การเดินทางเข้ามาหางานของบางคนก็ได้ทำงานตามที่ตัวเองหวังไว้ และมีอีกจำนวนที่ไม่น้อยที่เข้ามาหางานทำโดยที่มีรู้ว่าจะมีงานอะไรให้ทำหรือจะมีปัญหาอุปสรรคอะไรรอพวกเขาอยู่ ภาษาชาวบ้านเรียกว่า”มาตายเอาดาบหน้า” ที่หัวลำโพงคนทั้งสองกลุ่มนี้จะตกเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะมีนายหน้าค้ามนุษย์ มาชักชวนและเสนองานให้ทำงานในทันที โดยพวกนายหน้าจะมีเป้าหมายกับคนที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด และเป็นคนที่ไม่คุ้นชินกับพื้นที่แต่งตัวโทรมๆ นายหน้าจะเข้ามาตีสนิทและชักชวนให้ไปทำงาน โดยอ้างว่า “มีงานดี เงินเดือนเยอะให้ทำ สนใจทำไหม” จากข้อมูลของมูลนิธิกระจกเงาพบว่า กองบังคับการตำรวจรถไฟ เคยมีการกวาดล้างนายหน้าเมื่อหลายปีก่อนมาแล้วและยืนยันว่าขบวนการค้ามนุษย์ลักษณะดังกล่าวได้หมดไปจากหัวลำโพงตั้งแต่นั้นแล้ว
แต่จากการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงาเมื่อไม่นานมานี้ ก็พบว่ายังมีนายหน้าที่ทำหน้าที่ชักชวนคนไปทำงานอยู่ ซึ่งจะปะปนไปกับผู้คนทั่วไปโดยที่ไม่สามารถแยกออกได้ พวกนี้จะใช้พื้นที่ฝั่งทางเข้าของสถานีรถไปหัวลำโพง(ฝั่งทางขึ้นทางด่วน) เป็นที่ก่อการตีสนิทกับคนที่เดินทางเข้ามาหางานทำ และจะชักชวนให้ไปทำงาน โดยบอกว่า “มีงานดี กินอยู่ฟรี เงินเดือนเยอะให้ทำ สนใจทำไหม” จากการที่เจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงาได้นั่งสังเกตพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้พบว่า พวกเขาจะมีการทำงานเป็นทีม จากการสังเกตและประสบการณ์ตรงของเจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงา (ประสบการณ์ตรงคือมีนายหน้ามาชวนเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิกระจกเงาให้ไปทำงานด้วย) พบว่ามีนายหน้าอยู่ที่สถานีรถไฟหัวลำโพงจริงและมีอยู่ไม่ต่ำกว่า 5 คน ในวันที่เจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงาลงพื้นที่นั้นได้มีกระบวนการหลอกคนไปทำงานบนเรือประมงของนายหน้าต่อหน้าต่อตาของเจ้าหน้าที่ จึงพอสรุปลักษณะขั้นตอนวิธีการหลอกคนของนายหน้าดังนี้
ลักษณะการทำงานของนายหน้าที่สถานีรถไฟหัวลำโพง จากการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงา คือ
1. นายหน้าจะมีการชักชวนเหยื่อและทำการตีสนิทเข้ามาพูดคุยกับเหยื่อ (กับคนที่ดูแล้วพวกเขาคิดว่าจะสามารถหลอกได้ง่าย)
2. หากเหยื่อคุยด้วยแล้ว จากนั้นนายหน้าก็จะเสนองานประเภทอื่นแต่ไม่ได้บอกว่าเป็นงานประมง โดยใช้ประโยคเด็ดคือ “มีงานดี เงินเดือนดีให้ทำ สนใจทำไหม”
3. หากเหยื่อให้ความสนใจกับข้อเสนอก็จะมีนายหน้าอีกประมาณ 3-4 คน มาช่วยพูดจาว่านล้อมทุกอย่างให้ดูน่าเชื้อถือมากขึ้นอีก
