ขอเชิญทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเราในการสร้า้งสังคมแห่งการเรียนรู้...

หากต้องการลงบทความ/งานเขียนของท่าน สามารถแจ้งความประสงค์ได้ทางเว็บบอร์ด หรือทางอีเมล์แอดเดรส; po_kenchin@hotmail.com
หรือจะสมัครสมาชิกอย่างเดียวก็ได้นะครับ

22 กันยายน 2554

อยู่ชายขอบ: ตัวตนและการต่อสู้ของคนชายขอบในสังคมไทย

อยู่ชายขอบ: ตัวตนและการต่อสู้ของคนชายขอบในสังคมไทย[1]
ถิรนัย อาป้อง[2]
บทนำ
                ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศที่ประสบความสำเร็จนั้น ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของชาติดำเนินไปควบคู่กันกับการกีดกันประชากรกลุ่มใหญ่ออกจากชีวิตทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้เพราะหนทางของอุตสาหกรรมและการพัฒนาเศรษฐกิจของสังคมที่กำลังพัฒนาใดๆ มักจะหมายถึงการพึ่งพาการนำเข้าเทคนิควิทยาการและเครื่องจักรจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก บ่อยครั้งการพัฒนาประเทศจึงกินความหมายไปถึงการลดความสำคัญของการผลิตด้านอื่นๆ  เช่น การละเลยการผลิตพืชอาหารหลักไปโดยปริยาย บรรดาคนจนทั้งที่อยู่ในเมือง และชนบท สังคมเหล่านั้นถูกกีดกันให้ออกไปอยู่ขอบนอกหรือชายขอบของระบบมิให้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในลักษณะที่ไม่มีโอกาสได้รับผลพวงอันเกิดจากการพัฒนา กลุ่มคนเหล่านี้ตกอยู่ในฐานะเสมือนถูกระบบกดหัวให้จมอยู่ในภาวะความยากจนอย่างที่สุด มิหนำซ้ำยังได้รับผลกระทบที่สืบเนื่องมาจากการขาดบริการด้านสังคมและสวัสดิการทั้งนี้เพราะถูกกันให้อยู่นอกระบบสวัสดิการจึงทำให้ยากที่จะลืมตาอ้าปากและมีโอกาสรับจ้างงานที่ปรกติสุขหรือมีชีวิตที่มีศักดิ์ศรีได้ (สุริชัย, 2546)
ในสังคมไทย นับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันได้ถูกดึงให้ตกเข้าไปอยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์มากขึ้น  จนก่อให้เกิดผลตามมาประการหนึ่ง ทั้งน่าตกใจและหน้าเศร้าสลดอย่างมากไปพร้อมๆกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับนักมานุษยวิทยาที่สนใจศึกษาความหลากหลายในวัฒนธรรมของความเป็นมนุษย์ นั่นก็คือ นับวันผู้คนในสังคมไทยยิ่งมองเห็นความเป็นคนลดน้อยไปทุกที ดังจะเห็นได้ว่าเราไม่ค่อยจะไยดีกับความเป็นคนของคนอื่น หลายๆครั้งเรามองไม่เห็นพวกเขาเลยด้วยซ้ำไป ทั้งนี้เพราะกระแสโลกาภิวัตน์มีส่วนสำคัญในการลดทอนความเป็นมนุษย์ ผลักดันและเปลี่ยนให้วัฒนธรรมและคุณค่าต่างๆ กลายเป็นสินค้าอย่างกว้างขวาง ตลอดจนเสริมสร้างลัทธิบริโภคนิยม จนผู้คนตกเป็นทาสของสินค้า พร้อมๆ กับการยึดติดอยู่กับการสร้างภาพในลักษณะของการติดป้ายอย่างตายตัวของวัฒนธรรม จนมองข้ามความเป็นคนไปหมดสิ้น แม้ว่าในอีกด้านหนึ่งกระแสโลกาภิวัตน์จะเรียกร้องให้สนใจในสิทธิมนุษยชนก็ตาม แต่ยังไม่สามารถเปิดพื้นที่ได้เท่าที่ควร ให้กับกลุ่มคนทั้งหลายที่ต้องกลายเป็นเหยื่อของการลดทอนความเป็นมนุษย์ ซึ่งวงวิชาการเรียกพวกเขาว่า “คนชายขอบ” (อานันท์, 2549
