ขอเชิญทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเราในการสร้า้งสังคมแห่งการเรียนรู้...

หากต้องการลงบทความ/งานเขียนของท่าน สามารถแจ้งความประสงค์ได้ทางเว็บบอร์ด หรือทางอีเมล์แอดเดรส; po_kenchin@hotmail.com
หรือจะสมัครสมาชิกอย่างเดียวก็ได้นะครับ

22 กันยายน 2554

อำนาจ: ว่าด้วยมโนทัศน์ทางแนวคิดทฤษฎี

อำนาจ: ว่าด้วยมโนทัศน์ทางแนวคิดทฤษฎี[1]
ถิรนัย อาป้อง[2]
บทนำ    
เมื่อกล่าวถึงคำว่า “อำนาจ” คนส่วนใหญ่คงจะรู้สึกคุ้นเคยกับคำๆ นี้เป็นอย่างดีเพราะความสัมพันธ์ทางสังคมที่สะท้อนความสัมพันธ์เชิงอำนาจดูจะแทรกซึมแผ่ซ่านและปรากฏอยู่ในชีวิตทางสังคมวัฒนธรรมของเราทุกคนตั้งแต่ในจุดเล็กๆ ใกล้ตัวจนไกลตัวออกไป ความสัมพันธ์เชิงอำนาจปรากฏในหลายโครงสร้างสถาบันสังคมนับตั้งแต่ครอบครัว สถาบันการศึกษา สถานที่ทำงาน สถาบันเศรษฐกิจการเมือง รัฐ และกลไกปฏิบัติการของรัฐด้านอุดมการณ์ เช่นสถาบันการศึกษา ความเชื่อศาสนา สื่อ และกลไกรัฐด้านการบังคับ เช่น ศาล กฎหมาย คุก กองทัพ ตำรวจ และยังพบในความสัมพันธ์ทางสังคมในลักษณะต่างๆ  เช่น ระหว่างเพศ วัย ชนชั้น ชาติพันธุ์ คนชายขอบ (marginal groups)[3] อาทิ แรงงานข้ามชาติที่ลักลอบเข้าเมือง โสเภณี เด็กเร่รอน คนติดเชื้อเอดส์ ขอทาน คนพิการ เกย์และเลสเบี้ยน เป็นต้น
เมื่อมองไปรอบๆ ตัว ความสัมพันธ์ทางสังคมเชิงอำนาจดูจะเป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ชิดกับเรามาก ซึ่งปรากฏอยู่ในปริมณฑลทั้งที่เป็นชีวิตในพื้นที่ส่วนตัวและชีวิตในพื้นที่สาธารณะ อำนาจกระจายอยู่รอบตัวมนุษย์ในสังคม ทุกคนล้วนแล้วแต่มีส่วนในการสร้างอำนาจผ่านการตีความวาทกรรมเรื่องอำนาจ และเป็นผู้ใช้อำนาจในทางใดทางหนึ่งรวมทั้งเป็นผู้รับผลของอำนาจขึ้นอยู่กับบริบทความสัมพันธ์ทางสังคมของใครกับใครและอย่างไรในแต่ละสถานการณ์
นิยามความหมายเรื่องอำนาจนั้นได้รับการโต้แย้งและตีความอยู่ตลอดเวลา มนุษย์โดยทั่วไปดูเหมือนจะรับรู้และรู้จักคำว่า อำนาจ เพราะอำนาจเป็นแง่มุมหนึ่งในชีวิตประจำวันของมนุษย์ที่เรารับรู้และซึมซับความหมายของมันไว้โดยปริยาย เช่นเดียวกับที่มนุษย์เกิดและเติบโตในวัฒนธรรมหนึ่งๆ ก็จะรู้สึกคล้ายๆ กับว่าเข้าใจและปฏิบัติตามตรรกะของวัฒนธรรมนั้นอย่างอัตโนมัติ โดยที่อาจจะยังไม่สามารถอธิบายเรื่องวัฒนธรรมในลักษณะที่เป็นแนวคิดในลักษณะนามธรรมชัดเจนได้ กล่าวโดยสรุป มนุษย์โดยทั่วไปรู้จักและคุ้นเคยกับคำว่า อำนาจ ผ่านการปฏิบัติ และประสบการณ์ในชีวิตจริงของเขา แต่ยากที่พวกเขาจะอธิบายเรื่องราวและตรรกะของความคิดเรื่องอำนาจให้ชัดเจนอย่างเป็นระบบหรือสรุปเป็นความคิดเชิงนามธรรม ความหมายของอำนาจที่เป็นข้อสรุปสากลเป็นกฎเกณฑ์ที่เป็นนามธรรมตายตัวแบบหนึ่งเดียวจึงยังไม่มี และอาจจะหาไม่พบเลยก็เป็นไปได้ เนื่องจากความหมายของอำนาจอยู่ในกระบวนการของการประชันกันทางความคิด (contested views) เป็นสิ่งที่ถูกสร้างผลิตซ้ำและตีความใหม่ๆ โดยกลุ่มต่างๆ ในสังคมอยู่ตลอดเวลา (รัตนา, 2548)
ดังนั้น ผู้ศึกษาจึงมีความสนใจที่จะศึกษาสถานภาพ ทิศทางและสังเคราะห์มโนทัศเรื่องอำนาจในเชิงมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา เพื่อสามารถนำไปวิเคราะห์สิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคม
แม็กซ์ เวบอร์ (Max Weber)
เวเบอร์อธิบายว่าในการพิจารณาความสัมพันธ์ทางสังคมเราต้องเข้าใจคำหลักสองคำนี้คือหนึ่ง อำนาจ (Power) และสอง สิทธิอำนาจ (Authority) เวเบอร์ให้ความสำคัญกับสิทธิอำนาจซึ่งจะเป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ทางสังคมในสังคมสมัยใหม่
                อำนาจ (Power) คือ ความสามารถหรือศักยภาพของบุคคลหรือกลุ่มในสถานภาพหนึ่งๆ ที่จะกระทำการให้บรรลุเป้าหมายความตั้งใจของตนเอง แม้ว่าจะถูกต่อต้านจากบุคคลอื่น อำนาจเชื่อมโยงกับการยอมรับ/เกียรติยศ (prestige) คนที่มีอำนาจมากก็จะได้รับการยอมรับมาก บุคคลที่สามารถแสดงความต้องการของตนเองได้และความต้องการของตนเองเหนือกว่าความต้องการของผู้อื่นคือผู้มีอำนาจ มีนัยที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์ทางสังคมที่ไม่เท่ากันระหว่างผู้ที่มีอำนาจมากกว่ากับผู้ที่มีอำนาจน้อยกว่า หรือผู้มีอำนาจกับผู้ไร้อำนาจ ดังนั้นโดยความหมายนี้อำนาจจึงมีความเกี่ยวข้องกับการครอบงำ (domination)
                สำหรับประเภทแบบแผนของอำนาจ เวเบอร์แยกออกได้เป็น 2 แบบ คือ อำนาจบังคับ (coercive power) กับ อำนาจชอบธรรม (legitimate power/authority) พื้นฐานของอำนาจบังคับตั้งอยู่บนพื้นฐานของการใช้กำลังบังคับ ขาดความชอบธรรม ในขณะที่อำนาจชอบธรรมมีการบังคับใช้ (domination) ในลักษณะที่มีความชอบธรรมเพราะเป็นอำนาจที่ได้รับการยินยอมและเห็นชอบให้ใช้อำนาจจากผู้อยู่ใต้อำนาจ (Morison, 1995 อ้างใน รัตนา, 2548)
