ขอเชิญทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเราในการสร้า้งสังคมแห่งการเรียนรู้...

หากต้องการลงบทความ/งานเขียนของท่าน สามารถแจ้งความประสงค์ได้ทางเว็บบอร์ด หรือทางอีเมล์แอดเดรส; po_kenchin@hotmail.com
หรือจะสมัครสมาชิกอย่างเดียวก็ได้นะครับ

29 ตุลาคม 2554

“ ปลุกผี ขุดลอก ผันน้ำ ผ่านชะตากรรมอุทกภัย ” : บทเรียนที่ภาครัฐไม่เคยจำ

ณัฐวุฒิ   กรมภักดี
          วิกฤตการณ์ปัญหาน้ำท่วมในประเทศไทยขณะนี้ กำลังส่งผลกระทบรุนแรงต่อประชาชนอย่างกว้างขวาง ปรากฎการณ์ของมวลน้ำขนาดใหญ่ จากเหนือสู่กลาง จากกลางไหลสู่เมืองหลวง มวลน้ำและการท่วมขังกินระยะเวลานานอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในอดีต สิ่งที่เป็นความจริงที่พออธิบายได้จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเป็นอย่างมาก การขยายตัวของเมือง แหล่งอุตสาหกรรมโรงงานธุรกิจเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับวัฒนธรรมบริโภคนิยมที่ขยายตัวอย่างกว้างขวาง ทำลายสมดุลต่างๆ ทางธรรมชาติที่เคยมีและจัดการตัวเองได้ในอดีต จากแต่ก่อนระบบการระบายน้ำจะผ่านคูคลองเล็กๆ ไม่มีคันถนนที่ต่างระดับกันอย่างมากกับคูคลองดังเช่นปัจจุบัน อีกทั้งการถมคูคลองดั้งเดิมที่เป้นเส้นทางระบายน้ำชั้นดีเพื่อสร้างถนนหนทางที่ยกระดับสูงกว่าพื้นดินเดิม บ้านจัดสรร โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น ได้กั้นขวางและทำลายทางไหลของน้ำที่มีมาแต่อดีตดั้งเดิม อีกทั้งยังเกิดการสร้างคันถนนที่สูงขวางกั้นทางน้ำ ทำให้เกิดการเอ่อในพื้นที่เนินที่ไม่เคยท่วมมาก่อน และยังไปกังขังน้ำที่เคยไหลอย่างอิสระก่อนไหลลงสู่ทะเล กินระยะเวลาในการท่วมขังนานเพิ่มขึ้น
ในขณะที่ทุกฝ่ายทุกหน่วยงานกำลังแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำท่วม ซึ่งเกิดจากการพัฒนาที่ไม่รักษาสมดุลทางธรรมชาติ ยังมีหน่วยงานภาครัฐซึ่งในขณะนี้สมควรที่จะอยู่ร่วมในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ภัยพิบัติ กลับมาเดินหน้าเร่งโครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูล ในอีสานส่วนของเขต จ.หนองบัวลำภู บริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำลำพะเนียง ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นโครงการจัดการเรื่องน้ำระดับชาติ รับผิดชอบโดยกรมชลประทาน งบประมาณเกือบหมื่นล้าน โดยการผันน้ำโขงโดยการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง เข้ามาทางปากน้ำเลย จ.เลย มาสู่ลำน้ำพะเนียง หนองบัวลำภู ซึ่งจะกลายเป็นคลองส่งและชักน้ำ ก่อนไหลลงสู่เขื่อนอุบลรัตน์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในอีสานต่อไป โดยการอ้างกระจายน้ำเพื่อชุมชนเกษตรกรรม ทั้งที่โดยความเป็นจริงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะได้รับ สิ่งที่จะได้รับส่วนใหญ่คือผลกระทบที่จะตามมาอย่างมหาศาล