                กระบวนการติดป้ายอย่างตายตัว ถือเป็นลักษณะหนึ่งของการเปลี่ยนวัฒนธรรมกลายเป็นสินค้า ซึ่งอาจจะเป็นการสร้างภาพเชิงเดี่ยวหรือสร้างภาพเชิงลบก็ได้ ซึ่งตรงกับแนวความคิดเรื่องการบูชาสินค้า (Fetishism) โดยกระบวนการเปลี่ยนความหมายเชิงนามธรรมที่หลากหลายให้เหลือความหมายเพียงอย่างเดียวตายตัว (Reification) กระบวนการทำให้นามธรรมกลายเป็นวัตถุสิ่งของเช่นนี้ หลังจากที่กลายเป็นสินค้าแล้วก็ควบคุมไม่ได้ ก็จะกลายเป็นสิ่งอื่นๆ เรื่อยไป ซึ่งแล้วแต่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ดังนั้นภายใต้สถานการณ์ประจำวัน การติดป้ายให้กับวัฒนธรรมอย่างตายตัวจะมีผลทำให้คนสูญเสียความเป็นคน เพราะต้องตกเป็นทาสของความหมายที่อยู่เบื้องหลังป้ายดังกล่าว ดังนั้นกลุ่มชนต่างๆ ก็อาจจะรู้สึกต่อต้านกับกระแสต่างๆ ที่เข้ามาจากภายนอก
                นักมานุษยวิทยามีความพยายามทางวิชาการที่จะเรียนรู้เพื่อที่จะเข้าใจคนชายขอบกลุ่มต่างๆ ให้มากขึ้น จากกรณีศึกษา เกย์ หญิงรักหญิง คนชรา คนเก็บขยะ วัยรุ่น และเด็กข้างถนน กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งอยู่ในบริบทที่แตกต่างกัน บางครั้งก็อาจถูกจัดไว้ในวัฒนธรรมกลุ่มย่อย (Subcultures) และบางครั้งก็ถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนที่ “ถูกกดทับไว้” (Subaltern Group) หรือชนชั้นล่างสุด
                แม้ว่าจะมีความพยายามสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นชายขอบอยู่บ้างในเชิงทฤษฎี แต่ความหมายของการเป็นชายขอบ (Marginality) และกระบวนการทำให้กลายเป็นคนชายขอบ (Marginalization) ในปัจจุบัน นับว่ายังสับสนอยู่พอสมควร เนื่องจากชายขอบในทางภูมิศาสตร์นั้นอาจดูเหมือนอยู่ขอบๆ ของพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ส่วนความเป็นชายขอบทางสังคมนั้นจะเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ซ้อนซึ่งมักผลักให้คนส่วนหนึ่งต้องไร้อำนาจจนตกไปอยู่ชายขอบของสังคม แม้จะมีชีวิตอยู่ตรงศูนย์กลางของพื้นที่ในเชิงภุมิศาสตร์ ขณะเดียวกันยังหมายรวมถึงกระบวนการลดทอนความเป็นมนุษย์ด้วยความพยายามทำให้คนกลายเป็นสิ่งของบางอย่างที่ตายตัว เช่น การทำให้กลายเป็นสินค้า (Commoditization) และการติดป้ายให้มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งในแง่ลบ (Stigmatization) แต่คนชายขอบมักจะไม่ยอมให้ตนต้องตกเป็นผู้ถูกกระทำฝ่ายเดียว ด้วยความพยายามดิ้นรนต่อสู้ที่จะเลือกกำหนดสถานการณ์ให้ตัวเอง เพื่อรักษาความเป็นมนุษย์ของพวกเขาไว้ ดังนั้นการศึกษาเรื่องคนชายขอบจึงคงต้องให้ความสำคัญกับพลวัตของความสัมพันธ์เชิงอำนาจในลักษณะที่สามารถปรับเปลี่ยนสลับกันไปมาอยู่เสมอและไม่ยึดติดกับลักษณะใดลักษณะหนึ่งอย่างตายตัว (อานันท์, 2549)
