ขอเชิญทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเราในการสร้า้งสังคมแห่งการเรียนรู้...

หากต้องการลงบทความ/งานเขียนของท่าน สามารถแจ้งความประสงค์ได้ทางเว็บบอร์ด หรือทางอีเมล์แอดเดรส; po_kenchin@hotmail.com
หรือจะสมัครสมาชิกอย่างเดียวก็ได้นะครับ

31 มกราคม 2554

โลกาภิวัตน์ ขบวนการคนหนุ่มสาว และ 20 ปี ของ ชนพ.


            ฟรานซิส   ฟูกูยามา  ได้เขียนไว้ ในหนังสือ “The End of History and the Last Man” ของเขาว่าโลกยุคปัจจุบันมาถึงช่วงของการสิ้นสุดประวัติศาสตร์แล้ว โลกซึ่งเจริญก้าวหน้ามาจากยุคดึกดำบรรพ์ สังคมชนเผ่า  มาถึงยุคเกษตรกรรม เรื่อยขึ้นมาผ่าน ระบอบราชาธิปไตย ขุนนาง จนมาถึงการปกครองในระบอบเสรีประชาธิปไตย และลัทธิทุนนิยม ที่ได้รับการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ดังที่เราเป็นอยู่ในทุกวันนี้     การประกาศของฟูกูยาม่า ซึ่งเป็นการประกาศชัยชนะของโลกทุนนิยมเสรีประชาธิปไตยที่มีต่อโลกสังคมนิยมคอมมิวนิสต์  ว่าบัดนี้โลกจะมีอุดมการณ์เดียวคือระบอบ"เสรีประชาธิปไตย เราจะมีประชาธิปไตยที่มั่นคง" กับ "ความเจริญรุ่งเรืองในการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในระดับสูงสุด     ซึ่งถือว่าเป็นการสิ้นสุด วิวัฒนาการ เพราะเรา ได้บรรลุถึงอารยะธรรมสูงสุด  จะไม่มีความขัดแย้งทางอุดมการณ์และสงครามอีกต่อไป   แต่ทั้งนี้การแสดงความอหังการของฝ่ายเสรีทุนนิยมอาจจะผิดก็ได้  เพราะหลังเหตุการณ์ 9/11  โลกก็ได้เผชิญกับสงคราม ในอัฟกานิสถานและอีรัก   ดังที่ แซมมวล  ฮันติงตั้น  นักวิชาการฝ่ายขวาอีกคน ได้กล่าวไว้ในหนังสือ Clash of civilization ว่าเป็นการปะทะกันของอารยะธรรมโลกเสรีประชาธิปไตยแบบตะวันตกกับอารยะธรรมอิสลาม   นอกจากนี้การเกิดขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์และการคัดค้านสงครามที่นำโดยสหรัฐอเมริกานับวันยิ่งขยายตัวมากขึ้นทุกที แสดงถึงว่าจุดสิ้นสุดของประวัติศาสตร์จึงเป็นสิ่งไม่จริง เพราะโลกหาได้มีความอุดมสมบูรณ์พร้อมตามที่ฝ่ายคลั่งทุนนิยมกล่าวถึง
            โลกปัจจุบันถือว่ามาสู่ยุคสิ้นสุดอุดมการณ์ เพราะอุดมการณ์ในฐานะชุดความคิดหนึ่งไม่ว่าจะเป็นสังคมนิยม คอมมิวนิสต์  หรืออื่นๆ ดูจะล่มสลายไปหมด  โลกทุกวันนี้จึงไม่มีชุดความคิดที่จะนำพาการเปลี่ยนแปลงโลกไปสู่จินตภาพโลกที่ดีกว่าเดิม  ความเป็นทุนนิยมเสรีประชาธิปไตย ดูจะเป็นหนทางที่ดีที่สุด    แต่ความสิ้นสุดของอุดมการณ์อาจจะมองได้อีกแง่มุมหนึ่งว่า แท้จริงแล้วอุดมการณ์ที่ผ่านมาเป็นสิ่งถูกต้องอย่างนั้นหรือ  อุดมการณ์แบบคอมมิวนิสต์ที่ก่อให้เกิดรัฐเผด็จการโดยพรรคในจีนและรัสเซีย  อุมดมการณ์แบบฮิตเลอร์   อุดมการณ์แบบเขมรแดง   อุดมการณ์ชาตินิยมที่ก่อให้เกิดสงครามล้างเผ่าพันธุ์ ฯลฯ  ทำให้อุดมการณ์ถูกตั้งคำถามว่าเป็นสิ่งเดียวที่แสดงออกถึงการมีจริยธรรมของมนุษย์ใช่หรือไม่  แต่การสิ้นสุดของอุดมการณ์และการสถาปนาทุนนิยมเสรี ว่าเป็นหนทางเดียวที่จะสร้างความสุขแก่มวลมนุษย์ก็ดูจะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง  เพราะสิ่งที่ตามมาไม่ว่าจะเป็นการกดขี่ขูดรีดแรงงานยังมีอยู่  การขูดรีดสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ  การเอารัดเอาเปรียบ การละเมิดสิทธิมนุษยชน การทำสงครามเพื่อผลประโยชน์ของอำนาจทุน  ก็อาจจะทำให้อุดมการณ์ต่างๆที่เคยสูญสลายไป ถูกรื้อฟื้นขึ้นมา  อุดมการณ์ในฐานะเครื่องมือชี้นำทางความคิดเพื่อไปสู่สังคมที่ดีกว่า   และขบวนการคนหนุ่มสาวที่ครั้งหนึ่งเคยมีบทบาททั่วโลกในยุค 60-70 และลดบทบาทลงไปปัจจุบันก็เริ่มมีการฟื้นฟูบทบาทมากขึ้น   แต่ปัจจุบันของขบวนการหนุ่มสาวไทยจะดำเนินไปสู่หนใด
                คำถามถึงขบวนการคนหนุ่มสาวของประเทศไทย นำพาให้นึกถึงเหตุการณ์ขณะนั่งฟัง อดีตผู้นำนักศึกษาของอินโดนีเซีย เล่าถึง  ปัญหาการพัฒนาของประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งปัญหาหลายอย่างใกล้เคียงกับไทย  ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการพัฒนาที่เน้นความทันสมัย ที่ทำให้เกิดปัญหาการกระจายรายได้ระหว่างคนจนกับคนรวย ปัญหาโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ      ผมได้ถามเขาถึงกิจกรรมนักศึกษาในอินโดนีเซีย  เนื่องเพราะเขาเคยเป็นแกนนำนักศึกษาในการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลของนายพลซูฮาร์โต  เขาเล่าว่าในช่วงที่ระบบซูฮาร์โตเรืองอำนาจ  เป็นระบบเผด็จการทหาร ที่ห้ามไม่ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล  ห้ามพูดถึงปัญหาสังคมต่างๆ  บรรยากาศในมหาวิทยาลัยค่อนข้างเงียบ เพราะถูกควบคุม  อาจารย์มีหน้าที่สอนหนังสืออย่างเดียว   