ขอเชิญทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเราในการสร้า้งสังคมแห่งการเรียนรู้...

หากต้องการลงบทความ/งานเขียนของท่าน สามารถแจ้งความประสงค์ได้ทางเว็บบอร์ด หรือทางอีเมล์แอดเดรส; po_kenchin@hotmail.com
หรือจะสมัครสมาชิกอย่างเดียวก็ได้นะครับ

13 มีนาคม 2555

ดนตรีอีสาน แรงงานอารมณ์ และคนพลัดถิ่น (Popular Music, Emotional Labor, and Isan Diaspora) ตอนที่ 4

พัฒนา กิติอาษา 

ตอนที่ สี่

จาก ไปไทยถึง ไปนอก”:
เส้นทางของคนพลัดถิ่นกับวัฒนธรรมดนตรีสมัยนิยมอีสาน

                ในข้อเขียนชิ้นสำคัญที่สุดของการวิเคราะห์เนื้อร้องเพลงลูกทุ่งตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองจนถึงราวกลางทศวรรษที่ 2520 นิธิ เอียวศรีวงศ์นำเสนอว่า ข่าวสารสำคัญที่ปรากฏในเนื้อเพลงลูกทุ่งคือ ข่าวสารของความทันสมัยและเพลงลูกทุ่งมีฐานะเป็น สื่อของเมืองท่านชี้ให้เห็นว่า ท่ามกลางความงงงวยที่ชาวชนบทต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงด้านวัฒนธรรมอย่างรวดเร็ว สิ่งใหม่ที่กระทบวิถีชีวิตของเขาซึ่งเรียกรวมๆ ว่า ความทันสมัยนี้เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่ายขึ้น จัดการให้อยู่ในอำนาจได้สะดวกขึ้น และไม่สั่นคลอนชีวิตจนเกินไป เมื่อฟังหรือชมเพลงลูกทุ่ง นอกจากนี้ เนื้อหาของเพลงลูกทุ่ง ซึ่งแทรกโลกสมัยใหม่อยู่ตลอดเวลานั้น ยังช่วยบอกชาวชนบทว่าเขายืนอยู่ที่ใดในโลกสมัยใหม่ที่เริ่มจะสับสนขึ้นนี้ ขอบเขตของชีวิตที่กว้างขึ้นตามที่ปรากฏในเพลงลูกทุ่ง ทำให้เขามองการไปทำงานซาอุฯ ของลูกชาย การไปทำงานโรงงานในกรุงเทพฯ ของลูกเขย และการไปเป็นลูกจ้างหรือหญิงบริการของลูกสาวอย่างมีความเข้าใจมากขึ้น ท่ามกลางการขยายตัวอย่างรวดเร็วของขอบเขตชีวิตจนก่อให้เกิดความสับสน เนื้อเพลงลูกทุ่งบอกให้ชาวชนบทรู้ว่าที่ของตนเองในโลกกว้างนั้นเป็นอย่างไร  นิธิได้วิเคราะห์ฉีกแนวจารีตของการศึกษาเพลงลูกทุ่งโดยเน้นว่าเพลงลูกทุ่งแยกไม่ออกจากเมืองและความทันสมัย นิธิบอกกับพวกเราว่า ความเข้าใจที่ว่าลูกทุ่งเป็นผลผลิตของท้องทุ่งและชีวิตชนบทนั้น เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น ความจริงอีกครึ่งที่เหลือก็คือ เมืองและความทันสมัยเป็นหัวจิตหัวใจของเพลงลูกทุ่งและวงการลูกทุ่งไม่แพ้ชนบทและคติค่านิยมตามประเพณีดั้งเดิม เพลงลูกทุ่งไม่ได้บอกเพียงว่า โลกของคนชนบทเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด อย่างไร หากยังเน้นด้วยว่า คนชนบทนั้นจะทำความเข้าใจและจัดการกับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร

                ประเด็นการวิเคราะห์ข้างต้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่ผมมองเห็นว่า เนื้อเพลงส่วนหนึ่งของลูกทุ่ง หมอลำ และเพลงเพื่อชีวิตในรอบ 40 ปีที่ผ่านมาได้ก้าวข้ามการแบ่งแยกหรือความพยายามที่จะที่จะสื่อสารระหว่างเมืองกับชนบทหรือชีวิตทันสมัยกับชีวิตแบบดั้งเดิมตามประเพณี เนื้อร้องจำนวนมากของวัฒนธรรมดนตรีสมัยนิยมได้มุ่งนำเสนอความทรงจำ ความผูกพัน และการถักทอความหมายของชีวิตและชุมชนของคนพลัดถิ่น ในบริบทของโลกยุคโลกาภิวัตน์และการเดินทางพลัดพรากถิ่นที่อยู่ของผู้คนด้วยเหตุผลต่างๆ วัฒนธรรมดนตรีสมัยนิยมโดยเฉพาะในกรณีของภาคอีสานได้มุ่งเน้นการก่อเกิดและการต่อรองอัตลักษณ์วัฒนธรรมความทรงจำและความคิดฝันของคนพลัดถิ่นอย่างเข้มข้น ในที่นี้ ผมจะ เค้นความว่าด้วยอัตลักษณ์แห่งชีวิตและชุมชนคนอีสานพลัดถิ่นจากเนื้อร้องของเพลงลูกทุ่ง หมอลำ และเพลงเพื่อชีวิต ผมต้องการเน้นความสำคัญของการก่อรูป การขยายตัว และแบบแผนบางอย่างของชุมชนและอัตลักษณ์คนอีสานพลัดถิ่น ผมเชื่อว่า ชุมชนและอัตลักษณ์คนพลัดถิ่นในเนื้องเพลงถูกสร้างขึ้นมาจาก (1) ความทรงจำ (memories) เกี่ยวกับถิ่นฐานบ้านเกิด ท้องไร่ท้องนา ธรรมชาติแวดล้อม รสชาติอาหารการกิน ครอบครัว คนรัก และ(2) เรื่องเล่า (narratives) ในการเดินทางและประสบการณ์การท่องโลกและเผชิญโลกของตนเอง ข้อเขียนเกี่ยวกับคนพลัดถิ่นของนักวิชาการหลายท่าน  ชี้ให้เห็นว่า ชีวิตและชุมชนคนพลัดถิ่นในบริบทของโลกยุคโลกาภิวัตน์หรือยุคสมัยแห่งการข้ามชาติข้ามแดนควรจะมีองค์ประกอบสำคัญอย่างน้อย 4 ประการ ได้แก่ (1) บ้านเกิดเมืองนอน (homeland) (2) การพลัดพรากในรูปแบบต่างๆ (exile) (3) จิตสำนึกและความผูกพันเป็นห่วงของผู้คนทั้งที่อยู่บ้านและดินแดนปลายทางที่ห่างไกล (senses of nostagic belonging and emotional attachment) และ(4) การกลับไปเยือนแต่ไม่ใช่การกลับไปอยู่ (ambivalent return) ผมตั้งใจจะใช้กรอบคิดเหล่านี้ในการนำเสนอเนื้อเพลงเกี่ยวกับชีวิตและชุมชนคนพลัดถิ่นอีสาน

