเพื่อไฟฟ้าและการชลประทาน หาได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมหรือภัยแล้งเลย
แต่โอกาสทองกำลังมาถึงแล้ว การประโคมข่าวของบรรดานักการเมืองระดับชาติและท้องถิ่นที่เรียกร้องให้รัฐบาลสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นสร้างความเข้าใจผิดๆ ให้ชาวบ้านเกาะขอนไม้นี้ ด้วยความรู้สึกว่าเมื่อสร้างเขื่อนแล้วชีวิตจะดีขึ้น น้ำจะไม่ท่วม และใช้ความทุกข์ยากของชาวบ้านเป็นแรงขับเคลื่อนกดดันให้เกิดการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
ขณะที่ทุกวันนี้ แม่น้ำน่านมีเขื่อนสิริกิติ์ แม้น้ำวังมีเขื่อนกิ่วลม เขื่อนกิ่วคอหมา หรือแม่น้ำปิงมีเขื่อนภูมิพลขวางกั้นลำน้ำอยู่ แต่ชาวบ้านที่อยู่ใต้น้ำก็ยังประสบปัญหาน้ำท่วม ฝนแล้งและดินถล่มอยู่เป็นประจำ และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตามสภาพดินฟ้าอากาศที่แปรปรวนจากปัญหาโลกร้อน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการตัดไม้ทำลายป่า
กรมชลประทานก็เคยศึกษาแล้วว่าการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ร้อยละ 9.6 คือหมายความว่า ถ้าน้ำท่วมสูง 1 เมตร หากมีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะทำให้น้ำลดลงได้แค่ 9.6 เซนติเมตร
คุ้มหรือไม่คุ้มกับการสร้างเขื่อนมูลค่า 12,000 ล้านบาท กับการเสียพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์มากกว่า 60,000 ไร่ เพื่อได้มาซึ่งการแก้ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้งที่ไม่ถูกจุด
ตลอดระยะเวลายี่สิบกว่าปี ทุกครั้งที่รัฐบาลจะผลักดันโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ก็จะมีการตั้งคณะกรรมการและจ้างสถาบันวิชาการระดับประเทศเพื่อศึกษาวิจัยผลดีผลเสียของการสร้างเขื่อน และเกือบทุกครั้งก็ได้ข้อสรุปตรงกันว่า การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นมูลค่า 12,000 ล้านบาท ไม้คุ้มค่าเชิงเศรษฐศาสตร์อย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะวัดด้วยอะไรก็ตาม สู้เอางบประมาณเหล่านี้ไปหาแนวทางเพื่อแก้ปัญหาที่ตรงจุดมากกว่านี้ดีกว่า
ผู้เขียนเชื่อว่า หากเขื่อนแก่งเสือเต้นสร้างสำเร็จ น้ำก็จะยังท่วมต่อไป แต่ป่าสักทองผืนสุดท้ายก็จะมลายหายไปพร้อมกับภาษีประชาชนกว่า 12,000 ล้านบาท
ขณะที่มีแนวทางการแก้ปัญหาโดยแผนการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม ได้อย่างเป็นระบบทั้งลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ตั้งแต่การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การกักเก็บน้ำตามลำน้ำสาขาต่างๆ 77 สาขา โดยการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กกระจายไปทั่ว และให้ชุมชนตลอดลุ่มน้ำมีส่วนร่วมในการจัดการน้ำ รวมไปถึงการขุดลอกตะกอนแม่น้ำ อันจะสามารถฟื้นฟูแม่น้ำให้กลับมาทำหน้าที่แม่น้ำตามธรรมชาติได้ การทำทางเบี่ยงน้ำเพื่อระบายออกนอกเขตชุมชน
แต่แน่นอนว่า การแก้ปัญหาแบบนี้ในสายตาของนักการเมืองแล้ว ถือเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า เพราะไม่เห็นผลงานที่เป็นรูปธรรม หาเสียงด้วยการสร้างเขื่อนกับหาเสียงด้วยการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ผลสะเทือนย่อมต่างกัน ไม่รวมถึงผลประโยชน์จากการก่อสร้างมูลค่า 12,000 ล้านบาท ซึ่งหากคิดจากปัญหาคอรร์รัปชั่นในบ้านเราที่สูญเงินไประหว่างทางถึง 30-40 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าการก่อสร้าง โครงการแห่งนี้จะรับเงินเข้ากระเป๋าใคร เป็นจำนวนเท่าใด และใครจะได้รับสัมปทานตัดไม้สัมปทานตัดไม้สักทองผืนใหญ่นี้ คงพอนึกภาพกันออกว่าเป็นใครไม่ได้นอกจากนักการเมือง
ไม่น่าแปลกใจที่นักการเมืองทุกยุคทุกสมัย ฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลไม่เคยทะเลาะกันเลยเรื่องการสร้างเขื่อน
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 21 สิงหาคม 2554