แนวความคิดเรื่องการสร้างคนชายขอบ Marginalization[3]
                ภาวะหรือกระบวนการที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลถูกปฏิเสธหนทางที่จะเข้าถึงการได้รับตำแหน่งสำคัญและเป็นสัญลักษณ์ทางเศรษฐกิจ ศาสนา อำนาจการเมืองในสังคมใดๆ กลุ่มชายขอบนี้อาจจะเป็นชนกลุ่มใหญ่จำนวนหนึ่ง เช่น กรณีประชากรผิวดำซึ่งเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ที่สุดของทวีปแอฟริกาใต้ ภายใต้ระบอบกีดกันสีผิว (Apartheid) นั้น คนผิวดำได้กลายเป็นคนชายขอบภายใต้สภาวะที่คนผิวขาวซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่แม้มีจำนวนน้อยกว่าแต่เข้าถึงอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ จึงทำให้สามารถดำรงตนเป็นผู้ปกครองได้ Marginalization กลายเป็นหัวเรื่องที่สำคัญในการวิจัยทางสังคมวิทยาในช่วงทศวรรษที่ 1960 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการตอบรับต่อความตระหนักถึงประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วแต่ทว่าสมาชิกของสังคมเหล่านี้กลับได้รับส่วนแบ่งผลตอบแทนจากความสำเร็จแตกต่างกันและไม่เท่าเทียมกันมากขึ้นเสียกว่าที่เคย
                เมื่อมีการหยิบยกแนวคิดนี้ขึ้นมาพิจารณากันก็มีการให้ความสนใจกันมากขึ้น กระบวนการเกิดคนชายขอบจึงกลายเป็นแหล่งที่มาอันสำคัญที่กระตุ้นให้มีการศึกษาวิจัยอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่ได้รับอิทธิพลโดยกลุ่มทฤษฎีพึ่งพา (Dependency Theory) กลุ่มมาร์กซิสต์และกลุ่มทฤษฎีระบบโลกซึ่งเป็นกลุ่มที่โต้แย้งว่าปรากฏการณ์ที่เกิดกลุ่มชายขอบขึ้นนี้สัมพันธ์เกี่ยวข้องโดยตรงกับระบบทุนนิยมโลก และมิได้จำกัดตัวเพียงปรากฏการณ์จำเพาะในสังคมใดสังคมหนึ่งหรือมีที่มาจากเหตุปัจจัยภายในเท่านั้น เช่น สังคมด้อยพัฒนา
                หากกล่าวโดยภาพรวมแล้วในบรรดาวิชาสังคมศาสตร์ทั้งหลายนั้น นักมานุษยวิทยามักจะมีแนวโน้มเป็นกลุ่มที่สนใจที่จะศึกษากลุ่มคนที่ถูกละเลยและขาดการศึกษา ทั้งนี้ก็สืบเนื่องจากหลักคิดที่มองว่าหากเราทำความเข้าใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นที่ชายขอบของสังคมหรือชายแดนของวัฒนธรรมได้แล้ว เราย่อมสามารถเข้าใจต่อไปว่าสังคมนั้นกำหนดหรือนิยามความพิเศษของสังคมตนอย่างไร และถูกกำหนดในแง่มุมเทียบเคียงกับกลุ่มอื่นๆ อย่างไร รวมทั้งจะได้เข้าใจต่อไปว่าค่านิยมทางวัฒนธรรมที่เป็นหลักหรือแกนกลางของสังคมนั้นคืออะไร