ขอเชิญทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเราในการสร้า้งสังคมแห่งการเรียนรู้...

หากต้องการลงบทความ/งานเขียนของท่าน สามารถแจ้งความประสงค์ได้ทางเว็บบอร์ด หรือทางอีเมล์แอดเดรส; po_kenchin@hotmail.com
หรือจะสมัครสมาชิกอย่างเดียวก็ได้นะครับ

13 มีนาคม 2555

ดนตรีอีสาน แรงงานอารมณ์ และคนพลัดถิ่น (Popular Music, Emotional Labor, and Isan Diaspora) ตอนที่ 5


พัฒนา กิติอาษา 



บทสรุป:
ดนตรีสมัยนิยมและสถาบันทางสังคมของคนอีสานพลัดถิ่น

ผมขอย้อนกลับไปหาโจทย์หลักที่ผมตั้งไว้ตอนต้นบทความ ทำไมดนตรีอีสานจึงได้รับความนิยมอย่างล้นหลามและต่อเนื่องมายาวนานโดยเฉพาะในรอบ 40-50 ปีที่ผ่านมา และดนตรีสมัยนิยมแนวอีสานกำลังบอกอะไรกับสังคมไทยในโลกยุคโลกาภิวัตน์ คำตอบที่ชัดเจนที่สุดต่อคำถามชุดนี้ก็คือ ดนตรีสมัยนิยมแนวอีสานประสบความสำเร็จค่อนข้างมากในการพัฒนาตัวเองให้กลายเป็น เรื่องเล่าร้อยกรองบันทึกอารมณ์ความรู้สึกและจินตนาการในระหว่างการเดินทางของคนไกลบ้าน” (emotional and musical/poetical narratives of people in their labor diaspora) และเป็น สถาบันทางสังคมของคนพลัดถิ่น” (migrant/diasporic institution) อย่างเต็มตัว เนื้อร้องและท่วงทำนองของเพลงดนตรีแนวอีสาน เช่น ลูกทุ่ง หมอลำ และเพลงเพื่อชีวิต จำนวนหนึ่งได้ถูกผลิตขึ้นและได้รับความนิยมอย่างมากในชุมชนคนพลัดถิ่นอีสานและผู้คนที่อยู่ติดถิ่นที่แต่มีความเกี่ยวข้องกับการเดินทางหรือการพลัดพรากถิ่นที่อยู่ด้วยเหตุผลต่างๆ คงจะไม่เป็นการกล่าวเกินเลยความจริงมากนัก ถ้าจะบอกว่า ดนตรีสมัยนิยมแนวอีสานคือดนตรีที่ผลิตออกมารับใช้หรือขายให้กับผู้คนในวัฒนธรรมการพลัดถิ่น ทั้งที่เป็นถิ่นต้นทางและถิ่นปลายทาง ทั้งที่เป็นบ้านเกิดเมืองนอนและในเมืองหรือต่างประเทศที่เป็นที่ทำงานและที่พักพิงของคนพลัดถิ่นข้ามชาติข้ามแดน