22 สิงหาคม 2554

กลุ่มอนุรักษ์ เดินเคาะประตูบ้านคนเมืองอุดรฯ เตรียมพร้อมรับมือรัฐบาลใหม่หนุนเหมืองโปแตช


อุดรธานี เมื่อวันที่ 21 ส.ค. เวลา 10.00 น. กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จำนวนกว่า 100 คน ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ได้เดินทางจากอ.ประจักษ์ศิลปาคม เพื่อไปพูดคุยให้ข้อมูลกรณีโครงการเหมืองแร่โปแตชกับคนในเมืองอุดรธานี โดยชาวบ้านได้แบ่งเป็นกลุ่มกระจายกันไปตามจุดสำคัญๆ อาทิ ย่านศูนย์การค้าห้าแยก, โรงพยาบาล, ตลาดเทศบาล, หน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏ, บริเวณบขส. และสถานีรถไฟ เป็นต้น จนกระทั่งเวลาประมาณบ่ายโมงจึงเดินทางกลับ
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศว่า กลุ่มชาวบ้านพร้อมใจกันใส่เสื้อเขียวเป็นสัญลักษณ์ และให้ข้อมูลโดยใช้วิธีการเดินเข้าประกบพูดคุย, เข้าตามบ้านเรือน และห้างร้านต่างๆ พร้อมทั้งแจกใบปลิว “ความจริงในพื้นที่เหมืองแร่โปแตช” ซึ่งพบว่าคนส่วนใหญ่มีความสนใจ และให้การตอบรับเป็นอย่างดี เช่น กล่าวให้กำลังใจกับกลุ่มชาวบ้าน ให้ที่อยู่ หรือเบอร์โทรศัพท์เพื่อติดต่อ บ้างก็ให้น้ำดื่ม ให้อาหารกินระหว่างทาง และก็มีผู้บริจาคเงินเพื่อสมทบกองทุนการต่อสู้กับกลุ่มชาวบ้านด้วย

ทั้งนี้ ในใบปลิวมีเนื้อหากล่าวว่า ขณะนี้บริษัทเอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (เอพีพีซี) ได้ว่าจ้าง บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียร์ริ่ง แอนด์ แมเนจเมนต์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยเอกชน ให้ดำเนินการเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์และสนทนากลุ่มย่อยกับประชาชน เพื่อนำไปจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) พร้อมกันนี้บริษัทฯ ก็พยายามรวบรวมเอารายชื่อของประชาชนที่ได้จากการเก็บข้อมูลไปประกอบและแอบอ้างสนับสนุนโครงการฯ และวิธีการเก็บข้อมูลก็มุ่งเน้นดำเนินการกับกลุ่มคนที่เป็นฝ่ายสนับสนุนโครงการฯ ดังนั้น ผลของการจัดทำรายงานย่อมเอนเอียง และขาดความน่าเชื่อถือ (มีรายละเอียดตามแนบไฟล์)

การเคลื่อนไหวของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีในครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่มีรัฐบาลชุดใหม่ โดยกลุ่มชาวบ้านได้วางแผนร่วมกันที่จะเดินสายเคาะประตูบ้านเพื่อให้ข้อมูลกับชาวบ้านตามหมู่บ้านต่างๆ ต่อไป ทั้งนี้ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์กับรัฐบาลที่มีแนวนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะนโยบายที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่ต้องนำเอาทรัพยากรขึ้นมาใช้ แต่ส่งจะผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ดังเช่นโครงการเหมืองแร่โปแตช

