ขอเชิญทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเราในการสร้า้งสังคมแห่งการเรียนรู้...

หากต้องการลงบทความ/งานเขียนของท่าน สามารถแจ้งความประสงค์ได้ทางเว็บบอร์ด หรือทางอีเมล์แอดเดรส; po_kenchin@hotmail.com
หรือจะสมัครสมาชิกอย่างเดียวก็ได้นะครับ

14 กุมภาพันธ์ 2554

หมาขี้เรื้อน


                แทบจะเป็นกิจวัตร์ที่ผมจะต้องเข้าดูอีเมล์ ก่อนปฏิบัติภารกิจในงานประจำ ในเมล์จำนวนมากมายมหาศาล ที่มีทั้งสาระ  ไร้สาระ  ตื่นเต้น  เศร้าโศก เลือดท่วมจอ บทรักอีโรติกหวานชื่น และสารพัดที่เชื่อว่าทุกท่านที่อยู่ในโลกของเทคโนโลยี มักจะได้สัมผัสเสมอ และบังเอิญได้รับอีเมล์ฉบับหนึ่ง ซึ่งก็ต้องอ่าน  อ่าน เมื่อพิจารณาดูก็มองเห็นอะไรบางอย่างที่แฝงอยู่ข้างใน จึงอยากนำออกจากโลกไซเบอร์ มาให้ได้อ่านกัน เรื่องมีอยู่ว่า…..
                ลูกชายนักธุรกิจใหญ่มีชื่อเสียงระดับประเทศคนหนึ่ง เพิ่งสำเร็จการศึกษากลับมาจากเมืองนอก  ยังไม่ทันทำงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน  ก็ถูกผู้เป็นแม่ขอร้องให้บวชเรียนเสียก่อน  เพื่อเห็นแก่แม่..บัณฑิตใหม่หมาดๆ จากเมืองนอกจึงบวชอย่างเสียไม่ได้  เมื่อบวชที่วัดใหญ่ในกรุงเทพฯ แห่งหนึ่ง เสร็จแล้ว  ผู้เป็นแม่จึงพาไปฝากให้จำพรรษาอยู่กับพระวิปัสสนาจารย์รูปหนึ่งที่วัดป่าแถวภาคอีสาน  พระหนุ่มการศึกษาสูงมาจากตระกูลผู้ดี  มีแต่ความสุขสบาย เมื่อมาอยู่วัดป่ากว่าจะปรับตัวได้จึงใช้เวลานานเป็นแรมเดือน  แต่ก็นั่นแหละกว่าจะนิ่งก็ทำเอาพระร่วมวัดหลายรูปพลอยอิดหนาระอาใจไปตามๆ กัน  ปัญหาที่ทำให้พระทั้งวัดเหนื่อยหน่ายจนนึกระอาก็เพราะพระใหม่มีนิสัยชอบจับผิดและชอบอวดรู้ยกหูชูหางตัวเองอยู่เป็นประจำ  วันแรกที่มาอยู่วัดป่าก็นึกเหยียดพระเจ้าถิ่นทั้งหลายว่าไม่ได้รับการศึกษาสูงเหมือนอย่างตน  ออกบิณฑบาตได้อาหารท้องถิ่นมาก็ทำท่าว่าจะฉันไม่ลง  เห็นที่วัดใช้ตะเกียงน้ำมันก๊าดแทนไฟฟ้าก็วิพากษ์วิจารณ์เสียเป็นการใหญ่หาว่าล้าสมัยไม่รู้จักใช้เทคโนโลยี   ตอนหัวค่ำมีการทำวัตรสวดมนต์เย็นก็บ่นว่าท่านรองเจ้าอาวาสทำวัตรนานเหลือเกินกว่าจะสิ้นสุดยุติได้ก็นั่งจนขาเป็นเหน็บชา   ครั้นพอถึงเวรตัวเองล้างห้องน้ำเข้าบ้างก็ทำท่าจะล้างอย่างขอไปที   ล้างไปบ่นไปประเภทตูจบปริญญาโทมาจากเมืองนอกต้องมาเข้าเวรล้างห้องน้ำร่วมกับใครก็ไม่รู้…โอ้ชีวิต!!!
                ความสำรวยหยิบโหย่งทำให้พระใหม่ไม่พอใจสิ่งนั้นสิ่งนี้ถือดีว่าตัวเองมีชาติตระกูลสูง  มีการศึกษาสูงกว่าใครในวัดนั้น ผิวพรรณก็ดูสะอาดสะอ้านชวนเจริญศรัทธากว่าพระรูปไหนทั้งหมด  มองตัวเองเปรียบกับพระรูปอื่นแล้วช่างรู้สึกว่าตัวเองเหนือกว่าทุกประตู  นึกแล้วก็ยิ้มกระหยิ่มอยู่ในใจกลับเข้ากุฏิเมื่อไหร่ก็เอาปากกามาขีดเครื่องหมายกากบาทบนปฏิทิน นับถอยหลังรอวันสึกด้วยใจจดจ่อ   อยู่มาได้พักใหญ่พระใหม่อดีตนักเรียนนอกก็สังเกตเห็นว่าท่านเจ้าอาวาสวัดป่าแห่งนี้ไม่ค่อยพูดไม่ค่อยจาซ้ำนานๆ ครั้งจะออกมาให้โอวาทกับลูกศิษย์เสียทีหนึ่ง   วันๆ ไม่เห็นท่านทำอะไรเอาแต่กวาดใบไม้ เก็บขยะซักผ้าเอง (เณรน้อยก็มีไม่รู้จักใช้) สอนก็ไม่สอน  การบริหารวัดก็มอบให้ท่านรองเจ้าอาวาสเป็นคนจัดการไปเสียทุกอย่าง    เห็นแล้วเลยนึกร้อนวิชาเสนอให้ปรับโน่นลดนี่สารพัดที่ตัวเองเห็นว่าไม่เข้าท่าล้าสมัย  รวมทั้งเสนอให้วัดใช้ไฟฟ้าแทนตะเกียงด้วย    อีกข้อหนึ่งเพราะตนเห็นว่ายุคสมัยก้าวไกลมามากแล้วไม่ควรจะทำตนเป็นคนหลังเขา  ให้คนอื่นเขาดูถูก   หนึ่งในข้อวิจารณ์จุดด้อยของวัดทั้งหลายเหล่านั้น  พระใหม่เสนอ    ให้หลวงพ่อเจ้าอาวาสมีปฏิสัมพันธ์กับพระลูกวัดให้มากขึ้นกว่านี้   สอนให้มากขึ้น   เทศน์ให้มากขึ้น  และแนะนำว่าคนระดับผู้บริหารไม่ควรจะทำงานอย่างการซักจีวรด้วยตนเองเป็นต้น   ควรจะกระจายอำนาจมอบงานให้คนอื่นทำดีกว่า      
                เย็นวันนั้นเป็นวันพระสิบห้าค่ำ หลวงพ่อเจ้าอาวาสมานั่งทำวัตรที่โบสถ์ธรรมชาติกลางลานทรายด้วย   ท่านไม่ลืมที่จะหยิบข้อเสนอแนะจากพระใหม่มาอ่านให้พระหนุ่มสามเณรน้อยทั้งหลายฟัง   แต่ท่านไม่บอกว่าพระรูปไหนเป็นคนเขียน  อ่านจบแล้วหลวงพ่อก็ยิ้มอย่างมีเมตตาพลางชี้ให้ภิกษุหนุ่มสามเณรน้อยทั้งหลายดูหมาขี้เรื้อนตัวหนึ่งที่นอนอยู่ใต้ม้าหินอ่อนจากใต้ต้นอโศกที่อยู่ใกล้ๆ  เธอทั้งหลายเห็นหมาขี้เรือนตัวนั้นหรือไม่  เจ้าหมาตัวนั้นน่ะมันเป็นขี้เรื้อนคันไปทั้งตัว ฉันเห็นมันวิ่งวุ่นไปมาทั้งวัน เดี๋ยวก็วิ่งไปนอนตรงนั้น เดี๋ยวก็ย้ายมานอนตรงนี้อยู่ที่ไหนก็อยู่ไม่ได้นาน  เพราะมันคัน  แต่พวกเธอรู้ไหมเจ้าหมาตัวนั้นน่ะมันไปนอนที่ไหนมันก็นึกด่าสถานที่นั้นอยู่ในใจ  หาว่าแต่ละที่ไม่ได้ดั่งใจตัวเองสักอย่าง  นอนที่ไหนก็ไม่หายคัน   สถานที่เหล่านั้นช่างสกปรกสิ้นดี  คิดอย่างนี้แล้วมันจึงวิ่งหาที่ที่ตัวเองนอนแล้วจะไม่คัน  แต่หาเท่าไหร่มันก็หาไม่พบสักทีเลยต้องวิ่งไปทางนี้ทางโน้นอยู่ทั้งวัน    เจ้าหมาโง่ตัวนั้นมันหารู้สักนิดไม่ว่าเจ้าสาเหตุแห่งอาการคันนั้นหาใช่เกิดจากสถานที่เหล่านั้นแต่อย่างใดไม่   แต่สาเหตุแห่งอาการคันอยู่ที่โรคของตัวมันเองนั่นต่างหาก   พูดจบแล้วหลวงพ่อก็นั่งสงบนิ่งเป็นสัญญาณให้รู้ว่าได้เวลาภาวนาเจริญสติแล้ว
                หลังการทำวัตรสวดมนต์เย็นแล้ว  ขณะที่พระทุกรูปนั่งหลับตาภาวนาอย่างสงบนั้น  ในใจของพระใหม่กลับร้อนเร่าผิดปกติ นอกสงบแต่ภายในวุ่นวาย นึกอย่างไรก็มองเห็นตัวเองไม่ต่างไปจากหมาขี้เรื้อนที่หลวงพ่อชี้ให้ดู  ยิ่งนั่งสมาธินานๆ  ยิ่งคันคะเยอในหัวใจ  ทั้งอายทั้งสมเพชตัวเอง  นับแต่วันนั้น เป็นต้นมาพระใหม่อดีตนักเรียนนอกก็เปลี่ยนไปเป็นคนละคน  จากคนพูดมาก  กลายเป็นคนพูดน้อย  จากคนที่หยิ่งยโส  กลายเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน  จากคนที่ชอบจับผิดคนอื่น  กลายเป็นคนที่หันมาจับผิดตัวเอง  เมื่อออกพรรษาแล้วโยมแม่มาขอให้ลาสิกขาเพื่อกลับไปสืบต่อธุรกิจของครอบครัว ท่านก็ยังไม่ยอมสึก "อาตมาเป็นหมาขี้เรื้อน ขออยู่รักษาโรคจนกว่าจะหายคันกับครู-บาอาจารย์ที่นี่อีกสักหนึ่งพรรษา" โยมแม่ได้ฟังแล้วก็ได้แต่ยกมืออนุโมทนาสาธุ กราบลาพระลูกชายแล้วก็เดินออกจากวัดไปขึ้นรถ พลางนึกถามตัวเองอยู่ในใจว่าคำว่าหมาขี้เรื้อนของพระลูกชายหมายความว่าอย่างไรกันแน่หนอ  
                ท่านที่รักครับถ้าเรายังเป็นโรคอยู่ในใจ ไม่ว่าเราจะทำอะไร ย้ายที่ไปตรงไหน เราก็บ่นว่าสถานที่เหล่านั้นสกปรกสิ้นดี ไม่น่าอยู่เลย อะไรๆ ก็ไม่เหมาะสมกับตัวเรา ทำให้หาความสุขสงบไม่ได้….จงหันมองตัวเองเถิด อย่ากล่าวโทษคนอื่นหรือกล่าวโทษสถานที่อยู่เลย  แล้วท่านจะมีความสุข ความพอเพียงในการดำรงชีวิต….


