พัฒนา กิติอาษา
ตอนที่ สาม
กำเนิดและเส้นทางดนตรีสมัยนิยมในอีสาน
แง่คิดสำคัญประการแรกสุดที่ผมได้รับจากการสนทนากับครูสลาที่ประเทศสิงคโปร์ก็คือ มุมมองที่ว่าฐานสำคัญของดนตรีอีสานคือวัฒนธรรมสมัยนิยม (popular culture) ของชาวบ้านและชุมชนคนอีสานเอง วัฒนธรรมดนตรีอีสานแบบสมัยนิยมน่าจะมีจุดเริ่มต้นที่หมอลำ เส้นทางพัฒนาการของหมอลำจากการอ่านหนังสือผูกในงานศพ การเทศน์ทำนองต่างๆ ของพระสงฆ์จนกลายมาเป็นลำพื้นและลำกลอนโดยมีการใช้แคนเป็นเครื่องดนตรีหลัก แล้วพัฒนาจนกลายมาเป็นลำสมัยนิยมรูปแบบต่างๆในเวลาต่อมานั้น เป็นเส้นทางของการพัฒนาดนตรีอีสานให้กลายมาเป็นดนตรีสมัยนิยมอย่างเต็มตัว ดนตรีสมัยนิยมในภาคอีสานเป็นดนตรีอาชีพที่มีกระบวนการผลิต กระจายตัวและบริโภคสินค้าเพลงแบบอุตสาหกรรมอย่างเต็มรูปแบบ รวมทั้งแนบแน่นอยู่กับชีพจรของวัฒนธรรมตลาดบันเทิงทั้งในชนบท ในเมือง และต่างประเทศ
รากเหง้าและจิตวิญญาณของดนตรีสมัยนิยมคือ หมอลำ ผู้เชี่ยวชาญด้านหมอลำอีสานหลายท่านชี้ให้เห็นว่า “หมอ” หรือผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในท้องถิ่น เช่น หมอลำ ครูหมอลำ หมอแคน และพระสงฆ์นักเทศน์ทำนองเสนาะ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์สื่อบันเทิงและวัฒนธรรมหมอลำในมาช้านาน จากนั้น หมอลำอีสานจึงได้รับการพัฒนาให้เข้ากับกระแสวัฒนธรรมดนตรีแบบไทยภาคกลาง (เช่น ลิเก เพลงลูกทุ่ง) และวัฒนธรรมดนตรีจากต่างประเทศโดยเฉพาะแนวดนตรีตะวันตก (เช่น เครื่องดนตรีไฟฟ้า แนวเพลงพ็อพร็อค เครื่องแต่งกาย นักเต้นหางเครื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยที่ทหารจีไอครองเมืองและคลับบาร์ที่เล่นดนตรีตะวันตกเบ่งบานทุกหัวระแหง) จนกระทั่งกลายมากเป็นลำเรื่อง ลำเพลิน ลำกลอนซิ่งหรือลำซิ่ง เพลงลูกทุ่งผสมหมอลำ หรือร็อคอีสานพันธุ์พื้นบ้านแบบต่างๆ เช่น ร็อคสะเดิด ร็อคแสลง กันตรึมร็อค ฯลฯ
ครูสลาเรียกพัฒนาการวัฒนธรรมดนตรีสมัยนิยมในภาคอีสานว่า หมอลำกับเพลงลูกทุ่ง (และวัฒนธรรมดนตรีสมัยนิยมแนวอื่น) เชื่อมเข้าหากันโดยอัตโนมัติจนกลายมาเป็นลูกทุ่งหมอลำหรือลูกทุ่งอีสาน จากงานค้นคว้าของแวง พลังวรรณพบว่า พัฒนาการข้างต้นปรากฏตัวอย่างชัดเจนในกลางทศวรรษที่ 2510 ระหว่าง พ.ศ. 2515-2524 “เพลงลูกทุ่งที่ผลิตโดยกองทัพศิลปินอีสานและวงศ์วานพี่น้องเชื้อสายลาวในจังหวัดอื่นๆ นอกภาคอีสานในยุคพัฒนา ทั้งแนวเพลง ท่วงทำนอง เนื้อหา ปริมาณ คุณภาพ ได้เป็นพื้นฐานก่อให้เกิดเพลงลูกทุ่งมิติใหม่ขึ้น เพลงลูกทุ่งดังกล่าวได้มีความเด่นชัดในความเป็นอีสานในทุกด้าน โดยเฉพาะในเนื้อหาและถ้อยคำสำนวนในเนื้อเพลงที่ใช้ภาษาอีสานเป็นแกน ทำให้เกิดเพลงลูกทุ่งแนวใหม่ที่มีความเป็นตัวของตัวเอง เกิดเอกลักษณ์ และสร้างสรรค์ให้วงการเพลงลูกทุ่งของไทยให้มีสีสันและความหลากหลายมากยิ่งขึ้น”
