ขอเชิญทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเราในการสร้า้งสังคมแห่งการเรียนรู้...

หากต้องการลงบทความ/งานเขียนของท่าน สามารถแจ้งความประสงค์ได้ทางเว็บบอร์ด หรือทางอีเมล์แอดเดรส; po_kenchin@hotmail.com
หรือจะสมัครสมาชิกอย่างเดียวก็ได้นะครับ

26 กันยายน 2554

แนวคิดทฤษฎีการพัฒนา

นายถิรนัย อาป้อง[1]

                1. ทฤษฎีความทันสมัย (Modernization Theory)
                2. ทฤษฎีการพึ่งพาระหว่างประเทศ (Dependency Theory)
                3. การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development)

ทฤษฎีความทันสมัย (Modernization Theory)
                นับตั้งแต่มีการสร้างวาทกรรมที่เรียกว่า “การพัฒนา” (Development)[2] โดยกรอบการพัฒนาที่มหาอำนาจตะวันตกกำหนดขึ้นมาเป็น วาทกรรม คือ ความรู้ชุดหนึ่งที่กำหนดความหมายและลักษณะของการพัฒนาและด้อยพัฒนา ซึ่งมีผลอย่างมากต่อความเป็นไปของทิศทางการพัฒนาในประเทศโลกที่สาม เพราะสถาบันการพัฒนาต่างๆ จะใช้กรอบความคิดที่ถูกกำหนดขึ้นมานี้เป็นฐานในการช่วยเหลือการพัฒนาในประเทศโลกที่สามให้เป็นทุนนิยม ซึ่งทฤษฎีการสร้างความทันสมัย (Modernization Theory) เป็นทฤษฎีที่สร้างขึ้นเพื่อมุ่งจะอธิบายการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมประเทศกำลังพัฒนามากที่สุด และได้กลายเป็นทฤษฎีกระแสหลักของการพัฒนาสังคมโลก
คำว่า “การสร้างความทันสมัย” มีผู้ให้คำจำกัดความไว้หลายอย่าง[3] เช่น
                เลวี่ (Levy) กล่าวว่าหมายถึง สัดส่วนของการใช้พลังงานจากสิ่งที่ไม่มีชีวิตมากกว่าจากสิ่งที่มีชีวิต รวมทั้งระดับความสามารถของมนุษย์ได้เพิ่มสูงขึ้นจากการรู้จักใช้เครื่องมือที่สลับซับซ้อน
                สเมลเซอร์ (Smelser) กล่าวว่าหมายถึง กระบวนการ 4 กระบวนการซึ่งมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องแก่กันและกัน อันได้แก่ (1) การเปลี่ยนจากการใช้เทคโนโลยีที่เรียบง่ายมาเป็นการใช้เทคโนโลยีที่มีพื้นฐานอยู่บนความรู้ทางวิทยาศาสตร์ (2) การเปลี่ยนแปลงจากการทำการเกษตรเป็นการผลิตเพื่อยังชีพมาเป็นการผลิตเพื่อการค้า ทั้งนี้รวมไปถึงการปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อขาย การที่เกษตรกรซื้อสินค้าจากตลาด (แทนที่จะผลิตเอง) และการใช้แรงงานรับจ้าง (3) การเปลี่ยนแปลงจากการใช้แรงงานคนและสัตว์มาเป็นการใช้เครื่องจักรกลเพื่อทำการผลิตสินค้า (อุตสาหกรรม) ป้อนตลาดที่มีขอบเขตกว้างกว่าชุมชนที่ทำการผลิตสินค้านั้นๆ (4) การเปลี่ยนแปลงทางสภาพนิเวศวิทยาจากชุมชนชนบทมาเป็นชุมชนเมืองหนาแน่นขึ้น
                ดังนั้น คำว่า การสร้างความทันสมัย จึงมิใช่กระบวนการทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ระบบนิเวศน์ และสังคมวัฒนธรรม
                มอร์ (Moore) กล่าวว่าหมายถึง การเปลี่ยนแปลงอย่างเบ็ดเสร็จจากสังคมแบบประเพณีนิยมมาสู่รูปแบบสังคมที่ก้าวหน้า มีความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ มีความสงบทางการเมือง เช่น ในประเทศตะวันตก อาจจะกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่าเป็นกระบวนการทำให้เป็นอุตสาหกรรม (Industrialization)
ทฤษฎีความทันสมัย ได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากนักสังคมวิทยายุคแรกๆ คือ เอมิล เดิร์คไคม์ (E.Durkhiem) และ แม็ก เวเบอร์ (Max Weber) ซึ่งทั้งสองท่านก็ได้รับอิทธิพลจาก ชาร์ล ดาร์วิน (Charles Darwin) ในเรื่องการวิวัฒนาการของสังคม เดอร์คไคม์ สนใจการเปลี่ยนแปลงสังคมมนุษย์ เขาได้เสนอว่ารูปแบบหลักของสังคมมี 2 รูปแบบ คือ สังคมแบบดั้งเดิม และสังคมสมัยใหม่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมแบบสมัยใหม่นี้ เดอร์คไคม์มองว่า เป็น “ความสัมพันธ์แบบอินทรีย์” (organic solidarity) ซึ่งอยู่ในกรอบแนวคิดวิวัฒนาการของ ชาร์ล ดาร์วิน นั่นเอง
ส่วนเวเบอร์ นั้นมองว่า การเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้นในยุโรป มีปัจจัยคือสิ่งที่เรียกว่า “ความเป็นเหตุเป็นผล” (rationality) ซึ่งสอดรับกับระบบทุนนิยมในตะวันตกเป็นอย่างดี ทั้งสองคนต่างมองว่า รูปแบบสังคมอาจแบ่งได้เป็น สังคมแบบเก่ากับแบบใหม่ และสังคมแบบใหม่ได้ให้กำเนิด “ปัจเจก” ซึ่งมีเสรีภาพมากกว่าอยู่ภายใต้สังคมประเพณีแบบดั้งเดิม
แนวคิดของเดอร์คไคม์และทอนนีส์ เป็นความคิดที่มีอิทธิพลต่อนักทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ ทัลคอต พาร์สัน (T. Parson) แนวความคิดนี้เรื่องตัวแปรแบบแผนพฤติกรรม ความคิด หรือบางครั้งเรียกกันว่า ตัวแปรกระสวน (Pattern Variables) ซึ่งเป็นชุดของคู่แบบแผนพฤติกรรม หรือชุดความคิดที่แตกต่างกันระหว่างสังคมแบบ Gemeinschaft (สังคมชนบท) และ Gesellschaft (สังคมทันสมัย) ซึ่งพาร์สันได้นำชุดของตัวแปรกระสวนนี้มาอธิบายกระบวนการกระทำ (Action Theory) ของคนในสังคม หรือที่เรียกว่า ตัวแปรคู่ตรงข้าม
การมองหรือวิเคราะห์แบบคู่ตรงข้ามเป็นรากฐานของการจำแนกสภาพที่พัฒนาแล้วออกจากสภาพที่ยังไม่พัฒนา ตัวอย่างที่ชัดเจนในเรื่องนี้คือ การวิเคราะห์ของ โฮเซลลิทซ์[4] ได้จำแนกแนวความคิดเรื่อง ตัวแปรคู่ตรงข้าม ของพาร์สันมาอธิบายเปรียบเทียบสังคมประเทศที่ทันสมัยหรือประเทศที่พัฒนาแล้ว กับประเทศที่ยังเป็นประเพณีนิยมหรือกำลังพัฒนา ดังนี้คือ
1. ลักษณะสากลในประเทศพัฒนาตรงกันข้ามกับลักษณะเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา คำว่าสากล (Universal) ใช้อธิบายประเทศที่พัฒนาแล้วเท่านั้น กล่าวคือ การมีมาตรฐานที่สากลเป็นอย่างเดียวกัน ใช้สำหรับกับทุกๆ คนไม่ว่าจะเป็นใคร ต่างจากในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมีลักษณะเฉพาะ (Particularist) หมายความว่า มีการใช้บรรทัดฐานเฉพาะ เช่น บุคคลคนเดียวกันเมื่อไปติดต่อราชการกับไปพบกับชาวนาก็จะใช้ใช้กิริยาท่าทางหรือวิธีการปฏิบัติที่ต่างกัน แม้ว่าจะเป็นเรื่องเดียวกันก็ตาม นอกจากนี้การลงโทษจากสังคมในเรื่องเดียวกัน แต่แตกต่างทางฐานะก็อาจจะมีการปฏิบัติที่ต่างกันออกไป
2. การกำหนดสถานภาพโดยความสามารถ ในประเทศที่พัฒนาแล้วจะวัดคนจากความสามารถ เช่น การเลื่อนตำแหน่ง เงินเดือน การได้รับการยอมรับ ส่วนในประเทศกำลังพัฒนาจะตรงข้ามโดยสิ้นเชิง ซึ่งมักจะวัดคนที่ฐานะ ชาติกำเนิด เช่น ลูกขุนนางแม้ว่าจะด้อยความสามารถกว่าลูกชาวนาก็จะได้รับตำแหน่งหน้าที่สำคัญๆ ในสังคม
3. ความเฉพาะหน้าที่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว หมายถึงการมีบทบาทหน้าที่ของแต่ละบุคคลในสังคมที่พัฒนาแล้วชัดเจน ซึ่งประเทศกำลังพัฒนามักจะมีหน้าที่กระจาย กล่าวคือ คนๆ เดียวต้องทำหลายหน้าที่ เช่น นอกจากจะเป็นชาวนาปลูกข้าวแล้ว ยังต้องทอผ้า ปั้นหม้อ ทำเครื่องจักสานเอง เป็นหัวหน้าหมู่บ้านด้วย และยังอาจทำหน้าที่เป็นหมอ หมอดู ฯลฯ ประจำหมู่บ้านด้วย ซึ่งโฮเซลลิทซ์มองว่า การที่คนต้องทำหน้าที่หลายอย่างนั้นจะทำให้การพัฒนาความสามารถทำได้ไม่เต็มที่