                                                                          *****************
                                                                                                                                     พี่กุ้ง cd # 4
                                                                                            อดีตประธาน ชนพ.(นานแล้ว)

12 กุมภาพันธ์ 2554

รูปแบบการออกค่าย

          การเรียนถือเป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ รับผิดชอบให้สุดๆ การออกค่าย ถือเป็นการแสดงสปิริต ความรับผิดชอบต่อสังคม อย่างสุดๆ เช่นเดียวกัน ดังนั้นทำให้ผมกับเพื่อน ต่างสาขากัน ชอบเป็นชีวิตจิตใจ จนนำไปสู่การแข่งขันออกค่าย ท้ายสุดเพื่อนผมเขาชนะขาด เพราะอะไร..........เพราะเขายอม... ยอมเรียนไม่จบรุ่น...(เป้อ..ว่างั้นเหอะ)
            การออกค่ายที่ผมพบเห็นมีหลายรูปแบบ แตกต่างกันออกไป สิ่งสำคัญคือรูปแบบหรือจุดมุ่งหมายของสมาชิกค่าย และเป็นไปตามนโยบายชื่อค่าย ซึ่งพอจะสรุปได้ดังต่อไปนี้
            1.การออกค่ายทั่วไป มักออกมาในรูปแบบการสร้างถาวรวัตถุ เช่น ฝายกั้นน้ำ(ค่ายของชาววิดวะ) สร้างศาลา,โรงเรียนห้องสมุด เป็นต้น โครงงานที่เสนอไป ไม่มีการแลกเปลี่ยน หรือศึกษาข้อมูลทั่วไปในหมู่บ้านกับชาวบ้าน ทำให้ไม่ทราบปัญหาที่แท้จริงของชาวบ้าน อีกทั้งโลกทัศน์    ภูมิปัญญาต่างๆ ของชาวบ้านในพื้นที่นั้นๆ มักถูกมองข้ามไป ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่นปัญหาฝ่ายน้ำล้นรั่ว ดินทรุด อุปกรณ์ชำรุดหรือเสียแล้วไม่งบซ่อมบำรุง รักษา เป็นต้น แน่นอนว่ามุมมองทางวิชาการ แนวทางการสร้างทางวิศวะกับปัญหาความเป็นอยู่ของชาวบ้าน อาจจะสวนทางกัน ปัญหาดังกล่าวเป็นลักษณะประชาสังเคราะห์ มีปัญหาขาดแคลนอะไร หน่วยงานประชาสงเคราะห์ไปแจก ไปบรรเทาทุกข์ เป็นต้น ลักษณะขายผ้าเอาหน้ารอด (หรือผักชีโรยหน้า) ไว้ก่อน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ย่อมจะเกิดให้เกิดปัญหาเรื้อรัง ต่อไปอย่างไมมีวันจบสิ้น

            2. การสร้างวัตถุ  ศึกษาสภาพหมู่บ้าน สังคมด้วย
            รูปแบบนี้มีมากในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะของคณะทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  การออกค่ายของชมรม ชุมนุมต่างๆ เหล่านี้เป็นการนำเอารูปแบบการสร้างสิ่งต่างๆ เช่น ศาลา โรงเรียน รั้ว ห้องสมุด สนามกีฬา ฯลฯ ผสมผสานกับการศึกษาแบบทั่วไป (โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษาที่เรียนศึกษาชุมชนหรือ เรียนมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา) ของพื้นที่ ที่สร้าง ทั้งปัญหาต่างๆ ของชุมชน ความเป็นมาของชุมชน สภาพเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น สิ่งเหล่านี้นอกจากจะเข้าใจปัญหาต่างๆ ของชุมชน,ความเป็นมาของชุมชน,ประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ แล้ว  ยังจัดแบ่งความชัดเจนในการศึกษาออกค่ายด้วย เช่น โครงงานเกษตร โครงงานอนามัย โครงงานศึกษา โครงงานศึกษาชุมชน เป็นต้น สิ่งต่างๆ เพื่อเป็นการเข้าใจปัญหาต่างๆ ของชุมชนแล้วยังมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกับชาวบ้านอีก มีการสร้างความสัมพันธ์ต่างๆ ทำให้อาสาสมัครที่ออกค่ายได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์โดยตรงกับชาวบ้าน ชาวบ้านมีความรู้สึกสนิทสนม           มีความสัมพันธ์มากขึ้นตามลำดับ ชาวบ้านรู้สึกว่าชาวค่ายเป็นส่วนหนึ่งของชาวบ้านและชุมชน ชาวค่ายตั้งใจจะเข้าไปแลกเปลี่ยนปัญหา เข้าไปร่วมแก้ไขปัญหาต่างๆ ของชุมชน กับความต้องการของชุมชนได้พอสมควร

            นอกจากนี้ ชาวค่ายยังมีโอกาสเข้าใจถึงปัญหาที่จริงของชาวบ้าน(เป็นการเตรียมตัว เตรียมใจ เรียนวิชามานุษยวิทยาและสังคมวิทยา ของน้องที่ยังไม่เรียนอีกด้วย)

            3. ศึกษาชุมชน
            ทำกันในหมู่ของนักกิจกรรมที่มีประสบการณ์งานค่ายมาพอสมควร ถือเป็นการพัฒนาค่ายอาสาอาจจะเป็นสูงสุดของงานค่ายอาสา ค่ายนี้มุ่งเน้นการเก็บข้อมูล ศึกษาข้อมูลสภาพทั่วไปของหมู่บ้าน สังคมนั้นๆ มีการพูดคุยแลกเปลี่ยน ทัศนะต่างๆ ของชาวบ้านกับชาวค่าย จะได้ข้อมูลที่ชัดเจน ทำให้เข้าใจสภาพปัญหา ความต้องการที่แท้จริงของชาวบ้าน(Holism ถือเป็นการมองที่เป็นระบบ ภาพรวมขององค์ความรู้) ความเป็นอยู่ของชุมชนเหมือนกับการเป็นคนในชุมชนหรือชุมชนนั้นๆ (ถ้าอยู่กันหลายวัน) นอกจากนี้ความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านกับชาวค่ายจะมีมากขึ้นด้วยตามลำดับ แน่นอนสิ่งที่ได้เห็นและสิ่งที่ได้มักออกมาในรูปของข้อมูล ความรู้ ลักษณะที่เป็นนามธรรมซะมากกว่า  
            สรุปแล้วที่ผ่านมา การออกค่ายไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาชนบทหรือชุมชนในพื้นที่แต่ประการใด แต่เป็นการกระตุ้นส่งเสริม สนับสนุนการทำงานร่วมกับชาวบ้าน ทั้งในรูปแบบการสร้างวัตถุ การศึกษาให้ชาวบ้านมีจิตสำนึก เข้าใจความเป็นจริงในสังคม อีกทั้งความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านกับชาวค่าย(ส่วนมากเป็นภาพนักศึกษา) สิ่งต่างๆ ที่ชาวค่ายนำไปให้กับชาวบ้านนั้นยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของชาวบ้านและชุมชน เป็นเพียงการไปบรรเทาทุกข์ ความเดือดร้อน เรื่องเล็กๆ เรื่องน้อยๆ เท่านั้นเอง นอกจากนี้ปัญหาที่ชาวค่ายก็ยังมีภาระหน้าที่อยู่ สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นปัญหาสำคัญของชาวค่าย ปัญหาความไม่เข้าใจกันของชาวค่าย ความแตกต่างอุดมการณ์ แนวคิดกันซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญอีกประการและเรื่องบประมาณที่ทางค่ายได้มานั้นมักจะน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการในการออกค่าย (แท้ที่จริง มักจะถูกตัดงบให้น้อยลงอยู่แล้วทุกปี)
            การออกค่ายจึงถือว่าเป็นลักษณะงานสงเคราะห์มากกว่า และการพัฒนาตัวผู้นำ สมาชิก การออกค่าย  รูปแบบการออกค่ายจะเป็นอย่างไร กิจกรรมในการออกค่ายมีอะไรบ้าง อุดมการณ์จากกการที่ได้ออกไปสัมผัสกับสภาพชีวิตจริงของสังคม ก็ทำให้โลกทัศน์ ทัศฯต่างๆ กว้างขึ้นอีก แต่ในความคิด ความหวังต่อตัวผู้ออกค่ายขึ้นอยู่กับความหวังขอแต่ละคน ว่ามีมาก น้อยแค่ไหน  หรือเป็นเพียงการชักชวน หรือตามกันมา หรือเพื่อประโยชน์ต่อสังคมและตนเอง
            การออกค่ายจริงอยู่ว่าเป็นการแสวงหาของคนรุ่นใหม่ที่มุ่งเข้าหาสัจธรรม แต่ในส่วนหนึ่งไปล้มเหลว ผิดหวังในการออกค่ายครั้งต่อไป ความจริงแล้วการค้นหาความเป็นตัวของตัวเอง เข้าใจตัวเองนี้แหละคือสิ่งสำคัญ ฉะนั้นการออกค่ายเป็นการสร้างจิตสำนึกอุดมการณ์ที่ถูกต้องและเป็นจริงของสังคมต่อตัวเองมากกว่า การพัฒนาคนเป็นมนุษย์ในตัวเอง มีความเป็นสำคัญที่สุด  และจะทำให้ค่ายแต่ละชมรมก้าวไป ตามจุดหมายที่วางเอาไว้อย่างสูงสุด เพื่อสมาชิกค่ายได้เตรียมกาย เตรียมใจ จิตสำนึกเดียวกันพร้อมที่จะพัฒนาต่อตัวเอง ต่อสังคม ต่อไป