/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/

นายเดชา  คำเบ้าเมือง  ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ศสธ.)
ตู้ปณ. 14 อ.เมือง จ.อุดรธานี  41000
โทรศัพท์ : 081-3696266
อีเมล์ decha_61@yahoo.com huktin.ud@gmail.com

07 สิงหาคม 2554

Story of stuff ชำแหละบริโภคนิยม




04 สิงหาคม 2554

อาสาพัฒนา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อาสาพัฒนา เป็นชื่อเรียกกลุ่มคนที่รวมกลุ่มกันและมีจุดหมายในการออกไปพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง โดยในประเทศไทยนิยมจัดขึ้นเป็นชมรมตามมหาวิทยาลัย ขณะที่ในหลายประเทศจะมีการรวมตัวกันในหลายระดับตั้งแต่ระดับเยาวชน ระดับมัธยม และระดับอุดมศึกษา ซึ่งกิจกรรมอาสาพัฒนาในต่างประเทศนั้นรวมไปถึง การทำความสะอาดชุมชน การสร้างที่อยู่อาศัยหรืออาคารให้ชุมชน การเป็นอาสาสมัครให้ห้องสมุดประจำชุมชน การสอนเด็กและการดูแลผู้สูงอายุในถิ่นธุรกันดาร
ในประเทศไทยค่ายอาสาพัฒนาจะมีกิจกรรมคล้ายกันจะมีลักษณะคล้ายสังคมสงเคราะห์ (Comudity Services) ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างทั้งที่ถาวรและไม่ถาวร การเผยแผ่อบรมให้ความรู้ด้านในต่างๆ การมอบสิ่งของเครื่องใช้ปัจจัยสี่ให้กับชุมชนในชนบทที่ขาดแคลน โดยเรียกว่า การออกค่ายอาสาพัฒนา ทั้งนี้เพื่อให้มีความเป็นเอกเทศในการจัดกิจกรรมด้านบำเพ็ญประโยชน์โดยไม่ขึ้นตรงหรือพึ่งพากับองค์กรใดๆ โดยมีความมุ่งหวังที่จะจัดกิจกรรมด้านอาสาพัฒนาออกไปสู่สังคมภายนอกมากขึ้น เพื่อพัฒนาบทบาทของนิสิตต่อการรับผิดชอบต่อสังคมโดยเฉพาะชุมชนชนบทที่ห่างไกล และโดยพื้นฐานของการเป็นสถาบันการศึกษาของท้องถิ่น ทำให้กลุ่มผู้ก่อตั้งและผู้สานต่อเจตนารมณ์ในยุคต่อมาได้ให้ความสำคัญกับแนวคิดในระยะเริ่มแรก และใช้เป็นแนวทางในการพัฒนากิจกรรรมมาจนถึงทุกวันนี้
ในสหรัฐอเมริกา งานอาสาพัฒนาในระดับมหาวิทยาลัย มักจะจัดทำโดยกลุ่มที่รวมตัวกันภายใต้ แฟรตเทอร์นิตี(fraternity ) และ ซอรอริตี(sorority) โดยแฟรตเทอร์นิตีที่รู้จักกันดีในด้านอาสาพัฒนานี้คือ อัลฟา ฟี โอเมก้า (ΑΦΩ)(Alpha Phi Omega)