แวง พลังวรรณระบุว่า เมื่อปี พ.ศ. 2516 ครูสุรินทร์ ภาคศิริ (ทิดโส สุดสะแนน) นักจัดรายการ นักแต่งเพลงและผู้มีบทบาทสำคัญในวงการเพลงลูกทุ่งอีสานเป็นคนแรกที่ให้กำเนิดคำว่า “เพลงลูกทุ่งอีสาน” เพลงที่ถือว่าเปิดศักราชเพลงลูกทุ่งอีสานคือ “อีสานลำเพลิน” ประพันธ์โดยครูสุรินทร์ ภาคศิริและขับร้องโดยอังคนางค์ คุณไชย เป็นที่น่าสังเกตว่า กำเนิดของเพลงลูกทุ่งหมอลำหรือลูกทุ่งอีสานที่โด่งดังข้างต้นแยกไม่ออกจากสื่อบันเทิงที่ทรงพลัง เช่น ภาพยนตร์ (เพลงอีสานลำเพลิน เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “บัวลำภู” ของครูรังสี ทัศนพยัคฆ์) วิทยุ และโทรทัศน์ สื่อเหล่านี้โฆษณาขายสินค้าอุปโภคบริโภคควบคู่ไปกับแผ่นเสียงและเทปเพลง ภาพยนตร์แนวอีสานหลายเรื่องต่างก็เฟื่องฟูควบคู่กับงานเพลงในยุคนี้ เช่น “มนต์รักแม่น้ำมูล” (2520) “ครูบ้านนอก” (2521) “ผู้แทนนอกสภา” (2524) “ลูกอีสาน” (2525) เป็นต้น ภาพยนตร์เหล่านี้ต่างก็ขายเพลงลูกทุ่งหมอลำและมุ่งเจาะตลาดกลุ่มใหญ่ที่มีกำลังซื้อมากที่สุด นั่นคือ แรงงานอีสานอพยพในเมือง อาจกล่าวได้ว่า สื่อดังกล่าวได้สร้างความมั่นใจให้กับครูเพลง ผู้จัดการวง และตัวศิลปินว่า เพลงลูกทุ่งผสมกับหมอลำเป็นที่ยอมรับและเข้าถึงกลุ่มผู้ชมได้กว้างไกลกว่าบรรดามิตรหมอแคนแฟนหมอลำในภาคอีสาน ฐานของแฟนเพลงโดยเฉพาะแรงงานคนอีสานพลัดถิ่นในกรุงเทพฯ มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันศิลปินลูกทุ่งอีสานให้โด่งดังเทียบเท่ากับวงดนตรีลูกทุ่งจากภาคกลาง “ว่ากันว่า ในยุคหลังการจากไปของราชาเพลงลูกทุ่ง สุรพล สมบัติเจริญ นักร้องลูกทุ่งหากต้องการประสบความสำเร็จจำเป็นต้องเอาใจตลาดอีสาน เพื่อยึดครองใจแฟนเพลงและครองส่วนแบ่งตลาดให้ได้ ไม่ว่าจะด้วยการร้องเพลงแนวอีสานหรือตั้งชื่อให้ออกแนวอีสาน” ในเวลานั้น วงดนตรีลูกทุ่งอีสานวงแรกที่กล้าประชันกับวงดนตรีลูกทุ่งอันดับหนึ่งของประเทศอย่างสายัณห์ สัญญา ได้แก่ ศักดิ์สยาม เพชรชมภู นักร้องหนุ่มบ้านนาจากมหาสารคาม ผู้โด่งดังด้วยเพลง “ตามน้องกลับสารคาม” ในทัศนะของแวง พลังวรรณ นักร้องลูกทุ่งอีสานผู้เป็นเสาหลักให้กับวงการ พ.ศ. 2515-2524 ได้แก่ ศักดิ์สยาม เพชรชมภู ดาว บ้านดอน เทพพร เพชรอุบล และอังคนางค์ คุณไชย โดยมีครูเพลงชั้นนำ เช่น ครูสุรินทร์ ภาคศิริ ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา และท่านอื่นๆ เป็นผู้ผลิตงานเพลงและสร้างนักร้องลูกทุ่งหมอลำประดับวงการ
หนังสือเล่มสำคัญของแวง พลังวรรณนำเสนอว่ายุคทองของเพลงลูกทุ่งอีสานเริ่มคลายมนต์ขลังลงในช่วงกลางทศวรรษที่ 2520 แต่ก็เป็นที่ประจักษ์กันทั่วไปว่า เพลงลูกทุ่งและหมอลำอีสานในช่วงทศวรรษถัดมาไม่ได้เสื่อมความนิยมลงแม้แต่น้อย คลื่นลูกใหม่ทั้งที่เป็นครูเพลงและศิลปินทั้งลูกทุ่งหมอลำต่างก็ทยอยผลิตผลงานที่ได้รับความนิยมออกมาอย่างสม่ำเสมอ ยกตัวอย่าง เช่น สุดยอดของเพลงลูกทุ่งอีสานและลูกทุ่งผสมหมอลำแห่งทศวรรษ 2520 ได้แก่ “หนุ่มนาข้าว-สาวนาเกลือ” (สรเพชร ภิญโญและน้องนุช ดวงชีวัน) “น้ำตาเมียซาอุ” (พิมพา พรศิริ) “สาวจันทร์กั้งโกบ” (พรศักดิ์ ส่องแสง) “ลำเพลินชมรมแท็กซี่” (ทองมี มาลัย) และวงดนตรีอีสานชั้นนำ เช่น เพชรพิณทอง ต่างก็เกิดขึ้นหรือโด่งดังในครึ่งหลังของทศวรรษที่ 2520 แทบทั้งสิ้น ในทศวรรษต่อมา แนวเพลงดนตรีจากกรุงเทพฯ และจากประเทศตะวันตก เช่น เพลงสตริง เพลงพ็อพร็อค และเพลงเพื่อชีวิตโดยเฉพาะการปรากฏตัวของศิลปินและวงดนตรียอดนิยม เช่น รอยัลสไปรท์ แกรนเอ็กซ์ ชาตรี คีรีบูน ธงไชย แม็คอินไตย์ อัสนีและวสันต์ โชติกุล ไมโคร คาราวาน คาราบาว และคนด่านเกวียน ล้วนแต่มีส่วนเพิ่มสีสันและความหลากหลายให้กับวัฒนธรรมดนตรีอีสาน กลุ่มคนหนุ่มสาวในเมืองคือเป้าหมายหลักของตลาดดนตรีสมัยนิยม ดังนั้น การแข่งขันขับเคี่ยวกันเพื่อแย่งตลาดของอุตสาหกรรมดนตรีแนวต่างๆ ย่อมทวีความเข้มข้นมากขึ้นในเวลาต่อมา
วงการลูกทุ่งอีสานได้พัฒนาตัวเองและตอบโต้กับกระแสดนตรีสมัยนิยมอย่างเข้มข้น แนวโน้มกระแสความนิยมและความเติบโตของอุตสาหกรรมเพลงลูกทุ่งอีสานยังคงขยายตัวเพิ่มมากขึ้นตลอดทศวรรษที่ 2530 จนถึงทศวรรษปัจจุบัน ครูเพลงทั้งรุ่นเก่าและใหม่ เช่น ดาว บ้านดอน สรเพชร ภิญโญ สวัสดิ์ สารคาม สัญญาลักษณ์ ดอนศรี สลา คุณวุฒิ รวมทั้งนักร้องลูกทุ่งหมอลำ เช่น ทองมี มาลัย พรศักดิ์ ส่องแสง สมโภชน์ ดวงสมพงษ์ เฉลิมพล มาลาคำ พิมพา พรศิริ ศิริพร อำไพพงศ์ จินตหรา พูนลาภ ไมค์ ภิรมย์พร นกน้อย อุไรพรและทีมงานคณะเสียงอีสาน ยิ่งยง ยอดบัวงาม พี สะเดิด ไล่มาจนถึงต่าย อรทัยหรือใครต่อใครต่างก็สร้างผลงานออกมารับใช้มิตรหมอแคนแฟนหมอลำอย่างต่อเนื่อง ในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทั้งที่เกิดขึ้นในวงการบันเทิงลูกทุ่งอีสานและสภาพเศรษฐกิจสังคมของภาคอีสาน เทคโนโลยีการสื่อสารและเทคโนโลยีการผลิตดนตรีในฐานะสินค้าเจริญรุดหน้ามากขึ้น แฟนเพลงย้ายถิ่นแรงงานไปยังแหล่งจ้างงานทั้งในและต่างประเทศมากขึ้นทำให้ผู้คนมีกำลังซื้อและต้องการบริโภคสินค้าดนตรีแนวต่างๆ มากขึ้นตามไปด้วย ชีพจรวัฒนธรรมดนตรีสมัยนิยมของอีสานย่อมพัฒนาตัวเองไปตามกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดยั้ง
วัฒนธรรมดนตรีสมัยนิยมของอีสานต้องเผชิญหน้ากับการวิพากษ์วิจารณ์ครั้งสำคัญ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำสัปดาห์ที่ 21 สิงหาคม 2543 วาณิช จรุงกิจอนันต์ คอลัมนิสต์และนักเขียนรางวัลซีไรต์นำเสนอว่า เพลงลูกทุ่งที่แท้โดยเฉพาะเพลงลูกทุ่งแบบภาคกลางตายแล้ว ที่พอเหลืออยู่บ้างก็เพียงซากลูกทุ่งที่ยังมีลมหายใจ แต่จิตวิญญาณความเป็นลูกทุ่งนั้นได้เลือนหายไปแล้วพร้อมกับสังคมชนบทที่กำลังเปลี่ยนไป ชนบทล่มสลายและคนหนุ่มสาวพากันหลั่งไปเข้าไปทำงานในเมือง บรรดาเพลงลูกทุ่งที่ได้รับความนิยมแพร่หลายผ่านสื่อบันเทิงในปัจจุบันเป็นลูกทุ่งลาวหรือลูกทุ่งหมอลำจากอีสานเป็นส่วนมากนอกจากนี้ ในคำอภิปรายเนื่องในงาน “คีตกวีลูกทุ่งรำลึก ไพบูลย์ บุตรขัน” 24 กุมภาพันธ์ 2542 วาณิชกล่าวว่า “เพลงลูกทุ่งตายไปแล้ว ผมยืนยัน ที่เหลืออยู่เป็นเพียงลมหายใจ... โดยพื้นแล้วผมถือว่าพอพุ่มพวงตาย เพลงลูกทุ่งตาย ทุกคนมียุคของการฟังเพลง” ในข้อเขียนอีกชิ้นหนึ่ง วาณิชยืนยันว่า “ผมมีความรู้สึกว่าเพลงลูกทุ่งนั้นตายเรียบร้อยสนิทนิ่งไปแล้ว ดูเหมือนว่าสายัณห์ สัญญา...