                สิทธิอำนาจ (Authority) คือ สิทธิโดยชอบธรรมที่จะคาดหวังให้ผู้อื่นเต็มใจเชื่อฟังคำสั่งของตน สิทธิอำนาจมีนัยของระเบียบกฎหมายหรือกฎระเบียบแอบแฝงอยู่ คำว่าสิทธิโดยชอบธรรมแปลว่าสังคมหรือกลุ่มยินยอมให้บุคคลได้รับอำนาจนี้ อำนาจอันชอบธรรมสัมพันธ์กับภาวะผู้นำ (leadership) เป็นสิทธิของผู้นำและเป็นความชอบธรรมที่คนอื่นๆ ให้การยอมรับ เช่น รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ตำรวจสามารถพกพาอาวุธปืนได้
เวเบอร์อธิบายว่าสิทธิอำนาจมีที่มาได้ 3 แบบ คือ[4]
                1. สิทธิอำนาจตามประเพณี (Traditional Authority) คือ การมีอำนาจตามที่ขนบธรรมเนียมประเพณีกำหนดไว้ สิทธิอำนาจในลักษณะนี้มีที่มาจากความเชื่อตามสังคมประเพณีดั้งเดิม และสังคมปัจจุบัน เช่น การยอมรับระบบบิดาเป็นใหญ่ในครอบครัว สิทธิอำนาจของพระสงฆ์ที่จะนำประกอบพิธีกรรมทางศาสนา การออกคำสั่งของพ่อแม่ต่อลูก อำนาจของรุ่นพี่รุ่นน้องในมหาวิทยาลัยบางแห่ง การสืบทอดราชบัลลังก์ของกษัตริย์ เป็นต้น
2. สิทธิอำนาจบนรากฐานบุญบารมี (Charismatic Authority) เป็นสิทธิอำนาจอันเกิดจากคุณลักษณะของผู้นำที่มีบุญบารมีเป็นที่ปรากฏและยอมรับ เช่น ความกล้าหาญ ความมีจริยธรรม ความเสียสละ เป็นต้น เช่น ครูบาศรีวิชัย มหาตมคานธี คนทั่วไปต้องเห็นว่าผู้นำประเภทนี้มีบุญบารมีจึงจะเชื่อถือ
3. สิทธิอำนาจที่อยู่บนหลักเหตุผลหรือกฎหมาย (Rational Legal- Authority) หมายถึงอำนาจที่จะกระทำสิ่งต่างๆ ที่ถูกต้องตามหลักเหตุและผลหรือกฎข้อบังคับที่ถูกกำหนดเอาไว้ เช่น สิทธิอำนาจที่อาจารย์จะให้เกรดกับนักศึกษา สิทธิอำนาจที่ตำรวจจับกุมผู้กระทำผิด สิทธิอำนาจที่ผู้พิพากษาจะตัดสินคดี เป็นต้น
เวเบอร์อธิบายว่าสิทธิอำนาจทั้งสามแบบเป็นแบบในอุดมคติจะไม่แยกจากกันเด็ดขาด ลักษณะของสิทธิอำนาจจะมีการผสมปนเปกัน บางทีสิทธิอำนาจก็มีฐานที่มามากกว่าหนึ่งแบบผสมกัน 
คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx)
                ในการก่อรูปทางสังคมนั้นทฤษฎีของมาร์กซเชื่อว่ามีองค์ประกอบสำคัญ 2 ส่วน คือ โครงสร้างส่วนล่างที่เป็นพื้นฐานทางเศรษฐกิจให้สังคม มีวิถีการผลิตทางเศรษฐกิจ (mode of production) เป็นฐานสำคัญเป็นการกำหนดระบบการผลิตในแต่ละยุคสมัยของพัฒนาการทางประวัติศาสตร์สังคม โดยการจัดการ การควบคุม และการกระจาย ทรัพยากรทุน ที่ดิน เทคโนโลยี แรงงาน เป็นต้น ส่วนโครงสร้างส่วนบนประกอบด้วยการเมือง กฎหมาย และวัฒนธรรม (เช่น ศาสนา อุดมการณ์ ความเชื่อ ค่านิยม จารีตประเพณี ศิลปะ ดนตรี รสนิยม) มาร์กซเชื่อว่าโครงสร้างส่วนล่างมีอำนาจในการเป็นตัวกำหนดเนื้อหาและรูปแบบการแสดงออกของโครงสร้างส่วนบน กล่าวโดยสรุปคือ โครงสร้างส่วนบน (การเมือง กฎหมาย และวัฒนธรรม) เป็นเพียงภาพสะท้อนของโครงสร้างส่วนล่าง (เศรษฐกิจ)
                ในแต่ละสังคมยังประกอบไปด้วยชนชั้นที่สัมพันธ์กันในระบบการผลิตในระบบทุนนิยม ชนชั้นที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองคือ ชนชั้นนายทุน ทำให้ชนชั้นนี้มีอิทธิพลในการกำหนดเนื้อหาและรูปแบบของโครงสร้างส่วนบนมีผลต่อการครอบงำระบบการเมือง กฎหมายและวัฒนธรรมของประชาชนส่วนใหญ่ ให้หันมารับใช้หรือให้ความชอบธรรมแก่โครงสร้างส่วนล่างหรือระบบการผลิตแบบทุนนิยมนั่นเอง
                สำหรับเรื่องชนชั้นนั้นมาร์กซคลาสสิกมีวิธีการจำแนกจากความสัมพันธ์ทางสังคมของแบบวิถีการผลิต ระหว่างผู้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต (ได้แก่ ทุน ที่ดิน และแรงงาน) ในระบบการผลิตหนึ่งๆ กับผู้ผลิต ซึ่งหมายถึงกรรมกร ผู้ยากไร้ที่จำเป็นต้องขายแรงงานให้กับผู้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตหนึ่งๆ ในสังคม คนกลุ่มแรกหมายถึงชนชั้นนายทุน ส่วนคนกลุ่มหลังหมายถึงชนชั้นกรรมมาชีพ หรือ กรรมกร ที่เป็นผู้ผลิต ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ชนชั้นนี้เป็นความสัมพันธ์เชิงขัดแย้ง ไม่เท่าเทียมกันเนื่องจากชนชั้นกรรมมาชีพถูกกดขี่ขูดรีด เอาเปรียบแรงงานโดยชนชั้นนายทุน ในระบบการผลิตแบบทุนนิยม การครอบครองทรัพย์สินส่วนตัว (private property) เป็นหัวใจสำคัญของการนำไปสู่การเกิดชนชั้นและชนชั้นนำไปสู่การขัดแย้งเชิงอำนาจ ส่วนสาเหตุที่กรรมกรจำนวนมากยังคงยินดีที่จะอยู่ในระบบความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบทุนนิยม เป็นเพราะเกิดจิตสำนึกจอมปลอม ทั้งนี้เนื่องจากความสัมพันธ์ทางการผลิตในระบบทุนมีการควบคุมและครอบงำทางอุดมการณ์ที่ค่อนข้างทรงประสิทธิ์ภาพ ทำให้ชนชั้นกรรมมาชีพหลงใหลได้ปลื้มกับระบบทุนนิยมโดยไม่ตระหนักถึง หรือมองเห็นความสัมพันธ์ที่เอารัดเอาเปรียบของนายทุนผ่านระบบการผลิต