ผมใช้คำว่า เรื่องเล่าร้อยกรองและ สถาบันทางสังคมของคนพลัดถิ่นในความหมายเชิงมานุษยวิทยาศึกษาคนพลัดถิ่นและแรงงานอพยพ ดนตรีสมัยนิยมเป็นเรื่องเล่าเชิงร้อยกรองที่สื่อสะท้อนอารมณ์และสะท้อนห้วงคิดคำนึงและจินตนาการของมนุษย์ในชะตากรรมของการพลัดพราก ดนตรีพูดกับคนฟังด้วยภาษากวี ดนตรีสมัยนิยม (ทั้งส่วนที่เป็นรสคำ รสความ ท่วงทำนอง และเสียงของตัวโน้ต) ช่วยยกระดับความเป็นจริงในชีวิตประจำวันขึ้นเป็นภาพสะท้อนความคิดคำนึงและความเข้าใจชีวิตในระดับที่สูงขึ้นเป็นอุดมคติหรือลุ่มลึกด้วยอารมณ์ความรู้สึกแบบต่างๆ เช่น โหยหาอาวรณ์ โศรกเศร้าเสียใจ อิ่มอกอิ่มใจ ปลาบปลื้ม หรือตลกขำขัน ฯลฯ ในขณะที่สถาบันและความเป็นสถาบันสังคมย่อมเกิดจากรากฐานความสัมพันธ์ เครือข่าย และโครงสร้างทางสังคมในรูปแบบต่างๆ ในวัฒนธรรมดนตรีสมัยนิยมย่อมประกอบด้วยเครือข่ายของครูเพลง ศิลปิน นักดนตรี นายทุนหรือค่ายธุรกิจบันเทิงเป็นผู้รับผิดชอบในการผลิตสินค้าเพลงดนตรีทั้งหลายออกสู่ตลาด ขณะเดียวกัน วัฒนธรรมดนตรีสมัยนิยมของอีสานก็เติบโตและขยายตัวในท่ามกลางคลื่นขบวนของแรงงานอีสานพลัดถิ่นในฐานะที่เป็นสถาบันที่สำคัญของคนพลัดถิ่น ดนตรีสมัยนิยมได้เล่าเรื่องและสะท้อนเนื้อหาที่ครอบคลุมเกี่ยวกับถิ่นฐานบ้านเกิด การเดินทางและความทุกข์ยากอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการพลัดพราก ความคิดถึงผูกพัน และการเดินทางกลับไปเยือน

วัฒนธรรมดนตรีสมัยนิยมในฐานะที่เป็นสถาบันสังคมและตัวบทร้อยกรองบันทึกน้ำเสียงและท่วงทำนองของแรงงานอารมณ์ของผู้คนในสังคมโลกาภิวัตน์ ดนตรีสมัยนิยมทำงานเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนพลัดถิ่นและบรรดากองทัพแรงงานในลักษณะที่เป็นผู้กระทำการในหลายลักษณะ ได้แก่
ประการแรก ดนตรีสมัยนิยมอีสานทำหน้าที่ เล่าเรื่องสะท้อนภาพชีวิตและอารมณ์ความรู้สึกของคนพลัดถิ่นให้บรรดาคนพลัดถิ่นด้วยกัน และผู้คนที่อยู่ในเครือข่ายของการเดินทางพลัดพราก การไปใช้ชีวิตทำงานต่างถิ่น และการสื่อสารความผูกพันโหยหาอาวรณ์เพื่อเชื่อมโยงจินตนาการและความทรงจำเกี่ยวกับถิ่นฐานบ้านเกิดกับถิ่นปลายทางเข้าด้วยกัน ในที่นี้ ผมอ่านตัวบทเนื้อร้องและการแสดงดนตรีสมัยนิยมตามแนวทางของคลิฟฟอร์ด เกียร์ตซ์ (Clifford Geertz) ท่านได้ตีความนาฎกรรมการชนไก่ของผู้ชายชาวเกาะบาหลีว่า เป็น การอ่านทำความเข้าใจโลกของชาวบาหลีจากประสบการณ์ของชาวบาหลีเอง นาฎกรรมการชนไก่จึงเป็นเรื่องเล่าของพวกเขาที่พวกเขาเล่าให้ตัวเองฟัง” (a story they tell themselves about themselves)  เนื้อร้องและท่วงทำนองดนตรีสมัยนิยมอีสานทำหน้าที่ทั้งวิพากษ์วิจารณ์ บอกกล่าว ด่าทอ และปลอบประโลมชีวิตและชุมชนของผู้คนในสถานการณ์เดินทางและพลัดพราก ดนตรีสมัยนิยมแนวอีสานจึงเป็นการยกระดับและเปลี่ยนประสบการณ์มนุษย์แบบธรรมดาสามัญในชีวิตประจำวันให้อยู่ในมิติของคีตศิลป์ อันเป็นภาษาสื่อสารที่ทรงพลังและเร้าอารมณ์ตอบสนอง