หรือไม่ก็ทำวิจัยหาเงินและเป็นที่ปรึกษาให้กับกลุ่มธุรกิจเอกชนมากกว่าการสอนนักศึกษา   ซูฮาร์โตใช้แนวทางพัฒนาแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมเพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแก่ประเทศมานับ 30 ปี   แต่ปัญหาที่ตามมาคือการเน้นการพัฒนาภาคเมือง ทำให้เมืองขยายตัวมากขึ้น  เกิดปัญหาชุมชนแออัดและคนจนเมือง ในชนบทก็พบปัญหาความยากจน และปัญหาการขาดแคลนที่ดิน   แม้ว่า GDP ของประเทศจะพุ่งสูงขึ้น แต่คนที่ได้ประโยชน์ก็มีแต่กลุ่มเครือญาติและพวกพ้องของซูฮาร์โต ซึ่งเป็นผู้กุมอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง   ปัญหาต่างๆก็สั่งสมมากขึ้น ทั้งปัญหาความยากจน  ปัญหาการคอรัปชั่น ปัญหาการขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติ  และเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศเมื่อปี 2540  จึงทำให้เศรษฐกิจของประเทศล้มครืน อินโดนีเซียต้องขอกู้เงินจาก IMF เช่นเดียวกับประเทศไทย  ซึ่งยิ่งส่งผลกระทบต่อคนยากจนมากขึ้น  จึงทำให้ประชาชนไม่พอใจรัฐบาลมากขึ้น จนนำไปสู่การประท้วงใหญ่เพื่อให้ซูฮาร์โตลงจากอำนาจ  ทั้งนี้ในส่วนนักศึกษาแรกๆยังถูกควบคุม  จึงทำการเคลื่อนไหวประท้วงแต่ในมหาวิทยาลัยเท่านั้น  และยังไปช่วยชาวบ้านต่อสู้เรื่องปัญหาที่ดินทำกินอันเนื่องมากจาก ถูกแย่งที่ดินไปสร้างสนามกอล์ฟ  สร้างเขื่อน หรือไร่เกษตรขนาดใหญ่  จากนั้นจึงได้เคลื่อนไหวใหญ่ให้เกิดการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจ พร้อมกับการเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมให้แก่เกษตรกรและกรรมกร  เพราะระบบอำนาจนิยมแบบซูฮาร์โตไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน  การประท้วงได้ขยายลุกลามไปทั่วประเทศจนทำให้ซูฮาร์โตต้องลาออกจากประธานาธิบดี 
                ทั้งนี้หลังจากสิ้นสุดรัฐบาลซูฮาร์โต  ประเทศมีเสรีภาพมากขึ้น เขาเล่าว่า อุดมการณ์และแนวคิดสังคมนิยม หนังสือของพวกฝ่ายซ้ายในอดีต ที่เคยเป็นสิ่งต้องห้าม แพร่หลายมากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่ นักศึกษา คนหนุ่มสาว  ทำให้เกิดความตื่นตัวทางการเมืองและการสนใจปัญหาสังคมของประเทศมากขึ้น   เมื่อพูดมาถึงตรงนี้  เขาได้ถามถึงนักศึกษาไทยปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร  โดยเขารับรู้มาว่าไทยเคยมีขบวนการนักศึกษาที่เข้มแข็งมาก่อน  ซึ่งผมก็ได้แต่บอกไปว่า นักศึกษาไทยปัจจุบันไม่ได้มีบทบาทต่อสังคมมากนัก  เขาถามว่าทำไม ผมเองก็ตอบยาก  แต่สรุปไปว่าสังคมไทยปัจจุบันมีเสรีภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ  แม้ว่าจะประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 40  แต่ประเทศก็ฝ่าข้ามมาได้ในเวลาไม่กี่ปี  ด้วยเหตุนี้ นักศึกษาซึ่งส่วนใหญ่ซึ่งเป็นชนชั้นกลางที่มีฐานะสุขสบาย และใช้ชีวิตแบบบริโภคนิยม จึงไม่ค่อยสนใจปัญหาสังคม มีความเป็นปัจเจกมากขึ้น   แต่เขาไม่เห็นด้วย  โดยมองว่าที่ประเทศของเขาก็มีลักษณะแบบเดียวกัน  แต่นักศึกษาก็ยังพอมีบทบาททางสังคมอยู่บ้าง การบอกว่าเพราะการพัฒนาทุนนิยมและบริโภคนิยมทำให้จิตสำนึกทางสังคมและการเมืองของนักศึกษาลดลงนั้นไม่น่าจะเพียงพอ  
                แน่นอนว่านี่คือปัญหาสำคัญในการถามถึงบทบาทนักศึกษาไทยปัจจุบัน เพราะแม้ว่ามีเสรีภาพ  มีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น แต่ก็ใช่ว่าปัญหาสังคมต่างๆจะหมดไป   ผมได้อธิบายไปว่านักศึกษาไทยปัจจุบันเกิดและเติบโตในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังขยายตัวคือในช่วงปลายทศวรรษ 80  เป็นวัยรุ่นในช่วงปลาย 90 เข้าเรียนมหาลัยหลังปี 2000   ช่วงนี้เป็นช่วงที่เศรษฐกิจฟองสบู่ขยายตัวเต็มที่ ก่อนจะระเบิดในช่วงหนึ่ง  และเศรษฐกิจก็ฟื้นตัวขึ้นมาอีก  ดังนั้นวิธีคิดแบบบริโภคนิยมและการมีชีวิตที่ดีในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดจึงเป็นวิธีคิดหลักของลูกหลานชนชั้นกลาง   เด็กวัยรุ่นเหล่านี้เติบโตมากับห้างสรรพสินค้า  แฟชั่น  ดนตรีป๊อบ  โทรศัพท์มือถือ   ส่วนมหาวิทยาลัยก็ เป็นที่สำหรับลูกคนชั้นกลางที่มีสติปัญญาสูงและอาศัยความได้เปรียบทางเศรษฐกิจ พาตัวเองเข้ามาเรียนได้มากกว่าลูกหลานคนจนหรือเกษตรกร     ซึ่งคนเหล่านี้ไม่ได้มีรากทางวัฒนธรรม ขาดวินัย  ไร้แรงบันดาลใจในชีวิต     ไม่รู้สึกผูกพันกับใครนอกจากตัวเอง  มีแต่ตัวตนลอยๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับสังคมรอบข้าง  เข้ามาเรียนเพื่อปริญญา อันเป็นเครื่องมือในการดำรงอยู่ทางชนชั้นของตน  เรียนให้ได้คะแนนสูงๆ เพื่อจบออกไปทำงาน และต้องการประสบความสำเร็จในชีวิต    ส่วนการแสวงหาความรู้และใช้ความรู้อำนวยประโยชน์ต่อสังคม เป็นเรื่องรอง    