ประวัติอาสาพัฒนาในประเทศไทย


ในประเทศไทยไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัดว่า กิจกรรมค่ายอาสาสมัครเริ่มขึ้นเมื่อใด แต่ปรากฏหลักฐานว่าองค์การและสมาคมทางศาสนาคริสต์ ได้เคยจัดตั้งค่ายอาสาสมัครมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่น สมาคม Y.M.C.A. และสำนักคริสเตียนกลาง กรุงเทพฯ เป็นต้น ซึ่งสมาคมเหล่านี้ไม่แพร่หลาย เพราะส่วนใหญ่ทำอยู่เฉพาะคริสตศาสนิกชนเท่านั้น การเริ่มงานค่ายอาสาที่แท้จริงในประเทศไทย เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2500 หลังจากที่ นายทวี วงศ์รัตน์ ผู้แทนยุวพุทธิกสมาคม กลับจากการเข้าร่วมค่ายฝึกผู้นำค่ายอาสาสมัครสำหรับเอเชียใต้ ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการจัดและดำเนินการตั้งค่ายฝึกผู้นำค่ายอาสาสมัครนานาชาติแห่งอินเดีย (Indian Organization Committee for International Voluntary Work Group) ด้วยความร่วมมือของคณะกรรมการจัดและดำเนินการประสานงานค่ายอาสาสมัครนานาชาติแห่งยูเนสโก ค่ายอาสาสมัครที่แท้จริงครั้งแรก จัดตั้งในนามของยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยที่วัดหัวสวน จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นค่ายฝึกผู้นำซึ่งมีชาวค่ายที่เป็นผู้แทนยุวพุทธิกสมาคม จำนวน 29 คน มีจุดมุ่งหมายที่จะฝึกให้ผู้แทนเหล่านี้มีความรู้และประสบการณ์ทางด้านค่ายอาสาสมัคร เพื่อจะได้ดำเนินกิจกรรมในด้านนี้ต่อไป ซึ่งนับว่าเป็นการเริ่มงานค่ายอาสาสมัครอย่างแท้จริง หลังจากนั้นยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ก็ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมค่ายฝึกผู้นำของเอเชียใต้ ครั้งที่ 3 ในปี พ.ศ. 2501 ณ ประเทศอินเดีย และดำเนินการตั้งค่ายอาสาสมัครร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และยุวพุทธิกสมาคมในจังหวัดต่างๆ ซึ่งแต่ละค่ายได้รับผลสำเร็จพอสมควร และต่อมากิจกรรมค่ายอาสาสมัครในประเทศไทยได้แพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวางมากขึ้นเป็นลำดับ (สำเนาว์ ขจรศิลป์)
ในปี พ.ศ. 2502 ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ได้จัดตั้งค่ายอาสาสมัครครั้งใหญ่โดยร่วมมือกับนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 5 ค่าย คือ ที่อำเภอแกลง จังหวัดระยอง อำเภอเขื่อนแก้วจังหวัดอุบลราชธานี บ้านดอนบม จังหวัดขอนแก่น วัดดอนทอง จังหวัดฉะเชิงเทรา และที่จังหวัดสุรินทร์ การจัดตั้งค่ายอาสาสมัครครั้งนี้ ทางยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ได้เชิญเลขาธิการคณะกรรมการประสานงานค่ายอาสาสมัครนานาชาติแห่ง UNESCO คือ Mr.Hans Peter Muler มาเป็นที่ปรึกษาด้วย เนื่องจากการจัดตั้งค่ายอาสาสมัครครั้งนี้ ได้ผลดีเพียงบางค่าย ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้ผลสมบูรณ์ตามวัตถุประสงค์ ทางยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย จึงได้งดจัดตั้งค่ายอาสาสมัคร จนถึงปี พ.ศ. 2505 จึงได้รื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยขอความร่วมมือจากนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ซึ่งเคยจัดทำกิจกรรมค่ายอาสาสมัครได้ผลดีมาแล้ว ได้จัดตั้งค่ายอาสาสมัครขึ้น 2 ค่าย ที่ตำบลปากห้วย และตำบลบ้านทองหลวง จังหวัดพิษณุโลก ทั้ง 2 ค่ายได้รับผลสำเร็จเป็นอย่างดี ชาวค่ายซึ่งเป็นผู้แทนจากยุวพุทธิกสมาคมจังหวัดต่างๆ ได้นำความรู้ที่ได้รับจากการเข้าค่ายอาสาสมัครในครั้งนี้ ไปดำเนินการจัดตั้งค่ายในจังหวัดที่ตนอาศัยอยู่ เท่าที่ทราบขณะนั้น คือ จังหวัดนครปฐม จังหวัดพัทลุง และจังหวัดอุบลราชธานี ชาวค่ายส่วนใหญ่เป็นนักเรียน และสมาชิกยุวพุทธิกสมาคมในจังหวัดนั้นๆ แต่ละค่ายได้รับผลสำเร็จพอสมควร และในระหว่างปิดภาคการศึกษา ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2506 ยุวพุทธิกสมาคมในจังหวัดต่างๆ ก็ได้จัดตั้งค่ายอาสาสมัครขึ้นอีก เช่น ที่จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น นับได้ว่ากิจกรรมค่ายอาสาสมัครได้แพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวางมากขึ้นเป็นลำดับ (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา, 2550)
นอกเหนือไปจากการดำเนินงานของยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยแล้ว ยังมี สมาคมและหน่วยงานอื่นๆ ที่ได้ดำเนินกิจกรรมค่ายอาสาสมัครเป็นครั้งคราว เช่น กรรมการสหายอเมริกัน (American Friends Service Committee) สมาคม Y.M.C.A. เป็นต้น ซึ่งส่วนมากจัดเป็นระบบค่ายอาสาสมัครเพื่อการสัมมนา และค่ายอาสาสมัครเยาวชน ซึ่งมีจุดมุ่งหมายด้านนันทนาการ เป็นต้น (สำเนาว์ ขจรศิลป์,2541)