อ่านเขียนและสรรหามาให้อ่าน
ญ้อ ณ นคร
1/ก.พ/ 2538

09 กุมภาพันธ์ 2554

เรื่องเล่าใต้ต้นยอป่า


                หากจะให้กล่าวอะไรบ้างอย่าง ....สั้น  ๆ  ที่เกี่ยวกับ ชนพ. แล้ว คงไม่ยากที่ใครจะกล่าวถึงได้  ...และคงไม่ยากเกินไป  แต่นั่นก็ไม่สำคัญเท่ากับคำพูดหรือวลีที่เปล่งออกมาสื่อความหมายให้เข้าใจ ผมมีคำมากมายเกี่ยวกับ ชนพ. ที่อยากถ่ายทอด แต่ก็นั้นแหละ มีเพียงคำเดียวที่ผมใคร่จะนำเสนอนั้นคือ คำว่า ชนพ. บ้านของนักพัฒนารุ่นใหม่
                ผมก็เป็นคนหนึ่ง ที่เป็น ชนพ. ที่ต้องกล่าวเช่นนี้ เพราะว่า เดิมที เด็กน้อยทุกคนที่เรียนสาขาการพัฒนาชุมชน (ชื่อสาขาเดิม) เป็นสมาชิกโดยตำแหน่งใน ชนพ. อยู่แล้ว จะเข้าหรือไม่ ออกตัว หรือ เก็บตัว คุณก็คือ ชนพ.
                โดยข้อเท็จจริงแล้ว ชนพ. ไม่ได้เกิดจากการรวมตัวของสาขาเรา(พัฒนาชุมชน) สาขาเดียวเท่านั้น จุดนี้หลาย ๆ คนคงไม่ทราบ แต่เดิมนั้น มีหลาย ๆ คน เช่น เพื่อนจากคณะเกษตร วิศวกรรมศาสตร์ พัฒนาชุมชน ฯลฯ  ที่เป็นหมู่เป็นพวกกัน ตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์จะสร้างนักพัฒนา  ที่มีการจัดการพัฒนาแบบองค์รวมในการคิดงาน  ผมดีใจนะ ที่มีอารมณ์นั้นเกิดขึ้น เป็นอารมณ์เด็กเกษตร อารมณ์เด็กวิศวะ อารมณ์เด็กซีดี มาเกี่ยวข้องทางความคิดกัน ผมว่า มันเป็นอารมณ์ ของการทำงานแบบสหวิชา ซึ่งตอนผมเรียนอยู่ มันก็เป็นอารมณ์กู คือ พัฒนาชุมชน โฮม อะโลน ทางความคิด   แล้วนะ.....เศร้าใจ ไม่รู้ว่า ปัจจุบันนี้ ชนพ. มีอารมณ์อย่างไรบ้าง?
                โดยทั่วไปแล้ว มาตรฐานสำหรับ ชนพ นั้นในยุคผม คือ การออกค่ายและเวทีแลกเปลี่ยนความคิด สำหรับการออกค่ายนั้น ถือเป็นเครื่องหมายประกันคุณภาพของบุคลากร ชนพ. ก็ว่าได้    ผม เพื่อน ๆ น้อง ๆ หลาย ๆ คนก็คงมี และผ่านเวทีเรียนรู้อย่างนี้เช่นกัน ต้องยอมรับว่า ได้พิสูจน์ตัวเองในระดับหนึ่งเลยทีเดียว ที่พูดอย่างนั้น เพราะว่า ประสบการณ์นั้น ย่อมเพิ่มพูนตามการทำงานและการใช้ชีวิต คุณค่าและท่าทีของคนย่อมผันแปรไปตามเวลา  ด้วยเหตุนี้ เราทุกคนใน ชนพ. จึงเสมือนฟันเฟืองเล็ก ๆ ในการขับเคลื่อน ชนพ. เพียงแต่ในยุคของผม นั้น ผมขอเรียกว่า ยุคแห่งการแสวงหาจุดยืนของ ชนพ. เพราะ ชนพ. ได้รับผลกระทบทั้งบวกและลบจากการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการเรียนการสอน ทั้งในแง่ความคิดคนเรียน และ สไตล์นักพัฒนาของสาขา
                การทำงานของ ชนพ. ใต้ร่มเงาของประธาน ชนพ. หลายท่าน และหลากทีมงานย่อมมีความแตกต่างกันไปตามบุคลิกและยุคสมัย แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นมาตรฐานใน ชนพ. นั้น ยังชัดเจนเช่นเดิม ที่อยากนำเสนออย่างยิ่งนั้น 2 ประการ คือ การออกค่าย และ การเสวนาแลกเปลี่ยนความคิด
                ผมขออนุญาตกล่าวถึง ประเด็นแรกก่อน คือ การออกค่าย อย่างที่ผมกล่าวข้างต้น ค่ายเป็นเครื่องประกันคุณภาพของ ชนพ. หรือ อาจกล่าวได้ว่า ประกันคุณภาพเด็กพัฒนาชุมชน     ในคราวเดียว คำถามฉลาด ๆ บางครั้ง ยังก้องอยู่ในหัวผมจนถึงทุกวันนี้ ที่ว่า ออกค่ายหรือยัง? ไปค่ายไปทำอะไร? ได้อะไรจากค่ายบ้าง
                สิ่งที่ค่ายมี และเป็นอยู่ คือ ค่ายเป็นตัวเชื่อมร้อยความเป็นนักพัฒนารุ่นใหม่แก่เรา หลายคนที่ได้อยู่ค่าย คงมีคำตอบอยู่ในใจว่า ค่ายมีอะไร แต่คงต้องต้องสาธยายให้กันฟังอีกครั้งว่า
¥ ค่าย สอนให้เรา อดทนให้เป็น
¥ ค่าย สอนให้เรา ทนอดให้ได้
¥ ค่ายสอนให้เรา รู้ว่า หัวหน้ากับลูกน้อง ต่างกันอย่างไร
¥ ค่ายสอนให้เรา รู้ว่า หลักการเชื่อได้ แต่ควรปฏิบัติได้จริง
¥ ค่ายสอนให้เรารู้ว่า ชาวบ้านฉลาดกว่าที่คุณคิด
¥ ค่ายสอนให้เรารู้ว่า คนดีคือ คนทำงาน คนทำดี ไม่ใช่ คนไม่ทำชั่ว
¥ ค่ายสอนให้เรารู้ว่า เงินทุกบาทสำคัญ แต่จิตใจสำคัญกว่า
¥ ค่ายสอนให้เรารู้ว่า  เวทีเปิดใจตอนดึก เป็นเวทีที่ดี แต่ต้องเลือกเวลาทำ
                และเหตุผลอีกมากมาย   หลาย ๆ คนคงผ่านเวทีค่ายมาพอควร  ผมก็คงคล้าย ๆ กับท่าน ๆ คิดว่า มีประสบการณ์ในแง่บวกกับค่ายมากกว่าลบ  อาทิ  ค่ายบ้านแมด  หนองบัวลำภู  ประมาณปี 42-43  ผมรู้สึกดีมาก ๆ อาจเป็นเพราะว่า ค่ายนี้ ช่วยสอนผมและเพื่อน น้อง หลาย ๆ คนให้เข้าใจและโตขึ้นทางความคิดด้วย ทั้งในแง่ทักษะของชีวิตและการทำงานเรื่องที่สนุกสนาน ก็พอมี      เพราะเราต้องไปเตรียมค่ายกว่า 10 วัน  เตรียมค่ายจากป่าหญ้า  ขนาดกว่าไร่ เป็นแปลงเกษตร เป็นไปได้ไง? แค่ใช้เครื่องตัดหญ้า บางคนยังไม่เป็นเลย.....แล้วจะพัฒนาทั้งหมู่บ้าน... คนโง่แล้วขยัน ลำบาก ต้องเข้าใจ …….ฮา ฮา ฮา
                ผมยังจำได้เลยว่า ผมเคยทำแปลงเกษตร นะ ยังถูกชาวบ้าน(พี่หนา ที่ปรึกษาโครงงานเกษตร) แซวว่า ปลูกข้าวโพดไม่ต้องยกแปลงสูง ก็ได้ ก็แหม......ก็อยู่มหาวิทยาลัย นะ เขาสอนให้เรามั่นใจแบบวิชาการไง....ก็เลยพาลไปคิดถึงแปลงเกษตรสาธิต ประสบการณ์แค่นี้....และที่ฮาและแค้นในทีเดียว ก็คือ ตอนที่ให้เพื่อน ๆ น้อง ๆ มาปลูกพืชในแปลงนา  ขนาดขุดหลุมเป็นรู ๆ ให้แล้ว แค่หยอดลงรู...เค้ายังบอกว่า ร้อน เหนื่อย โอ๊ย....นั่นซิ...ว่าที่ นักพัฒนาประเทศไทย
                กับหัวหน้าโครงการอื่น ๆ ก็ฮา  ๆ นะ ตรงนี้ ยังสอนให้เรา  ๆ รู้ถึงความจริงว่า หัวโขน    มันไม่สำคัญนะ แต่มัน...........จริง ๆ     ตอนไม่มีหัวโขนก็โอเคนะ เพื่อน   พอมีหัวโขน ก็ว่ากันไป เราก็เป็น.....จริง ๆ เลย    แต่เพราะ ชนพ.  จึงได้เรียนรู้ สุดท้ายเราได้บทเรียนและนำมาแปลงเป็นทุนสมองแก่ตนเอง ก็คือ   คนกับงาน มันแข็งเกินไป ฉะนั้น เวลาทำงานกับคน ต้องใช้ความรู้สึก แต่ไม่ใช่ให้มีอารมณ์นะ... ฮา ฮา ฮา    และอีกข้อที่ผมจำมาทำงานจนปัจจุบันก็คือ ชาวบ้านเก่งพอตัวนะ และที่สำคัญก็คือ เขามีชุดคำตอบการพัฒนาเหมือนกัน มีหลาย ๆ ชุด      สำหรับนักพัฒนา      ทุกคน....ฮา ฮา ฮา  นี่ถ้าเป็นสมัยผมเรียนคงมีเพื่อนหรือน้องบางคน พูดขึ้นว่า   “เดี๋ยวจัดให้
                คงมีเท่านี้ สำหรับการระลึกถึงค่าย ขออนุญาตกล่าวถึง ประเด็นที่สอง เวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความคิด  โดยข้อเท็จจริงแล้ว  จะเรียกว่า เวทีเสวนาก็ไม่ตรงเสียทีเดียวนัก เพราะไม่มีเวที  เดิมเป็น  แคร่ และเสื่อ  ประเด็นการพูดคุยเป็นเรื่องทั่ว ๆ ไป ในสังคม ณ ห้วงเวลานั้น ในยุคผม ไม่มีน้ำมันแพง ในยุคผม ไม่มีโจร(กระจอก)ใต้  หัวข้อที่คุยกัน ถ้าเป็นการอวดอ้างฤทธานุภาพเกินไปนะ เราจะคุยกันเรื่อง การเรียน การทำงานค่าย เรื่องที่เกี่ยวกับ ชนพ.  เรื่องชาวบ้าน(พี่น้อง ๆ ชนพ)  เรื่องประท้วงเจ้ากรม มข. และ เรื่องฟุตบอล  เรื่องฟุตบอล ส่วนใหญ่ก็ประมาณนี้
                เวทีเช่นนี้  เกิดขึ้นบ่อย ๆ ครั้ง บ่อยครั้ง บ่อย บางคนก็เพลีย เพราะเป็นเรื่องหนัก บางคนก็หลับ เพราะคุยกันนาน บางคนก็คุย จนไม่อยากให้(มัน)คุย  แต่สิ่งที่เราได้สิ่งหนึ่ง คือ ความรู้จัก ความเข้าใจ และสนิทสนมกันในหมู่พี่น้อง เพื่อน ๆ แม้บางที อาจจะทำให้หลาย ๆ คน อยากออกกำลังกายขึ้นมาในเวทีนั้น  ๆ ก็ตามใจ  แต่ความคิดรวบยอดของการทำกิจกรรมถือว่า  ใช้ได้
                มาถึงตรงนี้ ผมขอขอบคุณความกล้าและความตั้งใจของ ชนพ. ที่ยังดำรง 2  กิจกรรมอันทรงคุณค่านี้   จะอย่างไร เวลาเปลี่ยนไป ซุ้มไม้ไผ่หมดไป และกลับมาอีกครั้ง และหมดไป แต่หวังใจอย่างยิ่งว่า จิตใจของคน ชนพ. จะไม่เปลี่ยน และไม่พลวัตตามค่านิยมอันไร้ค่าแห่งโลกทุนนิยมวิปริต
               

                                                                                                                                            พี่โหน่ง cd # 14

08 กุมภาพันธ์ 2554

ข้อเสนอปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ


ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติเป็นฐานชีวิต   และปัจจัยการผลิตที่สำคัญสำหรับคน
ทุกคน แต่โครงการการจัดการที่ดินของประเทศไทย        โดยปล่อยให้รัฐและอำ 
นาจทางทุนเข้าถือครองที่ดินอย่างไม่จำกัด ได้สร้างความไม่เป็นธรรมให้แก่สังคม 
กล่าวคือ       ขณะที่ประชาชนจำนวนมากต้องสูญเสียที่ดินซึ่งคนเคยถือครองหรือ
ทำมาหากินมานาน แต่กลับมีที่ดินที่ปล่อยให้ทิ้งร้างว่างเปล่าจำนวนมหาศาล มีการ
เก็งกำไรที่ดินจนมีราคาแพง  ทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ยาก ไม่คุ้มกับการลงทุนทำ
การเกษตร  มีปัญหาการใช้ที่ดินที่ไม่เหมาะสมกับระบบนิเวศ     มีการประกาศเขต
ป่าอนุรักษ์  และพื้นที่สาธารณะโดยไม่คำนึงถึงความมีอยู่ของชุมชนท้องถิ่นซึ่งอยู่
ในพื้นที่ดังกล่าวมาเป็นเวลาช้านาน    ส่งผลให้เกษตรกรทำกินอยู่ในพื้นที่ซ้อนทับ
อย่างผิดกฎหมาย      ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญาในข้อหา
บุกรุกที่ดินของรัฐและของเอกชน  เกษตรกรต้องประสบกับความทุกข์ยากทั้งทาง
เศรษฐกิจและสังคม   รวมทั้งถูกจำกัดในเรื่องการพัฒนา ซึ่งสร้างความอ่อนแอแก่
สังคมการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศชาติโดยรวม
เมื่อวิเคราะห์ถึงรากฐานความขัดแย้งเรื่องที่ดินพบว่ามีปัญหาหลายระดับ ประการแรก ระดับความคิดเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรี ซึ่งได้เปลี่ยนคุณค่าที่ดินจากฐานชีวิตมาเป็นสินค้า กำหนดทิศทางการพัฒนาที่ให้ความสำคัญแก่การเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มทุนรายใหญ่มากกว่าความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของเกษตรกรรายย่อย ตลอดจนความมั่นคงทางอาหาร และฐานทรัพยากร และระดับโครงสร้างที่ให้ความสำคัญกับระบบกรรมสิทธิ์แบบปัจเจกที่ผูกติดกับกลไกตลาด รวมทั้งการครอบครองและจัดการที่ดินแบบรวมศูนย์อำนาจของรัฐเข้ามาเบียดขับระบบการจัดการที่ดินและทรัพยากรร่วมกันของชุมชนหรือสิทธิชุมชนในท้องถิ่น รวมทั้งการกระจายการถือครองที่ดินที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