นักศึกษาไทยปัจจุบันจึงทำกิจกรรมที่เน้นความสนุกสนาน จัดงานปาร์ตี้ กระโดดโลดเต้น ยักย้ายส่ายเอวยักไหล่ และขึ้นเวทีประกวดนางงาม นางแบบ มากกว่ากิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสังคมและการเมือง  เพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวนอกจากนี้โลกาภิวัตน์ที่ครอบลงมาทำให้ ด้านหนึ่งนักศึกษามีเสรีภาพส่วนตัวที่จะทำอะไรก็ได้โดยที่ไม่มีคนอื่นเกี่ยวข้อง และการแสดงออกถึงอัตลักษณ์ของปัจเจกบุคลที่ไม่จำเป็นต้องขึ้นกับกฎเกณฑ์ใดๆ  การหล่อหลอมของจิตสำนึกจึงแยกตัวออกจากส่วนรวม  แยกตัวจากรากฐานวัฒนธรรมเดิม  เหลือแต่เรือนร่าง ตัวตนทางกาย ที่ปรุงแต่ง อันเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริโภคกับตลาดและการทำให้เป็นสินค้าของระบบทุนนิยม  นักศึกษายุคใหม่จึงมีตัวตนที่เหมือนๆ กัน แต่งกายเหมือนกัน กินอยู่คล้ายกัน บริโภคคล้ายกัน มีตรรกะและระบบคิดเหมือนกัน เงียบเหงาและเปราะบางทางอารมณ์   แต่ทั้งนี้ผมก็ได้บอกว่าไม่ใช่นักศึกษาไทยจะถูกครอบทั้งหมด นักศึกษาหลายคนมีความคิดที่แหวกออกมาจากกรอบ  มีความเห็นออกเห็นใจผู้อื่น   นักศึกษาหลายคนพยายามแสวงหาการเรียนรู้และใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าต่อสังคม หลายคนออกมาทำกิจกรรมทางสังคมและร่วม เคลื่อนไหวกับชาวบ้านที่ประสบปัญหา   แต่ภายใต้กระแสวัฒนธรรมบริโภคที่เชี่ยวกราก จิตสำนึกทวนกระแสจึงเป็นสิ่งที่งอกเงยได้ยาก  และทั้งหมดนี้จึงทำให้นักศึกษาไทยมีบทบาททางสังคมลดลง
                หลังจากวันนั้นผมมานั่งคิดดูอีกที    การวิเคราะห์โครงสร้างที่ครอบลงมาทำให้นักศึกษามีจิตสำนึกทางสังคมลดลง นั้นเป็นจริงหรือไม่  หรือเรากำลังมองข้ามอะไรไปบางอย่าง   Naomi   Clien  ผู้เขียนหนังสือ  Nologo  ในฐานะที่เป็นคัมภีร์ของผู้ต่อต้านโลกาภิวัตน์  ได้กล่าวถึงบทบาทของคนหนุ่มสาวทั่วโลกที่ประท้วงการประชุม WTO  ที่ซีแอตเติ้ล  สหรัฐอเมริกาว่า   คนหนุ่มสาวเหล่านี้ เป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับขบวนการฝ่ายซ้ายในยุค 60 – 70 แต่เป็นกลุ่มคนที่เห็นความไม่เป็นธรรมที่รัฐและกลุ่มทุนข้ามชาติสร้างไว้ในนามของกลไกตลาดเสรี จึงออกมาประท้วงต่อต้านโลกาภิวัตน์     การประท้วงที่ซีแอตเติ้ลไม่ได้ใช้วิธีการประท้วงแบบชูมือเรียกร้อง หรือเสนอคำขวัญประเภทโค่นล้ม แต่เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่ (New Social  Movement ) ที่ก้าวพ้นไปจากความเป็นชนชั้น มีวิธีการประท้วงที่หลากหลาย   เช่น การแสดงละคร  การแต่งแฟนซี การใช้ศิลปะ การใช้สื่ออินเตอร์เน็ต มาเป็นแนวทางในการแสดงออก   ซึ่งเป็นการแสดงศักยภาพของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่ไม่ได้ผูกติดกับขบวนเคลื่อนไหวในยุคอดีตจนมองข้ามศักยภาพของคนรุ่นตน และหลังจากนั้นการเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์โดยคนหนุ่มสาวก็ขยายไปทั่วโลก   มันจึงทำให้ผมคิดได้ว่าแท้จริงจิตสำนึกที่ดีงามเป็นสิ่งที่มีอยู่ในจิตใจของคนหนุ่มสาวอยู่แล้ว   เพียงแต่เราจะกระตุ้นและปลุกเร้ายังไง   การสิ้นสุดของอุดมการณ์เป็นการสิ้นสุดของระบบความคิดที่คับแคบ หยาบกระด้างของระบบคิดหนึ่งเท่านั้น  แท้จริงเรายังมีระบบคิดที่ก้าวลึกไปถึงจิตวิญญาณ ศีลธรรมและจริยธรรมอีกมากมายในการสร้างสรรค์โลก             เฉกเช่น ในเวทีสมัชชาสังคมโลก( World Social Forum)  ที่อินเดียในหลายปีที่ผ่านมา ได้มีการเสนอคำขวัญที่ว่า โลกใบใหม่ที่เป็นไปได้”(  อันจะเป็นการตั้งคำถามต่อระบบทุนนิยมเสรีว่าเป็นคำตอบสุดท้ายเท่านั้นฤา  หรือว่าเรามีทางเลือกอื่นๆมากกว่าระบบทุนนิยมในการสร้างสังคมที่ดีงาม)
                แม้ว่าอุดมการณ์ในยุคปัจจุบัน ดูจะเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย ไร้ค่า และหนักสมอง ของคนรุ่นใหม่   แต่  ชนพ.  ในฐานะที่เป็นกลุ่มกิจกรรมของนักศึกษาคนหนุ่มสาว ซึ่งได้ดำเนินกิจกรรมมาจนครบ 20 ขวบปี   ทำกิจกรรมทั้งลงไปเคลื่อนไหวกับชาวบ้าน ทั้งออกค่ายอาสา และกิจกรรมอื่นๆอีกหลายรูปแบบ อันเป็นการนำพาเราไปสัมผัสกับคนยากคนจน คนด้อยโอกาส เพื่อเรียนรู้และเข้าใจชีวิตมนุษย์บนหนทางแห่งการสร้างสรรค์ตนเองต่อสังคมถือได้ว่า เรามีต้นทุนทางสังคมที่ดี เรามีศักยภาพที่อัดแน่นและเปี่ยมล้นอยู่ภายใน ที่จะทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม  เรามีสำนึกที่สืบทอดมาแต่ยุคอดีตหลอมรวมกับศักยภาพแห่งปัจจุบันเพื่อมุ่งมั่นสู่อนาคต ของการเป็นกลุ่มกิจกรรมที่สร้างสรรค์สังคม   แต่ ชนพ.จะหลอมรวมความคิดและการปฏิบัติในการสร้างสรรบทบาททางสังคมของตนเองก้าวไปพร้อมกับขบวนการคนหนุ่มสาวของโลกยุคใหม่อย่างไรนั้น   หนุ่มสาวผู้นำพา  ชนพ. ก้าวสู่ทศวรรษที่สาม จะเป็นผู้ไขคำตอบเอง

