ขอเชิญทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเราในการสร้า้งสังคมแห่งการเรียนรู้...

หากต้องการลงบทความ/งานเขียนของท่าน สามารถแจ้งความประสงค์ได้ทางเว็บบอร์ด หรือทางอีเมล์แอดเดรส; po_kenchin@hotmail.com
หรือจะสมัครสมาชิกอย่างเดียวก็ได้นะครับ

26 กันยายน 2554

ความยากจน

                ตลอดช่วงระยะเวลากว่า 50 ปี ที่ผ่านมา แนวคิดหลักอย่างหนึ่งที่สำคัญซึ่งเป็นตัวชี้นำการพัฒนามาตลอดคือการมองว่า ภารกิจหลักของการพัฒนาคือการมุ่งที่จะขจัด “ความยากจน” นั่นเอง ปัญหาความยากจนเป็นประเด็นหลักที่รัฐบาลทุกรัฐบาลที่ผ่านมาได้หยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นหลักแลบรรจุไว้ในนโยบาย สำหรับในระดับนานาชาติ การประชุมระดับสุดยอดทางด้านการพัฒนาก็ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาความยากจนของประชากรโลก นโยบายขององค์กรระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลกที่ในอดีตไม่ได้ให้ความสำคัญต่อปัญหาความยากจน เนื่องจากมองว่า เมื่อภาพรวมเศรษฐกิจดี ก็จะขจัดความยากจนไปโดยอัตโนมัติเอง ในปัจจุบันนี้ได้หันมาให้ความสนใจในเรื่องความยากจนโดยตรงเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลและองค์กรระหว่างประเทศจะหันมาให้ความสำคัญและทุ่มเทความพยายามอย่างมากในการแก้ปัญหาความยากจน แต่ความก้าวหน้าในเรื่องนี้ก็ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ
                ในความเข้าใจแบบสามัญ เมื่อกล่าวถึงความยากจน เรามักนึกถึงสภาพของคนที่อดอยาก ไม่มีจะกิน สภาวะเช่นนี้อาจแสดงออกในทางการสื่อสาร โดยภาพเด็กที่มีร่างกายผอมโซ หรือภาพของความแห้งแล้ง และถึงแม้ว่า คำว่าความยากจนมีรูปธรรมที่เห็นชัด ทำให้เราสามารถสัมผัสหรือมองเห็นได้ แต่ในทางวิชาการความยากจนมีความสลับซับซ้อนมากว่าที่เราเห็นมาก
                การมองปัญหา “รายได้ต่ำ” เป็นศูนย์กลางของความยากจนเป็นมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งหมายถึงระดับรายได้ที่ต่ำกว่าเส้นของความยากจน (poverty line) สำหรับประเทศไทยเส้นความยากจนโดยเฉลี่ยคือ ระดับรายได้เดือนละ 911 บาท ใครมีรายได้ต่ำกว่านี้ถือว่ายากจน ใครมีรายได้สูงกว่านี้ถือว่าไม่จน เมื่อทางการพูดว่าประเทศไทยมีคนจน 10 ล้านคน ความหมายก็คือ ประเทศไทยมีคนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน 10 ล้านคนนั่นเอง ซึ่งในมุมมองของรัฐยังถือว่าเป็นมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ ปัญหาเชิงแนวคิดก็คือ ถ้าคิดว่าความยากจนมีความหมายดังกล่าวข้างต้น การทำให้ประชากรเหล่านั้นมีรายได้มากกว่าเส้นความยากจนก็หมายความว่า ปัญหาความยากจนก็จะหมดสิ้นไป แต่ในโลกของความเป็นจริง มิติแห่งความจนมีหลากหลายมิติ แต่ละมิติก็ก่อให้เกิดปัญหาที่แตกต่างกันออกไป
ในการประชุมของสหประชาชาติว่าด้วยนโยบายเศรษฐกิจและการแก้ปัญหาความยากจนในเดือนมิถุนายน 2543 ที่ประชุมเห็นร่วมกันว่า ความยากจนมิได้มีเพียงมิติด้านการเงินหรือวัตถุเท่านั้น แต่มันมีมิติของความซับซ้อนหลายๆ ด้าน และมีเหตุปัจจัยของความยากจนหลายสาเหตุ ดังนั้นนโยบายและมาตรการแก้ไขจึงต้องมีหลายมาตรการ มิใช่เฉพาะมาตรการทางด้านรายได้เท่านั้น