เมื่อ ปีพ.ศ 2547 ลำน้ำลำพะเนียง จ.หนองบัวลำภูได้ถูกขุดลอกขนานใหญ่มาเรียบร้อย จากการดำเนินการของโครงการผันน้ำ โขง ชี มูล นี้ก่อนเปลี่ยนชื่อกลายเป็นโครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูล ในปัจจุบัน โดยผลกระทบที่ตามมาจากการขุดลอกในครั้งนั้นเกิดขึ้นอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การทรุดตัวของตลิ่งจากความแรงของกระแสน้ำที่เพิ่มขึ้นจากการขุดลอก คันถนนสองข้างฝั่งน้ำที่เกิดขึ้นจากการนำดินที่ขุดลอกกองไว้ริมตลิ่งได้ขวางทางไหลระบายดั้งเดิมของน้ำ ทำให้น้ำท่วมขังนานและขยายวงกว้างการท่วมมากขึ้น พร้อมกันนี้ที่นาชาวบ้านที่อยู่ริมตลิ่งเดิมได้ถูกขุดหายไปพร้อมกับความกว้างขึ้นของลำน้ำ ชาวบ้านบางรายที่นาผืนดินผืนสุดท้ายที่บรรพบุรุษมอบไว้ให้ได้อันตรธานหายจนหมดสิ้น ไม่เหลือแม้กระทั่งที่นาที่จะทำกินเลี้ยงชีพต่อไป จนชาวบ้านต้องมีการฟ้องร้องกรมชลประทานเพื่อเรียกร้องค่าทดแทนในสิ่งที่สูญเสียไป เป็นคดีความกว่า 140 คดี บทเรียนซ้ำๆ ซากๆ ที่ภาครัฐโดยเฉพาะหน่วยงานในการจัดการเรื่องน้ำไม่เคยจำ ผลกระทบเก่ายังไม่แก้ไขแต่จะสร้างปัญหาใหม่ทับถมเรื่อยๆ โดยเฉพาะบทเรียนครั้งสำคัญจากน้ำท่วมใหญ่ทั่วประเทศในครั้งนี้
การไม่จดจำบทเรียนสะท้อนผ่านเหตุการณ์ช่วงวันที่ 15 – 19 ตุลาคม 54 ที่ผ่านมา หน่วยงานกรมชลประทานซึ่งกำกับดูแลโครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูล ได้ให้ กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี (กรมเจ้าท่า) แผนกสำรวจและวิศวกรรม ออกทำการรังวัดปักหมุด GPS เพื่อใช้ประกอบการดำเนินการขุดลอกลำพะเนียงครั้งที่สอง เพื่อรองรับต่อโครงการผันน้ำที่จะเกิดขึ้น นางสุนทร ตรีเดชและสามี ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการขุดลอกลำพะเนียงในครั้งแรก เมื่อ ปีพ.ศ.2547 และยังไม่ได้รับค่าชดเชยจากที่ดินที่สูญเสียจากการขุดลอก เล่าถึงเหตุการณ์ที่มาการมารังวัดปักหมุดที่ผ่านมาว่า “ เขาก็มาขีดมาเขียนส่องกล้องอยู่เลาะฝายสะพานนั่นหล่ะ แม่เลยย่างเข้าไปถาม ว่าเจ้ามาแต่ไส มาเฮ็ดหยังกันหล่ะ เขาก็ตอบว่า ผมสิมาเฮ็ดโครงการขุดลอกพะเนียง เป็นโครงการผันน้ำโขงระดับชาติ ระยะตั้งแต่เขื่อนอุบลรัตน์ถึง จ.เลย งบประมาณประมาณ 4,000 ล้านบาท พุ่นหล่ะ กรมชลจ้างผมมาสำรวจอีกทีนึง ” สุนทรและสามีเล่าให้เราฟังด้วยความกังวลในผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในภายภาคหน้าดั่งเช่นการขุดลอกครั้งที่ผ่านมา
ปัญหาน้ำท่วมในบ้านเราจะจบสิ้นเมื่อไหร่ก็ตาม ปัญหาทิศทางการพัฒนาในภาพรวมที่มุ่งแต่แก้ปัญหาเชิงระบบโครงสร้าง ขาดการมองถึงระบบนิเวศความเป็นอยู่ของท้องถิ่น ผลกระทบต่างๆตามมามากมายจากการไม่มองเห้นหัวชาวบ้าน ขาดความเคารพต่อธรรมชาติและรบบนิเวศ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม ก็จะตามมาไม่รู้จักจบสิ้น เรื่องการจัดการน้ำต้องเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกภาคส่วนระดมสมองร่วมกัน ไม่ใช่เพียงแต่การบริหารจัดการน้ำและสิ่งแวดล้อมจากภาครัฐฝ่ายเดียว ปัญหาน้ำท่วมต้องไม่กลายเป็นการสร้างความชอบธรรมของหน่วยงานรัฐในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง เพียงเพื่อสนองตอบต่องบประมาณและการพัฒนาตัวเลขด้านเศรษฐกิจที่มหาศาล แต่การจัดการน้ำต้องเน้นการสร้าง อำนาจต่อรอง ควบคุม มีส่วนร่วม และสำคัญคือการคำนึงถึงระบบนิเวศและธรรมชาติอย่างสมดุล