ใบตองกุง..................

ชุมนุมนักศึกษาเพื่อการพัฒนา  ( 2537 – 2540 )

สักวา ชนพ.











                                               สักวา ชนพ. ใครก่อตั้ง
จึงอยู่ยั้งยืนยงคงศักดิ์ศรี
อาจรุ่น 1”2”3” พาทำดี
หรือรุ่น 4”5”6” ขึ้นปกครอง
อาจเพราะท่านที่ปรึกษาสายตากว้าง
เป็นดั่งเทียนเพียรสร้างนำทางส่อง
ชี้ถูกผิดแก้ไขให้ครรลอง
เราทั้งผองจึงหล่อหลอมพร้อมวิญญู
รุ่น 7”8”9”10” ร่วมสานต่อ
รุ่น 11” ขยายหน่อการต่อสู้
รุ่น 12”13”14” ศิษย์มีครู
รุ่น 15”16” รู้เรายอดคน
รุ่น “17”18” ล้วนเก่งกล้า
รุ่น 19” ฟันฝ่าพาฝึกฝน
รุ่น 20”21” นำมวลชน
ไม้ใกล้ต้นรุ่น 22” น้องก้าวมา
รุ่น 23” ปัจจุบันฝันยังใหม่
แต่หัวใจเชื่อนักน้องสูงค่า
เป็นผู้น้อยค่อยเรียนรู้ผู้นำพา
มั่นใจว่าเธอยิ่งใหญ่ไม่นานวัน
อาจบางทีวิถีพาให้แกร่ง
มรรคาการปันแบ่งหล่อแรงฝัน
เช่นชะตาลิขิตเราให้ผูกพัน
จึงเชื่อมั่นแต่อ่อนหวานในท่าที
จะอะไรนำพามาก็ช่าง
ก่อนหัวใจเคยรกร้างห่างราศี
ชนพ. สอนสั่งทางวิธี
ฉันจึงมีเกียรติยศประดับตน
สักวายืนยันว่าฉันรัก
ชนพ. แน่นหนักสักหมื่นหน
บ้านที่สอนวิชาค่าแห่งคน
ในฐานะดอกผล ชนพ.