เป็นลูกทุ่งตามแบบฉบับดั้งเดิมคนสุดท้าย...ตอนสายัณห์ สัญญายุบวง...คือวันสิ้นใจของเพลงลูกทุ่งอย่างเป็นทางการ” ทัศนะของวาณิชได้ก่อให้เกิดปฏิกริยาตอบโต้จากครูเพลง นักร้องอาวุโสและผู้คนในวงการเพลงลูกทุ่ง วาณิชยึดเอาความรุ่งเรืองและความเสื่อมถอยของเพลงลูกทุ่งภาคกลางที่ท่านคุ้นเคยเป็นเกณฑ์กลางในการประเมินสถานภาพของเพลงลูกทุ่ง แวง พลังวรรณเสนอความเห็นโต้แย้งอย่างท้าทายว่า เพลงลูกทุ่งโดยเฉพาะอีสานไม่มีวันตายเพราะ “ลูกทุ่งอีสานคือการสานต่อภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์ที่บรรพชนของชาวอีสานได้ก่อไว้ในรูปแบบของกลอนลำและเพลงชนิดต่างๆ” อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าสนใจที่แอบแฝงอยู่ในข้อวิจารณ์และโต้แย้งข้างต้นก็คือ ขณะที่ลูกทุ่งภาคกลางโดยเฉพาะจากสุพรรณบุรีร่วงโรย แต่ลูกทุ่งหมอลำจากอีสานกลับเติบโตได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง การขยายตัวของวงการเพลงลูกทุ่งหมอลำของอีสานเกิดขึ้นได้อย่างไร ในขณะที่วงการเพลงลูกทุ่งและศิลปะการแสดงของภาคอื่นไม่ได้เติบโตมากนัก บางส่วนก็ได้เลือนหายไปจากความนิยมแล้ว
อะไรคือเงื่อนไขหรือเหตุผลสำคัญในการขยายตัวของวัฒนธรรมดนตรีอีสานสมัยนิยม คำตอบที่คุ้นเคยก็คือ ดนตรีสมัยนิยมจากอีสานมีตลาดผู้ฟังรองรับมหาศาล ตลาดขนาดใหญ่ดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันในวงการบันเทิงว่าเป็น “ตลาดล่าง” ภาคอีสานมีประชากรมากกว่า 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ ทั้งยังเป็นประชากรที่มีพลวัตสูง เดินทางจากบ้านเกิดเมืองนอนไปทำงานในกรุงเทพฯ ในเมืองใหญ่ทั่วประเทศ และในต่างประเทศมานาน ขนาดของตลาดและกำลังซื้อสินค้าบันเทิงของคนอีสานเป็นเพียงคำตอบบางส่วนเท่านั้น ผมเชื่อว่ายังมีเงื่อนไขหรือปัจจัยอีกหลายประการที่เอื้อต่อการขยายตัวของวัฒนธรรมดนตรีอีสานสมัยนิยม ในที่นี้ ผมจะชี้ให้เห็นคำตอบสำคัญอีก 4 ประการ ได้แก่
ประการแรก ดนตรีสมัยนิยมอีสานเป็นดนตรีเพื่อชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชนคนรากหญ้า เป็นดนตรีที่สัมพันธ์แนบแน่นกับรากฐานชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชนเกษตรกรรมดั้งเดิมอาศัยฤดูกาลและความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ หมอลำและดนตรีพื้นบ้านอื่นๆ ในอีสานเป็นดนตรีชาติพันธุ์และดนตรีวัฒนธรรมพื้นบ้านควบคู่กันไป ดนตรีดังกล่าวสัมพันธ์กับวิถีชีวิตชาวบ้านในหลายมิติ ได้แก่ วงจรการเกษตรแบบอาศัยน้ำฝน การรักษาพยาบาล การทำบุญตามประเพณี ความเชื่อทางศาสนาพื้นบ้านแบบพุทธผีและพราหมณ์ และชีวิตการทำมาหากินของผู้คนที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนในสภาพแวดล้อมธรรมชาติที่แห้งแล้ง กันดาร และขาดแคลนความอุดมสมบูรณ์ กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ดนตรีสมัยนิยมในภาคอีสานเติบโตมาจากตัวตนทางวัฒนธรรมของคนอีสานและทำหน้าที่เป็นตัวแทนประกาศความเป็นตัวของตัวเองในทางวัฒนธรรมของคนอีสานอย่างหนักแน่น ครูเพลงอีสานผู้มีชื่อเสียงท่านหนึ่งเชื่อว่า วัฒนธรรมร้องลำทำเพลงแบบอีสานเติบโตมาจากอัตลักษณ์ของคนอีสานเอง เพราะ “พฤติกรรมของคนอีสานนั้นเป็นคนสนุกร่าเริง ชอบงานรื่นเริง เวลาไม่ได้ทำอะไรก็ยังร้องเพลง ตลาดเพลงอีสานจึงมีกำลังซื้อสูง” น้าซู ระพินทร์ พุฒิชาติก็นิยามคนอีสานในลักษณะเดียวกันว่า “คนอีสานเป็นคนมักหม่วน บ่ได้หม่วนซื่นมันบ่มีแฮง” (คลำเต้าป่าแคน) “...ไม่ค้ายาบ้าจี้คนปล้นชิง คือคนจริงคนซิ่งอีสาน เหนื่อยแค่ไหนก็ยังอารมณ์ดี สุขขีตั้งวงสังสรรค์ หากเมาก็เชิญฟ้อนลำ ฟ้อนงามๆ สไตล์ซิ่งอีสาน” (คนซิ่งอีสาน) ในหนังสือ “ลูกทุ่งอีสาน: ประวัติศาสตร์อีสานตำนานเพลงลูกทุ่ง” แวง พลังวรรณนิยามอัตลักษณ์ทางดนตรีของคนอีสานว่า “ม่วนซื่นโฮแซว แม่นแล้วอีสาน” ข้อความนี้เป็นบาทหนึ่งในเนื้อเพลง “ลำนำอีสาน” ประพันธ์โดยครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา และขับร้องโดยเทพพร เพชรอุบล
ประการที่สอง ดนตรีสมัยนิยมในภาคอีสานเป็นดนตรีอาชีพ คำว่า “อาชีพ” ในที่นี้มีความหมายอย่างน้อย 2 อย่าง ได้แก่ ดนตรีสมัยนิยมในฐานะที่เป็น “งาน” สามารถสร้างรายได้ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจระดับหนึ่ง และนำมาซึ่งเกียรติยศชื่อเสียงทางสังคม และดนตรีสมัยนิยมที่เกิดจากปัญญา ความรัก และความเชี่ยวชาญอันเกิดจากการฝึกปรือจนชำนิชำนาญของศิลปินมืออาชีพโดยเฉพาะครูเพลง อาจารย์นักดนตรี และนักร้องนักแสดง บรรดาเหล่าศิลปินในวงการหมอลำ ลูกทุ่งและศิลปะการแสดงแขนงต่างๆ ล้วนแต่มีความเป็นมืออาชีพอยู่ในตัว ทำงานศิลปะด้วยใจรัก พร้อมทุ่มเทหรืออุทิศตนให้กับศิลปะแต่ละแขนงที่ท่านเลือก และศิลปะเหล่านั้นเป็นอาชีพเป็นแหล่งทำมาหากินที่นำมาซึ่งรายได้เลี้ยงปากท้องของตัวเอง ครอบครัวและบรรดาสมาชิก ครูหมอลำ ครูเพลง หมอลำ นักร้องและนักดนตรีต่างก็มีความเป็นมืออาชีพ ท่านทั้งหลายต่างก็เรียนรู้ศาสตร์และศิลป์ของตนเองจนเกิดทักษะความชำนาญ แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นชาวบ้านทำไร่ทำนา แต่ครูเพลง ศิลปินหมอลำและนักร้องชั้นนำจะตัดสินใจทุ่มเทให้กับศิลปะการแสดงของตัวเอง มองหาช่องทางที่จะพัฒนางานของตัวเองให้ทันสมัยและสร้างความนิยมในหมู่ผู้ชม เจ้าภาพและผู้คนในวงการธุรกิจบันเทิง
