กล่าวนำ
เนิ่นนานมาแล้วแนวทางการพัฒนาของภาครัฐ ที่ยึดติดกับมายาคติว่า ภาคอีสานแห้งแล้ง ชาวอีสานยากจน สูตรสำเร็จอย่างหนึ่งในการแก้ไขปัญหาความยากจนจึงมุ่งเน้นไปสู่การแก้ไขปัญหาความแห้งแล้งผ่านการจัดการน้ำ ด้วยการมีระบบชลประทานเพื่อสนับสนุนการทำเกษตรตามพื้นที่ต่างๆ ในภาคอีสาน ซึ่งมีพื้นที่ในการทำการเกษตรมากกว่า 57.7 ล้านไร่ เพราะหากว่าสามารถแก้ไขปัญหาความแห้งแล้งให้กับชาวอีสาน ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมจะทำให้ชาวอีสานมีรายได้เพิ่มขึ้น ระบบเศรษฐกิจเติบโตขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตาม อันจะนำไปสู่การหลุดพ้นจากภาวะความยากจน
เมื่อหน่วยงานภาครัฐยึดติดกับความคิดที่จะใช้โครงการด้านการจัดการน้ำแก้ไขปัญหาความแห้งแล้ง และความยากจน ตลอดจนส่งเสริมเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของชาวอีสานให้ดีขึ้นนั้น อภิมหาโครงการโขงชีมูลจึงได้ผุดขึ้นมา ด้วยระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ระยะในช่วงปี พ.ศ. 2535 – 2576 รวม 42 ปี ใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 228,000 ล้านบาท ภายใต้โครงการจะมีการสร้าง เขื่อน ฝาย สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า คลองผันน้ำและคลองส่งน้ำ มุ่งเน้นพื้นที่ชลประทานลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำโขง โดยมีพื้นที่ชลประทานที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์ประมาณ 4.98 ล้านไร่
แต่เมื่อดำเนินโครงการไปได้แล้วในระยะแรกซึ่งใช้งบประมาณไปแล้ว 10,346 ล้านบาท กลับต้องหยุดชะลอการดำเนินโครงการ เนื่องจากการสร้างเขื่อนภายใต้โครงการทำให้เกิดน้ำท่วม ระบบนิเวศถูกทำลาย และที่สำคัญภูมิประเทศภาคอีสานที่ใต้ดินมีโดมเกลือขนาดใหญ่ทำให้การดำเนินโครงการเกิดผลกระทบที่ตามมา คือ การแพร่กระจายของดินเค็มในหลายพื้นที่ของการดำเนินโครงการ ส่งผลให้สิ่งปลูกสร้างที่ใช้ในระบบชลประทานของโครงการโขงชีมูล ได้ถูกทิ้งร้างไว้เป็นอนุสรณ์สอนใจให้นักวางแผนการพัฒนาทั่วพื้นที่ทำการเกษตรในภาคอีสาน
จวบจนวันนี้ที่ โครงการโขงชีมูล ได้สร้างบาดแผลความเดือดร้อนให้กับชาวอีสานไว้อย่างบาดลึกจนยากที่จะเยียวยารักษา แต่ทว่าหน่วยงานภาครัฐกลับไม่ได้เรียนรู้บทเรียนในอดีตที่ผ่านมา ในทางตรงกันข้าม ยังมีความพยามที่จะผลิตซ้ำความคิดความเชื่อที่จะจัดการน้ำด้วยโครงการขนาดใหญ่ เพื่อแก้ไขปัญหาความแห้งแล้งและความยากจนในภาคอีสาน ด้วยรูปแบบ/เทคนิคของโครงการในลักษณะเดิม เพียงแต่ต่อเติมให้ภาพของการจัดการน้ำในภาคอีสานให้ดูเป็นระบบมากขึ้น
ภาพรวมสถานการณ์การจัดการน้ำภาคอีสานในปัจจุบัน
รอยแผลในอดีตของโครงการโขงชีมูล นอกจากหน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง คือ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะไม่ใส่ใจในการเยียวยาแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบแล้วนั้น แต่กำลังจะตอกย้ำให้สาธารณะชนให้ได้เห็นว่า แนวทางการจัดการน้ำในภาคอีสานที่ผ่านมานั้น ได้ทำอย่างถูกต้องและเหมาะสมแล้ว ไม่สนใจเสียงท้วงติง หรือคำวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ จึงได้ผุดแนวคิดผลักดัน