ขอเชิญทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเราในการสร้า้งสังคมแห่งการเรียนรู้...

หากต้องการลงบทความ/งานเขียนของท่าน สามารถแจ้งความประสงค์ได้ทางเว็บบอร์ด หรือทางอีเมล์แอดเดรส; po_kenchin@hotmail.com
หรือจะสมัครสมาชิกอย่างเดียวก็ได้นะครับ

23 กุมภาพันธ์ 2555

ช.น.พ. กับ “ชาร์ลี แชปลิน” ทางเดินสู่ชนบทและการเติบโตทางความคิดเพื่อสังคม

         “ตึกกิจกรรม” เป็นตึกสองชั้นมีห้องเล็กห้องน้อยที่แสดงตัวตนของคนทำกิจกรรมอันหลากหลาย เราจะได้ยินเสียงเปียโนดังมาจากห้องเล็กๆริมทางขึ้นบันได มีเสียงร้องประสานเสียงสูงต่ำ ห้องที่มีชั้นหนังสือเรียงรายมีนักศึกษาแวะเวียนเข้าออก แต่ละห้องมีกิจกรรมที่ต่างทำให้เกิดพลังของการปะทะสังสรรค์ระหว่างผู้คนในตึกกิจกรรมแห่งนี้...
          หน้าตึกมีศาลาน้อยเป็นซุ้มมุงจาก อยู่ใต้ต้นยอป่า และมีสระน้อย ๆ เคียงข้าง เมื่อลูกยอสุกดกหล่นร่วงลงสระก็จะส่งกลิ่นคลุ้งอันเป็นเอกลักษณ์ของซุ้มศาลาแห่งนี้...ที่ที่ซึ่งมีแต่เพียงคนกลุ่มเล็กๆกลุ่มหนึ่งแต่งตัวมอซอ ผมเผ้ารุงรัง ใส่เสื้อยืด กางเกงเล สะพายย่าม มานั่งเล่นกีต้าร์ร้องเพลงเพื่อชีวิตในยามเย็นย่ำ...
          หนังกลางแปลงจะฉายวนเวียนอยู่เพื่อเรียกคนเข้าไปมุงดู เสียงหัวเราะดังลั่นอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเข้าไปดูจะพบว่าเป็นหนังเรื่อง “ชาร์ลี แชปลิน”  หนังฝรั่งตลกใบ้เก่าแก่คลาสสิคที่ถูกนำมาพากย์เสียงอีสานได้อย่างฮาชนิดที่คนดูแทบจะลงไปนอนกลิ้ง...ใครจะเชื่อว่าเมื่อหนังจบ..พี่ๆคนฉายหนังกลับชวนกันพูดคุยเรื่องราวแห่งความทุกข์ยากของพี่น้องในชนบทที่ห่างไกล และชวนกันออกแบบการทำค่ายอาสาพัฒนาชุมชน...
         ที่นี่เองเราเรียกกันว่า “ช.น.พ.” (ชุมนุมนักศึกษาเพื่อการพัฒนา)
         เราซึ่งเป็นน้องใหม่ (CD4) จะเห็นภาพของกลุ่มรุ่นพี่ (ซึ่งขณะนั้นน่าจะเป็นยุคของCD 2-3) ที่มีบุคลิกจริงจังแบบไม่จริงจัง ทั้งพี่เหี่ยว (เดโช) พี่วินเลี่ยม(เทวารักษ์) พี่น้องณัฐ(ณัฐวุฒิ) พี่อู๋(พัฒนา) พี่ต๋อม(พีระ) ฯลฯ เหมือนๆพยายามจะทำตัวให้ตลกน่ารักเพราะกลัวน้องๆไม่เข้าร่วม ช.น.พ.เพราะกลัวเครียด ซีเรียส จริงจังเกินไป
         ยุคนี้เองที่ ช.น.พ. นำพานักศึกษาสาขาพัฒนาชุมชนเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมทางสังคม... ค่ายอาสาถูกปรับจาก "ค่ายสร้าง" เป็น "ค่ายต่อเนื่อง" ที่สมาชิกค่ายได้เรียนรู้ศึกษาสภาพปัญหาทางสังคมชนบทอย่างจริงจังและต่อเนื่อง มีกิจกรรมมากกว่าการสร้าง-การสงเคราะห์ มีชาวบ้านและชนบทเป็นครูสอนวิชาการพัฒนาแบบล่างขึ้นบน ค่ายอาสาที่น้องๆ(ถูกหลอกล่อ)ให้เข้าร่วมเป็นค่ายอาสาแบบต่อเนื่องค่ายแรก “บ้านหนองคูบัว” มีการแบ่งงานความรับผิดชอบไปตามประเด็นต่างๆ เช่น ด้านพัฒนา ด้านวัฒนธรรม ด้านเด็ก-การศึกษา ด้านสิ่งแวดล้อม ฯลฯ  น้องใหม่อย่างเราจึงเลือกทำงานกับเด็ก ได้พาเด็กๆวิ่งเล่นไปในทุ่งนา เรียนรู้วิถีการเล่นกับธรรมชาติรอบๆตัว และเรียนรู้การใช้ชีวิตของชาวนาไปพร้อมๆกับเด็ก  เราได้ฝึกสอนหนังสือเด็กที่โรงเรียน หานิทานและเกมส์สนุกๆมาสอน จำได้ว่ามีเด็กคนนึงติดเรามากเดินตามต้อยๆแม้กระทั่งจะเข้าห้องน้ำ พอเราออกจากห้องน้ำเห็นไอ้ตัวเล็กกำลัง “จอบเบิ้ง”เราอยู่...มันวิ่งแจ้นตะโกนประกาศไปทั่วว่า “เห็นของพี่จิ๋วแล้วๆๆ...” เราเลยจำชื่อได้แม่นว่าไอ้นุ้ยตัวแสบ...
         ทุกคืนชาวค่ายจะต้องมารายงานและสรุปงานร่วมกันในค่ายก่อนจะแยกย้ายกันไปนอนตามบ้านของชาวบ้าน เพราะเป็นค่ายที่ไม่ได้นอนในวัดหรือนอนในโรงเรียนรวมกัน แต่ต้องกระจายไปนอนที่บ้านชาวบ้านเพื่อให้รู้จักการปรับตัวให้เข้ากับชุมชน ในค่ายจะมีกิจกรรมที่ซาบซึ้งก่อนวันกลับเป็นกิจกรรมรอบกองไฟ หลังกิจกรรมเราจะสรุปงาน แล้วร้องเพลงเพื่อชีวิตใต้แสงดาวผิงกองไฟแล้วหลับกองกันอยู่รอบกองไฟ.... บรรยากาศชีวิตชาวค่ายในชุมชนชนบทและการทำงานแข็งขันในค่ายที่ชวนให้ทุกคนได้แสดงความคิด วิเคราะห์และต่อยอดการเรียนรู้จากการออกค่าย หล่อหลอมความคิดของพวกเรานักศึกษารุ่นใหม่ไปโดยไม่รู้ตัว  เรากลายเป็นคนที่ไม่กลัวเรื่องเครียด ไม่รู้สึกซีเรียสที่จะคุยเรื่องหนักๆ และรับรู้ได้ว่าเราเริ่มอยากเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงสังคม กลับมาหาหนังสืออ่าน หลายเล่มเป็นเรื่องแปลของนักเขียนอย่างดอสโตเยฟสกี ลีโอ ตอลสตรอย เฮอร์มานน์ เฮสเส ฯลฯ...และอยากจะมาที่ศาลาน้อยหน้าตึกกิจกรรมแห่งนี้เป็นประจำ...