แต่อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาของนักมานุษยวิทยาโดยเฉพาะส่วนใหญ่ที่ผ่านมานั้นมีลักษณะเน้นพิจารณาศึกษาคนกลุ่มน้อยและคนที่อยู่ตรงชายขอบของสังคมและวัฒนธรรมหลัก (marginal peoples) บางทีจะโดยจงใจหรือไม่ก็ตามอาจมีนัยว่าพวกเขาเป็นฝ่ายเลือกที่จะดำรงตนอยู่ ณ บริเวณขอบนอกนั้น โยมิได้ให้ความสนใจแก่กระบวนการที่กระทำให้กลุ่มคนเหล่านั้นต้องตกไปอยู่ ณ ชายขอบ ซึ่งจะพิจารณาพวกเขาว่าเป็นฝ่ายถูกเบียดขับให้ต้องไปอยู่วงนอก (marginalized)
ภาวะชายขอบ (Marginality)[4]
ภาวะชายขอบ (Marginality) ในมิติทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมวัฒนธรรม เป็นองค์ประกอบสำคัญอีกประการหนึ่งในบริบทส่วนใหญ่ของการวิจัยทางมานุษยวิทยา และยังพบในมิติอื่นๆ ในงานชาติพันธุ์นิพนธ์และทฤษฎีทางมานุษยวิทยาในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ในด้านหนึ่งเมื่อนักมานุษยวิทยาทำงานภาคสนามพวกเขาก็จัดเป็น “marginal native” กลุ่มหนึ่ง ผู้ซึ่งมิได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับชุมชนที่ตนเข้าไปศึกษาอย่างสิ้นเชิง แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ไม่ค่อยได้ปฏิบัติตัวตามวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนนัก งานชาติพันธุ์นิพนธ์ที่ได้รับอิทธิพลจากวิชามานุษยวิทยาแนววิพากษ์ (Critical Anthropology) ชี้ให้เห็นผลของภาวะชายขอบดังกล่าว
                ในอีกด้านหนึ่ง ส่วนใหญ่ของประชากรที่นักมานุษยวิทยาศึกษานั้นมักจะเป็นคนชายขอบ เช่น ชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ในชาติโลกที่สาม ซึ่งโดยตัวของชาติเหล่านี้เองก็มีที่ทางอยู่บริเวณชายขอบของระบบทุนนิยมโลกด้วย งานวิจัยทางมานุษยวิทยาในชาติตะวันตกก็มีแนวโน้มในการเน้นการศึกษากลุ่มคนที่อยู่ชายขอบของกระแสหลักแห่งชาตินั้นๆ ไม่ว่ากลุ่มคนดังกล่าวจะเป็นชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์หรือผู้ที่ไม่ได้อยู่ในกระแสหลักในมิติอื่น
                ทั้งๆ ที่งานศึกษาจำนวนมากของนักมานุษยวิทยาเป็นเรื่องของคนชายขอบ แต่ก็มีนักมานุษยวิทยาจำนวนไม่มากนักที่บอกว่าศาสตร์ของตนคือศาสตร์ของการศึกษาคนชายขอบ บ่อยครั้งกว่าที่นักมานุษยวิทยาจะบอกว่ามานุษยวิทยาคือวิชาที่ศึกษาสังคมขนาดเล็กๆ หรือสังคมก่อนยุคอุตสาหกรรม อันเป็นนิยามความหมายที่ละเลยลักษณะของภาวะชายขอบซึ่งปรากฏอยู่ในส่วนใหญ่ของชุมชนที่นักมานุษยวิทยาเข้าไปศึกษา