สถาบันการศึกษาไทย กับค่ายอาสาพัฒนา

เริ่มต้นด้วยนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่เรียกตนเองว่า “กลุ่มนิสิตนักศึกษา 5 มหาวิทยาลัย” เป็นกลุ่มอิสระ ไม่สังกัดสมาคมใด ได้ปรึกษาหารือกันว่าระหว่างปิดภาคเรียนฤดูร้อน น่าจะได้ทำกิจกรรมอะไรอย่างหนึ่ง ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและสังคม จึงคิดจัดตั้งค่ายอาสาสมัครเพื่อการสัมมนาขึ้น ที่จังหวัดสระบุรี ในปี พ.ศ. 2501 ต่อมาก็ได้มีการจัดให้มีค่ายสัมมนาเช่นนี้อีก แต่ขยายจำนวนชาวค่ายมากขึ้น และมีการออกไปศึกษาข้อเท็จจริง และร่วมมือในการทำงานด้านการพัฒนาท้องถิ่นในภาคต่างๆ ของประเทศไทย 5 ภาค ๆ ละ 10 คน ประกอบด้วยนิสิตนักศึกษาจาก 5 มหาวิทยาลัย ๆ ละ 2 คน ใช้เวลาอยู่ในชนบท 9 วัน แล้วจึงกลับมาสัมมนาร่วมกันที่จังหวัดสระบุรี การจัดตั้งค่ายอาสาสมัคร และการสัมมนาในครั้งนั้นเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และได้ผลสมความมุ่งหมาย ในปี พ.ศ. 2503 และ พ.ศ. 2504 กลุ่มนิสิตนักศึกษา 5 มหาวิทยาลัย ได้จัดตั้งค่ายอาสาสมัครเพื่อการสัมมนาขึ้นอีก แต่ใน 2 ครั้งนี้ มิได้จัดให้มีการทำงานเพื่อพัฒนาท้องถิ่นแบบ Work Camp ทั่วไป หากแต่เน้นหนักเฉพาะด้านสัมมนาเท่านั้น ในปี พ.ศ. 2505 จึงได้เริ่มจัดแบบค่ายอาสาสมัคร (Voluntary Work Camp) อย่างแท้จริง โดยเลือกอำเภอพล จังหวัดขอนแก่น เป็นที่ตั้งค่าย โครงงานที่ทำคือ สร้างสนามเด็กเล่น เกลี่ยดิน ปรับผิวจราจรถนนสาธารณะ ขุดลอกสระน้ำ สร้างถนนหน้าโรงเรียนพลประชานุกูล และช่วยราษฎรมุงหลังคาโรงเรียนประชาบาล ชาวค่ายอาสาสมัครทำงานทั้งภาคเช้าและภาคบ่าย เป็นเวลาทั้งสิ้น 10 วัน จากนั้นจึงมาประชุมสัมมนาภายหลังปิดค่ายแล้ว 5 วัน ที่โรงเรียนการช่างสตรีประจำจังหวัดขอนแก่น งานดำเนินไปโดยเรียบร้อยได้ผลเป็นที่พอใจยิ่ง
สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่มีความสนใจในกิจกรรมค่ายอาสาสมัครนี้มาก โดยในปี พ.ศ. 2502 นายวิจิตร ศรีสอ้าน ได้รับเลือกเป็นนายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เสนอกรรมการสโมสรนิสิต ขอจัดตั้งค่ายฝึกผู้นำขึ้นโดยคัดเลือกนิสิตอาสาสมัครจากคณะต่างๆ คณะละ 7 คน รวม 49 คน และคณะกรรมการสโมสรนิสิต ได้อนุมัติให้ดำเนินโครงการ ซึ่งเป็นการจัดตั้งค่ายอาสาสมัครครั้งแรก เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม – 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2502 ได้ไปออกค่ายที่บ้านนาเหล่าบก ตำบลหนองยาว อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ในช่วงปิดภาคต้นปีการศึกษา โดยใช้งบประมาณสนับสนุนจากมูลนิธิเอเชีย และเงินซึ่งเก็บจากสมาชิดค่ายฯ คนละ 50 บาท อีก 49 คน ลักษณะของค่ายเป็นค่ายฝึกผู้นำ โดยให้สมาชิกเรียนรู้วิธีการจัดและวิธีดำเนินงานค่ายอาสาสมัคร โดยมีโครงงานพัฒนาหมู่บ้านเป็นแกน คือ การตัดถนนเชื่อมหมู่บ้านและโครงงานด้านการเกษตร โดยการแนะนำและสาธิตการทำไร่สัปปะรด ในการออกค่ายครั้งนั้น มุ่งเน้นประโยชน์ที่จะได้รับ 2 ประการด้วยกัน คือ
ประการแรก ประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับสมชิกค่ายอาสาสมัคร เนื่องจากเป็นค่ายฝึกผู้นำ เป็นการพัฒนาตนเองในด้านการเป็นผู้นำ การจัดการ การดำเนินงานค่ายอาสาสมัคร ศึกษาสภาพชีวิตในชนบท นำวิชาความรู้ที่ศึกษาไปปฏิบัติจริงในท้องที่ชนบท และฝึกการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
