อาสาพัฒนา เป็นชื่อเรียกกลุ่มคนที่รวมกลุ่มกันและมีจุดหมายในการออกไปพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง โดยในประเทศไทยนิยมจัดขึ้นเป็นชมรมตามมหาวิทยาลัย ขณะที่ในหลายประเทศจะมีการรวมตัวกันในหลายระดับตั้งแต่ระดับเยาวชน ระดับมัธยม และระดับอุดมศึกษา ซึ่งกิจกรรมอาสาพัฒนาในต่างประเทศนั้นรวมไปถึง การทำความสะอาดชุมชน การสร้างที่อยู่อาศัยหรืออาคารให้ชุมชน การเป็นอาสาสมัครให้ห้องสมุดประจำชุมชน การสอนเด็กและการดูแลผู้สูงอายุในถิ่นธุรกันดาร
ในประเทศไทยค่ายอาสาพัฒนาจะมีกิจกรรมคล้ายกันจะมีลักษณะคล้ายสังคมสงเคราะห์ (Comudity Services) ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างทั้งที่ถาวรและไม่ถาวร การเผยแผ่อบรมให้ความรู้ด้านในต่างๆ การมอบสิ่งของเครื่องใช้ปัจจัยสี่ให้กับชุมชนในชนบทที่ขาดแคลน โดยเรียกว่า การออกค่ายอาสาพัฒนา ทั้งนี้เพื่อให้มีความเป็นเอกเทศในการจัดกิจกรรมด้านบำเพ็ญประโยชน์โดยไม่ขึ้นตรงหรือพึ่งพากับองค์กรใดๆ โดยมีความมุ่งหวังที่จะจัดกิจกรรมด้านอาสาพัฒนาออกไปสู่สังคมภายนอกมากขึ้น เพื่อพัฒนาบทบาทของนิสิตต่อการรับผิดชอบต่อสังคมโดยเฉพาะชุมชนชนบทที่ห่างไกล และโดยพื้นฐานของการเป็นสถาบันการศึกษาของท้องถิ่น ทำให้กลุ่มผู้ก่อตั้งและผู้สานต่อเจตนารมณ์ในยุคต่อมาได้ให้ความสำคัญกับแนวคิดในระยะเริ่มแรก และใช้เป็นแนวทางในการพัฒนากิจกรรรมมาจนถึงทุกวันนี้
ในสหรัฐอเมริกา งานอาสาพัฒนาในระดับมหาวิทยาลัย มักจะจัดทำโดยกลุ่มที่รวมตัวกันภายใต้ แฟรตเทอร์นิตี(fraternity ) และ ซอรอริตี(sorority) โดยแฟรตเทอร์นิตีที่รู้จักกันดีในด้านอาสาพัฒนานี้คือ อัลฟา ฟี โอเมก้า (ΑΦΩ)(Alpha Phi Omega)
ประวัติอาสาพัฒนาในประเทศไทย
ในประเทศไทยไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัดว่า กิจกรรมค่ายอาสาสมัครเริ่มขึ้นเมื่อใด แต่ปรากฏหลักฐานว่าองค์การและสมาคมทางศาสนาคริสต์ ได้เคยจัดตั้งค่ายอาสาสมัครมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่น สมาคม Y.M.C.A. และสำนักคริสเตียนกลาง กรุงเทพฯ เป็นต้น ซึ่งสมาคมเหล่านี้ไม่แพร่หลาย เพราะส่วนใหญ่ทำอยู่เฉพาะคริสตศาสนิกชนเท่านั้น การเริ่มงานค่ายอาสาที่แท้จริงในประเทศไทย เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2500 หลังจากที่ นายทวี วงศ์รัตน์ ผู้แทนยุวพุทธิกสมาคม กลับจากการเข้าร่วมค่ายฝึกผู้นำค่ายอาสาสมัครสำหรับเอเชียใต้ ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการจัดและดำเนินการตั้งค่ายฝึกผู้นำค่ายอาสาสมัครนานาชาติแห่งอินเดีย (Indian Organization Committee for International Voluntary Work Group) ด้วยความร่วมมือของคณะกรรมการจัดและดำเนินการประสานงานค่ายอาสาสมัครนานาชาติแห่งยูเนสโก ค่ายอาสาสมัครที่แท้จริงครั้งแรก จัดตั้งในนามของยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยที่วัดหัวสวน จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นค่ายฝึกผู้นำซึ่งมีชาวค่ายที่เป็นผู้แทนยุวพุทธิกสมาคม จำนวน 29 คน มีจุดมุ่งหมายที่จะฝึกให้ผู้แทนเหล่านี้มีความรู้และประสบการณ์ทางด้านค่ายอาสาสมัคร เพื่อจะได้ดำเนินกิจกรรมในด้านนี้ต่อไป ซึ่งนับว่าเป็นการเริ่มงานค่ายอาสาสมัครอย่างแท้จริง หลังจากนั้นยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ก็ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมค่ายฝึกผู้นำของเอเชียใต้ ครั้งที่ 3 ในปี พ.ศ. 2501 ณ ประเทศอินเดีย และดำเนินการตั้งค่ายอาสาสมัครร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และยุวพุทธิกสมาคมในจังหวัดต่างๆ ซึ่งแต่ละค่ายได้รับผลสำเร็จพอสมควร และต่อมากิจกรรมค่ายอาสาสมัครในประเทศไทยได้แพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวางมากขึ้นเป็นลำดับ (สำเนาว์ ขจรศิลป์)