ดอกผล ชนพ.
วสุ ห้าวหาญ
ธันวาคม 2549

อัตลักษณ์ อัปลักษณ์ ช.น.พ.ที่ ข้าพเจ้ารู้จัก

โดย ชอลิ้วเฮียง

หลายคนอาจเคยตั้งคำถาม ว่า ชนพ.คืออะไร? อะไรคือ ชนพ.? ชนพ.คือใคร? ใครคือ ชนพ.? ตัวตนของ ชนพ.คืออะไร? และอีกหลาย ๆ คำถามเกี่ยวกับ ชนพ. ข้าพเจ้าคิดว่าหลายคนได้รู้จัก ชนพ.ในมุมมองที่ต่างกัน แม้จะเคยร่วมทุกข์ร่วมสุขในสถานการณ์เดียวกันก็ตาม เพราะการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ ชนพ.นั้น ทุกคนย่อมมีเหตุผลเป็นของตัวเอง คงไม่มีใครเข้ามาเพราะเหตุผลของคนอื่นหรอกกระมัง 
หลายคนเข้ามาที่นี่เพราะฝันที่จะเป็นนักกิจกรรม ทำงานเพื่อผู้อื่น เพื่อสังคม ทั้งที่อยู่บ้านเขาไม่เคยช่วยพ่อแม่ทำงานเลย
หลายคนเข้ามาที่นี่เพราะมีเพื่อนมีพี่มีน้อง ทั้งที่การกระทำบางอย่างของเขาช่างไม่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีเอาเสียเลย
หลายคนเข้ามาที่นี่เพราะต้องการหาแฟนซักคน เขาคงคิดว่าที่นี่จะมีนางในฝันของเขากระมัง สถานบันเทิงยามราตรีน่าจะเหมาะกับพวกเขามากกว่า
หลายคนเข้ามาที่นี่เพราะชอบบรรยากาศในการร่ำสุรา และเขาคิดว่าการร่ำสุราช่วยผลิตความคิดดีดี ช่วยให้กิจกรรมของเขาขับเคลื่อนไปได้ ทั้งที่ในความเป็นจริงคนมีสติดีจะไม่ค่อยเชื่อความคิดของคนเมาสักเท่าไร
หลายคนเข้ามาที่นี่เพราะคิดว่าที่นี่จะให้อะไรบางอย่างแก่เขา ทั้งที่เขายังไม่รู้เลยว่าตัวเองต้องการอะไร 
หลายคนเข้ามาที่นี่ เพราะถูกทำให้เชื่อว่า ต้องเข้ามาอยู่ที่นี่โดยสายเลือด ทั้งที่มีทางเลือกอีกเยอะแยะตามความสนใจของเขา ถ้าเขาไม่เชื่อคนง่าย เขาอาจจะสง่าผ่าเผยมากกว่านี้
หลายคนเข้ามาอยู่ที่นี่ เพราะตามเพื่อน เขาคงจะทำอย่างนี้จนเป็นนิสัย ตั้งแต่ก่อนก้าวเข้ามามหาวิทยาลัย ช่างน่าขำที่เขาไม่มีความคิดเป็นตัวของตัวเองเอาเสียเลย  
หลายคนเข้ามาอยู่ที่นี่ เพราะสวรรค์บันดาล ช่างน่าหัวเราะถ้าเขาคิดได้เช่นนี้ เพราะชีวิตนี้เขาคงไม่ต้องคิดทำอะไรด้วยตัวเขาเอง เพราะเขาเชื่อว่าสวรรค์จะบันดาลให้เขาทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้
หลายคนมีซุ้ม ชนพ.ไว้เสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นสาระทางสังคม การเมือง แต่หลายคนมีซุ้มไว้นินทาเพื่อน พี่ น้อง รวมถึงเรื่องไร้สาระอื่น ๆ ที่ชอบอ้างกันว่าเพื่อคลายเครียด ทั้งที่จริงในสมองของเขาไร้สาระจนเกินที่จะมีที่ว่างพอสำหรับความมีสาระ
หลายคนมีหน้าที่ ดูแลรักษา ซุ้มชนพ.ให้มีความสะอาดเรียบร้อย หลายคนกลับมีหน้าที่เป็นผู้ทำลายความสะอาดเรียบร้อยนั้นเสีย และดูเหมือนว่าช่างขยันและมีความสุขที่ได้ทำเช่นนั้น
หลายคนเข้ามากิน นอนและเล่น ฮัมเพลงไปวันวัน ทั้งที่เขาอาจจะมีความคิดที่ดีมากมาย แต่เวลา 24 ชั่วโมงอาจจะน้อยเกินไปสำหรับเขา ไม่เหลือพอสำหรับการคิดเรื่องอื่น นอกจากการกิน นอน และเล่น ฮัมเพลงไปวันวัน หนังสือดีดีมีมากมาย เขาคงไม่มีเวลาที่จะอ่านมันหรอกกระมัง
หลายคนเป็นนักกิจกรรมตัวยง ผลิตโครงการ กิจกรรมที่สร้างสรรค์ ให้ ชนพ.เคลื่อนไหวและมีชีวิตชีวาอยู่เสมอ หลายคนกลับทำตัวเป็นนักวิจารณ์ ที่พร้อมจะวิจารณ์ทุกเรื่องถ้ามีโอกาส แต่จะดีไม่น้อย ถ้าเขาลงมือปฏิบัติบ้าง อย่างที่นักกิจกรรมพึงกระทำกัน   
            หลายคนร่ำสุราเพื่อสร้างบรรยากาศในการสนทนาอย่างออกรสชาติ และพูดถึงสังคมอุดมธรรม แต่อีกหลายคนร่ำสุราเพียงเพื่อจะได้แหกปากร้องเพลงและเมามายในคราบนักศึกษา
หลายคนมีทุนพอที่จะร่ำสุราให้เมาแทบคลานกลับรูได้ แต่เขาไม่มีเงินพอที่จะระดมทุนทำกิจกรรมเล็กเล็กแต่สร้างสรรค์อย่างที่มนุษย์เขาทำกันได้ ที่สำคัญเขาชอบอ้างว่า ไม่มีงบประมาณ
            หลายคนสามารถที่จะอยู่และอดทนต่อสิ่งเร้าที่เกิดขึ้นได้ ตลอดรายทางของการแสวงหาความหมายใน ชนพ. แต่มีอีกหลายคนที่ไม่สามารถที่จะอยู่และอดทนต่อสิ่งเร้าที่เกิดขึ้นได้ คำว่า แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง จะมีความหมายอะไรเล่า ถ้าหากเดินออกไปเพียงเพราะว่า ฉันคิดไม่เหมือนเธอ
            หลายคนมีความตื่นตัว และเรียนรู้ที่จะสรรค์สร้างกิจกรรมใหม่อยู่เสมอ แต่อีกหลายคนยังเฉื่อยชาไม่กล้าที่จะก้าวออกมานอกกรอบเหล่านั้น เพียงเพราะคิดว่าของเดิมก็ดีอยู่แล้ว หลายคนกลัวตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้น สักแต่ว่าทำกิจกรรมเดิมให้พ้นวาระไปเท่านั้น
            ที่กล่าวมาเป็นเพียงแง่มุมหนึ่งเท่านั้น เพราะว่า ชนพ.สานรูปก่อร่างขึ้นมาสู่ ปีที่ 22 แล้วจากความรู้สึกนึกคิด การนิยาม/สร้างความหมาย การตระหนักในคุณค่าของใครหลายคน ซึ่งมีความหลากหลายมาทุกยุคทุกสมัย บางคนอาจจะบู๊ล้างผลาญ บางคนอาจจะหวานโรแมนติก บางคนอาจจะอารมณ์ศิลปิน บางคนอาจจะเมาเช้าสายบ่ายเย็น บางคนอาจจะเป็นนักคิด บางคนอาจจะติดดิน บางคนอาจจะไฮโซ แต่จากความหลากหลายนี้เอง ที่ได้สร้างความเป็นตัวตนของ ชนพ.ขึ้นมา แม้หลายคนจะวาดภาพหน้าตา ของ ชนพ.แตกต่างกันตามแต่ละยุคสมัย มีทั้ง      อัตลักษณ์ และอัปลักษณ์ แต่สิ่งหนึ่งที่เรามีเหมือนกัน คือ มีความรัก ความผูกพัน ต่อ ชนพ. แม้จะวาดหน้าตาไม่เหมือนกันสักเท่าไรนัก แต่ข้าพเจ้าเชื่อว่า เรากำลังวาดภาพคนเดียวกัน

จะสอยดาวเดือนที่เกลื่อนฟ้า    มาทำอาหารให้คนไร้สิ้น
ฟันนภาที่เห็นออกเป็นชิ้น                      เอามาสินเย็บเป็นเสื้อเผื่อคนจน[1]


[1] ความฝันที่ชนบท ของวิทยากร เชียงกูล

ติช นัท ฮันห์ (Thich Nhat Hanh)


สันติภาพดำรงอยู่ทุกย่างก้าว
ดวงตะวันแดงจ้าคือหัวใจของฉัน
ดอกไม้แต่ละดอกยิ้มให้ฉัน
เติบโต เขียวสดชื่นเสียนี่กระไร
ช่างเย็นชื่นยามลมพัด
สันติภาพดำรงอยู่ทุกย่างก้าว
หนทางแห่งความเบิกบานไม่มีที่จะสิ้นสุด
         