         เราเติบโตขึ้น ในปีต่อๆมา ช.น.พ.ก็ถึงครามาสู่รุ่นเรา CD4 ในช่วงปี 2533-34 เป็นยุคแห่งขบวนการนักศึกษากับการพัฒนาที่เปลี่ยนแปลง สังคมที่กำลังเติบโตไปสู่ยุคนิกส์ ยุคแห่งการพัฒนาที่ไม่คำนึงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งการทำนาเกลือ การปลูกยูคาลิปตัสที่ทำให้เกษตรกรอีสานเผชิญกับปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรจากนายทุน ส่วนการเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อนนักศึกษาจำนวนหนึ่ง(มีเรารวมอยู่ในนั้นด้วย)ร่วมขบวนการคัดค้านนาเกลือ กรณีดินเค็มน้ำเสียว และคัดค้านการปลูกยูคาลิปตัส ...จำได้ว่าตอนนั้นพี่ๆและเพื่อนๆหลายคน(จำได้ว่ามีบึ้ง-บุญอ้อม โต-ถนอมศิลป์ อ๊อด-เทวินทร์ ฯลฯ)ถูกตีตอนสลายการชุมนุม และถูกจับเข้าตาราง...
         งานค่ายอาสาถูกรับช่วงต่อเนื่องมาจากรุ่นพี่ ซึ่งรุ่นเรามี แดง-รัตนา ได้รับเลือกให้เป็นประธานค่ายนำพาน้องๆรุ่นหลังเข้าสู่กิจกรรมค่ายอาสาที่เข้มข้นไม่เปลี่ยนแปลง
         บรรยากาศการทำงานทางสังคมยุคนั้นเติบโตมาก และเป็นส่วนหล่อหลอมอุดมการณ์ทางสังคมให้กับหลายคนที่เมื่อจบออกมาจากมหาวิทยาลัยยังคงเลือกทำงานพัฒนาตามที่ตนเรียนมา ...รวมทั้งเราด้วย...
         สาขาพัฒนาชุมชนมักถูกมองว่าเป็นคนจน จบไปแล้วก็ไม่รวย หางานทำก็ยาก แต่สำหรับเราแล้ว เราขอบคุณ ช.น.พ. ที่ทำให้คนที่ผ่านเข้ามาร่วมกิจกรรมของชุมนุมนี้ ถึงแม้จะไปอยู่ที่ตรงไหนของสังคม พวกเขายังระลึกถึงภาพของชุมชนชนบทและมีสำนึกที่จะทำงานเพื่อสังคม...
          หลังจบจากมหาวิทยาลัย เราตั้งเป้าไปที่งานพัฒนาชุมชน เลือกเป็นเอ็นจีโอ(NGOs) ทำงานกับองค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่ได้ขึ้นต่อรัฐ ทำงานกับกลุ่มเกษตรกรในภาคอีสาน เคยร่วมขบวนเดินทางไกลกับชาวบ้านอีสานเพื่อคัดค้านโครงการ คจก. ที่ขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ และร่วมขบวนการชุมนุมของสมัชชาคนจน ทำงานกับพี่น้องที่ราษีไศลคัดค้านเขื่อนราษีไศล  จ.ศรีสะเกษ  สิ่งที่พาเราเดินทางมาสู่การทำงานแบบนี้ได้นั้น คงไม่ใช่เพียงชั่วระยะเวลาในการทำค่ายอาสาเพียงลำพัง มีสิ่งมากมายหลายสิ่งที่รายล้อมอยู่ในช่วงชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย เรามีเพื่อนCD4ที่เป็นเหมือนสายสัมพันธ์อันหลากหลาย เพื่อนที่มาจากหลายที่หลายแบบแต่มาหล่อหลอมผูกพันกันได้อย่างไม่แปลกแยก  พี่ๆน้องๆชาวCD ที่มีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้น(ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมากกว่าสาขาและคณะอื่นๆ) มีอาจารย์ที่เปรียบเสมือนพ่อแม่คนที่สองของเรา(อย่าง อ.สุริยา สมุทรคุปติ์ และอ.รัตนา บุญมัธยะ ฯลฯ) ...และมีบรรยากาศการต่อสู้ของขบวนการชาวบ้านและพี่เอ็นจีโอทั้งหลายนำพาการเติบโตทางความคิด สิ่งเหล่านี้เองที่เป็นเบ้าหลอมและเส้นโยงใยเชื่อมตัวตนของเราในวัยแสวงหาให้เข้าที่เข้าทางและมีหลักมั่นในชีวิต... ยังนึกถึงภาพของชาร์ลี แชปลินที่มักเดินแล้วล้ม แล้วลุก แล้วล้ม แล้วก็ลุกใหม่...ด้วยอาการเคอะเขิน ถ่อมตน แต่มุ่งมั่นมีจุดหมายของตน... เบื้องลึกของหนังตลกโปกฮาที่มีปรัชญาลึกล้ำ...มักหวนกลับมาหาเราเสมอ...
         ทุกวันนี้เรายังคงทำงานพัฒนา เป็นเอ็นจีโอ(NGOs) องค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่ได้ขึ้นต่อรัฐ แม้งานจะไม่มั่นคง ไม่มีหลักประกัน ไม่มีตำแหน่งยศถาบรรดาศักดิ์ให้ไต่เต้าเติบโต แต่เราก็รู้สึกภาคภูมิใจที่เลือกเป็น...จะล้มแล้วลุกกี่ครั้ง เราก็ยังคงเดินต่อ อย่างมุ่งมั่น....  
         อย่างไรก็ตาม เราพบว่าเพื่อนๆร่วมรุ่นทั้งหลาย ต่างไปอยู่ในจุดที่แตกต่างกัน แต่พวกเราต่างก็มีภาพความทรงจำและสายสัมพันธ์ที่ทำให้ความเป็นCDยังตราตรึงอยู่และยังคงมีความคิดของการเป็นนักศึกษาเพื่อการพัฒนาสังคมที่ไม่แตกต่างกันเลย...

