ขอเชิญทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเราในการสร้า้งสังคมแห่งการเรียนรู้...

หากต้องการลงบทความ/งานเขียนของท่าน สามารถแจ้งความประสงค์ได้ทางเว็บบอร์ด หรือทางอีเมล์แอดเดรส; po_kenchin@hotmail.com
หรือจะสมัครสมาชิกอย่างเดียวก็ได้นะครับ

02 กุมภาพันธ์ 2554

“ ใช่ส่วนหนึ่งของความรู้สึก ”


ผมได้รับการไหว้วานแกมบังคับจากน้องต้นประธานชนพ.คนปัจจุบัน (ที่หลายๆคนบอกว่าเป็นแฝดผู้น้องของผม ซึ่งตัวผมเองก็ค่อนข้างจะยอมรับในความคล้ายคลึงกันของหน้าตาที่แสนจะดูซื่อ ใส และจริงใจของเราทั้งสองคน) ให้เขียนบทความอะไรสักอย่างที่เกี่ยวกับชนพ.เพื่อพิมพ์เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือประกอบการจัดงาน 22 ปี ชนพ. ระหว่างวันที่ 9-10 ธันวาคม 2549 ผมจึงเลือกที่จะเขียนบทความ ชื่อ ใช่ส่วนหนึ่งของความรู้สึกผมไม่แน่ใจว่าบทความชิ้นนี้จะดีพอหรือเปล่า จะมีเนื้อหาสาระหรือคุณประโยชน์สำหรับผู้อ่านหรือไม่ จะอย่างไรก็ตามผมก็จะพยายาม บืนเขียนให้จบลงจนได้ครับ ( บืน เป็นภาษาอีสาน แปลเป็นไทยว่า อาการตะเกียกตะกายด้วยความพยายามถึงแม้จะไม่ชำนาญเท่าไรนักก็ตาม หรือ เป็นความพยายามที่ทุลักทุเล เช่น เวลาฝนตกปลาช่อนจะชอบบืนขึ้นจากแหล่งน้ำหนึ่งไปยังแหล่งน้ำหนึ่ง ระหว่างทางที่อยู่บนบกปลาช่อนจะตะเกียกตะกายด้วยความไม่ชำนาญเพราะไม่เคยว่ายน้ำบนบกมาก่อนเลย(งง) แต่ปลาช่อนตัวนั้นก็ยังพยายามอย่างสุดชีวิต เพื่อให้ไปถึงอีกแหล่งน้ำหนึ่ง)
 ก่อนอื่นตามมารยาทผมคงต้องรายงานสายรหัสเพื่อให้เห็นถึงเส้นสายสัมพันธ์ของคนรู้จักมักกี่กันตามความสัมพันธ์แนวดิ่งฉันพี่น้อง   เท่าที่ผมจำได้ปู่รหัสผมคือปู่วิศวะ ขณะนี้ได้เป็นใหญ่เป็นโตอยู่ในสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ลุงรหัสผมมีนามว่าลุงเก่งขณะนี้ทำงานเกี่ยวกับเพชรนิลจินดาแถวๆเมืองบางกอกนี่แหละครับ  พี่รหัสผมมีสองคนครับ คนแรกคือพี่ปูเป้ เท่าที่ผมจำได้พี่แกเป็นอาจารย์สอนภาษาอะไรสักอย่าง น่าจะเป็นภาษาอังกฤษนะครับเพราะช่วงที่เรียนอยู่นั้นพี่แกจะชอบอะไรๆที่อินเตอร์ๆล้ำหน้ากว่าหน้าตาพี่แกเองซะอย่างงั้น ส่วนพี่คนที่สองหากยุคนั้นซึ่งเป็นยุคทอง(เค?) ใครไม่รู้จักเชยปืน.เฮ้ยย..เชยระเบิดเลย นั่นก็คือพี่เค หรือที่ใครๆเรียกว่า เคด่วย(ห้ามผวนนะครับมันจะดูไม่สุภาพ) การชักดาบเป็นกิจวัตรของพี่แก อย่างไรก็ตามพี่แกก็เป็นพี่ที่แสนดีของผมเวลาเลี้ยงสาย และการสำรวจค่าย ขณะนี้กำลังศึกษาต่อปริญญาโทสาขาการบริหารการพัฒนา ที่ม.ขอนแก่นเรานี่เองครับ  น้องรหัสของผมชื่อสกลคนซื่อครับ เคยแอบรักน้องผมที่มีชื่อย่อว่า ห-น-ยพร้อมๆกับหนุ่มน้อยห้องสมุด ผลลัพธ์คือทั้งสองก็แบ่งกันกินแห้วไปคนละครึ่ง ได้ข่าวว่าขณะนี้หนุ่มสกลไปรับใช้ชาติสองปีเต็มๆครับ ส่วนหนุ่มน้อยห้องสมุดขณะนี้ก็ก้าวขึ้นสู่ผู้บริการการศึกษาประจำคณะฯอย่างเต็มตัว ตำแหน่งหน้าที่ใกล้จะแซงหน้าพี่เชิดเต็มทีแล้ว พี่ได้ข่าวมาว่าน้องของพี่แต่เป็นเพื่อนของพวกเอ็งที่มีชื่อย่อว่า ห-น-ยคนนั้นขณะนี้หัวใจยังว่างอยู่ พวกเอ็งไม่ลองอีกซักตั้งหรือว่ะ กลับมาที่รายงานสายรหัสต่อครับ..