ป่าไม้มีประโยชน์นานัปการ ทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ อาทิ เพิ่มความชุ่มชื้นของบรรยากาศ ดูดซับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นสาเหตุของโลกร้อน เนื้อไม้นำมาสร้างบ้านเรือน พืชหลายชนิดสามารถนำมาใช้เป็นสมุนไพร เป็นต้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระราชดำริเพื่อการอนุรักษ์ป่าไม้จำนวนมาก โดยที่ชุมชนใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างชาญฉลาด แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องรู้จักอนุรักษ์ และบริหารจัดการอย่างเหมาะสม เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน
ป่าโคกป่าช้าบ้านยางคำ ตั้งอยู่ที่ บ้านยางคำ หมู่ที่ ๑๔ ตำบลยางคำ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น มีสภาพเป็นป่าเต็งรัง ติดกับภูกระแตซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติน้ำพอง มีเนื้อที่ประมาณ ๑๗๔ ไร่ ซึ่งชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบป่าได้ใช้เป็นแหล่งอาหาร สมุนไพร ไม้ใช้สอย ไม้ฟืน และพื้นที่เลี้ยงสัตว์
แต่จากการบุกรุกทำลายโดยชาวบ้านที่มีพื้นที่ทำกินรอบป่า เพื่อจับจองเป็นที่ดินทำกินส่วนตัวทำให้พื้นที่ป่าไม้มีขนาดลดลง รวมทั้งการเข้ามาใช้ประโยชน์จากป่าโดยไม่มีการอนุรักษ์และดูแลรักษาที่เหมาะสมทำให้ป่าไม้มีสภาพเสื่อมโทรมลงไป
ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ สำนักงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้ประชุมชนร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลยางคำ ผู้นำชุมชน ชาวบ้าน และหน่วยงานในท้องถิ่น เพื่อวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นกับป่าโคกป่าช้า
จึงมีแนวคิดร่วมกันที่จะอนุรักษ์ป่าโคกป่าช้าให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ โดยสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนและสร้างความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนให้มีความสามารถในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและการบริหารจัดการป่าชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ
เริ่มจากการจัดตั้งคณะกรรมการ โดยคัดเลือกจาก ผู้นำชุมชน ชาวบ้าน และหน่วยงานในท้องถิ่น เพื่อเข้ามาเป็นแนวร่วมในการอนุรักษ์ป่าไม้
จากนั้นจึงจัดกระบวนการเรียนรู้ทั้งการอบรมและศึกษาดูงาน เพื่อให้คณะกรรมการและชาวบ้าน มีความรู้และความเข้าใจแนวคิดเรื่องการจัดการป่าชุมชน
เพื่อให้ชุมชนได้มีส่วนร่วม จึงจัดเวทีประชาพิจารณ์ เพื่อให้คณะกรรมการและชาวบ้าน ได้ร่วมตัดสินใจ และระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าโคกป่าช้า
คณะกรรมการได้ร่างระเบียบข้อบังคับการอนุรักษ์ป่าโคกตลดาใหญ่ และจัดเวทีให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมแก้ไขร่างระเบียบข้อบังคับดังกล่าวก่อนนำไปใช้
ร่วมกันสำรวจแนวเขตป่าและการจัดทำแผนที่ป่าที่มีความถูกต้อง โดยศึกษาและจัดทำแผนที่ป่าไม้ที่ลงพิกัดของต้นไม้ เส้นทางเดิน แนวป่า ระยะทาง และจัดทำเป็นโปรแกรมภูมิศาสตร์สารสนเทศ (GIS)
นอกจากนี้ยังได้สำรวจพรรณไม้ และความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อเป็นฐานข้อมูลของทรัพยากรพันธุ์พืชในป่าโคกป่าช้า เผยแพร่แก่ชาวบ้านและผู้สนใจทั่วไป
ในการฟื้นฟูสภาพป่า ได้ร่วมกับชุมชน ปลูกต้นไม้และสมุนไพรทดแทน เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับป่า พร้อมกับให้ความรู้เรื่องการใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพรอีกด้วย