4. หากเหยื่อสนใจและรับข้อเสนอแล้ว นายหน้าจะให้เด็กวัยรุ่น(ซึ่งเจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงาคาดว่าน่าจะเป็นเด็กเร่ร่อนที่อาศัยอยู่ที่หัวลำโพง เนื่องจากดูแล้วมีความคุ้นชินกับพื้นที่และการแสดงออกเหมือนเป็นเจ้าถิ่น ) เข้ามาดูแลเหยื่อเป็นอย่างดีเช่นซื้อบุหรี่ให้สูบ ซื้ออาหารข้าวมาให้เกิน ซื้อเบียร์ให้ดื่ม โดยนายหน้าจะบอกให้เหยื่อรออยู่ตรงนี้กับเด็กไม่ต้องไปไหน จะมีคนมารับ
5. จะมีรถแท็กซี่มารับเหยื่อออกไปจากสถานีรถไฟหัวลำโพง
เจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงาได้สอบถามกับผู้ที่เข้ามาหางานทำคนหนึ่ง อายุ 54 ปี ซึ่งได้ใช้ห้องโถงผู้โดยสารสถานีรถไฟหัวลำโพงเป็นที่พักมา 2 วันแล้ว (ทั้งที่ตามกฎของสถานีรถไฟหัวลำโพง ห้องโถงผู้โดยสารจะปิดให้บริการเวลา 22.30 น.) ชายคนนี้ยังไม่ได้งานทำเลยและก็ไม่มีที่ไป ตัวเองเดินทางมาจากจังหวัดศรีสะเกต เป็นช่วงที่บ้านหว่านข้าวเสร็จจากการทำนาแล้ว เลยไม่อยากอยู่ว่างๆ จึงเดินทางโดยรถไฟฟรีเข้ามากรุงเทพ เพื่อที่จะหางานทำ จากคำบอกเล่าของชายคนนี้ว่า ก็เห็นมีคนมาชวนคนอื่นไปทำงานอยู่แต่คนพวกนั้นกลับไม่ชวนตัวเองเลย ซึ่งคนที่ถูกชวนนั้นส่วนมากเป็นคนหนุ่มที่มีเรี่ยวแรงจะทำงาน ส่วนตัวเองแก่แล้วเลยไม่อยากมีใครรับเข้าทำงาน ตัวเองก็เห็นนายหน้าพวกนี้นอนด้วยกันที่สถานีรถไฟหัวลำโพง
เจ้าหน้าที่กระจกเงาเลยแนะนำให้ชายที่เข้ามาหางานทำจากศรีสะเกษ ให้ลองไปปรึกษากับจัดหางานซึ่งตั้งอยู่ข้างในดู คำตอบที่ได้รับจากปากของชายคนที่เข้ามาหางานคือ เขาเคยไปมาแล้ว วันแรกเห็นเพียงห้องเปล่าและเขียนว่าให้ไปติดต่อที่ชั้นสอง จึงไม่อยากขึ้นไปและนั่งรอเผื่อจะมีคนมาชวนให้ไปทำงานด้วย แต่วันนั้นทั้งวันก็ไม่มีใครมาชวนเขาเลย แต่เขาเห็นว่ามีการชวนคนที่หนุ่มกว่าเขาไปทำงาน วันที่สองเลยขึ้นไปปรึกษากับเจ้าหน้าที่จัดหางานข้างบนที่อยู่ชั้นสอง ซึ่งเจ้าหน้าที่ของกรมจัดหางานก็มีงานให้ทำคือเป็น รปภ. อยู่บริษัทแห่งหนึ่งย่านลาดกระบัง แต่ว่าต้องเดินทางไปเอง ผู้ชายคนนี้บอกกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงาว่า หากไปเองคงไปไม่ถูกเพราะไม่รู้จักเส้นทางในกรุงเทพเลย เคยเข้ามากรุงเทพครั้งนี้เป็นครั้งที่สองเอง และเงินในกระเป๋าตอนนี้ก็เหลือแค่ 100 กว่าบาท ดังนั้นตนจึงไม่รู้จะทำยังไงดีเลยคิดว่าคงต้องรออยู่ที่หัวลำโพงเพื่อที่จะให้มีคนมาชวนไปทำงานด้วยดีกว่า ซึ่งเป็นคำพูดออกมาจากปากที่สิ้นหวังกับหน่วยงานของรัฐด้วยตัวเขาเอง