ไอ้น้องรหัสสกลของผมคนนี้เป็นผู้ชายที่อบอุ่นแบบ เยนเทิลแมน เลยหละครับ ที่ผมรู้ก็เพราะว่าเราเคยหลับนอนด้วยกัน หมายความว่าเราเช่าห้องอยู่ด้วยกัน ยังจำได้หอพักแม่อุบล หลังมอ ครับ เออลืมไปน้องรหัสของผมอีกคนหนึ่งคือ น้องแนน ที่ย้ายมาจากสาขาฝรั่งเศษเพราะด้วยใจรักงานพัฒนา ขณะนี้กำลังศึกษาปริญญาโท MBA ที่รามคำแหงครับ ส่วนหลานรหัสผมมีอยู่ 2 คน คือน้องเฟิร์ส และน้องพลอย ผมต้องยอมรับว่าหลานรหัสทั้งสองคนนี้ถึงแม้จะมีนิสัยใจคอที่แตกต่างกัน แต่มีอย่างหนึ่งที่เหมือนกันคือ ความมั่นใจในตัวเอง ขณะนี้น้องเฟิร์ส เลือดได้เปลี่ยนสีจากสีอิฐเป็นสีชมพูไปเสียแล้ว น้องเค้าศึกษาต่อปริญญาโทจิตวิทยาสังคม ปีนี้เป็นปีแรก ส่วนน้องพลอยนั้นผมไม่ทราบแน่ชัดว่าขณะนี้ทำอะไร แต่พอที่จะจำได้เลาๆ น่าจะเป็นแอร์ฮอตสะเต็ด นะครับ ทำไงได้ก็น้องเขาสวยนี่นา เออลืมไปว่าผมยังมีหลานระหัสอีกคนหนึ่งชื่อ เอก ไอ้หลานคนนี้ในช่วงเรียนจะมีนิสัยชอบตั้งคำถามแบบยากๆ แล้วให้ผมตอบครับ มันถามทีไรผมต้องคิดหนักทุกที แต่ก็ดีนะครับมันเป็นแบบ Critical ดี ขณะนี้ผมไม่ทราบว่ามันทำอะไรอยู่ที่ไหนครับ ใครพบเจอส่งข่าวมาให้ผมด้วย สำหรับเส้นสายสัมพันธ์สุดท้ายที่อยู่ในความทรงจำของผมคือเหลนรหัส คือน้องเจี๋ยมเจี้ยม และน้องฟ้า สำหรับน้องเจี๋ยมเจี้ยมนั้นเป็นที่ภาคภูมิใจของผมมาก เพราะน้องแกมีความใจกว้างทาง Gender มีความลื่นไหลทาง DNA สูงมาก เป็นคนพูดจริงทำจริง ตรงไปตรงมา คิดอย่างไรพูดอย่างนั้น ส่วนน้องฟ้าก็เป็นสาวมั่นของสาย ชอบความอิสระเสรี มีจินตนาการสูง ชอบไปไหนมาไหนกับเจี๋ยมเจี้ยม แต่ไม่เคยชวนผมเลยโดยเฉพาะเวลาไปด๊าน ขณะนี้ทั้งสองคนก็กำลังเคร่งเครียดกับการทำสารนิพนธ์อยู่ พี่ก็ขอให้กำลังใจนะครับ.....เฮ้ยยยย กว่าจะแนะนำสายรหัสเสร็จก็ปาไปตั้งหนึ่งหน้ากระดาษกว่าๆ สายรหัสเยอะอย่างนี้ ยอมรับว่ามีค่าใช้จ่ายไปกับการเลี้ยงสายสูงมากเลยทีเดียว  แต่ก็ไม่เป็นไรหรอกครับเพื่อขอนแก่น-อุดรฯ(มิตรภาพ)พวกเรายอมจน แล้วสายรหัสของผมเกี่ยวข้องอย่างไรกับ ชนพ.? ผมกล้าพูดอย่างเต็มปากเต็มคำว่า สายรหัสของผมทุกคนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมของชนพ. แต่ระดับของการมีส่วนร่วมอาจมีความเข้มข้นที่แตกต่างกันไปตามเงื่อนไขเฉพาะของแต่ละคน
สำหรับงาน 22 ปี ชนพ.ก็น่าจะหมายความว่า ชนพ. หรือ ชมรม/ชุมนุมนักศึกษาเพื่อการพัฒนา มีอายุการกำเนิดเกิดก่อตั้งแต่อดีตเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 22 ปี ดังนั้นเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในที่แห่งนี้จึงมีมากมายหลายมิติ ที่ตัวผมไม่อาจพรรณนา หรืออธิบายได้ครอบคลุมทั้งหมดได้  เพราะตัวผมเองนั้นมารู้จักกับ ชนพ.ตั้งแต่ปี 2543- 2546 ในช่วงที่ศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาการจัดการการพัฒนาสังคม หรือที่เรียกว่า SDM 4 หรือ CD 17 และในช่วงปี 2546-2547 ในช่วงที่เป็นผู้ประสานงานโครงการบ้านมั่นคงเมืองขอนแก่น ก่อนที่ผมจะลาออกเพื่อไปศึกษาต่อปริญญาโทที่กรุงเทพฯในปี 2548  ดังนั้นช่วงเวลาที่ผมได้รู้จักมักคุ้นกับ ชนพ.จริงๆก็มีแค่เพียง 5 ปี ระดับการรู้จักมักคุ้นจะมีความเข้มข้นหน่อยก็ในช่วงปี 2545และ2546 ขณะที่ผมเป็นประธานชนพ. และคนรถน้ำต้นไม้ ชนพ.ตามลำดับนั่นเองครับ  