จากวาทกรรมการพัฒนาที่มองความแตกต่างระหว่างด้อยพัฒนากับประเทศที่พัฒนาแล้ว แบบคู่ตรงข้าม สอดคล้องกับชุดความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ที่อธิบายการพัฒนาระหว่างประเทศ 2 กลุ่มนี้ กล่าวคือ ประเทศด้อยพัฒนาคือ ประเทศที่ขาดเงินทุน เทคโนโลยีล้าหลังไม่มีระบบตลาด ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างเชื่องช้า ดังนั้นหากเปรียบเทียบการพัฒนาของประเทศ 2 กลุ่มนี้แล้ว ประเทศด้อยพัฒนาถูกจับวางอยู่ใน “ลำดับชั้นแรก” ของการพัฒนา ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วมีระดับการพัฒนาอยู่ในชั้นสูงสุด ดังปรากฏในทฤษฎีว่าด้วยความเจริญเติบโตของ Rostow ซึ่งอธิบายว่าสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปสู่ ความทันสมัยและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จะต้องผ่านการเปลี่ยนแปลงตามลำดับชั้นคือ
1. ขั้นสังคมแบบประเพณีนิยม การผลิตอยู่ในระดับต่ำ ประชาชนประกอบอาชีพเกษตรกรรม ไม่รู้หนังสือ การจัดระเบียบทางสังคมผูกติดอยู่กับครอบครัวและเครือญาติ
2. ขั้นการเกิดปัจจัย/เงื่อนไขที่ทำให้สังคมทะยานสู่ความเจริญเติบโต การเกิดความคิดใหม่ๆ การเกิดชนชั้นผู้ประกอบการ สถาบันทางเศรษฐกิจใหม่ๆ เกิดระบบการศึกษาที่ผลิตกำลังคนสอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ เกิดรัฐชาติที่มีการรวมศูนย์อำนาจ (Centralized Nation State)
3. ขั้นทะยานสู่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตทางเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ได้รับการพัฒนาขั้นให้การผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง การผลิตในภาคเกษตรเป็นการผลิตเพื่อการค้ามากขึ้น ระบบเศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
4. ขั้นก้าวสู่ความเจริญเติบโตเต็มที่ วิทยาการสมัยใหม่ถูกนำมาใช้ในระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างเต็มที่ ทำให้ระบบเศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่สูง ระบบการผลิตเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากร มีการออมและการลงทุนที่สูงขึ้น
5. ขั้นที่มีการบริโภคโดยมวลชนในระดับสูง การผลิตมีประสิทธิภาพสูงมาก สามารถสนองตอบต่อความต้องการของมวลชนได้อย่างทั่วถึง ประชาชนส่วนใหญ่มีรายได้สูงสามารถบริโภคสินค้าที่เกินเลยต่อความจำเป็นขั้นพื้นฐาน คือสามารถหาซื้อสินค้าและบริการที่ฟุ่มเฟือยมาบริโภคได้ด้วย
นอกจากนี้สังคมประเทศกำลังพัฒนายังถูกมองว่ามีลักษณะ “ทวิลักษณ์ทางสังคม” และ “ทวิลักษณ์ทางเศรษฐกิจ” คือมีส่วนที่ก้าวหน้าและส่วนที่ล้าหลังอยู่ในระบบเดียวกัน กล่าวคือ เมืองเป็นส่วนที่ก้าวหน้า ส่วนชนบทเป็นส่วนที่ล้าหลัง
แฟร้งค์ (Andre Gunder Frank) วิพากษ์ทฤษฎีความทันสมัยโดยอธิบายความด้อยพัฒนาในประเทศโลกที่สาม (โดยเฉพาะในภูมิภาคลาตินอเมริกา) ว่าความด้อยพัฒนามิใช่ลักษณะที่ติดตัวของประเทศโลกที่สาม หากแต่เป็นสภาวะที่ถูกสร้างขึ้นจากการที่ประเทศโลกที่สามถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบโลกในฐานะประเทศชายขอบหรือบริวารของประเทศที่ร่ำรวยซึ่งดูดซับผลประโยชน์จากประเทศโลกที่สามไปสร้างความเจริญให้กับประเทศตัวเอง ทำให้เกิดความแตกต่างในระดับการพัฒนาหรือความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ระหว่างประเทศศูนย์กลางกับประเทศชายขอบอย่างเห็นได้ชัด
หากจะพิจารณาภายในประเทศโลกที่สามเอง ก็จะเห็นความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบท โดยที่เมืองเป็นศูนย์กลางของความเจริญเติบโต ที่ดูดซับทรัพยากรจากชนบทมาเลี้ยงเมืองทำให้เกิดสภาพ “อาณานิคมภายใน” (Internal Colonialism) และนอกจากนี้กระบวนการพัฒนาแบบปลาใหญ่กินปลาเล็กยังทำให้เกิดกระบวนการเบียดขับกลุ่มที่อ่อนแอ (Marginalization) ทำให้กลุ่มที่อ่อนแอเหล่านี้ขาดโอกาสในการพัฒนาตนเองและไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต รวมทั้งขาดโอกาสที่จะมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจของประเทศ
ถ้าหากเราจะกล่าวโดยสรุป ทฤษฎีความทันสมัยได้ส่งผลต่อกระบวนการพัฒนาที่สำคัญ ดังนี้[5]
1) ทฤษฎีความทันสมัย ได้ให้ความสำคัญกับบทบาทของระบบคุณค่า ปทัสฐาน ความเชื่อ การกำหนดรูปแบบของสังคม การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมด้วย
2) ประวัติศาสตร์ของการกลายเป็นอุตสาหกรรมตะวันตกมิได้รับการพิจารณาเพียงแค่คุณลักษณะเฉพาะของประเทศต่างๆ ทั่วโลก อย่างเช่นที่ ไอเซนตาร์ตท (Eisenstadt) กล่าวว่า โดยประวัติศาสตร์แล้ว การพัฒนาไปสู่ความทันสมัยคือกระบวนการเปลี่ยนแปลงไปสู่รูปแบบของระบบสังคมเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งได้พัฒนาขึ้นมาในยุโรปตะวันตกและอเมริกาเหนือระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 17-19
3) สังคมสมัยใหม่เกิดขึ้นมาเมื่อแบบแผนพฤติกรรมในสังคมดั้งเดิมหลีกทางให้กับความทันสมัย (คือการเสื่อมของระเบียบแบบแผนของสังคมดั้งเดิม) ในสังคมตะวันตก ความกดดันหรือแรงบีบซึ่งนำไปสู่ความทันสมัยนั้นเกิดขึ้นภายในสังคมตะวันตกเอง แต่ในประเทศกำลังพัฒนาความกดดันหรือแรงบีบคั้นต่อสังคมแบบดั้งเดิมมาจากภายนอก
4) เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว กระบวนการนำไปสู่ความทันสมัยในปัจจุบันจึงเป็นเรื่องของการ “แพร่กระจาย” การแพร่กระจายนี้อาจเป็นไปได้หลายรูปแบบ หลายกระบวนการ อย่างเช่นการเกิดขึ้นและแพร่หลายของสังคมเมือง ซึ่งมีรากฐานมาจากระบบครอบครัวเดี่ยว การขยายตัวของการศึกษาที่ทำให้คนอ่านออกเขียนได้ การพัฒนาของระบบสื่อสารมวลชนที่ช่วยให้เกิดการกระจายข้อมูลข่าวสารและความคิดต่างๆ ได้กว้างขวาง ฯลฯ
นักเศรษฐศาสตร์ชาวญี่ปุ่น ชื่อ Akamatsu Kaname สร้าง “ทฤษฎีห่านบิน” เพื่ออธิบายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียว่า เมื่อประเทศใดประเทศหนึ่ง เช่น ญี่ปุ่น มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สามารถพัฒนาเทคโนโลยีในระดับที่สูงขึ้น สามารถขยายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ทำให้มีการจ้างงาน การถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิต ทำให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่อเนื่องไปยังประเทศอื่นๆ เหมือนฝูงห่านที่บินตามกันไปเป็นฝูง โดยมี ญี่ปุ่นเป็นผู้นำ เกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ ฮ่องกง ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย บินตาม
“การพัฒนา” ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในประเทศด้อยพัฒนา แต่การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นไปโดยไม่สม่ำเสมอและไม่เสมอภาค ผู้นำไทยพยายามผลักดันการเปลี่ยนแปลงจากสังคมที่ถูกกล่าวหาว่า “ล้าหลัง”[6] ให้มาเป็นสังคมที่ “ก้าวหน้า” ด้วยการผลักดัน โดยผ่านการผูกขาดอำนาจรัฐและนโยบายชาตินิยม เช่น ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งพยายามสร้างรัฐวิสาหกิจเพื่อผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมโดยรัฐ รวมทั้งพยายามสร้าง “ความทันสมัย” ต่างๆ เช่น ห้ามราษฎรมิให้กินหมาก เพราะเป็นสิ่งที่ “อารยประเทศ” เขาไม่ทำกัน หรือบังคับราษฎรให้ใส่หมวก เพราะเป็นสิ่งที่ทำกันในอารยประเทศ
