15 ชาวบ้าน-นักศึกษา ค้านก่อสร้างโครงข่ายไฟฟ้าแรงสูง น้ำพอง 2 - อุดรธานี 3 ได้รับการประกันตัวแล้ว ส่วนในพื้นที่ กฟผ.ยังเดินหน้าโครงการต่อ ด้านกลุ่ม นศ.ร่อน "แถลงการณ์จากคุก" ร้องดำเนินการทางกฎหมายกับเจ้าหน้าที่ กฟผ.-ตร.
ภาพ: เหตุการณ์การประจัญหน้าระหว่างกลุ่มนักศึกษาและชาวบ้าน กับเจ้าหน้าที่ กฟผ.และตำรวจ เมื่อวันที่ 27 พ.ค.54
วันนี้ (29 พ.ค.54) กรณีกลุ่มนักศึกษาและชาวบ้าน 15 คน ถูกจับกุมในข้อหาขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ โดยอ้าง พ.ร.บ.กำกับกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่กลุ่มนักศึกษาได้ร่วมกับชาวบ้านขัดขวางไม่ให้เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เข้าดำเนินการปรับพื้นที่เพื่อตั้งเสาไฟฟ้าแรงสูงตามโครงการก่อสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าแรงสูงขนาด 500 กิโลโวลต์ (KV) น้ำพอง 2 - อุดรธานี 3 ในพื้นที่ของชาวบ้าน ที่บ้านเหล่ากล้วย ต.เสอเพลอ อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี จนเป็นเหตุให้ถูกนำตัวไปฝากขังที่ สภ.อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี
นายณัฐวุฒิ พรมภักดี เจ้าหน้าที่ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพอีสาน ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มนักศึกษาและชาวบ้าน 15 คนที่ถูกจับกุม ให้ข้อมูลว่าขณะนี้ทั้งหมดถูกปล่อยตัวชั่วคราวแล้วตั้งแต่เมื่อเวลาประมาณ 01.00 น.วันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ อบต.ในพื้นที่ใช้ตำแหน่งในการประกันตัว และมีเงื่อนไขห้ามยุ่งเกี่ยว หรือกระทำการใดๆ ในลักษณะที่ขัดขวางการดำเนินการของเจ้าหน้าที่อีก ทั้งนี้ ในวันที่ 20 มิ.ย.54 ผู้ถูกจับกุมทั้ง 15 คนจะต้องไปรายงานตัวที่ สภ.อ.กุมภวาปีอีกครั้งหนึ่ง ส่วนจะส่งฟ้องต่อศาลหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของพนักงานสอบสวน ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการรวบรวมหลักฐานข้อมูล
นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีความพยายามโจมตีกลุ่มนักศึกษาที่มาร่วมคัดค้านโครงการดังกล่าวว่าเป็นคนนอกพื้นที่ แต่ส่วนตัวเชื่อว่ากลุ่มนักศึกษาและนักกิจกรรมปฏิบัติตามสิทธิที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญในการปกป้องพื้นที่และเฝ้าระวังการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งชัดเจนว่าเป็นการทำในสิ่งที่ถูกต้อง นอกจากนั้นที่ผ่านมากลุ่มนักศึกษาลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลและติดตามสถานการณ์มาโดยตลอด ตั้งแต่ก่อนหน้าที่ความขัดแย้งของกลุ่มชาวบ้านและ กฟผ.จะลุกลามถึงตอนนี้
นายณัฐวุฒิ กล่าวด้วยว่า เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ได้ทำให้ชาวบ้านหวาดกลัวต่ออำนาจของรัฐ แต่กลับเป็นแรงผลักดันให้ชาวบ้านอยากลุกขึ้นมาต่อสู้ปกป้องพื้นแผ่นดินของพวกเขามากยิ่งขึ้น โดยขณะนี้ชาวบ้านได้มีการปรึกษาหารือเพื่อจะหาทางออกร่วมกันต่อไป และกำลังอยู่ระหว่างส่งเรื่องไปยังสภาทนายความเพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือ
เจ้าหน้าที่โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อมที่เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านในคดีทางปกครอง กล่าวให้ข้อมูลว่า เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาชาวบ้านได้ทำหนังสือส่งไปยังสภาทนายความเพื่อขอความช่วยเหลือในเรื่องคดี ซึ่งในวันนี้ (29 พ.ค.54) ในพื้นที่มีการรวบข้อมูลและสอบเหตุการณ์กับผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ถูกจับกุมทั้ง 15 คน ซึ่งแนวทางขณะนี้อาจมีการฟ้องกลับเจ้าหน้าที่รัฐได้ในเรื่องบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ ทั้งที่นาที่ได้ไถเตรียมแล้วเพื่อการเพาะปลูก และต้นกล้า รวมทั้งทรัพย์สินอย่างโทรศัพท์มือถือและสร้อยคอที่เสียหายระหว่างเกิดเหตุการณ์ชุลมุน
