ขอเชิญทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเราในการสร้า้งสังคมแห่งการเรียนรู้...

หากต้องการลงบทความ/งานเขียนของท่าน สามารถแจ้งความประสงค์ได้ทางเว็บบอร์ด หรือทางอีเมล์แอดเดรส; po_kenchin@hotmail.com
หรือจะสมัครสมาชิกอย่างเดียวก็ได้นะครับ

18 มกราคม 2554

แม่น้ำโขง สายน้ำ-สายชีวิต

                                                       ถิรนัย อาป้อง

                แม่น้ำโขงมีต้นกำเนิดอยู่บนภูเขาจี้ฟู ส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัยบนที่ราบสูงทิเบต เขตจังหวัดหยู่ซู่ มลฑลชิงไห่ ประเทศจีน  โดยมีแม่น้ำจาคูและแม่น้ำอาคูไหลมารวมกัน มีชื่อเรียกเป็นภาษาของชาวไทลื้อว่า “แม่น้ำล้านช้าง” คนจีนโดยทั่วไปเรียกว่า “แม่น้ำหลานซาง” มีความหมายว่าแม่น้ำที่ไหลเชี่ยวกราก โดยไหลผ่าน 6 ประเทศ เริ่มจากที่ราบสูงทิเบตผ่านภูเขาสูงทางตอนใต้ของประเทศจีน ผ่านตะวันออกของประเทศพม่า ผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ประเทศลาว แล้วไหลลงเขตที่ราบน้ำท่วมถึงของกัมพูชาและเวียดนาม ก่อนจะไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ในภาคใต้ของเวียดนาม ภูมิภาคลุ่มน้ำโขงนั้นมีความแตกต่างสุดจะพรรณนา เต็มไปด้วยพหุลักษณ์และความหลากหลายของผู้คน ชุมชน ชาติพันธุ์ ภาษา และวัฒนธรรม กว่า 200 ล้านคนที่ส่วนใหญ่ยังมีลักษณะสังคมดั้งเดิมตามประเพณี ดังนั้นนักวิชาการจึงมักบอกว่า “นี่เป็นสวรรค์ของนักมานุษยวิทยา” ที่มีมนุษย์หลายเผ่าพันธุ์ไว้ให้ศึกษาได้ไม่รู้จบ