           บทภาวนาได้สรุปเอาแก่นแท้แห่งสาระของท่านติช นัท ฮันห์ - สันติภาพไม่ใช่สิ่งภายนอกหรือสิ่งที่จะเสาะแสวงหาให้บรรลุได้ การอยู่อย่างมีสติ และเพลิดเพลินกับแต่ละย่างก้าวและลมหายใจเข้าออกเป็นการเพียงพอแล้ว สันติภาพดำรงอยู่ในแต่ละย่างก้าวเดิน และหากเราเดินในวิถีเช่นนี้ ดอกไม้จะบานภายใต้ฝ่าเท้าทุกๆ ก้าวเดิน ในความเป็นจริงดอกไม้จะยิ้มให้เรา และอวยพรเราบนหนทาง
          ท่านติช นัท ฮันห์ถือกำเหนิดขึ้นในภาคกลางของเวียดนามเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๙ และได้บวชเป็นพระภิกษุในพระบวรศาสนาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๕ เมื่ออายุย่างเข้าสิบหก เพียงแปดปีต่อมาท่านได้เป็นผู้ก่อตั้งสำนักอังกวง (An Guang Bhuddhist Insitute) ซึ่งได้กลายมาเป็นศูนย์พุทธศาสนาชั้นแนวหน้าของเวียดนามใต้
          ในปี ๒๕๐๕ ท่านติช นัท ฮันห์ ได้เดินทางมายังสหรัฐอเมริกาเพื่อศึกษาและสอนศาสนาเปรียบเทียบ ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียและมหาวิทยาลัยพรินสตัน แต่ในปี พ.ศ.๒๕๐๖ ภิกษุร่วมสำนักในเวียดนามได้ส่งโทรเลขมานิมนต์ท่านกลับประเทศ เพื่อร่วมงานการยุติสงครามหลังการโค่นล้มระบบการปกครองกดขี่ของเดียม (Diem Regime) ท่านกลับประเทศทันที และกลายเป็นผู้นำขบวนการต่อต้านโดยสันติวิธีของศตวรรษนี้ โดยยึดหลักปรัชญาของคานธี
          ในปี พ.ศ.๒๕๐๗ ท่านติช นัท ฮันห์พร้อมด้วยคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย และเหล่านักศึกษาในเวียดนามได้ร่วมกันก่อตั้งโรงเรียนเยาวชนเพื่อบริการสังคม (Youth of Social Service) ซึ่งหนังสือพิมพ์อเมริกันได้ให้ชื่อว่าพืชพันธุ์สันติภาพน้อยๆ (Little Peace Corps) ทีมของคนหนุ่มสาวได้มุ่งสู่ชนบทเพื่อจัดตั้งโรงเรียนและศูนย์อนามัยและรื้อฟื้นหมู่บ้านที่ถูกโจมตีด้วยระเบิด ในยุคที่กรุงไซง่อนล่มสลาย มีพระ แม่ชี และนักสังคมสงเคราะห์หนุ่มสาวมากกว่าหนึ่งหมื่นคนได้เข้าร่วมพันธะการทำงานครั้งนั้น ในปีเดียวกันท่านได้จัดตั้งสำนักพิมพ์ที่มีชื่อเสียงในเวียดนาม คือสำนักพิมพ์ลาบอย (La Boi Press)  ในหนังสือของท่าน และในฐานะของหัวหน้าบรรณาธิการของสิ่งพิมพ์อย่างเป็นทางการของโบสถ์ ยูนิไฟ บุดดิสท์ (Unified Bhuddhist Church) ท่านได้เรียกร้องสมานฉันท์ระหว่างพรรคที่ก่อสงครามในเวียดนาม ด้วยเหตุนี้ข้อเขียนของท่านจึงถูกสั่งห้ามเผยแพร่จากรัฐบาลตรงข้ามทั้งสองฝ่าย
          ในปี พ.ศ.๒๕๐๙ ด้วยการกระตุ้นจากพระสหธัมมิกของท่านท่านจึงได้รับนิมนต์จาก Fellowship of Reconciliation and Cornell เดินทางมาสหรัฐอเมริกา เพื่อบรรยายให้พวกเราได้รับรู้ถึงความปรารถนาและความเจ็บปวดของมวลชนที่ส่วนใหญ่เป้นผู้ไร้สิทธิ์เสียงของเวียดนาม (New Yorker, มิ.ย. ๒๕, ๒๕๐๙) ท่านมีรายการที่แน่นขนัดทั้งการพูดตามรายการที่นัดหมายและการพบปะส่วนตัว ท่านได้พูดโน้มน้าวให้สำนึกถึงการหยุดยิงและเจรจาเพื่อการยุติ ด้วยแรงบันดาลจากท่านติช นัท ฮันห์ และโครงการด้านสันติภาพของท่าน มาร์ติน ลูเธฮร์ คิง เจอาร์ จึงได้เสนอชื่อท่านเพื่อเข้ารับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ (Nobel Peace Prize) ในปี พ.ศ.๒๕๐๐ "ข้าพเจ้าไม่เห็นว่าจะมีผู้ใดอื่นที่สมควรต่อการรับรางวัลโนเบล ยิ่งกว่าภิกษุผู้อ่อนโยนจากเวียดนามท่านนี้" ลูเธอร์ คิง โดยอิทธิพลทางความคิดของท่าน ติช นัท ฮันห์ ได้ปรากฏตัวต่อสาธารณชนเพื่อต่อต้านสงคราม ในการให้ข่าวหนังสือพิมพ์ร่วมกับท่านติช นัท ฮันห์ ในชิคาโก
          เมื่อบาทหลวงโทมัส เมอร์ตัน ผู้มีชื่อเสียงในฐานะนักบวชที่ทรงอิทธิคุณ ได้พบกับท่านติช นัท ฮันห์ที่สำนักสงฆ์ Gethsemami ใกล้ๆ หลุยส์วิลส์ เคนตัคกี้ ท่านบาทหลวงกล่าวกับเหล่านักศึกษาของท่านว่า "เพียงแต่ท่าทีการเปิดประตูและการเข้ามาในห้อง ก็บ่งบอกถึงญาณทัศนะของท่าน ท่านเป็นพระอย่างแท้จริง"
          บาทหลวงเมอร์ตันยังได้เขียนบทความ "นัท ฮันห์คือพี่ชายของฉัน (Nhat Hanh is My Brother) เป็นคำร้องที่ประทับใจเพื่อรับฟังข้อเสนอทางสันติภาพของท่านนัท ฮันห์ และสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อการสร้างเสริมสันติภาพของท่านนัท ฮันห์ หลังจากการพบปะกับวุฒิสภาฟูลไบรท์และเคเนดี้ เลขาธิการกระทรวงมหาดไทยแมคนามารา (Mcnamara) และคนอื่นๆ ในวอชิงตัน ท่านติช นัท ฮันห์ได้เดินทางไปยุโรปเพื่อพบปะกับสมาชิกระดับนำของรัฐและสำนักงานของโบสถ์คาทอลิก รวมทั้งการเข้าเฝ้าโป๊ป จอห์น ปอลที่ ๖ ถึงสองครั้ง เพื่อกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือระหว่างคริสต์ศาสนา และพุทธสาสนิกชนในอันที่จะนำสันติภาพสู่เวียดนาม
          ในปี พ.ศ.๒๕๐๒ ในข้อเรียกร้องของ Unified Buddhist Church ท่านติช นัท ฮันห์ได้จัดตั้งกรรมการชาวพุทธเพื่อสันติภาพ ต่อการเจรจาสันติภาพที่กรุงปารีส ภายหลังจากการเซ็นสัญญาเพื่อสันติภาพในปี พ.ศ.๒๕๑๖ ท่านไม่ได้รับอนุญาติให้กลับเข้าเวียดนาม ท่านจึงได้จัดตั้งชุมชนเล็กๆ ห่างจากกรุงปารีสไปทางตะวันตกเฉียงใต้หนึ่งร้อยไมล์ โดยตั้งชื่อว่า "มันเทศ" (Sweet Potato) ในปี พ.ศ.๒๕๑๙-๒๕๒๐ ท่านติช นัท ฮันห์ได้นำการดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือผู้อพยพชาวเรือในอ่่าวสยาม แต่ท่าทีเป็นศรัตรูของรัฐบาลไทยและรัฐบาลสิงคโปร์ทำให้เป็นไปไม่ได้ที่จะดำเนินงานต่อไป หลังจากนั้นอีกห้าปีท่านจึงได้อยู่ที่ชุมชนมันเทศ เจริญภาวนา อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ ทำสวน และรับแขกผู้มาเยือนเป็นครั้งคราว
          เดือนมิถุนายนปี พ.ศ.๒๕๒๕ ท่านติช นัท ฮันห์ได้ไปเยือนนิวยอร์ก ในปีต่อมาก็จัดตั้งหมู่บ้านลูกเกด (Plum Village) ศูนย์วิปัสนาที่ใหญ่กว่า ใกล้ๆ เมืองบอร์กโดซ์ (Bordeaux) รายล้อมด้วยสวนองุ่นและทุ่งนาสาลี ทุ่งข้าวโพด และทุ่งทานตะวัน ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๖ ท่านได้เดินทางไปทวีปอเมริกาเหนือปีเว้นปี เพื่อจัดปฏิบัติธรรมและบรรยายธรรม การอยู่อย่างมีสติและความรับผิดชอบต่อสังคม "สร้างสันติภาพในปัจจุบันขณะที่เรามีชีวิตอยู่" ถึงแม้ว่าท่านติช นัท ฮันห์ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศบ้านเกิดของท่านได้ แต่หนังสือของท่านที่เขียนด้วยลายมือยังคงหมุนเวียนเผยแพร่กันอยู่อย่างลับๆ ในเวียดนาม การปรากฏตัวของท่านเป็นสิ่งที่ตระหนักรู้ได้โดยผ่านสานุศิษย์และมิตรสหายของท่านที่ปฏิบัติงานเต็มเวลาอยู่ทั่วโลก พยายามที่จะช่วยบรรเทาความทุกข์ยากของคนจนที่สิ้นหวัง ชาวเวียดนามลักลอบสนับสนุนครอบครัวที่หิวโหย และการรณรงค์เรียกร้องในฐานะนักเขียน ศิลปิน พระ และแม่ชี ผู้ถูกคุมขังเพราะความเชื่อของเขาหรืองานศิลปะของเขา งานเหล่านี้ได้แผ่ออกไปเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่ถูกส่งกลับประเทศ และส่งข้าวของเครื่องใช้พร้อมทั้งความช่วยเหลือทางจิตวิญญาณให้กับผู้ลี้ภัยตามแคมป์ต่างๆ ในเมืองไทย มาเลเซีย และฮ่องกง
          ปัจจุบันท่านอายุ ๖๔ ปี (พ.ศ.๒๕๓๓) แต่ยังคงมองดูเหมือนอายุน้อยกว่าวัยจริงสักยี่สิบปี ติช นัท ฮันห์ ปรากฏตัวในฐานะของครูผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ยี่สิบ ในท่ามกลางสังคมที่เน้นเรื่องความเร็ว ประัสิทธิภาพ และความสำเร็จทางวัตถุ ความสามารถของท่านติช นัท อันห์ที่จะเดินอย่างเยือกเย็นด้วยความสงบสุขในสังคมตะวันตก แม้ว่าวิธีการแสดงความรู้สึกจะเรียบง่าย สาระของท่านเปิดเผยถึงหัวใจแห่งการเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ถึงสภาพความเป็นจริงที่ออกมาจากการภาวนา การฝึกอบรมทางพระพุทธศาสนา และงานที่ท่านทำทั่วโลก
          วิธีการสอนของท่านมีแก่นหลักอยู่ตรงการหายใจอย่างมีสติ การมีสติเมื่อกระทำการแต่ละอย่างในชีวิตประจำวัน การภาวนา ท่านบอกเราว่า มิใช่สิ่งที่อยู่เฉพาะในห้องสมาธิ การล้างจานก็ศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกันกับการน้อมกราบคาราวะหรือการจุดธูป ท่านยังได้บอกเราถึงการแย้มยิ้มบนใบหน้าของเรา จักสามารถผ่อนคลายกล้ามเนื้อทั่วร่างกายของเรา ท่านเรียกมันว่า "โยคะแห่งปาก" โดยข้อเท็จจริงของการศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ก็ได้ยืนยันว่า เมื่อเราได้ผ่อนคลายกล้ามเนื้อบนใบหน้าภายใต้การแสดงออกของความรู้สึกอันแจ่มใส เราได้ให้บังเกิดผลกับระบบประสาทของเรา ซึ่งจะนำไปสู่ความรู้สึกเบิกบานอันแท้จริง สันติภาพและความสุขเป็นสิ่งที่หาได้ ท่านหมายเตือนเรา หากเราเพียงแต่จัดการกับความคิดที่ซัดส่ายให้เงียบสงบลงได้นานพอควร เพื่อกลับสู่ปัจจุบันขณะและมีโอกาสได้สังเกตท้องฟ้าคราม รอยยิ้มของเด็ก ดวงตะวันรับอรุณ "หากเรามีศานติสุข หากเรามีความสุข เราสามารถยิ้ม และทุกคนในครอบครัวของเรา สังคมทั้งมวลจะได้รับดอกผลแห่งความสงบสุขของเรา"