การผลักดันประเทศให้เข้าสู่ยุคการพัฒนาในสัมยจอมพลสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ เป็นจุดเริ่มต้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 1 ในปี พ.ศ.2504 และจอมพลสฤฎิ์ ยังสร้างคำขวัญที่รู้จักกันดีว่า “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” เป็นคำขวัญสั้นๆ ซึ่งเชื่อมโยง “งาน” และ “เงิน” เข้ากับ “ความสุข” เพื่อผลักดันให้ประชาชนทำงานหนักมากขึ้น ซึ่งกลายเป็นแนวทางการพัฒนาของรัฐไทยในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับต่อๆ มา จนมิคำนิยามของการพัฒนาในช่วงหนึ่งว่า “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ” กลายเป็นวาทกรรมของการพัฒนาภายใต้อุดมการณ์การพัฒนาของรัฐที่มุ่งสร้างการพัฒนาสู่ความทันสมัยตามแบบชาติตะวันตก
กล่าวโดยสรุป แนวคิดทฤษฎีการพัฒนาไปสู่ความทันสมัย ถือได้ว่าเป็นแนวคิดที่ชี้นำการพัฒนาของไทยทั้งการพัฒนาประเทศและการพัฒนาสาขาต่างๆ ตลอดช่วงกว่า 30 ปี ที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าแนวคิดดังกล่าวจะมีข้อโต้แย้งต่างๆ แต่ก็ยังถือว่าเป็นแนวคิดกระแสหลักอยู่ ประเด็นที่เป็นข้อโต้แย้งหลักๆ ต่อกลุ่มแนวคิดนี้มาจากความเชื่อที่ว่า วิวัฒนาการของสังคมแต่ละสังคมอาจจะเป็นไปได้หลายอย่าง และขั้นตอนการพัฒนาก็อาจไม่จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนที่เหมือนกัน กลุ่มที่โต้แย้งแนวคิดการพัฒนาสู่ความทันสมัย (โดยเฉพาะกลุ่มทฤษฎีพึ่งพา) ชี้ว่าที่แท้จริงความทันสมัยในทางเศรษฐกิจ มีความหมายเท่ากับกระบวนการเปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรม ในทางสังคม วัฒนธรรม Modernization มีความหมายเท่ากับ Westernization และที่สำคัญก็คือ ภาวะความทันสมัยอาจจะไม่ใช่สภาวะการพัฒนาที่สังคมพึงปรารถนา หรือมีความทันสมัยแต่ไม่พัฒนา (Modernization without Development) นั่นเอง

ทฤษฎีการพึ่งพาระหว่างประเทศ (Dependency Theory)
                ทฤษฎีการพึ่งพามีจุดเริ่มต้นเมื่อศตวรรษที่ 1960s โดยนักวิชาการเศรษฐศาสตร์พัฒนา (development economics) กลุ่มที่ให้ความสนใจและเฝ้าดูความล้มเหลวของการพัฒนาเศรษฐกิจกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา กลุ่มนักทฤษฎีนี้ปฏิเสธแนวคิดพวกกระแสหลัก (ทฤษฎีความทันสมัย) ที่ว่าการพัฒนาสามารถที่จะเกิดขึ้นโดยการแพร่กระจายเอาความทันสมัยจากประเทศตะวันตกไปสู่ประเทศด้อยพัฒนา รวมทั้งปฏิเสธทฤษฎีจักรวรรดินิยมที่บอกว่า การแพร่ขยายตัวของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมไปทั่วโลกเป็นการรักษาผลกำไรของระบบทุนนิยมในระดับสูง และจะทำให้เกิดการเพิ่มผลิตภาพของระบบเศรษฐกิจประเทศด้อยพัฒนา ในทางตรงกันข้าม ประสบการณ์ของประเทศลาตินอเมริกา อย่างเช่น เปรู อาร์เจนตินา ชิลีและบราซิล กลับชี้ว่า ความด้อยพัฒนาของประเทศเหล่านี้เกิดจากการเปิดตัวเข้าไปสู่สังคมอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว นอกจากการปฏิเสธข้อเสนอของทฤษฎีความทันสมัย และทฤษฎีของจักรวรรดินิยมแล้ว นักทฤษฎีกลุ่มนี้ยังเสนอว่า การเจริญเติบโตของประเทศอุตสาหกรรมในยุโรปเป็นผลสืบเนื่องให้เกิดความด้อยพัฒนาในประเทศต่างๆ ทั่วโลก[7]
การพึ่งพิง[8] เป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจศึกษาค้นคว้ากันเป็นอย่างมากในลาตินอเมริกา ซึ่งแนวทางการศึกษาอาจแบ่งได้เป็นสองประเภทคือ ประเภทแรก เป็นการแบ่งแนวทางการศึกษาออกเป็น การศึกษาและวิจารณ์ทางด้านทฤษฎี การศึกษาเฉพาะกรณีและศึกษาเชิงปริมาณ อีกประเภทหนึ่ง เป็นการแบ่งแนวการศึกษาออกเป็น แนวทางมาร์กซิสต์ แนวทางทุนนิยม และแนวทางผสมระหว่างมาร์กซิสต์กับทุนนิยม
อัลเบอร์ท โอ เฮิร์ชแมน (Albert O. Hirschman) ได้สืบสาวแนวคิดหลักที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยชาวลาตินอเมริกันเพื่ออธิบายสาเหตุความด้อยพัฒนาของสังคมลาตินอเมริกัน คำอธิบายสมัยเริ่มแรกอาจแยกออกได้เป็นสองแนว แนวแรก เป็นคำอธิบายทางปรัชญาและจิตวิทยา ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ลักษณะประจำตัวหรือปรัชยาชีวิตของชาวลาตินอเมริกันเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา ลักษณะนี้มักเกี่ยวข้องกับเชื้อชาติได้แก่ ความเกียจคร้าน ความซึมเสร้า ความถือตัว การต่อต้านวัตถุนิยม และความเชื่อในเรื่องจิต-วิญญาณ เป็นต้น แนวที่สอง เป็นการประณามการแสวงหาผลประโยชน์ของจักรวรรดินิยมว่าเป็นสาเหตุโดยสิ้นเชิงของความด้อยพัฒนาในลาตินอเมริกา แต่ยังถือว่าทุนนิยมเป็นสิ่งที่ดีอยู่ ฮายา เดอ ลา ทอร์เร (Haya de la Torre) ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มในการให้คำอธิบายแนวนี้ได้โต้แย้งว่า กรรมกรลาตินอเมริกันอ่อนแอเกินไปที่จะทำการปฏิวัติสำเร็จ ความรับผิดชอบในการพัฒนาลาตินอเมริกันจึงตกอยู่กับปัญญาชนและชนชั้นกลาง ทัศนะที่ต่อต้านจักรวรรดินิยมและมาร์กซิสต์นี้ยังคงแพร่หลายอยู่ในสังคมลาตินอเมริกา
ต่อมาในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จึงได้มีการนำเอาแนวคิดที่ต่อต้านจักรวรรดินิยมและต่อต้านมาร์กซิสต์นี้ไปใช้ในการจัดทำแผนงานทางเศรษฐกิจขึ้นมา โดยเน้นแนวทางการพัฒนาที่มุ่งภายใน (an inward-looking development path) ได้สำเร็จ โดยคณะกรรมการเศรษฐกิจสำหรับลาตินอเมริกาขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Economic Commission for Latin America-ECLA) ตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่า ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่ใช้อยู่ในประเทศทุนนิยมที่พัฒนาแล้วไม่สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาของความด้อยพัฒนาได้ จำเป็นจะต้องเอาทัศนะแบบโครงสร้างนิยม (structuralist perspective) ที่ศึกษาในเชิงโครงสร้าง สถานการณ์ และบริบทแวดล้อม ซึ่งความด้อยพัฒนาในลาตินอเมริกาเกิดจากความเสียเปรียบในเศรษฐกิจโลกของลาตินอเมริกา และการนำเอานโยบายทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรีมาใช้
อย่างไรก็ตามทฤษฎีของการพัฒนาไม่ว่าจะมีแหล่งที่มาจากประเทศพัฒนาหรือจากลาตินอเมริกาล้วนแล้วแต่ได้รับการวิจารณ์จากนักสังคมศาสตร์ลาตินอเมริกันว่าเป็นทฤษฎีที่ล้มเหลวในการอธิบายความด้อยพัฒนาของลาตินอเมริกา การวิจารณ์ทฤษฎีเดิม การเสนอคำอธิบายใหม่เกี่ยวกับสาเหตุและการแก้ไขให้ลาตินอเมริกาหลุดพ้นจากความด้อยพัฒนาได้รวมตัวขึ้นมาเป็นทฤษฎีพึ่งพิง
อังเดร กุนเดอ แฟรงค์ (Andre Gunder Frank) เป็นนักทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางมากคนหนึ่ง วลีที่มีการอ้างถึงมากที่สุดคือ “การพัฒนาความด้อยพัฒนา” (development of under development) เขากล่าวว่า ประเทศที่พัฒนาแล้ว (developed) ไม่เคยผ่านสภาวะที่เรียกว่า “ด้อยพัฒนา” (underdeveloped) มาก่อน แม้ว่าประเทศเหล่านั้นจะเคยอยู่ในสภาพที่เรียกว่า “ไม่พัฒนา” (undeveloped) มาแล้วก็ตาม ที่สำคัญเรามักจะเข้าใจและเชื่อว่าสภาวะและเงื่อนไขของความด้อยพัฒนาสามารถเข้าใจได้ หรือสะท้อนจากเงื่อนไขและโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ ความจริงแล้วสภาวะที่เรียกว่า “ด้อยพัฒนา” เป็นผลผลิตของประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ด้านอื่นๆ ระหว่างประเทศด้อยพัฒนาและประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การพัฒนาที่เกิดขึ้นในประเทศศูนย์กลางยุโรปหรือประเทศอุตสาหกรรมทุนนิยมสมัยใหม่ เป็นเงื่อนไขทำให้เกิดความด้อยพัฒนาของประเทศรอบนอก เงื่อนไขเช่นนี้สะท้อนในข้อเสนอ “การพัฒนาความด้อยพัฒนา” ของเขาได้อย่างรวบรัดและได้ใจความเพื่อให้เข้าใจเรื่องนี้ได้ดีขึ้น แฟรงค์ได้ยกตัวอย่างการพัฒนาของประเทศบราซิล[9]