มีการสร้างฝายชะลอน้ำจำนวน 10 จุด เพื่อเก็บกักความชุ่มชื้นให้กับผืนป่า เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้โดยเฉพาะไม้ขนาดเล็ก
การประยุกต์ใช้ประเพณีผูกเสี่ยวในการอนุรักษ์ป่าชุมชน โดยใช้แนวคิดที่ว่า “ผูกเสี่ยวกับต้นไม้” เพื่อจะได้รู้สึกรักและหวงแหนป่าไม้เสมือนเพื่อนคนหนึ่ง
ผลที่เกิดจากการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าของตำบลยางคำ จากการดำเนินงานอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าโคกป่าช้าของบ้านยางคำ ๔ หมู่บ้าน ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นต้นมา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ทั้งต่อชุมชน ต่อเศรษฐกิจ และต่อป่าไม้เอง ไม่ว่าจะเป็น
กลไกขับเคลื่อนในรูปแบบของคณะกรรมการ ซึ่งจะเป็นแกนหลักในการทำงานและประสานงานร่วมกับหน่วยงานภาคีต่างๆ ทั้งภายในชุมชนและภายนอกชุมชน
การประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องของผู้นำชุมชน ทำให้ชาวบ้านมีความรู้ความเข้าใจและมีจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ป่ามากขึ้น
กลุ่มเยาวชนเข้ามีส่วนร่วมและเป็นกำลังสำคัญ ในการสำรวจป่าไม้ทุกวันอาทิตย์ ลาดตระเวนเพื่อป้องกันการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า สำรวจและซ่อมแซมฝายชะลอน้ำ และยังเป็นอาสาสมัครช่วยเก็บขยะ ทั้งในป่าและภายในชุนชน
มีระเบียบข้อบังคับของการอนุรักษ์ป่าโคกป่าช้าที่ชุมชนมีส่วนร่วมในการปรับปรุงแก้ไข ทำให้ได้รับการยอมรับจากชุมชน มีสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน และช่วยให้ชุมชนรู้สึกเป็นเจ้าของป่าร่วมกัน
มีแนวเขตป่าที่ชัดเจนก็ช่วยให้คณะกรรมการป่าชุมชนและชาวบ้านรู้ขอบเขตป่าที่จะดำเนินการอนุรักษ์ฟื้นฟูมีความชัดเจนยิ่งขึ้น
มีฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพป่าโคกป่าช้าบ้านยางคำ ซึ่งจะได้มีการนำไปจัดทำเป็นโปสเตอร์สำหรับเผยแพร่ความรู้ภายในป่าและจัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติต่อไป
จากการที่ชาวบ้านหยุดบุกรุกและทำลายป่า ทำให้ป่าที่เคยเสื่อมโทรมเริ่มกลับมาฟื้นตัวโดยแทบไม่ต้องปลูกทดแทนตามพระราชดำริในเรื่องการปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก ต้นไม้ส่วนใหญ่เจริญเติบโตได้ดี ป่ามีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มีเห็ดจำนวนมากบริเวณใกล้ๆ ร่องน้ำจุดที่มีการทำฝาย มีชาวบ้านเข้ามาเก็บเห็ดได้เพิ่มมากขึ้น เริ่มสังเกตเห็นว่ามีสัตว์ป่าเข้ามาอยู่อาศัย เช่น ไก่ป่า สุนัขจิ้งจอก เป็นต้น
จากการที่ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์จากป่าไม้ภายใต้ข้อบังคับที่ตกลงร่วมกัน ทำให้มีรายได้ เพิ่มขึ้นในขณะที่รายจ่ายของครัวเรือนลดลง เพราะฟืน สมุนไพร ผักพื้นบ้าน และเห็ดที่เคยต้องซื้อ ก็ไม่ต้องซื้อ โดยเฉพาะเห็ดมีปริมาณเพิ่มขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งช่วยให้ชุมชนสามารถเก็บไปบริโภคในครัวเรือน เหลือจากการบริโภคสามารถนำไปจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ ลดปัญหาความยากจนของชุมชน และช่วยให้ชาวบ้านสามารถพึ่งตนเองมากขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถพึ่งพาซึ่งกันและกันในรูปแบบของคณะกรรมการป่าชุมชนที่ให้ทุกภาคส่วนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วยกัน สามารถเติบโตเป็นชุมชนต้นแบบในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น