เมื่ออายุที่ผมรู้จักมักคุ้นกับชนพ.มีเพียง 5 ปี แต่ ชนพ.มีอายุเริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน รวม 22 ปี ดังนั้นเรื่องราวต่างๆที่ผมจะเล่าต่อไปนี้จึงไม่อาจครอบคลุมความเป็น ชนพ.ได้โดยตลอด แต่เรื่องราวที่ผมจะเล่าต่อไปนี้เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในยุคที่ผมและเพื่อนพี่น้อง ชนพ.ได้มีประสบการณ์ร่วมกันมาในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น อีกทั้งเป็นการเล่าเรื่องราวออกจากปากผมเพียงคนเดียว ผมจึงไม่อาจจะพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าเรื่องราวต่างๆต่อไปนี้เป็นความจริงของทุกๆคน แต่ผมกล้ายืนยันว่าเรื่องราวต่อไปนี้เป็นความจริง ในความหมายที่ผมให้นิยามมัน
เรื่องแรก ชนพ. และ CD ควรส่งเสริมกันและกัน
ในความเข้าใจของผม สถานภาพของ ชนพ.นั้น เป็นแหล่งหรือพื้นที่ให้คนที่ชอบทำกิจกรรมอะไรก็ได้ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น ที่กินเหล้ากินเบียร์ ที่เล่นกีต้า ร้องเพลง  ที่รับน้อง  ที่นัดเจอกัน ที่เปิดใจ ที่เล่นฟุตบอล  ที่ประชุม ออกค่าย ที่นั่งนินทากัน ที่ติวหนังสือสอบ ที่กกรัก ฯลฯ  หรือแม้แต่เป็นที่ที่นั่งพิจารณาไตร่ตรองเรื่องราวของปรัชญาชีวิต ที่ระบายอารมณ์รัก สมหวัง  สิ้นหวัง หมดกำลังใจ อยู่เพียงลำพัง เพื่อให้คนอื่นรู้ว่าตัวเรานั้นก็มีตัวตนและความหมาย  อย่างไรก็ตามถึงแม้เราจะทำกิจกรรมกับผู้อื่น หรือทำกิจกรรมตามลำพังใน ชนพ. สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นเสมอคือ การได้พบปะสังสรรค์แลกเปลี่ยนความคิดความเห็นกัน ถึงแม้จะอยู่คนเดียวลำพังก็ทำให้เราจำต้องคอยถาม-ตอบ ข้อสงสัยเกี่ยวกับตัวเราเองอยู่เสมอ โดยสรุปแล้ว ชนพ.เป็นแหล่งหรือพื้นที่ที่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างกันของมวลสมาชิก เพื่อนำไปสู่ภาคปฏิบัติการทางความคิดและการกระทำ จนกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า กิจกรรม นั่นเอง
ในความเข้าใจของผม CD. หรือ SDM. นั้น เป็นแหล่งหรือพื้นที่ให้คนที่ชอบศึกษาได้ศึกษาเล่าเรียน เป็นหลักสูตรการศึกษาที่เน้นการพัฒนาความคิดเชิงวิชาการ ความเป็นเหตุเป็นผล พูดง่ายๆ เป็นการศึกษาในเชิงแนวคิดทฤษฎีนั่นเอง หากเราสังเกตให้ดีจะพบว่าหลักสูตรการศึกษารวมทั้งกระบวนการเรียนการสอนนั้น จะพยายามให้เรามีความรู้ทางวิชาการให้มากที่สุด งานวิชาการจะฝึกให้เราศึกษาค้นคว้าเป็น อ้างอิงเป็น คิดเป็น(ผมไม่แน่ใจนะครับข้อนี้)  การศึกษาตามหลักสูตรนี้ไม่มีข้อพิสูจน์ว่าศึกษากันเป็นกลุ่ม หรือศึกษาคนเดียวเท่านั้นถึงจะเป็นคนที่เรียนเก่งที่สุด ผมคิดว่าการศึกษาเล่าเรียนในหลักสูตร ใครๆก็ทำได้ดี เก่ง แม้กระทั่งคนคนนั้นจะไม่เคยสุงสิงกับใครเลย    ซึ่งต่างจากการทำกิจกรรมที่จะไม่บรรลุผลสำเร็จเลย หรือบรรลุผลสำเร็จน้อยมากหากคนคนนั้นเลือกที่จะทำเพียงคนเดียว กล่าวโดยสรุปการศึกษาในหลักสูตรทำให้เราเข้าใจแนวคิดทฤษฎี มากกว่าภาคปฏิบัติการ