ประการที่สอง ดนตรีสมัยนิยมแนวอีสานเป็นผลผลิตของและทำหน้าที่ในกระบวนการจัดการ แรงงานอารมณ์ในชีวิตประจำวัน” (everyday life emotional labor) ของผู้คนในวัฒนธรรมพลัดถิ่น มโนทัศน์แรงงานอารมณ์ในความหมายจากต้นฉบับของอาร์ลี่ ฮอกส์ไชลด์ (Arlie Hoschild) หมายถึง การจัดการการแสดงออกอารมณ์ความรู้สึกผ่านสีหน้าท่าทางและภาษากาย ซึ่งสังเกตเห็นได้ชัดเจนในที่สาธารณะ”  แรงงานอารมณ์เป็นเรื่องของการจัดการการแสดงออกซึ่งอารมณ์ความรู้สึกในสอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ งานที่ทำ และบทบาทหรือสถานภาพทางสังคมของแต่ละคน แรงงานอารมณ์เป็นเรื่องจำเป็นในชีวิตประจำวันสำหรับทุกคน แต่ในอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการบริการลูกค้าหรือการทำงานรับใช้ต่างๆ รวมทั้งงานโรงแรม งานบ้าน งานให้บริการรักษาพยาบาล ฯลฯ พนักงานต้องพิถีพิถันเรื่องการใช้แรงงานอารมณ์มากเป็นพิเศษ ผมประยุกต์เอามโนทัศน์นี้มาใช้กับดนตรีในลักษณะที่ว่า ดนตรีเป็นหนึ่งในสื่อที่ผู้คนใช้ในการต่อรอง ระบาย หรือจัดการกับอารมณ์ของตนโดยเฉพาะในสถานการณ์พลัดถิ่นที่อยู่ห่างไกลบ้านเรือนและผู้คนที่ตนเองคุ้นเคย ดนตรีสมัยนิยมอีสานแท้ที่จริงเป็นดนตรีเพื่อชีวิตของคนพลัดถิ่นไกลบ้านไปทำมาหากินยังต่างถิ่นต่างแดน ท่วงทำนองของดนตรีอีสานเป็นท่วงทำนองของการสื่อสารที่ในบางอารมณ์คนพลัดถิ่นต้องการจะพูดกับตัวเองด้วยความน้อยใจในวาสนาและโชคชะตา พร่ำบ่นสนทนากับคนรอบข้าง ปลอบประโลมความเปลี่ยวเหงา หรือระบายภาวะความเก็บกดบีบคั้นของความทุกข์ทน ในบางอารมณ์ก็อยากจะสนุกสนานแบบคนบ้านนอกที่เคยมีชีวิตอยู่กับท้องไร่ท้องนาและวิถีหมู่บ้าน และในบางอารมณ์ก็อยากจะสื่อความในใจถึงใครสักคนที่อยู่แดนไกลทั้งที่เป็นคนรัก เพื่อนสนิท ลูกเมีย หรือพ่อแม่พี่น้อง

ประการที่สาม ดนตรีสมัยนิยมเป็นเครื่องมือต่อรองระยะห่าง (negotiating/rationalizing distance) ทั้งที่เป็นระยะห่างทางภูมิศาสตร์ ระยะห่างในความคิดฝันจินตนาการ และระยะห่างทางสังคม ดนตรีช่วยปลอบประโลมใจ แต่ดนตรีทำงานโดยการต่อรองผ่านเหตุผลในเรื่องเล่าของเนื้อร้องและการผลิตความหมายเชื่อมโยงเรื่องเล่าเข้ากับชุดประสบการณ์ชีวิตและจินตนาการของคนฟังหรือชมดนตรีแต่ละคน ชีวิตและชุมชนของคนพลัดถิ่น คนไกลบ้าน และคนเดินทางสัญจรจำเป็นต้องอาศัยเสียงเพลงและเสียงดนตรีที่พวกเขาและเธอคุ้นเคยขับกล่อมยามเหงา เร้าอารมณ์ให้ฮึดสู้ ร้องไห้หลั่งน้ำตามยามกลั้นไม่ไหว รวมทั้งผิวปากฮัมเพลงหรือกระโดดโลดเต้นไปตามจังหวะทำนองเพลงดนตรีที่ถูกใจ พลานุภาพของดนตรีทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อแต่ละคนได้ต่อรองและจัดการกับระยะห่างของพื้นที่และเวลาแล้ว อย่างน้อยก็ในสำนึกและจินตนาการของแต่ละคน