ความเป็นมืออาชีพในที่นี้มีรากฐานมาจากความสัมพันธ์ทางสังคมที่สำคัญอย่างน้อย 2 ลักษณะ ได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่างครูเพลงกับลูกศิษย์หมอลำหรือนักร้อง และความสัมพันธ์ระหว่างครูเพลงหรือตัวนักร้องกับนายทุนผู้ทำหน้าที่จัดการด้านธุรกิจบันเทิงและบริหารคณะดนตรี ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์มีความล้ำลึกและเป็นจารีตทางวัฒนธรรมที่สำคัญ นักร้องหรือหมอลำจะแจ้งเกิดไม่ได้เลยหากปราศจากครูและผู้ปลุกปั้น นักร้องหรือหมอลำต้องออกจากอ้อมอกพ่อแม่ตั้งแต่ยังเล็กเพื่อไปเรียนรู้ศาสตร์และศิลป์ของการร้องลำทำเพลง โดยการไปทำงานรับใช้ในบ้านและใช้ชีวิตภายใต้ความอุปถัมภ์ของครูและครอบครัวของท่าน แวง พลังวรรณบันทึกเส้นทางชีวิตของอังคนางค์ คุณไชย นางเอกหมอลำและนักร้องชื่อดังว่า “อังคนางค์ไม่เคยปริปากปรารภถึงเรื่องที่ศิลปินสมัยนี้เรียกว่า การเอารัดเอาเปรียบ เธอมิอาจเรียกสิ่งที่อาจารย์ปฏิบัติกับเธอเช่นนั้นได้ เพราะมิใช่วิสัยของผู้ที่อยู่ในระบบอุปถัมภ์ วัฒนธรรมศิษย์ผู้ต่ำต้อยกับอาจารย์ผู้มีพระคุณ” ความสัมพันธ์ทั้งสองลักษณะข้างต้นล้วนวางอยู่บนรากฐานของคุณธรรมและความไว้เนื้อเชื่อใจของทั้งสองฝ่าย ศีลธรรมและคุณธรรมของผู้เป็นครูอาจารย์กับความกตัญญูรู้คุณของลูกศิษย์เป็นรากฐานของความเป็นมืออาชีพในวงการเพลงลูกทุ่งและหมอลำมาช้านาน อย่างไรก็ตาม เมื่อลูกทุ่งและหมอลำกลายมาเป็นธุรกิจบันเทิงสมัยใหม่อย่างเต็มตัว ความสัมพันธ์ที่มีรากฐานจากวัฒนธรรมดังกล่าวก็มักจะกลายมาเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจและผลประโยชน์จนปรากฏกรณีปัญหาเป็นข่าวผ่านสื่อมวลชนอยู่เนืองๆ นักร้องดังหลายท่านในช่วงที่มีชื่อเสียงโด่งดังมักจะมีปัญหาเรื่องค่าตัวและการจัดการแบ่งปันรายได้กับผู้จัดการหรือหัวหน้าวง หลายกรณีก็จบลงด้วยการแยกทางกันเดินจนเป็นที่มาของสำนวนยอดนิยม “ดังแล้วแยกวง” ส่วนนักร้องหญิงก็มักมีปัญหาชู้สาวเพิ่มขึ้นจากเรื่องเงินทอง สุนารี ราชสีมาเรียกปัญหากลืนไม่เข้าคายไม่ออกของนักร้องฝ่ายหญิงว่า “วัฏจักรของการปล้ำก่อนปั้น” เมื่อครั้งสุขสันต์ หรรษา หรือ “อาจวบ” ผู้มีพระคุณปลุกปั้นเธอจนมีชื่อเสียงโด่งดัง ได้ติดต่อเธอเข้าไปเป็นนักร้องในสังกัดของท่านครั้งแรก เธอยิงคำถามออกไปตรงๆ ตามวิสัยปากกับใจตรงกันแบบคนบ้านนอกว่า “นี่อาจะพาหนูไปปั้น แล้วหนูต้องเป็นเมียของอาด้วยหรือเปล่า”
ประการที่สาม อุตสาหกรรมดนตรีสมัยนิยมอีสานผูกพันอย่างลึกซึ้งกับวงจรของเทศกาลงานบุญตามประเพณี ทั้งในส่วนที่เป็นบุญประเพณีของชุมชนและบุญประเพณีเกี่ยวกับวิถีชีวิตของครัวเรือนและปัจเจกบุคคล รากฐานดั้งเดิมของประเพณีการทำบุญในสังคมอีสานคือ ประเพณีการทำบุญตามฮีตสิบสองหรือประเพณี 12 เดือน แม้ว่าฮีตสิบสองจะเป็นประเพณีที่มีศูนย์กลางของการทำบุญอยู่ที่วัดและชุมชนเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม แต่การเฉลิมฉลองภาคบันเทิงของประเพณีเหล่านั้นต้องการสื่อบันเทิง โดยเฉพาะสื่อบันเทิงประเภทหมอลำหรือวงดนตรีลูกทุ่งที่มีชื่อเสียงแห่งยุค ในการศึกษาลำซิ่งอีสาน สุริยา สมุทคุปติ์และคณะนำเสนอว่า