โครงการบริหารจัดการน้ำโขงเลยชีมูลโดยแรงโน้มถ่วง ภาคตะวันนออกเฉียงเหนือ มีหน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับผิดชอบดำเนินการ ทำการศึกษาความเหมาะสม(Feasibility:FS) และผลกระทบสิ่งแวดล้อม(Environmental Impact Assessment:EIA) และการประเมินสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์(Strategic Environmental Assessment:SEA ในช่วงระหว่างเดือนกันยายน 2552 – เดือนกันยายน 2554 ใช้งบประมาณ รวมทั้งสิ้น 190,000,000 บาท และอีกหนึ่งโครงการ คือ โครงการระบบเครือข่ายน้ำในพื้นที่วิกฤตน้ำ 19 พื้นที่ รับผิดชอบโดย กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ(Feasibility:FS) ศึกษาการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(Environmental Impact Assessment:EIA) และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์(Strategic Environmental Assessment:SEA) ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2554 – เดือนกันยายน 2555 ใช้งบประมาณ รวมทั้งสิ้น 865,541,400 บาท โดยโครงการทั้งสองได้ว่าจ้าง ให้บริษัทเอกชนที่มีความชำนาญดำเนินการศึกษา
เมื่อทำการพิจารณาถึงรายละเอียดของรายงานการศึกษาของทั้ง 2 โครงการดังกล่าวข้างต้น ทำให้เห็นว่า เป้าหมายของโครงการ คือ แนวทางการจัดการน้ำ โดยนำน้ำเข้ามาเติมให้กับภาคอีสาน เพื่อขยายเขตพื้นที่ชลประทานในพื้นที่ทำการเกษตรน้ำฝน เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานจากเดิม 5.93 ล้านไร่ ให้เป็น 33 ล้านไร่ ภายใต้แนวความคิดการจัดการหาน้ำต้นทุนเดิมมาเติมให้กับน้ำในพื้นที่ชลประทานในลุ่มน้ำโขงอีสาน ลุ่มน้ำมูล และลุ่มน้ำยังชี ซึ่งยังเป็นมิติของการมองไปในทิศทางที่ว่า ภาคอีสานยังคงมีความต้องการปริมาณน้ำเพื่อการเกษตร เพิ่มขึ้นอีก จึงมีความจำเป็นที่จะต้องนำน้ำมาเติม เมื่อน้ำเพิ่มก็จะสามารถพัฒนาด้านการเกษตรเพิ่มขึ้นอีก ส่งผลต่อการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นตามไปด้วย โดยสามารถมองถึงความเชื่อมโยงของทั้ง 2 โครงการด้านการจัดการน้ำที่จะเกิดขึ้นในภาคอีสาน ได้ดังนี้
ภายใต้โครงการระบบเครือข่ายน้ำในพื้นที่วิกฤต 19 พื้นที่ มีรายละเอียดของการดำเนินโครงการ ที่สำคัญอันได้แก่
1.เครือข่ายน้ำในพื้นที่เป็นการพัฒนาโครงการแหล่งน้ำขนาดเล็กที่กระจายไปทั่วพื้นที่ภาคอีสาน เช่น อ่างเก็บน้ำต่างๆ ที่ดำเนินการก่อสร้างโดยกรมชลประทาน
2.เครือข่ายน้ำพรมแดน เป็นการผันน้ำจากแม่น้ำโขง มาเติมในพื้นที่เพาะปลูกใกล้เคียง เช่น
-เครือข่ายน้ำห้วยหลวง-ลำปาว-ชี ซึ่งเป็นโครงการเก่าตั้งแต่โครงการโขงชีมูล ตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 แต่มีบทเรียนในอดีตที่การสูบน้ำด้วยไฟฟ้าต้องแบกรับต้นทุนค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น ทำให้เกิดความไม่คุ้มค่า จึงได้มีการศึกษาพัฒนาไปสู่แนวทางการผันน้ำด้วยแรงโน้มถ่วง
-เครือข่ายน้ำปากชม-ลำพะเนียง-ชี เป็นโครงการที่อาศัยการยกระดับน้ำโขงที่สูงขึ้นในระดับความสูงที่ 200 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง(ม.รทก.) จากโครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำปากชม ต.หาดคัมภีร์ อ.ปากชม จ.เลย เพื่อที่จะผันน้ำไปยังหนองหานกุมภวาปี และอ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ รับผิดชอบศึกษา โดยกรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) กระทรวงพลังงาน