การขยายตัวของระบบทุนนิยมของโลกนับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 ได้ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกฉียงเหนือ ภาคใต้ตอนกลาง (ริโอเดอจาเนโร เซาเปาโล และปารานา) ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมโลก ภูมิภาคต่างๆ ของบราซิลที่ได้กล่าวในตอนต้นอาจเคยประสบกับการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วง “ปีทอง” (golden age ในช่วงระหว่างปี 2507-2517) ประเทศบราซิลมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วมาก มีความเฟื่องฟูของอุตสาหกรรม แต่อย่างไรก็ตามการพัฒนานี้เป็นเพียง “บริวาร” ของทุนนิยมศูนย์กลาง ซึ่งไม่สามารถรักษาความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ได้
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และสงครามโลกครั้งที่ 2 เซาเปาโลได้เริ่มสถาปนาเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และกลายเป็นเขตอุตสาหกรรมเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดจนถึงปัจจุบัน การพัฒนาอุตสาหกรรมในเซาเปาโล มิได้ส่งผลให้เกิดความมั่งคั่งในภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ ในทางตรงกันข้าม การพัฒนาอุตสาหกรรมกลับทำให้ภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศกลายเป็นบริเวณหรืออาณานิคมภายใน (internal colonial) คงสภาพหรือแม้แต่ทำให้ความด้อยพัฒนาเลวร้ายลงไปอีก แฟรงค์ชี้ว่า ถึงแม้ว่าพัฒนาการอุตสาหกรรมของเซาเปาโล ในช่วงแรกจะพัฒนาขึ้นมาในช่วงระยะที่บราซิลค่อนข้างเป็นอิสระจะประเทศทุนนิยมศูนย์กลาง แต่ในระยะต่อมา อุตสาหกรรมของเซาเปาโล ก็ถูกผนวกเข้ามาอยู่ในโครงสร้างของทุนนิยมโลก
เมื่อพิจารณาอย่างจำเพาะเจาะจงแล้ว ทฤษฎีการพึ่งพิงเป็นการตอบสนองต่อความล้มเหลวที่เห็นได้ของแนวคิดที่ครอบงำลาตินอเมริกาแต่เดิม นั่นคือแนวคิดของอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า เพราะไม่สามารถลดการพึ่งพิงภายนอกลงได้ คนส่วนใหญ่ยังคงต่ำต้อย ความไม่เท่าเทียมยังคงดำรงอยู่ มีการแบ่งแยกทางวัฒนธรรมอย่างกว้างขวาง และขาดความมั่นคงในสังคมลาตินอเมริกา ความพยายามของรัฐที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมแบบพึ่งตนเองก็พ่ายแพ้ต่อบรรษัทข้ามชาติ ทฤษฎีพึ่งพิงจึงเกิดขึ้นมาในฐานะที่จะอธิบายความล้มเหลวนี้
แม้ว่าทฤษฎีพึ่งพิงจะวิจารณ์โต้แย้งทฤษฎีเดิมเป็นอย่างมาก แต่ก็ได้นำเอาแนวคิดบางประการมารวมอยู่ในทฤษฎีของตนเหมือนกัน โดยดัดแปลงแนวคิดเดิมให้เหมาะสมสอดคล้องกับทฤษฎีพึ่งพิง ซึ่งทฤษฎีที่ที่เกี่ยวข้องอย่างมากคือ ทฤษฎีจักรวรรดินิยม และทฤษฎีโครงสร้างนิยม
1. ทฤษฎีจักรวรรดินิยม นอกจากทฤษฎีพึ่งพิงจะโต้แย้งทฤษฎีเดิมของทุนนิยมแล้ว ยังมีความขัดแย้งกับมาร์กซิสต์ดั้งเดิมอีกด้วย ทฤษฎีจักรวรรดินิยมที่ทีความเกี่ยวพันกับทฤษฎีพึ่งพิงถูกเสนอโดยนักทฤษฎีมาร์กซิสต์ เกี่ยวข้องกับการให้คำอธิบายทางเศรษฐกิจของระบบทุนนิยม โดยเห็นว่า ระบบทุนนิยมเป็นข่ายที่ครอบคลุมไปทั้งโลกด้วยความสัมพันธ์ทางการค้า การเงิน และอื่นๆ ที่ดึงประเทศต่างๆ เข้ามารวมกัน ความสัมพันธ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมอเมริกัน ไม่ใช่เรื่องที่ไร้เหตุผลหรือเกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เป็นขั้นหนึ่งของการพัฒนาทุนนิยมในฐานะที่เป็นระบบแห่งโลก
2. ทฤษฎีโครงสร้างนิยม เช่นเดียวกับทฤษฎีจักรวรรดินิยมคือ นักทฤษฎีพึ่งพิงบางกลุ่มก็ยอมรับแนวคิดบางทัศนะของทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่ ได้แก่ ข้อโต้แย้งที่ว่า โครงสร้างทางการค้าระหว่างประเทศดำเนินไปในลักษณะที่ประเทศด้อยพัฒนาต้องเสียเปรียบ ข้อโต้แย้งนี้ตั้งอยู่บนข้อสังเกตที่ว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีโน้มเอียงที่จะลดความสำคัญของผลผลิตขั้นปฐมซึ่งเป็นผลผลิตของประเทศด้อยพัฒนาลงเมื่อเปรียบเทียบกับราคาผลผลิตทางอุตสาหกรรมที่ต้องนำเข้าจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศพัฒนากอบโกยเอาผลประโยชน์จากผลผลิตขั้นปฐมที่พึงได้จากประเทศด้อยพัฒนา เช่น ประเทศไทยสามารถผลิตสินค้าทางการเกษตรจำพวกข้าว กุ้ง อ้อย ส่งขายให้กับประเทศที่พัฒนาแล้วเพื่อนำเงินมาซื้อเครื่องจักรหรืออาวุธจากอเมริกา ซึ่งส่วนต่างของราคาผลผลิตทั้งสองประเภทนั้นมีช่องว่างที่ห่างกันอย่างมหาศาล
แคลร์ ซาวิท บาซา (Claire Savit Bacha) ได้แยกแนวคิดของการพึ่งพิงออกเป็น 5 ประเภท
ประเภทแรก วิเคราะห์ศูนย์กลางและส่วนรอบนอก (center and periphery) ในฐานะที่เป็นส่วนที่พึ่งพิงกันและกัน
ประเภทที่สอง นำพลังภายในและภายนอกมารวมกันเพื่อตีความประสบการณ์ของประเทศที่พึ่งพิง
ประเภทที่สาม วิเคราะห์โครงสร้าง เมืองหลวง-เมืองบบริวาร (metropolis-stellite structure) และความขัดแย้งภายในของระบบทุนนิยม
ประเภทที่สี่ “การพึ่งพิงใหม่” หรือที่รู้จักกันอีกอย่างหนึ่งว่า การพึ่งพิงทางด้านเทคโนโลยี-อุตสาหกรรม ซึ่งแตกต่างจากการพึ่งพิงแบบอาณานิคม มีลักษณะการครอบงำจากเงินทุนมหาศาลโดยบรรษัทข้ามชาติ
ประเภทที่ห้า เน้นความสำคัญของโครงสร้างภายใน มุ่งมองที่ความสัมพันธ์ทางชนชั้นในประเทศพึ่งพิง
แนวทางในการศึกษาของทฤษฎีพึ่งพิงมีหลายแนวทาง แต่ทุกแนวทางล้วนมีท่าทีแห่งการต่อต้านจักรวรรดินิยมอยู่ด้วยทั้งนั้น แนวทางศึกษาที่นักทฤษฎีพึ่งพิงนำมาใช้วิเคราะห์อธิบายความด้อยพัฒนา และชี้แนะแนวทางหลุดพ้นจากความด้อยพัฒนานั้น อาจแบ่งออกได้เป็นสามแนวทางคือ แนวทางทุนนิยม แนวทางมาร์กซิสต์ และแนวทางผสมระหว่างมาร์กซิสต์กับทุนนิยม
1. แนวทางศึกษาแบบทุนนิยม (Bourgeois or Non-Marxist Approach) แนวทางกระฎุมพีหรือแนวทางของผู้ที่ไม่ใช่มาร์กซิสต์ ได้รวมเอาทัศนะของการพัฒนาแบบพึ่งตนเอง ชาตินิยม โครงสร้างนิยม และพัฒนานิยม แนวทางนี้เป็นแนวทางที่ต่อต้านจักรวรรดินิยม แต่ยังมองเห็นโอกาสที่จะพัฒนาประเทศตามแนวทางของทุนนิยมต่อไปได้ โดยปรับปรุงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศด้อยพัฒนากับประเทศพัฒนาเสียใหม่ ไม่ให้ประเทศพัฒนาเอาเปรียบกอบโกยผลประโยชน์หรือมุลค่าส่วนเกินไปหมด
2. แนวทางการศึกษาแบบมาร์กซิสต์ (Marxist Approach) เน้นความสำคัญของภาวะนามธรรม โดยจำเป็นที่จะต้องสร้างตัวแบบขึ้นมาก่อนในการใช้ศึกษา ซึ่ง แฟรงค์ (Frank) ได้เสนอแนวคิดคือ 1) การพัฒนาเศรษฐกิจในแต่ละประเทศไม่ได้เป็นขั้นตอนต่อเนื่องแบบเดียวกัน 2) ความด้อยพัฒนาไม่ได้เป็นผลสะท้อนโครงสร้างของประเทศด้อยพัฒนาเอง แต่เป็นผลจากประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ที่มีกับประเทศพัฒนา 3) สิ่งแตกต่างจากการพัฒนาของประเทศหลักที่ไม่เคยเป็นบริวารใครกับประเทศด้อยพัฒนาที่เป็นบริวารคือ การถูกจำกัดด้วยสถานะของความเป็นบริวาร ซึ่งประเทศบริวารจะประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจได้ด้วยทุนนิยมแบบดั้งเดิม และเมื่อมีความผูกพันกับประเทศหลักน้อยที่สุด และด้วยความเป็นสังคมศักดินาของภูมิภาคด้อยพัฒนาเป็นภูมิภาคที่มีความผูกพันธ์อย่างใกล้ชิดที่สุดกับเมืองหลักในอดีต