หากสังคมไทยมีจินตนาการให้คนไทยทุกคน ซึ่งจะมีจำนวนสูง สุดราว 70 ล้านคน ตามที่คาดไว้ในอีก 10 ปีข้างหน้า มีที่อยู่อาศัยและที่ทำกินได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอต่อการดำรงชีวิตที่ดี มีระบบการศึกษาที่สอนคนให้เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน มีความรักคุณค่าทางวัฒนธรรมและท้องถิ่น มีอาหารบริโภคที่มีคุณภาพและปลอดภัย เกษตรกรที่มีที่ดินทำการเกษตรเป็นของตนเองเพื่อเลี้ยงชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยวิถีการเกษตรที่สมดุลยั่งยืน มีสภาพแวดล้อมที่ดี มีฐานทรัพยากรดิน น้ำ ป่าที่สมบูรณ์ ซึ่งชุมชนสามารถดูแลจัดการใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ เกษตรกรที่ประสงค์จะทำการผลิตเพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้นก็สามารถเข้าถึงที่ดินขนาดที่เพียงพอคุ้มกับการลงทุนหรือบริหารจัดการร่วมกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์เพื่อสร้างอำนาจต่อรองทางการตลาดได้ด้วย เหตุนี้จึงมีความ จำเป็นต้องแก้ปัญหาที่ดินเพื่อการเกษตรโดยวิธีการปฏิรูปโครงสร้างอย่างเป็นระบบโดยเร็ว

กระบวนการปฏิรูปต้องเริ่มจากปัญหาความเดือดร้อนที่ประชาชนประสบอยู่ โดยอาศัยความรู้และประสบการณ์ของชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งความเข้มแข็งมุ่งมั่นของเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน ควบคู่ไปกับการปรับปรุงโครงสร้างเชิงนโยบายและสถาบันให้สอดคล้องกันไปด้วย

คณะกรรมการปฏิรูปจึงมีข้อเสนอเบื้องต้นเพื่อปฏิรูปโครงสร้างการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตรทั้งระบบ ดังต่อไปนี้

1.ให้โอกาสและสิทธิคนจนต้องคดีที่ดินเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมสภาพปัญหา
เกษตรกรในชนบทจำนวนมากประสบปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ของรัฐโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และถูกจับกุมดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกที่ดินของรัฐและของเอกชนอย่างไม่เป็นธรรม เกษตรกรถูกดำเนินคดีและถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำหรือสภาพที่ต้องขังแล้ว 836 ราย (ข้อมูลถึงเดือนธันวาคม 2553) ประชาชนที่เกี่ยวข้องกับคดีที่ดินคนจนที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี และที่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมีเป็นจำนวนหลายแสนครอบครัวข้อเสนอ

เพื่อให้การพิจารณาคดีที่ดินทำกินของเกษตรกรยากจนที่ถูกจับกุมคุมขังขณะยังอยู่ระหว่างการแก้ปัญหาทางนโยบายของรัฐมีความเป็นธรรม โดยเกษตรกรได้รับโอกาสและสิทธิในการเข้าถึงความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมที่หลากหลายและสอดคล้องกับกรณีพิพาท จึงมีข้อเสนอดังนี้

1.1 คดีที่ดินที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ขอให้มีการพักโทษ ลดโทษ และคุมประพฤติ โดยให้ผู้ต้องโทษกลับไปอยู่ดูแลครอบครัว ทำการเกษตรเลี้ยงครอบครัวในที่ดินเดิม และให้ทำงานเป็นอาสาสมัครดูแลรักษาทรัพยากรในท้องถิ่นแทนการจำคุก

1.2 คดีที่ดินอยู่ระหว่างการพิจารณา ขอให้มีการจำหน่ายคดีชั่วคราว อนุญาตให้เกษตรกรผู้ต้องหาและครอบครัวอยู่อาศัยทำกินในที่ดินเดิม และให้ทำงานเป็นอาสาสมัครดูแลรักษาทรัพยากรในท้องถิ่น จนกว่าการแก้ไขปัญหาตามนโยบายของรัฐบาลจะแล้วเสร็จ

1.3 กรณีปัญหาที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เนื่องจากยังมีชุมชนที่อยู่ในเขตป่าอย่างผิดกฎหมายจำนวนมากที่อยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหาตามนโยบายของรัฐบาล จึงสมควรระงับการดำเนินการใดๆ ที่เป็นการเพิ่มความเดือดร้อนและความรุนแรงกับคนจน โดยขอให้ระงับการขยายเขตพื้นที่อนุรักษ์ ระงับการจับกุมประชาชนที่ทำกินอยู่ในพื้นที่ขัดแย้งเดิมที่ไม่ใช่การถางป่าใหม่ รวมทั้งระงับการจำกัดการพัฒนาชุมชนขั้นพื้นฐานที่จำเป็น จนกว่าการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดินตามนโยบายของรัฐจะแล้วเสร็จ

1.4 ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมคดีที่ดินทำกินที่อยู่ระหว่างการ แก้ปัญหาเชิงนโยบาย เพื่อลดจำนวนคดีและความรุนแรงของคดีลง โดย
1.4.1 ปรับปรุงกองทุนยุติธรรมให้เกษตรกรผู้ต้องหาคดีที่ดินทำกินสามารถนำเงินกองทุนมาใช้จ่ายเป็นค่าประกันตัวผู้ต้องหา ค่าทนายในการต่อสู้คดี และเป็นค่าใช้จ่ายเยียวยาผู้ต้องหาและครอบครัว ซึ่งเป็นคนจนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคดีที่ดิน
1.4.2 แก้ไขความไม่เป็นธรรมที่ต้นทางเสนอให้รัฐสนับสนุนสถาบันวิชาการและผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมทุกฝ่ายทำการศึกษาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงแก้ไขระเบียบกฎหมายเกี่ยวข้องกับที่ดินการเกษตรทุกฉบับที่ไม่เป็นธรรมและขัดรัฐธรรมนูญ และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ
1.4.3 การแก้ไขความไม่เป็นธรรมที่ปลายทาง โดยนำกระบวน การวิธีพิจารณาคดีที่หลากหลายที่ไม่ใช่การกล่าวหามาใช้ให้สอดคล้องกับลักษณะของข้อพิพาท ได้แก่ การเดินเผชิญสืบของผู้พิพากษา การพิจารณาจากหลักฐานบุคคลหรือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่น การเจรจาไกล่เกลี่ยโดยคนกลาง กระบวนการยุติธรรมชุมชน หรือการจัดตั้งศาลเฉพาะที่มีความเชี่ยวชาญในปัญหาข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินทำกิน ตลอดจนให้มีการกลั่นกรองคดีในระดับชุมชน ก่อนการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางศาลเพื่อลดจำนวนคดีที่มีจำนวนมากให้น้อยลง

อนึ่ง กลยุทธ์ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมคดีที่ดินทำกินของเกษตรกร เสนอให้รัฐจัดเวทีสานเสวนาอย่างต่อเนื่องของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม อันได้แก่ นักการเมือง ผู้พิพากษา อัยการ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทนายความ นักวิชาการด้านกฎหมาย บุคลากร กระทรวงยุติธรรม และเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อนำไปสู่การศึกษาทำความเข้าใจกับปัญหาที่ดินทำกินและการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมให้มีความเป็นธรรมร่วมกัน

2.การแก้ปัญหาเกษตรกรไร้ที่ดินทำกินหรือมีที่ดินไม่พอทำกินสภาพปัญหา
ที่ดินในชนบทมีปัญหาเกษตรกรสูญเสียที่ดินจนไร้ที่ทำกินหรือมีที่ดินไม่พอทำกิน ข้อมูลของศูนย์อำนวยการต่อสู้เอาชนะความยากจนแห่งชาติ (ศตจ.) ในปี 2547 รายงานว่า มีผู้ไม่มีที่ดินทำกิน จำนวน 889,022 ราย มีที่ดินทำกิน แต่ไม่เพียงพอ จำนวน 517,263 ราย มีที่ดิน แต่ไม่มีเอกสารสิทธิ 811,279 ราย ที่ดินจำนวนมากกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนกลุ่มน้อย ที่ดินจำนวนมากถูกปล่อยทิ้งร้างไม่ใช้ประโยชน์ จึงกระทบต่อเศรษฐกิจฐานราก เกิดปัญหาสังคมทั้งในชนบทและในเมือง รวมทั้งส่งผลให้เกิดความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมของประเทศข้อเสนอ
การปฏิรูปแนวความคิดและวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมในการถือครองและใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตร มีข้อเสนอดังนี้

2.1 จัดระบบข้อมูลที่ดินเพื่อการเกษตรทั้งประเทศให้เป็นข้อมูลสาธารณะ โดยบูรณาการข้อมูลการถือครองที่ดินการเกษตร ทั้งข้อมูลการถือครองที่ดินและข้อมูลแผนที่ทั่วประเทศให้ทันสมัยตรงกับข้อเท็จจริงในปัจจุบัน และเข้าถึงได้ง่าย เพื่อใช้ในการวางแผนกระจายการถือครองที่ดิน การตรวจสอบการถือครองและใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรให้เหมาะสมและเป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

2.2 การกำหนดเขตการใช้ที่ดินและแผนการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรขึ้นใหม่ ใช้ฐานข้อมูลที่ดินและการมีส่วนร่วมของชุมชนกำหนดเขตและการทำแผนที่การใช้ที่ดินขึ้นใหม่ เริ่มจากแผนที่ดินเพื่อการเกษตรระดับชุมชน โดยแบ่งพื้นที่หลักออกเป็นพื้นที่เพื่อการเกษตร พื้นที่เมือง พื้นที่อุตสาหกรรม พื้นที่เพื่อคุ้มครองรักษาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม และที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกันให้ชัดเจน ซึ่งรวมทั้งเขตที่ดินของชุมชนดั้งเดิมที่ก่อตั้งมาแต่บรรพบุรุษ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมอันดีงามในการดูแลรักษาและใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรอย่างยั่งยืนไว้ด้วย แล้วจึงบูรณาการแผนระดับชุมชนเป็นแผนระดับจังหวัดและแผนระดับชาติให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี แล้วออกกฎหมายว่าด้วยแผนการใช้ที่ดินหลักของประเทศ และแผนการใช้ที่ดินระดับชุมชนให้มีผลบังคับใช้ทันที
สำหรับที่ดินของส่วนราชการต่างๆ ที่ขอกันไว้เป็นจำนวนมากแล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามภารกิจหลักของหน่วยงาน ขอให้รัฐนำที่ดินนั้นกลับคืนมาวางแผนใช้ประโยชน์ในการพัฒนาด้านอื่นๆ ที่จำเป็น ส่วนที่ดินที่เหมาะสมกับการเกษตร ขอให้มอบให้กองทุนธนาคารที่ดินนำไปบริหารจัดการต่อไป

2.3 คุ้มครองที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ออกกฎหมายคุ้มครองที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเพื่อช่วยหยุดยั้งการกว้านซื้อที่ดินเพื่อซื้อขายเก็งกำไรรายใหม่ๆ ซึ่งจะทำให้ราคาที่ดินลดลง ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อที่ดินคืน และเป็นการคุ้มครองที่ดินเพื่อการเกษตรไม่ให้นำไปใช้ผิดประเภท

2.4 กำหนดเพดานการถือครองที่ดินที่เหมาะสม เพื่อให้ที่ดินเพื่อการเกษตรที่จำแนกไว้ได้กระจายไปยังเกษตรกรรายย่อยผู้ทำการเกษตรด้วยตนเองได้อย่างทั่วถึง เกษตรกรสามารถใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องกำหนดเพดานการถือครองที่ดินไว้ให้เหมาะสมสอดคล้องกับจำนวนพื้นที่การเกษตรที่มีอยู่อย่างจำกัด ตลอดจนให้เหมาะกับศักยภาพและความสามารถของครัวเรือนเกษตรกรรายย่อยในการใช้ที่ดินสร้างเศรษฐกิจในครอบครัวและชนบทให้เข้มแข็ง รวมทั้งการสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับประเทศ และการดูแลรักษาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลยั่งยืน
ควรจำกัดเพดานการถือครองที่ดินที่เหมาะสมไม่ให้เกินครัวเรือนละ 50 ไร่ กรณีกลุ่มองค์กรเกษตรกรหรือสหกรณ์การเกษตร ให้มีการถือครองที่ดินตามสัดส่วนของจำนวนสมาชิกองค์กร โดยเฉลี่ยไม่เกินรายละ 50 ไร่ โดยใช้อัตราภาษีเป็นกลไกควบคุม