ประการที่สอง ประโยชน์เกิดขึ้นกับชุมชนที่ไปออกค่ายอาสาสมัคร โดยอาศัยความร่วมมือของประชาชนในท้องถิ่นมาร่วมโครงงาน เกิดการรวมกลุ่มกันทำงานเพื่อประโยชน์ต่อชุมชน สร้างทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับการรวมกลุ่มขึ้น เพื่อช่วยทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อท้องถิ่น มิใช่รอความหวังให้ผู้อื่นมาช่วยได้รับความรู้ทางด้านวิชาการ วิชาชีพจากการทำงานร่วมกับนิสิตนักศึกษา อันเกิดประโยชน์ต่อการดำรงชีพของชาวชนบทในพื้นที่นั้นๆ
จากผลสำเร็จอย่างงดงามสมความมุ่งหมายของโครงการดังกล่าว จึงทำให้กิจกรรมค่ายอาสาสมัครเป็นที่แพร่หลาย และได้รับความสนใจในหมู่นิสิตนักศึกษามากยิ่งขึ้น ในปี พ.ศ. 2503 จึงได้จัดตั้งค่ายอาสาสมัคร (Voluntary Work Camp) ขึ้นอีก 2 ค่าย ที่บ้านน้ำเมา อำเภอสีคิ้ว และบ้านหนองคู อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ในระหว่างปิดภาคการศึกษา พ.ศ. 2506 ก็ได้จัดตั้งอีก 1 ค่าย ที่ตำบลบ้านแดงน้อย อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
ในปี พ.ศ. 2519 การจัดกิจกรรมของนักศึกษาภายนอกมหาวิทยาลัยได้ระงับลงชั่วคราวตามคำสั่งหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ที่ 42/2519 ลงวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2519 จนกระทั่งต่อมาได้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2521 อนุมัติให้นักศึกษาของมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ดำเนินกิจกรรมนอกสถานศึกษาได้ โดยร่วมโครงการกับส่วนราชการ ทั้งนี้โดยมีทบวงมหาวิทยัลย (ปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา) เป็นผู้ประสานงานอย่างใกล้ชิด ซึ่งทบวงมหาวิทยาลัยได้ติดต่อกับส่วนราชการต่างๆ ทั้งหน่วยงานทหารและพลเรือน เพื่อจัดโครงการอาสาพัฒนาชนบทกับนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยและสถาบันต่างๆ ตามความเหมาะสม มีทังรูปของโครงการที่นิสิตนักศึกษาริเริ่มเอง และโครงการของทางราชการที่นิสิตนักศึกษาอาสาร่วมด้วย ในดำเนินการใน้ปีแรกนี้ รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณจำนวน 1 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการอาสาพัฒนาชนบทของนิสิตนักศึกษาตามความจำเป็น และความเหมาะสมของโครงการ ในครั้งนั้นปรากฏได้มีหน่วยงานตอบรับมาเพียงหน่วยงานเดียวคือ กรป.กลาง โดยหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ (นพค.) ในพื้นที่ 27 จังหวัด จากผลการปฏิบัติงานดังกล่าวข้างต้นนี้ ได้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าได้บรรลุสำเร็จตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายเป็นอย่างดี
จากความสำเร็จดังกล่าวข้างต้น ดั้งแต่ปีงบประมาณ 2522-2540 รัฐบาลได้เห็นความสำคัญของการดำเนินการโครงการส่งเสริมกิจกรรมในด้านต่างๆ ของนิสิตนักศึกษา โดยเฉพาอย่างยิ่งด้านพัฒนาชนบท จึงได้จัดสรรงบประมาณจำนวนปีละประมาณ 20-25 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2542 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้เพิ่มขึ้นเป็น 28.8 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2543 เป็นต้นมารัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณเพิ่มขึ้นเป็นปีละประมาณ 35-40 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี การดำเนินการกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาในสถาบันอุดมศึกษา ได้แพร่หลายมากขึ้น โดยการสนับสนุนของส่วนราชการ และหน่วยงานเอกชน เช่น ธนาคารออมสิน สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล บริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด เป็นต้น