แฟรงค์ ยืนยันว่า ตั้งแต่สมัยล่าเมืองขึ้น ทุนนิยมได้กลายเป็นพื้นฐานของสังคมลาตินอเมริกัน และเป็นแหล่งรวบรวมความด้อยพัฒนา การเสนอให้การพัฒนาแบบทุนนิยมเป็นทางเลือกของสังคมลาตินอเมริกันจึงไม่ถูกต้อง นายทุนชาติเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับความสัมพันธ์เชิงทำลายของเมืองหลัก-เมืองบริวาร การสนับสนุนให้นายทุนชาติเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาก็เท่ากับเป็นการยืดระยะเวลาและผลักดันให้เกิดความด้อยพัฒนานานและหนักยิ่งขึ้น การพัฒนาของประเทศบริวารย่อมเป็นไปไม่ได้ตราบใดที่ยังคงอยู่ในระบบเมืองหลัก-เมืองบริวารอยู่ ทางเลือกมีอยู่ทางเดียวคือ การแยกตัวออกอย่างเด็ดขาด โดยการปฏิวัติสังคม หรือมิฉะนั้นก็ต้องด้อยพัฒนาอยู่ในระบบนี้ต่อไป[10]
3. แนวทางการศึกษาแบบผสมระหว่างแนวทางการศึกษาแบบทุนนิยมและแบบมาร์กซิสต์ แนวทางนี้ได้นำเอาทั้งแนวทางการศึกษาแบบโครงสร้างทุนนิยมและแบบมาร์กซิสต์มาใช้ศึกษาความสัมพันธ์เชิงครอบงำ-พึ่งพิงระหว่างประเทศศูนย์กลางกับประเทศรอบนอก แนวทางการศึกษานี้พยายามกำหนดหาลักษณะที่แตกต่างกันของการพึ่งพิงภายในขบวนการทางประวัติศาสตร์ ของการขยายตัวของระบบทุนนิยมโลกเป็นการทั่วไปและสถานการณ์รูปธรรมของการพึ่งพิงเป็นการจำเพาะเจาะจงจะช่วยให้สามารเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศพึ่งพิงกับระบบทุนนิยมโลกได้ครอบคลุมและถูกต้องยิ่งขึ้น
โดยสรุปแล้ว ทฤษฎีการพึ่งพิงเป็นทฤษฎีการพัฒนาทฤษฎีหนึ่งที่อธิบายถึงความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างประเทศทุนนิยมที่พัฒนาแล้ว ซึ่งรวมเรียกว่า “พวกเหนือ” กับประเทศที่ล้าหลัง พัฒนาน้อย ด้อยพัฒนา กำลังพัฒนา หรือประเทศโลกที่สาม แล้วแต่จะเรียกกัน ซึ่งรวมเรียกว่า “พวกใต้” (North-South relationship) ความสัมพันธ์แบบครอบงำ-พึ่งพิง (dominant-dependent) ระหว่างประเทศที่มีฐานะและความสามารถทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันมากนี้ ก่อให้เกิดสภาพที่เศรษฐกิจของประเทศครอบงำสามารถขยายตัวขึ้นได้ ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศพึ่งพิงไม่ขยายตัว หรือถ้าจะขยายตัวขึ้นได้ก็เป็นแต่เพียงการสะท้อนของการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศครอบงำเท่านั้น ดอส ซานโตส (Dos Santos) ได้ให้คำจำกัดความของการพึ่งพิงไว้อย่างชัดเจนและรัดกุม ดังนี้
“...การพึ่งพิงนั้นเราหมายถึง สถานการณ์หนึ่งซึ่งเศรษฐกิจของประเทศหนึ่งตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขของการพัฒนาและการขยายตัวของเศรษฐกิจอื่น ซึ่งเศรษฐกิจแรกนั้นต้องขึ้นอยู่ ความสัมพันธ์ของการพึ่งพิงซึ่งกันและกันระหว่างเศรษฐกิจสองประเทศ หรือมากกว่า และระหว่างเศรษฐกิจเหล่านี้กับการค้าของโลก จะมีลักษณะของการพึ่งพิงต่อเมื่อบางประเทศ (ผู้เหนือกว่า) สามารถขยายตัวและเลี่ยงตัวเองได้ ในขณะที่ประเทศอื่นๆ (ผู้พึ่งพิง) สามารถจะทำสิ่งนี้ได้แต่เพียงการสะท้อนของการขยายตัวนั้น ซึ่งสามารถที่จะให้ผลได้ทั้งในทางบวกและทางลบต่อการพัฒนาประเทศของเขา...”[11]


การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development)
                หลังจากระบบทุนนิยมได้พัฒนาขึ้นมาในตะวันตกตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 และแพร่ขยายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วในคริสต์ศตวรรษที่ 20 การพัฒนาตามแนวทางทุนนิยมที่เน้นการสร้างความทันสมัยและอุตสาหกรรมได้ส่งผลให้ทรัพยากรมีแนวโน้มลดลงอย่างน่าตกใจ รวมทั้งการลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากนั้นยังมีปัญหามลภาวะทั้งในน้ำและในอากาศ รวมทั้งปัญหาขยะที่เพิ่มขึ้น
                แนวความคิดเรื่องการพัฒนาแบบยั่งยืน (sustainable Development) เกิดขึ้นเป็นผลสืบเนื่องจากรายงานการศึกษาการพัฒนาและสภาวะแวดล้อมของโลกในปี ค.ศ.1987 ที่รู้จักกันในชื่อ Brundtland Report ซึ่งมีชื่อเรียกเป็นทางการว่า “Our Common Future” รายงานฉบับนี้นิยามคำว่า การพัฒนาแบบยั่งยืน ว่าหมายถึง “การพัฒนาที่สามารถสนองตอบความต้องการของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันโดยไม่กระทบกระเทือนต่อศักยภาพต่อการตอบสนองความต้องการของคนในอนาคต” กลยุทธ์การพัฒนาในแนวทางนี้คือ การใช้ทรัพยากรอย่างระมัดระวัง การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนระดับรากหญ้าในกระบวนการพัฒนา การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและประหยัดพลังงาน ถึงแม้รายงานฉบับนี้จะยอมรับว่าคนในประเทศที่พัฒนาแล้วใช้พลังงานและทรัพยากรมากกว่าคนในประเทศด้อยพัฒนา แต่ก็ยังมีความเห็นว่าความจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนาเป็นปัจจัยสำคัญในการที่จะทำให้คนจนในประเทศด้อยพัฒนาเคลื่อนย้ายจากภาคการผลิตแบบยังชีพซึ่งมีนัยของการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำกินเมื่อมีโอกาสทางเศรษฐกิจในภาคการผลิตอื่นที่ดีกว่า[12]
                รายงานของบรันดท์แลนได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในทุกวงการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นองค์การพัฒนาเอกชน ภาคธุรกิจเอกชน ภาครัฐบาล ประชาชนทั่วไป นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมแบบต่างๆ ตลอดถึงองค์กรพัฒนาระดับโลกอย่างธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เป็นต้น นอกจากนี้รายงานฉบับดังกล่าวยังเป็นรากฐานที่สำคัญที่นำไปสู่ข้อตกลงกว้างๆ เกี่ยวกับการนำยุทธศาสตร์ในการนำการพัฒนาแบบยั่งยืนไปสู่การปฏิบัติ จนกลายเป็นแผนปฏิบัติการเกี่ยวกับการพัฒนาแบบยั่งยืนในระดับโลกสำหรับศตวรรษที่ 21 หรือที่รู้จักกันในนามของ “ระเบียบวาระการประชุมสำหรับศตวรรษที่ 21(Agenda 21) และการประชุมสุดยอดระดับโลกเรื่องโลก (Earth Summit) ในเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ.1992 ที่ประเทศบราซิล สาเหตุสำคัญที่ทำให้รายงานของบรันดท์แลนได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง เนื่องจากเป็นรายงานที่ปรากฏออกมาในช่วงเวลาที่มีการตื่นตัวกันอย่างมากเกี่ยวกับความรุนแรงของปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก อันเนื่องมาจากกรณีสารกำมันตภาพรังสีรั่วไหลที่เมืองเชอร์โนบิล (Chernobyl) ประกอบกับมีรายงานทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้ออกมามากมายเกี่ยวกับความเสื่อมทรุดของสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับปัญหาการฉีกขาดของชั้นบรรยากาศโลก และทำให้สภาพอากาศโดยรวมของโลกร้อนขึ้นเรื่อยๆ จึงเกิดการตอบสนองต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับโลกเพิ่มมากขึ้น พร้อมๆ กับการคิดห่วงใยคนรุ่นหลังว่าจะมีทรัพยากรเหลือไว้ให้ใช้หรือไม่ และรายงานของบรันดท์แลนก็เรียกร้องในสิ่งเหล่านี้ นั่นคือ การพัฒนาที่ตระหนักหรือคำนึงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และการคิดถึงคนรุ่นหลังด้วย จึงได้รับการตอบรับและต้อนรับอย่างอบอุ่นจากวงการต่างๆ  ซึ่งนอกจากนี้ การพัฒนาที่ยั่งยืน ยังถูกมองว่า เป็นสิ่งที่ดีเป็นสิ่งที่น่าปรารถนา และด้วยความที่ยังคลุมเครือ ก็เป็นการเปิดพื้นที่/ที่ว่างให้กับบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องเลือกตีความ/ให้ความหมายต่อสิ่งที่เรียกว่า “การพัฒนาแบบยั่งยืน” ในแบบฉบับที่ตัวเองต้องการได้ ไม่แตกต่างจากมโนทัศน์อื่นๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็น “ความยุติธรรม” หรือ “ประชาธิปไตย” เป็นต้น เพราะคงไม่มีใครกล้าประกาศว่าไม่เห็นด้วย ไม่ชอบความยุติธรรม ไม่ชอบการปกครองแบบประชาธิปไตย หรือแม้แต่ไม่ชอบการพัฒนาแบบยั่งยืน เพียงแต่จะมีรายละเอียดของเรื่องเหล่านี้แตกต่างกันไปเท่านั้น ฉะนั้น สิ่งที่รายงานของบรันดท์แลนกระทำก็คือ เปิดพื้นที่ชนิดใหม่ขึ้นในสังคม เพื่อให้บุคคล สถาบัน หน่วยงาน องค์การแขนงต่างๆ เลือกประกาศจุดยืนทางศีลธรรมของตนเองผ่านวาทกรรมที่เรียกว่า “การพัฒนาแบบยั่งยืน”[13]
                ความโดดเด่นของวาทกรรมการพัฒนาแบบยั่งยืนอยู่ที่สามารถทำให้สิ่งที่ขัดแย้งกัน สิ่งที่ดูเหมือนว่าจะไปด้วยกันไม่ได้ในอดีต นั่นคือ ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (economic growth) กับการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (environmental protection) สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบ และอย่างราบรื่นโดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงระบบที่ดำรงอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกตลาดและระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลก กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความโดเด่นของวาทกรรมการพัฒนาแบบยั่งยืน อยู่ที่สามารถสลายความเชื่อ ความหวาดวิตกในยุคทศวรรษ 1970s และ 1980s ที่มองว่าความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมแบบที่ดำรงอยู่จะนำไปสู่การทำลายล้างโลกในที่สุด นัยนี้ วาทกรรมการพัฒนาแบบยั่งยืนก็มีฐานะไม่แตกต่างไปจากพื้นที่ชนิดพิเศษแบบหนึ่ง (heterotopia) ที่รวมเอาความแตกต่างและความขัดแย้งเข้าไว้ด้วยกัน
                สิ่งที่การพัฒนาแบบยั่งยืนนำเสนออย่างสำคัญคือการรับผิดชอบต่อผู้อื่น และในฐานะที่การพัฒนาแบบยั่งยืนเป็นรากฐานของจริยธรรมในปัจจุบัน ความน่าสนใจของการพัฒนาแบบยั่งยืนเกี่ยวกับการประสานระหว่างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของวาทกรรมการพัฒนาแบบยั่งยืน ดูยังเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจอย่างมากด้วย เนื่องจากเป็นทางเลือกที่สาม ระหว่างข้อเสนอที่ดูมีลักษณะสุดขั้ว 2 แบบ คือแบบของนักนิเวศน์วิทยาอย่างลึกที่เรียกร้องให้ปฏิเสธสิ่งที่เรียกว่า “การพัฒนา” อย่างสิ้นเชิง กับแบบที่ชูการพัฒนาอย่างไม่ตั้งคำถามและไม่คำนึงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมเลย ดังกรณีของทฤษฎีการให้ทันสมัยอย่างตะวันตกในอดีต ฉะนั้น ด้วยเหตุผลต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมการพัฒนาแบบยั่งยืนจึงได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
                แม้ว่าแนวคิดการพัฒนาแบบยั่งยืน จะได้รับความนิยมและยอมรับอย่างกว้างขวาง จนสามารถทำให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมกลายเป็นปัญหาระดับโลก และได้รับความสนใจจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก แต่ก็มิได้หมายความว่าแนวคิดการพัฒนาแบบยั่งยืนสามารถลดทอนความรุนแรงของปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกลงได้อย่างฉับพลัน โดยมิต้องพูดถึงการขจัดปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกให้หมดไป ซึ่งยิ่งดูยิ่งเป็นเรื่องห่างไกลมากขึ้นทุกที สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่าบรรดาพลังและกระบวนการในการทำลายล้างสิ่งแวดล้อมต่างก็ยังคงดำรงอยู่ มิได้ถูกขจัดให้หมดสิ้นไปแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เรียกว่าการพัฒนา การทำให้เป็นอุตสาหกรรม รวมถึงลัทธิบริโภคนิยมและระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ซึ่งมีส่วนอย่างสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติอย่างขาดความรับผิดชอบ
เป็นที่น่าสงสัยว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนจะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดในทางปฏิบัติ เพราะเท่าที่ผ่านมา ความไม่เท่าเทียมในสังคมยังคงดำรงอยู่ คนยากจนจำนวนมากขาดแคลนอาหาร ที่อยู่อาศัย และเครื่องนุ่งห่ม ในประเทศโลกที่สาม หรือแม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วก็ตาม นั่นคือ การพัฒนาเท่าที่ผ่านมาได้สร้างปัญหาไว้มากมายซึ่งการแก้ปัญหาแบบประนีประนอมอย่างการพัฒนาแบบยั่งยืนนี้จะแก้ไขได้หรือไม่ เพราะมีความเกี่ยวเนื่องกับผลประโยชน์จำนวนมหาศาลของชาติมหาอำนาจและบรรษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย
นอกจากการพัฒนาแบบยั่งยืนที่สากลกำลังพูดถึงแล้วยังมี การพัฒนาที่ยั่งยืนในวิถีทางแบบพุทธ ซึ่ง พระธรรมปิฎก ได้เขียนไว้ใน หนังสือ “การพัฒนาที่ยังยืน”[14] โดยเสนอแนวทางของการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ
             การพัฒนาแบบองค์รวม โดยบูรณาการอย่างสมดุล จะต้องเข้าถึงความจรองของธรรมชาติ ซึ่งเป็นไปตามระบบความสัมพันธ์ของเหตุและปัจจัยทั้งหลาย หมายถึงการที่มนุษย์เป็นอยู่อย่างมีอิสรภาพและสันติสุขในโลกที่เกื้อกูล ด้วยระบบความสัมพันธ์แห่งองค์ประกอบพื้นฐานและรวมกับความซับซ้อนที่มนุษย์สร้างขึ้น อันได้แก่ เทคโนโลยี เป็นองค์ประกอบสำคัญดังนี้
1)      มนุษย์
ก.     ในฐานะบุคคล
ข.     ในฐานะชีวิตทั้งกายและใจ
2)      สังคม
3)      ธรรมชาติ
4)      เทคโนโลยี
                องค์ประกอบทั้ง 4 จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อกันทั้งระบบ แต่มนุษย์เป็นตัวกระทำเพราะมีเจตน์จำนง ในขณะที่องค์ประกอบอื่นไม่มี และการที่มนุษย์แปลกแยกจากธรรมชาติย่อมหมายถึงว่ามนุษย์แปลกแยกจากชีวิตมนุษย์เองด้วย
             การแก้ปัญหาด้วยการบูรณาการง่ายๆ ก็คือการเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้โลกมนุษย์กับโลกธรรมชาติประสานประโยชน์กันได้ โดยมนุษย์อยู่ในโลกธรรมชาติอย่างกลมกลืน เกื้อกูล ความสำเร็จนี้จึงจะเป็นชัยชนะอย่างแท้จริงของมนุษย์  และเพื่อให้เป็นองค์ประกอบที่ดีที่จะนำไปสู่ระบบใหญ่ทั้งหมด  ในการพัฒนาจึงถือเอาการพัฒนามนุษย์เพื่อเป็นศูนย์กลางในการเป็นปัจจัยที่กระทำดังกล่าวมาแล้ว 
กระบวนการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงเหมือนแยกได้เป็น 2 ตอนดังนี้
1.        ระบบการพัฒนาคน โดยพัฒนาที่ตัวคนเป็นปัจจัยที่กระทำ ให้เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาด้วยการพัฒนาตัวคนเต็มทั้งระบบ คือครบทั้งพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา โดยทั้ง 3 ด้านนั้นมีความสัมพันธ์อิงอาศัยกัน การพัฒนาคนจะต้องทำทั้งหมดจึงจะเป็นการพัฒนาคนเต็มคน
