ขอเชิญทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเราในการสร้า้งสังคมแห่งการเรียนรู้...

หากต้องการลงบทความ/งานเขียนของท่าน สามารถแจ้งความประสงค์ได้ทางเว็บบอร์ด หรือทางอีเมล์แอดเดรส; po_kenchin@hotmail.com
หรือจะสมัครสมาชิกอย่างเดียวก็ได้นะครับ

07 กันยายน 2554

ประชาชนอีสานเตรียมดันโมเดลการจัดการน้ำ ‘รัฐบาลปูแดง’


คนลุ่มน้ำอีสานร่วมกับนักพัฒนาเอกชนและนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำ เปิดเวทีวิพากษ์โมเดลจัดการน้ำขนาดใหญ่ของรัฐบาล คิดแบบแยกส่วนซอยย่อยละเลยความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนของมนุษย์กับภมินิเวศ ลั่นพร้อมดันโมเดลจัดการน้ำทางเลือกที่เน้นความสัมพันธ์ของคน ภูมินิเวศอีสานและภูมิปัญญาท้องถิ่นเสนอรัฐบาลในเร็ววัน

เมื่อวันที่ กันยายน 2554 เวลา 13.00 ณ.ห้องประชุมคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้า จังหวัดอุดรธานี ร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน นักวิชาการในแวดวงสถาบันอุดมศึกษาท้องถิ่น จัดเวทีวิชาการวิพากษ์นโยบายการจัดการน้ำและบทเรียนจากประสบการณ์ชุมชนอีสาน โดยเชิญชาวบ้านจาก ลุ่มน้ำโขงอีสาน ชี ห้วยหลวง หนองหาน ลำพะเนียงและแก่งละว้า จำนวนกว่า 300 คน ร่วมถอดบทเรียนและเสนอโมเดลการจัดการน้ำทางเลือกเสนอรัฐบาลใหม่
ทั้งนี้  ช่วงแรกบนเวทีวิทยากรได้ผลัดเปลี่ยนกันอภิปรายเกี่ยวกับสถานการณ์นโยบายของการจัดการลุ่มน้ำของรัฐบาล เพื่อให้ผู้เข้าร่วมเวทีได้เข้าใจภาพรวมของนโยบาย แผนและโครงการการจัดการน้ำในอีสาน อาทิ การผันน้ำข้ามประเทศ น้ำงึม-ห้วยหลวง-ลำปาว การผันน้ำข้ามลุ่มน้ำในภูมิภาค โครงการระบบเครือข่ายน้ำพื้นที่วิกฤต 19 พื้นที่ และนิเวศอีสานกับการจัดการน้ำ พอเข้าสู่ช่วงที่สองได้มีการแลกเปลี่ยนกันระหว่างวิทยากรกับชาวบ้านจากพื้นที่ลุ่มน้ำต่างๆเกี่ยวกับประสบการณ์และปัญหาของแต่ละพื้นที่อย่างกว้างขวาง พร้อมกันนั้นก็ได้มีการระดมความคิดเสนอแนวทางการจัดการน้ำทางเลือกร่วมกันเพื่อผลักดันโมเดลการจัดการน้ำเสนอรัฐบาลต่อไป

ด้านนายสันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ได้แลกเปลี่ยนในเวทีว่า
 การจัดการน้ำขนาดใหญ่ของรัฐนั้นได้สะท้อนให้เห็นว่าเป็นการพัฒนาที่เกินความจำเป็น คนชนบทอีสานไม่ได้ต้องการน้ำปริมาณมากๆอย่างที่รัฐคิด น้ำที่มีอยู่มันก็เพียงพออยู่แล้ว ขณะเดียวกันกระบวนการจัดการน้ำของรัฐดังกล่าวยังมีลักษณะรวมศูนย์อำนาจ ขาดการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในพื้นที่ ที่สำคัญคือการละเลยการมองในมิติความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้าน ภูมิปัญญา และภูมินิเวศเฉพาะของแต่ละพื้นที่ ฉะนั้นทางออกของการจัดการน้ำที่จะสามารถสร้างความสมดุลระหว่างคนกับธรรมชาติอย่างยั่งยืนได้นั้น จึงต้องเปิดพื้นที่ให้กับการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในท้องถิ่น คืนอำนาจการตัดสินในการจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้กับชาวบ้าน เพื่อให้มีการจัดการน้ำในระดับย่อย กระจายตัวให้เหมาะสมสอดคล้องกับภูมินิเวศ และวิถีชีวิตของชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ นายสันติภาพกล่าว