                อันที่จริงแล้วการศึกษาในสาขามานุษยวิทยาแนววิพากษ์และมานุษยวิทยาประยุกต์ (Applied Anthropology) มานุษยวิทยามาร์กซิสต์ (Marxist Anthropology) และทฤษฎีบางแนว เช่น ทฤษฎีการพึ่งพา (Dependency Theory) และทฤษฎีระบบโลก (World Systems Theory) ได้ชี้ให้เห็นว่ากระบวนการและโครงสร้างที่สร้างนิยาม และธำรงภาวะชายขอบนั้น โดยตัวของมันเองเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับการตั้งคำถามทางมานุษยวิทยา นักชาติพันธุ์ไม่ได้มีหน้าที่แต่เพียงประมวลค้นหาลักษณะเฉพาะทางสังคมวัฒนธรรมของกลุ่มคนชายขอบเท่านั้น หากต้องประมวลค้นหาประสบการณ์และกระบวนการที่ทำให้ผู้คนเหล่านั้นกลายเป็นคนชายขอบ (Marginalization) อีกด้วย และก็ย่อมหมายความว่า ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนชายขอบกับระบบการเมือง เศรษฐกิจและสังคมจะได้รับการถูกเปิดเผย เมื่อมีการชี้ให้เห็นถึงโครงสร้างอำนาจที่สำคัญๆ ในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับเหนือชาติแล้ว ภาพลวงตาที่ว่าสังคมหรือวัฒนธรรมใดๆ ที่ดำรงคงอยู่โดยตัวของมันเองก็จะหายไป หมายความว่า เมื่อมีการเผยโฉมโครงสร้างอำนาจดังกล่าวแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า ชุมชนมนุษย์ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม (bands) ชนเผ่า (tribes) ชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ (ethnic minorities) หรือภาค (sectors) ของสังคมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ต่างดำรงคงอยู่ภายในบริบทของความสัมพันธ์กับชุมชนรอบข้างและระบบสังคมวัฒนธรรมที่ใหญ่กว่า ทั้งนี้โดยมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์เป็นตัวกำหนดไม่โดยทางตรงก็ทางอ้อม
ความเป็นชายขอบ (Marginality)[5]
แนวความคิดในการศึกษาคนชายขอบของนักสังคมศาสตร์ในยุคหลังสมัยใหม่เสนอว่า ความเป็นชายขอบ (marginality) ในทางเศรษฐศาสตร์การเมืองนั้นหมายถึง ผู้คนที่ด้อยอำนาจ (the powerless) คนที่ตกเป็นเบี้ยล่าง (the subordinate) ของคนกลุ่มใหญ่และคนยากไร้ (the have-nots) และเมื่อคนเหล่านี้เป็นชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อย เพศด้อย และไม่มีตำแหน่งแห่งที่ในสังคม หรือเรียกรวมๆ ว่ามีสถานะเป็น “คนอื่น” (the others) อีกด้วยแล้วจึงทำให้คนเหล่านี้ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกกีดกันออกซ้ำแล้วซ้ำเล่า (multiple exclusions) หรือเป็นคนชายขอบในพหุมิติ (multiple marginalities) จึงแทบจะกล่าวได้ว่าศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของคนเหล่านี้เท่ากับศูนย์
                นักสังคมศาสตร์ยุคหลังสมัยใหม่ ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกลุ่มคนที่เรียกรวมๆ กันว่าเป็น “คนที่ถูกกดทับไว้” ไม่ว่าจะเป็นชาติพันธุ์กลุ่มน้อย ผู้หญิง คนพิการ กลุ่มรักร่วมเพศ และแม้แต่ชาวไร่ชาวนาในสังคมไทยอาจกล่าวได้ว่าเป็นมวลชนชายขอบของสังคมใหญ่ (the marginal mass) คนเหล่านี้มักจะถูกกีดกันหรือเบียดขับออกจากสังคม (the excluded or marginalized) ไม่ว่าจะเป็นบริบทในทางภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมืองและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาติพันธุ์กลุ่มน้อยที่มักเรียกกันในวาทกรรมการพัฒนาว่าเป็นกลุ่มคนโลกที่สี่ (The Fourth World)