03 สิงหาคม 2554

เครือข่ายทรัพฯอีสานเปิดวงถก เสนอทางออกการพัฒนา รับรัฐบาลใหม่





เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสานจับมือกรมส่งเสริมสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน จัดเสวนาสถานการณ์สิ่งแวดล้อมอีสาน 54 ถอดบทเรียนนโยบายการจัดการทรัพยากรชาติ เตรียมความพร้อมก่อนเสนอทางเลือกการพัฒนาต้อนรับรัฐบาลยิ่งลักษณ์
เมื่อวันที่ กรกฎาคม 2554 เวลา 8.00 น. ณ ศูนย์ประชุมแก่งเลิงจาน จังหวัดมหาสารคาม เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน ร่วมกับกรมส่งเสริมสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนถอดบทเรียนการจัดการทรัพยากรภาคอีสาน และทิศทางการจัดการทรัพยากรของภูมิภาคโดยภาคประชาชนในอนาคต  
บรรยากาศในห้องประชุมเนืองแน่นไปด้วยตัวแทนจากเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ โครงการทามมูล กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา สมาคมเพื่อนภู มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ ตัวแทนชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาทั่วภาคอีสาน อาทิ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าอุดรธานี เครือข่ายองค์กรชุมชนฟื้นฟูป่าภูกระแต กลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนปากชม กลุ่มชาวบ้านลุ่มน้ำเสียวและลุ่มน้ำชี กลุ่มชาวบ้านพื้นที่ชุ่มน้ำแก่งละว้าและกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนหัวนา-ราษีไศล จำนวนกว่า 100 คน  
ทั้งนี้ ภายในเวทีได้มีการถอดบทเรียนนโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในภาคอีสานของรัฐบาล นับแต่แผนพัฒนาฯฉบับที่ จนถึงในช่วงแผน 10 ครอบคลุมทั้งในมิติ ดิน น้ำ ป่า และแร่ธาตุ เพื่อสรุปบทเรียนปัญหาร่วมกันทั้งในเชิงพื้นที่และภาพรวมของภูมิภาค ซึ่งข้อสรุปในวงแลกเปลี่ยนต่างเห็นพ้องร่วมกันว่า รากเหง้าของปัญหาในการจัดการทรัพยากร ที่สร้างผลกระทบให้กับชุมชนท้องถิ่นอีสานในแต่ละภูมินิเวศนั้น ล้วนเป็นผลมาจากการรวมศูนย์อำนาจการจัดการทรัพยากรเข้าสู่ส่วนกลาง การมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและความเจริญเติบโตของตัวเลขเศรษฐกิจเป็นหลักใหญ่ ซึ่งได้นำมาสู่การลิดรอนสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือกดขี่ข่มเหงชาวบ้านสารพัดรูปแบบโดยไม่เคารพศักดิ์ศรีและความเป็นมนุษย์ของคนอีสาน ฉะนั้นทางออกของปัญหาที่มีร่วมกันก็คือการปรับดุลอำนาจในการจัดการทรัพยากรกับรัฐเสียใหม่ เพื่อให้ชุมชนในแต่ละภูมินิเวศสามารถจัดการทรัพยากรด้วยตนเองได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับนิเวศวัฒนธรรมเฉพาะถิ่นนั้นๆ  