เส้นทางสายชีวิต
                ด้วยความยาวประมาณ 4,909 กิโลเมตร แม่น้ำโขงจึงเป็นแม่น้ำสายที่ยาวเป็นอันดับ 10 ของโลก มีลักษณะภูมินิเวศหลากหลาย และได้ชื่อว่าเป็นแม่น้ำที่มีความหลากหลายด้านพันธุ์ปลามากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ตลอดความยาวกว่า 4,900 กิโลเมตร สายน้ำโขงเปรียบเสมือนเส้นเลือดที่ร้อยเชื่อมและหล่อเลี้ยงผู้คนบริเวณลุ่มน้ำกว่า 60 ล้านชีวิต เป็นแหล่งอาหาร แหล่งน้ำ แหล่งเพาะปลูก และเป็นแหล่งประมงที่สำคัญของผู้คนในภูมิภาค
                จากเทือกเขาหิมาลัย แม่น้ำโขงไหลผ่านประเทศไทยที่อำเภอเชียงแสน เชียงของ และอำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ระยะทาง 84 กิโลเมตร แล้ววกกลับเข้าไปในลาวก่อนไหลออกมากั้นพรมแดนไทย-ลาว เริ่มจากจังหวัดเลย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี รวมความยาวที่ไหลผ่านประเทศไทยประมาณ 976 กิโลเมตร
                ที่จังหวัดอุบลราชธานี แม่น้ำโขงได้เนรมิตแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติขึ้นมากมาย เช่น หาดทรายขนาดใหญ่ที่บ้านลาดหญ้าคา บ้านปากแซง และบ้านปากกะหลาง, ผาหินสูงชันตลอดสองฝั่งน้ำยาวประมาณ 5 กิโลเมตร ที่บ้านผาซัน, ช่องผาที่เป็นช่องแคบที่สุดที่บ้านสองคอน, แก่งหินสามพันโบก[1] ที่มีความงามเฉพาะโดดเด่นเป็นของตนเองที่บ้านโป่งเป้า จนได้สมญาว่า “แกรนด์แคนยอนแห่งเอเชีย”
                ในลาวแม่น้ำโขงมีแม่น้ำยอน แม่น้ำงาว แม่น้ำงึม แม่น้ำเทิน และแม่น้ำเซกองเป็นแม่น้ำสาขา มี “สี่พันดอน”[2] แม่น้ำโขงจะเริ่มแตกออกเป็นหลายสาย เป็นช่วงที่กว้างที่สุดของแม่น้ำโขง เมื่อลำน้ำเหล่านี้ไหลทอดมาถึงสุดแนวประเทศลาวมาปะทะแนวเทือกเขาพนมดงรัก น้ำโขงจะถูกถีบให้แคบลงแล้วไหลโค้งหนีแนวเทือกเขาไปทางทิศตะวันตกเพื่อรวมตัวกันก่อนไหลราบเรียบลงสู่แผ่นดินกัมพูชา ลักษณะที่แม่น้ำโขงยุบตัวลงเป็นโตรกผาสูงอย่างฉับพลันได้ก่อให้เกิดน้ำตกที่ยิ่งใหญ่หลายแห่ง เช่น “คอนพะเพ็ง” น้ำตกที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย จนถูกขนานนามว่า “ไนแองการาแห่งเอเชีย”
ตรงบริเวณรอยต่อระหว่างบ้านเวินคามชายแดนลาว กับบ้านเวินยางหมู่บ้านชายแดนเขมรยังเป็นแหล่งอาศัยของ “ปลาข่า” (ชื่อพื้นถิ่นในลาว) หรือ “โลมาอิระวดี” อาศัยมากที่สุดกว่า 100 ตัว รวมทั้งกลุ่มน้ำตกแก่งหลี่ผี บริเวณที่มีการอพยพผ่านของปลาถึง 30 ตันต่อชั่วโมง และเมื่อแม่น้ำโขงไหลถึงกัมพูชามี “โตนเลสาบ” หรือ “ทะเลสาบเขมร”[3] เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดที่สำคัญของโลก มีปลากว่า 300 สายพันธุ์ และในแต่ละปีสามารถจับปลาได้กว่า 300,000 ตัน
                ส่วนแม่น้ำโขงในเวียดนาม มีแม่น้ำเซซานเป็นแม่น้ำสาขา ดินแดนแห่งนี้มีสถานที่ท้องถิ่นชื่อว่า “กิ๋วล่อง” หรือ “เก้ามังกร” เนื่องจากแม่น้ำโขงได้แตกสาขาออกเป็น 9 สาย นำความอุดมสมบูรณ์มาสู่ผืนดินบริเวณที่ราบลุ่มนามโบะ ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงอันอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งผลิตข้าวออกขายหล่อเลี้ยงคนทั่วโลก

