ขอเชิญทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเราในการสร้า้งสังคมแห่งการเรียนรู้...

หากต้องการลงบทความ/งานเขียนของท่าน สามารถแจ้งความประสงค์ได้ทางเว็บบอร์ด หรือทางอีเมล์แอดเดรส; po_kenchin@hotmail.com
หรือจะสมัครสมาชิกอย่างเดียวก็ได้นะครับ

17 มกราคม 2554

ปฏิวัติจิตวิญญาณแห่งยุคสมัย


                    สรรพสิ่งล้วนอนิจจัง นั่นคือทุกสิ่งทุกอย่างนั้นย่อมจะต้องมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และหากสภาพเช่นนี้เกิดขึ้นอย่างลึกซึ้งและรวดเร็วก็อาจเรียกว่า การปฏิวัติ (Revolution) ได้ ซึ่งการปฏิวัตินั้นเองก็อาจกลายเป็นปัจจัยในการเปลี่ยนแปลงอื่นๆต่อเนื่องกันไปได้อีกเป็นลูกโซ่ ดังเช่น การปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 นำไปสู่การขยายตัวของลัทธิล่าอาณานิคม จนเป็นชนวนให้เกิดสงครามโลกขึ้น หรือ การปฏิวัติเขียว (The Green Revolution) ที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 6 ได้เปลี่ยนแปลงวิถีการเกษตรของโลกในเวลาต่อมา
                    เมื่อที่สังคมเกิดวิกฤตการณ์ อันไม่อาจแก้ไขได้ด้วยแนวคิดและวิธีการแบบเดิม เมื่อนั้นผู้คนย่อมคาดหวังว่าการปฏิวัติจะสามารถเป็นทางออกของยุคสมัยได้ คนจำนวนไม่น้อยมองไปที่การปฏิวัติโครงสร้างของสังคม และแล้วเราก็ได้เห็นการปฏิวัติทางการเมืองและเศรษฐกิจครั้งแล้วครั้งเล่าในหลายศตวรรษที่ผ่านมา คนอีกมากมายที่มีความหวังกับการปฏิวัติทางเทคโนโลยี และแล้วก็เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม การปฏิวัติเขียว ล่าสุดคือ การปฏิวัติทางสารสนเทศโดยมีคอมพิวเตอร์เป็นสัญลักษณ์ แต่แล้ววิกฤตการณ์ต่างๆก็ยังเวียนมาไม่จบสิ้น โครงสร้างต่างๆแม้จะถูกถอนรากถอนโคน แต่วิกฤตการณ์ต่างๆยังเวียนมาอีกเช่นเคย เผด็จการโดยคนกลุ่มน้อย ผลัดเปลี่ยนกันมาอย่างซ้ำซาก โดยที่การปฏิวัติเขียวก็ไม่ช่วยให้ความอดอยากหิวโหยสูญไปจากเดิมซ้ำกลับทำให้มีการเบียดบังเอาเปรียบคนยากไร้เป็นไปอย่างหนักข้อยิ่งขึ้น
                    การปฏิวัติที่แท้จริงนั้น มิได้อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคม หรือการเนรมิตเทคโนโลยีอันมหัศจรรย์ สิ่งหนึ่งที่คนทั่วไปมักมองข้ามก็คือการปฏิวัติทางทัศนคติ(Attitude Revolution) อย่างถึงรากฐานวิกฤตการณ์ในยุคโลกาภิวัฒน์ (Globalization) โดยเนื้อแท้แล้วเป็นวิกฤตการณ์ทางด้านแนวคิดและทัศนคติขั้นปฐมฐาน เราจำเป็นจะต้องกลับมามองที่ทัศนคติพื้นฐานของเรา อันได้แก่ ทัศนคติต่อธรรมชาติ และทัศนคติต่อตัวเราในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ
                    เป็นเพราะเราเห็นธรรมชาตินั้นไร้ชีวิตจิตใจ เราจึงครอบงำเบียดบังธรรมชาติ เพียงเพื่อปรนเปรอตัณหา และสนองความยิ่งใหญ่ที่เราเข้าใจว่ามีอยู่ในตัวเรา โดยไม่คำนึงความพินาศของระบบนิเวศที่เกิดขึ้นทั่วโลก เป็นเพราะเราเข้าใจอย่างฉาบฉวยว่าธรรมชาติเป็นดังเครื่องจักรที่ประกอบไปด้วยชิ้นส่วนที่แยกจากกันดังฟันเฟือง เราจึงแยกทุกสิ่งทุกอย่างออกเป็นส่วนๆ แยกสัตว์ออกจากป่า แยกต้นไม้ออกจากภูเขา แยกมนุษย์ออกจากธรรมชาติ จนแม้กระทั่งกายและใจก็ถูกแยกออกจากกันเป็นส่วนๆ จนต่อกันแทบไม่ติด แล้วเราก็ปรนเปรอตัวเองด้วยวัตถุที่ตักตวงจากธรรมชาติอย่างมโหฬาร จนเกิดวิกฤตการณ์ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และในระบบนิเวศทั้งระบบ
                    เราจำต้องเปลี่ยนแปลงทัศนคติขั้นพื้นฐาน เราจะต้องลดความเชื่อมั่นในโลหะและคอนกรีต และหันมาศรัทธาในผืนดิน ลำธาร และต้นไม้ ให้มากขึ้น มองให้เห็นถึงคุณค่าและศักยภาพอันยิ่งใหญ่ที่แฝงอยู่ในธรรมชาติอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน และต้องร่วมมือกับธรรมชาติยิ่งกว่าที่จะเอาชนะคะคานธรรมชาติ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติอย่างประสานกลมกลืน ยิ่งกว่าที่จะตั้งตัวเป็นเอกเทศเพื่อครองความเป็นเจ้าเหนือธรรมชาติ แล้วมนุษย์ก็จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติและสรรพชีวิตอย่างมีความสุข


                                                                                                                                                                
                                                                                                                                                        ปฐพีน้ำใส
                                                                                                                                                   ปลายฤดูฝน 2551

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ28 มกราคม 2554 เวลา 20:17

    ปฏิวัติจิตใจ ให้มีสีเขียวบ้าง สีแดงเกินไปมันร้อนมันจะลืมความเย็น
    สิ่งที่สมดุลเกื้อกูลชีวิตและจิตวิญญาณคือ ธรรมชาติ



    Eco - socialism

    ตอบลบ