                ในความสัมพันธ์ที่เป็นปรปักษ์และขัดแย้งกันนี้ มาร์กซมองว่ารัฐก็มีบทบาทอยู่ด้วย แต่เป็นบทบาทในเชิงลบ กล่าวคือ รัฐเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำหน้าที่ครอบงำชนชั้นโดยการที่ชนชั้นหนึ่งครอบครองอำนาจในระบบการปกครองทางการเมือง ชนชั้นนายทุนคือชนชั้นที่ครองอำนาจนั้น ชนชั้นนายทุนใช้รัฐและสถาบันในสังคมครอบงำชนชั้นแรงงาน เมื่อความขัดแย้งรุนแรงถึงที่สุด ชนชั้นแรงงานก็จะทำการปฏิวัติเพื่อล้มล้างรัฐที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือครอบงำนี้ รัฐที่ยอมให้นายทุนเข้าครอบงำเป็นรัฐที่เสื่อมถอยหรือด้อยกำลังวังชา (Aron, 1967. อ้างใน สุภางค์, 2551)
                Turner ได้เรียบเรียงความคิดของมาร์กซในรูปแบบใหม่ สามรถสรุปเป็นหัวข้อใหญ่ๆ ได้ดังนี้[5]
                1. ยิ่งการแบ่งปันสิ่งของหายากเป็นไปอย่างไม่เสมอภาคเท่าไร การขัดแย้งในผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มที่มีอำนาจและกลุ่มที่อยู่ใต้อำนาจในสังคมก็จะยิ่งมีมากขึ้น
                2. ยิ่งกลุ่มที่อยู่ใต้อำนาจตระหนักในผลประโยชน์ที่แท้จริงของพวกตนมากขึ้นเท่าไร ก็จะยิ่งเพิ่มความเป็นไปได้ในการที่เขาจะตั้งข้อสงสัยความชอบธรรมของระบบการแบ่งปันสิ่งของหายากนั้นมากขึ้น
                3. ยิ่งกลุ่มที่อยู่ใต้อำนาจตระหนักในผลประโยชน์ที่แท้จริงของพวกตนมากขึ้นเท่าไร และยิ่งเขามีความสงสัยในความชอบธรรมของระบบการแบ่งปันสิ่งของหายากในสังคมมากขึ้น ความเป็นไปได้ที่เขาจะเข้าร่วมในการขัดแย้งอย่างเปิดเผย กับกลุ่มที่มีอำนาจของสังคมก็จะมีมากขึ้น
                4. ยิ่งสมาชิกของกลุ่มที่อยู่ใต้อุดมการณ์เดียวกันมากขึ้นเท่าไรและยิ่งโครงสร้างภาวะผู้นำทางการเมืองมีความก้าวหน้าพัฒนามากขึ้น การแบ่งเป้นกลุ่มที่มีอำนาจและกลุ่มที่อยู่ใต้อำนาจก็จะยิ่งมีมากขึ้น (หรือชัดเจนขึ้น)
                5. ยิ่งมีการแบ่งกลุ่มที่มีอำนาจ และกลุ่มที่อยู่ใต้อำนาจมากขึ้นเท่าไร การขัดแย้งก็จะยิ่งมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
                6. ยิ่งการขัดแย้งมีความรุนแรงมากขึ้นเพียงไร การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของระบบสังคม และการแบ่งปันสิ่งของหายากเสียใหม่ก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น
ซี ไรท์ มิลส์ (C. Wright Mills)
                ซี ไรท์ มิลส์ ถือได้ว่าเป็นนักสังคมวิทยาชาวอเมริกันคนแรกที่รับเอาความคิดของมาร์กซ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วนักสังคมวิทยาอเมริกันจะนิยมความคิดของเวเบอร์ งานเขียนที่สำคัญของมิลส์คือ เรื่องชนชั้นผู้นำ (Power Elite: 1956) หรืออาจแปลได้ว่าหมายถึงคนระดับนำที่มีอำนาจ คือชนชั้นปกครองที่ประกอบไปด้วยนักธุรกิจ กลุ่มการเมือง และผู้นำทางการทหาร การใช้อำนาจของคนเหล่านี้เป็นการใช้อำนาจเชิงสถาบันมากกว่าส่วนบุคคล มิลส์ได้วิเคราะห์ว่ากลุ่มอำนาจทั้งสามที่รวมตัวกันเป็นชนชั้นผู้นำนี้ ขาดความรู้สึกรับผิดชอบ (accountability) ต่อประชาชน แต่พึ่งพาอาศัยกันเพื่อกุมอำนาจได้อย่างสมบูรณ์ เป็นคนกลุ่มที่มีภูมิหลังทางสังคมและการศึกษาเหมือนกัน จึงไม่เป็นเรื่องแปลกที่ผู้นำสูงสุดทางการทหารหรือนักธุรกิจที่รวยมากๆ จะกลายเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา คนเหล่านี้นอกจากจะยึดกุมอำนาจแล้วยังทำทุกอย่างเพื่อตนเอง (Slattery, 2003: 171-172 อ้างใน สุภางค์, 2551) งานชิ้นนี้ของมิลส์จึงเป็นงานที่วิเคราะห์ชนชั้นนายทุนในสังคมอเมริกันอย่างไม่เกรงใจใคร
ราล์ฟ ดาห์เรนดอร์ฟ (Ralph Dahrendorf)
                ดาห์เรนดอร์ฟเสนอแนวคิดนีโอมาร์กซิสต์ในเรื่องความขัดแย้ง สิทธิอำนาจ และกลุ่มสังคมดังนี้[6]
                1. ความขัดแย้ง (conflict) ในหนังสือเรื่อง Class and Class Conflict in Industrial Society (1967) ดาห์เรนดอร์ฟได้เสนอความคิดของเขาว่า สังคมดำรงอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของผลประโยชน์และความกดดันจากพลังบีบบังคับ ความขัดแย้งและความสมานฉันท์ (consensus) เป็นความจำเป้นพื้นฐานของกันและกันให้สังคมดำรงอยู่ได้ ความขัดแย้งไม่ได้เกิดจากการเป็นหรือไม่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต แต่อยู่ที่สิทธิอำนาจ (authority) ที่คนกลุ่มหนึ่งมีเหนือคนอีกกลุ่มหนึ่ง
                2. สิทธิอำนาจ (authority) อำนาจไม่ได้มีอยู่ในตัวปัจเจกแต่อยู่ที่ตำแหน่งในสังคมของบุคคล แต่ละตำแหน่งในสังคมมีอำนาจไม่เท่ากัน ผู้มีอำนาจ คือ ผู้มีอำนาจเหนือกว่า (superordination) เขาคาดหวังว่าจะควบคุมผู้ที่อยู่ใต้อำนาจ (subordination) คนสองกลุ่มนี้มีผลประโยชน์ที่มีเนื้อหาและทิศทางที่แตกต่างกัน กล่าวคือ ผู้มีอำนาจเหนือกว่าจะรักษาสถานภาพตามที่เป็นอยู่ (status quo) ส่วนผู้ที่อยู่ใต้อำนาจจะแสวงหาความเปลี่ยนแปลง ทั้งสองฝ่ายต่างมีผลประโยชะนีที่ไม่เหมือนกัน ผลประโยชน์ประกอบด้วยผลประโยชน์แอบแฝง (latent interest) เป็นผลประโยชน์ตามบทบาทที่มิได้สำนึก กับผลประโยชน์ที่ปรากฏชัด (manifested interest) คือผลประโยชน์แอบแฝงที่กลายเป็นสิ่งที่มีความสำนึก