ดินแดนแห่งปลาอพยพ
                แม่น้ำโขงมีความหลากหลายของพันธุ์ปลามากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากแม่น้ำอเมซอนในอเมริกาใต้ และแม่น้ำแซร์ในทวีปแอฟริกา โดยแม่น้ำโขงมีที่ราบน้ำท่วมถึงหลายแห่งที่สำคัญ อาทิเช่น ทะเลสาบเขมร พื้นที่ลุ่มน้ำมูน-ชี-สงคราม มีความหลากหลายของพันธุ์ปลา 900-1,200 ชนิด ทุกปีในฤดูฝนปลาแม่น้ำโขงนับร้อยชนิดจะอพยพขึ้นมาผสมพันธุ์ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน และหาอาหารในลำน้ำสาขาและพื้นที่ลุ่มน้ำต่างๆ จากนั้นจะกลับไปอาศัยอยู่ตามวังน้ำลึกในแม่น้ำเพื่อรอขึ้นมาวางไข่ในฤดูอพยพอีกครั้งเป็นวัฏจักร ปลาบางชนิดมีเส้นทางการอพยพไปถึงใต้ทะเลลึก
                มีการประมาณการกันว่าปลาที่จับได้ในแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาต่างๆ มีมากถึง 3 ล้านตันต่อปี มีมูลค่าสูงถึง 2-3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ[4]ซึ่งถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญของชาวบ้านในลุ่มน้ำ และมีส่วนเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ซึ่งวิถีการประมงถือเป็น ความมั่นคงด้านอาหาร ของชาวชุมชนลุ่มน้ำโขง

เกษตรกรรมในลุ่มแม่น้ำโขง
                ลุ่มแม่น้ำโขงมีพื้นที่เพาะปลูกกว้างใหญ่ถึง 110 ล้านไร่ (รวมพม่าและมลฑลยูนานของจีน) ลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างมีการทำการเกษตรกรรมเป็นพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญ จะมีเพียงประเทศกัมพูชาเท่านั้นที่มีพื้นที่เพาะปลูกน้อยอยู่ เนื่องจากดินมีคุณภาพต่ำ และเกือบร้อยละ 40 ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดยังมีปัญหาเรื่องกับระเบิดที่ฝังอยู่จากสงครามในยุคเขมรแดง จึงไม่เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกที่ต้องเอาชีวิตเข้าแลก
                แม่น้ำโขงจะพัดพาเอาดินตะกอน แร่ธาตุ สารอาหารและอินทรียวัตถุจำนวนมาก ในช่วงน้ำลดพื้นที่ลุ่มน้ำโขงจะเป็นพื้นที่สำหรับการทำการเกษตรชั้นเยี่ยม โดยข้าวเป็นพืชหลักที่ปลูกกันมากในลุ่มน้ำโขง มีผลผลิตประมาณ 32 ล้านตันต่อปี แต่ในบางประเทศ เช่น เวียดนาม ก็มีการปลูกพืชอื่นเพิ่มขึ้นในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา เช่น ถั่วและอ้อย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยก็มีการปลูกข้าวโพด มันสำปะหลัง และพืชล้มลุกหลายชนิด ทั้งนี้มีการแบ่งพื้นที่การเกษตรในลุ่มน้ำโขงออกเป็น 3 เขตด้วยกัน ดังนี้ เขตที่แรกคือ บริเวณที่ราบรอบทะเลสาบเขมร ในประเทศกัมพูชา บริเวณนี้มีการปลูกข้าวโดยอาศัยน้ำฝน และน้ำหลากตามฤดูกาล เขตที่สองคือ ที่ราบทางตอนใต้ของประเทศกัมพูชาและบริเวณปากแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงในลาวที่มีน้ำท่วมถึง โดยในฤดูฝนจะปลูกข้าว และในหน้าแล้งจะปลูกพืชอื่นๆ โดยอาศัยความชื้นในดิน และเขตที่สามคือ สามเหลี่ยมปากแม่น้ำซองฮอง และแม่น้ำโขงในประเทศเวียดนาม ทั้งสองแห่งปลูกข้าวได้ปีละ 2 ครั้ง โดยใช้ลำธารขนาดใหญ่ที่มีอยู่เป็นระบบชลประทานและการระบายน้ำ