1. บ้านเกิดเมืองนอน: อีสานบ้านของเฮาการสร้างอัตลักษณ์ของชีวิตและชุมชนคนพลัดถิ่นในเนื้อเพลงลูกทุ่งและหมอลำอีสานเริ่มต้นจากการสร้างภาพและนำเสนอความคิดคำนึงเกี่ยวกับถิ่นฐานบ้านเกิด ในทศวรรษที่ 2510 และ 2520 ปรากฏว่ามีเนื้อเพลงและหมอลำจำนวนมากได้นำเสนอเกี่ยวกับสภาพอีสาน ในเพลง ลำนำอีสาน” (ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ประพันธ์ เทพพร เพชรอุบล ขับร้อง) ให้ภาพอุดมคติของหมู่บ้านอีสานว่า แผ่นดินอีสาน อยู่ยั้งยืนนานแต่กาลก่อนมา แม่โขงกอดแคว้นไทยเฮา... พริกเฮือนเหนือเกลือเฮือนใต้พึ่งพาอาศัย ข้าวน้ำซ่ามปลาเพลง อีสานบ้านของเฮา” (ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ประพันธ์ เทพพร เพชรอุบล ขับร้อง) บอกเล่าถึงสภาพชีวิตของอีสานบ้านนาและอาชีพทำไร่ทำนาของคนอีสานที่สืบทอดกันมานานหลายชั่วอายุคน รุ่งแจ้งพอพุมพู ตื่นเช้าตรู่รีบออกมา เร่งรุดไถฮุดนารีบนำฟ้าฝ้าวนำฝน อีสานบ้านของเฮาอาชีพเก่าแต่นานดล เอาหน้าสู้ฟ้าฝนเฮ็ดนาไร่บ่ได้เซาในเพลงเดียวกันนี้ก็บอกว่า ธรรมชาติแห่งบ้านนา ฝนตกมามีของกินชีวิตและความอยู่รอดของชาวอีสานย่อมขึ้นอยู่กับความปรานีของฟ้าฝน อาหารประเภท ของแซ่บอีสาน” (ครูเทพพร เพชรอุบล ประพันธ์และขับร้อง) มักจะอุดมสมบูรณ์เป็นพิเศษในฤดูฝนดังเนื้อเพลงท่อนที่ว่า มาน้องมาพี่จะพาไปอยู่อีสาน ไปกินแกงเห็ดละโงก ซดน้ำโก้กๆ ดอกตูมดอกบาน อีสานบ่อึดแนวกิน มีผักอีฮีนผักกุ่มผักหวาน บ่เชื่อให้นั่งรถผ่านสิเห็นอีสานอุดมสมบูรณ์กลอนลำจำนวนมากกล่าวถึงสภาพชีวิตดั้งเดิมของหมู่บ้านอีสานโดยเฉพาะหมู่บ้านชาวนาในก่อนยุคสมัยแห่งการพัฒนาในช่วงที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ครองอำนาจ ราชินีหมอลำและศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ฉวีวรรณ ดำเนิน (ประพันธ์และขับร้อง/ลำ) ได้บอกเล่าถึง ชีวิตชาวนาที่ล้ำลึกในลักษณะเดียวกัน"เอ๋ออันนี่พ่อแม่เอ๋ย เมษายนกลายไปแล้วพฤษภาผัดมาต่อ ฝนตกลง จ้าก จ้าก จ้น ใบหญ้ากะโปงมา พวกชาวนาเตรียมไว้เทิงไถกับคราด ฝั่นเซือกไว้ประสงค์ได้เจ้าเฮ็ดนา ฟังเสียงจาคนเฒ่าสูเอ้ยฮอดมื้ออื่น พ่อเฒ่าจ้ำบอกลูกบ้านสิพาเลี้ยงเจ้าปู่ตา" ชาวนาได้ชื่อว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ แต่ชีวิตชาวนาเต็มไปด้วยความเหนื่อยยาก ทั้งสามีและภรรยาที่เลี้ยงลูกอ่อนต่างก็ช่วยกันรีบเร่งงานในนาเพื่อให้ทันกับฟ้าฝน ขณะเดียวกันกลอนลำดังกล่าวก็บอกถึงประเพณีต่างๆ ที่เกี่ยวกับการทำนาที่ต้องพึ่งพาน้ำฝนและความอุดมสมบูรณ์จากธรรมชาติ โดยเฉพาะพิธีเลี้ยงบ้านหรือเลี้ยงศาลปู่ตาภายใต้การนำของพ่อเฒ่าจ้ำ พิธีดังกล่าวต้องจัดเป็นประจำทุกปีเมื่อย่างเข้าสู่ฤดูฝนและเป็นเสมือนสัญญาณของการเริ่มต้นงานหนักในฤดูทำนาประจำปี

เนื้อเพลงและเนื้อกลอนลำอีสานมีธรรมเนียมของการเล่าเรื่องที่ผูกพันกับชื่อและตำนานสถานที่ ครูเพลงลูกทุ่งมีกลวิธีสำคัญในการแนะนำหรือบอกเล่าสถานที่ต่างๆ ในภาคอีสาน โดยการสมมติเรื่องราวความรักของหนุ่มสาวจากท้องถิ่นต่างๆ เพลง ตามน้องกลับสารคาม” (ครูถวิล ธิติบุตตา ประพันธ์ ศักดิ์สยาม เพชรชมภู ขับร้อง) เล่าเรื่องการตามหาหญิงคนรักของหนุ่มมหาสารคาม พี่ตามหาคนงาม จากสารคามไปถึงเมืองขอนแก่น สืบหาเนื้อเย็นแต่ไม่เห็นหน้าแฟน จากขอนแก่นไปอุดรธานีในเพลงเอก สาวอุบลรอรัก” (ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ประพันธ์ อังคนางค์ คุณไชย ขับร้อง) หญิงสาวจากลุ่มน้ำมูลได้ตัดพ้อคนรักใจง่ายของเธอด้วยการหยิบยกคำสัญญาขึ้นมากล่าวอ้าง สัญญาฝั่งมูลฤดูดอกคูนบานเหลืองตระการ สายธารแม่มูนไหลหลั่งดั่งธารสวรรค์ ลอยล่องเรือสุขเหลือสัญญาฮักมั่น บ่นึกว่าจะเปลี่ยนผันสิ้นแล้วสวรรค์แห่งลำน้ำมูลนอกจากนี้ เนื้อเพลงก็ระบุด้วยว่าคนอีสานในทางประวัติศาสตร์ ภาษาและวัฒนธรรมแล้วแยกไม่ออกจากลาวในสาธารณรัฐประชาชนลาว เป้าหมายก็คือ การตอบโต้ทัศนะในทางลบที่คนกรุงเทพฯ และคนไทยภาคอื่นที่มีต่อคนลาวและคำว่า ลาวในเพลง สาวอีสานรอรัก” (ครูสุมทุม ไผ่ริมบึง ประพันธ์ อรอุมา สิงห์ศิริ ขับร้อง) พรรณนาถึงตัวตนของสาวอีสานและถิ่นฐานบ้านช่องในอีสานว่า สาวอีสานบ้านป่าเช้าก็ไปทำนาค่ำแลงมาเหงาหงอย เขาว่าน้องเป็นลาวเป็นสาวเมืองอีสานใจน้องนั่นเลื่อนลอย จงเอ็นดูแนเดอ...อ้ายเดอ จงปรานีน้องแนจั๊กหน่อยฮักน้องบ่อยๆพอน้องได้พลอยดีใจ

2. การพลัดพราก ในคตินิยมและโลกทัศน์ของคนอีสาน การพลัดพรากโดยเฉพาะการพลัดพรากบ้านเกิดเมืองนอน พ่อแม่พี่น้อง และลูกเมียอันเป็นที่รักย่อมเป็นที่มาของความทุกข์ยากทั้งกายและใจ ในขณะเดียวกัน คนอีสานก็ยกย่องและให้คุณค่ากับการเดินทางไปทำงานและเรียนรู้การใช้ชีวิตในโลกกว้างว่าเป็น ผู้มีหูกว้างตาไกล”  การพลัดพรากย่อมหมายถึงการเดินทางไปเผชิญโชคชะตาและผู้คนแปลกหน้ามาจากแปลกถิ่นในโลกกว้าง ซึ่งเป็นชีวิตที่ต้องพานพบทั้งสุขและทุกข์ระคนกันไป การพลัดพรากของคนอีสานส่วนใหญ่ หมายถึงรูปแบบการเดินทางจากถิ่นฐานบ้านเกิดด้วยความจำเป็นทางเศรษฐกิจ ซึ่งประกอบด้วยรูปแบบสำคัญ 2 อย่าง ได้แก่ การเดินทางไปทำงานที่กรุงเทพฯ และเขตปริมณฑล หรือ ไปไทยกับการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ หรือ ไปนอก

ไปไทยโดยทั่วไป คนอีสานเรียกการอพยพแรงงานไปหางานทำในกรุงเทพฯ ว่า ไปไทยหรือการเดินทางมุ่งหน้าไปเผชิญโชคหางานทำยังดินแดนของคนไทยพูดภาษาไทยกลางโดยเฉพาะในเมืองหลวง การเดินทางดังกล่าวมีมานานสืบต่อเนื่องการกวาดต้อนเชลยสงครามจากเวียงจันทน์และการสักเลกเกณฑ์แรงงานมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในระหว่างหลังสงครามโลกครั้งที่สองกับก่อนชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์ลาวใน พ.ศ. 2518 ปลายทางของการย้ายถิ่นแรงงานของคนอีสานคือ การ ข่วมของหรือข้ามไปหางานทำที่เวียงจันทร์หรือเมืองใหญ่ในประเทศลาวโดยเฉพาะคนอีสานที่มีภูมิลำเนาติดแม่น้ำโขง

อย่างไรก็ตาม เส้นทางหลักของแรงงานอีสานคือ การ ไปไทยคลื่นขบวนของแรงงานอีสานไปไทยได้ทวีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นจนกลายเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมและสร้างความหนักใจให้กับรัฐบาลในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา รูปแบบของการเดินทางเคลื่อนย้ายเพื่อความก้าวหน้าทางสังคม รวมทั้งการพลัดพรากจากบ้านเกิดเมืองนอนในวัฒนธรรมอีสานที่สำคัญคือ การย้ายถิ่นแรงงาน ธอมัส เคิร์ช (A. Thomas Kirsch) กล่าวถึงช่องทางสำคัญในการเดินทางเคลื่อนย้ายจากถิ่นที่อยู่และการเลื่อนสถานภาพทางสังคมของชาวภูไทแห่งอำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนม (ปัจจุบันอยู่ในเขตการปกครองของจังหวัดมุกดาหาร) ในต้นทศวรรษที่ 2500 ว่าประกอบด้วยช่องทางสำคัญ 4 ช่องทาง ได้แก่ บวชพระ รับราชการ ศึกษาต่อในระบบโรงเรียน และเดินทางจากบ้านไปเที่ยวหาทำงานรับจ้างตามฤดูกาล  วัด โรงเรียนและระบบราชการเป็นสถาบันหรือช่องทางสำหรับการเลื่อนชั้นทางสังคมที่ชาวบ้านอีสานจำนวนไม่มากนักที่โชคดีมีโอกาสเข้าถึง ช่องทางดังกล่าวมักจะเปิดโอกาสให้กับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง คงจะมีเฉพาะการย้ายถิ่นแรงงานเท่านั้นที่เป็นช่องทางเปิดกว้างสำหรับลูกหลานชาวนาและชาวบ้านทั่วไปทั้งชาย(และหญิง ในเวลาต่อมาโดยเฉพาะหลังทศวรรษที่ 2520 เป็นต้นมา) ผู้มีแรงงานและความอดทนตรากตรำงานหนักเป็นสมบัติล้ำค่าติดตัว

