เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสานจับมือกรมส่งเสริมสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน จัดเสวนาสถานการณ์สิ่งแวดล้อมอีสาน 54 ถอดบทเรียนนโยบายการจัดการทรัพยากรชาติ เตรียมความพร้อมก่อนเสนอทางเลือกการพัฒนาต้อนรับรัฐบาลยิ่งลักษณ์
เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2554 เวลา 8.00 น. ณ ศูนย์ประชุมแก่งเลิงจาน จังหวัดมหาสารคาม เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน ร่วมกับกรมส่งเสริมสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนถอดบทเรียนการจัดการทรัพยากรภาคอีสาน และทิศทางการจัดการทรัพยากรของภูมิภาคโดยภาคประชาชนในอนาคต
บรรยากาศในห้องประชุมเนืองแน่นไปด้วยตัวแทนจากเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ โครงการทามมูล กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา สมาคมเพื่อนภู มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ ตัวแทนชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาทั่วภาคอีสาน อาทิ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าอุดรธานี เครือข่ายองค์กรชุมชนฟื้นฟูป่าภูกระแต กลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนปากชม กลุ่มชาวบ้านลุ่มน้ำเสียวและลุ่มน้ำชี กลุ่มชาวบ้านพื้นที่ชุ่มน้ำแก่งละว้าและกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนหัวนา-ราษีไศล จำนวนกว่า 100 คน
ทั้งนี้ ภายในเวทีได้มีการถอดบทเรียนนโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในภาคอีสานของรัฐบาล นับแต่แผนพัฒนาฯฉบับที่ 1 จนถึงในช่วงแผน 10 ครอบคลุมทั้งในมิติ ดิน น้ำ ป่า และแร่ธาตุ เพื่อสรุปบทเรียนปัญหาร่วมกันทั้งในเชิงพื้นที่และภาพรวมของภูมิภาค ซึ่งข้อสรุปในวงแลกเปลี่ยนต่างเห็นพ้องร่วมกันว่า รากเหง้าของปัญหาในการจัดการทรัพยากร ที่สร้างผลกระทบให้กับชุมชนท้องถิ่นอีสานในแต่ละภูมินิเวศนั้น ล้วนเป็นผลมาจากการรวมศูนย์อำนาจการจัดการทรัพยากรเข้าสู่ส่วนกลาง การมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและความเจริญเติบโตของตัวเลขเศรษฐกิจเป็นหลักใหญ่ ซึ่งได้นำมาสู่การลิดรอนสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือกดขี่ข่มเหงชาวบ้านสารพัดรูปแบบโดยไม่เคารพศักดิ์ศรีและความเป็นมนุษย์ของคนอีสาน ฉะนั้นทางออกของปัญหาที่มีร่วมกันก็คือการปรับดุลอำนาจในการจัดการทรัพยากรกับรัฐเสียใหม่ เพื่อให้ชุมชนในแต่ละภูมินิเวศสามารถจัดการทรัพยากรด้วยตนเองได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับนิเวศวัฒนธรรมเฉพาะถิ่นนั้นๆ
ด้านนายบุญเลิศ เหล็กเขียว แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า
ผมอยากฝากให้รัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารใหม่ ฟังเสียงประชาชนบ้าง ฟังว่าพวกเขาจะเอาหรือไม่เอา ถ้าประชาชนเจ้าของพื้นที่เขาไม่เอาก็ควรฟัง เพราะนั่นเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของเขา ไม่ใช่รัฐบาลมัวเห็นแต่ผลประโยชน์ หน่วยงานรัฐก็ไม่ควรที่จะมาบีบคั้นประชาชนให้ยอมรับตาม เช่น เวลาประชาชนเขาไปเรียกร้องสิทธิก็กลับมาหาว่าเขาคัดค้านโครงการ หรือคัดการปฏิบัติงานของรัฐแล้วเอาเจ้าหน้าที่ตำรวจมาจับเขา ทั้งๆที่ประชาชนมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ มีสิทธิโต้แย้ง มีสิทธิคัดค้าน มีสิทธิประท้วง มีสิทธิเรียกร้อง ผมว่ามันไม่เป็นธรรมสำหรับประชาชนอย่างพวกเรา ก็ขอฝากรัฐบาลให้ใจกว้างขึ้นหน่อย ยอมรับความคิดที่แตกต่างของชาวบ้านบ้าง
ด้านนายมนัส ถำวาปี คณะกรรมการชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง กล่าวว่า
ที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมากนัก เพราะแผนการพัฒนาของรัฐยังมุ่งเก็งกำไร เอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการ เอื้อนายทุน หรือรัฐวิสาหกิจเป็นหลัก เช่น กรณีโครงข่ายไฟฟ้าแรงสูง 500 Kv ที่ผมได้รับผลกระทบอยู่ขณะนี้ ดังนั้น ผมจึงอยากเสนอให้รัฐบาลใหม่หันมาสนับสนุนการใช้ทรัพยากรทางเลือกที่เรามีอยู่ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเราสามารถใช้ได้ตลอดชั่วลูกชั่วหลาน แม้ในระยะแรกอาจมีค่าใช้จ่ายในการติดตั้งสูง แต่ต่อๆไปเราเพียงแต่มีภาระค่าบำรุงรักษาเท่านั้น อีกทั้งยังไม่ได้สร้างผลกระทบเหมือนโครงการพัฒนาขนาดใหญ่อย่างที่รัฐได้ดำเนินการอยู่ในขณะนี้
ด้านนายสนั่น ชูสกุล ผู้อำนวยการโครงการทามมูล ได้ให้ความเห็นปิดท้ายว่า
จริงๆแล้วเราก็มองว่านโยบายของรัฐบาลใหม่คงไม่ได้ต่างกับนโยบายทักษิณในอดีต ที่เน้นเรื่องการจัดการ เรื่องทุน เรื่องฐานทรัพยากรที่มองว่าเป็นทุน ก็คิดว่าช่วงต่อจากนี้คงเกิดความเครียดเพิ่มขึ้นกว่าเดิมพอสมควร แต่ก็อาจจะเป็นการกระตุ้นให้ชุมชนเกิดความตระหนัก เกิดความตื่นตัวที่จะลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรกันมาขึ้น
/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-
นายฐากูร สรวงศ์สิริ ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ศสธ.)
ตู้ปณ. 14 อ.เมือง จ.อุดรธานี 41000
โทร.087-0276344 อีเมล์ Dhonburi@hotmail.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น