“ข้อเท็จจริงที่ว่า คอนเสิร์ตหมอลำซิ่งทั้งหมดเกิดขึ้นในบรรยากาศของเทศกาลหรืองานบุญพิธีต่างๆ เช่น บุญบั้งไฟ บุญออกพรรษา บุญสรงน้ำพระ บุญแจกข้าว บุญขึ้นบ้านใหม่ บุญประจำปี หรืองานเฉลิมฉลองต่างๆ ทำให้หมอลำซิ่งเกี่ยวข้องกับบรรยากาศเทศกาลงานบุญอย่างเต็มตัว คำว่าบรรยากาศแบบเทศกาลงานบุญน่าจะเป็นคำหลักที่สำคัญอันหนึ่งที่จะช่วยให้พวกเราเข้าใจศิลปะการแสดงแขนงนี้ในมิติที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสังคมวัฒนธรรมอีสานในยุคโลกาภิวัตน์ที่ลูกอีสานในวัยหนุ่มสาวหรือวัยแรงงานได้กลายไปเป็นแรงงานรับจ้างทั่วประเทศและทั่วโลกไปแล้ว มิตรหมอแคนแฟนหมอลำซิ่งที่เป็นแรงงานรับจ้างเหล่านี้เองที่เป็น “แฟน” หรือ “ผู้ชม” กลุ่มใหญ่ที่สุดของหมอลำซิ่ง ที่สำคัญ ผู้ชมกลุ่มนี้มักมีโอกาสกลับไปเยี่ยมบ้าน หรือกลับไปร่วมงานเฉลิมฉลองที่มีหมอลำซิ่งมาแสดงในช่วงเทศกาลหรืองานบุญเป็นส่วนมาก”
เป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า หน้าเทศกาลงานบุญที่หล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมดนตรีสมัยนิยมอีสานก็คือ ช่วงฤดูแล้ง นับตั้งแต่หลังออกพรรษา บุญฤดูหนาวประจำปี งานปีใหม่ งานบวช บุญเทศมหาชาติ บุญสรงกรานต์ จนถึงช่วงบุญบั้งไฟในต้นฤดูฝน ช่วงดังกล่าวคณะหมอลำ วงดนตรีลูกทุ่ง และศิลปะบันเทิงที่มีลมหายใจอยู่กับท้องทุ่งและเทศกาลถือว่าเป็นเวลาทองของแต่ละปี คณะดนตรีลูกทุ่งหมอลำแต่ละคณะมักจะมีคิวรับงานเนื่องแน่นติดต่อกันจนข้ามปี คณะดนตรีที่มีชื่อเสียงมักจะได้รับการจองตัวจากเจ้าภาพและสามารถเรียกราคาค่าตัว ค่าแสดงและค่าเงื่อนไขอื่นๆ ได้ค่อนข้างดี แต่พอเข้าช่วงฤดูฝน ฤดูทำไร่ทำนา งานแสดงจะสร่างซาลง คณะดนตรีและคณะหมอที่มีชื่อเสียงก็จะออกตระเวน “เปิด/ปิดวิก” แสดงในเมืองหรือชานเมืองที่มีแหล่งชุมชนคนงานอีสานอาศัยอยู่หนาแน่น นักร้องหมอลำที่มีชื่อเสียงก็เข้าห้องอัดเสียง หรือรับแสดงเดินสายโชว์ตัวทั้งในและต่างประเทศ ส่วนคณะแสดงที่มีชื่อเสียงไม่มากนักก็จะยุติวงชั่วคราวปล่อยให้สมาชิกนักร้อง นักแสดง นักดนตรีและหางเครื่องกลับไปทำไร่ทำนาหรือทำมาหากินกันไปตามประสา รอจนกว่าฤดูการแสดงจะเวียนมาบรรจบอีกรอบ ชีพจรและสีสันบันเทิงชาวลูกทุ่งหมอลำจึงจะฟื้นคืนกลับมาสู่วัฏจักรที่เต็มไปด้วยสีสันและความมีชีวิตชีวาอีกครั้ง
ประการที่สี่ วัฒนธรรมดนตรีอีสานเป็นวัฒนธรรมดนตรีที่ยึดเอาตลาดหรือความนิยมของผู้ชมเป็นใหญ่ ไม่ได้ยึดติดกับจารีตแบบตายตัว หากยึดเอาความยืดหยุ่น และความพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดเป็นสำคัญ งานศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับวัฒนธรรมดนตรีในประเทศไทยมักจะเน้นฝ่ายศิลปินหรือครูอาจารย์นักแต่งเพลงแต่มองข้ามผู้ชมหรือตลาด ผมเชื่อว่าผู้ชมหรือตลาดมีความสำคัญต่อเนื้อหาและทิศทางของดนตรีเป็นอย่างมาก ดนตรีสมัยนิยมอีสานเป็นผลผลิตของการปรับประยุกต์ตามความต้องการของเจ้าภาพและผู้ชม กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ปรับตัวไปตามกระแสนิยมของยุคสมัย ยกตัวอย่าง เช่น