2.5 ให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินเพื่อการเกษตรกับเกษตรกรที่ทำเกษตรด้วยตนเอง ผู้ที่มีสิทธิ์ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อการเกษตรจะต้องเป็นผู้ที่ครอบครองและทำการเกษตรด้วยตนเองเท่านั้น ห้ามไม่ให้ผู้อื่นเช่า หรือปล่อยทิ้งร้าง หรือกระทำการเป็นการอำพรางโดยไม่มีเจตนาทำการเกษตรจริง และควรใช้มาตรการทางภาษีอัตราก้าวหน้าสูงเป็นกลไกควบคุมการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรดังกล่าว
กรณีที่ดินของรัฐตามโครงการจัดสรรที่ดินในรูปแบบต่างๆ ที่จัดให้เกษตรกรไร้ที่ทำกินแล้วถูกเปลี่ยนมือไปยังผู้อื่นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้รัฐนำกลับคืนมาเป็นที่ดินส่วนกลางเพื่อให้กองทุนธนาคารที่ดินฯ ได้นำไปจัดสรรอย่างเป็นธรรมให้เกษตรกรผู้ไร้ที่ทำกินหรือผู้มีที่ดินไม่พอทำกินต่อไป

2.6 กำหนดมาตรการทางภาษีเพื่อจัดเก็บภาษีที่ดินที่ถือครองเกินขนาดจำกัดในอัตราก้าวหน้า ที่ดินขนาดต่ำกว่า 10 ไร่ ซึ่งเป็นขนาดที่จำเป็นต่อการทำกินยังชีพ ให้เสียภาษีในอัตราต่ำร้อยละ 0.03 ที่ดิน 10-50 ไร่ เสียภาษีอัตราปานกลาง ร้อยละ 0.1 สำหรับที่ดินปล่อยทิ้งร้างหรือส่วนที่เกินจาก 50 ไร่ ให้เสียภาษีอัตราก้าวหน้าสูงร้อยละ 5

2.7 จัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อการเกษตร เสนอให้รัฐจัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อการเกษตร เพื่อนำเงินทุนไปซื้อที่ดินที่ถือครองเกินขนาดจำกัด รวมทั้งจัดซื้อที่ดินที่เป็นทรัพย์ประกันหนี้เสียของธนาคารและสถาบันการเงินมาบริหารให้กระจายไปยังเกษตรกรที่ไร้ที่ดินและมีที่ดินไม่พอทำกิน
กองทุนธนาคารที่ดินควรมีโครงสร้างการบริหารแบบกระจายอำนาจ ในระดับตำบล ระดับจังหวัด และระดับชาติ เพื่อกระจายภารกิจความรับผิดชอบและการมีส่วนร่วมไปยังชุมชนและท้องถิ่นทุกระดับ
เพื่อให้การบริหารกองทุนธนาคารที่ดินฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิ ภาพ จึงเสนอให้รัฐ
2.7.1 จัดตั้งสถาบันบริหารจัดการที่ดินและกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อการเกษตร เพื่อมารับผิดชอบบริหารกองทุนฯ และการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตร
2.7.2 จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายที่ดินเพื่อการเกษตรแห่ง ชาติ มากำกับดูแลทิศทางและยุทธศาสตร์ของกองทุนฯ และสถาบันบริหารจัดการที่ดินและกองทุนฯ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานมีผู้แทนจากหน่วยงานของรัฐจากกระทรวงเกษตร กระทรวงทรัพ ยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการคลัง ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรที่มีประสบการณ์ด้านการปฏิรูปการจัดการที่ดิน และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตร เป็นคณะกรรมการ
2.7.3 จัดหาเงินทุน ปีละ 1 แสนล้านบาท ระยะเวลา 5 ปี รวมเป็นเงิน 5 แสนบาท มาให้กองทุนฯ จัดซื้อที่ดินเพื่อกระจายไปให้เกษตรกรผู้ไร้ที่ดินหรือมีที่ดินไม่พอทำกิน จำนวนประมาณ 1 ล้านครัวเรือน

2.8 การจัดตั้งหน่วยงานบริหารจัดการที่ดินและกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อการเกษตร เสนอให้รัฐ2.8.1 มอบหมายให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นเจ้าภาพรับผิดชอบจัดตั้งและบริหารสถาบันบริหารจัดการที่ดินและกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อการเกษตรที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ โดยให้บูรณาการ หน่วยงานย่อยของรัฐ ภายใต้กระทรวงและกรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่ดินเพื่อการเกษตร ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตร และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน
2.8.2 ให้สถาบันบริหารจัดการที่ดินและกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อการเกษตร สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี และออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีรองรับอำนาจการบริหาร โดยมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี 1 ท่าน เป็นผู้กำกับดูแล
2.8.3 ให้สถาบันบริหารจัดการที่ดินและกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อการเกษตร ทำหน้าที่อำนวยการ กำกับดูแล และประสานความร่วมมือ (facilitation & coordination) ในระดับนโยบาย
2.8.4 จัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดินฯ ในระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปฏิรูปการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตรในแต่ละท้องถิ่น โดยประชาชนและองค์กรท้องถิ่นร่วมกันคิด วางแผน ตัดสินใจ และดำเนินการไปอย่างสอดคล้องกับระบบนิเวศและวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นให้มากที่สุด
2.8.5 ใช้เงินกองทุนธนาคารที่ดินฯ จัดซื้อที่ดินจากผู้ประสงค์ต้องการขายให้รัฐในราคาไม่สูงกว่าราคาประเมิน แล้วนำที่ดินที่ซื้อมาจัดสรรให้กับเกษตรกรที่ไร้ที่ทำกินและเกษตรกรที่มีที่ดินไม่พอทำกิน โดยวิธีการผ่อนส่งระยะยาว 20 ปี คิดดอกเบี้ยอัตราต่ำร้อยละ 1
2.8.6 เมื่อสถาบันบริหารจัดการที่ดินเพื่อการเกษตรและกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อการเกษตรดำเนินการไปได้ครบ 5 ปี ให้สถาบันจัดทำข้อเสนอการปรับปรุงกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อการเกษตร และสถาบันบริหารจัดการที่ดินและกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อการเกษตร พร้อมทั้งจัดทำร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการที่ดินเพื่อการเกษตร เสนอต่อรัฐบาลเพื่อมารองรับการบริหารจัดการที่ดินเพื่อการเกษตรอย่างมั่นคงในระยะยาวต่อไป

2.9 ปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การจัดการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรและมาตรการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตรมีผลบังคับใช้ตามข้อเสนอดังกล่าวนี้

2.10 สร้างกลไกประกันการสูญเสียที่ดิน เพื่อไม่ให้ที่ดินเปลี่ยนมือไปอยู่กับนายทุนอีก โดยเสนอให้
2.10.1 ยกเลิกการขายฝากที่ดินเพื่อการเกษตร ซึ่งไม่เป็นธรรมกับเกษตร
2.10.2 สนับสนุนเกษตรกรที่ได้รับการจัดที่ดินให้รวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นองค์กรเครือข่ายที่เข้มแข็ง มีความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และมีอำนาจต่อรองในการประกอบอาชีพการเกษตรได้อย่างมีพลัง

กล่าวโดยสรุป ได้เสนอให้รัฐดำเนินการปฏิรูปใน 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ ปฏิรูประบบข้อมูลที่ดินเพื่อการเกษตร ให้มีความทันสมัยเป็นเอกภาพ และเป็นข้อมูลสาธารณะที่โปร่งใส ประชาชนเข้าถึงและตรวจสอบได้ ปฏิรูปการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตร ให้มุ่งกระจายการถือครองที่ดินสู่ประชาชนระดับล่าง และมีมาตรการจำกัดการถือครอง มาตรการแทรกแซงกลไกตลาด และมาตรการทางภาษี เพื่อป้องกันการผูกขาดที่ดินและสร้างความเป็นธรรมในการถือครองที่ดิน ปฏิรูประบบกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อการเกษตร โดยกำหนดมาตรการทางกฎหมายรองรับระบบการจัดการที่ดินและทรัพยากรโดยชุมชนควบคู่ไปกับระบบกรรมสิทธิ์ที่ถือครองโดยปัจเจกและโดยรัฐ เพื่อความสมดุลเชิงอำนาจระหว่างรัฐ เอกชน และชุมชน และ ปฏิรูปการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตร โดยกำหนดเขตพื้นที่การใช้ที่ดินและทรัพยากรอย่างเหมาะสมและได้ดุลภาพ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และระบบนิเวศ และให้การคุ้มครองพื้นที่เกษตรและเกษตรกรรายย่อยให้มีความมั่นคง และ ปฏิรูประบบการบริหารจัดการที่ดินเพื่อการเกษตร ให้เป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพ

กลยุทธ์การขับเคลื่อนข้อเสนอปฏิรูปการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตร ควรเริ่มต้นด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายที่ดินเพื่อการเกษตรแห่งชาติ และกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อการเกษตรขึ้นมา ก่อน เพื่อช่วยกำหนดกรอบ ทิศทาง และยุทธศาสตร์การทำงาน พร้อมกันนั้นควรมอบหมายให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นเจ้าภาพจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการที่ดินเพื่อการเกษตรขึ้นมาโดยเร็วภายใน 3 เดือน และขอให้รัฐบาลจัดงบประมาณเริ่มแรกในปีแรก จำนวน 1 แสนล้านบาท และงบบริหารจัดการอีกจำนวนหนึ่งให้เพียงพอ ประเดิมให้กับสถาบันฯ มาขับเคลื่อนกองทุนฯ บริหารจัดการที่ดินเพื่อการเกษตรให้สำเร็จลุล่วงต่อไป

การปฏิรูปการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตรให้มีความเป็นธรรมในสังคม ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นอกจากข้อเสนอเบื้องต้นดังกล่าวนี้แล้ว ยังจะมีข้อเสนออื่นๆ ตามมาในช่วงเวลาที่เหมาะสม รวมทั้งยังต้องมีการดำเนินการในด้านอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย เช่น การกระจายอำนาจตัดสินใจไปสู่ประชาชนและท้องถิ่น การเสริมความเข้มแข็งของพลังประชาชน การเปิดโอกาสให้ประชาชนและชุมชนสามารถมีส่วนสำคัญในการร่วมกันบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากร ตลอดจนการพัฒนาองค์กรประชาชนให้เป็นกลไกลสำคัญของการปฏิรูปที่ดิน และจัดการที่ดินอันเป็นฐานชีวิตของตนเอง

การปฏิรูปแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำในการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตรของชาติจะสำเร็จลงได้ ต้องอาศัยพลังการขับเคลื่อนของภาคสังคมเป็นสำคัญ คณะกรรมการปฏิรูปเป็นเพียงกลไกชั่วคราวของสังคมที่อาสาเข้ามาช่วยเชื่อมโยงภาคประชาชนให้ร่วมกันคิดและสร้างโอกาสให้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไปในทิศทางที่เหมาะสมได้เท่านั้น องค์กรภาคประชาชนด้วยตัวเองจึงต้องช่วยกันสร้างพื้นที่ปฏิบัติการให้มีรูปธรรมของความสำเร็จเป็นที่ยอมรับ สร้างสมัชชาประชาชนเพื่อสื่อสารกับสังคมทั้งในท้องถิ่นและในระดับชาติ และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนให้กว้างขวางและให้เข้มแข็งยิ่งๆ ขึ้นไป ภาคประชาชนจึงจะมีอำนาจต่อรองและมีพลังขับเคลื่อนข้อเสนอการปฏิรูปการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตรให้ไปสู่ปฏิบัติการแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำของสังคมได้จริง.