ประการที่สี่ ดนตรีสมัยนิยมเปิดพื้นที่ในการแสดงออกตัวตนที่หลากหลายและทับซ้อนของคนพลัดถิ่น ตัวตนโดยเฉพาะในส่วนที่ถูกกำกับโดยเพศสภาวะและอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ในสถานการณ์พลัดถิ่นมักจะถูกกดบังคับ หรือกดดันให้เผชิญกับสถานการณ์ชายขอบ ความเป็นชนกลุ่มน้อยในสังคม และภาวะไร้อำนาจต่อรอง ในพื้นที่สาธารณะ เช่น ที่ทำงาน หรือที่ต่างๆ ที่คนพลัดถิ่นปรากฏตัว ในที่นี้ดนตรีทำงานเหมือนกับความคิดของโฮมิ บาบา (Homi Bhaba) ที่ว่า วัฒนธรรมเป็นยุทธวิธีเพื่อต่อสู้เอาตัวรอดทั้งในสถานการณ์ข้ามชาติและสถานการณ์ที่ต้องแปลความหมาย”  พวกเขาและเธอมักจะตระหนักรู้ถึงภาวะต่างๆ ข้างต้น พวกเขาและเธออาจขาดความมั่นใจ ไม่เป็นตัวของตัวเอง รวมทั้งเกิดความอึดอัดแปลกแยกทั้งในสถานการณ์ที่ตกเป็นคนแปลกหน้าและสมาชิกสังคมย่อยที่ตนเองคุ้นเคย ดนตรีสมัยนิยมจึงเป็นเครื่องมือและยุทธวิธีทางวัฒนธรรมชนิดหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นเร้าให้ผู้คนเปิดเผยและผลิตซ้ำตัวตนทางวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ และเพศสภาวะของคนพลัดถิ่นที่ชัดเจน ตัวอย่างสำคัญในที่นี้ ได้แก่ การใช้ดนตรีสมัยนิยมเป็นเครื่องมือหรือพื้นที่ประกาศความเป็นตัวของตัวเองทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมของคนอีสานพลัดถิ่น ซึ่งแตกต่างและตอบโต้กับความทันสมัยแบบกรุงเทพฯ และทัศนะดูถูกเหยียดหยามต่างๆ ที่มีต่อคนเชื้อสายลาวในอีสานและต่อคำว่า ลาวโดยทั่วไป