โดยส่วนตัวผมแล้วผมไม่ต้องการแยก ชนพ.ออกจาก CD. หรือ แยก CD. ออกจาก ชนพ. แต่ผมต้องการให้ทั้ง CD. และ ชนพ. เสริมสร้างซึ่งกันและกัน กล่าวคือ CD. เราได้เรียนรู้ในหลักการ แนวคิดทฤษฎี ซึ่งจัดเป็นสมมติฐานอย่างหนึ่ง แต่มีข้อแม้ว่าสมมติฐานนั้นจะต้องไม่ใช่สมมติฐานถาวร ตรงข้ามสมมติฐานดังกล่าวต้องเป็นสมมติฐานชั่วคราวเพื่อรอการพิสูจน์  ซึ่งแหล่งหรือพื้นที่ในการพิสูจน์นั้นก็คือภาคปฏิบัติการของ ชนพ. นั่นเอง  ในขณะเดียวกัน เมื่อภาคปฏิบัติการของชนพ. มีแง่คิด มุมมอง ใหม่ๆ ที่สามารถเป็นข้อถกเถียงต่อแนวคิดทฤษฎีที่เป็นข้อสมมติฐานชั่วคราวของ CD.ได้ นั่นหมายความว่าแง่คิด มุมมอง ใหม่ๆ ที่ได้จาก ชนพ.นั้นกลายเป็นสมมติฐานชั่วคราวขึ้นมาทันทีเพื่อรอการพิสูจน์จาก CD. สิ่งนี้แหละจะเป็นการปฏิสัมพันธ์ระหว่างภาคปฏิบัติและภาคทฤษฎีในรูปแบบที่เรียกว่าวิภาษวิธี (dialectic)ได้เป็นอย่างดี อันจะนำไปสู่วิถีทางปัญญาที่ถูกต้องลุ่มลึกได้
เรื่องที่สอง การละลายเส้นแบ่งช่วงชั้นปี
ผมมีความเห็นว่า ชนพ.คือที่ละลายช่วงชั้นปีหมายความว่า ชนพ.ควรเป็นที่ที่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ในแนวราบ เป็นที่ซึ่งสามารถละลายเส้นแบ่งของช่วงชั้นปีอันเป็นความสัมพันธ์ในแนวดิ่งลงได้ สมาชิกชนพ.ไม่ว่าจะเป็นชั้นปีไหนๆ ย่อมมีอิสระทางความคิดได้อย่างเสรี มีสิทธิแห่งความเท่าเทียมกันในการแสดงออกทางความคิดและการกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง โดยไม่ถูกจำกัดโดยสถานภาพของชั้นปี คนชนพ.ควรยึดหลักการ ความถูกต้องเป็นสำคัญมากกว่าความเป็นพี่น้องกันเชิงอุปถัมภ์ที่ต้องพึ่งพิงกันอยู่ตลอดเวลา เพราะหากเป็นดังกล่าวจะทำให้ คนชนพ. ถูกจำกัดศักยภาพทางความคิด และจินตนาการลงได้ ที่สำคัญจะทำให้ไม่สามารถยืนด้วยลำแข้งของตัวเองท่ามกลางกระแสสังคมที่ผันผวนได้
เรื่องที่สาม  การสรรสร้างกิจกรรมใหม่ๆอยู่เสมอ
ต้องยอมรับว่ากิจกรรมต่างๆที่ ชนพ.เคยทำมา ไม่ว่าจะเป็น การออกค่ายอาสาพัฒนา กิจกรรมรับน้อง เป็นต้น เป็นกิจกรรมดั้งเดิมที่ชาวเราทำสืบต่อกันมานาน กิจกรรมดังกล่าวมันมีข้อดีตรงที่ว่าช่วยให้คนที่ทำกิจกรรมไม่ปวดหัวที่จะสร้างสรรค์กิจกรรมใหม่ๆ เพราะแบบแผนเดิมๆได้ถูกสร้างขึ้นแล้ว ไม่จำเป็นต้องสร้างใหม่ เพียงแต่เราเดินไปตามหรือปรับปรุงแบบแผน เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่กิจกรรมดังกล่าวก็มีข้อเสียตรงที่ว่าคนทำกิจกรรมจะเป็นคนเฉื่อยชา ขาดความท้าทาย ไม่กระตือรือล้น การตัดสินใจใหม่ๆมีน้อย เพราะทำแต่เรื่องเดิมๆ กิจกรรมจึงขาดสีสัน แนวทางแก้ไขนอกจากผู้นำกลุ่มจะเป็นผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์แล้ว คนรอบข้างไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการ รวมทั้งสมาชิกคนอื่นๆ ควรเป็นผู้ที่มีความกล้าที่จะเสนอไอเดียกิจกรรมที่แปลกใหม่ และกล้าที่จะแปรงไอเดียนั้นสู่การปฏิบัติ ที่ประกอบด้วยความถูกต้อง ชนิดที่เรียกว่า ลองผิดลองถูกโดยใช้ปัญญา
เรื่องที่สี่ การทำกิจกรรมให้มีความซึ้งใจ
