คำถามถึงขบวนการคนหนุ่มสาวของประเทศไทย นำพาให้นึกถึงเหตุการณ์ขณะนั่งฟัง อดีตผู้นำนักศึกษาของอินโดนีเซีย เล่าถึง ปัญหาการพัฒนาของประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งปัญหาหลายอย่างใกล้เคียงกับไทย ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการพัฒนาที่เน้นความทันสมัย ที่ทำให้เกิดปัญหาการกระจายรายได้ระหว่างคนจนกับคนรวย ปัญหาโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ ผมได้ถามเขาถึงกิจกรรมนักศึกษาในอินโดนีเซีย เนื่องเพราะเขาเคยเป็นแกนนำนักศึกษาในการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลของนายพลซูฮาร์โต เขาเล่าว่าในช่วงที่ระบบซูฮาร์โตเรืองอำนาจ เป็นระบบเผด็จการทหาร ที่ห้ามไม่ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ห้ามพูดถึงปัญหาสังคมต่างๆ บรรยากาศในมหาวิทยาลัยค่อนข้างเงียบ เพราะถูกควบคุม อาจารย์มีหน้าที่สอนหนังสืออย่างเดียว หรือไม่ก็ทำวิจัยหาเงินและเป็นที่ปรึกษาให้กับกลุ่มธุรกิจเอกชนมากกว่าการสอนนักศึกษา ซูฮาร์โตใช้แนวทางพัฒนาแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมเพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแก่ประเทศมานับ 30 ปี แต่ปัญหาที่ตามมาคือการเน้นการพัฒนาภาคเมือง ทำให้เมืองขยายตัวมากขึ้น เกิดปัญหาชุมชนแออัดและคนจนเมือง ในชนบทก็พบปัญหาความยากจน และปัญหาการขาดแคลนที่ดิน แม้ว่า GDP ของประเทศจะพุ่งสูงขึ้น แต่คนที่ได้ประโยชน์ก็มีแต่กลุ่มเครือญาติและพวกพ้องของซูฮาร์โต ซึ่งเป็นผู้กุมอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง ปัญหาต่างๆก็สั่งสมมากขึ้น ทั้งปัญหาความยากจน ปัญหาการคอรัปชั่น ปัญหาการขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติ และเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศเมื่อปี 2540 จึงทำให้เศรษฐกิจของประเทศล้มครืน อินโดนีเซียต้องขอกู้เงินจาก IMF เช่นเดียวกับประเทศไทย ซึ่งยิ่งส่งผลกระทบต่อคนยากจนมากขึ้น จึงทำให้ประชาชนไม่พอใจรัฐบาลมากขึ้น จนนำไปสู่การประท้วงใหญ่เพื่อให้ซูฮาร์โตลงจากอำนาจ ทั้งนี้ในส่วนนักศึกษาแรกๆยังถูกควบคุม จึงทำการเคลื่อนไหวประท้วงแต่ในมหาวิทยาลัยเท่านั้น และยังไปช่วยชาวบ้านต่อสู้เรื่องปัญหาที่ดินทำกินอันเนื่องมากจาก ถูกแย่งที่ดินไปสร้างสนามกอล์ฟ สร้างเขื่อน หรือไร่เกษตรขนาดใหญ่ จากนั้นจึงได้เคลื่อนไหวใหญ่ให้เกิดการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจ พร้อมกับการเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมให้แก่เกษตรกรและกรรมกร เพราะระบบอำนาจนิยมแบบซูฮาร์โตไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน การประท้วงได้ขยายลุกลามไปทั่วประเทศจนทำให้ซูฮาร์โตต้องลาออกจากประธานาธิบดี
ทั้งนี้หลังจากสิ้นสุดรัฐบาลซูฮาร์โต ประเทศมีเสรีภาพมากขึ้น เขาเล่าว่า อุดมการณ์และแนวคิดสังคมนิยม หนังสือของพวกฝ่ายซ้ายในอดีต ที่เคยเป็นสิ่งต้องห้าม แพร่หลายมากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่ นักศึกษา คนหนุ่มสาว ทำให้เกิดความตื่นตัวทางการเมืองและการสนใจปัญหาสังคมของประเทศมากขึ้น เมื่อพูดมาถึงตรงนี้ เขาได้ถามถึงนักศึกษาไทยปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร โดยเขารับรู้มาว่าไทยเคยมีขบวนการนักศึกษาที่เข้มแข็งมาก่อน ซึ่งผมก็ได้แต่บอกไปว่า นักศึกษาไทยปัจจุบันไม่ได้มีบทบาทต่อสังคมมากนัก เขาถามว่าทำไม ผมเองก็ตอบยาก แต่สรุปไปว่าสังคมไทยปัจจุบันมีเสรีภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าจะประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 40 แต่ประเทศก็ฝ่าข้ามมาได้ในเวลาไม่กี่ปี ด้วยเหตุนี้ นักศึกษาซึ่งส่วนใหญ่ซึ่งเป็นชนชั้นกลางที่มีฐานะสุขสบาย และใช้ชีวิตแบบบริโภคนิยม จึงไม่ค่อยสนใจปัญหาสังคม มีความเป็นปัจเจกมากขึ้น แต่เขาไม่เห็นด้วย โดยมองว่าที่ประเทศของเขาก็มีลักษณะแบบเดียวกัน แต่นักศึกษาก็ยังพอมีบทบาททางสังคมอยู่บ้าง การบอกว่าเพราะการพัฒนาทุนนิยมและบริโภคนิยมทำให้จิตสำนึกทางสังคมและการเมืองของนักศึกษาลดลงนั้นไม่น่าจะเพียงพอ
แน่นอนว่านี่คือปัญหาสำคัญในการถามถึงบทบาทนักศึกษาไทยปัจจุบัน เพราะแม้ว่ามีเสรีภาพ มีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น แต่ก็ใช่ว่าปัญหาสังคมต่างๆจะหมดไป ผมได้อธิบายไปว่านักศึกษาไทยปัจจุบันเกิดและเติบโตในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังขยายตัวคือในช่วงปลายทศวรรษ 80 เป็นวัยรุ่นในช่วงปลาย 90 เข้าเรียนมหาลัยหลังปี 2000 ช่วงนี้เป็นช่วงที่เศรษฐกิจฟองสบู่ขยายตัวเต็มที่ ก่อนจะระเบิดในช่วงหนึ่ง และเศรษฐกิจก็ฟื้นตัวขึ้นมาอีก ดังนั้นวิธีคิดแบบบริโภคนิยมและการมีชีวิตที่ดีในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดจึงเป็นวิธีคิดหลักของลูกหลานชนชั้นกลาง เด็กวัยรุ่นเหล่านี้เติบโตมากับห้างสรรพสินค้า แฟชั่น ดนตรีป๊อบ โทรศัพท์มือถือ ส่วนมหาวิทยาลัยก็ เป็นที่สำหรับลูกคนชั้นกลางที่มีสติปัญญาสูงและอาศัยความได้เปรียบทางเศรษฐกิจ พาตัวเองเข้ามาเรียนได้มากกว่าลูกหลานคนจนหรือเกษตรกร ซึ่งคนเหล่านี้ไม่ได้มีรากทางวัฒนธรรม ขาดวินัย ไร้แรงบันดาลใจในชีวิต ไม่รู้สึกผูกพันกับใครนอกจากตัวเอง มีแต่ตัวตนลอยๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับสังคมรอบข้าง เข้ามาเรียนเพื่อปริญญา อันเป็นเครื่องมือในการดำรงอยู่ทางชนชั้นของตน เรียนให้ได้คะแนนสูงๆ เพื่อจบออกไปทำงาน และต้องการประสบความสำเร็จในชีวิต ส่วนการแสวงหาความรู้และใช้ความรู้อำนวยประโยชน์ต่อสังคม เป็นเรื่องรอง นักศึกษาไทยปัจจุบันจึงทำกิจกรรมที่เน้นความสนุกสนาน จัดงานปาร์ตี้ กระโดดโลดเต้น ยักย้ายส่ายเอวยักไหล่ และขึ้นเวทีประกวดนางงาม นางแบบ มากกว่ากิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสังคมและการเมือง เพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวนอกจากนี้โลกาภิวัตน์ที่ครอบลงมาทำให้ ด้านหนึ่งนักศึกษามีเสรีภาพส่วนตัวที่จะทำอะไรก็ได้โดยที่ไม่มีคนอื่นเกี่ยวข้อง และการแสดงออกถึงอัตลักษณ์ของปัจเจกบุคลที่ไม่จำเป็นต้องขึ้นกับกฎเกณฑ์ใดๆ การหล่อหลอมของจิตสำนึกจึงแยกตัวออกจากส่วนรวม แยกตัวจากรากฐานวัฒนธรรมเดิม เหลือแต่เรือนร่าง ตัวตนทางกาย ที่ปรุงแต่ง อันเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริโภคกับตลาดและการทำให้เป็นสินค้าของระบบทุนนิยม นักศึกษายุคใหม่จึงมีตัวตนที่เหมือนๆ กัน แต่งกายเหมือนกัน กินอยู่คล้ายกัน บริโภคคล้ายกัน มีตรรกะและระบบคิดเหมือนกัน เงียบเหงาและเปราะบางทางอารมณ์ แต่ทั้งนี้ผมก็ได้บอกว่าไม่ใช่นักศึกษาไทยจะถูกครอบทั้งหมด นักศึกษาหลายคนมีความคิดที่แหวกออกมาจากกรอบ มีความเห็นออกเห็นใจผู้อื่น นักศึกษาหลายคนพยายามแสวงหาการเรียนรู้และใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าต่อสังคม หลายคนออกมาทำกิจกรรมทางสังคมและร่วม เคลื่อนไหวกับชาวบ้านที่ประสบปัญหา แต่ภายใต้กระแสวัฒนธรรมบริโภคที่เชี่ยวกราก จิตสำนึกทวนกระแสจึงเป็นสิ่งที่งอกเงยได้ยาก และทั้งหมดนี้จึงทำให้นักศึกษาไทยมีบทบาททางสังคมลดลง