ประการที่ห้า ดนตรีสมัยนิยมแนวอีสสานช่วยเปิดเผย ประกาศยืนยันและตอกย้ำอัตลักษณ์วัฒนธรรมของตัวเองต่อโลกกว้าง ในกรณีของคนพลัดถิ่นส่วนใหญ่ ดนตรีทำงานในลักษณะที่เร่งเร้าและสร้างความมั่นใจให้กับพวกเขาและเธอโดยการเปิดเผยช่องทางของความเป็นไปได้ที่อนุญาตให้คนพลัดถิ่นพัฒนาลักษณะทวิลักษณ์ ของรูปการณ์จิตสำนึกและอัตลักษณ์ชาติพันธุ์และวัฒนธรรม (double/split identity or consciousness)  ในกรณีคนพลัดถิ่นอีสาน พวกเขาเป็นคนอีสานหรือเป็นคนลาวในทางวัฒนธรรมและภูมิภาคนิยม แต่ขณะเดียวกัน พวกเขาและเธอก็เป็นพลเมืองในสังกัดรัฐไทยได้รับการปลูกฝังจิตสำนึกพลเมืองไทย ความคิดชาตินิยมแบบรัฐราชการไทย และความทันสมัยแบบไทยๆ ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงเทพฯ  พวกเขาและเธอภักดีต่อต้นสังกัดชาติพันธุ์และวัฒนธรรมของตนเองควบคู่ไปกับภักดีต่อชุมชนชาติไทย ซึ่งตนเองเป็นพลเมืองโดยสมาชิกภาพอย่างเป็นทางการ พวกเขาและเธอใช้อัตลักษณ์ทั้งสองอย่างเป็นเสบียงสำคัญในการเดินทางข้ามชาติข้ามแดนและใช้ชีวิตแบบต่อสู้ดิ้นรนเสมือนเรือที่กำลังโครงเครงอยู่ในท่ามกลางคลื่นลมของกระแสโลกาภิวัตน์ ในแง่นี้ การทำความเข้าใจลักษณะทวิลักษณ์ที่ทับซ้อนของอัตลักษณ์อันเกิดจากการผลิต แลกเปลี่ยน และบริโภคดนตรีสมัยนิยมนั้น ช่วยเปิดโลกวิชาการโดยการปลดปล่อยวัฒนธรรมดนตรีออกจากพันธนาการของดินแดนหรือถิ่นที่และกรอบความคิดที่ยึดเอารัฐชาติและชาตินิยมเป็นศูนย์กลาง ชีวิตของดนตรีและผู้คนเดินทางข้ามชาติข้ามแดน ลื่นไหล หมุนเวียน และเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่เคยหยุดนิ่ง

ครูสลา คุณวุฒิคือ ครูเพลงลูกทุ่งอีสานระดับแนวหน้าของวงการฟ้าลูกทุ่งเมืองไทย แนวดนตรีของครูสลาคือการจับจุดอารมณ์เหงาเปล่าเปลี่ยวและความท้อแท้ต่างๆ ของคนไกลบ้าน คนจากบ้านห่างเมืองไปทำงานย่อมคิดถึงและเป็นห่วงทางบ้าน อยากได้กำลังใจ อยากมีพลังในการต่อสู้ชีวิตส่วนตัว ชีวิตหน้าที่การงานในเมือง หรือต่างประเทศ ท่านบอกว่าเพลงดนตรีมีหน้าที่ตรงนี้ ให้กำลังใจ ปลอบประโลม สร้างรอยยิ้ม เติมแรงใจ เปลี่ยนความเปลี่ยวเหงา เศร้าสร้อย หรือความวิตกกังวลให้เป็นพลังในการต่อสู้ใช้ชีวิต สื่อเสียงเพลงก็น่าจะมอบกำลังใจและมอบสิ่งดีๆ ให้แก่กันและกัน  แง่คิดส่งท้ายที่ผมได้เรียนรู้จากครูสลา แล้วนำมาคิดใคร่ครวญต่อยอดก็คือ ดนตรีไม่เพียงแต่ใช้ปลอบประโลมความเหงาและว้าเหว่ หรือเร้าอารมณ์ให้มีพลังสู้กับงานและสู้กับชีวิต หากยังช่วยคนพลัดถิ่นสร้างและต่อรองความหมายทางวัฒนธรรมและจรรโลงความพยายามในการเชื่อมโลกของบ้านเกิดเมืองนอน ณ ถิ่นต้นทางกับโลกต่างแดน ณ ถิ่นปลายทาง ดนตรีสมัยนิยมแนวอีสานได้รับความนิยมอย่างล้นหลามจากบรรดามิตรรักแฟนเพลงจำนวนมหาศาลมาอย่างยาวนานก็เพราะว่า แนวดนตรีดังกล่าวได้พัฒนาตัวเองให้กลายเป็น เรื่องเล่าร้อยกรองและ สถาบันสังคมที่ขายได้และกระแทกกระทั้นอารมณ์อ่อนไหวของคนพลัดถิ่นและคนผู้อยู่เบื้องหลังอีกเรือนแสนเรือนล้าน ดนตรีสมัยนิยมแนวอีสานให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการหล่อเลี้ยงสายใยชีวิต อัตลักษณ์ จินตนาการ และความทรงจำของคนอีสานพลัดถิ่นภายใต้บริบทของโลกยุคโลกาภิวัตน์และยุคสมัยแห่งการเดินทางข้ามชาติข้ามแดน

บรรณานุกรม

กลิ่นฟาง-ลอมฟืนคืนมนต์เพลงลูกทุ่ง”. 2542. ผู้จัดการรายวัน. 24 กุมภาพันธ์.
จารุวรรณ ธรรมวัตร. 2528. บทบาทของหมอลำต่อสังคมอีสานในช่วงกึ่งศตวรรษ. มหาสารคาม: สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม.