ตรรกะ ๑๐ ประการของโซเชียลมีเดีย


โซเชียลมีเดียตอบสนองโดยตรงต่อความพยายามเรียกร้องหรือโหยหาเสรีภาพและอิสรภาพในการสื่อสาร ที่ปัจเจกชนในฐานะของสมาชิกในกลุ่มหรือเครือข่ายทางสังคมต่างๆ ปรารถนามานาน เท่าที่ผ่านมารัฐและกลุ่มทุนผูกขาดในนามขององค์ธุรกิจขนาดใหญ่ เป็นผู้ควบคุมการสื่อสารทางสังคมแต่เพียงฝ่ายเดียว

โดย ผศ. ดร. พัฒนา กิติอาษา 
ภาควิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ 


ผมมีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับโซเชียลมีเดีย (social media) และเครือข่ายทางสังคมบนโลกออนไลน์ค่อนข้างจำกัด ด้วยความที่ตัวเองเกิดและเติบโตในโลกก่อนยุคการสื่อสารผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์หลายปี 

ผมรู้สึกได้ถึงความล้าสมัย หงุดหงิด และงุ่นง่านพอสมควร เมื่อต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเกี่ยวข้องกับการติดต่อสื่อสารบนโลกออนไลน์โดยเฉพาะการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียในรูปแบบต่างๆ 

ผมบอกตัวเองและคนรอบข้างบ่อยๆ ว่าโลกนี้ สังคมนี้ และชีวิตนี้ มันช่างซับซ้อนขึ้นทุกวัน 

ในสังคมโลกที่มีเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นใหญ่ ผมตระหนักว่าโซเชียลมีเดียทั้งหลายได้ทวีความสำคัญจนถึงขั้นรุกเข้ามาครอบงำชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นเป็นลำดับ 

เราจะปฎิเสธโลกเทคโนโลยีและอิทธิพลของเครือข่ายทางสังคมออนไลน์ก็เห็นจะเป็นไปไม่ได้ 

เราจะปลีกวิเวกตัวเองตัดขาดจากการสื่อสารดังกล่าวอย่างสิ้นเชิงก็เห็นจะไม่ไหว เพราะว่าวิชาชีพ หน้าที่การงาน และสังคมที่ตัวเองใช้ชีวิตอยู่ได้เปลี่ยนแปลงหมุนไปตามโลกของนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ทุกขณะจิต 

เอาวะ... ยังไงก็ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกเทคโนโลยีกันบ้าง 

ผมพยายามทำความเข้าใจบทบาทและความสำคัญของโซเชียลมีเดียผ่านสิ่งที่ผมเรียกว่า “ตรรกะ” หรือความเป็นเหตุเป็นผลบางอย่างของเทคโนโลยีคลื่นลูกใหม่ที่กำลังดาหน้าเช้าครอบงำชีวิตทางสังคมของผู้คนทั่วโลกในขณะนี้ 

ผมควรจะเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจเสียก่อนว่า โซเชียลมีเดีย หรือสื่อออนไลน์ที่เน้นการสร้างระบบการสื่อสารผ่านเครือข่ายทางสังคมนั้น มีรูปร่างหน้าตาอย่างไร ประกอบด้วยอะไรบ้าง ทำงานอย่างไร รวมทั้งมีผลกระทบต่อสังคมและชีวิตประจำวันของผู้คนอย่างไรบ้าง 

ผมค้นข้อมูลเรื่องโซเชียมีเดียผ่านเสิร์ชเอ็นจิ้นของกูเกิ้ลเดี๋ยวเดียวก็ได้เรื่อง ผมไม่มีเวลาลงลึกมากมาย แต่ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลออนไลน์ เช่น Wikipedia, Slideshare, หรือข้อเขียนตามเว็ปต่างๆ ก็ช่วยให้ภาพและรายละเอียดการทำงานของเทคโนโลยีการสื่อสารที่เราเรียกว่า โซเชียลมีเดีย อย่างมากมายทั้งภาคภาษาอังกฤษและภาษาไทย 

ในบทความเรื่อง “Users of the World, Unite: the Challenges and Opportunities of Social Media” แอนเดรียส เคปลานและไมเคิล แฮนเลน (Andreas Kaplan and Michael Haenlein) (๒๐๑๐) นำเสนอว่า
โซเชียลมีเดียเป็นรูปแบบการสื่อสารผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่พลิกเปลี่ยนโฉมหน้าของโลกการสื่อสารของมนุษยชาติจากการสื่อสารทางเดียวที่ควบคุมโดยสื่อกระแส่หลัก เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ ฯลฯ ให้เป็นการสื่อสารสองทางหรือหลายทางที่มีการตอบโต้แลกเปลี่ยนกันในทันทีทันใด โซเชียลมีเดียอาศัยฐานของเว็ปไซท์และเทคโนโลยีการสื่อการเคลื่อนที่ (web-based and mobile technologies) และเป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเว็ปในรุ่นที่ ๒.๐ (application of Web 2.0)

ผู้เขียนบทความทั้งสองท่าน (เคปลานและแฮนเลน) ยังได้แบ่งรูปแบบของโซเชียลมีเดียออกเป็น ๖ ประเภทด้วยกัน ได้แก่ 

๑) โครงการที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างเจ้าของเว็ปกับผู้ใช้งาน เช่น วิกิพีเดีย 

๒) บล็อกส์และไมโครบล็อกส์ เช่น ทวิตเตอร์ 

๓) ชุมชนที่เน้นเนื้อหาสาร เช่น ยูทูป 

๔) เว็ปไซท์เครือข่ายทางสังคม เช่น เฟสบุคส์ 

๕) เกมส์ในโลกความจริงเสมือน เช่น เวิลด์ ออฟ วอร์คราฟ และ 

๖) โลกในสังคมเสมือนจริง เช่น เซคั่น ไลฟ์ 

เราเรียกสื่อเหล่านี้ว่า สื่อทางสังคมหรือโซเชียลมีเดียเพื่อเน้นความแตกต่างตามธรรมชาติของตัวสื่อที่แยกตัวออกจากสื่อกระแสหลัก ซึ่งเป็นสื่อที่ประกอบการในรูปแบบธุรกิจอุตสาหกรรม (industrial media) อย่างชัดเจน

ส่วนข้อมูลในภาคภาษาไทยที่ให้ความรู้สังเขปเกี่ยวกับโซเชียลมีเดียได้ชัดเจนมาก ได้แก่ สไลด์ประกอบการบรรยายเรื่อง “โซเชียลมีเดีย” ของ ผศ. ดร. กานดา รุณนะพงศา สายแก้ว ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น(http://www.slideshare.net/krunapon/social-media-5661152

สไลด์ชุดนี้ให้ภาพของโซเชียลมีเดียได้กระชับ ชัดเจน และเข้าใจง่าย 

ท่านนำเสนอว่า
โซเชียลมีเดีย หมายถึงสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ทำให้ผู้ใช้แสดงความเป็นตัวตนของตนเอง เพื่อมีปฎิสัมพันธ์กับหรือแบ่งปันข้อมูลกับคนอื่น โซเชียลมีเดียต่างกับมีเดียรูปแบบอื่นก็คือ เป็นการสื่อสาร ๒ ทางและผู้ใช้มีแนวโน้มที่จะเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวในพื้นที่สาธารณะออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนบทความสั้นๆ ที่สื่อสิ่งพิมพ์รายงานไว้ เช่น สกู้ปพิเศษของ “คมชัดลึก” เรื่อง “โซเชียลเน็ตเวิร์ค-โซเชียลมีเดีย” (http://www.komchadluek.net/detail/) ได้ชี้ให้ผู้อ่านเห็นว่า
ความนิยมอย่างสูงของโซเชียลมีเดียในรูปแบบต่างๆ สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านของระบบการสื่อสารจากการสื่อสารทางเดียวเป็นการสื่อสารสองทาง รวมทั้งได้อธิบายให้เห็นถึงความเป็นดาบสองคม หรือด้านบวกและลบของโซเชียลมีเดีย

ส่วนข้อเขียนสั้นๆ เรื่อง “๗ เทคนิคใช้โซเชียลมีเดีย”(http://www.thaibizcenter.com/KnowledgeCenter.asp?kid=9458) ก็เป็นการแนะนำวิธีใช้งานที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านหรือผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียทั่วไป

โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลต่อชีวิตทางสังคมสมัยใหม่อย่างมหาศาล เพราะสื่อดังกล่าวเปิดโอกาสให้ผู้คนผู้ใช้สื่อมีบทบาทในการผลิตตัวสารด้วยตนเอง นำเสนอ เผยแพร่สรรพสาระหรือเนื้อหาต่างๆ ผ่านสื่อด้วยตัวเองไปยังกลุ่มคนหรือเครือข่ายชุมชนออนไลน์ที่ตัวเองต้องการ รวมทั้งตอบสนองต่อสรรพสาระต่างๆ ด้วยการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวอย่างอิสระเสรี ที่สำคัญ การสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย (ส่วนใหญ่) ปลอดพ้นจากอำนาจตรวจสอบควบคุมโดยหน่วยงานของรัฐ 

กล่าวให้กระชับก็คือ โซเชียลมีเดียตอบสนองโดยตรงต่อความพยายามเรียกร้องหรือโหยหาเสรีภาพและอิสรภาพในการสื่อสารที่ปัจเจกชนในฐานะของสมาชิกในกลุ่มหรือเครือข่ายทางสังคมต่างๆ ปรารถนามานาน เท่าที่ผ่านมารัฐและกลุ่มทุนผูกขาดในนามขององค์ธุรกิจขนาดใหญ่เป็นผู้ควบคุมการสื่อสารทางสังคมแต่เพียงฝ่ายเดียว


ทุกวันนี้โซเชียลมีเดียเปิดพื้นที่และให้โอกาสแก่ปัจเจกชน กลุ่มทางสังคม หรือองค์กรธุรกิจขนาดต่างๆ ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของตัวเอง แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมต่างๆ ด้วยตนเองได้ เข้าถึงผู้รับสารหรือผู้บริโภคกลุ่มต่างๆ ได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากมาย หรือต้องรอไฟเขียวจากบรรดาหน่วยงานที่มีอำนาจอาญาสิทธิ์หรือกลุ่มทุนผูกขาดสื่ออุตสาหกรรมกระแสหลัก

ในสังคมโลกยุคออนไลน์ เรามีความจำเป็นบางอย่างที่จะต้องทำความเข้าใจถึงตรรกะของโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับชีวิตประจำวันของเรา โซเชียลมีเดียนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่มีผลต่อการมองโลก การติดต่อสื่อสาร การทำงาน และการใช้ชีวิตทางสังคมของพวกเราโดยตรง 

ผมพยายามครุ่นคิดถึงบทบาทและความสัญขอองโซเชียลมีเดียในสังคมโลกทุกวันนี้ ในที่นี้ผมจะนำเสนอตรรกะ ๑๐ ประการของโซเชียลมีเดียดังต่อไปนี้

ประการที่หนึ่ง โซเชียลมีเดียเป็นผลผลิตของนวัตกรรมหรือเทคโนโลยียุคดิจิตอล (digital innovation) ที่สามารถย่อโลก ย่นกาลเวลา นำพาผู้คนที่อาศัยอยู่ในเขตภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกัน ใช้ชีวิตในสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน 

รวมทั้งมีวิถีชีวิต รสนิยม สถานภาพทางสังคม และหน้าที่การงานที่แตกต่างกันให้มาพูดคุยกันหรือมีปฎิสัมพันธ์กันอย่างเข้มข้นบนโลกออนไลน์ ด้วยนวัตกรรม เช่น โซเชียลมีเดียในรูปแบบต่างๆ ภูมิศาสตร์หรือสถานที่และกาลเวลาจึงไม่ใช่อุปสรรคของการติดต่อสื่อสารของมวลมนุษย์อีกต่อไป

ประการที่สอง โซเชียลมีเดียได้สร้างโลกของความจริงเสมือน(virtual reality) ขึ้นมาและดึงดูดผู้คนจำนวนมหาศาลเข้าติดต่อสื่อสารกันอยู่ในโลกเสมือนจริง 

ความจริงที่ว่านี้มันคลับคล้ายคลับคลา เราติดต่อพูดคุยกับคนที่เรารู้จักและไม่รู้จักอยู่คนละขอบฟ้าได้จริง แต่เราก็รู้สึกว่ามันไม่จริงอย่างที่เราคุ้นเคย ชีวิตเราไม่จำเป็นต้องเข้าไปปรากฎตัวอยู่ในโลกความจริงทั้งในสถานที่และกาลเวลาจริงๆ จึงจะติดต่อธุรกิจหรือพูดคุยเล่นหัวกันได้

ประการที่สาม หัวใจของการติดต่อสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียคือ การไหลเวียนอย่างอิสระของข้อมูลข่าวสาร (autonomous and free flow of information) อิสรภาพและเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารของผู้ใช้สื่อโซเชียลมีเดียมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด 

ถ้าหากการสื่อสารผ่านสื่อประเภทนี้เต็มไปด้วยการเซ็นเซอร์ ข้อห้าม หรือกฎกติกาที่เข้มงวดเกี่ยวกับการผลิตหรือเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลในรูปแบบต่างๆ เราไม่อาจเรียกสื่อนั้นได้ว่าเป็นโซเชียลมีเดีย ผู้ใช้โซเชียลมีเดียย่อมมีอำนาจในการตัดสินใจเลือกหรือไม่เลือกสื่อที่เป็นช่องทางในการสื่อสารของตัวเอง ด้วยตัวเอง และเพื่อตัวเองเป็นสำคัญ

