ขอเชิญทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเราในการสร้า้งสังคมแห่งการเรียนรู้...

หากต้องการลงบทความ/งานเขียนของท่าน สามารถแจ้งความประสงค์ได้ทางเว็บบอร์ด หรือทางอีเมล์แอดเดรส; po_kenchin@hotmail.com
หรือจะสมัครสมาชิกอย่างเดียวก็ได้นะครับ

24 มกราคม 2555

หายนะแห่งลำน้ำเสียว ฤาเป็นเพียงบทเรียนที่ผ่านเลย

เรื่อง : เกื้อเมธา ฤกษ์พรพิพัฒน์
ภาพลำน้ำเสียวตอนบนที่ขาวโพลนไปด้วยขุยเกลือยามแล้งเมื่อน้ำแห้งขอด ขณะที่สภาพสองฝั่งน้ำมีไม้น้อยใหญ่ยืนต้นแห้งตาย ยังคงเป็นอดีตอันขมขื่นในความทรงจำของผู้เฒ่าแม่แก่แห่งดินแดนที่ราบสูงหลายต่อหลายคน
วิบากกรรมที่เกิดขึ้นเป็นผลกระทบจากการผลิตเกลือสินเธาว์แบบอุตสาหกรรม ซึ่งพลิกวิถีชีวิตของผู้คนในแถบถิ่นนั้นไปอย่างมิมีวันจะฟื้นคืน
การประกอบอุตสาหกรรมเกลือสินเธาว์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเปิดศักราชขึ้นเมื่อประมาณปี 2513 ที่ต้นลำน้ำเสียว บริเวณหนองบ่อ อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม โดยเริ่มต้นจากการที่คนงานร้านขายน้ำในอำเภอพบว่าน้ำบาดาลจากหนองบ่อสามารถนำไปทำเกลือได้ด้วยวิธีการต้มและตาก จึงได้มีการสูบน้ำใต้ดินไปขาย กลายเป็นกิจการที่ได้รับความนิยม กระทั่งทำให้พื้นที่โดยรอบหนองบ่อถูกซื้อ เช่า หรือถ่ายโอนกรรมสิทธิ์ในรูปแบบต่างๆ ด้วยราคาที่สูงลิ่ว เพื่อตั้งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดย่อมผลิตเกลือจำหน่าย สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำแก่ผู้ลงทุน
ในห้วงเวลานั้น อุตสาหกรรมเกลือขยายตัวอย่างรวดเร็ว ถึงขั้นเล่ากันว่า ทุกวันจะมีรถขนเกลือไปจำหน่ายและขนไม้ฟืนกลับมาเป็นเชื้อเพลิง วิ่งกันขวักไขว่ทั้งวันทั้งคืนบนถนนที่ถูกสร้างขึ้นอย่างเร่งรีบ กระแสเงินสะพัด ที่นาโดยรอบถูกกว้านซื้อจนหมด  ต่อมาเมื่อทำกันมากขึ้น ไม้ฟืนเริ่มหายากจนต้องหันมาใช้แกลบแทนไม้ฟืนในการต้มเกลือ
ท่ามกลางบรรยากาศการกอบโกยทรัพยากรธรรมชาติอย่างละโมบ ในอีกด้านหนึ่งปัญหาก็เริ่มปรากฏ ป่าไม้จำนวนมากถูกทำลาย  น้ำในหนองบ่อและลำน้ำเสียวเค็มจนใช้ทำการเกษตรไม่ได้  จนในปี 2519 ชาวบ้านจำนวนหนึ่งไม่สามารถทนความเดือดร้อนได้อีกต่อไป จึงเข้าร้องเรียนต่อรัฐบาล  ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น จึงมีคำสั่งปิดกิจการผลิตเกลือสินเธาว์บริเวณลุ่มน้ำเสียวในพื้นที่เขตอำเภอบรบือ อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม อำเภอเกษตรวิสัย อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด และอำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2523 และให้กรมชลประทานดำเนินการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำหนองบ่อเพื่อให้กลับมาใช้งานได้เหมือนเดิม
หากทว่าในปี 2526 เมื่อสถานการณ์เกลือทะเลมีราคาถีบสูงขึ้น เนื่องจากคนทำนาเกลือจำนวนมากในจังหวัดสมุทรสาครและสมุทรสงครามหันไปประกอบอาชีพเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ทำให้เกลือบริโภคขาดแคลน ผู้ประกอบการหลายรายจึงหวนกลับมาลักลอบผลิตเกลืออีกครั้งที่ลุ่มน้ำเสียว จนทำให้น้ำในหนองบ่อและลำน้ำเค็มจัด พื้นที่นาบริเวณสองฝั่งลำน้ำไม่สามารถปลูกข้าวและพืชอื่นใดได้ ประเมินกันว่ามีพื้นที่เกษตรกรรมที่ได้รับความเสียหายกว่า 318,750 ไร่