                3. กลุ่มสังคม กลุ่มสังคมมี 3 ระดับ ได้แก่ กลุ่มเสมือนกลุ่ม (quasi group) รวมตัวกันเพื่อผลประโยชน์อย่างเดียว กลุ่มผลประโยชน์ (interest group) คือ กลุ่มที่มีแบบแผนพฤติกรรมทร่วมกัน เป็นตัวแทนที่แท้จริงของความขัดแย้ง ภายในกลุ่มจะประกอบด้วยโครงสร้าง ลักษณะองค์กร จุดมุ่งหมาย และสมาชิก และกลุ่มขัดแย้ง (conflict group) เป็นกลุ่มที่ดำเนินการต่างๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคม เมื่อความขัดแย้งถึงที่สุด การเปลี่ยนแปลงจะมีลักษณะรุนแรงและฉับพลัน
                ทฤษฎีความขัดแย้งของดาห์เรนดอร์ฟ ให้ชื่อโมเดลว่า Dialectical Conflict Perspective ในทัศนะของดาห์เรนดอร์ฟ องค์การสังคมคือ imperatively coordinated association เรียกย่อๆ ว่า ICA องค์การนี้มีขนาดต่างๆ อย่างองค์การสังคมโดยทั่วไป ตั้งแต่กลุ่มสังคม ชุมชน ไปจนถึงสังคมมนุษย์ องค์การแต่ละขนาดประกอบด้วยบทบาทจำนวนหนึ่ง แต่ละบทบาทจะมีอำนาจบังคับผู้อื่นจำนวนหนึ่ง ดังนั้นในสายตาของดาห์เรนดอร์ฟ องค์การสังคมหรือไอซีเอของเขาเป็นเรื่องของความสัมพันธ์อำนาจและอำนาจในองค์การถือได้ว่าเป็นสิทธิอำนาจ (authority) เพราะบทบาทเหล่านี้เป็นตำแหน่งที่ยอมรับกันในองค์การ ดังนั้นความเป็นระเบียบทางสังคมจะดำรงอยู่ได้ก็โดย การพยายามซ่อมบำรุงกระบวนการสร้างความสัมพันธ์แห่งสิทธิอำนาจเอาไว้ สาเหตุของการขัดแย้ง และการเปลี่ยนแปลงในสังคม เกิดจากการที่บางครั้งอำนาจมีอยู่น้อย หายยาก กลุ่มย่อยต่างๆ ในไอซีเอจึงต้องแข่งขัน ต่อสู้ให้ได้มาซึ่งอำนาจอันน้อยนั้น (สัญญา, 2551)
ปีเตอร์ เบลา (Peter  Blau)[7]
                อันที่จริง สิ่งที่เราเรียกว่า ทฤษฎีอำนาจของเบลา ในที่นี้เป็นส่วนหนึ่งของทฤษฎีแลกเปลี่ยนใหญ่ที่นำมาใช้กับชีวิตสังคมโดยทั่วไปนั่นเอง ดังที่เราทราบเรื่องของอำนาจ (power) เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตสังคมที่ขาดไม่ได้ สำหรับเบลาแล้วคนที่มีอำนาจ คือคนที่สามารถทำให้ผู้อื่นในความสัมพันธ์แลกเปลี่ยน ยอมตาม (compliance) เพราะในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้มีอำนาจสามารถ “ดึง” บริการอันเป็นประโยชน์เอาไว้ หรือลงโทษ คิดราคาค่าบริการแพงขึ้นได้ตามใจ ตามความคิดของเบลา บุคคลจะมีอำนาจขนาดต่างๆ กันได้ สี่ระดับดังนี้
                1. ยิ่งคนสามารถสนองคืนบริการแก่บุคคลผู้ให้บริการมีคุณค่าได้มากเท่าใด ผู้ให้บริการก็จะยิ่งไม่สามารถบังคับให้ผู้สนองบริการยอมตามได้เพียงนั้น
                หมายความว่า ผู้ให้บริการมีค่าจะมีอำนาจมากน้อยเพียงใดเหนือผู้สนองบริการ ขึ้นอยู่กับการที่ผู้สนองบริการจะสามารถตอบแทนบริการมีค่าของผู้ให้ได้มากน้อยแค่ไหน หากผู้ให้บริการมีค่าให้มาก แต่ผู้สนองใช้คืนได้น้อย ผู้ให้ก็มีอำนาจมาก ถ้าผู้สนองใช้คืนได้มาก ผู้ให้ก็มีอำนาจน้อย และถ้าผู้สนองใช้คืนได้หมดเลย (มีมูลค่าเท่ากัน) ผู้ให้ก็ไม่มีอำนาจเหนือผู้สนอง ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้และผู้รับดังกล่าวนี้จึงมีลักษณะเป็นสหสัมพันธ์เชิงลบ (negative association)
                2. ยิ่งบุคคลสามารถหาแหล่งรางวัลเป็นทางเลือกได้มากเพียงใด ผู้ให้บริการมีค่าก็จะยิ่งไม่สามารถบังคับคนให้ยอมตามได้มากเพียงนั้น
                3. ยิ่งผู้รับบริการมีค่าสามารถใช้กำลังบังคับขู่เข็ญผู้ให้บริการได้มากเพียงใด ผู้ให้บริการก็ยิ่งไม่สามารถบังคับให้ผู้รับบริการยอมตามได้มากเพียงนั้น คือ ถ้าผู้รับบริการสามารถใช้กำลังตอบโต้ผู้ให้บริการมีค่าได้แล้ว ผู้ให้บริการก็ไม่สามารถมีอำนาจเหนือผู้รับบริการได้
                4. ยิ่งผู้รับบริการมีความสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ไม่ต้องพึ่งพาบริการนั้นได้มากเพียงใด ผุ้ให้บริการก็ยิ่งไม่สามารถบังคับให้ผู้รับบริการยอมตามได้มากเพียงนั้น คือ ไม่สามารถจะก่อให้เกิดอำนาจขึ้นมาได้ ผู้ให้บริการก็ไม่สามารถมีอำนาจเหนือผู้รับบริการได้
                กล่าวโดยสรุป ทฤษฎีอำนาจของ ปีเตอร์ เบลา กล่าวว่า อำนาจของบุคคล (compliance) เกิดจากบริการมีค่า เหนือบุคคลผู้ไม่สามารถตอบสนองทดแทน เหนือบุคคลผู้ไม่มีทางเลือกอื่น เหนือบุคคลผู้ไม่สามารถใช้กำลังบังคับขู่เข็ญ ตอบโต้ และเหนือบุคคลผู้ต้องพึ่งพาบริการนั้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ อำนาจเหล่านี้จึงเป็นอำนาจบังคับ เพราะเกิดในความสัมพันธ์ทางสังคม และอธิบายโดยอาศัยความสัมพันธ์แลกเปลี่ยนที่วางหลักใหญ่ไว้ล่วงหน้า