1)            พฤติกรรม พฤติกรรมีที่ดีเป็นช่องทางให้จิตใจพัฒนาและช่วยให้ปัญญางอกงาม โดยให้ความพิเศษกับพฤติกรรมเคยชินที่ดีและเกื้อกูลซึ่งจะต้องฝึกแต่เด็ก
2)            จิตใจ จิตใจที่มีเจตน์จำนงที่เป็นตัวชี้นำกำหนดพฤติกรรม และสภาพจิตที่พอใจมีความสุข ก็ทำให้พฤติกรรมมีความมั่นคง ปัญญาจะทำงานได้ผลและพัฒนาไปได้ ต้องอาศัยสภาพจิตใจที่เหมาะ
3)            ปัญญา ปัญญาเป็นตัวแก้ปัญหา เป็นตัวจัดปรับทุกข์อย่างทั้งพฤติกรรมและจิตใจให้ลงตัวพอดี และเป็นตัวนำไปสู่จุดหมายแห่งความมีอิสรภาพและสันติสุข จะต้องพัฒนาควบคู่ประสานกันไป และอิงอาศัยการพัฒนาทั้งพฤติกรรมและจิตใจ ใช้ปัญญาบนความไม่ประมาท
2.        ระบบการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยคนที่พัฒนาเต็มระบบนั้นเป็นตัวกลางหรือเป็นแกนกลาง ด้วยการเป็นปัจจัยตัวกระทำที่ไปประสานปรับเปลี่ยนบูรณาการระบบสัมพันธ์องค์รวมใหญ่สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
                                การพัฒนาที่ยั่งยืน จะเกิดขึ้นเมื่อระบบความสัมพันธ์ขององค์ประกอบทั้ง 4 ดำเนินไปด้วยดี โดย
ทุกส่วนเป็นปัจจัยส่งผลในทางเกื้อกูลกัน และในระบบนี้มนุษย์ในฐานะปัจจัยตัวกระที่มีความสำคัญที่สุด ที่
จะให้ภาวะที่พึงประสงค์นี้เกิดขึ้นหรือไม่ โดยจะกล่าวถึงข้อคิดเกี่ยวกับการพัฒนาและการปฏิบัติต่อองค์ประกอบทั้ง 4 เฉพาะที่เป็นแนวทางพื้นฐานบางประการ
1)            มนุษย์
ในฐานะที่เป็นมนุษย์ เป็นหลักที่ควรให้ความสำคัญที่สูงสุด โดยมุ่งให้การศึกษา จัดสรร
ปัจจัยเกื้อหนุนอื่นๆเพื่อให้มนุษย์แต่ละชีวิตเจริญงอกงาม เข้าถึงความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ อันจะเป็นปัจจัยไปกระทำต่อระบบสัมพันธ์องค์รวมใหญ่บรรลุจุดหมายแก่งหารพัฒนาที่ยั่งยืนและมนุษย์ในฐานทรัพยากรมนุษย์ คือทุนหรือปัจจัยในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม พึงมีการพัฒนาให้เป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพ มีสุขภาพดี ขยัน อดทน รับผิดชอบ มีความรู้ ฯลฯ พร้อมที่จะเป็นกำลังในการพัฒนาที่ยั่งยืน
2)            สังคม
ระบบต่างๆทางสังคมนั้นเป็นการจัดการรูปแบบในระดับสังคม ต่างสังคม ประเทศชาติที่
เปิดถึงทั่วกัน จะต้องวางมาตรการร่วมกัน ปกป้องมิให้มีการกดขี่ บีบบังคับ เอารัดเอาเปรียบกัน ไม่ว่าน้อยใหญ่ สังคมควรมีมาตรการพิทักษ์ ป้องกันมิให้คนเบียดเบียนทำลายธรรมชาติแวดล้อม
3)            ธรรมชาติ
ทัศนคติที่ดีของมนุษย์ต่อธรรมชาตินั้นไม่ควรหยุดมองแค่เลิกมองตนเองแยกต่างหากจาก
ธรรมชาติ แล้วมองตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ แต่ควรจะก้าวต่อไปถึงขั้นแสดงศักยภาพของมนุษย์ในการจัดวางสมมติต่างๆที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อใช้อ้างสิทธิต่างๆ กลับมาอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเกื้อกูล ไปเบียดเบียน ทำร้าย เอาเปรียบ ยอมเสียสละให้มาก แล้วทำความดีชดใช้หรือจะถือว่ากอบโกยจากเขามามากพอแล้ว จะคืนให้แก่ธรรมชาตอบ้างก็ได้
4)            เทคโนโลยี
การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกื้อกูลไม่ทำลายธรรมชาติ เทคโนโลยีที่ประหยัดพลังงาน
หรือใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพฝนการผลิตสูงโดยมีของเสียน้อย กำจัดน้ำเสีย กำจัดขยะ เอาของเสียมาเวียนใช้ใหม่ ตลอดจนการวางมาตรการบังคับควบคุม มนุษย์เองจะต้องไม่ประมาทกับการใช้เทคโนโลยี เพราะเทคโนโลยีเป็นเครื่องสนองกิเลศของมนุษย์ จะต้องใช้อย่างมีสติ มิใช่ว่าเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าแต่มนุษย์กลับเสื่อมลง จะต้องเสพที่คุณค่าแท้มิใช้เสพเพราะตัณหา
                      เมื่อพูดถึงข้อปฏิบัติต่อองค์ประกอบแต่ละอย่างพอเป็นแนวทางแล้วขั้นที่จะบูรณาการทั้ง 4 องค์ประกอบเข้าด้วยกันเป็นระบบสัมพันธ์อันเดียว โดยเอาระบบพัฒนาตัวคนมาเป็นองค์แกนกลาง ที่จะทำหน้าที่เป็นปัจจัยตัวกระทำให้สำเร็จเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม เกณฑ์มาตรฐานขั้นพื้นฐานที่พระพุทธศาสนาใช้วัดการพัฒนาคือการไม่เบียดเบียนทั้งตนเอง และไม่เบียดเบียนผู้อื่น พยายามเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ นำปัญญาความรู้มาใช้ด้วยเจตน์จำนงที่จะสนองความคิดหมายจะทำให้โลกดี มองเห็นทุกอย่างเป็นระบบที่สัมพันธ์ครอบคลุมทั้งหมด รู้ถึงคุณค่าแท้คุณค่าเทียม ก้าวข้ามพ้นการเบียดเบียนผู้อื่น สู่ความเกื้อกูล การพัฒนามนุษย์อย่างถูกต้องจะนำผลดีมาให้
โดยสรุปแล้ว แม้ว่าแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะมีความเกี่ยวพันธ์อย่างแนบแน่นกับความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม แต่ก็หาใช่สิ่งเดียวกันไม่ แต่ละกรอบคิดเองต่างก็มีความหลากหลายในตัวเองอยู่แล้ว ซึ่งการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้นไม่สามารถที่จะมีสูตรสำเร็จหรือคู่มือที่จะบอกได้ตายตัวว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นทำได้อย่างไร แต่สิ่งที่ต้องพยายามตระหนักในวิถีทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนคือ การใช้ทรัพยากรอย่างระมัดระวัง การมีส่วนร่วมของประชาชนระดับรากหญ้าในขบวนการพัฒนา การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและประหยัดพลังงาน ทั้งควรจะมีนัยของศีลธรรมและความยุติธรรมทางสังคมอยู่ด้วย ซึ่งก็หมายความว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนนอกจากจะเป็นมุมมองต่อมนุษย์ ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นเรื่องของอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจ และการตีความสิ่งที่เรียกว่า ความยุติธรรมทางสังคมอีกด้วย นั่นคือ คนจนจะเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างไร
 _____________________________________________________________________________
               [1] นักศึกษาปริญญาโทสังคมวิทยาการพัฒนา รหัสประจำตัวนักศึกษา 545080152-3
[2] ประธานาธิบดี เฮนรี เอส ทรูแมน (1884-1972) ประธานาธิบดีคนที่ 33 ของสหรัฐอเมริกาได้กล่าวไว้ในสุนทรพจน์เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2492 (1949) ประเทศทุกประเทศทั่วโลกมีความเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นหน้าที่ของประเทศที่พัฒนาแล้วจะต้องให้ความช่วยเหลือประเทศด้อยพัฒนาในด้านต่างๆ คำว่าด้อยพัฒนาจึงเป็นคำนิยามที่ใช้ในระดับโลก หมายถึง ประเทศที่มีรายได้ต่ำและมีดัชนีทางสังคม เช่น การรู้หนังสือ สุขภาพอนามัย (เช่น อัตราการตายของทารก อายุขัยเฉลี่ยของประชากร) ที่อยู่ในระดับต่ำ โปรดดู วูลแกง ซัคซ์, (บก.). ฉันทนา บรรพศิริโชติ และสุริชัย หวันแก้ว บรรณาธิการแปล. (2539). บทนำศัพท์การพัฒนา คู่มือความรู้สู่อำนาจ. กรุงเทพฯสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
[3] จามะรี พิทักษ์วงศ์. (2529). การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม. เชียงใหม่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, หน้า 119-122 อ้างใน จามะรี เชียงทอง. (2549). สังคมวิทยาการพัฒนา. กรุงเทพฯโอเดียนสโตร์.