ในปี พ.ศ. 2502 ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ได้จัดตั้งค่ายอาสาสมัครครั้งใหญ่โดยร่วมมือกับนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 5 ค่าย คือ ที่อำเภอแกลง จังหวัดระยอง อำเภอเขื่อนแก้วจังหวัดอุบลราชธานี บ้านดอนบม จังหวัดขอนแก่น วัดดอนทอง จังหวัดฉะเชิงเทรา และที่จังหวัดสุรินทร์ การจัดตั้งค่ายอาสาสมัครครั้งนี้ ทางยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ได้เชิญเลขาธิการคณะกรรมการประสานงานค่ายอาสาสมัครนานาชาติแห่ง UNESCO คือ Mr.Hans Peter Muler มาเป็นที่ปรึกษาด้วย เนื่องจากการจัดตั้งค่ายอาสาสมัครครั้งนี้ ได้ผลดีเพียงบางค่าย ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้ผลสมบูรณ์ตามวัตถุประสงค์ ทางยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย จึงได้งดจัดตั้งค่ายอาสาสมัคร จนถึงปี พ.ศ. 2505 จึงได้รื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยขอความร่วมมือจากนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ซึ่งเคยจัดทำกิจกรรมค่ายอาสาสมัครได้ผลดีมาแล้ว ได้จัดตั้งค่ายอาสาสมัครขึ้น 2 ค่าย ที่ตำบลปากห้วย และตำบลบ้านทองหลวง จังหวัดพิษณุโลก ทั้ง 2 ค่ายได้รับผลสำเร็จเป็นอย่างดี ชาวค่ายซึ่งเป็นผู้แทนจากยุวพุทธิกสมาคมจังหวัดต่างๆ ได้นำความรู้ที่ได้รับจากการเข้าค่ายอาสาสมัครในครั้งนี้ ไปดำเนินการจัดตั้งค่ายในจังหวัดที่ตนอาศัยอยู่ เท่าที่ทราบขณะนั้น คือ จังหวัดนครปฐม จังหวัดพัทลุง และจังหวัดอุบลราชธานี ชาวค่ายส่วนใหญ่เป็นนักเรียน และสมาชิกยุวพุทธิกสมาคมในจังหวัดนั้นๆ แต่ละค่ายได้รับผลสำเร็จพอสมควร และในระหว่างปิดภาคการศึกษา ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2506 ยุวพุทธิกสมาคมในจังหวัดต่างๆ ก็ได้จัดตั้งค่ายอาสาสมัครขึ้นอีก เช่น ที่จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น นับได้ว่ากิจกรรมค่ายอาสาสมัครได้แพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวางมากขึ้นเป็นลำดับ (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา, 2550)
นอกเหนือไปจากการดำเนินงานของยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยแล้ว ยังมี สมาคมและหน่วยงานอื่นๆ ที่ได้ดำเนินกิจกรรมค่ายอาสาสมัครเป็นครั้งคราว เช่น กรรมการสหายอเมริกัน (American Friends Service Committee) สมาคม Y.M.C.A. เป็นต้น ซึ่งส่วนมากจัดเป็นระบบค่ายอาสาสมัครเพื่อการสัมมนา และค่ายอาสาสมัครเยาวชน ซึ่งมีจุดมุ่งหมายด้านนันทนาการ เป็นต้น (สำเนาว์ ขจรศิลป์,2541)
สถาบันการศึกษาไทย กับค่ายอาสาพัฒนา