แวง พลังวรรณบันทึกความเห็นของคำพูน บุญทวี นักเขียนรางวัลซีไรท์ชาวอีสานผู้ล่วงลับไปแล้ว ท่านระบุว่า ปี พ.ศ. 2489 เป็นปีที่คนอีสานอพยพลงไปหางานทำในกรุงเทพฯจำนวนมาก ส่วนใหญ่มาจากอีสานใต้ เช่น ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี มหาสารคาม สุรินทร์ และศรีสะเกษ ส่วนทางอีสานเหนือนั้นมีน้อยมาก โดยเฉพาะจากจังหวัดชัยภูมิและจังหวัดเลยนั้นแทบไม่มีเอาเลย การเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ของชาวอีสานส่วนใหญ่นิยมใช้บริการรถไฟ ดังนั้นบริเวณที่มีคนอีสานรวมตัวกันอาศัยอยู่มากที่สุดในเวลานั้นจึงอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับสถานีรถไฟต่างๆ เช่น สามเสน บางซื่อ และแหล่งใหญ่ที่สุดคือ หัวลำโพง มีบ้างที่กระจายกันอยู่บริเวณที่ห่างจากสถานีรถไฟหัวลำโพงออกไป เช่น ซอยหลังสวน บริเวณใต้สะพานพุทธฯ และละแวกใกล้เคียง คำพูนอธิบายสาเหตุที่คนอีสานยึดเอาสถานีรถไฟเป็นศูนย์กลาง เพราะไม่รู้จะไปไหน ยังไม่ชินกับสถานที่ต้องยึดกับสถานที่ที่เคยชินไว้ก่อน ผิดนักก็เกาะรถไฟกลับอีสานไปตายที่บ้านก็ทำได้สะดวก กล่าวกันว่า หัวลำโพงคือแหล่งนัดพบแรงงาน ศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านแรงาน เป็นกองการจัดหางาน กรมแรงงานแห่งแรกของชาวอีสานในกรุง
               
ความพยายามของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาความยากจนในภาคอีสานในยุคสมัยแห่งการพัฒนา หรือยุค พ.ศ. 2504 ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุมดังที่ปรากฏในเพลง ผู้ใหญ่ลี” (อิง ชาวอีสาน ประพันธ์ ศักดิ์ศรี ศรีอักษร ขับร้อง) ไม่ได้ผล การพัฒนาไม่ได้สกัดคลื่นแรงงานอพยพหนีความจนยากจากอีสาน แต่กลับดึงดูดแรงงานส่วนเกินจากชนบทเข้าสู่เมืองมากยิ่งขึ้น ในเพลง บ่มีข้าวกิน” (ครูดาว บ้านดอน ประพันธ์และขับร้อง) บรรยายสภาพความแห่งแล้งกันดารอันเป็นที่มาของความยากจนข้นแค้นของคนอีสานไว้ว่า มองทุ่งนาน้ำตาพี่รินไหล อีสานแล้งดินระแหงจะทำยังไง ข้าวไม่มีจะกินน้ำตาไหลรินเฮ็ดจังได๋...ในที่สุดหนุ่มอีสานก็ต้องตัดสินใจ ลงไปไทยเพลง เซียงบัวล่องกรุง” (ครูสุรินทร์ ภาคศิริ ประพันธ์ ศักดิ์สยาม เพชรชมภู ขับร้อง) เป็นเพลงหนึ่งที่บรรยายภาพคนหนุ่มอีสานออกจากบ้านมุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ โดยทางรถไฟ เพื่อทำงานเก็บเงินมาแต่งงานกับสาวคนรัก หวูดรถไฟดังมาว่อนๆ แก้มอ่อนๆ ลาก่อนแหน่สาว อ้ายสิฟ้าวตีตั๋วรถไฟ ลงไปไทยทำงานจักหว่าง ไปรับจ้างหาเงินหาทอง ให้สาวคองอ้ายแหน่น้องหล้า ฮอดปีหน้าฟ้าใหม่ฝนดี สิกลับทันทีกินดองบักใหญ่คำว่า กินดองบักใหญ่ก็คือการจัดพิธีแต่งงานให้ยิ่งใหญ่ของไอ้หนุ่มบ้านนาผู้ไปตายเอาดาบหน้าไปหางานทำในกรุงเทพฯ หนุ่มอีสานผู้มีแต่แรงกายเป็นสมบัติติดตัว ในเพลง ลูกทุ่งคนยาก” (ครูสุรินทร์ ภาคศิริ ประพันธ์ สนธิ สมมาตร ขับร้อง) เพลงประกอบภาพยนตร์แนวอีสานที่โด่งดังเรื่อง มนต์รักแม่น้ำมูล” (2520) เล่าเรื่องเส้นทางของนักร้องบ้านนอกจากแดนอีสานใต้ว่า ผมจรรอนแรมจากลุ่มน้ำมูล ทิ้งถิ่นดอกคูนเพราะความรู้น้อยต่ำต้อยเพียงดิน เอาเสียงสวรรค์สร้างสรรค์ด้านศิลปิน เป็นนักร้องลูกทุ่งพลัดถิ่น หากินอยู่กับเสียงเพลงนอกจากรถไฟแล้ว รถบัสโดยสารของบริษัทขนส่งจำกัด (บ.ข.ส.) ได้กลายมาเป็นพาหนะของแรงงานอีสานพลัดถิ่นโดยเฉพาะช่วงหลังการสร้างถนนมิตรภาพและถนนเครือข่ายยกระดับการคมนาคมขนส่งระหว่างภาคอีสานกับกรุงเทพฯ ศูนย์กลางความเจริญและแหล่งรองรับแรงงานผู้มี ความรู้น้อยต่ำต้อยเพียงดินจากทั่วประเทศ เพลง ด่วน บขส.” (ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ประพันธ์ สนธิ สมมาตร ขับร้อง) ใช้ฉากร่ำลาคนรักที่สถานีขนส่งอุบลราชธานีบอกการพลัดพรากของหนุ่มสาวคนรัก ด่วน บขส. ติดเครื่องชะลอจะจากหน้ามล เหลียวหลังยังเห็นหน้ามล คนสวยแฟนพี่โบกมือไหวไหว พี่ลาก่อนเน้อ บ่นานคงเจอกันใหม่ ยังคิดถึงแกงหน่อไม้ใส่จุ๊ดจี่น้อยฝีมือเนื้อทอง
               
กรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมร เป็นทั้งเมืองสวรรค์ เมืองนรก และทุกสิ่งทุกอย่างประดามีในท่ามกลาง คนอีสานต้องเผชิญหน้ากับความทุกข์ยากลำบากในฐานะที่เป็นชนชั้นผู้ใช้แรงงานจากชายขอบในเมืองหลวง พวกเขาต้องก้มหน้ารับสภาพความเป็นอื่นและความเป็นคนชายขอบทั้งในทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และบรรทัดฐานของความทันสมัยแบบตะวันตกที่มีเมืองกรุงเป็นศูนย์กลาง คนอีสานทั้งชายหญิงทำงานใช้แรงงานที่หลากหลาย เช่น งานรับใช้ในครัวเรือน งานในโรงงาน งานตามร้านอาหารและสถานบริการ งานขับแท็กซี่ ตุ๊กตุ๊ก มอเตอร์ไซค์และรถรับจ้างต่างๆ ในเพลง เด็กปั๊มเพลงดังของครูสีเผือก (อิศรา อนันตทัศน์) แห่งวง คนด่านเกวียนบอกว่า ข้อยจากอีสานมาหลายปี เข้ามาอยู่กรุงศรี วิไลเลิศฟ้า ทำงานแลกเงินเลี้ยงชีวา บริการเพิ่มพลังให้รถรา คนเขาขานนามว่า เป็นเด็กปั้มน้ำมัน” “คาราบาววงดนตรีเพื่อชีวิตชื่อดังอีกวงหนึ่งเรียกคนงานจากที่ราบสูงว่า คนนิรนามผู้มาจากทุกหัวระแหงของที่ราบสูงเพราะว่า อีสานบ้านเขามันแล้ง ดินแตกระแหง ผู้คนกระสานซ่านเซ็นพวกเขาพร้อมที่จะทำงานของผู้ใช้แรงงาน  เช่น งานหนัก งานเหนื่อย งานนาน ไม่เป็นคนเกียจคร้านทำได้ก็ทำเอา งานเหล็ก งานหิน งานทราย งานปูนงานไม้ ทำได้เอาทำเอา งานดีเงินดีงานเบา ใครจะจ้างพวกเขาคนนิรนาม” (คนนิรนาม, คาราบาว) ส่วนวง คาราวานเรียกคนงานก่อสร้างตามสถานที่ก่อสร้างว่า เป็นพวก ปลาไร้วัง” (ปลาไร้วัง, คาราวาน) มีวาสนาเพียงการร่อนเร่พเนจรไปหารับจ้างทำงานที่ใหม่หลังจากงานเก่าสิ้นสุดลง ในเพลง สวรรค์บ้านนาคาราบาวได้บรรยายภาพของคนอีสานและสภาพการงานในกรุงเทพฯ ว่า จำใจมาหาเงินทอง เลี้ยงปากเลี้ยงท้องพี่น้องในบ้านนา มุ่งสู่เมืองกรุงหลั่งไหลกันมา ลำบากกายาหวังมาหางานทำ ขายกำลังกายอยู่ในโรงงาน ขายบริการอยู่ในปั๊มน้ำมันบ้างขับแทกซี่ขี่ขับรับกัน รับส่งผู้โดยสารถึงจุดหมายปลายทาง ศิลปินก็ออกเต้นกินรำกิน ตระเวนทั่วถิ่นทั่วแคว้นแดนกันดาร บ้างออกร้านรวงริมสองข้างทาง ขายลาบก้อยอีสาน ขายข้าวเหนียวส้มตำ โอะโอโอะโอ๋...ทำไปเพราะความจำเป็น
               