อันโตนิโอ กรัมชี (Antonio Gramsci)
อันโตนิโอ กรัมชี (Antonio Gramsci) (อ้างใน กาญจนา แก้วเทพและสมสุข หินวิมาน, 2551: 182) ได้อธิบายถึงอำนาจโดยใช้กำลังบังคับและการสร้างความยินยอมพร้อมใจ โดยการวิเคราะห์กลไกรัฐว่ามีลักษณะที่แตกต่างกัน กล่าวคือสำหรับกลไกด้านการปราบปรามนั้นจะหนักมือไปที่กลยุทธการใช้กำลังบังคับ (coercion) เช่น หากมีการเดินขบวนชุมนุมประท้วง ทางเลือกหนึ่งของชนชั้นปกครองก็อาจเป็นการใช้กำลังตำรวจบุกจับแกนนำผู้ประท้วงมาคุมขัง ฯลฯ อย่างไรก็ดี กรัมชีย้ำว่า ในการใช้กำลังบังคับเช่นนี้อาจได้ผลแบบชั่วคราว เนื่องจากว่ายิ่งมีการปราบปรามมากเท่าใด ก็ยิ่งมีกระบวนการต่อต้านมากขึ้นเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ กรัมชีจึงสรุปว่า เส้นทางที่ชนชั้นปกครองมักใช้ควบคู่กันไปก็คือ กระบวนการสร้างความยินยอมพร้อมใจ (consent) โดยผ่านกลไกของรัฐด้านอุดมการณ์ อันถือเป็นกลยุทธ์ที่แทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้ที่ถูกปกครองทั้งหลาย
อำนาจครอบงำ คือ การครอบงำของชนชั้นหนึ่งโดยใช้วิธีการทางการเมืองและอุดมการณ์ประสานเข้าด้วยกัน กล่าวคือ มีคนกลุ่มหนึ่งตั้งใจครอบงำคนอื่นและลักษณะการครอบงำเกิดขึ้นในระดับชนชั้น คือนำเอาวิธีทางการเมืองผสมเข้ากับเรื่องอุดมการณ์ ใช้วิธีทางการเมืองทำให้เกิดการยอมรับอำนาจเข้าไปเป็นส่วนสำคัญของอุดมการณ์ ทำให้เกิดสำนึกเรื่องชนชั้นตามอุดมการณ์ที่สอดใส่ การครอบงำนี้ปกติจะใช้การครอบงำทางการเมืองแต่วิธีการครอบงำที่ไม่ให้เกิดปัญหาต้องทำในระดับอุดมการณ์คนจะได้รู้สึกว่าไม่ถูกบังคับ อุดมการณ์จึงมีบทบาทสำคัญในการทำให้เกิดการยอมรับชนชั้นที่เป็นคนส่วนใหญ่ การรักษาดุลระหว่างการบังคับกับการทำให้เกิดการยอมรับจะแตกต่างกันไปในแต่ละสังคม บางสังคมก็จะบังคับมาก บางสังคมก็พยายามทำให้เกิดการยอมรับมาก สังคมที่บังคับมากคือ สังคมเผด็จการ และสังคมทุนนิยม ซึ่งกรัมชี่เห็นว่ารัฐเป็นเป็นตัวการสำคัญในการสร้างพลังบังคับ
กรัมชี่เสนอว่า อำนาจครอบงำ (hegemony) ต่างจากอำนาจบังคับข่มขู่ (coercion) เพราะเป็นอำนาจผ่านกระบวนการนิติบัญญัติหรือบริหาร แสดงออกโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ใช้อำนาจครอบงำเป็นผู้นำทางวัฒนธรรม ถูกใช้โดยชนชั้นปกครอง ปัญญาชนที่รับใช้นายทุนเข้าไปสู่ฐานะผู้นำทางวัฒนธรรมและได้รับการยอมรับจากมวลชน
กรัมชี่วิเคราะห์สังคมออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือรัฐผู้ใช้อำนาจในการบังคับ อีกส่วนหนึ่งเรียกว่า ประชาสังคม (civil society) ส่วนนี้เป็นส่วนที่ทำให้เกิดการยอมรับ กรัมชี่บอกว่าการยอมรับเกิดจากการครอบงำทางอุดมการณ์ที่สถาบันต่างๆ ในประชาสังคมสร้างขึ้นและรับไว้ กรัมชี่ระบุว่าประชาสังคมเป็นตัวครอบงำความคิดของพลเมือง สถาบันเหล่านี้ได้แก่ครอบครัว โรงเรียน สถาบันศาสนาและสื่อ ดังนั้นประชาสังคมจึงเป็นเครื่องมือในการปกครองครอบงำของชนชั้นนายทุน สภาพเช่นนี้จะเกิดขึ้นในประเทศพัฒนาที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยมาเป็นเวลานาน ประชาสังคมในระบอบประชาธิปไตยทุนนิยมทำหน้าที่ปกป้องทุนนิยมจากการปฏิวัติหรือการต่อสู้
                สำหรับกรัมชีนั้น อำนาจ ไม่เคยมีลักษณะแบบหยุดนิ่งหรือเกิดขึ้นแบบ ม้วนเดียวจบ (once and for all) ตรงกันข้าม ปฏิบัติการทางอำนาจจะอยู่ในรูปของ กระบวนการกลายมาเป็น (the process of becoming) เสมอ ซึ่งกรัมชีได้อธิบายสภาวการณ์ดังกล่าวในแนวคิด อำนาจนำ (hegemony) ซึ่งกรัมชีได้จำแนกกลยุทธ์ของการครอบครองอำนาจนำออกเป็น 2 ด้านด้วยกัน ได้แก่
                1) การครอบครองอำนาจนำทางการเมือง (political hegemony) หมายถึง การสถาปนาระบบการเมืองหนึ่งๆให้กลายเป็นระบบหลักของสังคม ฉะนั้นระบบการเมืองแบบอื่นๆ ก็จะหมดความชอบธรรมไปโดยปริยาย ซึ่งหากใครคิดขัดแย้งกับระบบหลักนี้ก็จะถูกมองในแง่ลบว่าเป็นปฏิปักษ์
                2) การครอบครองอำนาจนำทางวัฒนธรรม (cultural hegemony) หมายถึง กระบวนการสถาปนาวัฒนธรรมหลักหรือระบบความคิดหลักขึ้นในสังคม เพื่อนำไปสู่การสร้างความเห็นพ้องต้องกัน (consensus) ทั้งนี้ การผลิตและเผยแพร่วัฒนธรรมหลักดังกล่าวนี้ จะมีสื่อมวลชนเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันความคิด จิตสำนึก ที่แทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันของมวลชน (กาญจนา   แก้วเทพและสมสุข หินวิมาน, 2551: 182)