ชายอายุ 54 ปีที่มาจากศรีสะเกษผู้นี้เกือบตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ไปเสียแล้ว ถ้าหากอายุของเขาหนุ่มกว่านี้อีก 10 ปี เพราะส่วนมากนายหน้าจะเลือกหลอกเอาเฉพาะชายที่มีร่างกายดูว่าแข็งแรงสามารถทำงานบนเรือประมงได้ดี และช่วงที่เขานอนรองานที่สถานีรถไฟหัวลำโพง อยู่นั้นเขาก็ไม่อาจรู้เลยว่า คนที่นอนด้วยกันข้างในโถงผู้โดยสารจะมีคนที่หลอกคนไปค้าคน โถงในสถานีรถไฟหัวลำโพงไม่เพียงเป็นที่พักให้ผู้โดยสารที่จะเดินทางในแต่ละวัน แต่มันยังเป็นที่พักอย่างดีให้นายหน้าได้มาอาศัยเพื่อที่จะหาเหยื่อด้วย ดังนั้นจากกฎของห้องโถงอาคารผู้โดยสารที่ปิดเวลา 22.30 น. ก็ไม่ได้ปิดจริงเพราะยังมีคนสามารถเข้าไปนอนได้
จากข้อมูลเชิงประจักษ์ของเจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงาพบว่ายังมีนายหน้าอยู่จริง ซึ่งขัดกับข้อสังเกตของกองบังคับการตำรวจรถไฟว่ามีการกวาดล้างขบวนการค้ามนุษย์ในลักษณะนี้หมดไปแล้วจากหัวลำโพง แต่ก็อาจเป็นดังข้อสังเกตนั้นก็ได้ แต่อาจจะหายไปเพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้นแต่ เพราะปัจจุบันนี้นายหน้าค้ามนุษย์ได้กลับมามีบทบาทเข้ามาชวนคนไปทำงาน ซึ่งตรงข้ามกับกรมการจัดหางานในพื้นที่ ที่ให้คนเข้าหา และตอนนี้หัวลำโพงก็เป็นพื้นเสี่ยงเสี่ยงอีกพื้นที่หนึ่งในกรุงเทพฯที่จะเป็นพื้นที่ทางผ่านของกระบวนการค้ามนุษย์เกิดขึ้น
กรมการจัดหางานที่อยู่ในสถานีรถไฟหัวลำโพง ก็เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีหน้าที่ในการให้บริการและติดต่อประสานงานเพื่อที่จะให้ความสะดวกแก่ผู้ที่เข้ามาใช้บริการและหางานในกรุงเทพ เพราะประชาชนที่เดินทางมาหางานในกรุงเทพ พวกเขาเหล่านั้นก็ล้วนพกระดับการศึกษาที่แตกต่างกันมา คนที่จบปริญญาตรีก็จะมีความรู้มากกว่าคนที่จบแค่ ป.4 ระดับความเข้าใจก็จะไม่เหมือนกัน ลักษณะงานก็จะแตกต่างกันออกไป การให้คำปรึกษาและช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่กรมจัดหางานในพื้นที่สถานีรถไฟหัวลำโพงในตอนนี้ บางทีอาจจะทำให้สถิติการค้ามนุษย์ในประเทศไทยเพิ่มขึ้น เนื่องจากคนที่เข้ามาขอคำปรึกษาช่วยเหลือบางคนไม่คุ้นชินกับเส้นทางในกรุงเทพหรือบางคนมาตัวเปล่านั่งรถไฟฟรีมาเพื่อมาตายเอาดาบหน้าแล้วจะให้ดำเนินการตามที่เจ้าหน้าที่บอกมันก็เป็นเรื่องที่ยากลำบากสำหรับพวกเขาเหล่านั้น ดังนั้นสิ่งที่พวกเขาทำได้คือนั่งรอโชคชะตาที่ไม่อาจรู้ได้ว่าจะเป็นโชคหรือเคราะห์กรรมกันแน่ หรือหากไม่ใช่ชายในวัย 54 ปีที่เดินทางด้วยรถไฟฟรี จากจังหวัดศรีสะเกตเพื่อมาหางานทำในกรุงเทพ แต่ถ้าหากเป็นชายที่อายุต่ำกว่านี้สัก 10 ปี เขาคงไม่ได้นอนที่สถานีรถไฟหัวลำโพงถึงสองคืน เชื่อได้เลยว่าไม่เกินคืนแรกเขาก็จะไปอีกที่หนึ่ง ที่ไหนสักที่กลางทะเล เพื่อไปหาปลากับเรือประมง
ธนาวุธ กิจรักษา
ผู้ประสานงานโครงการคุ้มครองสิทธิแรงงานประมง
ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์
มูลนิธิกระจกเงา
พัฒนาชุมชน มข.รุ่นที่ 24 อาศรมบ่มเพาะรุ่นที่ ๑
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น