ภาพลักษณ์คนงานอีสานในกรุงเทพฯ แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับว่าเป็นภาพลักษณ์นำเสนอจากมุมมองของใคร ภาพลักษณ์ในทางลบอาจจะไม่ค่อยได้รับการนำเสนอโดยตรงในเนื้อเพลง แต่ในเพลง เสี่ยวอีสานพูดแทนคนงานและคนอีสานว่า แบบไหน แบบไหน อยู่ไหนเขาก็เรียกไอ้เสี่ยว ว่าปั้นแต่ข้าวเหนียวจิ้มต่อนปลาร้า ซื่อสัตย์หาเลี้ยงชีวาก็ยังถูกตราหน้าว่าเป็นคนเกียจคร้าน นาแล้งนาล่มจมอานจะเอาหัวกบาลที่ไหนทำกินล่ะ แบบไหน แบบไหน แบบนี้...เคียดเด๊ออย่างไรก็ตาม ภาพลักษณ์คนงานอีสานในเนื้อเพลงที่พูดด้วยเสียงสะท้อนแทนใจตัวเองนั้น เป็นภาพลักษณ์ในทางบวกและอุดมคติ แม้จะยากจน แต่พวกเขาก็ทำงานหนักด้วยความขยันขันแข็ง พยายามเก็บเงินส่งกลับบ้านด้วยสำนึกและความรับผิดชอบต่อครอบครัวของลูกผู้ชาย แม้จะลำบากแค่ไหนเหนื่อยแค่ไหนก็ต้องสู้ อดมื้อกินมื้อหรือไม่มีเงินติดตัวสักบาทก็ต้องทน ในเพลง จดหมายถึงพ่อ” (ไมค์ ภิรมย์พร) หนุ่มก่อสร้างเขียนถึงพ่อว่า จดหมายใบนี้เขียนที่ ก.ท.ม ส่งถึงพ่อ พ่อฉันที่อยู่บ้านนา ลำบากเหลือเกิน พ่อครับตั้งแต่ลูกมา พอตื่นลืมหูลืมตาก็ทำงานจนตัวเป็นเกลียว ก่อสร้างแบกหาม ลูกทำทุกอย่างเลยพ่อ สร้างทางฝังท่อไม่ท้อ เพราะเงินตัวเดียว เงินร้อยเงินพันดูมันหายากจริงเชียว บางครั้งต้องนั่งหน้าเซียวบาทเดียวไม่มีติดกาย ต้องพึ่งก๋วยเตี๋ยว ก๋วยเตี๋ยวป๊อกๆ ก๋วยเตี๋ยวป๊อกๆ กินอิ่มถึงบอกเงินออกก่อนนะจะจ่าย อย่าโกรธนะพ่อ ลูกพ่อไม่เคยโกงใคร ค่าแรงอยู่ที่เจ้านายเขายังไม่จ่าย นัดผิดบิดเบือนในยามเหงาเปล่าเปลี่ยวและในยามที่ต้องเผชิญหน้ากับงานหนักในสภาพแวดล้อมที่พวกเขาไม่เคยพบเคยเจอมาก่อนในชีวิต เช่น ลูกเรือตังเกในท้องทะเลที่มีแต่น้ำจรดฟ้า พวกเขาอาศัยเสียงแคนช่วยระบายความในใจช่วยผ่อนคลายความเหงาคิดถึงบ้าน ดังเนื้อเพลง เสียงแคนเสียงคลื่น” (ไมค์ ภิรมย์พร) ท่อนที่ว่า ตังเกแรมรอนนอนบนลำเรือ น้ำเค็มเหมือนเกลือ อาบเหงื่อแทนน้ำประปา จากบ้านมาไกล รอบกายคือน้ำกับฟ้า มีแคนที่พ่อให้มาเป็นเพื่อนชีวายามเหงา อวนยาวคาวปลาพบพาทุกวัน คลื่นลมโหมนาน หวาดหวั่นใจนั้นเหน็บหนาว ต้องยอมจำนนเพราะจนถึงทนปวดร้าว ฝันเห็นบ้านเรือนเคยเนาว์ คิดถึงบ้านเฮาเคยนอน
               
การทำงานต่างถิ่นของชายหนุ่มไม่ได้หมายถึงแค่การหาเงินช่วยเหลือครอบครัว แต่ยังหมายถึงคนรักและคำสัญญาที่จะหาเงินกลับไปแต่งงาน หญิงสาวคนรักที่อยู่ทางบ้านหรือที่พบกันในเมืองหรือในกรุงเทพฯ คือแรงบันดาลใจของชายหนุ่ม เขาและเธอพูดภาษาอุดมคติในการเก็บเงินเพื่อสร้างอนาคต หญิงสาวคนรักคือ ยาใจคนจน” (ครูสลา คุณวุฒิ ประพันธ์ ไมค์ ภิรมย์พร ขับร้อง) ความรักและแรงบันดาลใจเป็นการตอกย้ำอุดมคติความเป็นลูกผู้ชายที่ว่า เขาต้องทำงานหนักและทุ่มเทเพื่อหญิงคนรักและเพื่ออนาคต ในเพลง ขายแรงแต่งนาง” (ไมค์ ภิรมย์พร) บอกว่า สองมือคนจน จะทนเพื่อเจ้า เพื่อความรักสองเรา พี่ขอเอาหัวใจเดิมพัน เดินทางจากนามาขายแรงงาน หวังว่าสักวันฝันเราคงเป็นจริง ขอเอาแรงกายและใจมุ่งมั่น เสียเหงื่อเพื่อน้องทุกวัน เข้าทำงานขายแรงแย่งชิง เหนื่อยกายก็ทนเพื่อคนรักจริง ขอเพียงยอดหญิงอย่าทิ้งพี่ไปกลางคัน ความรู้ต่ำแรงงานก็ราคาถูก อดทนปนทุกข์ เดินบุกเดินลุยทุกวัน เปลี่ยนแรงเป็นเงินเผชิญกับความร้าวราน จะไปให้ถึงความฝัน ฝันถึงงานวันแต่ง...แม้จะน้อยอกน้อยใจว่า ความรู้ต่ำแรงงานก็ราคาถูกแต่ด้วยใจที่รักจริงและความมุ่งมั่นทำงานหนัก ชายหนุ่มพยายามให้กำลังใจตนเองและสร้างความเชื่อมั่นให้กับหญิงคนรักไปพร้อมกัน เพราะพวกเขาคือ ไอ้หนุ่มก่อสร้างหวังแต่ง” (หนุ่มก่อสร้าง, พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ ประพันธ์และขับร้อง) เนื้อเพลงของนักร้องลูกทุ่งฝ่ายหญิงจำนวนมากมักจะได้รับการนำเสนอในลักษณะที่ตอบสนองอุดมคติความรักและเพศสภาวะแบบปิตาธิปไตย (patriarchal gender ideology) ไม่แพ้กัน เช่น ในเพลง ปริญญาใจ” (ครูสลา คุณวุฒิ ประพันธ์ ศิริพร อำไพพงศ์ ขับร้อง) บอกว่า ได้ฮักกับอ้ายเหมือนใจได้ปริญญา ชีวิตของสาวบ้านนาวุฒิการศึกษามีน้อย ขาดโอกาสเรียนเพราะจนเป็นคนเลื่อนลอย โชคดีมีอ้ายเฝ้าคอยหยัดยืนให้โอกาสใจส่วนสาวบ้านไกลในเพลง ขอใจกันหนาว” (ต่าย อรทัย ขับร้อง) บอกความในใจว่า อยากมีพี่เลี้ยงเคียงข้างบนทางเปื้อนฝุ่น มอบใจอุ่นอุ่นกันหนาวกันท้อพอเพียง ยามเจ็บเห็นหน้ายามมีปัญหายืนเคียง ยามเหงาได้โทรฟังเสียงหล่อเลี้ยงหัวใจทุกคราวคนรักหรือแฟนก็คือ คนรู้ใจ คนที่สามารถเป็นที่พึ่งให้กำลังใจและให้ความช่วยเหลือพร้อมที่จะเป็นคู่ชีวิต
               