[4] Hoselitz อ้างใน จำนง อภิวัฒนสิทธิ์. (2524). ประวัติแนวคิดทางสังคม. กรุงเทพฯสำนักพิมพ์โอเดียนส์สโตร์.
[5] บัวพันธ์ พรหมพักพิง. (2549). หลักการพัฒนา. ขอนแก่นภาควิชาพัฒนาสังคม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, น. 34-35.
[6] เช่น การอธิบายเรื่อง “โครงสร้างหลวม” ของนักมานุษยวิทยาหลังสงครามโลกครั้งที่ (ดู จามะรี เชียงทอง. (2543). การศึกษาความสัมพันธ์ทางสังคมและไทยศึกษา, ใน ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และคณะ (บก.). สถานภาพไทยศึกษาการสำรวจเชิงวิพากษ์. เชียงใหม่: Silkworm Books.
[7] บัวพันธ์ พรหมพักพิง. (2549). หลักการพัฒนา. ขอนแก่นภาควิชาพัฒนาสังคม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, น. 54.
[8] คำว่า “การพึ่งพิง” หรือ “การพึ่งพา” วินิต ทรงประทุม ได้ให้ความหมายไว้ใน พัฒนาการทางความคิดของทฤษฎีการพึ่งพิงทางเศรษฐกิจ,  ใน รังสรรค์ ธนพรพันธุ์ และสมบูรณ์ ศิริประชัย. (2528).ทฤษฎีการพึ่งพากับสังคมเศรษฐกิจไทย. กรุงเทพฯสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, น.3-4.  ว่ามีความหมายเดียวกัน เพราะแปลมาจากภาษาอังกฤษคำเดียวกัน คือคำว่า “dependency” แสดงให้เห็นถึงสภาพของการที่ไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้เหมือนกัน กล่าวคือ “การพึ่งพิง” นั้นชี้ให้เห็นว่า เราไม่สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง ต้องอาศัยพิงคนอื่นเขา ซึ่งคนที่เขาจะให้เราอาศัยพึ่งพิงนั้นก็ต้องคิดคำนึงถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการที่เราอาศัยพึ่งพิง ถ้าเราให้ผลประโยชน์หรือปฏิบัติตัวดีถูกใจเขา เขาก็ให้เราพึ่งพิงต่อไป ถ้าเราทำตัวไม่ถูกใจเขาหรือเขาไม่พอใจขึ้นมา เขาก็จะผลักเราออกไป ไม่ยอมให้อาศัยพึ่งพิง เราก็อาจจะต้องล้มทั้งยืนเพราะความที่เคยชินกับการพึ่งพิงเขามาตลอด สำหรับ “การพึ่งพา” ก็มีความหมายชี้แนะให้เห็นว่า เราไม่สามารถจะไปยังจุดหมายปลายทางที่เราต้องการได้ด้วยตัวของเราเอง ต้องอาศัยคนอื่นเขาจูงไปหรือเดินตามหลังเขาไป ซึ่งถ้าเขาได้ประโยชน์พึงพอใจเขาก็จะพาเราไปด้วย แต่ถ้าเขาไม่พอใจ อาจเพราะเหตุที่เราไม่ยอมให้เขาจูงไปในทิศทางที่เขาต้องการ ถ้าเราไม่ต้องการไปบ่อยๆ เข้า เขาก็อาจสะบัดเราออกแล้วเดินหนีไป ปล่อยให้เราต้องยืนอัดอั้น ไม่รู้จะก้าวทิศทางใดต่อไป หรือรู้ทิศทางที่จะไป แต่ก็ไม่รู้จะไปอย่างไรได้ด้วยตนเอง เพราะความที่เคยเดินตามเขาไปหรือให้เขาจูงเสียจนเคย
[9] อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมได้ใน ผาสุก พงษ์ไพจิตร. (2541). พัฒนาการอุตสาหกรรมและพัฒนาการเศรษฐกิจประสบการณ์ของเกาหลีใต้ บราซิล และไทย. กรุงเทพฯสำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

[10] วินิต ทรงประทุม. พัฒนาการทางความคิดของทฤษฎีการพึ่งพิงทางเศรษฐกิจ,  ใน รังสรรค์ ธนพรพันธุ์ และสมบูรณ์ ศิริประชัย. (2528).ทฤษฎีการพึ่งพากับสังคมเศรษฐกิจไทย. กรุงเทพฯสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, น.34-35.
[11] Theotonio Dos Santos, “The Structure of  Dependence,” in Charles K. Wilber, ed., Thepolitical Economy of Development and Underdevelopment. Newyork: Random House, 1973. p. 109. อ้างใน วินิต ทรงประทุม. พัฒนาการทางความคิดของทฤษฎีการพึ่งพิงทางเศรษฐกิจ,  ใน รังสรรค์ ธนพรพันธุ์ และสมบูรณ์ ศิริประชัย. (2528).ทฤษฎีการพึ่งพากับสังคมเศรษฐกิจไทย. กรุงเทพฯสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, น. 21.
[12] จามะรี เชียงทอง. (2549). สังคมวิทยาการพัฒนา. กรุงเทพฯโอเดียนสโตร์.
[13] ดูเนื้อหาเพิ่มเติมได้ใน ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร. (2549)Development Discourse วาทกรรมการพัฒนา. กรุงเทพฯวิภาษา.
[14] พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต)(2543). การพัฒนาที่ยั่งยืน. กรุงเทพฯสำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง.
 __________________________________________________________________________________
บรรณานุกรม
จามะรี เชียงทอง. (2549). สังคมวิทยาการพัฒนา. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.
______________. (2543). การศึกษาความสัมพันธ์ทางสังคมและไทยศึกษา, ใน ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และคณะ (บก.). สถานภาพไทยศึกษา: การสำรวจเชิงวิพากษ์. เชียงใหม่: Silkworm Books.
จำนง อภิวัฒนสิทธิ์. (2524). ประวัติแนวคิดทางสังคม. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์โอเดียนส์สโตร์.
ฉันทนา บรรพศิริโชติ และสุริชัย หวันแก้ว บรรณาธิการแปล. (2539). บทนำ: ศัพท์การพัฒนา คู่มือความรู้สู่อำนาจ. กรุงเทพฯ: สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร. (2549). Development Discourse วาทกรรมการพัฒนา. กรุงเทพฯ: วิภาษา.
ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์. (2544). ทฤษฎีพึ่งพาและเทววิทยาแห่งการปลดปล่อย. กรุงเทพฯ: มูลนิธิวิถีทรรศน์.
บัวพันธ์ พรหมพักพิง. (2549). หลักการพัฒนา. ขอนแก่น: ภาควิชาพัฒนาสังคม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
ผาสุก พงษ์ไพจิตร. (2541). พัฒนาการอุตสาหกรรมและพัฒนาการเศรษฐกิจ: ประสบการณ์ของเกาหลีใต้ บราซิล และไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต). (2543). การพัฒนาที่ยั่งยืน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง.
วินิต ทรงประทุม. พัฒนาการทางความคิดของทฤษฎีการพึ่งพิงทางเศรษฐกิจ,  ใน รังสรรค์ ธนพรพันธุ์ และสมบูรณ์  ศิริประชัย. (2528).ทฤษฎีการพึ่งพากับสังคมเศรษฐกิจไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น