ในงานวิจัยเรื่อง การพัฒนาระบบสวัสดิการสำหรับคนจนและคนด้อยโอกาสในสังคมไทยของ ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ และคณะ ก็มองความยากจนข้ามพ้นเส้นความยากจนเช่นกัน ซึ่งในงานวิจัยนี้มองว่า ควรจะมองความยากจนในสี่มิติ คือ จนทรัพย์สิน จนโอกาส จนอำนาจ และจนศักดิ์ศรี
กรอบความคิดเรื่อง “ความจน” และ “คนจน” แนวนี้สอดคล้องกับข้อคิดเห็นของที่ประชุมองค์การสหประชาชาติว่าด้วย “นโยบายเศรษฐกิจและการลดความยากจน” ในปี 2543 ดังที่ได้กล่าวไว้แล้ว ซึ่งต้องคำนึงว่า “คนจน” นั้นมองสภาพตนเองอย่างไร และต้องการอะไร
กรอบแนวคิดของธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank) ในเรื่องของคนจนและความยากจนก็เปลี่ยนไปเช่นกัน ดังนั้น ธนาคารแห่งเอเชียจึงมิได้พิจารณาผู้ที่มีปัญหาความยากจน เฉพาะกลุ่มจนเงินเท่านั้น แต่ยังได้พิจารณาไปถึงผู้ด้อยโอกาส ด้อยอำนาจ และด้อยศักดิ์ศรีด้วย คนกลุ่มนี้รวมๆ กันเรียกว่า กลุ่มที่มีความเสี่ยง ความไม่แน่นอนในชีวิต เช่น เด็ก คนชรา หญิงหม้าย โสเภณี คนพิการ ชนกลุ่มน้อย แรงงานอพยพ เป็นต้น
ในทางวิชาการ การวัดความยากจนส่วนใหญ่แบบกว้างๆ ก็ยังมองถึงเรื่องของ “ความขาดแคลน” ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมีการแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มแรกมองหรือนิยามความขาดแคลนในแง่ของระดับหรือความสามารถที่จะมีชีวิตอยู่รอดได้ หรือเรียกว่า ความยากจนสมบูรณ์ อีกกลุ่มหนึ่งนิยามความขาดแคลนในเชิงเปรียบเทียบ หรือที่เรียกว่า ความยากจนสัมพัทธ์
ความยากจนสมบูรณ์ มองว่ามนุษย์จำเป็นจะต้องมีบางอย่างเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ และที่จำเป็นเบื้องต้นคืออาหาร ดังนั้นความยากจนสมบูรณ์จึงมากจากการคำนวณว่า มนุษย์มีความต้องการอาหารมากน้อยเพียงใด เพื่อที่จะให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ปริมาณอาหารที่ต้องการได้ถูกนำมาคำนวณเป็นตัวเงิน กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความยากจนสมบูรณ์ในที่นี้ก็คือระดับรายได้ที่เพียงพอที่จะซื้ออาหารและสิ่งจำเป็นสำหรับการยังชีพพื้นฐาน เรียกว่า เส้นความยากจน ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่านี้ถือว่าตกอยู่ในสภาวะของความยากจนนั่นเอง แนวคิดนี้เป็นที่ยอมรับตลอดศตวรรษที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลตะวันตกได้ใช้เป็นกรอบในการกำหนดนโยบายการจัดสวัสดิการสังคม เช่น ในอังกฤษปี ค.ศ. 1989 คำนวณว่าชายหนึ่งคนมีภรรยา 1 คน และลูกอีก 2 คน จำเป็นต้องได้รับสวัสดิการจากรัฐสัปดาห์ละ 61.93 ปอนด์
ความยากจนสัมพัทธ์ เริ่มแรกได้มีการนำเสนอโดยนักสังคมวิทยาชาวอังกฤษคือ ปีเตอร์ ทาวเซ่น ชี้ให้เห็นว่าแนวคิดเรื่องความจำเป็นนี้ไม่อาจจะกำหนดหรือนิยามโดยเงื่อนไขทางร่างกายเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่กำหนดโดยทางสังคม เช่น เมื่อสามีภรรยามีลูกเขาก็ต้องมีรายจ่ายในการเลี้ยงดูลูกเพิ่มขึ้น อาทิ ที่นอนสำหรับทารก ซึ่งการกำหนดความจำเป็นจะต้องเปรียบเทียบความจำเป็นในสภาพสังคมนั้นๆ