เมื่อเอ่ยถึงกิจกรรมหลายคนเข้าใจว่า หากเป็นกิจกรรมแนววิชาการก็จะเครียดอย่างเดียว หรือหากเป็นกิจกรรมแนวสันทนาการ ก็จะสนุกสนานเฮฮาอย่างเดียวหรือหากเป็นกิจกรรมแนวเพื่อสังคม ก็จะเสียสละทั้งแรงกาย แรงใจ แรงทรัพย์อย่างไม่จำกัด  จะมีน้อยคนนักที่จะเข้าใจว่าทั้งกิจกรรมแนววิชาการ สันทนาการ และแนวเพื่อสังคมนั้นก็สามารถเป็นกิจกรรมที่ลึกซึ้ง กินใจได้ ยกตัวอย่างเช่น กิจกรรมแนววิชาการ ประเภท การไปสอนหนังสือเด็กในสลัม เราจะจะมีความผูกพันกับเด็กในสลัม จนบ่อยครั้งที่เราคิดไปว่าเด็กดังกล่าวคือน้องชาย/น้องสาวของเราแท้ๆ ที่เราต้องการให้ความรักและอนาคตที่ดีแก่เขา หรือกิจกรรมแนวสันทนาการ ประเภท การแสดงละครรอบกองไฟ เราก็ได้ซึ้งใจในความพยายามของเพื่อนเราที่ร่วมกันฝึกซ้อมละคร หรือเวลาแสดงบนเวทีได้รับเสียงปรบมือจากชาวบ้านที่ตั้งหน้าตั้งตามาดูเรา สำหรับกิจกรรมแนวเพื่อสังคม เราก็จะได้พิสูจน์ตัวเราเองว่าเราไม่ใช่คนเห็นแก่ตัว เราไปช่วยชาวบ้านสร้างโรงเรียนเราก็จะรู้ดีแก่ใจว่าคนที่เหนื่อยที่สุดนั้นไม่ใช่ตัวเรา แต่เป็นผู้ที่ตักน้ำเย็นๆให้เราดื่ม แล้วพูดกับเราค่อยๆข้างหูว่า หล่าเอ้ยหากเมื่อยก็พักก่อน เดี๋ยวพ่อใหญ่จะเฮ็ดเองดอก
การทำกิจกรรมต่างๆ หากเราทำด้วยหัวใจ ที่เต็มเปี่ยมด้วยความหวังดีต่อผู้อื่นเสียแล้ว ความซึ้งใจมันย่อมเกิดขึ้นเองอย่างอัตโนมัติ  !! บางครั้งความสุขที่แท้จริงอาจไม่ได้อยู่ที่รอยยิ้มของเรา !!
เรื่องที่ห้า กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้อง
ต้องยอมรับว่าชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย รุ่นพี่ย่อมมีประสบการณ์ทั้งทางวิชาการ และกิจกรรม มากกว่ารุ่นน้องที่ไม่เคยเข้ามาอยู่ในรั้วดังกล่าวเลย ดังนั้นการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์จากรุ่นพี่ สู่รุ่นน้องนั้นยังเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะนอกจากรุ่นน้องจะได้ความรู้และประสบการณ์ที่เกิดจากการถ่ายทอดจากรุ่นพี่แล้ว รุ่นน้องยังได้ความสัมพันธ์ที่ดีต่อรุ่นพี่อีกด้วย ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญทั้งในปัจจุบัน และอนาคต ในปัจจุบันรุ่นพี่และรุ่นน้องจะได้ช่วยเหลือกันด้านการเรียน กิจกรรม ในอนาคต เมื่อจบการศึกษาไปแล้ว รุ่นพี่และรุ่นน้องจะได้ช่วยเหลือกันด้านการงาน
อย่างไรก็ตามการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง ถึงแม้จะมีข้อดีหลายอย่าง แต่ก็มีข้อเสียตรงที่ว่า รุ่นพี่มักจะเป็นใหญ่ หรือผูกขาดความรู้และประสบการณ์แต่เพียงผู้เดียว โดยรุ่นพี่มีหน้าที่ ให้ รุ่นน้องก็มีหน้าที่ รับ ฝ่ายเดียว ผลคือ เราจะได้สายพันธุ์ทางความคิดชนิดที่เรียกว่า พิมพ์เขียวสร้างให้คนคิด และทำอะไรต่างๆไม่ไปไกลกว่าปลายจมูกของตนเองหรือรอยเท้าของผู้อื่น สิ่งที่สำคัญคือการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์นั้นจะต้องเป็นกระบวนการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน รุ่นพี่เรียนรู้ชุดความรู้และประสบการณ์จากน้อง รุ่นน้องเรียนรู้ชุดความรู้และประสบการณ์จากรุ่นพี่  พยายามสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาร่วมกัน บนพื้นฐานชุดความรู้และประสบการณ์ของกันและกัน เมื่อทำดังนี้ เราจะได้สายพันธุ์ทางความคิดชนิดที่เรียกว่า ดินเหนียวซึ่งเราสามารถปั้น แต่ง หรือออกแบบเป็นรูปทรงต่างๆได้ตามจินตนาการ