หลังจากวันนั้นผมมานั่งคิดดูอีกที การวิเคราะห์โครงสร้างที่ครอบลงมาทำให้นักศึกษามีจิตสำนึกทางสังคมลดลง นั้นเป็นจริงหรือไม่ หรือเรากำลังมองข้ามอะไรไปบางอย่าง Naomi Clien ผู้เขียนหนังสือ Nologo ในฐานะที่เป็นคัมภีร์ของผู้ต่อต้านโลกาภิวัตน์ ได้กล่าวถึงบทบาทของคนหนุ่มสาวทั่วโลกที่ประท้วงการประชุม WTO ที่ซีแอตเติ้ล สหรัฐอเมริกาว่า คนหนุ่มสาวเหล่านี้ เป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับขบวนการฝ่ายซ้ายในยุค 60 – 70 แต่เป็นกลุ่มคนที่เห็นความไม่เป็นธรรมที่รัฐและกลุ่มทุนข้ามชาติสร้างไว้ในนามของกลไกตลาดเสรี จึงออกมาประท้วงต่อต้านโลกาภิวัตน์ การประท้วงที่ซีแอตเติ้ลไม่ได้ใช้วิธีการประท้วงแบบชูมือเรียกร้อง หรือเสนอคำขวัญประเภทโค่นล้ม แต่เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่ (New Social Movement ) ที่ก้าวพ้นไปจากความเป็นชนชั้น มีวิธีการประท้วงที่หลากหลาย เช่น การแสดงละคร การแต่งแฟนซี การใช้ศิลปะ การใช้สื่ออินเตอร์เน็ต มาเป็นแนวทางในการแสดงออก ซึ่งเป็นการแสดงศักยภาพของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่ไม่ได้ผูกติดกับขบวนเคลื่อนไหวในยุคอดีตจนมองข้ามศักยภาพของคนรุ่นตน และหลังจากนั้นการเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์โดยคนหนุ่มสาวก็ขยายไปทั่วโลก มันจึงทำให้ผมคิดได้ว่าแท้จริงจิตสำนึกที่ดีงามเป็นสิ่งที่มีอยู่ในจิตใจของคนหนุ่มสาวอยู่แล้ว เพียงแต่เราจะกระตุ้นและปลุกเร้ายังไง การสิ้นสุดของอุดมการณ์เป็นการสิ้นสุดของระบบความคิดที่คับแคบ หยาบกระด้างของระบบคิดหนึ่งเท่านั้น แท้จริงเรายังมีระบบคิดที่ก้าวลึกไปถึงจิตวิญญาณ ศีลธรรมและจริยธรรมอีกมากมายในการสร้างสรรค์โลก เฉกเช่น ในเวทีสมัชชาสังคมโลก( World Social Forum) ที่อินเดียในหลายปีที่ผ่านมา ได้มีการเสนอคำขวัญที่ว่า “โลกใบใหม่ที่เป็นไปได้”( อันจะเป็นการตั้งคำถามต่อระบบทุนนิยมเสรีว่าเป็นคำตอบสุดท้ายเท่านั้นฤา หรือว่าเรามีทางเลือกอื่นๆมากกว่าระบบทุนนิยมในการสร้างสังคมที่ดีงาม)
แม้ว่าอุดมการณ์ในยุคปัจจุบัน ดูจะเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย ไร้ค่า และหนักสมอง ของคนรุ่นใหม่ แต่ ชนพ. ในฐานะที่เป็นกลุ่มกิจกรรมของนักศึกษาคนหนุ่มสาว ซึ่งได้ดำเนินกิจกรรมมาจนครบ 20 ขวบปี ทำกิจกรรมทั้งลงไปเคลื่อนไหวกับชาวบ้าน ทั้งออกค่ายอาสา และกิจกรรมอื่นๆอีกหลายรูปแบบ อันเป็นการนำพาเราไปสัมผัสกับคนยากคนจน คนด้อยโอกาส เพื่อเรียนรู้และเข้าใจชีวิตมนุษย์บนหนทางแห่งการสร้างสรรค์ตนเองต่อสังคมถือได้ว่า เรามีต้นทุนทางสังคมที่ดี เรามีศักยภาพที่อัดแน่นและเปี่ยมล้นอยู่ภายใน ที่จะทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เรามีสำนึกที่สืบทอดมาแต่ยุคอดีตหลอมรวมกับศักยภาพแห่งปัจจุบันเพื่อมุ่งมั่นสู่อนาคต ของการเป็นกลุ่มกิจกรรมที่สร้างสรรค์สังคม แต่ ชนพ.จะหลอมรวมความคิดและการปฏิบัติในการสร้างสรรบทบาททางสังคมของตนเองก้าวไปพร้อมกับขบวนการคนหนุ่มสาวของโลกยุคใหม่อย่างไรนั้น หนุ่มสาวผู้นำพา ชนพ. ก้าวสู่ทศวรรษที่สาม จะเป็นผู้ไขคำตอบเอง
ใบตองกุง..................
ชุมนุมนักศึกษาเพื่อการพัฒนา ( 2537 – 2540 )