ประการที่สี่ ความงามของโซเชียลมีเดียอยู่ที่ความสามารถในการดึงเอาบรรดาผู้ใช้ “คอเดียวกัน” (similar social taste and lifestyle)มาพบปะสนทนาหรือแลกเปลี่ยนปฎิสัมพันธ์กันในปริมณฑลของชุมชนออนไลน์เหมือนกัน 

อันที่จริง คำว่า “คอเดียวกัน” เป็นภาษาของวงการน้ำเมา หมายถึงกลุ่มคนที่มีความคิดความอ่าน รสนิยม พื้นฐานทางครอบครัวและสังคม วิชาชีพ ความสนใจ รวมทั้งไลฟ์สไตล์คล้ายๆ กัน ชอบอะไรคล้ายๆ กัน 

ผู้ใช้โซเชียลมีเดียย่อมผลิตและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารจากพื้นฐานความสนใจเฉพาะของตนเองเป็นสำคัญ จิตวิญญาณของการถกเถียง แลกเปลี่ยนหรือแบ่งปันย่อมเริ่มต้นจากพื้นฐานทางสังคมของตนเอง แล้วแสวงหาบรรดาเพื่อนหรือญาติพี่น้องสมมติในพื้นที่ของสังคมออนไลน์ที่ชื่นชอบกิจกรรมหรือประเด็นอะไรที่เรียกได้ว่า “คอเดียวกัน”

ประการที่ห้า โซเชียลมีเดียขับเน้นความเป็นปัจเจกชนนิยม (individualism) ของผู้ใช้ให้เด่นชัดมากขึ้น การสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียแสดงให้เห็นว่า ความแตกต่างหลากหลายทางบุคลิกภาพ รสนิยม ระดับการศึกษา ฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง หรือเพศสภาพไม่ใช่ปัญหาอุปสรรค 

หากแต่เป็นต้นทุนทางสังคมที่ต้องนำมาเปิดเผย แลกเปลี่ยนหรือปฏิสัมพันธ์กับสมาชิกคนอื่นๆ ในพื้นที่ความจริงเสมือนสังคมออนไลน์ การเปิดเผยอัตลักษณ์ทางสังคมหรือข้อมูลส่วนตัวที่แตกต่างหลากหลายและเป็นปัจเจกชนนิยมกลับเป็นเรื่องธรรมดาสามัญในการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย 

ผู้ใช้โซเชียลมีเดียถือคติที่ว่า คนเรามีดีก็ต้องอวดต้องโชว์ให้คนอื่นได้รับรู้บ้าง การอวดการโชว์หรือการอัพเดทสถานะของตัวเองไม่ใช่เรื่องที่น่าอายหรือต้องแอบทำแบบเขินๆ ลับๆ ล่อๆ อีกต่อไป หากแต่ต้องทำด้วยความมั่นใจและด้วยสไตล์ที่โดดเด่นเป็นตัวของตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งนี้เพื่อเรียกร้องความสนใจหรือการตอบสนองจากบรรดามิตรแฟนเพลงร่วมเครือข่ายเดียวกัน

ประการที่หก สมาชิกผู้ใช้โซเชียลมีเดียมีบทบาท สไตล์หรือแนวการผลิตและแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลแตกต่างกัน (diverse roles, styles, and approaches) บางคนรู้หน้าที่ กฎ กติกา มารยาทเป็นอย่างดีก็เป็นผู้นำ หรือสมาชิกที่ดี ส่วนคนที่มาร้าย ดุดัน หรือก่อความโกลาหลวุ่นวาย ต่อต้านสังคมก็ทำหน้าที่เป็นตัวป่วนไป 

บางคนก็เลือกที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ชมผู้อ่าน ผู้ใช้บริการ คอยสังเกตการณ์หรือติดตามอยู่ห่างๆ โยไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นหรือปฏิสัมพันธ์โดยตรง

ประการที่เจ็ด สังคมโซเชียลมีเดียมีความเป็นอิสระและประชาธิปไตยที่ค่อนข้างเปิดกว้าง (open, democratic, users-friendly properties) ผู้ใช้หรือสมาชิกต่างก็มีความเป็นอิสระ เป็นเอกเทศ เป็นตัวของตัวเอง และตัดสินใจต่างๆ ด้วยตนเอง แต่ละสื่ออาจมีกฎ กติกา มารยาทของตนเอง มีบทลงโทษหรือบทตอบแทนสมาชิกที่ทำความดีเป็นของตัวเอง 

แต่ธรรมชาติของการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์มักจะปรากฏในลักษณะของการชื่นชม ให้กำลังใจ แซว เล่นหัวกันอย่างสนุกสนาน ทักท้วงหรือประท้วงอย่างสุภาพ ต่อว่าอย่างตรงไปตรงมา ด่าว่าประณาม ไปจนถึงแอดมินและสมาชิกส่วนใหญ่รวมหัวกันลงประชามติขับไล่ออกจากการเป็นสมาชิกของชุมชน 

แม้ว่าโซเชียลมีเดียจะเปิดกว้างและมีการควบคุมที่ค่อนข้างหละหลวม แต่ชีวิตและความเป็นไปของสังคมออนไลน์ก็สะท้อนโลกความเป็นจริงแท้ในแง่ที่ว่า มารยาทและกฎกติกาทางสังคมเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นพอสมควรในการจัดระเบียบการใช้งานของมวลสมาชิกในชุมชนออนไลน์เดียวกัน