จินตนา ดำรงเลิศ. 2533. วรรณกรรมเพลงลูกทุ่ง. กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ฐิรวุฒิ เสนาคำ, (บรรณาธิการ) 2549. เหลียวหน้าแลหลังวัฒนธรรมป๊อป. เอกสารวิชาการลำดับที่ 50. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.

นักเพลงลูกข้าวเหนียวรวมพลประท้วงนักเขียนซีไรท์ หยามหมิ่นเพลงลูกทุ่งอีสาน”. 2545. คมชัดลึก. 4 มีนาคม: 7.
นิธิ เอียวศรีวงศ์. 2538. “เพลงลูกทุ่งในประวัติศาสตร์วัฒนธรรมไทย.ใน โขน คาราบาว น้ำเน่าและหนังไทย: ว่าด้วยเพลง ภาษา และนานามหรสพ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, หน้า 19-63.
นิธิ เอียวศรีวงศ์. 2538. “คาราวานหรือคาราบาว: เหลา-สด-ไม่เนื้อ”. ใน โขน, คาราบาว, น้ำเน่าและหนังไทย: ว่าด้วยเพลง ภาษาและนานามหรสพ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, หน้า 64-77.
ธีระภาพ โลหิตกุล. 2541. ปฐมบทเพลงลูกทุ่งและเพลงเพื่อชีวิตไทย พ.ศ. 2480-2500. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์โสมสาร.
พัฒนา กิติอาษา. 2545. คนข้ามแดน: นาฏกรรมชีวิตและการข้ามแดนในวัฒนธรรมอีสาน. วารสารสังคมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 15 (1): 109-166.
ไพบูลย์ แพงเงิน. 2534. กลอนลำ: ภูมิปัญญาของอีสาน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์.
ไพวรินทร์ ขาวงาม. 2545. ผมจรรอนแรมจากลุ่มน้ำมูล. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เนชั่น.
เลิศชาย คชยุทธ. 2538. ไทยลูกทุ่ง: ชีวิตและงานเพลงอมตะของเหล่าปรมาจารย์ ราชันและราชินีลูกทุ่ง. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน.
วัฒน์ วรรลยางกูร. 2550. คีตกวีลูกทุ่ง ไพบูลย์ บุตรขัน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: แพรวสำนักพิมพ์.
วาณิช จรุงกิจอนันต์. 2539. ลูกทุ่ง โรงถ่าย นิยายรัก. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน.
วาณิช จรุงกิจอนันต์. 2543. “ลูกทุ่งตายแล้ว”. มติชนสุดสัปดาห์ 20, 1044 (21 สิงหาคม), หน้า 69.
แวง พลังวรรณ. 2545. ลูกทุ่งอีสาน: ประวัติศาสตร์อีสาน ตำนานเพลงลูกทุ่ง. กรุงเทพฯ: เรือนปัญญา.
ศิริพร กรอบทอง. 2547. วิวัฒนาการเพลงลูกทุ่งในสังคมไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์พันธกิจ.
สุจิตต์ วงษ์เทศ, บรรณาธิการ. 2548. ลาวดวงเดือน วังท่าเตียน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน.
สุจิตต์ วงษ์เทศ. 2548. “คำนำเสนอ ลาวดวงเดือน วังท่าเตียน”. ใน ลาวดวงเดือน วังท่าเตียน. สุจิตต์ วงษ์เทศ, บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน.
สุจิตต์ วงษ์เทศ. 2532. ร้องรำทำเพลง: ดนตรีและนาฏศิลป์ชาวสยาม. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน.
สุนารี ราชสีมา. 2551. มือถือไมค์ ใจร้องไห้. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: เมโทรพับลิชชิ่ง.
สุริยา สมุทคุปติ์, พัฒนา กิติอาษา, นันทิยา พุทธะ, และเกษมศรี สิงห์คก. 2535. หนังประโมทัยอีสาน: การแพร่กระจายและการปรับเปลี่ยนทางวัฒนธรรม. ขอนแก่น: ห้องปฏิบัติการทางมานุษยวิทยาของอีสาน, ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์, มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
สุริยา สมุทคุปติ์, พัฒนา กิติอาษา, และศิลปกิจ ตี่ขันติกุล. 2540.  แต่งองค์ทรงเครื่อง: ลิเกในวัฒนธรรมประชาไทย. นครราชสีมา: ห้องไทยศึกษานิทัศน์, สาขาวิชาศึกษาทั่วไป, สำนักวิชาเทคโนโลยีสังคม, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี.
สุริยา สมุทคุปติ์, พัฒนา กิติอาษา, สถาพร อุ่นแดง, ปรีชา ศรีไชย, นัฐวุฒิ สิงห์กุล, และศิริพร ไชยเลิศ. 2544. คนซิ่งอีสาน: ร่างกาย กามารมณ์ อัตลักษณ์และเสียงสะท้อนของคนทุกข์ในหมอลำซิ่งอีสาน. นครราชสีมา: ห้องไทยศึกษานิทัศน์, สาขาวิชาศึกษาทั่วไป, สำนักวิชาเทคโนโลยีสังคม, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี.
Adorno, Theodor and Max Horkheimer. 2002. Dialectic of Enlightenment. Standord: Stanford University Press.
Baily, John and Michael Collyer. 2006. “Introduction: Music and Migration”. Journal of Ethnic and Migration Studies. 32 (2):167-182.
Bhaba, Homi. 1995. “Freedom’s Basis in the Interminate”. In The Identity in Question, edited by John Rajchman. New York: Routledge, pp. 47-61.