อาโนลด์, คอทเลอร์
เทอเนค, ฝรั่งเศส
กรกฎาคม  ๒๕๓๓
















24 มกราคม 2554

ร่วมไว้อาลัยกับการจากไปของ ทองใบ ทองเปาด์



นามปากกา:ศรีสารคาม, ธิดา ประชารักษ์, รังสรรค์ ภพไพบูลย์
เกิด:12 เมษายน พ.ศ. 2469 (อายุ 84 ปี)
อำเภอเมืองมหาสารคาม
จังหวัดมหาสารคาม
ถึงแก่กรรม:2554-1-24
อาชีพ:นักหนังสือพิมพ์ ทนายความ

            ทองใบ ทองเปาด์ (12 เมษายน พ.ศ. 2469 - 24 มกราคม พ.ศ. 2554) ทนายความ นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2539 และสมาชิกวุฒิสภา

ทองใบ ทองเปาด์ เกิดที่ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวน 6 คนของ นายหนู และนางเหง่า มีอาชีพทำนา จบชั้นมัธยม 6 ที่จังหวัดมหาสารคาม และมาเรียนต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เข้าเรียนที่คณะสหกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แล้วลาออกมาเรียนนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างศึกษาในกรุงเทพ เนื่องจากครอบครัวมีฐานะยากจน จึงอาศัยเป็นเด็กวัด อยู่วัดชนะสงครามมาตลอด
หลังจบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เริ่มทำงานเป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ ควบคู่ไปกับการเป็นทนายความเพื่อช่วยเหลือคนยากไร้ ที่ถูกสังคมเอารับเอาเปรียบ โดยไม่คิดค่าตอบแทน แม้กระทั่งคดีความที่ไม่มีทนายคนไหนกล้ารับว่าความ เช่น เคดีแรงงาน คดีชาวสลัม คดีเด็กและสตรี คดีทางการเมือง คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือคดีรักษาผลประโยชน์เพื่อแผ่นดิน ทองใบ ทองเปาด์ก็รับว่าความให้ทั้งสิ้น โดยทองใบถือคติที่ว่า การคุกคามขู่เข็ญถือเป็นเรื่องธรรมดาของการทำงานในอาชีพทนายความ หากเราทำงานเพื่อประชาชนเป็นหลักใหญ่ ทำความดีประชาชนจะคุ้มครองเรา
           ทองใบเห็นว่าการว่าความเพื่อช่วยเหลือประชาชนนั้นเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะไม่ว่าจะว่าความมากเท่าไหร่ คดีต่างๆก็มิได้ลดน้อยลงเลย เขาจึงได้ดำเนินงานสอนกฎหมายให้ประชาชนควบคู่ไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านในระดับท้องถิ่น คนงานในโรงงาน และนักเรียน เพื่อที่พวกเขาจะได้ไม่กระทำผิดกฎหมาย และยังอาจสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้มากขึ้นด้วย
ทองใบว่าความให้กับนักหนังสือพิมพ์ในคดีกบฏสันติภาพ เมื่อปี พ.ศ. 2496 พร้อมกับทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ ที่หนังสือพิมพ์ "ไทยใหม่" ร่วมกับ สุภา ศิริมานนท์ ต่อมาย้ายไปหนังสือพิมพ์ "พิมพ์ไทย" ร่วมกับ ทวีป วรดิลก ย้ายไป "สยามนิกร" "สุภาพบุรุษ-ประชามิตร" และ "ข่าวภาพ" โดยมีหน้าที่เขียนข่าวการเมือง มีฉายาว่า "บ๊อบการเมือง" (เนื่องจากขณะนั้น ทองใบไว้ผมยาว ทรงบ๊อบ)
ในปี พ.ศ. 2501 ได้เดินทางร่วมคณะหนังสือพิมพ์ไปประเทศจีน ร่วมกับกุหลาบ สายประดิษฐ์ สุวัฒน์ วรดิลก และเพ็ญศรี พุ่มชูศรี เมื่อกลับมาจึงถูกจับขังคุกหลายปีโดยไม่มีความผิด ได้รับการปล่อยตัวเมื่อ พ.ศ. 2509 ออกมาทำงานเป็นทนายความ และนักข่าวหนังสือพิมพ์ เดลินิวส์
ทองใบ ทองเปาด์ ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2527 - 2529  และได้รับคัดเลือกเป็นผู้รับรางวัลรามอน แมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ประจำปี 2527 แต่ทองใบปฏิเสธที่จะเดินทางไปรับรางวัลที่ประเทศฟิลิปปินส์ เนื่องจากต้องรับรางวัลจากประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ซึ่งในขณะนั้นมีภาพของผู้นำเผด็จการ และละเมิดสิทธิมนุษยชน จากกรณีลอบสังหารนายเบนีโย อากีโน (สามีของนางคอราซอน อากีโน) เมื่อ พ.ศ. 2526 และในปี พ.ศ.2547 ทองใบก็ได้รับเลือกให้รับรางวัล นักกฎหมายดีเด่น จากกองทุนศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์อีกด้วย 
           ทองใบ ทองเปาด์ ได้เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวาย เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2554

23 มกราคม 2554

คุ้นเคย



อุ่นหนาวห่มไผ่ผิงเทียน
ทางเท้าโล่งเตียนดินหนา
พลุกพล่านเวียนไปวนมา
เพื่อพบสบตาคุยกัน

กระดานเปื้อนยิ้มเขียนขีด
อักษรสีซีดตัวหนา
คือสื่อส่งผ่านสายตา
คนึงคิดหาผ่านใจ

ถอดเสื้อเตะบอลคลุกฝุ่น
ลูกกลมหมุนหมุนกลิ้งช้า
แย่งบอลตกหลุมเฮฮา
ค่ำลงร่ำสุรา..จากไป

ประภัสสุทธ
11 พฤศจิกายน 2548 14.16 น.

เมื่อรถถังเสพสังวาสกับปากกา





เมื่อรถถังเสพสังวาสกับปากกา
อิสราเสรีก็สูญสิ้น
เมื่อจรรยาหลับไหลใต้อุ้งตีน
ทั่วแผ่นดินก็ร่ำไห้ไร้สมดุลย์

เมื่อท็อปบู๊ทดึงดูดใจกว่าไร่ส้ม
ที่เคยถ่มก็ก้มเลียจนเสียศูนย์
ที่เคยด่าว่าซากเดนปฏิกูล
กลับเทิดทูนอำนาจเถื่อนสถาปนา

เมื่อบ้านเมืองเคืองเข็ญเป็นทุรยุค
กลับเสวยสุขอำนาจวาสนา
แถมแอบอ้างยืนข้างชาติประชา
อนิจจาฐานันดร์สี่เปลี่ยนสีแล้ว

เมื่อปากกากับปืนระรื่นชู้
ให้หดหู่โหยหาละห้อยแห้ว
อยุธเยศประเทศชาติอนาถแล้ว
ไม่เหลือแววแว่วหวังหลั่งน้ำตา

เมื่อบ้านเมืองเคืองเข็ญเป็นฉะนี้
คนดีดีไม่ล้มตายก็หายหน้า
อสัตย์อธรรมอหังการ์...
ใครจักหยัดขึ้นท้าทวงสัจธรรม?



                            พี่น้องญัฐ
                      พัฒนาชุมชนรุ่น 3