หมายเหตุ : ข้อเสนอปฏิรูปการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตร ที่นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการปฏิรูป เตรียมเสนอต่อรัฐบาล ซึ่งได้แถลงไว้เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2554 ที่บ้านพิษณุโลก

02 กุมภาพันธ์ 2554

“ ใช่ส่วนหนึ่งของความรู้สึก ”


ผมได้รับการไหว้วานแกมบังคับจากน้องต้นประธานชนพ.คนปัจจุบัน (ที่หลายๆคนบอกว่าเป็นแฝดผู้น้องของผม ซึ่งตัวผมเองก็ค่อนข้างจะยอมรับในความคล้ายคลึงกันของหน้าตาที่แสนจะดูซื่อ ใส และจริงใจของเราทั้งสองคน) ให้เขียนบทความอะไรสักอย่างที่เกี่ยวกับชนพ.เพื่อพิมพ์เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือประกอบการจัดงาน 22 ปี ชนพ. ระหว่างวันที่ 9-10 ธันวาคม 2549 ผมจึงเลือกที่จะเขียนบทความ ชื่อ ใช่ส่วนหนึ่งของความรู้สึกผมไม่แน่ใจว่าบทความชิ้นนี้จะดีพอหรือเปล่า จะมีเนื้อหาสาระหรือคุณประโยชน์สำหรับผู้อ่านหรือไม่ จะอย่างไรก็ตามผมก็จะพยายาม บืนเขียนให้จบลงจนได้ครับ ( บืน เป็นภาษาอีสาน แปลเป็นไทยว่า อาการตะเกียกตะกายด้วยความพยายามถึงแม้จะไม่ชำนาญเท่าไรนักก็ตาม หรือ เป็นความพยายามที่ทุลักทุเล เช่น เวลาฝนตกปลาช่อนจะชอบบืนขึ้นจากแหล่งน้ำหนึ่งไปยังแหล่งน้ำหนึ่ง ระหว่างทางที่อยู่บนบกปลาช่อนจะตะเกียกตะกายด้วยความไม่ชำนาญเพราะไม่เคยว่ายน้ำบนบกมาก่อนเลย(งง) แต่ปลาช่อนตัวนั้นก็ยังพยายามอย่างสุดชีวิต เพื่อให้ไปถึงอีกแหล่งน้ำหนึ่ง)
 ก่อนอื่นตามมารยาทผมคงต้องรายงานสายรหัสเพื่อให้เห็นถึงเส้นสายสัมพันธ์ของคนรู้จักมักกี่กันตามความสัมพันธ์แนวดิ่งฉันพี่น้อง   เท่าที่ผมจำได้ปู่รหัสผมคือปู่วิศวะ ขณะนี้ได้เป็นใหญ่เป็นโตอยู่ในสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ลุงรหัสผมมีนามว่าลุงเก่งขณะนี้ทำงานเกี่ยวกับเพชรนิลจินดาแถวๆเมืองบางกอกนี่แหละครับ  พี่รหัสผมมีสองคนครับ คนแรกคือพี่ปูเป้ เท่าที่ผมจำได้พี่แกเป็นอาจารย์สอนภาษาอะไรสักอย่าง น่าจะเป็นภาษาอังกฤษนะครับเพราะช่วงที่เรียนอยู่นั้นพี่แกจะชอบอะไรๆที่อินเตอร์ๆล้ำหน้ากว่าหน้าตาพี่แกเองซะอย่างงั้น ส่วนพี่คนที่สองหากยุคนั้นซึ่งเป็นยุคทอง(เค?) ใครไม่รู้จักเชยปืน.เฮ้ยย..เชยระเบิดเลย นั่นก็คือพี่เค หรือที่ใครๆเรียกว่า เคด่วย(ห้ามผวนนะครับมันจะดูไม่สุภาพ) การชักดาบเป็นกิจวัตรของพี่แก อย่างไรก็ตามพี่แกก็เป็นพี่ที่แสนดีของผมเวลาเลี้ยงสาย และการสำรวจค่าย ขณะนี้กำลังศึกษาต่อปริญญาโทสาขาการบริหารการพัฒนา ที่ม.ขอนแก่นเรานี่เองครับ  น้องรหัสของผมชื่อสกลคนซื่อครับ เคยแอบรักน้องผมที่มีชื่อย่อว่า ห-น-ยพร้อมๆกับหนุ่มน้อยห้องสมุด ผลลัพธ์คือทั้งสองก็แบ่งกันกินแห้วไปคนละครึ่ง ได้ข่าวว่าขณะนี้หนุ่มสกลไปรับใช้ชาติสองปีเต็มๆครับ ส่วนหนุ่มน้อยห้องสมุดขณะนี้ก็ก้าวขึ้นสู่ผู้บริการการศึกษาประจำคณะฯอย่างเต็มตัว ตำแหน่งหน้าที่ใกล้จะแซงหน้าพี่เชิดเต็มทีแล้ว พี่ได้ข่าวมาว่าน้องของพี่แต่เป็นเพื่อนของพวกเอ็งที่มีชื่อย่อว่า ห-น-ยคนนั้นขณะนี้หัวใจยังว่างอยู่ พวกเอ็งไม่ลองอีกซักตั้งหรือว่ะ กลับมาที่รายงานสายรหัสต่อครับ..ไอ้น้องรหัสสกลของผมคนนี้เป็นผู้ชายที่อบอุ่นแบบ เยนเทิลแมน เลยหละครับ ที่ผมรู้ก็เพราะว่าเราเคยหลับนอนด้วยกัน หมายความว่าเราเช่าห้องอยู่ด้วยกัน ยังจำได้หอพักแม่อุบล หลังมอ ครับ เออลืมไปน้องรหัสของผมอีกคนหนึ่งคือ น้องแนน ที่ย้ายมาจากสาขาฝรั่งเศษเพราะด้วยใจรักงานพัฒนา ขณะนี้กำลังศึกษาปริญญาโท MBA ที่รามคำแหงครับ ส่วนหลานรหัสผมมีอยู่ 2 คน คือน้องเฟิร์ส และน้องพลอย ผมต้องยอมรับว่าหลานรหัสทั้งสองคนนี้ถึงแม้จะมีนิสัยใจคอที่แตกต่างกัน แต่มีอย่างหนึ่งที่เหมือนกันคือ ความมั่นใจในตัวเอง ขณะนี้น้องเฟิร์ส เลือดได้เปลี่ยนสีจากสีอิฐเป็นสีชมพูไปเสียแล้ว น้องเค้าศึกษาต่อปริญญาโทจิตวิทยาสังคม ปีนี้เป็นปีแรก ส่วนน้องพลอยนั้นผมไม่ทราบแน่ชัดว่าขณะนี้ทำอะไร แต่พอที่จะจำได้เลาๆ น่าจะเป็นแอร์ฮอตสะเต็ด นะครับ ทำไงได้ก็น้องเขาสวยนี่นา เออลืมไปว่าผมยังมีหลานระหัสอีกคนหนึ่งชื่อ เอก ไอ้หลานคนนี้ในช่วงเรียนจะมีนิสัยชอบตั้งคำถามแบบยากๆ แล้วให้ผมตอบครับ มันถามทีไรผมต้องคิดหนักทุกที แต่ก็ดีนะครับมันเป็นแบบ Critical ดี ขณะนี้ผมไม่ทราบว่ามันทำอะไรอยู่ที่ไหนครับ ใครพบเจอส่งข่าวมาให้ผมด้วย สำหรับเส้นสายสัมพันธ์สุดท้ายที่อยู่ในความทรงจำของผมคือเหลนรหัส คือน้องเจี๋ยมเจี้ยม และน้องฟ้า สำหรับน้องเจี๋ยมเจี้ยมนั้นเป็นที่ภาคภูมิใจของผมมาก เพราะน้องแกมีความใจกว้างทาง Gender มีความลื่นไหลทาง DNA สูงมาก เป็นคนพูดจริงทำจริง ตรงไปตรงมา คิดอย่างไรพูดอย่างนั้น ส่วนน้องฟ้าก็เป็นสาวมั่นของสาย ชอบความอิสระเสรี มีจินตนาการสูง ชอบไปไหนมาไหนกับเจี๋ยมเจี้ยม แต่ไม่เคยชวนผมเลยโดยเฉพาะเวลาไปด๊าน ขณะนี้ทั้งสองคนก็กำลังเคร่งเครียดกับการทำสารนิพนธ์อยู่ พี่ก็ขอให้กำลังใจนะครับ.....เฮ้ยยยย กว่าจะแนะนำสายรหัสเสร็จก็ปาไปตั้งหนึ่งหน้ากระดาษกว่าๆ สายรหัสเยอะอย่างนี้ ยอมรับว่ามีค่าใช้จ่ายไปกับการเลี้ยงสายสูงมากเลยทีเดียว  แต่ก็ไม่เป็นไรหรอกครับเพื่อขอนแก่น-อุดรฯ(มิตรภาพ)พวกเรายอมจน แล้วสายรหัสของผมเกี่ยวข้องอย่างไรกับ ชนพ.? ผมกล้าพูดอย่างเต็มปากเต็มคำว่า สายรหัสของผมทุกคนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมของชนพ. แต่ระดับของการมีส่วนร่วมอาจมีความเข้มข้นที่แตกต่างกันไปตามเงื่อนไขเฉพาะของแต่ละคน
สำหรับงาน 22 ปี ชนพ.ก็น่าจะหมายความว่า ชนพ. หรือ ชมรม/ชุมนุมนักศึกษาเพื่อการพัฒนา มีอายุการกำเนิดเกิดก่อตั้งแต่อดีตเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 22 ปี ดังนั้นเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในที่แห่งนี้จึงมีมากมายหลายมิติ ที่ตัวผมไม่อาจพรรณนา หรืออธิบายได้ครอบคลุมทั้งหมดได้  เพราะตัวผมเองนั้นมารู้จักกับ ชนพ.ตั้งแต่ปี 2543- 2546 ในช่วงที่ศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาการจัดการการพัฒนาสังคม หรือที่เรียกว่า SDM 4 หรือ CD 17 และในช่วงปี 2546-2547 ในช่วงที่เป็นผู้ประสานงานโครงการบ้านมั่นคงเมืองขอนแก่น ก่อนที่ผมจะลาออกเพื่อไปศึกษาต่อปริญญาโทที่กรุงเทพฯในปี 2548  ดังนั้นช่วงเวลาที่ผมได้รู้จักมักคุ้นกับ ชนพ.จริงๆก็มีแค่เพียง 5 ปี ระดับการรู้จักมักคุ้นจะมีความเข้มข้นหน่อยก็ในช่วงปี 2545และ2546 ขณะที่ผมเป็นประธานชนพ. และคนรถน้ำต้นไม้ ชนพ.ตามลำดับนั่นเองครับ  
เมื่ออายุที่ผมรู้จักมักคุ้นกับชนพ.มีเพียง 5 ปี แต่ ชนพ.มีอายุเริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน รวม 22 ปี ดังนั้นเรื่องราวต่างๆที่ผมจะเล่าต่อไปนี้จึงไม่อาจครอบคลุมความเป็น ชนพ.ได้โดยตลอด แต่เรื่องราวที่ผมจะเล่าต่อไปนี้เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในยุคที่ผมและเพื่อนพี่น้อง ชนพ.ได้มีประสบการณ์ร่วมกันมาในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น อีกทั้งเป็นการเล่าเรื่องราวออกจากปากผมเพียงคนเดียว ผมจึงไม่อาจจะพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าเรื่องราวต่างๆต่อไปนี้เป็นความจริงของทุกๆคน แต่ผมกล้ายืนยันว่าเรื่องราวต่อไปนี้เป็นความจริง ในความหมายที่ผมให้นิยามมัน
เรื่องแรก ชนพ. และ CD ควรส่งเสริมกันและกัน
ในความเข้าใจของผม สถานภาพของ ชนพ.นั้น เป็นแหล่งหรือพื้นที่ให้คนที่ชอบทำกิจกรรมอะไรก็ได้ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น ที่กินเหล้ากินเบียร์ ที่เล่นกีต้า ร้องเพลง  ที่รับน้อง  ที่นัดเจอกัน ที่เปิดใจ ที่เล่นฟุตบอล  ที่ประชุม ออกค่าย ที่นั่งนินทากัน ที่ติวหนังสือสอบ ที่กกรัก ฯลฯ  หรือแม้แต่เป็นที่ที่นั่งพิจารณาไตร่ตรองเรื่องราวของปรัชญาชีวิต ที่ระบายอารมณ์รัก สมหวัง  สิ้นหวัง หมดกำลังใจ อยู่เพียงลำพัง เพื่อให้คนอื่นรู้ว่าตัวเรานั้นก็มีตัวตนและความหมาย  อย่างไรก็ตามถึงแม้เราจะทำกิจกรรมกับผู้อื่น หรือทำกิจกรรมตามลำพังใน ชนพ. สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นเสมอคือ การได้พบปะสังสรรค์แลกเปลี่ยนความคิดความเห็นกัน ถึงแม้จะอยู่คนเดียวลำพังก็ทำให้เราจำต้องคอยถาม-ตอบ ข้อสงสัยเกี่ยวกับตัวเราเองอยู่เสมอ โดยสรุปแล้ว ชนพ.เป็นแหล่งหรือพื้นที่ที่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างกันของมวลสมาชิก เพื่อนำไปสู่ภาคปฏิบัติการทางความคิดและการกระทำ จนกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า กิจกรรม นั่นเอง
ในความเข้าใจของผม CD. หรือ SDM. นั้น เป็นแหล่งหรือพื้นที่ให้คนที่ชอบศึกษาได้ศึกษาเล่าเรียน เป็นหลักสูตรการศึกษาที่เน้นการพัฒนาความคิดเชิงวิชาการ ความเป็นเหตุเป็นผล พูดง่ายๆ เป็นการศึกษาในเชิงแนวคิดทฤษฎีนั่นเอง หากเราสังเกตให้ดีจะพบว่าหลักสูตรการศึกษารวมทั้งกระบวนการเรียนการสอนนั้น จะพยายามให้เรามีความรู้ทางวิชาการให้มากที่สุด งานวิชาการจะฝึกให้เราศึกษาค้นคว้าเป็น อ้างอิงเป็น คิดเป็น(ผมไม่แน่ใจนะครับข้อนี้)  การศึกษาตามหลักสูตรนี้ไม่มีข้อพิสูจน์ว่าศึกษากันเป็นกลุ่ม หรือศึกษาคนเดียวเท่านั้นถึงจะเป็นคนที่เรียนเก่งที่สุด ผมคิดว่าการศึกษาเล่าเรียนในหลักสูตร ใครๆก็ทำได้ดี เก่ง แม้กระทั่งคนคนนั้นจะไม่เคยสุงสิงกับใครเลย    ซึ่งต่างจากการทำกิจกรรมที่จะไม่บรรลุผลสำเร็จเลย หรือบรรลุผลสำเร็จน้อยมากหากคนคนนั้นเลือกที่จะทำเพียงคนเดียว กล่าวโดยสรุปการศึกษาในหลักสูตรทำให้เราเข้าใจแนวคิดทฤษฎี มากกว่าภาคปฏิบัติการ
โดยส่วนตัวผมแล้วผมไม่ต้องการแยก ชนพ.ออกจาก CD. หรือ แยก CD. ออกจาก ชนพ. แต่ผมต้องการให้ทั้ง CD. และ ชนพ. เสริมสร้างซึ่งกันและกัน กล่าวคือ CD. เราได้เรียนรู้ในหลักการ แนวคิดทฤษฎี ซึ่งจัดเป็นสมมติฐานอย่างหนึ่ง แต่มีข้อแม้ว่าสมมติฐานนั้นจะต้องไม่ใช่สมมติฐานถาวร ตรงข้ามสมมติฐานดังกล่าวต้องเป็นสมมติฐานชั่วคราวเพื่อรอการพิสูจน์  ซึ่งแหล่งหรือพื้นที่ในการพิสูจน์นั้นก็คือภาคปฏิบัติการของ ชนพ. นั่นเอง  ในขณะเดียวกัน เมื่อภาคปฏิบัติการของชนพ. มีแง่คิด มุมมอง ใหม่ๆ ที่สามารถเป็นข้อถกเถียงต่อแนวคิดทฤษฎีที่เป็นข้อสมมติฐานชั่วคราวของ CD.ได้ นั่นหมายความว่าแง่คิด มุมมอง ใหม่ๆ ที่ได้จาก ชนพ.นั้นกลายเป็นสมมติฐานชั่วคราวขึ้นมาทันทีเพื่อรอการพิสูจน์จาก CD. สิ่งนี้แหละจะเป็นการปฏิสัมพันธ์ระหว่างภาคปฏิบัติและภาคทฤษฎีในรูปแบบที่เรียกว่าวิภาษวิธี (dialectic)ได้เป็นอย่างดี อันจะนำไปสู่วิถีทางปัญญาที่ถูกต้องลุ่มลึกได้
เรื่องที่สอง การละลายเส้นแบ่งช่วงชั้นปี
ผมมีความเห็นว่า ชนพ.คือที่ละลายช่วงชั้นปีหมายความว่า ชนพ.ควรเป็นที่ที่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ในแนวราบ เป็นที่ซึ่งสามารถละลายเส้นแบ่งของช่วงชั้นปีอันเป็นความสัมพันธ์ในแนวดิ่งลงได้ สมาชิกชนพ.ไม่ว่าจะเป็นชั้นปีไหนๆ ย่อมมีอิสระทางความคิดได้อย่างเสรี มีสิทธิแห่งความเท่าเทียมกันในการแสดงออกทางความคิดและการกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง โดยไม่ถูกจำกัดโดยสถานภาพของชั้นปี คนชนพ.ควรยึดหลักการ ความถูกต้องเป็นสำคัญมากกว่าความเป็นพี่น้องกันเชิงอุปถัมภ์ที่ต้องพึ่งพิงกันอยู่ตลอดเวลา เพราะหากเป็นดังกล่าวจะทำให้ คนชนพ. ถูกจำกัดศักยภาพทางความคิด และจินตนาการลงได้ ที่สำคัญจะทำให้ไม่สามารถยืนด้วยลำแข้งของตัวเองท่ามกลางกระแสสังคมที่ผันผวนได้
เรื่องที่สาม  การสรรสร้างกิจกรรมใหม่ๆอยู่เสมอ
ต้องยอมรับว่ากิจกรรมต่างๆที่ ชนพ.เคยทำมา ไม่ว่าจะเป็น การออกค่ายอาสาพัฒนา กิจกรรมรับน้อง เป็นต้น เป็นกิจกรรมดั้งเดิมที่ชาวเราทำสืบต่อกันมานาน กิจกรรมดังกล่าวมันมีข้อดีตรงที่ว่าช่วยให้คนที่ทำกิจกรรมไม่ปวดหัวที่จะสร้างสรรค์กิจกรรมใหม่ๆ เพราะแบบแผนเดิมๆได้ถูกสร้างขึ้นแล้ว ไม่จำเป็นต้องสร้างใหม่ เพียงแต่เราเดินไปตามหรือปรับปรุงแบบแผน เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่กิจกรรมดังกล่าวก็มีข้อเสียตรงที่ว่าคนทำกิจกรรมจะเป็นคนเฉื่อยชา ขาดความท้าทาย ไม่กระตือรือล้น การตัดสินใจใหม่ๆมีน้อย เพราะทำแต่เรื่องเดิมๆ กิจกรรมจึงขาดสีสัน แนวทางแก้ไขนอกจากผู้นำกลุ่มจะเป็นผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์แล้ว คนรอบข้างไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการ รวมทั้งสมาชิกคนอื่นๆ ควรเป็นผู้ที่มีความกล้าที่จะเสนอไอเดียกิจกรรมที่แปลกใหม่ และกล้าที่จะแปรงไอเดียนั้นสู่การปฏิบัติ ที่ประกอบด้วยความถูกต้อง ชนิดที่เรียกว่า ลองผิดลองถูกโดยใช้ปัญญา
เรื่องที่สี่ การทำกิจกรรมให้มีความซึ้งใจ
เมื่อเอ่ยถึงกิจกรรมหลายคนเข้าใจว่า หากเป็นกิจกรรมแนววิชาการก็จะเครียดอย่างเดียว หรือหากเป็นกิจกรรมแนวสันทนาการ ก็จะสนุกสนานเฮฮาอย่างเดียวหรือหากเป็นกิจกรรมแนวเพื่อสังคม ก็จะเสียสละทั้งแรงกาย แรงใจ แรงทรัพย์อย่างไม่จำกัด  จะมีน้อยคนนักที่จะเข้าใจว่าทั้งกิจกรรมแนววิชาการ สันทนาการ และแนวเพื่อสังคมนั้นก็สามารถเป็นกิจกรรมที่ลึกซึ้ง กินใจได้ ยกตัวอย่างเช่น กิจกรรมแนววิชาการ ประเภท การไปสอนหนังสือเด็กในสลัม เราจะจะมีความผูกพันกับเด็กในสลัม จนบ่อยครั้งที่เราคิดไปว่าเด็กดังกล่าวคือน้องชาย/น้องสาวของเราแท้ๆ ที่เราต้องการให้ความรักและอนาคตที่ดีแก่เขา หรือกิจกรรมแนวสันทนาการ ประเภท การแสดงละครรอบกองไฟ เราก็ได้ซึ้งใจในความพยายามของเพื่อนเราที่ร่วมกันฝึกซ้อมละคร หรือเวลาแสดงบนเวทีได้รับเสียงปรบมือจากชาวบ้านที่ตั้งหน้าตั้งตามาดูเรา สำหรับกิจกรรมแนวเพื่อสังคม เราก็จะได้พิสูจน์ตัวเราเองว่าเราไม่ใช่คนเห็นแก่ตัว เราไปช่วยชาวบ้านสร้างโรงเรียนเราก็จะรู้ดีแก่ใจว่าคนที่เหนื่อยที่สุดนั้นไม่ใช่ตัวเรา แต่เป็นผู้ที่ตักน้ำเย็นๆให้เราดื่ม แล้วพูดกับเราค่อยๆข้างหูว่า หล่าเอ้ยหากเมื่อยก็พักก่อน เดี๋ยวพ่อใหญ่จะเฮ็ดเองดอก
การทำกิจกรรมต่างๆ หากเราทำด้วยหัวใจ ที่เต็มเปี่ยมด้วยความหวังดีต่อผู้อื่นเสียแล้ว ความซึ้งใจมันย่อมเกิดขึ้นเองอย่างอัตโนมัติ  !! บางครั้งความสุขที่แท้จริงอาจไม่ได้อยู่ที่รอยยิ้มของเรา !!
เรื่องที่ห้า กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้อง
ต้องยอมรับว่าชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย รุ่นพี่ย่อมมีประสบการณ์ทั้งทางวิชาการ และกิจกรรม มากกว่ารุ่นน้องที่ไม่เคยเข้ามาอยู่ในรั้วดังกล่าวเลย ดังนั้นการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์จากรุ่นพี่ สู่รุ่นน้องนั้นยังเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะนอกจากรุ่นน้องจะได้ความรู้และประสบการณ์ที่เกิดจากการถ่ายทอดจากรุ่นพี่แล้ว รุ่นน้องยังได้ความสัมพันธ์ที่ดีต่อรุ่นพี่อีกด้วย ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญทั้งในปัจจุบัน และอนาคต ในปัจจุบันรุ่นพี่และรุ่นน้องจะได้ช่วยเหลือกันด้านการเรียน กิจกรรม ในอนาคต เมื่อจบการศึกษาไปแล้ว รุ่นพี่และรุ่นน้องจะได้ช่วยเหลือกันด้านการงาน
อย่างไรก็ตามการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง ถึงแม้จะมีข้อดีหลายอย่าง แต่ก็มีข้อเสียตรงที่ว่า รุ่นพี่มักจะเป็นใหญ่ หรือผูกขาดความรู้และประสบการณ์แต่เพียงผู้เดียว โดยรุ่นพี่มีหน้าที่ ให้ รุ่นน้องก็มีหน้าที่ รับ ฝ่ายเดียว ผลคือ เราจะได้สายพันธุ์ทางความคิดชนิดที่เรียกว่า พิมพ์เขียวสร้างให้คนคิด และทำอะไรต่างๆไม่ไปไกลกว่าปลายจมูกของตนเองหรือรอยเท้าของผู้อื่น สิ่งที่สำคัญคือการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์นั้นจะต้องเป็นกระบวนการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน รุ่นพี่เรียนรู้ชุดความรู้และประสบการณ์จากน้อง รุ่นน้องเรียนรู้ชุดความรู้และประสบการณ์จากรุ่นพี่  พยายามสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาร่วมกัน บนพื้นฐานชุดความรู้และประสบการณ์ของกันและกัน เมื่อทำดังนี้ เราจะได้สายพันธุ์ทางความคิดชนิดที่เรียกว่า ดินเหนียวซึ่งเราสามารถปั้น แต่ง หรือออกแบบเป็นรูปทรงต่างๆได้ตามจินตนาการ
เมื่อเราขึ้นปี 4 เรามักจะคิดว่าบทบาทหน้าที่ด้านกิจกรรมของเราสิ้นสุดแล้ว แต่สำหรับผมมีความคิดตรงข้าม โดยผมคิดว่ายิ่งขึ้นปี 4 เรายิ่งเป็นพี่สูงสุด เราจำต้องมีโอกาสได้เรียนรู้กิจกรรมกับน้องรุ่นใหม่มากขึ้น รู้จักกับน้องมากขึ้น มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น สิ่งนี้เองจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพี่และน้องยิ่งมีความแน่นแฟ้นขึ้น พี่เรียนรู้กับน้อง น้องเรียนรู้กับพี่ ทั้งพี่และน้องแบ่งปันความรู้สึกดีๆ ให้แก่กัน นี่คือหัวใจของการทำกิจกรรมระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้องครับ
เรื่องที่หก พิธีเทียนและบทเพลงจรรโลงใจคือเงื่อนไขความผูกพัน
 พิธีเทียน จัดเป็นพิธีกรรมหนึ่งที่มีความศักดิ์สิทธิ์ที่ทำให้คนเกิดอารมณ์ควยามรู้สึกร่วมกันได้มากเลยทีเดียว และอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้นส่วนใหญ่มักจะเป็นอารมณ์ที่เต็มเปี่ยมด้วยความปรารถนาดีต่อผู้อื่น ต้องการให้ผู้อื่นมีความสุข เป็นอารมณ์แห่งความอบอุ่น  เช่น พิธีเทียนในกิจกรรมรับน้องใหม่ จะเป็นพิธีกรรมที่ให้การต้อนรับรุ่นน้องผู้มาใหม่ ผู้ที่ไม่เคยอยู่ในแดนดินแห่งใหม่นี้ให้รับรู้ว่า น้องไม่ได้อยู่เดียวดาย แต่น้องยังมีเพื่อนที่มีชะตากรรมที่ไม่ต่างกับตนนัก    น้องยังมีรุ่นพี่ที่จะคอยปกป้อง ดูแล ให้ความรักให้ความอบอุ่นน้องอยู่เสมอ  หรือ กิจกรรม อำลาอาลัยภายหลังการออกค่าย พิธีเทียนจะทำให้เราได้พูดความในใจ อย่างที่เรียกว่า เปิดใจเพื่อให้รู้ซึ้งถึงความคิด จิตใจของผู้อื่น เพื่อให้เราเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น เมื่อเข้าใจผู้อื่นมากขึ้นแล้วเราจะได้เรียนรู้ว่า คนอื่นก็ไม่ต่างอะไรกับเรา เขาย่อมมีผิดบ้าง พลาดบ้าง สิ่งที่มีค่าที่สุดคือคำว่า ขอโทษ และให้อภัย รวมทั้งการให้กำลังใจกันและกัน
อาจกล่าวได้ว่าพิธีเทียนนั้นคือการเปิดใจ เพื่อเอาใจเขามาใส่ใจเรา และที่สำคัญ เทียนพยายามเผาไหม้ตัวเอง เพื่อให้แสงสว่างแก่ผู้อื่น ดังนั้น เนื้อใหญ่ใจความของพิธีเทียนคือการสอนให้เราเป็นผู้เสียสละ นั่นเอง
บทเพลงจรรโลงใจก็เป็น สิ่งหนึ่งที่ช่วยกระทุ้งความรู้สึกของผู้คนได้ โดยผ่านทั้งความหมายของบทเพลง และท่วงทำนองเพลง พิธีเทียนที่ขาดเพลงจรรโลงใจ ก็ไม่ต่างอะไรกับ   พิธีบวชนาคที่ขาดการปรงผมนาค  การทำพิธีเทียนจะนั่งเปิดใจกันอย่างเดียวก็เครียดตายเลย       บทเพลงจรรโลงใจจะช่วยซึมซับบรรยากาศที่อบอวลให้กับพิธีเทียนไม่ให้ดูเครียดได้ และทั้งสองอย่างนี่แหละคือเงื่อนไขของความผูกพันระหว่างสมาชิก
เรื่องที่เจ็ด ซุ้ม ชนพ.
หลายคนอาจคิดว่าสถานที่ในการทำกิจกรรมนั้นมันไม่สำคัญเท่ากับเป้าหมายของกิจกรรม  มันก็ถูกอยู่หรอกครับ แต่ไม่ทั้งหมด เพราะหากสถานที่ทำกิจกรรมไม่อำนวยแล้ว ถึงแม้เป้าหมายกิจกรรมจะดีมีประโยชน์ ก็ไม่สามารถทำให้กิจกรรมนั้นบรรลุผลสำเร็จได้ เพราะสิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญสำหรับกิจกรรมนักศึกษานั้น การบรรลุเป้าหมายเป็นเพียงผลพลอยได้ของกระบวนการทำกิจกรรมที่ดี ผมมองว่าเนื้อใหญ่ใจความของการทำกิจกรรมระดับนักศึกษาคือ กระบวนการที่สมาชิกได้เรียนรู้ในเรื่องต่างๆร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีโอกาสพบปะสังสรรค์ พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน จุดนี้เองสถานที่จะเป็นสิ่งที่สำคัญมาก สมมติว่า ชนพ.ย้ายซุ้มไปอยู่ที่คณะฯ ซึ่งไกลจากหอพัก ไกลจากวิถีชีวิตหลังเลิกเรียน ก็อาจทำกิจกรรมได้เพียงบางกิจกรรมโดยเฉพาะกิจกรรมที่เป็นทางการ  ส่วนกิจกรรมที่ไม่เป็นทางการอาจมีได้น้อย เช่น การนั่งพูดคุยกัน  ใครหละที่จะไปนั่งคุยกันที่คณะตอนดึกๆหละครับหากไม่ใช่คนเมา โดยส่วนตัวแล้วผมเห็นว่าซุ้ม ชนพ.ที่ตั้งอยู่ปัจจุบันนี้เหมาะสมดีแล้ว เพราะอยู่ใกล้กับหอพัก สามารถเป็นศูนย์กลางการทำกิจกรรมที่หลากหลายทั้งกิจกรรมที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ ได้เป็นอย่างดี สามารถเป็นที่รวมพลได้ง่าย ไม่ซับซ้อน ผมคงฝากให้พวกเราช่วยกันดูแลรักษาซุ้มนี้ไว้ จะมีหลังคาหรือไม่มีหลังคาก็ไม่สำคัญหรอกครับ เพราะได้มีการพิสูจน์แล้วว่าการที่ซุ้มชนพ.มีหลังคาหรือไม่มีหลังคานั้น ไม่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพของกิจกรรมและความสัมพันธ์ระหว่างมาลสมาชิกชนพ.แต่ประการใด ผมยังเคยเห็นเลยในขณะที่ฝนเริ่มจะตกพี่น้องชนพ.ที่นั่งประชุมกันอยู่ จะรีบวิ่งหลบฝนพอฝนหยุดตกต่างคนก็วิ่งกลับมาที่เดิมเพื่อประชุมต่อและยังช่วยกันคนละไม้ละมือเช็ดถูม้านั่ง น่ารักจะตายครับ  สำหรับผมแล้วขอแค่เพียงซุ้มชนพ.มีโต๊ะ-ม้าให้พวกเรานั่งประชุมหรือโสเหล่กัน มีต้นไม้ใบหญ้าให้เรารดน้ำ พรวนดิน รวมทั้งการช่วยกันรักษาความสะอาด ปัดกวาด ใบไม้ใบหญ้าที่ร่วงหล่นลง แค่นี้ก็คงเพียงพอแล้ว
เรื่องราวต่างๆ ทั้ง 7 เรื่องราวที่ผมได้เล่ามานั้น ใช่เป็นส่วนหนึ่งของความรู้สึกของผม แต่มันคือทั้งหมดของความรู้สึกของผมที่มีให้กับชนพ.  ผมไม่ได้มีเจตนาที่จะบอกว่าสิ่งที่ผมนำเสนอข้างต้นเป็นทั้งหมดของความจริงที่ทุกๆคนต้องยอมรับ แต่ผมพยายามที่จะบอกว่าการที่ผมสามารถมีอารมณ์ ความรู้สึก ความรู้ และประสบการณ์ ที่สามารถถ่ายทอดเป็นงานเขียนชิ้นนี้ได้ ก็เพราะว่าผมเป็นคน ชนพ. ความหมายของชีวิตผมกว่าครึ่งทศวรรษถูกสร้างขึ้นโดย ชนพ.
ก่อนจะจบผมขอขอบคุณคนชนพ.ทุกคนโดยเฉพาะคนชนพ.ที่ผมร่วมสมัยอยู่ด้วย จำได้ไหมพวกเราได้ร่วมทุกข์ ร่วมสุข ตลอดจนร่วมแบ่งปันความรู้สึกที่ดีๆให้แก่กัน ผมหวังว่าชนพ.ของเราคงจะอบอุ่นเช่นนี้ตลอดไป ขอขอบคุณรุ่นน้อง ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่เป็นเรี่ยวแรงในการจัดงาน 22 ปี ชนพ.ครั้งนี้ด้วยใจจริง  สำหรับผมแล้ว ถึงแม้จะไม่ได้อยู่ใกล้ชิดชนพ.เหมือนดังเก่าก่อน แต่ผมก็ระลึกอยู่เสมอว่า ชนพ.คือผู้เป็นฐานรากแห่งการพัฒนาวุฒิปัญญาทางสังคมให้กับตัวผมเอง และคนชนพ ทุกๆคน ท้ายนี้ผมขอฝากแง่คิดเล็กๆน้อยๆ ไว้ให้คน ชนพ.พิจารณาเล่นๆ ว่า