การมีสำนึกซ้อน กรัมชี่เชื่อว่าการครอบงำด้วยอำนาจแบบ hegemony จะไม่สมบูรณ์ กรัมชี่ยืนยันว่าชนชั้นปกครองหรือชนชั้นครอบงำจะไม่สามารถครอบงำได้สมบูรณ์แม้ในสังคมทุนนิยมปัจจุบัน เหตุผลที่ครอบงำไม่ได้เป็นเพราะเรื่องการมีสำนึกซ้อน คนสามารถที่จะมีสำนึกได้สองส่วน โดยเฉพาะชนชั้นแรงงาน สำนึกซ้อนจะเกิดขึ้นในชนชั้นแรงงานคือ ชนชั้นแรงงานจะมีสำนึกทั้งส่วนที่ถูกครอบงำโดยนายทุนและส่วนที่ถูกครอบงำโดยอุดมการณ์ปฏิวัติ ในสองส่วนนี้กรัมชี่กล่าวว่าในที่สุดแล้วสำนึกซ้อนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงโดยที่สังคมทุนนิยมจะถูกโค่นล้มและชนชั้นแรงงานจะสามารถสร้างอุดมการณ์ของกลุ่มขึ้นมาได้เอง
                การต่อสู้ทางชนชั้น กรัมชี่คิดว่าชนชั้นแรงงานเป็นชนชั้นที่น่าเห็นใจ เพราะว่าเขาไม่สามารถที่จะปฏิบัติการปฏิวัติไปได้ตามลำพัง ชนชั้นแรงงานต้องการคนมาช่วยเหลือและคนที่จะเข้าไปช่วยเหลือชนชั้นแรงงานคือ ปัญญาชน ถ้าปราศจากกลุ่มปัญญาชนเข้ามาช่วยจะไม่เกิดการต่อสู้ทางชนชั้น กรัมชี่สรุปว่า ในที่สุดการต่อสู้ระหว่างชนชั้นจะเป็นการต่อสู้ระหว่างปัญญาชนในชนชั้นแรงงานกับปัญญาชนในชนชั้นนายทุน การต่อสู้ไม่ได้เป็นแบบนองเลือด แต่เป็นการต่อสู้เพื่อช่วงชิงอำนาจ
มิเชล ฟูโกต์ (Michael Foucault)
ฟูโกต์มองอำนาจเป็นความสัมพันธ์ในเครือข่ายของความรู้-อำนาจ อำนาจถูกกระทำจากหลายๆ จุดในโครงสร้างทางสังคม (social body) ไม่ได้มาจากจุดยอดของสังคม หรือไม่ได้มาจากการแบ่งขั้วของสังคมเป็นผู้ปกครอง-ถูกปกครอง ความสัมพันธ์ของอำนาจเป็นความสัมพันธ์พื้นฐาน ไม่ใช่ความสัมพันธ์ขั้นสองที่เกิดจากความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ความรู้ หรือเพศ แต่แฝงฝังอยู่ด้วยกันกับความสัมพันธ์ดังกล่าว(ธีรยุทธ บุญมี, 2551)   
ฟูโกต์ได้ให้คำนิยามของ อำนาจแตกต่างจากที่เคยเข้าใจกันมาโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ อำนาจไม่ใช่แรงที่ใช้บังคับ แต่ทว่าเป็นกลวิธีเกี่ยวกับการทำหน้าที่แบบต่างๆ (Power is a strategy attributable to functions, disposition, manueur tactic technic) อำนาจนี้ไม่ได้เกิดมาจากมิติเศรษฐกิจ-การเมืองเท่านั้น หากแต่เป็นเครือข่ายเล็กๆที่กระจายตัวในที่ต่างๆ (Indefinite network-micro-power) กล่าวคือ อำนาจไม่ใช่เรื่องที่นายทุนกระทำแก่คนงานหรือรัฐกระทำแก่ประชาชนเท่านั้น หากแต่เป็นเรื่องที่คนทุกคนต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับอำนาจไม่ในทางใดก็ทางหนึ่ง นั่นก็คือถ้าไม่เป็นผู้ใช้อำนาจก็ต้องเป็นผู้ถูกใช้อำนาจ และการนำเสนอที่เดินสวนทางกับความเข้าใจที่เคยมีมาเกี่ยวกับอำนาจก็คือ ฟูโกต์เสนอว่าอำนาจไม่เพียงแต่เก็บกดเท่านั้นหากแต่ยังสร้าง (creat) อีกด้วย และสิ่งสำคัญที่อำนาจสร้างขึ้นมาก็คือ ความจริงหน้าที่สำคัญของอำนาจจึงเป็นการสร้างความจริง (Truth Production) เพราะฉะนั้นสิ่งที่คนมีอำนาจพูดจึงเป็นความจริงเสมอ ดังที่ฟูโกต์ได้พิสูจน์ให้เห็นอำนาจของแพทย์ นักวิชาการ การจิตวิทยา สถานพยาบาล ตำรวจ กฎหมาย ฯลฯ ในการความจริงเกี่ยวกับสุขภาพความปลอดภัยระเบียบ การศึกษา และอื่นๆ (กาญจนา แก้วเทพ, 2549)
การค้นพบหรือคุณูปการที่สำคัญที่สุดของฟูโกต์ก็คือ การเชื่อมโยงการศึกษาเรื่องความรู้-อำนาจเข้ากับการควบคุมชีวิตมนุษย์ในโลกยุคสมัยใหม่ทัศนะเสนอ (thesis) ที่สำคัญของฟูโกต์ก็คือโลกยุคสมัยใหม่คือการเปลี่ยนแปลงความคิดรูปแบบกลไกของอำนาจ จากการใช้อำนาจอย่างสมบูรณ์ (absolute) ขององค์อธิปัตย์ (sovereignty) ในการกำหนดชีวิต (ให้ชีวิตหรือทำลายชีวิต) มาเป็นอำนาจในการกำกับดูแล บริหารจัดการ 2 สิ่งคือ
1) การกำกับบริหารจัดการร่างกายและกายวิภาคของคน (anatomo-politics of human body)
2) การกำกับดูแลบริหารจัดการเรื่องชีวิตของประชากรในรัฐหรือสังคมนั้นๆ (biopolitics of the population)
การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ทำให้เกิดความรู้และกลไกในการพัฒนา (development) กำกับดูแล (supervision) การบริหาร (administration) การจัดการ (management) การแทรกแซง (intervention) ในมิติต่างๆ ของคนและประชากรอย่างกว้างขวาง เช่น ด้านวินัยและการลงโทษ การกำกับเรื่องเพศของปัจเจกบุคคลและองค์รวมคือประชากร เป็นต้น และอำนาจหรือการปกครองในยุคสมัยใหม่ก็คือ มิติของการปกครองด้านจิตใจหรือจิตวิญญาณต่อบุคคล (pastoral power) ซึ่งอำนาจเชิงวิญญาณนี้ หมายถึง การที่อำนาจสมัยใหม่ดึงเอาความเป็นตัวตน และความเป็นบุคคลของมนุษย์ให้เด่นชัดออกมา อำนาจแบบนี้อาศัยทั้งความเต็มใจ ความรู้ ความรู้ตัวเอง และการยอมรับว่าความรู้นี้เป็นของปัจเจกบุคคลจริง รูปแบบอำนาจนี้ถูกใช้ในชีวิตประจำวัน โดยการจำแนกประเภทให้กับบุคคล บ่งความเป็นปัจเจกชนให้กับเขา ผูกพันตัวตนของเขาเข้ากับอัตลักษณ์ กดครอบกฎเกณฑ์ความจริงให้กับเขา ซึ่งเขาต้องยอมรับ และคนอื่นก็ต้องยอมรับว่าดำรงอยู่ในตัวเขาด้วยเช่นกัน (ธีรยุทธ บุญมี, 2551: 176)