การวัดความยากจน มีความจำเป็นในการชี้วัดอย่างน้อยสามประการคือ ประการแรก สามารถทำให้เราแยกแยะได้ว่า ใครจน ซึ่งมีประโยชน์ในแง่ของนโยบาย ประการที่สองคือ ทำให้ทราบว่าใครคือผู้มีสิทธิ์ที่จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ และประการสุดท้าย เพื่อวัดสถานการณ์ของความยากจน วิธีการวัดความยากจนที่ใช้กันอยู่แพร่หลายในปัจจุบันคือการใช้เส้นของความยากจน (poverty line) ซึ่งสามารถแยกได้ 2 แบบคือ 1) เส้นความยากจนเปรียบเทียบ/สัมพัทธ์ มีความผันแปรตามแต่ละบริบทพื้นที่ และ 2) เส้นความยากจนสมบูรณ์ซึ่งจะเป็นเส้นที่แน่นอนแบ่งเป็นสองแบบคือ เส้นความยากจนด้านอาหาร และเส้นความยากจนที่ไม่ใช่อาหาร
สำหรับการวัดความยากจนที่ไม่ใช่เรื่องของอาหารได้สะท้อนให้เห็นถึงการประยุกต์ใช้แนวคิดความจำเป็นพื้นฐาน โดยแนวคิดดังกล่าวนี้มองว่า ความยากจนที่มองเรื่องของการบริโภคเป็นหลักอาจจะไม่ครอบคลุมด้านอื่นๆ ซึ่งส่งผลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างสำคัญ เช่น การมีเสรีภาพ มีศักดิ์ ได้รับการยกย่องนับถือ สำหรับในประเทศไทยมีการสำรวจองค์ประกอบของความจำเป็นพื้นฐาน 8 ด้าน ได้แก่ 1) สุขภาพ 2) ที่อยู่อาศัย 3) การศึกษา 4) ชีวิตการแต่งงาน 5) รายได้ 6) การมีส่วนร่วมในการพัฒนา 7) คุณธรรม 8) สิ่งแวดล้อม มาตั้งแต่ราวปี 2530 จะเห็นได้ว่ารายได้เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งในแปดด้านของความจำเป็นพื้นฐาน และตัวชี้วัดเรื่องความจำเป็นพื้นฐานที่มีน้ำหนักมากที่สุด (มีตัวชี้วัดย่อยมากที่สุด) คือ เรื่องสุขภาพ
ความยากจนมิได้มีสาเหตุมาจากมิติของการขาดรายได้เพียงอย่างเดียว หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การมีรายได้ต่ำ ไม่เพียงพอที่จะซื้ออาหารเป็นเพียงมิติหนึ่งของความยากจนเท่านั้น ซึ่งอาจเกิดจากมิติของการเข้าถึงทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม เช่น ที่ดิน ป่าไม้ นอกจากนี้ในทัศนะของ Robert Chambers ยังมองว่า ทั้งสภาวะไร้อำนาจ และความเปราะบางของชีวิตล้วนแต่เป็นมิติอีกอย่างหนึ่งที่รวมอยู่ในความยากจนด้วย สิ่งเหล่านี้อาจเป็นทั้งสาเหตุและผลซึ่งกันและกัน
ประเด็นเรื่องสาเหตุของความยากจนที่เป็นที่ถกเถียงกันคือ นิยามของความยากจนที่ใช้เป็นกรอบนิยามในการศึกษาที่ใช้กันอย่างกว้างขวางนั้น ค่อนข้างที่จะให้ความสำคัญกับคุณสมบัติหรือพฤติกรรมปัจเจกและครัวเรือน เช่น คนจนเป็นผู้ที่ไม่มีทักษะ ขาดการศึกษา ขาดแรงจูงใจและไม่กล้าเสี่ยงในการทำงาน หรืออาจจะรวมถึงการมองว่า คนจนเป็นคนที่มีพฤติกรรมเกียจคร้านการงาน เป็นต้น ดังนั้น นโยบายการแก้ปัญหาความยากจนจากแนวคิดนี้จึงมุ่งกระทำต่อปัจเจกหรือครัวเรือนเป็นหลัก อย่างเช่น การฝึกอบรม เพื่อพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพ การให้การศึกษาเป็นต้น ถึงแม้ว่าจะมีการทุ่มเทแก้ปัญหาตามนโยบาย ปัญหาความยากจนก็ไม่สามารถที่จะขจัดไปได้ กล่าวคือ ในกรณีของประเทศไทย คนจนยังมีจำนวนมากอยู่ มีบางคนที่เลิกจนแล้วกลับมาจนใหม่ หรือที่บางคนก็ไม่เคยจนยังหล่นลงมาอยู่ในสถานะของความจนได้ ปัญหาก็คือ ความยากจนมิได้เป็นพฤติกรรมหรือคุณสมบัติส่วนบุคคลเท่านั้น ยังเป็นเรื่องของ “โครงสร้างทางสังคม” ซึ่งมีความคงทนยาวนาน ถึงแม้ว่าเราจะมีความพยายามและใช้ทรัพยากรอย่างมาก ความยากจนก็ไม่อาจหมดไปได้ถ้าหาก “โครงสร้าง” ยังคงดำรงอยู่และยังผลิตซ้ำความยากจนต่อไป