เริ่มต้นด้วยนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่เรียกตนเองว่า “กลุ่มนิสิตนักศึกษา 5 มหาวิทยาลัย” เป็นกลุ่มอิสระ ไม่สังกัดสมาคมใด ได้ปรึกษาหารือกันว่าระหว่างปิดภาคเรียนฤดูร้อน น่าจะได้ทำกิจกรรมอะไรอย่างหนึ่ง ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและสังคม จึงคิดจัดตั้งค่ายอาสาสมัครเพื่อการสัมมนาขึ้น ที่จังหวัดสระบุรี ในปี พ.ศ. 2501 ต่อมาก็ได้มีการจัดให้มีค่ายสัมมนาเช่นนี้อีก แต่ขยายจำนวนชาวค่ายมากขึ้น และมีการออกไปศึกษาข้อเท็จจริง และร่วมมือในการทำงานด้านการพัฒนาท้องถิ่นในภาคต่างๆ ของประเทศไทย 5 ภาค ๆ ละ 10 คน ประกอบด้วยนิสิตนักศึกษาจาก 5 มหาวิทยาลัย ๆ ละ 2 คน ใช้เวลาอยู่ในชนบท 9 วัน แล้วจึงกลับมาสัมมนาร่วมกันที่จังหวัดสระบุรี การจัดตั้งค่ายอาสาสมัคร และการสัมมนาในครั้งนั้นเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และได้ผลสมความมุ่งหมาย ในปี พ.ศ. 2503 และ พ.ศ. 2504 กลุ่มนิสิตนักศึกษา 5 มหาวิทยาลัย ได้จัดตั้งค่ายอาสาสมัครเพื่อการสัมมนาขึ้นอีก แต่ใน 2 ครั้งนี้ มิได้จัดให้มีการทำงานเพื่อพัฒนาท้องถิ่นแบบ Work Camp ทั่วไป หากแต่เน้นหนักเฉพาะด้านสัมมนาเท่านั้น ในปี พ.ศ. 2505 จึงได้เริ่มจัดแบบค่ายอาสาสมัคร (Voluntary Work Camp) อย่างแท้จริง โดยเลือกอำเภอพล จังหวัดขอนแก่น เป็นที่ตั้งค่าย โครงงานที่ทำคือ สร้างสนามเด็กเล่น เกลี่ยดิน ปรับผิวจราจรถนนสาธารณะ ขุดลอกสระน้ำ สร้างถนนหน้าโรงเรียนพลประชานุกูล และช่วยราษฎรมุงหลังคาโรงเรียนประชาบาล ชาวค่ายอาสาสมัครทำงานทั้งภาคเช้าและภาคบ่าย เป็นเวลาทั้งสิ้น 10 วัน จากนั้นจึงมาประชุมสัมมนาภายหลังปิดค่ายแล้ว 5 วัน ที่โรงเรียนการช่างสตรีประจำจังหวัดขอนแก่น งานดำเนินไปโดยเรียบร้อยได้ผลเป็นที่พอใจยิ่ง
สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่มีความสนใจในกิจกรรมค่ายอาสาสมัครนี้มาก โดยในปี พ.ศ. 2502 นายวิจิตร ศรีสอ้าน ได้รับเลือกเป็นนายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เสนอกรรมการสโมสรนิสิต ขอจัดตั้งค่ายฝึกผู้นำขึ้นโดยคัดเลือกนิสิตอาสาสมัครจากคณะต่างๆ คณะละ 7 คน รวม 49 คน และคณะกรรมการสโมสรนิสิต ได้อนุมัติให้ดำเนินโครงการ ซึ่งเป็นการจัดตั้งค่ายอาสาสมัครครั้งแรก เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม – 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2502 ได้ไปออกค่ายที่บ้านนาเหล่าบก ตำบลหนองยาว อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ในช่วงปิดภาคต้นปีการศึกษา โดยใช้งบประมาณสนับสนุนจากมูลนิธิเอเชีย และเงินซึ่งเก็บจากสมาชิดค่ายฯ คนละ 50 บาท อีก 49 คน ลักษณะของค่ายเป็นค่ายฝึกผู้นำ โดยให้สมาชิกเรียนรู้วิธีการจัดและวิธีดำเนินงานค่ายอาสาสมัคร โดยมีโครงงานพัฒนาหมู่บ้านเป็นแกน คือ การตัดถนนเชื่อมหมู่บ้านและโครงงานด้านการเกษตร โดยการแนะนำและสาธิตการทำไร่สัปปะรด ในการออกค่ายครั้งนั้น มุ่งเน้นประโยชน์ที่จะได้รับ 2 ประการด้วยกัน คือ
ประการแรก ประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับสมชิกค่ายอาสาสมัคร เนื่องจากเป็นค่ายฝึกผู้นำ เป็นการพัฒนาตนเองในด้านการเป็นผู้นำ การจัดการ การดำเนินงานค่ายอาสาสมัคร ศึกษาสภาพชีวิตในชนบท นำวิชาความรู้ที่ศึกษาไปปฏิบัติจริงในท้องที่ชนบท และฝึกการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
ประการที่สอง ประโยชน์เกิดขึ้นกับชุมชนที่ไปออกค่ายอาสาสมัคร โดยอาศัยความร่วมมือของประชาชนในท้องถิ่นมาร่วมโครงงาน เกิดการรวมกลุ่มกันทำงานเพื่อประโยชน์ต่อชุมชน สร้างทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับการรวมกลุ่มขึ้น เพื่อช่วยทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อท้องถิ่น มิใช่รอความหวังให้ผู้อื่นมาช่วยได้รับความรู้ทางด้านวิชาการ วิชาชีพจากการทำงานร่วมกับนิสิตนักศึกษา อันเกิดประโยชน์ต่อการดำรงชีพของชาวชนบทในพื้นที่นั้นๆ