เขื่อนกั้นแม่น้ำโขง-ภาวะคุกคามวิถีชีวิตครั้งใหญ่
                ในประวัติสาสตร์เราคงเคยได้ยินเรื่อง “เขื่อนผามอง” ที่เขาสร้างหนังเรื่อง “ทองปาน” ขึ้นมาเพื่อใช้รณรงค์คัดค้านเขื่อนนี้ ตอนนั้นโครงการเขื่อนผามองเป็นโครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่มากในแม่น้ำโขงสายหลัก และจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงถูกระงับไป เพราะการสร้างเขื่อนผามองเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ต้องย้ายผู้คนในพื้นที่นับแสนคน
                จนกระทั่งปี 2548 คณะกรรมการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ก็เริ่มเอาโครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในแม่น้ำโขงมาทบทวนใหม่ ในช่วงปี 2550 เป็นต้นมา บรรดาบริษัทสัญชาติไทย มาเลเซีย เวียดนาม รัสเซีย และจีน ได้รับไฟเขียวจากรัฐบาลไทย-ลาว และกัมพูชาให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง แต่มีความแตกต่างจากชุดเขื่อนผามองเดิม คือ เปลี่ยนจากการที่จะต้องสร้างเป็นเขื่อนขนาดใหญ่มากมาเป็นการสร้างเขื่อนแบบรัน-ออฟ-ริเวอร์ (run of river) คือ สร้างเป็นแบบขั้นบันไดในแม่น้ำโขง โดยมี 11 เขื่อน[5] ได้แก่ เขื่อนปากแบ่ง เขื่อนหลวงพระบาง เขื่อนไซยะบุรี เขื่อนปากลาย เขื่อนสะนะคาม เขื่อนลาดเสือ และเขื่อนดอนสะโฮงในประเทศลาว เขื่อนสตึงเตร็ง  และเขื่อนซำบอ ในประเทศกัมพูชา และยังมีโครงการเขื่อนบริเวณชายแดนไทย-ลาวอีก 2 แห่งคือ เขื่อนปากชม[6] (บริเวณใกล้เขื่อนผามองเดิม) ที่กำลังศึกษาโดยบริษัทปัญญาคอนซัลแตนท์ และ เขื่อนบ้านกุ่ม[7] โดยบริษัทอิตาเลียน-ไทย ดีเวลลอปเมนท์ และเอเชียคอร์ป เดินหน้าศึกษาความเป็นไปได้[8]
รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของ พพ. ระบุว่า เขื่อนบ้านกุ่ม ที่ระดับกักเก็บน้ำ 115 เมตร จะเกิดพื้นที่อ่างเก็บน้ำขนาด 98,806 ไร่ ส่งผลกระทบน้ำท่วมบ้านคันท่าเกวียน และโรงเรียนในอำเภอโขงเจียม และท่วมบ้านคำตื้อ และบ้านคันทุงไชย เมืองคงเซโดน แขวงสาละวันของลาว นอกจากนี้ยังท่วมพื้นที่เพาะปลูกริมตลิ่ง พื้นที่เกษตร และต้องโยกย้ายบ้านกุ่มน้อย เมืองชนะสมบูน แขวงจำปาสักฝั่งลาวออกจากพื้นที่หัวงาน รวมทั้งต้องเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติผาแต้มในจังหวัดอุบลราชธานีบางส่วนด้วย สำหรับ เขื่อนปากชม ที่ระดับกักเก็บ 192 เมตร จะเกิดพื้นที่อ่างเก็บน้ำ 50,217 ไร่ ส่งผลกระทบทำให้น้ำท่วมบ้านคกเว้า โรงเรียนและวัดโนนสว่างอารมณ์ อำเภอปากชม และท่วมบ้านห้วยยาง เมืองสังทอง นครหลวงเวียงจันทน์ นอกจากนี้ยังท่วมพื้นที่เพาะปลูกริมตลิ่ง พื้นที่เกษตร ถนนและสะพานบางแห่ง และน้ำจะเอ่อท่วมเข้าไปในลำห้วยสาขาด้วย