หนนี้ ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจาก 5 หมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านแคน ตำบลแคน บ้านเปือย ตำบลหวาย บ้านยาง ตำบลยาง บ้านบัวมาศ ตำบลบัวมาศ อำเภอวาปีปทุม และบ้านดงใหญ่ อำเภอบรบือ ได้รวมตัวกันเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ในเดือนพฤศจิกายน 2532 โดยประสานความร่วมมือกับกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดตั้งเป็นกลุ่มแก้ปัญหาลำเสียวใหญ่ 3 จังหวัด เพื่อต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรม โดยมีการชุมนุมประท้วงกันหน้าที่ว่าการอำเภอวาปีปทุม พร้อมกับเสนอข้อเรียกร้องให้รัฐบาลสั่งหยุดทำนาเกลือโดยสิ้นเชิง ให้หน่วยงานเฉพาะกิจจับกุมคนทำนาเกลือ ย้ายตำรวจออกจากพื้นที่ให้หมด ขุดลอกลำน้ำเสียวใหม่ตลอดสาย และฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ให้กับลำน้ำเสียวอีกครั้ง แต่การชุมนุมประท้วงก็ไม่เป็นผล จึงมีการยกระดับการชุมนุมสู่มาตรการปิดถนน จนตำรวจได้เข้าสลายการชุมนุมและจับกุมแกนนำชาวบ้านและนักศึกษารวม 42 คน ชาวบ้านที่เหลือกว่า 2,000 คน จึงพร้อมใจกันเข้ามอบตัว ในที่สุดตำรวจยอมให้มีการประกันตัวและปล่อยแกนนำทั้งหมด
ต่อมาอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา เพราะวินิจฉัยว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรง อีกทั้งเป็นการเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ขณะที่รัฐบาลนำโดยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ก็มีคำสั่งให้ปิดกิจการผลิตเกลือสินเธาว์อีกครั้ง พร้อมกับอนุมัติงบประมาณกว่า 800 ล้านบาท เพื่อขุดลอกและฟื้นฟูลำน้ำเสียวตลอดทั้งสาย โดยมอบหมายให้กรมชลประทานรับผิดชอบ
อย่างไรก็ดี แม้ภายหลังการฟื้นฟู สภาพน้ำจะมีคุณภาพดีขึ้นก็ตาม แต่ระบบนิเวศก็เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเนื่องจากการขุดลอก ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในฤดูน้ำหลาก สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่เกษตรและระบบนาทาม อาชีพการดักจับปลายามน้ำหลากหายไป ขณะที่การสร้างฝายคอนกรีตเสริมเหล็กเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งที่แต่เดิมเป็นเพียงฝายดิน ก็กลายเป็นปราการกีดขวางลำน้ำ และมักมีทรายไหลมาทับถมที่หน้าฝาย ทำให้ตื้นเขินขึ้นทุกปี ส่วนช่วงที่น้ำมากซึ่งเป็นฤดูวางไข่ของปลา ปลาหลายชนิดก็ไม่สามารถขึ้นมาวางไข่บริเวณต้นน้ำได้ ส่งผลให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง
ชะตากรรมของลำน้ำเสียวตอนบนถือเป็นบทเรียนครั้งสำคัญที่สะท้อนถึงผลกระทบจากการนำเกลือขึ้นมาผลิตเชิงอุตสาหกรรม โดยขาดมาตรการป้องกันที่ดีพอ  และถึงแม้กิจการเกลือสินเธาว์ที่ลุ่มน้ำแห่งนี้จะปิดฉากลง แต่การผลิตเกลือเชิงอุตสาหกรรมยังคงมีการทำกันอยู่ในจังหวัดมหาสารคาม อีกทั้งขยายไปสู่พื้นที่จังหวัดอื่นๆ เพิ่มเติม ได้แก่ นครราชสีมา สกลนคร อุดรธานี และหนองคาย โดยที่ผลกระทบต่างๆ ทั้งปัญหาการแพร่กระจายของดินเค็ม น้ำเค็ม รวมถึงหลุมยุบ ก็ยังคงปรากฏเป็นข่าวสารในปัจจุบันอยู่เนืองๆ
เอกสารประกอบการเขียน เกลืออีสาน...องค์ความรู้สู่ยุทธศาสตร์การจัดการอย่างยั่งยืน โดยเครือข่ายนักวิชาการนิเวศวัฒนธรรมอีสาน