อย่างไรก็ตาม ในแง่กฎหมายเจ้าหน้าที่ กฟผ.สามารถเข้าไปดำเนินโครงการก่อสร้างฯ ในพื้นที่ได้ แม้ว่าชาวบ้านจะไม่ยินยอมและทำการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองไปตั้งแต่เมื่อปี 2551 เนื่องจากคดีดังกล่าวศาลยังไม่มีคำสั่งคุมครองชั่วคราวพื้นที่ อีกทั้งที่ผ่านมาแม้ว่าชาวบ้านจะได้ทำการยื่นหนังสืออุทธรณ์เรื่องพื้นที่ตั้งเสาไฟฟ้าแรงสูงไปยังคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งก็มีการส่งคนมาดูพื้นที่ แต่การลงพื้นที่ดังกล่าวเป็นไปเพื่อการเจรจาเรื่องค่าเสียหายโดยยังยืนยันให้ดำเนินการในพื้นที่เดิม
เจ้าหน้าที่โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวต่อมาว่า ที่ผ่านมาทาง กฟผ.ได้นำเงินทดแทนในกรณีที่เจ้าของที่ไม่ยอมรับหรือไม่สามารถหาเจ้าของเจอได้ ไปฝากกับธนาคารเพื่อไว้ให้ไปเบิกถอนแล้ว ซึ่งเมื่อครบระยะที่กำหนดไว้หากไม่มีการเบิกถอนเงินนั้นก็จะถูกยึดคืนไปเป็นของรัฐ โดยในกรณีดังกล่าวส่วนตัวเห็นว่าเป็นการมัดมือชกชาวบ้านที่ถูกประกาศโครงการของรัฐทับที่ดินทำกิน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ภายหลังจากเหตุการณ์การจับกุมชาวบ้านและนักศึกษา ในวันที่ 27 พ.ค.จนถึงวันนี้ (29 พ.ค.54) พนักงานของ กฟผ.ได้นำรถแบคโฮ และคนงานลงปรับพื้นที่นาของชาวบ้านต่อไป โดยยังมีกำลังของเจ้าหน้าที่ และผู้ช่วยเจ้าพนักงาน เข้ามาคอยดูแลความปลอดภัย
นศ.ร่อน แถลงการณ์จากคุก ร้องดำเนินการ กฟผ.-ตร.
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มนักศึกษาที่ถูกคุมขังอยู่ที่ สภ.อ.กุมภวาปี ได้เขียนแถลงการณ์จากคุก ประณามพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ กฟผ.และเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยระบุว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการปล้นทรัพยากรของชุมชนท้องถิ่นอย่างไร้ยางอาย พร้อมเรียกร้องเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านเข้ามาดำเนินการทางด้านกฎหมายต่อการกระทำของเจ้าหน้าที่ กฟผ.และเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกทั้งเชิญชวนและเรียกร้องให้คนรุ่นใหม่ คนหนุ่มสาว และบุคคลสาธารณะทุกกลุ่มองค์กรร่วมกันดำเนินการเพื่อการปกป้องสิทธิชุมชนท้องถิ่น
“พวกเราขอประกาศก้อง กังวาน ต่อความอยุติธรรม ที่หน่วยงานภาครัฐและกลุ่มทุน กระทำต่อชุมชนและสังคม ว่าพวกเราจะขอยืนหยัดต่อสู้เพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรมและให้เกิดความเท่าเทียม ณ บัดนี้ และตลอดไป” แถลงการณ์ระบุ
แถลงการณ์จากคุก
ณ สถานกักขังเสรีภาพและความถูกต้อง สถานีตำรวจภูธรอำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรอุดรธานี
พวกเราจะขอยืนหยัดต่อสู้เพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรม และให้เกิดความเท่าเทียม
จากกรณีปัญหาการละเมิดสิทธิชุมชนที่การไฟฟ้าฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ดำเนินการสร้างโครงข่ายระบบไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ น้ำพอง2-อุดรธานี3 พาดผ่านที่พื้นที่ทำกินของชาวบ้านในจังหวัดอุดรธานี จึงนำมาซึ่งการรวมกลุ่มกันของชาวบ้านในนาม คณะกรรมการชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง (คชส.) เพื่อคัดค้านการดำเนินโครงการดังกล่าวของ กฟผ. ด้วยเพราะหวั่นเกรงต่อผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และเสียสิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ดิน อีกทั้ง กลุ่มชาวบ้านได้เล็งเห็นว่าการดำเนินการของ กฟผ. ไม่ชอบธรรม และมีพฤติกรรมการละเมิดสิทธิชาวบ้าน เสมอมา
ดังปรากฏมาแล้ว เช่น กรณีการบังคับขู่เข็ญเพื่อเข้ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และตัดโค่นต้นไม้ของนางจันทร์เพ็ญ ที่จ.ร้อยเอ็ด เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งยังส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเธอและครอบครัวมาตราบจนทุกวันนี้ และเหตุการณ์ล่าสุด ก็คือ การเข้าไปเหยียบย่ำ และทำลายแปลงนาของชาวบ้านที่อ.ภาชี จ.อยุธยา อย่างไม่มีความละอายต่อบาป และไม่สำนึกถึงบุญคุณของข้าวที่ได้หล่อเลี้ยงพวกเขาให้ได้เติบใหญ่มา ถึงแม้ชาวบ้านจะวิงวอน ร้องขอแล้ว