สร้างเขื่อนผลกระทบถ้วนหน้า

                “ความต้องการไฟฟ้า” ดูเหมือนจะเป็นข้ออ้างสำคัญในการผลักดันโครงการเขื่อนขนาดใหญ่มูลค่ามหาศาลของรัฐบาลในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยมีประเทศไทยและเวียดนามรับบทบาทเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ ขณะที่ลาวถูกประเมินว่าเป็น “แบตเตอรี่” ที่จะป้อนพลังงานให้กับภูมิภาค แต่ดูเหมือนว่าการประเมินความต้องการที่แท้จริง และทางเลือกในการผลิตพลังงานให้มีประสิทธิภาพ ยั่งยืน และเป็นธรรมยังไม่ได้รับการพิจารณาจากประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอย่างจริงจัง ในกรณีของประเทศไทยเมื่อเดือนธันวาคม 2551 เรามีปริมาณไฟฟ้าสำรองสูงถึงร้อยละ 60 จึงเกิดเป็นคำถามถึงความต้องการไฟฟ้าว่าเป็นความจริงหรือมายา
                อีกประเด็นหนึ่งที่ถูกใช้เป็นข้อเสนอในการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนไทย-ลาวคือ โครงการผันน้ำจากแม่น้ำโขงมาใช้ภายในประเทศ โดยการจัดทำแผนโครงการระบบโครงข่ายน้ำ หรือ water grid ซึ่งจากการศึกษาระบุว่าต้นทุนของการใช้ระบบ water grid จะแพงกว่าระบบทั่วไปถึง 3 เท่า โดยยังไม่รวมค่าผันน้ำจากต่างประเทศ ซึ่งหากเขาขายน้ำคิวละ 50 สตางค์ จะทำให้เกษตรกรไม่สามารถลงทุนซื้อน้ำมาทำนาได้ ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการผันน้ำเข้ามาเพื่อป้อนโรงงานอุตสาหกรรม หรือการเกษตรขนาดใหญ่เท่านั้นไม่ใช่การทำเพื่อชาวนา
                ผลกระทบโดยตรงที่จะเกิดขึ้นชัดเจนเมื่อมีการสร้างเขื่อนคือ พันธุ์ปลา เนื่องจากปลาไม่สามารถที่จะขึ้นมาวางไข่ได้ เสมือนเป็นการปิดกั้นเส้นทางการอพยพตามธรรมชาติของปลาแม่น้ำโขง ซึ่งปลากว่าร้อยละ 70 ในแม่น้ำโขงจะมีการอพยพขึ้นมาวางไข่ยังบริเวณต้นน้ำทุกปี และที่ผ่านมายังไม่เคยพบว่ามีโครงการเขื่อนใดในโลกที่สามารถใช้มาตรการลดผลกระทบด้านการประมงเป็นผลสำเร็จ แม้แต่บันไดปลาโจนอันลือชื่อของเขื่อนปากมูนเองก็ตาม
                การสร้างเขื่อนจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ อันได้แก่ ป่าไม้ที่จะต้องถูกน้ำท่วม เฉพาะเขื่อน 2 เขื่อน คือ เขื่อนปากชม และเขื่อนบ้านกุ่มมีพื้นที่ที่จะต้องกลายเป็นพื้นที่รับน้ำ โดยพื้นที่รับน้ำนี้จะกินพื้นที่ของป่าไม้ ชุมชน และพื้นที่ในการทำเกษตรนับแสนไร่ ส่งผลกระทบโดยตรงกับวิถีชีวิตของประชาชนริมฝั่งแม่น้ำโขง เขื่อนที่กักเก็บน้ำกว่า 500 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อเขื่อนจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการขึ้นลงของน้ำจากที่เคยถูกควบคุมโดยธรรมชาติ จะต้องขึ้นอยู่กับการกักเก็บและปล่อยน้ำของเขื่อน ซึ่งชาวบ้านไม่สามารถอาศัยองค์ความรู้จากวิถีชีวิตที่เคยพึ่งพิงอยู่กับธรรมชาติประเมินได้อีกต่อไป โดยเฉพาะในฤดูแล้งที่เขื่อนต้องกักเก็บน้ำ เขื่อนเหล่านี้จะตัดแม่น้ำโขงออกเป็นตอนๆ ทำให้น้ำในแม่น้ำสายหลักแห้งขอด และเมื่อถึงฤดูน้ำหลากที่เขื่อนต้องเร่งระบายน้ำก็จะส่งผลต่อการกัดเซาะของตลิ่งที่จะทรุดตัวอย่างผิดปกติ ดังในกรณีของอำเภอเชียงแสนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในจีน การสร้างเขื่อนจะส่งผลกระทบถึงความเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมของชาวลุ่มน้ำโขง ซึ่งส่วนหนึ่งจะต้องอพยพ เปลี่ยนอาชีพ หรืออาจเปลี่ยนวิถีชีวิตทั้งหมดโดยสิ้นเชิง ซึ่งยังไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าถ้าหากเกิดเขื่อนขึ้นแล้วชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจะได้รับความเป็นธรรมและการเยียวยามากน้อยเพียงใดและยังไม่มีหลักประกันใดๆ ที่จะมาเยียวยาความสูญเสียของธรรมชาติ