ประการที่แปด โซเชียลมีเดียทำงานอย่างได้ผลเมื่อมวลสมาชิกมีน้ำใจเป็นนักกีฬา อารมณ์ขัน และจิตวิญญาณในการแลกเปลี่ยน เรียนรู้และแบ่งปันอย่างแท้จริง (courtesy, humor, and cheerful spirit) มารยาททางสังคมเป็นสิ่งสำคัญ แต่จิตวิญญาณของมวลสมาชิกในสังคมออนไลน์นั้นเน้นความสำคัญของน้ำจิตน้ำใจ อารมณ์ขันหรือความตื่นตัวปรารถนาดีต่อเพื่อนหรือพี่น้องร่วมชุมชนเดียวกันไม่แพ้หลักจริยธรรมของการอยู่ร่วมกันในชุมชนปกติทั่วไป

ประการที่เก้า แม้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียจะได้ประโยชน์หรือใช้งานนวัตกรรมในโลกความจริงเสมือนอย่างจริงจัง แต่ในชีวิตประจำวันพวกเรากลบใช้คำว่า “เล่น” (play) นำหน้ากิจกรรมออนไลน์เสมอเช่น เล่นเน็ต เล่นเฟสบุค เล่นเกมส์ออนไลน์ ฯลฯ 

โซเชียลมีเดียในแง่นี้จึงมีสถานภาพเหมือนกับของเล่น ซึ่งผู้ใช้สามารถใช้งานในการสื่อสารเพื่อธุรกิจการงาน แหล่งบันเทิง ช่องทางในการพูดคุยกับเพื่อนกลุ่มคอเดียวกัน ค้นหาความรู้หรือติดตามข่าวสารสถานการณ์โลก ฯลฯ ในแง่นี้โซเชียลมีเดียทำหน้าที่เป็นส่วนขยายของพื้นที่ชีวิตประจำวันเข้าไปในจินตนาการและปฎิสัมพันธ์ทางสังคมในโลกความจริงเสมือนได้อีกทางหนึ่ง

ประการสุดท้าย โซเชียลมีเดียช่วยให้คำนิยาม พื้นที่ และเครื่องหมายแสดงอัตลักษณ์ทางสังคม (definition, space, and marker of social identity) ของปัจเจกบุคคลในสังคมโลกยุคออนไลน์ ตัวตนของผู้คนในโลกที่เต็มไปด้วยการสื่อสารหรือแลกเปลี่ยนไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารที่เข้มข้นผูกพันอย่างแน่นแฟ้นกับสื่อโซเชียลมีเดียที่ตนเองเลือกใช้ 

โซเชียลมีเดียจึงทำหน้าที่เสมือนหน้าต่างบานสำคัญที่ผู้ใช้แต่ละคนใช้สำหรับเปิดส่องดูความเป็นไปของโลก หรือต้อนรับเพื่อน พี่น้อง หรือคนแปลกหน้าให้เข้ามาชมความลึกตื้นหนาบางของตัวเอง

กล่าวโดยสรุปแล้ว ตรรกะของโซเชียลมีเดีย แท้ที่จริงคือตรรกะของการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมยุคเทคโนโลยีการสื่อสารออนไลน์ ตรรกะหรือความเข้าใจเชิงเหตุผลของสังคมโลกทุกวันนี้นับว่าถูกกำหนดโดยตัวนวัตกรรมการสื่อสารไม่น้อยไปกว่ากฎ กติกา และมารยาททางสังคมวัฒนธรรมของคนเรา 

ชีวิตทางสังคของเราทุกวันนี้ต่างจากอดีตมากน้อยเพียงใด ตัวตนของเราทุกวันนี้ผูกติดกับอะไรบ้าง รูปแบบและสไตล์การใช้ชีวิตของเราทุกวันนี้ซับซ้อน เปราะบาง หรืออ่อนไหวมากน้อยเพียงใด 

เราสามารถอธิบายได้ผ่านตรรกะเล็กๆ แต่มีอิทธิพลในการปฏิวัติหรือจัดระเบียบการสื่อสารของมวลมนุษย์ครั้งสำคัญของโซเชียลมีเดียทั้ง ๑๐ ประการที่ผมนำเสนอในที่นี้ 

ตรรกะของโซเชียลมีเดียช่างสื่อสะท้อนการเปลี่ยนแปลงตรรกะของชีวิตทางสังคมของผู้คนในโลกยุคต้นศตวรรษที่ ๒๑ ได้อย่างลึกซึ้งน่าอัศจรรย์ใจยิ่งนัก

20 กุมภาพันธ์ 2555

ผู้ว่าฯ หนองบัวฯ เสนอขุดพะเนียง ชงครม.ยิ่งลักษณ์ฯ สัญจร ชาวบ้านย้ำแก้เก่าก่อนขุดใหม่

ผู้ว่าราชการ จ.หนองบัวลำภู เตรียมเสนอโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะเนียง มูลค่า 1,800 ล้าน แก่ คณะรัฐมนตรีสัญจรรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ จ.อุดรธานี 21-21 ก.พ. 55 ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ลำพะเนียงฯ ย้ำต้องแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการขุดลอกครั้งที่แล้วก่อนที่จะเสนอโครงการใหม่
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ (18 ก.พ. 55) ที่ผ่านมา นายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า ตามที่รัฐบาลกำหนดจัดประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรวันที่ 21-22 ก.พ.ที่จ.อุดรธานี นั้น จ.หนองบัวลำภู ได้เตรียมเสนอโครงการขอรับการสนับสนุนงบประมาณ  8,227 ล้านบาท  10 โครงการ หนึ่งในนั้นคือ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะเนียงเพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัยและปัญหาภัยแล้ง ในพื้นที่ จ.หนองบัวลำภู งบ 1,800 ล้านบาท  
โดย นายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการ จ.หนองบัวลำภู ยังเปิดเผยว่า ในวันที่ 21 ก.พ. นายเผดิมชัย  สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน และ นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง จะมาตรวจเยี่ยมจ.หนองบัวลำภูติดตาม 3 โครงการ วงเงินงบประมาณ 4,463ล้านบาท  จากทั้งหมด 10 โครงการ  โดยเฉพาะโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะเนียงเพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัยและปัญหาภัยแล้ง ในพื้นที่บ้านหัวนา อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู  ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะมีการขุดลอกเริ่มต้นตามโครงการที่จะเสนอไป

โครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะเนียงเพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัยและปัญหาภัยแล้ง เป็นโครงการในลักษณะของการขุดลอกและขยายลำน้ำลำพะเนียง ซึ่งเป็นลำน้ำสายหลักที่เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์ใน จ.หนองบัวลำภู มีความยาวจากต้นน้ำที่ อ.นาด้วง จ.เลย สิ้นสุดยัง เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เป็นระยะทางรวม 150 กิโลเมตร
ที่ผ่านมาลำน้ำลำพะเนียง เคยมีโครงการขุดลอกในลักษณะนี้มาแล้ว เมื่อปี พ.ศ. 2547 โดยดำเนินการขุดลอกขยายลำน้ำออกกว่า 70 เมตร จากเดิมที่มีความกว้าง เพียง 10 เมตร และนำดินจากการขุดลอกมาถมเป็นคันถนนเลียบลำน้ำทั้งสองข้าง ผลกระทบจากการขุดลอกขยายในครั้งนั้น ทำให้พื้นที่นาข้างลำน้ำสูญเสียไปกับน้ำ ตลิ่งและดินทรุดพังลงจากความแรงของกระแสน้ำที่เพิ่มมากขึ้น ชาวบ้านไม่สามารถนำน้ำมาใช้ในการเกษตรได้อย่างเดิม เนื่องจากมีคันดินขวางทางน้ำที่สูงจากเดิมมาก นำมาสู่ปัญหาน้ำท่วมขังมากขึ้นเนื่องจากไม่มีทางไหลของน้ำลงลำพะเนียง พืชพันธุ์ธัญญาหารแหล่งอาหาร และพันธ์ปลากว่า 100 ชนิดทยอยสูญหายและลดลงจากการขุดขยาย
จากการดำเนินการขุดลอกขยายลำน้ำลำพะเนียงที่ผ่านมา กรมชลประทานและส่วนจังหวัดที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องดูแลรับผิดชอบในขณะนั้น ไม่มีการเวนคืนหรือชดเชยที่ดินที่สูญเสียไป อีกทั้งกระบวนการในการดำเนินโครงการไม่มีการประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินโครงการ จนนำมาซึ่งการฟ้องร้องต่อศาลปกครองของชาวบ้านเพื่อเรียกร้องค่าชดเชยจากผลกระทบที่เกิดขึ้น ทำให้โครงการหยุดชะงัโดยขุดลอกขยายได้เพียง 30 กิโลเมตร โดยชาวบ้านฟ้องร้องกว่า 140 คดี จนสามารถชนะคดีความและกลายเป็นคดีตัวอย่าง ที่กรมชลประทานต้องทยอยจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้ได้รับผลกระทบ
ในส่วนของโครงการขุดลอกลำพะเนียง ที่ผู้ว่าฯ จ.หนองบัวลำภู จะเสนอต่อ ครม.สัญจรที่ จ.อุดรธานีในครั้ง จึงมีกลุ่มชาวบ้านใน จ.หนองบัวลำภู ที่ได้รับผลกระทบจากครั้งที่แล้ว มีความกังวลว่าจะเกิดปัญหาดังที่ผ่านมากับชาวบ้านในพื้นที่ และอาจจะไม่ใช่โครงการพัฒนาลุ่มน้ำในระดับจังหวัดธรรมดา ซึ่งคาดว่าจะมีความเกี่ยวเนื่องกับโครงผันน้ำ โขงเลยชีมูล ซึ่งเป็นโครงการระดับชาติ ที่อาจจะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง จึงมีความกังวลต่อการเสนอโครงการในครั้งที่ โดยที่ยังไม่ประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่ก่อน
ด้านนายวิเชียร ศรีจันนนท์ ประธานกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำลำพะเนียง จ.หนองบัวลำภู กล่าวว่า ชาวบ้านและทางกลุ่มฯต้องการให้ทางจังหวัดและผู้ว่าฯ มาชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวบ้านในตัวโครงการที่จะเสนอก่อน เพื่อที่จะได้รับรู้ถึงการพัฒนาในลำพะเนียงอย่างแท้จริง ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดปัญหาขึ้นเหมือนการขุดลอกครั้งที่แล้ว อีกทั้งปัญหาผลกระทบจากการขุดลอกครั้งที่แล้วยังไม่มีการแก้ไข จึงไม่สมควรที่จะนำโครงการใหม่มาอีก นายวิเชียรกล่าว.
_________________________________________________________________________
นายณัฐวุฒิ กรมภักดี boy_alone17@hotmail.com    
ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ศสธ.)
ตู้ ปณ.14 ต.ในเมือง อ.เมืองอุดรธานี 41000