ด้านนายบุญเลิศ เหล็กเขียว แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า
ผมอยากฝากให้รัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารใหม่ ฟังเสียงประชาชนบ้าง ฟังว่าพวกเขาจะเอาหรือไม่เอา ถ้าประชาชนเจ้าของพื้นที่เขาไม่เอาก็ควรฟัง เพราะนั่นเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของเขา ไม่ใช่รัฐบาลมัวเห็นแต่ผลประโยชน์ หน่วยงานรัฐก็ไม่ควรที่จะมาบีบคั้นประชาชนให้ยอมรับตาม เช่น เวลาประชาชนเขาไปเรียกร้องสิทธิก็กลับมาหาว่าเขาคัดค้านโครงการ หรือคัดการปฏิบัติงานของรัฐแล้วเอาเจ้าหน้าที่ตำรวจมาจับเขา ทั้งๆที่ประชาชนมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ มีสิทธิโต้แย้ง มีสิทธิคัดค้าน มีสิทธิประท้วง มีสิทธิเรียกร้อง ผมว่ามันไม่เป็นธรรมสำหรับประชาชนอย่างพวกเรา ก็ขอฝากรัฐบาลให้ใจกว้างขึ้นหน่อย ยอมรับความคิดที่แตกต่างของชาวบ้านบ้าง
ด้านนายมนัส ถำวาปี คณะกรรมการชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง กล่าวว่า
ที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมากนัก เพราะแผนการพัฒนาของรัฐยังมุ่งเก็งกำไร เอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการ เอื้อนายทุน หรือรัฐวิสาหกิจเป็นหลัก เช่น กรณีโครงข่ายไฟฟ้าแรงสูง 500 Kv ที่ผมได้รับผลกระทบอยู่ขณะนี้ ดังนั้น ผมจึงอยากเสนอให้รัฐบาลใหม่หันมาสนับสนุนการใช้ทรัพยากรทางเลือกที่เรามีอยู่ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเราสามารถใช้ได้ตลอดชั่วลูกชั่วหลาน แม้ในระยะแรกอาจมีค่าใช้จ่ายในการติดตั้งสูง แต่ต่อๆไปเราเพียงแต่มีภาระค่าบำรุงรักษาเท่านั้น อีกทั้งยังไม่ได้สร้างผลกระทบเหมือนโครงการพัฒนาขนาดใหญ่อย่างที่รัฐได้ดำเนินการอยู่ในขณะนี้
ด้านนายสนั่น ชูสกุล ผู้อำนวยการโครงการทามมูล ได้ให้ความเห็นปิดท้ายว่า
จริงๆแล้วเราก็มองว่านโยบายของรัฐบาลใหม่คงไม่ได้ต่างกับนโยบายทักษิณในอดีต ที่เน้นเรื่องการจัดการ เรื่องทุน เรื่องฐานทรัพยากรที่มองว่าเป็นทุน ก็คิดว่าช่วงต่อจากนี้คงเกิดความเครียดเพิ่มขึ้นกว่าเดิมพอสมควร แต่ก็อาจจะเป็นการกระตุ้นให้ชุมชนเกิดความตระหนัก เกิดความตื่นตัวที่จะลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรกันมาขึ้น  
/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-
นายฐากูร สรวงศ์สิริ ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ศสธ.)
ตู้ปณ. 14 อ.เมือง จ.อุดรธานี 41000
โทร.087-0276344 อีเมล์ Dhonburi@hotmail.com