เมื่อเราขึ้นปี 4 เรามักจะคิดว่าบทบาทหน้าที่ด้านกิจกรรมของเราสิ้นสุดแล้ว แต่สำหรับผมมีความคิดตรงข้าม โดยผมคิดว่ายิ่งขึ้นปี 4 เรายิ่งเป็นพี่สูงสุด เราจำต้องมีโอกาสได้เรียนรู้กิจกรรมกับน้องรุ่นใหม่มากขึ้น รู้จักกับน้องมากขึ้น มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น สิ่งนี้เองจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพี่และน้องยิ่งมีความแน่นแฟ้นขึ้น พี่เรียนรู้กับน้อง น้องเรียนรู้กับพี่ ทั้งพี่และน้องแบ่งปันความรู้สึกดีๆ ให้แก่กัน นี่คือหัวใจของการทำกิจกรรมระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้องครับ
เรื่องที่หก พิธีเทียนและบทเพลงจรรโลงใจคือเงื่อนไขความผูกพัน
 พิธีเทียน จัดเป็นพิธีกรรมหนึ่งที่มีความศักดิ์สิทธิ์ที่ทำให้คนเกิดอารมณ์ควยามรู้สึกร่วมกันได้มากเลยทีเดียว และอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้นส่วนใหญ่มักจะเป็นอารมณ์ที่เต็มเปี่ยมด้วยความปรารถนาดีต่อผู้อื่น ต้องการให้ผู้อื่นมีความสุข เป็นอารมณ์แห่งความอบอุ่น  เช่น พิธีเทียนในกิจกรรมรับน้องใหม่ จะเป็นพิธีกรรมที่ให้การต้อนรับรุ่นน้องผู้มาใหม่ ผู้ที่ไม่เคยอยู่ในแดนดินแห่งใหม่นี้ให้รับรู้ว่า น้องไม่ได้อยู่เดียวดาย แต่น้องยังมีเพื่อนที่มีชะตากรรมที่ไม่ต่างกับตนนัก    น้องยังมีรุ่นพี่ที่จะคอยปกป้อง ดูแล ให้ความรักให้ความอบอุ่นน้องอยู่เสมอ  หรือ กิจกรรม อำลาอาลัยภายหลังการออกค่าย พิธีเทียนจะทำให้เราได้พูดความในใจ อย่างที่เรียกว่า เปิดใจเพื่อให้รู้ซึ้งถึงความคิด จิตใจของผู้อื่น เพื่อให้เราเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น เมื่อเข้าใจผู้อื่นมากขึ้นแล้วเราจะได้เรียนรู้ว่า คนอื่นก็ไม่ต่างอะไรกับเรา เขาย่อมมีผิดบ้าง พลาดบ้าง สิ่งที่มีค่าที่สุดคือคำว่า ขอโทษ และให้อภัย รวมทั้งการให้กำลังใจกันและกัน
อาจกล่าวได้ว่าพิธีเทียนนั้นคือการเปิดใจ เพื่อเอาใจเขามาใส่ใจเรา และที่สำคัญ เทียนพยายามเผาไหม้ตัวเอง เพื่อให้แสงสว่างแก่ผู้อื่น ดังนั้น เนื้อใหญ่ใจความของพิธีเทียนคือการสอนให้เราเป็นผู้เสียสละ นั่นเอง
บทเพลงจรรโลงใจก็เป็น สิ่งหนึ่งที่ช่วยกระทุ้งความรู้สึกของผู้คนได้ โดยผ่านทั้งความหมายของบทเพลง และท่วงทำนองเพลง พิธีเทียนที่ขาดเพลงจรรโลงใจ ก็ไม่ต่างอะไรกับ   พิธีบวชนาคที่ขาดการปรงผมนาค  การทำพิธีเทียนจะนั่งเปิดใจกันอย่างเดียวก็เครียดตายเลย       บทเพลงจรรโลงใจจะช่วยซึมซับบรรยากาศที่อบอวลให้กับพิธีเทียนไม่ให้ดูเครียดได้ และทั้งสองอย่างนี่แหละคือเงื่อนไขของความผูกพันระหว่างสมาชิก
เรื่องที่เจ็ด ซุ้ม ชนพ.