การมองหรือวิเคราะห์ว่า ความยากจนเป็นอาการทางโครงสร้างสังคมนี้มีรากฐานมาจากทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมือง ถ้าหากเราวิเคราะห์ความยากจนในระดับโลก เราจะพบว่ามีสาเหตุมาจากระบบความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกัน ระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศที่ด้อยพัฒนา (ดังที่กล่าวในทฤษฎีพึ่งพา ทฤษฎีด้อยพัฒนา และทฤษฎีระบบโลก) ภายในประเทศความยากจนในเรื่องของระบบความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนที่มีอยู่ในสังคม ระบบความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้เป็นระบบความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียม อย่างเช่น กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งเป็นผู้มีอำนาจ มีทรัพย์สิน แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งเป็นผู้ไร้อำนาจ ไร้ทรัพย์สิน ระบบความสัมพันธ์เช่นนี้ดำรงอยู่ได้ก็เนื่องมาจากระบบความเชื่อ ค่านิยม อุดมการณ์ สนับสนุนให้เกิดความสัมพันธ์เช่นนี้ (และความสัมพันธ์เช่นนี้ก็จะนำไปสู่การผลิตซ้ำความเชื่อ ค่านิยม อุดมการณ์แบบเดิมด้วย) ดังนั้นความยากจนจึงมิได้แสดงออกให้เห็นในด้านที่เป็นความขาดแคลนเท่านั้น แต่อาจจะปรากฏในรูปของความไม่เท่าเทียมกันหรือความไม่เป็นธรรม ซึ่งความไม่เท่าเทียมดังกล่าวมีสาเหตุมาจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมนั่นเอง ดังจะเห็นได้ในกรณีของ สมัชชาคนจน เขื่อนปากมูล เครือข่ายปฏิรูปที่ดิน ฯลฯ
อาจกล่าวได้ว่า การมองความยากจนในแง่ที่เป็นความยากจนเชิงโครงสร้างนี้ ชี้ให้เห็นถึงสาเหตุของความยากจนอย่างกว้างขวาง รอบด้าน การแก้ไขปัญหาความยากจนที่เน้นเพียงพื้นที่หรือกลุ่มคนผู้ยากจน โดยที่เงื่อนไขเชิงโครงสร้างไม่ได้รับการแก้ไขนั้นไม่อาจทำให้ความยากจนหมดสิ้นไปได้ นอกจากนี้ ทัศนะที่มองว่าความยากจนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างนั้นไม่อาจแก้ไขปัญหาได้ด้วยเพียงเฉพาะแค่การปรับปรุงเทคนิค วิธีการ (อย่างเช่น การจัดหาสินเชื่อให้กับเกษตรกร การปรับปรุงเทคนิคเพื่อเพิ่มผลผลิต ฯลฯ) เท่านั้น แต่จะต้องเปลี่ยนแปลงระบบความสัมพันธ์พื้นฐานที่กลุ่มคนจนตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบด้วย การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนในสังคมก็คือการเปลี่ยนแปลงในสถาบันหลักๆ นั่นเอง ซึ่งแนวทางที่เป็นรูปธรรมสำหรับประเทศไทย เช่น การปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ/จัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า การกระจายอำนาจสู่ภูมิภาค การแก้ไขข้อกฎหมาย/ระเบียบต่างๆ เพื่อคนจนมากขึ้น การให้โอกาสคนจนในการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนของตนเอง แต่ถึงอย่างไรการสงเคราะห์ หรือการพัฒนาศักยภาพในระดับปัจเจกก็ยังคงต้องดำเนินต่อไป ทั้งนี้ก็ต้องกับการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น