                ฟูโกต์ นำแนวคิดเรื่องอำนาจมาผูกโยงกับแนวคิดอื่นๆ เช่น ความรู้ ความจริง ประวัติศาสตร์ กิจกรรมที่กระทำอยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น การจ้องมองดู การใช้อำนาจบนร่างกาย รวมทั้งเรื่องอำนาจกับอัตลักษณ์ เช่น เมื่อเราเข้าไปเป็นคนใช้หรือติดคุกเราก็จะถูก รื้อถอนอัตลักษณ์เดิมออกไปด้วยกลวิธีต่างๆ เช่น เปลี่ยนชื่อของเราเป็นหมายเลข ถอดเครื่องแต่งตัวออกเป็นสวมชุดนักโทษ เมื่อถูกถอดถอนอัตลักษณ์เดิมออกไปก็เท่ากับเราได้ถูกปลดอำนาจออกไปด้วยโดยปริยาย เป็นที่น่าสนใจว่าคนไทยมีความคิดเรื่อง ศักดิ์ศรีอยู่มากซึ่งอาจจะเทียบเคียงได้กับเรื่องอำนาจและอัตลักษณ์ (กาญจนา แก้วเทพ, 2549)
                ในกรณีความสัมพันธ์ระหว่าง อำนาจกับความรู้นั้น ฟูโกต์ได้ปฏิเสธคำนิยามของคำว่า ความรู้ ตามที่เคยเข้าใจกัน ไม่ว่าจะหมายถึง สิ่งที่มนุษย์เราได้รู้ สิ่งที่มีประโยชน์ต่อการเอาชีวิตรอด ฯลฯ ฟูโกต์เห็นว่าอำนาจต่างหากที่ทำให้สิ่งหนึ่งๆกลายเป็น ความรู้ กลายเป็น สัจธรรม ขึ้นมาได้หรือกล่าวให้ง่ายที่สุดก็คือ สิ่งที่ผู้มีอำนาจพูดนั้น คือสิ่งที่ถูกต้องและเป็นความรู้ ดังนั้นเมื่อเราได้ยินเสียง Voice-over ในโฆษณาผงซักฟอกที่ต้องเป็นเสียงผู้ชายกำลังแนะนำให้แม่บ้านที่ดูมึนงงแบบโง่เขลาอยู่กับการซักผ้าให้สะอาด ก็หมายความว่า เพราะผู้ชายมีอำนาจ ข้อความที่เขาแนะนำจึงเป็นความรู้และถูกต้อง ในทางกลับกันเมื่อเกิดความรู้ขึ้นมาแล้วความรู้นั้นก็หวนกลับไปพิทักษ์ส่งเสริมอำนาจให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ดังกรณีของผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย อำนาจเป็นสิ่งที่มีพลวัตและหากจะธำรงรักษาอำนาจไว้ก็ต้องมีการปฏิบัติการการใช้อำนาจ (Exercisepower) อยู่ตลอดเวลา จึงเป็นเหตุผลว่าเพราะเหตุใดคุณนายในละครโทรทัศน์จึงต้องดุด่าว่าคนใช้อยู่ตลอดเวลาอย่างไม่จำเป็น หรือพระเอกละครโทรทัศน์ต้องกระชากนางเอกมาจูบเป็นประจำ อย่างไรก็ตามเนื่องจากอำนาจเป็นเรื่องที่ไม่เข้าใครออกใครและที่ใดมีการใช้อำนาจที่นั้นก็ย่อมมีการต่อต้านอำนาจเกิดขึ้นเป็นเงาตามตัว (กาญจนา แก้วเทพ, 2549)
                สรุปได้ว่า อำนาจในแนวคิดหลังสมัยนิยมเป็นความสัมพันธ์ในเครือข่ายของความรู้-อำนาจ-ความจริง-ประวัติศาสตร์ และถูกกระทำได้จากหลายๆ จุดในโครงสร้างทางสังคม อำนาจไม่เพียงแต่กดทับเท่านั้นหากแต่ยังสร้างอีกด้วย และสิ่งสำคัญที่อำนาจสร้างขึ้นมาก็คือ ความจริง รูปแบบอำนาจนี้ถูกใช้ในชีวิตประจำวัน โดยการจำแนกประเภทให้กับบุคคล บ่งความเป็นปัจเจกชนให้กับเขา ผูกพันตัวตนของเขาเข้ากับอัตลักษณ์ กดครอบกฎเกณฑ์ความจริงให้กับเขา ซึ่งเขาต้องยอมรับ และคนอื่นก็ต้องยอมรับว่าดำรงอยู่ในตัวเขาด้วยเช่นกัน

บทสรุป
                อำนาจเป็นสิ่งที่ไม่หยุดนิ่งตายตัว แต่เลื่อนไหลไปมาบนพื้นที่ของสังคม อำนาจไม่ได้ผูกขาดเบ็ดเสร็จโดยกลไกอำนาจรัฐที่ใช้บังคับ มันไม่ได้เคลื่อนตัวเข้าไปยังจุดที่เล็กและที่คุ้นเคยที่สุดและจุดที่มีขอบข่ายที่กว้างที่สุดในความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างมนุษย์ด้วยกัน มันอยู่ทุกที่ อำนาจไม่ได้เป็นสมบัติของชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มันเป็นของทั้งคนจนและคนรวย เป็นของผู้อ่อนแอและเข้มแข็ง อำนาจเป็นองค์ประกอบที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแทนที่เป็นทางการกับไม่เป็นทางการในการสร้างระบบการควบคุมทางสังคมและการผลิตวัฒนธรรมอำนาจ รูปแบบของการใช้กำลังบังคับ และความรุนแรงล้วนแล้วแต่เป็นผลผลิตของประดิษฐกรรมหรือสร้างวัฒนธรรมในแต่ละสังคม ในทางกลับกันการใช้กำลังบังคับและความรุนแรงก็เป็นสัญลักษณ์ทางสังคมที่สะท้อนเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจ
                จากการทบทวนเอกสารต่างๆ มโนทัศน์เรื่องอำนาจในการศึกษาทางมานุษยวิทยาและสังคมวิทยายังเป็นประเด็นที่ไม่มีข้อยุติ และยังเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงทางวิชาการอยู่มาก รวมทั้งยังเป็นประเด็นที่เปิดกว้างต่อการประชันด้านความหมายและการตีความใหม่ๆ คล้ายกับมโนทัศน์ในเรื่องวัฒนธรรม มโนทัศน์เรื่องอำนาจ (power) การครอบงำ (domination) และอำนาจอันชอบธรรม (authority) ซึ่งยังไม่ได้มีความหมายที่สัจจะเป็นหนึ่งเดียวโดยสมบูรณ์ในตัวของมันเอง หากแต่มีลักษณะของความหมายที่แยกย้ายเป็นเศษเสี้ยว มีการขยายความโดยการตีความของคนกลุ่มต่างๆ เพื่อแสดงตัวตนและปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มตนเอง และมีการผลิตซ้ำ ขยายความ และสร้างขึ้นใหม่ๆ เพื่อช่วงชิงความหมายนำในการอธิบายอยู่ตลอดเวลา