หมอลำซึ่งเริ่มจากการอ่านหนังสือนิทานทำนองเสนาะในพิธีกรรม ต่อมามีการใช้แคนประกอบกลายมาเป็นลำกลอน พอวงดนตรีลูกทุ่งซึ่งปรับประยุกต์จากดนตรีตะวันตกได้รับความนิยม หมอลำก็ตอบสนองด้วยการพัฒนาลำเพลินกกขาขาว พอลิเกภาคกลางได้รับความนิยม วงการหมอลำอีสานก็ปรับเป็นหมอลำเรื่องต่อกลอน พอเพลงสตริงวัยรุ่นได้รับความนิยม ดนตรีอีสานก็เกิดดนตรีแนวลูกทุ่งหมอลำผสมกับเพลงสตริง พอดนตรีร็อคได้รับความนิยม ดนตรีอีสานก็ปรับเป็นหมอลำซิ่ง เป็นต้น แม่ราตรี ศรีวิไลผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาหมอลำกลอนซิ่ง ซึ่งกลายมาเป็นหมอลำซิ่งในเวลาต่อมา เล่าให้พวกเราฟังว่า
“แม่เป็นผู้บุกเบิกหมอลำซิ่งแห่งประเทศไทย ตอนแรกบ่ได้เอิ้นหว่าซิ่ง พวกใต้ฮ้านเป็นพวกรถซิ่งมาเบิ่ง แล้วไปบอกต่อกันว่า จ้างหมอลำคณะนี้จั่งซิ่งดี ช่วงนั้นลำกลอนได้รับผลกระทบจากดิสโก้เธค หนัง วงดนตรีลูกทุ่ง ในราวปี 2528-2529 เธคระบาดที่สุด เพราะหมอลำไม่คึกครื้นเร้าใจ วัยรุ่นจะชอบเธค ลำกลอนเลยสู้เขาไม่ได้ ก็เลยเอาโทนสองหน้า ฉาบ ฉิ่งตีอยู่ใต้ฮ้านลองเบิ่ง ผู้เฒ่ากะบ่ทันยอมรับช่วงนั้น แต่วัยรุ่นยอมรับร้อยละห้าสิบห้าสิบ ต่อมาเอาเครื่องดนตรีหลากหลายกว่า (เดิมอาศัยเสียงแคนเพียงอย่างเดียว) เข้ามาร่วม ได้แก่ กลอง โทน ฉาบ ฉิ่ง ตามด้วยกลองชุด พิณ กีตาร์เบส เป็นอย่างนี้อยู่ 2-3 ปี อิเล็กโทนและเครื่องเป่าก็เข้ามา ตามด้วยหางเครื่อง จากนั้นก็มีเพลงลูกทุ่งยอดนิยมมาร้องสลับกับลำกลอน แล้วก็ดึงเอาเพลงสตริงเข้ามาสลับกันไป”
คำหลักจากเรื่องเล่าของแม่ราตรี ศรีวิไลก็คือ “ลองเบิ่ง” (ลองดูหรือทดลองทำดู) คำนี้สะท้อนให้เห็นถึง ความกล้าหาญในการลองผิดลองถูก กล้าหาญที่จะแหกกรอบประเพณีการแสดงดั้งเดิมออกไป และกล้าหาญที่จะตัดสินใจลงทุนและเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองหรือพัฒนาตัวเองเพื่อแข่งขันแย่งกลุ่มผู้ชม วงการบันเทิงเรียกว่าปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงดังกล่าวว่า “การเอาใจตลาด” การ “ลองเบิ่ง” อาจจะได้ผลลัพธ์ทั้งทางลบและทางบวก เช่น คำวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบจากศิลปินหมอลำอาวุโสว่าเป็นการทำร้ายหมอลำมากกว่าการสร้างสรรค์ อย่างไรก็ตาม “ลองเบิ่ง” เป็นหัวใจสำคัญของวิธีคิดและวิธีการใช้ชีวิตและต่อสู้ของคนอีสานมากกว่าการหยุดนิ่งและก้มหน้าก้มตารับชะตากรรม ผมเชื่อว่า “ลองเบิ่ง” เป็นจิตวิญญาณและจังหวะของชีพจรชีวิต การ “ลองเบิ่ง” เป็นจิตวิญญาณกล้าหาญที่สำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดทิศทางและพัฒนาการของดนตรีสมัยนิยมอีสานและเป็นจิตวิญญาณที่มีรากลึกอยู่ในสังคมวัฒนธรรมอีสาน ซึ่งผู้คนจำเป็นต้องต่อสู้ดิ้นรน เพื่อเอาตัวรอด หลายครั้ง “การลองเบิ่ง” ก็หมายถึง การตัดสินใจเดินทางเคลื่อนย้ายจากถิ่นฐานบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองในรูปแบบต่างๆ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น