หลายคนอาจคิดว่าสถานที่ในการทำกิจกรรมนั้นมันไม่สำคัญเท่ากับเป้าหมายของกิจกรรม  มันก็ถูกอยู่หรอกครับ แต่ไม่ทั้งหมด เพราะหากสถานที่ทำกิจกรรมไม่อำนวยแล้ว ถึงแม้เป้าหมายกิจกรรมจะดีมีประโยชน์ ก็ไม่สามารถทำให้กิจกรรมนั้นบรรลุผลสำเร็จได้ เพราะสิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญสำหรับกิจกรรมนักศึกษานั้น การบรรลุเป้าหมายเป็นเพียงผลพลอยได้ของกระบวนการทำกิจกรรมที่ดี ผมมองว่าเนื้อใหญ่ใจความของการทำกิจกรรมระดับนักศึกษาคือ กระบวนการที่สมาชิกได้เรียนรู้ในเรื่องต่างๆร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีโอกาสพบปะสังสรรค์ พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน จุดนี้เองสถานที่จะเป็นสิ่งที่สำคัญมาก สมมติว่า ชนพ.ย้ายซุ้มไปอยู่ที่คณะฯ ซึ่งไกลจากหอพัก ไกลจากวิถีชีวิตหลังเลิกเรียน ก็อาจทำกิจกรรมได้เพียงบางกิจกรรมโดยเฉพาะกิจกรรมที่เป็นทางการ  ส่วนกิจกรรมที่ไม่เป็นทางการอาจมีได้น้อย เช่น การนั่งพูดคุยกัน  ใครหละที่จะไปนั่งคุยกันที่คณะตอนดึกๆหละครับหากไม่ใช่คนเมา โดยส่วนตัวแล้วผมเห็นว่าซุ้ม ชนพ.ที่ตั้งอยู่ปัจจุบันนี้เหมาะสมดีแล้ว เพราะอยู่ใกล้กับหอพัก สามารถเป็นศูนย์กลางการทำกิจกรรมที่หลากหลายทั้งกิจกรรมที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ ได้เป็นอย่างดี สามารถเป็นที่รวมพลได้ง่าย ไม่ซับซ้อน ผมคงฝากให้พวกเราช่วยกันดูแลรักษาซุ้มนี้ไว้ จะมีหลังคาหรือไม่มีหลังคาก็ไม่สำคัญหรอกครับ เพราะได้มีการพิสูจน์แล้วว่าการที่ซุ้มชนพ.มีหลังคาหรือไม่มีหลังคานั้น ไม่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพของกิจกรรมและความสัมพันธ์ระหว่างมาลสมาชิกชนพ.แต่ประการใด ผมยังเคยเห็นเลยในขณะที่ฝนเริ่มจะตกพี่น้องชนพ.ที่นั่งประชุมกันอยู่ จะรีบวิ่งหลบฝนพอฝนหยุดตกต่างคนก็วิ่งกลับมาที่เดิมเพื่อประชุมต่อและยังช่วยกันคนละไม้ละมือเช็ดถูม้านั่ง น่ารักจะตายครับ  สำหรับผมแล้วขอแค่เพียงซุ้มชนพ.มีโต๊ะ-ม้าให้พวกเรานั่งประชุมหรือโสเหล่กัน มีต้นไม้ใบหญ้าให้เรารดน้ำ พรวนดิน รวมทั้งการช่วยกันรักษาความสะอาด ปัดกวาด ใบไม้ใบหญ้าที่ร่วงหล่นลง แค่นี้ก็คงเพียงพอแล้ว
เรื่องราวต่างๆ ทั้ง 7 เรื่องราวที่ผมได้เล่ามานั้น ใช่เป็นส่วนหนึ่งของความรู้สึกของผม แต่มันคือทั้งหมดของความรู้สึกของผมที่มีให้กับชนพ.  ผมไม่ได้มีเจตนาที่จะบอกว่าสิ่งที่ผมนำเสนอข้างต้นเป็นทั้งหมดของความจริงที่ทุกๆคนต้องยอมรับ แต่ผมพยายามที่จะบอกว่าการที่ผมสามารถมีอารมณ์ ความรู้สึก ความรู้ และประสบการณ์ ที่สามารถถ่ายทอดเป็นงานเขียนชิ้นนี้ได้ ก็เพราะว่าผมเป็นคน ชนพ. ความหมายของชีวิตผมกว่าครึ่งทศวรรษถูกสร้างขึ้นโดย ชนพ.
ก่อนจะจบผมขอขอบคุณคนชนพ.ทุกคนโดยเฉพาะคนชนพ.ที่ผมร่วมสมัยอยู่ด้วย จำได้ไหมพวกเราได้ร่วมทุกข์ ร่วมสุข ตลอดจนร่วมแบ่งปันความรู้สึกที่ดีๆให้แก่กัน ผมหวังว่าชนพ.ของเราคงจะอบอุ่นเช่นนี้ตลอดไป ขอขอบคุณรุ่นน้อง ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่เป็นเรี่ยวแรงในการจัดงาน 22 ปี ชนพ.ครั้งนี้ด้วยใจจริง  สำหรับผมแล้ว ถึงแม้จะไม่ได้อยู่ใกล้ชิดชนพ.เหมือนดังเก่าก่อน แต่ผมก็ระลึกอยู่เสมอว่า ชนพ.คือผู้เป็นฐานรากแห่งการพัฒนาวุฒิปัญญาทางสังคมให้กับตัวผมเอง และคนชนพ ทุกๆคน ท้ายนี้ผมขอฝากแง่คิดเล็กๆน้อยๆ ไว้ให้คน ชนพ.พิจารณาเล่นๆ ว่า