Braziel, Jana Evans and Anita Mannur. 2003. “Nation, Migration, Globalization: Points of Contention in Diaspora Studies”. In Theorizing Diaspora, edited by Jana Evans Braziel and Anita Mannur. Oxford: Blackwell Publishing, pp. 1-22.
Clifford, James. 1994. “Diaspora”. Cultural Anthropology. 9: 302-338
Cohen, Robin. 1997. Global Diasporas: An Introduction. London: University College London Press.
Geertz, Clifford. 1973. “Deep Play: Notes on the Balinese Cockfight”. In The Interpretation of Cultures: Selected Essays. New York: Basic Books, pp. 412-453.
Hoschchild, Arlie. 1983. The Managed Heart: Commercialization of Human Feeling. Berkeley: University of California Press.
Jirattikorn, Amporn. 2006. “Lukthung: Authenticity and Modernity in Thai Country Music”. Asian Music 37, 1 (Spring/Winter):24-50.
Jirattikorn, Amporn. 1999. “Women, Modernity and Sexuality in the Contemporary Luktoong Song Genre in Thailand”. M.A., thesis, Southeast Asian Studies Programme, National University of Singapore.
Kirsch, Thomas. 1966. “Development and Mobility among the Phu Thai of Northeast Thailand.” Asian Survey. 6, 7: 370-378.
Kitiarsa, Pattana. 2008. “Thai Migrants in Singapore: State, Intimacy, and Desire”. Gender, Place and Culture 15, 6: 595-610.
Kitiarsa, Pattana. 2007. “Headnotes, Heartnotes, and Persuasive Ethnography of Thai Migrant Workers in Singapore”. Journal of the Mekong Society, Khon Kaen University 3, 1: 53-71. 
Kitiarsa, Pattana. 2006a. “Village Transnationalism: Cross-Border Identities among Thai Migrant Workers in Singapore.” ARI Working Paper Series No. 71 (Online Resource). November 2006. <http://www.ari.nus.edu.sg/docs/wps/wps06_071.pdf>
Kitiarsa, Pattana. 2006b. “Modernity, Agency, and Lam Sing: Interpreting ‘Music-Culture’ in Northeastern Thailand”. Crossroads: An Interdisciplinary Journal of Southeast Asian Studies 17 (2):34-65.
Lockard, Craig A. 1998. Dance of Life: Popular Music and Politics in Southeast Asia. Honolulu: University of Hawaii Press.
McCargo, Duncan and Krisadawan Hongladarom. 2004. “Contesting Isan-ness: Discourses of Politics and Identity in Northeast Thailand”. Asian Ethnicity. 5, (2):220-234.
McKeown, Adam. “Conceptualizing Chinese Diasporas, 1842 to 1949”. The Journal of Asian Studies. vol. 58, no. 2 (May 1999):306-337.
Merriam, Alan. 1964. The Anthropology of Music. Evanston: Northwestern University Press.
Mills, Mary Beth. 1995. “Attack of the Widow Ghosts: Gender, Death, and Modernity in Northeast Thailand.” In Bewitching Women, Pious Men: Gender and Body Politics in Southeast Asia. Aihwa Ong and Michael Peletz, eds. 244-273. Berkeley, University of California Press.
Mills, Mary Beth. 1997. “Contesting the Margins of Modernity: Women, Migration, and Consumption in Thailand.” American Ethnologist. 24, 1 (February):37-61.
Phillips, Herbert P. 1973. “Some Premises of American Scholarship on Thailand”. In Foreign Values and Southeast Asian Scholarship, edited by Joseph Fisher. Berkeley, California: Center for South and Southeast Asian Studies, University of California, pp. 64-81.
Safran, William. 1991. “Diaspora in Modern Societies: Myths of Homeland and Return”. Diaspora 1, 1: 83-84.
Siriyuvasak, Ubonrat. 1990. “Commercializing the Sound of the People: Pleng Lukthoong and the Thai Pop Music Industry”. Popular Music. 9, 1: 61-77.
Tololyan, Khachig. 1996. “Rethinking Diaspora(s): Stateless Power in the Transnational Moment”. Diaspora. 5, 1: 3-36.
Um, Hae-kyung. 2005. “Introduction: Understanding Diaspora, Identity and Performance”. In Diasporas and Interculturalism in Asian Performing Arts: Translating Traditions, edited by Hae-kyung Um. London: RoutledgeCurzon, 2005, pp. 1-13.
Winichakul, Thongchai. 1994.  Siam Mapped: A History of the Geo-body of a Nation. Honolulu: University of Hawaii Press.