หากแม้ว่าแนวคิดการทำกิจกรรมของ ชนพ.ยังเป็นแบบเดิมๆ ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงแห่งยุคสมัยหรือการเปลี่ยนแปลงเสียแล้ว มันก็อาจเป็นแนวคิดที่รกหูรกตาได้ เพราะใช้อธิบายอะไรไม่ได้เลย  หากไม่ต้องการอย่างนั้นพวกเราควรทบทวน ตรวจสอบแนวคิดการทำกิจกรรมของพวกเราเองอยู่เสมอว่ามันสอดคล้องกับความเป็นจริงดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร ซึ่งอาจเรียกว่า การสังคายนาแนวคิด(งาน 22 ปีชนพ.น่าจะอยู่ในข่ายนี้) เมื่อ    พวกเราทำอย่างนี้โดยตลอด แนวคิดการทำกิจกรรมของพวกเราก็จะทันยุคทันสมัยไม่ล้าหลังปรากฎการณ์สังคมหรือวัฒนธรรมใหม่ๆที่เกิดขึ้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ทั้งนี้การที่จะเป็นดังกล่าวได้คน ชนพ.ทุกๆคนต้องร่วมกันคิด ร่วมกันทำอย่างผู้ที่รู้จักตื่น และไม่ทอดทิ้งกัน


    “เมื่อความรัก คือจินตนาการอย่างหนึ่งของคนที่ไร้เหตุผล ผมจึงยอมที่จะเป็นคนหนึ่งที่ไร้เหตุผล

รัก ชนพ.เสมอ

สาคร สมเสริฐ
เรือนหอคนโสด สามเสนใน กรุงเทพฯ
28  พฤศจิกายน 2549