หากแม้ว่าแนวคิดการทำกิจกรรมของ ชนพ.ยังเป็นแบบเดิมๆ ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงแห่งยุคสมัยหรือการเปลี่ยนแปลงเสียแล้ว มันก็อาจเป็นแนวคิดที่รกหูรกตาได้ เพราะใช้อธิบายอะไรไม่ได้เลย  หากไม่ต้องการอย่างนั้นพวกเราควรทบทวน ตรวจสอบแนวคิดการทำกิจกรรมของพวกเราเองอยู่เสมอว่ามันสอดคล้องกับความเป็นจริงดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร ซึ่งอาจเรียกว่า การสังคายนาแนวคิด(งาน 22 ปีชนพ.น่าจะอยู่ในข่ายนี้) เมื่อ    พวกเราทำอย่างนี้โดยตลอด แนวคิดการทำกิจกรรมของพวกเราก็จะทันยุคทันสมัยไม่ล้าหลังปรากฎการณ์สังคมหรือวัฒนธรรมใหม่ๆที่เกิดขึ้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ทั้งนี้การที่จะเป็นดังกล่าวได้คน ชนพ.ทุกๆคนต้องร่วมกันคิด ร่วมกันทำอย่างผู้ที่รู้จักตื่น และไม่ทอดทิ้งกัน


    “เมื่อความรัก คือจินตนาการอย่างหนึ่งของคนที่ไร้เหตุผล ผมจึงยอมที่จะเป็นคนหนึ่งที่ไร้เหตุผล

รัก ชนพ.เสมอ

สาคร สมเสริฐ
เรือนหอคนโสด สามเสนใน กรุงเทพฯ
28  พฤศจิกายน 2549

3 ความคิดเห็น:

  1. อ่านแล้ว รู้สึก "ดี" ยิ่งนัก
    มองเห็นความรัก ความห่วงใย ที่กรุ่นในเรือนคำ

    กับบางบท อยากบอกว่า
    "อยากเห็นความแตกต่าง ต้องกล้าเปลี่ยนแปลง"

    จำได้ว่า ในวันที่สร้าง ชนพ.(2528)
    เหตุผลเพียงข้อเดียว "อยากทำกิจกรรมค่ายที่แตกต่าง"

    แค่นั้นเอง

    คิดถึงพวกเธอทุกคน...

    ตอบลบ
  2. บางครั้งความสุขที่แท้จริงอาจไม่ได้อยู่ที่รอยยิ้มของเรา

    ตอบลบ
  3. ชอบวิธีเล่า น่ารักดี ^^-

    ตอบลบ