หลังจากได้มีการขอประทานบัตร และอนุญาตให้มีการดำเนินการทำเหมือง และประกอบโลหะกรรม (แต่งแร่) ของเหมืองทองคำในจังหวัดเลย คือ เหมืองทุ่งคำ ซึ่งอยู่บริเวณต้นน้ำของลำน้ำฮวย ซึ่งจะไหลลงแม่น้ำเลยต่อไป นับเป็นประเด็นสำคัญที่คนเมืองเลย และคนที่อื่นๆ ต้องรับรู้ข้อมูล และทำความเข้าใจ หรือตั้งคำถามกับการเกิดเหมืองแห่งนี้ ด้วยข้อสังเกตเบื้องต้น 4 ประการ 1.เหมืองทองคำ จะทำให้เศรษฐกิจเมืองเลยดีขึ้น และทำให้คนเมืองเลยมีรายได้เพิ่มขึ้นจริงหรือไม่. 2.ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของคน จะได้รับการปกป้องดูแลดีเพียงใด. 3.ประชาชนมีส่วนร่วมในการรับรู้ข้อมูล และตัดสินใจอย่างไรบ้าง. 4.จังหวัดเลย ควรพัฒนาไปในทิศทางใด ทั้งๆ ที่มีธรรมชาติที่งดงาม ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่เกษตรกรรม และวัฒนธรรมอันดีของพี่น้องชาวเลย นี่ยังไม่เพียงพอใช่ไหมกับการทำให้เมืองเลยเป็นเมืองน่าอยู่ ต้องหาทางเอาประโยชน์จากธรรมชาติเพิ่มขึ้นอีก ด้วยการพัฒนาแหล่งแร่ เพื่อผลประโยชน์ของใครกันแน่ เท่าที่ผ่านมาเหมืองหิน โรงโม่ ได้ทำอะไรที่ดีงามให้เกิดขึ้นกับพี่น้องชาวเลยบ้าง ทำไมถึงทำเหมืองทองที่นี่ได้ หลังจากได้มีการสำรวจแร่ทองคำที่จังหวัดเลย และได้พบว่ามีศักยภาพในการพัฒนาเชิงพาณิชย์ จึงมีการขอประทานบัตร (สัมปทาน) ซึ่งในกฎหมายแร่ และกฎหมายสิ่งแวดล้อม ต้องมีการเสนอรายละเอียดการทำเหมือง การแต่งแร่ การออกแบบผังเหมือง การรังวัด และทำรายงานศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งเหมืองแห่งนี้ได้ดำเนินการได้อย่างไม่ลำบากยากเย็นนัก ทุกอย่างผ่านเลยไปอย่างเงียบๆ ท่ามกลางการรับรู้ของคนในวงแคบ และไม่ได้ล่วงรู้ข้อมูลเบื้องลึกอะไร แต่ที่สำคัญ คือ มีประเด็นอันน่าสงสัยอยู่มาก โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งให้ความสำคัญน้อยมาก และเหมืองนี้ได้ผ่านการอนุมัติให้มีการดำเนินการในช่วงรัฐบาลที่แล้ว ซึ่งมีนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลอยู่เบื้องหลังการดำเนินการดังกล่าว และหากพิจารณาถึงความพร้อมของผู้ประกอบการซึ่งขาดประสบการณ์ในการทำเหมืองแล้ว ยิ่งเห็นความหละหลวมของการปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง และคนในลุ่มน้ำฮวย น้ำเลย ทั้งหมด โดยเฉพาะการแต่งแร่ ที่ต้องใช้สารเคมีมากมาย รวมถึงไซยาไนด์ที่มีพิษรุนแรง ที่ใช้แยกทองคำออกมา มีข่าววงในให้ข้อมูลว่าเกิดความขัดแย้งในการอนุญาต เนื่องจากมาตรฐานของเหมืองที่ต่ำ แต่ด้วยแรงกดดันทางนโยบาย และผลประโยชน์ ทำให้เหมืองนี้สามารถดำเนินการได้อย่างถูลู่ถูกัง ซึ่งมันก็คือระเบิดเวลาลูกใหญ่ของคนเมืองเลยที่ไม่รู้จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ จากข้อมูลที่บริษัทให้แก่ผู้สื่อข่าว และให้กับพี่น้องชาวเลย บอกว่าจะสามารถสร้างรายได้ถึง 2,000 ล้านบาท และ 60% จะเป็นรายได้เข้าท้องถิ่น ซึ่งหากคิดแล้วก็คือ 1,200 ล้านบาท นับเป็นการโกหกคำโต จริงๆ แล้วรายได้จากค่าภาคหลวงแร่ทองคำ ได้เพียง 4% จากมูลค่าแร่เท่านั้น นั่นหมายความว่า รัฐจะมีรายได้จากการทำเหมืองทั้งหมด 80 ล้านบาท แต่ไม่ใช่ว่าคนเมืองเลยจะได้ทั้งหมด รายได้จากค่าภาคหลวงยังถูกแบ่งให้ส่วนต่างๆ ดังนี้ - รัฐได้ไป 40% คือ 32 ล้านบาท - อีก 60% หรือ 48 ล้านบาท เป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ หนึ่ง.อบจ. เลย ได้ 20% คิดเป็น 16 ล้านบาท. สอง.อบต. ในพื้นที่ทำเหมือง ได้ 20% คิดเป็น 16 ล้านบาท สาม.อบต. อื่นๆ ในจังหวัดเลย ได้ 10% คิดเป็น 8 ล้านบาท. สี่.อบต.ทั่วประเทศ ได้ 10% คิดเป็น 8 ล้านบาท สรุปแล้ว จังหวัดเลยจะมีรายได้จากค่าภาคหลวงเพียง 40 ล้านบาท ตลอดอายุการทำเหมือง หรือหากเหมืองแห่งนี้มีอายุสัมปทาน 10 ปี ก็จะมีรายได้เพียงปีละ 4 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินไม่มากเลย อบต.ในพื้นที่ทำเหมืองได้เพียงปีละ 1.6 ล้านบาท เท่านั้น จำนวนเงินเพียงเท่านี้ ไม่สามารถที่จะดูแล แก้ไข ฟื้นฟู สิ่งแวดล้อมที่เสียหายทั้งลุ่มน้ำได้เลยหากเกิดปัญหาขึ้น มีหมกเม็ดหลายเรื่องมาจาก กพร. เป็นที่ทราบดีว่า กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เป็นหน่วยงานสำคัญในการพิจารณาอนุญาต และควบคุมการทำเหมือง มีการแก้ไขประกาศกระทรวง เรื่อง การอนุญาตประกอบโลหะกรรมในพื้นที่ทำเหมืองได้ ซึ่งเอื้อต่อโครงการนี้ และโครงการอื่นๆ ที่จะตามมา เนื่องจากแต่เดิม และสภาพการทำเหมืองและการแต่งแร่ทั่วโลก จะแยกส่วนของเหมือง และส่วนของโรงประกอบโลหะกรรม หรือโรงแต่งแร่ออกจากกัน เพื่อประสิทธิภาพในการควบคุมดูแล และความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน แม้แต่เหมืองทองคำของบริษัทอัคราไมนิ่ง ที่ จ.พิจิตร ยังแยกโรงประกอบโลหะกรรม (โรงแยกแร่) ออกจากพื้นที่ทำเหมือง แต่ที่บริษัททุ่งคำ โรงแต่งแร่กับเหมืองอยู่ในบริเวณเดียวกัน ซึ่งไม่มีที่ไหนในโลกเขาทำกัน เพราะหากเกิดปัญหาขึ้น เช่น น้ำจากขุมเหมือง และบ่อเก็บตะกรันแร่ที่มีโลหะหนักและสารพิษอันตรายเกิดรั่วไหล ปนเปื้อนชะล้างมากับน้ำฝน รวมกับโลหะหนักต่างๆ ที่อยู่ในดินจากการเปิดเหมือง ปัญหานี้จะเกิดผลกระทบเป็นทวีคูณทันที ดังนั้น โดยมาตรฐานสากลเขาจึงต้องแยกโรงประกอบโลหะกรรมออกจาก พื้นที่ทำเหมือง แต่สำหรับโครงการนี้ไม่เป็นเช่นนั้นเสียแล้ว เหมืองนี้อยู่บริเวณต้นน้ำลำธาร และดัดแปลงทางน้ำ จากการศึกษาแผนผังเหมืองกับแผนที่ 1:50,000 ของกรมแผนที่ทหาร (ดูในแผนที่ประกอบ) พบว่า บริเวณโรงแต่งแร่อยู่ต้นน้ำฮวย มีการสร้างบ่อเก็บตะกอนและน้ำเสียจากการแต่งแร่ คร่อมลำน้ำฮวย (สังเกตจากภาพวีดิโอและภาพถ่ายที่ไปดูงานที่เหมืองวันที่ 15 พ.ย. 49 จะเห็นชัดเจน) ซึ่งพบว่ามีน้ำรั่วซึมออกจากเขื่อนด้วย แสดงว่าไม่มีการป้องกันที่ดีพอ โดยเฉพาะอ้างว่ามีแผ่นวัสดุกันซึม (HDPE) แต่ก็แสดงให้เห็นว่ากระบวนการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน และน้ำโคลนที่ซึมออกมาก็จะไหลลงสู่ลำน้ำฮวยต่อไป นี่เพียงแค่ระยะเวลาไม่กี่เดือนเท่านั้นที่เปิดเหมืองมา ยังพบปัญหาเกิดขึ้นแล้ว ทั้งนี้ มาตรา 63 พรบ. แร่ พ.ศ.2510 กำหนดไว้ว่า ห้ามมิให้ผู้ถือประทานบัตรปิดกั้น ทำลาย หรือกระทำด้วยประการใดให้เป็นการเสื่อมประโยชน์แก่ทางหลวง หรือทางน้ำสาธารณะ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในใบอนุญาตนั้น เท่าที่มีข้อมูลไม่ปรากฏว่ามีการอนุญาตให้ปิดกั้น เปลี่ยนแปลงทางน้ำแต่อย่างใด รวมทั้งในรายงาน EIA ก็ไม่ได้มีการกล่าวถึงการปิดกั้นทางน้ำด้วยเช่นกัน ดังนั้น จะถือว่าเป็นการทำรายงานเท็จได้หรือไม่? ซึ่งเป็นอำนาจรัฐมนตรีที่สามารถสั่งระงับประทานบัตรได้ มีเรื่องเทคนิคมากมายที่ยังไม่มีคำตอบ ไซยาไนด์เป็นพิษอย่างไร สารหนู ตะกั่ว แคดเมียม จะส่งผลอย่างไรต่อประชาชน และระบบนิเวศ หากไปถามชาวบ้านในพื้นที่คงไม่มีใครล่วงรู้ อีกทั้งคนงานในเหมืองก็ไม่มีคนในท้องถิ่นเลย เพราะกลัวว่าจะล่วงรู้ถึงความไร้มาตรฐานของเหมืองหรือเปล่า? หากสังเกตบ่อเก็บโคลนจะพบว่า ด้านสูงที่ติดภูเขาไม่ได้ปูแผ่นกันซึม หากมีฝนมาก มีน้ำหลาก หรือทำไปนานๆ บ่อเริ่มเต็ม จะทำให้เกิดการรั่วซึมในด้านนั้นได้ ขณะเดียวกันไซยาไนด์ สามารถสลายตัวด้วยแสงแดดได้ ถ้าทำบ่อกว้างๆ ทำให้บ่อตื้นๆ ไม่ลึก จนแสงแดดสามารถทำให้ไซยาไนด์สลายตัวโดยธรรมชาติ จะช่วยลดปัญหาได้มาก แต่กรณีของทุ่งคำ ทำเพียงบ่อเดียว (ทั้งที่ควรทำ 2 บ่อ) และบ่อยังลึกถึง 5 เมตร จึงผิดหลักการ ปัญหาไซยาไนด์จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง อีกทั้งจากการเก็บข้อมูลคุณภาพน้ำของสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 9 ในปี 2549 พบว่า ลำน้ำฮวยมีแคดเมียมในปริมาณที่สูง นั่นแสดงว่า โดยสภาพธรรมชาติของพื้นดินที่นั่น มีโลหะหนักอยู่ในปริมาณมากอยู่แล้ว การเปิดเหมือง เปิดหน้าดิน ย่อมมีโอกาสทำให้โลหะหนักถูกชะล้างปนเปื้อนในแหล่งน้ำมากขึ้น สารพิษที่เกิดจากการแต่งแร่ นอกจากมีไซยาไนด์แล้วยังมีปรอท ตะกั่ว แคดเมียม และสารหนู ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นโลหะหนักที่มีอันตรายสูงต่อระบบนิเวศ และสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะไซยาไนด์ที่อยู่ในรูปก๊าซ สามารถสูดดมเข้าไปได้ มีการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานคุณภาพน้ำทิ้งจากโรงประกอบโลหะกรรม โดยเฉพาะไซยาไนด์ เดิมกำหนดไว้ที่ 0.2 ppm (0.2 ส่วนต่อ 1 ล้านส่วน) เป็น 2 ppm ซึ่งเพิ่มขึ้น 10 เท่า และสูงกว่ามาตรฐานน้ำทิ้งของโรงงานอุตสาหกรรม ตาม พรบ.โรงงาน และ มาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม ของ พรบ.สิ่งแวดล้อม แต่น้ำทิ้งของโรงแต่งแร่ทองคำก็ยังสูงกว่า 2 ppm อยู่ดี ซึ่งถือว่าเป็นระบบการผลิตที่ไม่มีประสิทธิภาพ ประเด็นนี้น่าจะเป็นข้อสงสัยและนำเข้าหารือต่อคณะกรรมการควบคุมมลพิษ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติอย่างยิ่ง ว่าขัดต่อกฎหมายและเป็นที่ยอมรับได้หรือไม่ นอกจากนี้ การลอยแร่ แยกแร่ ยังมีปัญหาในทางเทคนิคได้ หากใช้เทคโนโลยีที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งระบบการลอยแร่จะอยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสมคือ 20-25 องศาเซลเซียส แต่ที่จังหวัดเลย อุณหภูมิบางช่วง โดยเฉพาะหน้าหนาว อยู่ประมาณ 10 องศาเซลเซียส หรือต่ำกว่านั้น จะลอยแร่ไม่ได้ หรือไซยาไนด์จะไม่สามารถแยกทองคำออกมาได้ อาจต้องแก้ไขโดยการอุ่นน้ำให้มีอุณหภูมิมากขึ้น หรือใช้สารเคมีมากขึ้น นั่นคือต้นทุนที่ต้องจ่ายเพิ่ม มลภาวะทางอากาศจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง สารเคมีอันตรายที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น การลดต้นทุนอาจจะหมายถึงลดประสิทธิภาพในการดูแลสิ่งแวดล้อมลงก็เป็นได้ รวมทั้งในสายแร่ทองคำที่กระจายอยู่ในหิน ดิน ที่อยู่ในระดับความลึกต่างๆ นั้น แต่ละชั้นความลึก เช่น 2 เมตร 5 เมตร 10 เมตร หรือ 20 เมตร จะมีแร่ หิน สารประกอบต่างๆ ที่มีคุณสมบัติไม่เหมือนกัน ความเป็นกรดด่างต่างกัน รวมทั้งสารประกอบต่างๆ ในดินที่แตกต่างกัน นั่นย่อมต้องใช้วิธีการ เทคนิคที่แตกต่างกันตามไปด้วย โลหะหนัก และสารประกอบในดินบางชนิดจะทำปฏิกิริยาให้เกิดความเป็นพิษสูงขึ้นได้หากเกิดการออกซิไดซ์ (จากการสัมผัสอากาศ) เมื่อเปิดหน้าดิน ทำให้ดินเป็นกรด และโลหะหนักส่วนใหญ่จะเป็นพิษมากขึ้นในสภาพที่เป็นกรด สิ่งเหล่านี้เป็นรายละเอียดที่ต้องใส่ใจทั้งสิ้น และต้องมีข้อมูลอย่างละเอียดถึงสภาพธรณี และสารประกอบต่างๆ ที่มี รวมถึงวิธีการทำเหมือง การแยกแร่ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ถูกระบุในรายงาน EIA รวมถึงไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขประทานบัตร และนั่นอาจจะหมายถึงความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพที่คนเมืองเลยจะต้องเผชิญ หากปล่อยให้การดำเนินการที่ไร้ประสิทธิภาพ และต่ำมาตรฐาน ย่อมเป็นแบบอย่างที่ผิดๆ และส่วนราชการก็จะทำอะไรแบบสุกเอาเผากินง่ายๆ เช่นนี้ต่อไป ที่ผ่านมานับว่ามีช่องโหว่อยู่มากสำหรับโครงการนี้ แต่บริษัทยังจะขอประทานบัตรในแปลงอื่นๆ อีกในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งหากปล่อยไว้เชื่อแน่ว่า ต้นน้ำฮวยคงราบเป็นหน้ากลอง ทิ้งไว้แต่เศษดิน บ่อไซยาไนด์ที่ต้นน้ำ และลำน้ำที่ตายซากก็เป็นได้ แถมยังมีข่าวจากวงในว่า ข้าราชการระดับสูงของ กพร. ในวัยใกล้เกษียณ เตรียมกว้านซื้อที่ดินในแหล่งแร่อื่นๆ อีก โดยเฉพาะแหล่งแร่เหล็ก ซึ่งเมืองเลยก็มีมากเช่นกัน โดยมีข้อมูลว่าอาจจะเป็นหุ้นส่วนกับต่างชาติ และผลักดันให้มีการทำเหมืองแร่เหล็ก ส่งออกไปจีน เพื่อไปถลุงที่นั่น ไปสร้างความมั่งคั่งให้กับจีน เช่นเดียวกับทองคำที่เลย ต้องส่งต่อไปทำให้บริสุทธิ์เป็นทองคำ 99.99% ที่ฮ่องกง นี่คือสภาพของบ้านเมืองของเราที่มีแต่คนคิดจะเอาประโยชน์ส่วนตน โดยที่ประเทศชาติและชาวบ้านไม่ได้อะไร แถมยังต้องเป็นเหยื่อของผลกระทบต่างๆ ที่จะตามมาอีก และแน่นอนว่า ทองคำที่ผลิตได้จากจังหวัดเลย คนเมืองเลยไม่มีทางได้ซื้อทองในราคาที่ถูกลง สิ่งที่ได้คือเศษเสี้ยวจากค่าภาคหลวงเพียงน้อยนิด เพื่อให้ อบต. อบจ. เอาไปปู้ยี่ปู้ยำใช้เล่นแบบสิ้นคิดโดยไม่ตกถึงปากท้องของชาวบ้าน
ขอขอบคุณ e-san voice |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น