จากผลสำเร็จอย่างงดงามสมความมุ่งหมายของโครงการดังกล่าว จึงทำให้กิจกรรมค่ายอาสาสมัครเป็นที่แพร่หลาย และได้รับความสนใจในหมู่นิสิตนักศึกษามากยิ่งขึ้น ในปี พ.ศ. 2503 จึงได้จัดตั้งค่ายอาสาสมัคร (Voluntary Work Camp) ขึ้นอีก 2 ค่าย ที่บ้านน้ำเมา อำเภอสีคิ้ว และบ้านหนองคู อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ในระหว่างปิดภาคการศึกษา พ.ศ. 2506 ก็ได้จัดตั้งอีก 1 ค่าย ที่ตำบลบ้านแดงน้อย อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
ในปี พ.ศ. 2519 การจัดกิจกรรมของนักศึกษาภายนอกมหาวิทยาลัยได้ระงับลงชั่วคราวตามคำสั่งหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ที่ 42/2519 ลงวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2519 จนกระทั่งต่อมาได้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2521 อนุมัติให้นักศึกษาของมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ดำเนินกิจกรรมนอกสถานศึกษาได้ โดยร่วมโครงการกับส่วนราชการ ทั้งนี้โดยมีทบวงมหาวิทยัลย (ปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา) เป็นผู้ประสานงานอย่างใกล้ชิด ซึ่งทบวงมหาวิทยาลัยได้ติดต่อกับส่วนราชการต่างๆ ทั้งหน่วยงานทหารและพลเรือน เพื่อจัดโครงการอาสาพัฒนาชนบทกับนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยและสถาบันต่างๆ ตามความเหมาะสม มีทังรูปของโครงการที่นิสิตนักศึกษาริเริ่มเอง และโครงการของทางราชการที่นิสิตนักศึกษาอาสาร่วมด้วย ในดำเนินการใน้ปีแรกนี้ รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณจำนวน 1 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการอาสาพัฒนาชนบทของนิสิตนักศึกษาตามความจำเป็น และความเหมาะสมของโครงการ ในครั้งนั้นปรากฏได้มีหน่วยงานตอบรับมาเพียงหน่วยงานเดียวคือ กรป.กลาง โดยหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ (นพค.) ในพื้นที่ 27 จังหวัด จากผลการปฏิบัติงานดังกล่าวข้างต้นนี้ ได้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าได้บรรลุสำเร็จตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายเป็นอย่างดี
จากความสำเร็จดังกล่าวข้างต้น ดั้งแต่ปีงบประมาณ 2522-2540 รัฐบาลได้เห็นความสำคัญของการดำเนินการโครงการส่งเสริมกิจกรรมในด้านต่างๆ ของนิสิตนักศึกษา โดยเฉพาอย่างยิ่งด้านพัฒนาชนบท จึงได้จัดสรรงบประมาณจำนวนปีละประมาณ 20-25 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2542 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้เพิ่มขึ้นเป็น 28.8 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2543 เป็นต้นมารัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณเพิ่มขึ้นเป็นปีละประมาณ 35-40 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี การดำเนินการกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาในสถาบันอุดมศึกษา ได้แพร่หลายมากขึ้น โดยการสนับสนุนของส่วนราชการ และหน่วยงานเอกชน เช่น ธนาคารออมสิน สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล บริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น