อย่างไรก็ดี เสียงท้วงติงจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสาธารณชน ว่าจะเกิดปัญหาการละเมิดสิทธิ์ หากว่า กฟผ.จะดื้อดึงลงไปดำเนินการในวันที่ 27 พ.ค.นี้ และขอให้ชะลอการดำเนินการเพื่อรอผลคำตัดสินของศาลปกครองเสียก่อน แต่ก็ไม่เป็นผล จึงนำมาซึ่งเหตุการณ์อัปยศในครานี้
ที่บ้านเหล่ากล้วย หมู่ 3 ต.เสอเพลอ อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี เจ้าหน้าที่ กฟผ.และเจ้าหน้าที่ตำรวจ กว่า 200 นาย ได้ร่วมกันละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ด้วยการใช้กำลังข่มขู่ บังคับ และทำร้ายร่างกายก่อนเข้าจับกุมชาวบ้านและนักศึกษาที่มีจำนวนไม่ถึง 20 คน พร้อมยึดกล้องบันทึกภาพและลบภาพถ่ายทั้งหมดทิ้ง เพื่อทำลายหลักฐานอันเป็นพฤติกรรมป่าเถื่อนของพวกเขา ก่อนนำมาฝากขัง และยัดเยียด ข้อกล่าวหาว่าเป็นผู้ขัดขวางการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ กฟผ.ในการสำรวจและวางรากฐานเสาไฟฟ้า ทั้งที่ในความจริงกลุ่มชาวบ้านและนักศึกษาได้ร่วมกันปกป้องสิทธิชุมชนท้องถิ่น ตามรัฐธรรมนูญโดยการร่วมกันชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ
พวกเราในนามเครือข่ายนักศึกษาคนรุ่นใหม่และประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาและประชาชนที่ได้ร่วมกันทำกิจกรรม และปฏิบัติการร่วมกับกลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการโครงการของรัฐและนายทุนตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา
จากข้อเท็จจริงที่พวกเราได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์ และถูกเจ้าหน้าที่ กฟผ.ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกระทำ เฉกเช่นเดรัจฉาน จึงมีข้อเรียกร้องและมีข้อเสนอต่อสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นดังต่อไปนี้
ประการแรก พวกเราขอประณามพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ กฟผ. และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ร่วมกันปล้นทรัพยากรของชุมชนท้องถิ่น อย่างไร้ยางอายต่อกลุ่มเด็ก เยาวชน และคนแก่เฒ่า ที่ร่วมกันออกมาปกป้องสิทธิชุมชนท้องถิ่น
ประการที่สอง พวกเราขอเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน มาดำเนินการทางด้านกฎหมายต่อการกระทำของเจ้าหน้าที่ กฟผ. และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กระทำการต่อกลุ่มชาวบ้านและกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ถูกกระทำในครั้งนี้
ประการที่สาม พวกเราขอเชิญชวนและเรียกร้อง ให้คนรุ่นใหม่ คนหนุ่มสาว และบุคคลสาธารณะทุกกลุ่มองค์กร มาร่วมกันในภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์ของกลุ่มชาวบ้าน เพื่อการปกป้องสิทธิชุมชนท้องถิ่น
ประการสุดท้าย พวกเราขอประกาศก้อง กังวาน ต่อความอยุติธรรม ที่หน่วยงานภาครัฐและกลุ่มทุน กระทำต่อชุมชนและสังคม ว่าพวกเราจะขอยืนหยัดต่อสู้เพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรมและให้เกิดความเท่าเทียม ณ บัดนี้ และตลอดไป
ด้วยจิตคารวะ
27 พฤษภาคม 2554
เครือข่ายนักศึกษาคนรุ่นใหม่และประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม
กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน)
กลุ่มอาศรมบ่มเพาะแนวความคิดและจิตวิญญาณ
ชมรมนักศึกษาเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น
กลุ่มนกกระจอก
กลุ่ม FriendFor Activity (FAN)
กลุ่มไทยอิปูตาเย
กลุ่มคนรุ่นใหม่ภาคอีสาน
กลุ่มสื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม อุดรธานี
กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น