                มโนทัศน์เรื่องอำนาจได้รับการนำไปประยุกต์ใช้ควบคู่ไปกับมโนทัศน์ในเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สิทธิ อัตลักษณ์ ชนชั้นทางสังคม และการเคลื่อนไหวทางสังคมในการศึกษาวิจัยทางด้านมานุษยวิทยาและสังคมวิทยามากมาย เช่นการศึกษาเกี่ยวกับคนชายขอบ เรื่อง เสียงจากคนชายขอบโดยทวิช  จตุวรพฤกษ์ การนำเสนอตัวตนของหญิงบาร์เบียร์ ของโสภิดา วีรกุลเทวัญ โลกของคนไร้บ้านของบุญเลิศ วิเศษปรีชา เป็นต้น งานวิจัยเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นมิติของการต่อสู้ภายใต้ระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมของคนกลุ่มต่างๆ ที่ถูกเรียกว่าเป็นคนชายขอบในบริบทที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งน่าจะช่วยสะท้อนมุมมองเรื่องอำนาจในสังคมไทยให้เห็นเด่นชัดขึ้น


[1] บทความนำเสนอรายวิชา 415 711ทฤษฎีสังคมวิทยาร่วมสมัย CONTEMPORARY SOCIOLOGICAL THEORIES
[2] นักศึกษาปริญญาโทสาขาสังคมวิทยาการพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น
[3] ความเป็นชายขอบ (marginality) ในทางเศรษฐศาสตร์การเมืองนั้นหมายถึง ผู้คนที่ด้อยอำนาจ (the powerless) คนที่ตกเป็นเบี้ยล่าง (the subordinate) ของคนกลุ่มใหญ่และคนยากไร้ (the have-nots) และเมื่อคนเหล่านี้เป็นชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อย เพศด้อย และไม่มีตำแหน่งแห่งที่ในสังคม หรือเรียกรวมๆ ว่ามีสถานะเป็น “คนอื่น” (the others) อีกด้วยแล้วจึงทำให้คนเหล่านี้ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกกีดกันออกซ้ำแล้วซ้ำเล่า (multiple exclusions) หรือเป็นคนชายขอบในพหุมิติ (multiple marginalities) จึงแทบจะกล่าวได้ว่าศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของคนเหล่านี้เท่ากับศูนย์ นักสังคมศาสตร์ยุคหลังสมัยใหม่ ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกลุ่มคนที่เรียกรวมๆ กันว่าเป็น “คนที่ถูกกดทับไว้” ใน ชูศักดิ์ วิทยาภัค บรรณาธิการ. “บทนำ: สังคมศาสตร์กับการศึกษาคนชายขอบ, วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 11: 1, 2541, น.17-18.
[4] สุภางค์ จันทวานิช. ทฤษฎีสังคมวิทยา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2551. น.59.
[5] สัญญา สัญญาวิวัฒน์. ทฤษฎีสังคมวิทยา เนื้อหาและแนวทางการใช้ประโยชน์เบื้องต้น. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2551. น. 75.
[6] สุภางค์ จันทวานิช. ทฤษฎีสังคมวิทยา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2551. น.201-202.
[7] สัญญา สัญญาวิวัฒน์. ทฤษฎีสังคมวิทยา เนื้อหาและแนวทางการใช้ประโยชน์เบื้องต้น. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2551. น. 141-144.
______________________________________________________________________________________________
บรรณนานุกรม
กาญจนา แก้วเทพ. สตรีนิยมและวัฒนธรรมศึกษา. ใน อานันท์ กาญจนพันธุ์. (บ.ก.). อยู่ชายขอบ มองลอดความรู้รวมบทความในวาระครบรอบ 60 ปี ฉลาดชาย รมิตานนท์. กรุงเทพฯสำนักพิมพ์มติชน, 2549.
กาญจนา แก้วเทพและสมสุข หินวิมาน. สายธารแห่งนักคิดทฤษฎี เศรษฐศาสตร์การเมือง กับสื่อสารศึกษา. กรุงเทพฯ: ภาพพิมพ์, 2551.
ชูศักดิ์ วิทยาภัค บรรณาธิการ. “บทนำสังคมศาสตร์กับการศึกษาคนชายขอบ, วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 11: 12541.
ธีรยุทธ บุญมี. โลก Modern & Post modern. กรุงเทพฯสำนักพิมพ์สายธาร, 2550.
                Michel Foucault. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิภาษา, 2551.
ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี. (บ.ก.). อัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ และความเป็นชายขอบ. กรุงเทพฯศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2546.
รัตนา โตสกุล. มโนทัศน์เรื่องอำนาจ.กรุงเทพฯคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติสาขาสังคมวิทยา, 2548.
สัญญา สัญญาวิวัฒน์. ทฤษฎีสังคมวิทยา เนื้อหาและแนวทางการใช้ประโยชน์เบื้องต้น. กรุงเทพฯสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2551.
สุภางค์ จันทวานิช. ทฤษฎีสังคมวิทยา. กรุงเทพฯสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2551.
สุริชัย หวันแก้วกระบวนการกลายเป็นคนชายขอบ (Marginalization)กรุงเทพฯคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาสังคมวิทยา, 2546.
อานันท์ กาญจนพันธุ์. (บ.ก.). รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการวิจัยเครือข่ายปริญญาโทด้านไทยศึกษาประเด็นสังคมและวัฒนธรรมของคนชายขอบ. เชียงใหม่คณะสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2546.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น