3 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ23 พฤษภาคม 2556 เวลา 12:12

    And customers, he said, must be able to find and access content that they desire.
    This software can convert DVD to various video formats such as MPEG-4, AVI, WMV, FLV,
    3GP, VOB, etc. In this day and age it is impossible to
    stay on top of all the latest pieces of technology.


    Also visit my web site :: apple tv review

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ23 พฤษภาคม 2556 เวลา 19:10

    (Women believe this is true, whether they're from Fargo, Miami, or Sioux City. 1: The $2,250 Swarovski-studded 32GB i - Pad, 5 Ridiculously Expensive Apple Gadgets You Won't Believe Are Real,
    and $20,000 Diamond Studded Apple IPad, the Most Expensive IPad Yet.
    The Macbook is a part of the transition of Apple-Intel
    products, aimed to be used for the consumers in the educational markets.



    Feel free to surf to my webpage ... mac air

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ24 พฤษภาคม 2556 เวลา 13:02

    Watches : The new Nike + Sports Watch GPS utilizes the Nike + sensing element based in the shoe
    for trailing time, rate, distance, small calories burnt as
    well as heart rate. Samsung is indeed implementing
    some great tactics to come up in this tough competitive
    phone markets. The Nexus S is unfortunately limited to 16GB of internal storage.


    Also visit my web blog :: samsung galaxy note 10.1

    ตอบลบ