อุดรธานี : วันนี้ (7 ก.ย.) เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพภาคอีสาน และศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมืองสถาบันพระปกเกล้า จ.อุดรธานี ร่วมกับองค์กรเครือข่าย ได้แก่ Mekong School Alummi เครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศแม่น้ำโขง(Mee Net) , เครือข่ายพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต , เครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และเครือข่ายทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อมอีสาน จัดเวทีเสวนา “สถานการณ์ปัญหาพลังงานนิวเคลียร์และทางออกสู่การพัฒนาพลังงานทางเลือกในสังคมไทย” โดยได้รับความสนใจจากนักศึกษา กลุ่มชาวบ้าน และผู้สนใจทั่วไป จำนวนกว่า100 คน ร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนข้อมูล
โดยนายสันติ โชคชัยชำนาญกิจ กลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต ได้อภิปรายให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันสังคมไทยมีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นในแผนพัฒนาด้านพลังงาน (PDP) มีโครงสร้างที่ขัดแย้งกันเองอยู่ ด้านหนึ่งเกิดแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการใช้ไฟฟ้าในประเทศ แต่อีกด้านหนึ่งภาครัฐโดยเฉพาะ กฟผ. ยังแสดงท่าทีในการเป็นผู้ค้าไฟฟ้าขาย เช่น แผนในการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน สร้างภาระในการแบกรับต้นทุนที่ไม่จำเป็นของประชาชน
“พลังงานไฟฟ้าที่ใช้กัน ไม่ได้ตกอยู่ที่ประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่กลับอยู่ที่ ภาคอุตสาหกรรม ถึงร้อยละ 47.33 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือ ภาคธุรกิจ ร้อยละ25.69 เปอร์เซ็นต์ ส่วนภาคที่อยู่อาศัยครัวเรือน ใช้ไฟทั้งประเทศเพียงร้อยละ 21.17 เปอร์เซ็นต์” นายสันติกล่าว
นายสันติ ยังกล่าวอีกว่า จากข้อเท็จจริงไฟฟ้าที่ซื้อเข้ามารองรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในประเทศทั้งสิ้น จึงเกิดคำถามสำคัญขึ้นว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่กำลังที่จะเกิดขึ้นในประเทศ ผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ หรือเพื่อรองรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าในการผลิตค่อนข้างสูง
“โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหมืองแร่โปแตสที่กำลังจะเกิดขึ้น ในพื้นที่ จ.อุดรธานีเอง และมีแนวโน้มว่าเหมืองแร่โปแตสที่จะเกิดขึ้นแห่งนี้ จะเป็นแหล่งกักเก็บกากนิวเคลียร์ที่จะเกิดขึ้นจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ด้วยเช่นกัน” นายสันติกล่าว
นายสันติ ยังได้นำเสนอผลกระทบจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ว่า การรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี ของโรงไฟฟ้าฟุคุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น และการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีจากกากนิวเคลียร์ที่เก็บไว้ ใต้เหมืองแร่โปแตสอัซเซ ประเทศเยอรมันนี ซึ่งทั้งสองกรณีส่งผลกระทบต่อ สิ่งแวดล้อมและชุมชน ที่อยู่โดยรอบรัศมีแพร่กระจายอย่างกว้างขวาง
“ปัญหาจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นกับทั้งสองประเทศ ซึ่งถือว่าประเทศที่เจริญแล้ว มีมาตรการเตรียมรับมือกับปัญหาอย่างเป็นระบบ ผู้คนมีระเบียบวินัย และกฎหมายที่มีธรรมาภิบาล แต่ก็พบว่าไม่สามารถจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ และยังมีการปกปิดข้อมูล ข่าวสาร แล้วถ้าประเทศไทยจะเป็นอย่างไร” นายสันติกล่าว
ด้านนายบุญเลี้ยง โยทะกา ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงน้ำพอง2-อุดรธานี3 ได้เข้าร่วมเวทีในวันนี้ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า โดยแท้จริงแล้วชาวบ้านเองไม่ได้ต้องการโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ไม่ว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เขื่อน เหมืองแร่ หรือแม้แต่แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งทั้งหมดต่างเอื้อประโยชน์ให้กับภาคอุตสาหกรรม แต่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม
“รัฐควรส่งเสริมพลังงานทางเลือก เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล ที่มีความยั่งยืน สะอาดปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ซึ่งปัจจุบันในหลายประเทศก็มีการสนับสนุนอย่างจริงจัง และเห็นผลแล้ว” นายบุญเลี้ยงกล่าว
/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/
นายณัฐวุฒิ กรมภักดี ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ศสธ.)
ตู้ปณ.14 อ.เมือง จ.อุดรธานี 41000
เบอร์โทรศัพท์ 081-0472466 E-mail : boy_alone17@hotmail.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น