อีสานตื่นกรุงและความทุกข์ยากเมื่อไกลบ้าน เรื่องเล่าในเนื้อเพลงเกี่ยวกับคนอีสานพลัดถิ่นก็คือ ความเจ็บปวดขมขื่นเมื่อต้องตกเป็น เป้าโจมตีของอคติและการดูถูกเหยียดหยามจากคนเมืองหลวงและคนต่างถิ่น คนอีสานถูกมองว่าเป็นคนต่ำต้อยล้าหลัง เป็นบักเสี่ยว บักสีเด๋อ เป็นลาวตาขาวหรือลาวตาแตก หรือเป็นพลเมืองชั้นสองของประเทศ ซึ่งอย่างดีก็เป็นได้แค่แรงงานชั้นต่ำของชาติเท่านั้น”  พวกเขาเป็น ประชากรที่ต่ำต้อยที่สุดในทางเศรษฐกิจ”  ในเพลง กลับอีสาน” (ครูคำปัน ผิวขำ ประพันธ์ ปอง ปรีดา ขับร้อง) ให้ภาพเมืองหลวงเมืองฟ้าจากมุมมองของคนอีสานพลัดถิ่นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองว่า โอ้ว่าเมืองหลวง ตามร้านรวงงามทั้งปวงดั่งเขาว่า ไผได้ไปแล้วไม่อยากลา บ้านข้อยนั่นหนามีแต่ป่านาเขาในเพลง ทิดจ้อยปล่อยไก่” (ครูดาว บ้านดอน ประพันธ์และขับร้อง) เล่าถึงเส้นทางของแรงงานจากอีสานบ้านนาว่า นั่งรถทัวร์เข้าไปเมืองกรุง ออกจากบ้านทุ่งจะไปหางานทำ งานหนักงานเบาข้อยเอาทุกอย่าง หรืองานก่อสร้างขอแต่ให้เป็นงานบทสนทนาของ ทิดจ้อยกับผู้คนที่เขาได้พบ เช่น บัสโฮสเตส อาเฮียเถ้าแก่ร้านขายยา ล้วนบ่งบอกความเป็นคนอีสานตื่นกรุงและบ่งบอกถึงสภาพความเปิ่นเชยล้าสมัยของคนบ้านนอกเมื่อต้องเผชิญกับความทันสมัยของกรุงเทพฯ เมื่อรถพาทิดจ้อยเข้าเขตเมืองกรุง ทิดจ้อยก็เล่าว่า ถึงกรุงเทพฯ แสงไฟนวลจ้า ข้อยมองไปมาคือมาเป็นลายต่าง ผู้คนก็แยะรถราก็เยอะ ผู้คนก็เยอะรถราก็แยะ ข้อยเลยเดินแวะเข้าไปร้านขายยา
               
อาการตื่นกรุงของทิดจ้อย แท้ที่จริงก็คือ ตื่นตา ตื่นใจ และตื่นเต้นกับความทันสมัยแบบกรุงเทพฯ (ผู้คนก็เยอะ รถราก็แยะ) ทิดจ้อยหรือตัวแทนแรงงานผู้ชายในปลายทศวรรษที่ 2510 ซึ่งเป็นช่วงที่แรงงานผู้หญิงยังไม่ได้มุ่งหน้าเข้าสู่โรงงานในกรุงเทพฯ และเขตปริมณฑลมากนัก ทิดจ้อยมีเพื่อนจากอีสานบ้านนอกพยายามเปลี่ยนโฉมตัวเองให้ทันสมัยเหมือน ไทกรุงเทพฯหลายคน เช่น บ่าวกึ่ม ผู้ไปทำงานกรุงเทพฯ นาน หรือ อยู่ไทยดลเลยดัดจริตลีมตัวเปลี่ยนชื่อเป็น สันติชัยเปลี่ยนภาษาพูดและการแต่งกายให้ทันสมัยแบบคนเมืองกรุง ต่อมาเมื่อแรงงานหญิงอีสาน ซึ่งนิยมทำงานบ้านในช่วงก่อนและหลังสงครามเวียดนามหันไปทำงานในสถานบริการทางเพศและในโรงงาน พร้อมกับผันเปลี่ยนตัวเองจาก นังแจ๋วไปเป็นฉันทนาอย่างเต็มตัวตั้งแต่ทศวรรษที่ 2520 เป็นต้นมา ผู้(เพิ่น)อยู่ไทยดลแบบบ่าวกึ่มก็คือ สาวหวึ่ง” (ครูสมัย อ่อนวงศ์ ขับร้อง) ผู้เปลี่ยนชื่อให้โก้เก๋ทันสมัยเป็น ติ๋มพร้อมกับการรับความทันสมัยแบบเมืองกรุงอย่างเต็มตัว ดังเนื้อเพลงท่อนที่ว่า สาวหวึ่งบ้านโดนหมาหว้อ หนีแม่หนีพ่อ หนีป้าหนีลุง ไปหาเฮ็ดการเฮ็ดงาน ล้างถ้วยล้างจาน อยู่ที่เมืองกรุง กลับบ้านเว้าลาวบ่เป็น ผู้บ่าวเห็นใส่เกิบส้นสูง ทำท่าคือคนในกรุง เดินโยกพุงโยกไปส่ายมาภาษาพูด ภาษาท่าทาง การแต่งกายและชื่อทันสมัยแบบกรุงเทพฯ เมื่อถูกนำกลับมายังอีสานบ้านนอกกลายมาเป็นเรื่องตลก เพราะชาวบ้านอีสานมองว่า คนหนุ่มสาวเหล่านั้น ลืมตัวออกจากบ้านไปไม่นานก็ลืมกำพืดหรือรากเหง้าของตนเอง ลักษณะเช่นนี้จึงมีทั้งความรู้สึกน่าละอายและขำขันระคนกันอยู่ในตัว

ตัวละครในเนื้อเพลงลูกทุ่งที่ถูกนำมาล้อเลียนเพราะลุ่มหลงความทันสมัยของเมืองกรุงมากกว่ารากเหง้าบ้านนอกของตนเองมีให้เห็นอยู่เป็นประจำ เช่น อย่าขอหมอลำ” (ต้อย หมวกแดง ขับร้อง) ที่พยายามบอกว่าตัวเองเป็นคนทันสมัยชอบเพลงสมัยใหม่ เช่น ร็อค แร็พ ฮิปฮอพ ไม่ใช่หมอลำ ไม่คนอีสานทั้งๆ ที่ไม่อาจปฏิเสธรากเหง้าเดิมของตนเองได้ ในเพลง คุณลำใย” (ลูกนก สุภาพร ขับร้อง) สาวลาดพร้าวและ ดาวมหาลัย” (สาวมาด เมกะแดนซ์ ขับร้อง) ก็ล้วนแต่เป็นตำนานล่าสุดของสาวอีสานที่พยายามไปให้พ้นจากความเป็นอีสาน ความเชย หรือความเป็นคน บ้านน๊อก...บ้านนอกของตนเอง พวกเขาและเธอต้องตกอยู่สภาวะชายขอบของความทันสมัย เป็นชายขอบที่เต็มไปด้วยความกระอักกระอ่วนใจเพราะด้านหนึ่งต้องสำนึกถึงกำพืดแบบบ้านนอกของตัวเอง ต้องรับผิดชอบหาเงินเลี้ยงครอบครัวและดูแลภาระทางบ้านที่บ้านนอก แต่อีกด้านหนึ่ง ความที่ต้องอยู่อาศัยและทำงานในเมืองพวกเขาและเธอถูกวัฒนธรรมบริโภคนิยมบีบให้วิ่งตามความทันสมัย ซึ่งด้วยกำลังเงินที่จำกัดและสถานภาพของชนชั้นผู้ใช้แรงงานในเมือง พวกไม่อาจจะจ่ายเงินซื้อสิ้นค้าและสัญลักษณ์ของความทันสมัยได้อย่างที่ใจปรารถนาทุกอย่าง พวกเขาและเธอจึงต้องต่อรอง ต่อสู้ดิ้น และถูกบีบให้เป็นคนชายขอบผู้มีชีวิตผูกพันหาหลักแหล่งที่แน่นอนไม่ได้ระหว่างชีวิตเมืองและชีวิตหมู่บ้านที่ห่างไกลออกไป