                                                                                                                                                                            
เชิงอรรถ                                                                         ___________________________________________________________
[1] สามพันโบก ในจังหวัดอุบลราชธานี บริเวณที่มีแก่งหินซึ่งจะจมอยู่ใต้น้ำในฤดูน้ำหลาก และถูกกัดเซาะจนกลายเป็นแอ่งน้ำน้อยใหญ่ที่จะผุดให้เห็นเป็นประติมากรรมชั้นยอดยามน้ำลดระดับลง
[2] สีพันดอน หรือ สี่พันดอน ในแขวงจำปาสักทางตอนใต้ของลาว แม่น้ำโขงบริเวณนี้ถือเป็นช่วงที่กว้างที่สุดถึง 14 กิโลเมตร ซึ่งสายน้ำโขงจะไหลผ่านเกาะแก่ง หรือ “ดอน” ใหญ่น้อยจำนวนมาก และเป็นพื้นที่ของ “น้ำตกคอนพะเพ็ง” หรือ “ไนแองการาแห่งเอเชีย”
[3] ทะเลสาบเขมร เป็นทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะขยายพื้นที่ท้องน้ำออกเป็น 10 เท่าในฤดูน้ำหลาก เป็นแหล่งน้ำจืดที่มีปลาชุกชุมมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จนได้ชื่อว่าเป็น “เมืองหลวงของปลาน้ำจืดโลก”
[4] คิดที่อัตราการแลกเปลี่ยน 35 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐฯ เป็นเงินไทยประมาณ 70,000-105,000 ล้านบาท

[5] ทุกเขื่อนมีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้ามากกว่า 1,000 เมกกะวัตต์ มากกว่าเขื่อนภูมิพล (เขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย) ที่ผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพียง 900 เมกกะวัตต์
[6] เขื่อนปากชม ขนาด 1,079 เมกกะวัตต์ จะตั้งอยู่บนแนวพรมแดนไทย-ลาว ตรงบ้านห้วยขอบ ตำบลหาดคัมภีร์ อำเภอปากชม จังหวัดเลย บ้านห้วยหาง เมืองสังทอง นครหลวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว ค่าลงทุนโครงการอยู่ที่ 69,641 ล้านบาท
[7] เขื่อนบ้านกุ่ม ขนาดกำลังการผลิต 1,872 เมกกะวัตต์ จะตั้งอยู่บนแนวพรมแดนไทย-ลาว ตรงบ้านท่าล้ง ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี และบ้านกุ่มน้อย เมืองชนะสมบูน แขวงจำปาสัก ประเทศลาว ค่าลงทุนโครงการรวมภาษีนำเข้า ค่าเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยระหว่างการก่อสร้าง และค่าธรรมเนียม 120,390 ล้านบาท
[8] นายนพดล ปัทมะ ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับ สปป.ลาว เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2551

1 ความคิดเห็น: