เนื่องในโอกาสครบรอบ 2 ปีสำหรับการเข้าปักหลักตั้งถิ่นฐานในที่ดินเดิมของชาว “ชุมชนบ่อแก้ว” ด้วยความคิดที่ว่า “โฉนดชุมชน” เป็นทางออกของปัญหาที่ทำกิน และหลักประกันเพื่อสร้างความมั่นคงในที่ดินของเกษตรกร เมื่อที่ดินไม่ใช่สินค้า แต่เป็นฐานความมั่นคงของชีวิต
(1)
“โฉนดชุมชน” คือความมั่นคง ไม่ใช่สินค้า
ผ่านไป 2 ปี กับการทำหน้าที่เผยแพร่แนวคิดและกระบวนการปฏิรูปที่ดินโดยประชาชนของชุมชนบ่อแก้ว และเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ณ วันนี้ การบริหารจัดการที่ดินในรูปแบบ “โฉนดชุมชน” ยังเป็นแนวทางที่พวกเขาเชื่อมั่นร่วมกันว่า จะสามารถนำไปสู่การกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน
ครบรอบ 2 ปี สำหรับการเข้าปักหลักตั้งถิ่นฐานในที่ดินเดิมของชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ หลังจากที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้หรือ อ.อ.ป.ได้ผลักดันชาวบ้านให้ออกจากพื้นที่เพื่อให้เข้ามาปลูกสวนป่ายูคาลิปตัสนานกว่า 30 ปี การได้กลับมาเหยียบผืนดินของบรรพบุรุษอีกครั้ง ก็น่าจะเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่การถูกดำเนินคดีรายวัน ทำให้ชีวิตของคนที่นี่ยังถูกแขวนอยู่บนความไม่แน่นอน
อุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน มองว่า แนวคิดโฉนดชุมชนเป็นความพยายามในการป้องกันไม่ให้ที่ดินเป็นสินค้าในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมมากเกินไป ซึ่งเอาสิทธิรวมหมู่ สิทธิของชุมชนมาเป็นตัวป้องกันไว้ ให้ที่ดินเป็นสิทธิของชุมชนโดยรวม แล้วถ้าจะเปลี่ยนมือก็เปลี่ยนมือกันในชุมชน อันนี้จะทำให้เกิดความมั่นคงในการดำรงอยู่และสืบทอดวิถีการทำมาหากินของชุมชน
นอกจากร่วมกันพลิกฟื้นแผ่นดินเดิมด้วยการเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมแล้ว การจัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์พืชของชุมชนบ่อแก้ว ถือเป็นประจักษ์พยานในการใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อเลี้ยงชีพ เพราะนั่นคือวิถีชีวิตที่มั่นคงของชุมชน โดยไม่ได้มองที่ดินเป็นสินค้าเหมือนที่รัฐเข้าใจ
หนูเกณ จันทาสี เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน บอกว่า การจัดการที่ดินโดยประชาชนหรือการจัดการที่ดินแบบรวมหมู่เป็นวิธีการที่จะสามารถให้เกษตรกรรักษาที่ดินไว้ได้ ประชาธิปไตยจริงๆ อยู่ที่จิตสำนึกของคน โดยเอาความชอบธรรมมาเป็นตัวหลัก บางครั้งสิ่งที่ทำถูกต้องตามกฎหมาย แต่ไม่มีความชอบธรรมในการดำเนินงาน เช่น การประกาศเขตป่าไปทับที่ดินทำกินของชาวบ้าน
อุบล อยู่หว้า สรุปท้ายว่า ปัญหาของประเทศไทยเราคือ ประชาชนคนเล็กคนน้อยไม่มีอำนาจในการตัดสินใจในชีวิตของตนเอง ในแผ่นดินเจ้าของ ในพื้นที่ตัวเอง อันนี้คืออำนาจอธิปไตยจริงๆ เพราะฉะนั้น ปัญหาที่ดินเป็นปัญหาที่ประชาชนยอมไม่ได้ เพราะว่ามันหมายถึงความมั่นคงของชีวิต มันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่คนจะมีพื้นที่สำหรับการเป็นเรือนตายของชีวิต เป็นที่ฝังสายรก เป็นที่ทำมาหากิน เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยที่ต้องถูกน้อมรับ
แม้ประเทศไทยจะมีความพยายามในการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปที่ดินด้วยการกระจายการถือครอง ทั้งในรูปแบบการให้เปล่า และให้เช่า หรือการออกเอกสารสิทธิแบบปัจเจกอย่าง สปก.แต่บทเรียนที่ผ่านมาพบว่า เกษตรกรไม่สามารถรักษาที่ดินไว้ได้ ส่วนใหญ่จะถูกเปลี่ยนมือเป็นของนายทุน
แนวคิด “โฉนดชุมชน” จึงน่าจะเป็นหลักประกัน และเป็นทางออกของการแก้ไขปัญหาที่ดิน เพื่อการกระจายการถือครองอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน บนฐานคิดที่ว่า ที่ดินไม่ใช่สินค้า แต่เป็นฐานความมั่นคงของชีวิต
(2)
ชุมชนบ่อแก้ว เหยื่อ! กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ซ้ำซาก
“ทุกข์บ่มีเสื้อผ้า ฝาเฮือนดีพอลี้อยู่ ทุกข์บ่มีข้าวอยู่ท้อง นอนลี้อยู่บ่เป็น” ถ้อยผญาภาษาอีสานของพ่อนิด ต่อทุน ประธานชุมชนบ่อแก้ว หลังการกล่าวต้อนรับเครือข่ายเพื่อนมิตรที่มาร่วมงานครบรอบ 2 ปี ชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ บรรยากาศงานวันนี้น่าจะเป็นงานรื่นเริง เฉลิมฉลองการตั้งหมู่บ้าน การพบปะมวลมิตร แต่สีหน้า แววตาความปลื้มปีติของพ่อนิดและผู้คนที่นี่ได้ถูกถมทับด้วยกฎหมายที่อยู่เหนือหยาดเหงื่อแรงงานของคนจนมากว่า 30 ปีแล้ว
พ่อนิด บอกว่า 32 ปีก่อน ที่ดินผืนนี้เคยเป็นที่ทำมาหากินของชาวบ้าน เลี้ยงสัตว์และทำประโยชน์อื่นๆ มาอย่างต่อเนื่อง หลังนโยบายเปิดป่าให้มีการสัมปทานป่าไม้ธรรมชาติ ทำให้ป่าหมดลงเรื่อยๆ ปี 2521 องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ หรือ อ.อ.ป.ได้เข้ามาขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ อ้างการฟื้นฟูและเพิ่มพื้นที่ป่า โดยการเข้ามาปลูกสร้างสวนป่ายูคาลิปตัส ทั้งที่พื้นที่นี้ไม่อยู่ในเงื่อนไขหรือพื้นที่สัมปทานป่าแต่อย่างใด ที่สำคัญชาวบ้านมีหลักฐานการถือครอง ทำประโยชน์ในที่ดินถูกต้องตามกฎหมาย แต่สุดท้ายชาวบ้านก็ต้องออกจากพื้นที่ทำกินของตนเอง เพราะ อ.อ.ป.ใช้วิธีการข่มขู่ ใส่ร้ายป้ายสี รวมทั้งใช้กลไกกระบวนการยุติธรรมกลั่นแกล้งชาวบ้านสารพัด
หากมองในแง่ของสิทธิมนุษยชน การขับไล่ชาวบ้านบ่อแก้วออกจากบ้านและที่ดินของตนเอง เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในเรื่องที่อยู่อาศัย การงาน และอาหารตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 อ.อ.ป.ละเมิดสิทธิชุมชนในด้านความมั่งคงในการถือครองที่ดิน สิทธิในด้านการเลือกงานอย่างอิสระ สิทธิในการได้รับอาหารที่พอเพียง และสิทธิในการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ
จากการดำเนินการปลูกสร้างสวนป่า ทำให้เกิดปัญหาผลกระทบต่อชาวบ้านทั้งเจ้าของที่ดินเดิม และชาวบ้านที่เป็นครอบครัวขยาย เป็นบุตร เขย สะใภ้ หรือแม้กระทั่งชาวบ้านที่เป็นสมาชิกโครงการหมู่บ้านป่าไม้ ที่เคยได้รับสัญญาว่าจะดำเนินการจัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้ จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการแก้ไขหรือจัดสรรที่ดินให้ทำกินแม้แต่แปลงเดียว
แม้ต้องออกจากที่ดินที่บุกเบิกมาด้วยหยาดเหงื่อ แต่ชาวบ้านที่เดือนร้อนก็ไม่ยอมจำนน ชาวบ้านเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกสวนป่าคอนสารโดยเด็ดขาด ให้ออกเอกสารสิทธิ์แก่คนที่เดือดร้อน และเสนอให้พื้นที่ป่าที่ยังคงสมบูรณ์อยู่ ยังไม่มีการเข้าทำประโยชน์ ก็ให้เป็นสิทธิของชุมชนท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ในรูปแบบของ “ป่าชุมชน” แต่เสียงเล็กๆ ของคนจนก็ยังคงถูกปฏิเสธ เมินเฉยเรื่อยมา
วันที่ 17 กรกฎาคม 2552 ชาวบ้านที่สูญเสียที่ดิน 169 ครอบครัว ได้เข้าปักหลักตั้งบ้านในที่ดินที่เป็นข้อพิพาท พร้อมๆ กับชาวบ้านที่เดือนร้อนอีกหลายพื้นที่ใน อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ การได้เข้ามาเหยียบบนผืนดินเดิมของบรรพบุรุษครั้งนี้ พวกเขารู้อยู่แล้วว่าจะต้องเจอกับการข่มขู่และเผชิญหน้า แต่พวกเขาก็ยืนยันที่จะเลือกแนวทางนี้
กระท่อมไม้ถูกสร้างขึ้นแทรกแซมระหว่างต้นยูคาลิปตัส เรียงรายสองข้างถนนลูกรังกลางหมู่บ้าน ธงเขียวสัญลักษณ์ของการปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจนสะบัดปลิวลู่ตามแรงลม ศาลาบ้านดินที่สร้างขึ้นจากอิฐทีละก้อนด้วยน้ำพักน้ำแรงของคนจน เป็นที่ที่พวกเขามาพบปะพูดคุยกัน ถัดไปอีกด้านเป็นธนาคารเมล็ดพันธุ์ที่รวมเมล็ดพันธุ์พืช ผัก สมุนไพรพื้นบ้านกว่า 100 ชนิด เพราะพวกเขาเชื่อว่า นี่คือความมั่นคงของชีวิต นอกจากการมีที่ดินแล้ว การมีเมล็ดพืชพันธุ์เป็นของตนเอง คืออธิปไตยที่แท้จริงของคนบ่อแก้ว
เสียงบริเวณเวทีกลางจบลง แต่หลายคนก็จัดวงย่อยกันอัตโนมัติ ต่างแลกเปลี่ยนบทเรียน สถานการณ์ในชุมชนของตนเอง บ้างก็ทยอยออกมาเลือกดูผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชนแห่งนี้ บ้างก็ขอเมล็ดพันธุ์พืช ผักติดไม้ติดมือไปลองปลูกที่บ้าน การมีเครือข่าย เพื่อนมิตร มาเยี่ยมเยียน ทำให้พ่อนิดและเพื่อนบ้านมีกำลังขึ้นมาไม่น้อย แต่เมื่อคิดถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาทำให้พ่อนิดรู้สึกว่า ชีวิตยังอยู่บนความไม่แน่นอน
2 ปีมานี้ชาวบ้านบ่อแก้วและพื้นที่อื่นๆ ใน อ.คอนสารถูกข่มขู่รุกราน ปะทะกันด้วยวาจารุนแรงกับหน่วยงานรัฐนับครั้งไม่ถ้วน ถูกยัดเยียดคดีความ 24 คดี รวม 98 ราย ทั้งคดีอาญาและฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่ง
“เฮาบ่ได้บุกรุกสวนป่า เฮาเพียงต้องการเรียกร้องสิทธิความเป็นมนุษย์ที่ถูกละเมิด เฮาบ่ได้ทำการเกษตรเพื่อค้าขาย แต่เฮาทำการเกษตรเพื่อยังชีพ ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก ถึงที่ดินจะมีน้อย ดินไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนเมื่อก่อน แต่เราก็จะใช้ที่ดินที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด” พ่อปุ่น พงษ์สุวรรณ ชาวบ้านบ่อแก้ว บอกกล่าว
เช่นเดียวกับพ่อเสี่ยน เทียมเวียง ที่เชื่อมั่นว่า แกและเพื่อนบ้านไม่ได้ทำผิดกฎหมาย เป็นการต่อสู้บนผืนดินของตัวเอง เป็นที่ดินที่มีประวัติศาสตร์ในการทำมาหากินสืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษแล้ว
ปัจจุบัน ชาวบ้านบ่อแก้วผลักดันให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน โดยดำเนินการในรูปแบบ “โฉนดชุมชน” ซึ่งเป็นการบริหารจัดการที่ดินร่วมกันของชุมชน และเป็นมาตรการสำคัญในการสร้างความมั่นคงในที่ดินของเกษตรกร
การที่ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถือเป็นความล้มเหลวของนโยบายรัฐที่ต้องการเพิ่มพื้นที่ป่า โดยไม่คำนึงถึงสิทธิชุมชน กฎหมายที่อยุติธรรม ทำให้พ่อนิด ชาวบ้านบ่อแก้วและคนจนไร้ที่ดินทำกินทั่วประเทศเจ็บช้ำซ้ำซาก ถึงเวลาหรือยังที่สังคมไทย กลไกรัฐจะเปิดใจ แก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
อย่าให้ใคร? ต้องตกเป็นเหยื่อ! ซ้ำซากอีกเลย