ไป(เมือง)นอก... ไปเสียนา มาเสียเมียหลังจากสงครามเวียดนามสิ้นสุดลงและการถอนทหารอเมริกันออกจากประเทศไทย ศักราชใหม่ของการย้ายถิ่นแรงงานก็เริ่มต้นขึ้น แรงงานอีสานเริ่มเดินทางไปต่างประเทศในช่วงต้นทศวรรษที่ 2520 แรงงานผู้ชายมุ่งหน้าสู่ประเทศต่างๆ ในดินแดนตะวันออกกลางเพื่อทำงานก่อสร้างกลายมาเป็น นักรบแรงงานหรือ นักรบเศรษฐกิจใช้หยาดเหงื่อแรงกายแลกเงินตราต่างประเทศ ดูเหมือนว่า ทั้งลูกทุ่ง หมอลำ และเพลงเพื่อชีวิตต่างก็ได้ให้ความสนใจบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับ การหลอกลวงแรงงานไปทำงานต่างประเทศปัญหาหนี้สิน และความล้มเหลวของชีวิตครอบครัวของแรงงานอีสานไปนอกอย่างกว้างขวาง ในเพลง “ 3 วันบินและ ซาอุฯ” (พรศักดิ์ ส่องแสง) ให้ภาพชะตากรรมคนงานอีสานถูกหลอก ความฝันที่ฟังทลายลง รวมทั้งความลำบากยากแค้นกับงานก่อสร้างกลางป่าทะเลทรายและความยุ่งยากในการปรับตัวให้เข้ากับประเทศมุสลิมในตะวันออกกลาง ในเพลง ซาอุดรคาราบาวบอกเล่าถึงความหวังและความล้มเหลวของคนอีสานกับการเดินทางไปขุดทองเมือง ซาอุฯแต่ถูกหลอกให้ขึ้นเครื่องบินไปลงที่ “(ซา)อุดรธานีว่า เขียนป้ายไปปักไว้บอกคนทั้งหลายว่าอยากขายที่นา นำทรัพย์สินเงินตราจากขายที่นาไปตีตั๋วเครื่องบินจะไปซาอุ... เบื่อทําไร่ไถนาทําได้มาไม่พอได้กิน กลัวลูกเก็บดินกินอย่างที่หนังสือพิมพ์เขาลง บอกเมียรอหน่อยหนา   อย่าเผลอใจไปมีชู้ จับได้เป็นน่าดู...จู้ฮุกกรูไม่นานน้องยา ซาอุดิจะแล้งจะร้อน ระอุปานใดอ้ายก็จะทนจะยอมอดเหล้าเอาเงินสะสม จะข่มจิตใจไม่เล่นไฮโล เชื่อพี่เถิดน้องพี่ไม่ได้ร้องเพลงหลอก จะเอาเงินใส่กระบอกหอบมาเป็นกระบุง ขนมาให้น้องฝากธนาคาร...คาราบาวเตือนพี่น้องผู้ใช้แรงงานหรือชาวไร่ชาวนา ผู้ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศทั้งหลายว่า คนหนอคน...ยิ่งจนยิ่งเจ็บยิ่งจนยิ่งถูกเอารัดเอาเปรียบ

การเดินทางไปทำงานต่างประเทศเป็นการลงทุนที่ เสี่ยงคนทั่วไปมักจะเข้าใจว่าเป็นการ เสี่ยงโชคขุดทองถ้าโชคดีก็จะได้เงินทองร่ำรวยกลับมา คุ้มค่ากับหนี้สินและความเหนื่อยยากในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี เช่น เนื้อเพลง ทางเบี่ยงอย่าเสี่ยงเดิน” (ไมค์ ภิรมย์พร) ที่บอกว่า หนทางชีวิตมืดมิดเหลือหลาย มีแค่แรงกายไว้ขายแลกเงิน บางครั้งต้องเสี่ยงทางเบี่ยงก็ต้องเดิน เผื่อบังเอิญจะมีเงินกับเขาเสียทีแต่ในความเป็นจริง คนงานที่ไปทำงานต่างประเทศต่างก็รู้ในหัวอกดีว่า ภารกิจของเขานั้นเป็นการ เสี่ยงตายงานก่อสร้างและงานใช้แรงงาน โดยเฉพาะงานในต่างประเทศล้วนเป็นงานประเภท “3D” ที่พลเมืองของแต่ละประเทศเจ้าบ้านไม่ปรารถนาจะทำ เพราะอันตรายมีอุบัติเหตุสูง (dangerous) สกปรกเป็นอันตรายต่อสุขภาพ (dirty) และเป็นงานใช้แรงงานขาดทักษะฝีมือแรงงานทั้งยังต่ำต้อยด้อยศักดิ์ศรีในสายตาของคนทั่วไป (degrading) สถานการณ์เหล่านี้ปรากฏในเนื้อเพลงลูกทุ่งหมอลำเป็นจำนวนมาก เช่น ลำล่องสิงคโปร์” (เดชา นิติอินทร์) เสียงสั่งจากไต้หวัน” (บุญชู บัวผาง) เสียงครวญจากไต้หวัน” (แดง จิตรกร) ควายไทยในสิงคโปร์” (ลูกแพร-ไหมไทย อุไรพร) เป็นต้น ส่วนแรงงานหญิงจากประเทศไทย โดยเฉพาะกรณีสาวไทยที่ทำงานขายบริการทางเพศ มักจะปรากฏตัวในเนื้อเพลงเกี่ยวกับสถานการณ์อันตรายและสะเทือนขวัญ เช่น สาวไทยฆ่าตัวตายในญี่ปุ่น ศพเจ้าลอยแขวนคอกับคาน ร่างส่งกลับมาห่อเป็นผ้ากระดูกวิญญาณ ได้กลับมาอยู่บ้านที่น้องนางได้สร้างไว้รอ” (โยโกฮามา, พงษ์สิทธิ์ คำภีร์) หรือกรณีสาวน้ำพองที่ไปขายตัวในญี่ปุ่น เสียงคนเล่ามาน้ำตาอ้ายไหล ว่าน้องขายตัวมั่วชาย เพราะถูกเขาลวงล่วงล้ำย่ำยีกายา ถูกมารแก๊งยากูซ่ามอยาน้องจนซีดเซียว” (คิดถึงสาวน้ำพอง, ไมค์ ภิรมย์พร)
สถานการณ์เสี่ยงชีวิตและความตายของคนงานไทยในต่างประเทศเป็นปรากฏการณ์ที่เป็นข่าวในสื่อมวลชนและเป็นเรื่องเล่าในชีวิตประจำวันของชนบทอีสาน เหตุการณ์ที่รุนแรงและสะเทือนขวัญมากที่สุด น่าจะได้แก่ กรณีโรคไหลตายของแรงงานไทยในสิงคโปร์ ชาวบ้านอีสานจำนวนมากเชื่อว่าเป็นเพราะ ผีแม่หม้ายมาหลอกหลอนเอาวิญญาณของคนหนุ่มแน่นในวัยแรงงานไปเป็นสามี  ในขณะที่วงการแพทย์ก็ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่า ทำไมคนงานที่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยแต่ต้องมาเสียชีวิตอย่างไร้ร่องรอยโดยการ ไหลตายหรือเสียชีวิตขณะนอนหลับ ใน เต้ยไหลตายวงสามโทนเล่าเรื่องความน่าสะพรึงกลัวและวิตกกังวลของผู้ที่ยังอยู่ที่มีต่อเพื่อนคนงาน ลูกข้าวเหนียวต้องจากไปแบบ ร่วงผล็อยผล็อยปานใบไม้หล่นนอกจากนี้ ยังมีกรณีคนงานไทยกระทำผิดกฏหมายถูกลงโทษประหารชีวิตทั้งในสิงคโปร์และประเทศอื่นในตะวันออกกลาง ในกลอนลำภูไท แฟนตายอยู่สิงคโปร์” (พิกุล ขวัญเมือง) เสียงของหมอลำสาวภูไทท่านนี้คร่ำครวญอาดูรที่เธอต้องสูญเสียคนรักเพราะ สิงคโปร์มันฆ่าพี่เธอยังแสดงความห่วงใยให้พี่น้องคนงานอีสานระมัดระวังอย่าทำผิดกฏหมายบ้านเมืองในต่างประเทศ และอ้อนวอนให้พี่น้องอีสานกลับบ้าน กลับไปทำมาหากินอยู่กับถิ่นฐานบ้านเกิดมากกว่าออกไปตกทุกข์ได้ยากหรือเสี่ยงชีวิตในต่างแดน เพลง สิงคโปร์ของคาราบาววิพากษ์วิจารณ์สิงคโปร์ที่จับคนงานไทยเข้าเมืองผิดกฏหมายลงโทษเฆี่ยนตีและส่งลงเรือกลับบ้านว่าคิดถึงแต่ กำไรการค้า ไม่คำนึงค่ามนุษยธรรมอย่างไรก็ตาม ขวัญและกำลังใจเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับแรงงานอีสาน คนอีสานใช้ช่องทางวัฒนธรรม เช่น จัดพิธีบายศรีสู่ขวัญ แสดงความห่วงใยและให้กำลังใจจากคนทางบ้านสำหรับลูกหลานที่ต้องไปทำงานต่างถิ่น ครูเทพพร เพชรอุบลประยุกต์เอาบทสวดขวัญดังกล่าวไว้ในเพลงที่ชื่อว่า บายศรีแรงงานไทยไปสิงคโปร์และ บายศรีแรงงานไทยไปไต้หวันพิธีดังกล่าวจัดขึ้นแทบทุกครั้งที่ลูกหลานอีสานต้องเดินทางออกไปทำงานไกลบ้านหรือกลับมาเยือนถิ่นเกิดบ้านเก่า

ชีวิตแรงงานไปนอกมักจะเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางว่า ไปเสียนา มาเสียเมียผู้ชายห่างบ้านห่างลูกเมียไปทำงานเมืองนอก ไหนจะเสี่ยงชีวิตทำงานก่อสร้างในต่างแดนด้วยความยากลำบากเพื่อหาเงินส่งทางบ้าน ไหนจะเสี่ยงกับความแตกแยกของครอบครัวเนื่องจากความห่างไกล ในหัวอกลูกผู้ชายทุกคนก็คือ ห่วงใยเมียรักที่อยู่ทางบ้าน เป็นกังวลและไม่ไว้ใจว่าเมียจะซื่อสัตย์รักษาจัดการเงินทองและพฤติกรรมทางเพศให้อยู่ในกรอบประเพณีและกฏหมายไม่ได้ กลอนลำ ลาเมียไปซาอุฯ” (ประสาน เวียงสีมา ลำ) พยายามจะบอกว่า ยอมเสียนา แต่ไม่ยอมเสียเมียและเพลง ลุยคูเวตของซูซู ระพินทร์ พุฒิชาติก็สั่งเสียเมียในทำนองเดียวกัน พวกเขาบอกเมียให้ดูแลลูกดูแลตัวเองอย่าไปคบชู้สู่ชาย เขาไปนอกจะยอมทนความเหนื่อยยากเพื่อหาเงินมาไถ่ที่นา เพื่อส่งเสียลูกเรียนและเพื่อความสุขสบายของคนในครอบครัว แต่ในกลอนลำ เมียป๋าเพราะซาอุ” (ครูสรเพชร ภิญโญ ประพันธ์ สมโภชน์ ดวงสมพงษ์ ลำ) และเพลง ควายไทยในสิงคโปร์” (ลูกแพรและไหมไทย อุไรพร ขับร้อง) มีเนื้อหาที่เต็มไปด้วยคำพร่ำรำพันและความคับแค้นในหัวอกของผู้ชายที่เมียหักหลังสวมเขาให้และผลาญเงินทองที่ส่งมาให้จนหมดสิ้น สมโภชน์ ดวงสมพงษ์ระบายความระทมขมขื่นเพราะทิ้งบ้านห่างลูกเมียไปทำงานที่ซาอุฯ อุตส่าห์ส่งเงินกลับบ้านมาจุนเจือครอบครัว แต่อนิจจา...กลับถูกเมียสวมเขาให้ เนื้อเรื่องในกลอนลำ เมียป๋าเพราะซาอุบอกเล่าความคับแค้นที่สุมแน่นอยู่ในหัวอกของลูกผู้ชายว่า 
ชีวิตเราเศร้าระทมขมขื่น ทุกวันคืนไม่มีวันจะเหือดหาย เมียเคยรักของพี่มากลับกลาย เสียดายแม่ช่อชบาไพร ใจเอ๋ยใจเจ้าช่างแปรเปลี่ยน พี่เคยเตือนเจ้าแล้วจำได้ไหม ว่าคนดีของพี่อย่าเปลี่ยนใจ ก่อนพี่ไปซาอุดิอาระเบีย เสียใจเด้เมียโตเป็นเมียเพิ่น เสียดายเงินให้เจ้าผัวได้ส่งมา บอกแล้วน่าว่าให้จ่ายเป็นทาง นางซ่างเอาชายมาจ่ายเงินให้เขาใช้ เขาเอาเงินแล้วยังเอาเมียของพี่ แม่นอิหลีพี่น้องเมียข้อยซ่างเป็น ใจโลดเต้นคันเว้าเรื่องเมียมา ซ่างบ่ตายซ้ำสา...ห่ากินผู้หญิงเอย
               
ฝ่ายเมียซาอุฯ หรือฝ่ายหญิงตกอยู่ในสภาพที่เป็นจำเลยของสังคม แต่พวกเธอไม่ใช่คนที่ไร้ปากเสียง เมียซาอุฯ ได้ออกมาประท้วงสังคมในกลอนลำเต้ยสลับเพลงที่โด่งดังในช่วงปลายทศวรรษที่ 2520 ชื่อว่า น้ำตาเมียซาอุฯ” (พิมพา พรศิริ ขับร้อง) เนื้อเพลงบรรยายถึงหัวอกของบรรดาแม่บ้านที่พ่อบ้านจากบ้านไปทำงานขายแรงที่ซาอุฯ และประเทศตะวันออกกลาง เธอบอกว่า คิดมาอุราช้ำหนัก ผัวรักไม่เคยส่งเงิน รู้ข่าวปวดร้าวเหลือเกิน เมื่อรู้ว่าเงินไม่มาถึงเมีย พ่อแม่ผัวรับเต็มที่ รับเงินจากพี่ที่ซาอุดิอาระเบีย ส่งมาให้ใช้กันนัวเนีย ส่วนลูกเมียนั่งเลียน้ำตา ก่อนไปใช้เงินเป็นก้อน ที่นาดอนก็เป็นของภรรยา เอาไปจำนองค่าประกันนายหน้า พอได้เหินฟ้าก็ทำท่าลืมเมียพิมพา พรศิริแก้ต่างให้กับผู้หญิงอีสานว่า เมียซาอุฯ ไม่ได้ชั่วทุกคน

3. “คึดฮอดบ้านบุญผะเหวดคือสิหลายความผูกพันระหว่างคนพลัดถิ่นกับบ้านเกิดเมืองนอนเป็นเนื้อหาสำคัญของเนื้อร้องในเพลงลูกทุ่ง หมอลำ และเพลงเพื่อชีวิต คนพลัดถิ่นทั้งที่จากบ้านไปทำงานในเมืองและทำงานยังต่างประเทศล้วนแต่มีความรู้สึกผูกพันกับถิ่นฐานบ้านเกิด พ่อแม่พี่น้อง ลูกเมียและคนรัก คนอีสานพลัดถิ่นทั้งในอดีตและปัจจุบันมักจะนึกถึงบ้านในช่วงที่มีบุญตามเทศกาล ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่ผู้คนได้พักผ่อนจากการงานในไร่นาและมีโอกาสร่วมทำบุญสนุกสนานในรอบปี อย่างไรก็ตาม สำหรับคนอีสานพลัดถิ่นไปทำงานต่างประเทศ คำสัญญา ความคิดถึง และกำลังใจมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในกลอนลำที่โด่งดังในทศวรรษที่ 2530 “คอยรักจากต่างแดนจินตรา พูนลาภรำพันถึงคนรักว่า วันอ้ายขึ้นเครื่องบิน บินไปจากเมืองไทย ไปตะวันออกกลาง ห่างกันเพราะจน ดิ้นรนต่อสู้ไม่ถอย น้องยังคอยทนได้ คอยเป็นกำลังใจ ให้พี่อยู่เสมอ คิดฮอดก็อยากไปหา อยากบินข้ามฟ้าไปเจอ แต่ก็เพียงละเมอพร่ำเพ้อรำพัน คอยแต่คืนแต่วัน อ้ายจะบินข้ามฟ้ากลับมาในกลอนลำ ห่วงพี่ที่คูเวตจินตรา พูนลาภวิตกกังวลว่าคนรักของเธอจะตกเป็นเชลยสงครามระหว่างอิรักกับคูเวตไปแล้ว หรือว่ามีแฟนใหม่ในต่างแดนไปแล้ว เธอแสดงความเป็นห่วงเป็นใยว่า หากยังไม่ตายพี่ชายจดหมายส่งมา ห่วงพี่นักหนาข้าวปลากินไม่ลงเลย ไปอยู่คูเวตมีเหตุอะไรพี่เอ๋ย ไม่กลับมาเลย หรือลงเอยกับใครหรือยัง

สายใยแห่งความผูกพันระหว่างคนพลัดถิ่น ณ แดนไกลกับพ่อแม่หรือคนรักผู้อยู่ทางบ้านสื่อสารกันด้วยการฝากหรือส่งสื่อสำคัญ 2 อย่าง ได้แก่ ส่งใจ” “ฝากใจหรือ ให้กำลังใจกับ ฝากเงินหรือ ส่งเงินใจกับเงินเป็นสื่อสำคัญที่สุดในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทางไกลและเสริมสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคมมิติต่างๆ เพลงของนักร้องลูกทุ่ง หมอลำและเพื่อชีวิตจำนวนมากกว่าได้ตอกย้ำความสำคัญของใจ/กำลังใจกับเงิน เช่น ศิริพร อำไพพงศ์ ไมค์ ภิรมย์พร จินตรา พูนลาภ พี สะเดิด และต่าย อรทัย ต่างก็มีเพลงเอกที่ย้ำเน้นว่า คนพลัดถิ่นแสดงความผูกพันกับบ้านเกิดเมืองนอน คนรักและพ่อแม่พี่น้องทางบ้านด้วยการส่งเงินและส่งใจให้กันและกัน พวกเขาและเธอส่งเงินกลับบ้านเพื่อช่วยเหลือจุนเจือทางเศรษฐกิจและการอุปโภคบริโภค ส่วนการพูดคุย ถามไถ่ ส่งใจ ส่งรอยยิ้ม ส่งรูปถ่าย ส่งจดหมาย หรือข้อความทางโทรศัพท์มือถือเป็นการเชื่อมโยงความผูกพันในทางใจผ่านสัญลักษณ์และจินตนาการ ในเพลง ฝากใจใส่ซองกิตติศักดิ์ ไชยชนะบอกว่า ลูกส่งดวงใจมาให้แม่พร้อมเงินฝาก ถึงลูกลำบากแต่อยากให้แม่สบาย แม่อยู่ข้างหลังเบางานลงมั่งได้ไหม ห่วงว่าเกิดเป็นไรไป ลูกก็อยู่ไกลใครจะดูแลในเพลง เพื่อแม่แพ้บ่ได้” (ศิริพร อำไพพงศ์) คำสอนของแม่ยังอยู่ในใจของสาวแรงงานพลัดถิ่นจากอีสานเพราะว่าเธอ เขียนคำแม่สอนเป็นกลอนติดไว้ข้างฝา เลิกงานกลับมาอ่านทวนให้จำคำวอนเรียนรู้สู้งานอย่าลืมบ้านเกิดเมืองนอน ครอบครัวเรายังเดือดร้อนแม่พร่ำสอนก่อนไกลบ้านมาเงินที่แรงงานสาวหนุ่มส่งกลับบ้านเป็นทั้งสัญลักษณ์แทนความรักและความผูกพัน และกำลังทางเศรษฐกิจของครอบครัว แรงงานก่อสร้างไทยในสิงคโปร์ที่ผมมีโอกาสสัมภาษณ์แบ่งเงินรายได้ประมาณร้อยละ 70-80 ของเงินได้แต่ละเดือนเพื่อส่งกลับบ้านโดยการโอนเงินผ่านบริการส่งเงินของบริษัทเอกชนและโอนเงินผ่านธนาคาร พวกเขาตอกย้ำให้เห็นถึงภาระความรับผิดชอบต่อครอบครัวต้องมาก่อนความสุขเล็กน้อยส่วนตัว พวกเขาเป็นผู้นำและกำลังหลักของครอบครัว ขณะเดียวกันก็การส่งเงินกลับยังเป็นการตอกย้ำความภาคภูมิใจในฐานะลูกผู้ชาย การที่ได้ส่งเงินกลับบ้าน เป็นอิหยังที่ผมรู้สึกภูมิใจหลายที่สุดในชีวิตหนุ่มก่อสร้างจากขอนแก่นเล่าให้ผมฟังด้วยหัวใจพองโตและใบหน้าเปื้อนยิ้ม