-เครือข่ายน้ำโขง-เลย-ชี-มูล เป็นโครงการผันน้ำบริเวณปากแม่น้ำเลยภายใต้ โครงการบริหารจัดการน้ำโขงเลยชีมูลโดยแรงโน้มถ่วง ภาคตะวันนออกเฉียงเหนือ โดยระบุไว้ว่าภาคอีสานจะมีน้ำเพื่อการเกษตรใช้ได้ตลอดทั้งปี อีกทั้งยังสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูลได้อีกด้วย
3.เครือข่ายน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน โดย ใช้รูปแบบการผันน้ำมาจากแหล่งน้ำของประเทศเพื่อนบ้าน คือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีดังนี้ คือ
-เครือข่ายน้ำเซบังไฟ-สกลนคร โดยผันน้ำจากประเทศลาวเข้ามายังพื้นที่ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม แล้วส่งน้ำมายังพื้นที่ จ.นครพนม และจ.สกลนคร ขณะนี้กรมทรัพยากรน้ำกำลังศึกษาในขั้นตอน desk study
-เครือข่ายน้ำเซบังเหียง-อำนาจเจริญ เป็นการผันน้ำจากประเทศลาวเข้ามายังพื้นที่ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี แล้วสามารถส่งน้ำไปยังพื้นที่ จ.ยโสธร จ.อำนาจเจริญ และจ.อุบลราชธานี ขณะนี้กรมทรัพยากรน้ำกำลังศึกษาในขั้นตอน desk study
-เครือข่ายน้ำงึม-ห้วยหลวง ดำเนินการศึกษาโดยกรมทรัพยากรน้ำ เพื่อที่จะศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการผันน้ำจากเขื่อนน้ำงึม ประเทศลาว เข้ามายังห้วยหลวง แล้วสามารถทำการส่งน้ำไปยังหนองหานกุมภวาปี และอ่างเก็บน้ำลำปาว
รายละเอียดของแนวทางการจัดการน้ำในภาคอีสานข้างต้น ทำให้เห็นภาพเชื่อมโยงที่ว่าในขณะนี้ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง คือ กรมชลประทาน และกรมทรัพยากรน้ำ กำลังจะริเริ่มผลักดันอภิมหาโครงการด้านการจัดการน้ำในภาคอีสานผ่าน โครงการระบบเครือข่ายน้ำในพื้นที่วิกฤตน้ำ 19 พื้นที่ โดยมี โครงการบริหารจัดการน้ำโขงเลยชีมูลโดยแรงโน้มถ่วง ภาคตะวันนออกเฉียงเหนือ เป็นเสมือน ใจกลางหลักของโครงการจัดการน้ำในภาคอีสานทั้งระบบ ซึ่งในขณะนี้ ทั้ง 2 โครงการ กำลังอยู่ในช่วงระยะของการก่อร่างสร้างรูปของโครงการจากแนวความคิดของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ไปสู่แนวทางการปฏิบัติให้เป็นจริงขึ้นมา โดยได้เริ่มดำเนินการในส่วนของขั้นตอนในการศึกษาดังที่กล่าวแล้วข้างต้น ซึ่งมีระยะเวลาเริ่มดำเนินการศึกษา และแล้วเสร็จในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกัน
ข้อควรคิดเพื่อพิจารณาต่อสถานการณ์การจัดการน้ำในภาคอีสาน
หากทำการพิจารณาถึงรายละเอียด และการดำเนินการภายใต้กระบวนการศึกษา ของทั้ง 2 โครงการ จะเห็นได้ว่าเป็นการระบุไว้ว่าหาทางเลือกที่เหมาะสม และเกิดประโยชน์สูงสุด โดยเสนอทางเลือกให้กับประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้พิจารณาเพียงแค่ ขนาดของโครงการว่าต้องการโครงการขนาดไหน แต่กลับไม่มีประเด็นคำถามเบื้องต้นที่สำคัญว่า อภิมหาโครงการทั้ง 2 โครงการ มีความจำเป็นมากน้อยเพียงใดต่อชาวอีสาน อันนำไปสู่ประเด็นคำถามต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ และภาคประชาสังคมที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ;ว่าในท้ายที่สุดแล้วภาคประชาชนแทบจะไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมในการพัฒนาที่ส่งผลต่อสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองเลย
บทเรียนแห่งความล้มเหลวซ้ำซากในด้านการจัดการน้ำในภาคอีสานที่ผ่านมานั้น หน่วยงานภาครัฐไม่เคยเรียนรู้ถึงความผิดพลาดของตนเองว่า แนวคิดในการแก้ไขปัญหาด้านน้ำในภาคอีสานด้วยโครงการขนาดใหญ่ อย่างเช่น โครงการโขงชีมูล ไม่สามารถเป็นทางออกของเกษตรกรภาคอีสาน ด้วยเพราะสภาพภูมิประเทศ ระบบนิเวศวัฒนธรรมของอีส่านที่มีความหลากหลายซับซ้อน อีกทั้งทางเลือกในรูปแบบการจัดการระบบชลประทานขนาดเล็กและภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการจัดการน้ำกลับถูกละเลยมองข้ามคุณค่าความสำคัญ ทำให้ที่ผ่านมาชาวอีสานจึงมีบาดแผลจากผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ ที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน เช่น กรณีเขื่อนหัวนา และราศีไศลที่ ปัญหาผลกระทบทางด้านระบบนิเวศ ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และผลกระทบทางสังคม เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายจนไม่สามารถเยียวยาแก้ไขได้ อีกทั้งคุณค่าอันดีงานของชุมชนท้องถิ่นอีสานก็ได้สูญสลายไปด้วย
ในกรณีการผันน้ำมาจากประเทศลาวนั้น ความเป็นไปได้ในการทำข้อตกลงกับประเทศลาวมีความชัดเจนมากน้อยแค่ไหน และถ้าหากว่าในอนาคตอันใกล้นั้น ประเทศลาวมีการขยายพื้นทีเพาะปลูกทางการเกษตร ประเทศลาวก็มีความจำเป็นใช้น้ำภายในประเทศของตนเองเช่นกัน ถ้าหากมีการลงทุนไปแล้วเป็นจำนวนเงินทุนมหาศาล แล้วมาประสบกับปัญหาด้านแหล่งน้ำจากต่างประเทศ เพื่อมาเติมให้กับแหล่งน้ำภายในประเทศ จะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ากับความเสี่ยงนี้หรือไม่ ฉะนั้น การที่หน่วยงานภาครัฐตั้งงบประมาณในการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการด้วยจำนวนเงินมหาศาล โดยที่ไม่มองที่ข้อเท็จจริงในความเป็นไปได้ที่จะดำเนินโครงการจึงไม่ต่างไปจากนำงบประมาณของประเทศไปใช้โดยไม่เกิดประโยชน์
ถึงแม้ว่าอภิมหาโครงการจัดการน้ำทั้ง 2 โครงการ จะอยู่ในขั้นตอนของกระบวนการศึกษาของโครงการในมิติต่างๆ นั้น แต่นัยที่แท้จริงของบทสรุปสุดท้ายของการศึกษาในมิติต่างๆ นั้น เสมือนได้ถูกเขียนคำตอบสำเร็จรูปไว้แล้วว่า อภิมหาโครงการการจัดการน้ำทั้ง 2 โครงการ เป็นสิ่งที่ประชาชนชาวอีสานต้องการ สามารถแก้ไขปัญหาความแห้งแล้ง น้ำท่วม และสามารถขยายพื้นที่ชลประทานทางการเกษตรได้เพิ่มมากขึ้น สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวอีสาน ระบบเศรษฐกิจจะเติบโตขึ้น และที่สำคัญคุณภาพชีวิตชาวอีสานก็จะดีขึ้นตามด้วย สถานการณ์การจัดการน้ำในภาคอีสานในขณะนี้ จึงเปรียบดั่งภาวะคุกคามและโจทย์ที่ท้าทายภาคประชาชนอีสานอยู่ไม่น้อย
/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-
นายสมพงศ์ อาษากิจ ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(ศสธ.)
ตู้ ปณ.14 อ.เมือง จ.อุดรธานี 41000
โทร.086 – 2317637 อีเมล์ : ton_mekong@hotmail.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น