ด้านนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารการจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) กล่าวว่า  
ในภาคอีสาน ลักษณะของการเกษตร จะต่างกับการเกษตรในภาคกลางโดยสิ้นเชิง ถ้าไปทำนาในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม เช่น ในหนองบึง ที่อยู่ในอีสาน เราพัฒนาได้เพียงบางที่ เพราะบางที่เราสูบน้ำในช่วงหน้าแล้ง เกลือก็ตามมา ผลกระทบก็คือว่า น้ำที่เข้าไปอยู่ในแปลงเกษตรจะทำให้ข้าวตาย อันนี้พิสูจน์ได้จากโครงการสูบน้ำด้วยพลังงานไฟฟ้า ที่ดำเนินการโดยกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ที่เคยทำมาแล้ว หรือพอเป็นโครงการโขงชีมูลที่มีการสร้างเขื่อน เช่น เขื่อนราษีไศล และเขื่อนอื่นๆ จะมีเพียงบางเขื่อนเท่านั้นที่สามารถสูบน้ำได้จากน้ำมูล น้ำชี มาใช้ได้  พฤติกรรมของการเกษตรในภาคอีสานเกือบจะทั้งหมด ต้องทำนาโดยการใช้น้ำจากธรรมชาติ ไม่ใช่น้ำในระบบชลประทาน นายหาญณรงค์กล่าว

ด้านนายวิเชียร ศรีจันนนท์ แกนนำกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำลำพะเนียง กล่าวว่า
อยากให้รัฐบาลยกเลิก หยุด ชะลอโครงการที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนทั้งหมด เพราะที่ผ่านมาการจัดการน้ำตามแนวทางของรัฐบาลได้สร้างผลกระทบทางลบมากกว่าประโยชน์ที่รัฐได้บอกกับชาวบ้านเอาไว้ ตัวอย่างที่ลำพะเนียงชัดเจนมาก ระบบนิเวศในลำพะเนียงเสื่อมโทรม ทรัพยากรที่มันเคยมีอยู่หลากหลาย ชาวบ้านสามารถไปเอามาเป็นอาหารเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เอาไปขายตลาดก็ทำไม่ได้แล้วเดี๋ยวนี้ ธรรมชาติมันเปลี่ยนแปลงไปหมด แล้วใครจะเข้ามารับผิดชอบให้ชาวบ้าน ถ้าไม่ใช่พวกเรารับผิดชอบตัวเราเอง  นายวิเชียรกล่าว

ด้านนายคงเดช เข็มนาค กรรมการกลุ่มชาวบ้านอนุรักษ์และฟื้นฟูแก่งละว้า กล่าวในทำนองเดียวกันว่า 
โครงการจัดการน้ำของรัฐที่ผ่านมา ได้สร้างปัญหาให้กับชาวบ้าน มีการสร้างคันดินล้อมรอบแก่งเพื่อกักเก็บน้ำ ทำให้น้ำไม่สามารถไหลลงแก่งละว้าได้ น้ำเอ่อล้นท่วมที่ดินทำกินของชาวบ้าน ดังนั้นรัฐจะต้องแก้ไขปัญหาด้วยการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูและเยียวยาจากนโยบายการจัดการน้ำของภาครัฐที่ล้มเหลว นายคงเดชกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนเวทีจะยุติลงทางวิทยากร และชาวบ้านจากพื้นที่ลุ่มน้ำต่างๆได้มีความเห็นร่วมกันว่า แต่ละพื้นที่ต้องกลับไปประมวลสถานการณ์และถอดบทเรียนของพื้นที่ตนเอง เพื่อจัดทำข้อมูลระดับพื้นที่ที่ถูกต้อง ชัดเจน แล้วนำเสนอเป็นทางเลือกในการจัดการน้ำให้กับรัฐบาลต่อไป  

/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/

นายฐากูร  สรวงศ์สิริ   ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ศสธ.)
ตู้ปณ. 14 อ.เมือง จ.อุดรธานี  41000
โทร. 087-0276344 อีเมล์ Dhonburi@hotmail.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น