ทั้งใจและเงินต่างก็มีพื้นฐานมาจากคำสัญญาหรือพันธะสัญญาต่างๆ ที่ทั้งสองฝ่ายมอบไว้ให้แก่กัน ในเพลง โบว์รักสีดำ” (ศิริพร อำไพพงศ์ ขับร้อง) เล่าถึงความปวดร้าวของหญิงสาวที่ถูกหนุ่มลืมคำมั่นสัญญาอย่างประชดประชันว่า สัญญาไม่เป็นสัญญา ได้พบดอกฟ้าแล้วลืมดอกฟักทอง ไม่หันมาเหลียวเกี่ยวข้อง โบว์ผูกใจน้องเป็นโบว์รักสีดำในเพลง ทางเบี่ยงอย่าเสี่ยงเดิน” (ครูสลา คุณวุฒิ ประพันธ์ ไมค์ ภิรมย์พร ขับร้อง) ชายหนุ่มบอกว่า ลาพ่อลาแม่ลาแล้วทุกคน จะขอดิ้นรนหนีจนแล้วนอ แฟนสาวคนดีน้องพี่ช่วยรอ เก็บเงินได้พอจะมาขอนงเยาว์ในเพลง โทรหาแหน่เด้อและ กินข้าวหรือยัง” (ครูสลา คุณวุฒิ ประพันธ์ ต่าย อรทัย ขับร้อง) สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของโทรศัพท์มือถือในการติดต่อสื่อสารพูดคุย ถามไถ่บอกเล่าความห่วงใย ให้กำลังใจซึ่งกันและกันของคนรักที่ทำงานในเมืองด้วยกัน แต่ต่างที่ทำงานกัน ดังที่สะท้อนในเนื้อเพลงดัง 2 เพลงต่อไปนี้ เบอร์เก่าเวลาเดิมช่วยเติมเสียงให้ได้ยิน เป็นวิตามินสร้างภูมิคุ้มกันความเหงา บ่ได้ฟังเสียงคือจั่งบ่ได้กินข้าว คึดฮอดบวกกับความเหงานั่งเฝ้ามือถือคือบ้า” (โทรหาแหน่เด้อ) และ งานหนักบ่อ้าย เจ้านายใจดีอยู่บ้อ ค่าจ้างเคยขอ ได้ตามที่รอบ้างไหม สู้งานนานเนิ่น เหงื่อแลกเงินฟังแล้วเห็นใจ สุขภาพพลานามัย เป็นจังใด๋ห่วงใยเหลือเกิน” (กินข้าวหรือยัง) แน่นอนว่า รูปแบบและวิธีการฝากส่งเงินและส่งความห่วงใยทางใจย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามช่องทางการสื่อสารและการคมนาคมขนส่ง ซึ่งกำหนดโดยเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นสำคัญ

4. การกลับไปเยือนแต่ไม่ใช่การกลับไปอยู่ คนพลัดถิ่นกลับบ้านด้วยความตื่นเต้นดีอกดีใจที่จะได้กลับคืนถิ่นเกิดบ้านเก่า ได้กลับไปหาอ้อมกอดของพ่อแม่พี่น้องและคนรักที่อบอุ่น แต่ขณะเดียวกัน พวกเขาก็พกพาความกระอักอระอ่วนใจกลับไปด้วยทุกครั้ง การกลับบ้านเป็นมายาคติของคนพลัดถิ่น เพราะพวกเขาตระหนักดีว่า การย้ายถิ่นและการพลัดพรากเปรียบได้กับการเดินทางของสายน้ำ ไม่มีใครจุ่มเท้าลงไปในสายน้ำสายเดิมได้เป็นครั้งที่สอง เมื่อพวกเขากลับบ้าน ทั้งตัวคนพลัดถิ่นและผู้คนที่บ้านต่างก็มีชีวิตของตัวเอง วันเวลานำมาซึ่งความเป็นแปลงของทั้งสองฝ่าย คนพลัดถิ่นต่างก็ตระหนักดีว่า การกลับบ้านเป็นเพียงการกลับไปเยี่ยมยามเพียงชั่วครู่ชั่วยาม ส่วนใหญ่ไม่ได้กลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิดเมืองนอนอย่างถาวรด้วยเหตุผลหลายอย่าง โดยเฉพาะหน้าที่การงาน คนพลัดถิ่นโดยเฉพาะแรงงานทั้งในและต่างประเทศต่างก็ต้องยืดเวลาทำงานเก็บเงินเก็บทอง สร้างตัว สร้างครอบครัว และอยู่อาศัยแบบไกลบ้านต่อไปอีก

คนพลัดถิ่นดิ้นรนที่จะมีชีวิตอยู่ใน 2 โลกระหว่างโลกที่เรียกว่า ถิ่นฐานบ้านเกิดกับโลกถิ่นที่อยู่ที่ทำงานปลายทาง การกลับบ้านเป็นเรื่องสมมติชั่วคราวพอๆ กับการทำงานและใช้ชีวิตในเมืองหรือต่างแดน พวกเขาและเธอไม่อาจจะบอกกับตัวเองได้อย่างสนิทใจว่า ที่ไหนคือบ้านที่แท้จริง ที่ไหนคือที่ที่พวกเขาและเธอได้ใช้พักกายพักใจในระยะยาว ทุกอย่างดูเหมือนจะเป็นโลกของความชั่วคราวและเป็นเงื่อนไขชีวิตที่พวกเขาและเธอไม่อาจเป็นคนบงการได้อย่างเต็มตัว ในเพลง กลับไปสงกรานต์บ้านนา” (ซูซู ระพินทร์ พุฒิชาติ ขับร้อง) และ สัญญาหน้าฮ้าน” (ครูสลา คุณวุฒิ ประพันธ์ ต่าย อรทัย ขับร้อง) ต่างก็บรรยายถึงบรรยากาศสนุกสนานช่วงกลับบ้านหน้าเทศกาล เพลงแรกเล่าเรื่องบรรยากาศการเดินทางว่า ตลาดหมดชิตรถติดซุปเปอร์ไฮเวย์ จะไปไหนกันเดินทางแบกถุงทะเล หยุดวันสงกรานต์สนุกสนานเมษาฮาเฮ ได้เที่ยวได้เตร่กลับบ้านอีสานบ้านนา หนึ่งปีมีครั้งหมู่เฮาได้พักหยดงาน อีสานเป็นล้านแรงงานคนหนุ่มสาว ไปเล่นสงกรานต์กราบไหว้คนแก่คนเฒ่า เมืองกรุงเงียบเหงาแต่โคราชมันอลวนส่วนเพลงหลังบอกว่า หน้าฮ้านหมอลำจำได้หรือเปล่า ลานวัดบ้านเฮาคืนบุญผ้าป่า เต้นกันโหง่ง้องฉลองการกลับนา หมู่เฮาสัญญาสิกลับมาทุกปี บุญแล้วจั่งหนีหากินเมืองใหญ่ แยกย้ายกันไปตามเส้นทางที่มี ทำงานไกลถิ่นหวังกินดีอยู่ดีหนึ่งครั้งหนึ่งปีมีนัดกันที่บ้านเฮาเนื้อเพลงเหล่านี้ได้เปิดเผยถึงมายาคติของคนพลัดถิ่น พวกเขามีบ้านอยู่ในใจ ในความคิดคำนึงและจินตนาการ แต่บ้านในความเป็นจริงนั้นเป็นสิ่งที่ มีก็เหมือนไม่มีเพราะชีวิตพวกเขาอยู่ในท่ามกลางการเดินทางและการทำงานดิ้นรนเอาตัวรอดในสถานที่ที่ห่างไกลออกไป ซึ่งพวกเขามีสถานะเป็นเพียงแขกทั้งที่ได้รับเชิญหรือดิ้นรนไปหางานหาเงินด้วยตนเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น