นิยามของคนชายขอบ (marginal people)
                คนชายขอบ (marginal people) คือ “...กลุ่มคนที่มีชีวิตอยู่กึ่งกลางหรือห่างไกลจากศูนย์กลางทั้งในทางภูมิศาสตร์และสังคมวัฒนธรรม ในทางภูมิศาสตร์ “คนชายขอบ” มักจะเป็นกลุ่มคนที่ต้องเคลื่อนย้ายจากภูมิลำเนาดั้งเดิมด้วยเหตุผลทางธรรมชาติ เศรษฐกิจ การเมืองและสังคมวัฒนธรรม การตั้งถิ่นฐาน การประกอบอาชีพ หรือวิถีชีวิตของคนกลุ่มนี้ต้องเผชิญกับการแก่งแย่งแข่งขันเพื่อเข้าถึงทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ถูกกีดกันและเอารัดเอาเปรียบจากคนกลุ่มใหญ่ซึ่งอยู่อาศัยในดินแดนหรือเขตภูมิศาสตร์นั้นมาก่อน ในทางสังคมและวัฒนธรรม “คนชายขอบ” ย่อมกลายเป็นคนกลุ่มน้อยในสังคมใหม่ วัฒนธรรมประจำกลุ่มจึงเป็นวัฒนธรรมย่อยที่ไม่ได้รับการยอมรับหรือได้รับการเลือกปฏิบัติจากผู้คนในกระแสวัฒนธรรมหลัก การเรียนรู้การปรับตัวและการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อที่จะเอาตัวรอดหรือมีชีวิตอยู่ภายใต้สภาพการณ์ดังกล่าวจึงเป็นสาระสำคัญของวิถีชีวิตประชากรที่อาศัยอยู่ในวัฒนธรรมชายขอบ...”[6]
“...ในสังคมใหญ่ทุกแห่งมี “ประชากรชายขอบ” ซึ่งอาศัยอยู่ห่างจากศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมวัฒนธรรม คนกลุ่มนี้ขาดอำนาจการต่อรอง ขาดการศึกษา ขาดเครื่องมือที่เข้าถึงอำนาจ และถูกกีดกันออกจากระบบการต่อรองอำนาจและการจัดสรรทรัพยากร อำนาจและความมั่งคั่งในสังคม ลักษณะของกลุ่มประชากรชายขอบอาจจะแตกต่างจากประชากรส่วนใหญ่ของสังคม ในแง่ของชาติพันธุ์ ผิวพรรณ ศาสนา อุดมการณ์ การศึกษา ฐานะทางเศรษฐกิจและชนชั้นทางสังคม ฯลฯ ตัวอย่างของประชากรชายขอบ ได้แก่ ชนกลุ่มน้อย ผู้อพยพ ประชากรที่อาศัยอยู่ในสลัม ชาวนาชาวไร่ในชนบท โสเภณี แรงงานไร้ทักษะฝีมือ แรงงานข้ามชาติ ฯลฯ”[7]
กระบวนการสร้างคนชายขอบ (Marginalization)
                กระบวนการเป็นคนชายขอบนั้นอาจจะเกิดขึ้นได้ใน 2 ทิศทาง ที่ตรงข้ามกัน กล่าวคือ ในทิศทางแรก ความเป็นชายขอบเกิดขึ้นจากการถูกกีดกัน และถูกลดอำนาจ หรือถูกติดป้าย เช่น กรณีผู้ติดเชื้อเอชไอวีนั้น ความเป็นชายขอบของพวกเขาเกิดขึ้นจากผู้ติดเชื้อถูกแยกออกไปจากสังคม ถูกทำให้แปลกแยกจากสังคม ถูกผลักให้กลายเป็นชายขอบในลักษณะที่เรียกว่าคนในสังคมไม่ยอมรับ แต่พวกเขาก็ยังพยายามแยกตัวตนออกมาจากสังคม เพื่อให้เห็นตัวตัวตนของพวกเขาเองด้วย หรือกรณีชาวเขาที่ถูกติดป้ายในลักษณะให้ร้ายป้ายสีต่างๆ นานา แต่ในอีกทิศทางหนึ่ง ความเป็นชายขอบเกิดขึ้นจากการถูกดึงเข้าร่วมกระบวนการ จนกลับกลายเป็นชายขอบในทิศทางตรงกันข้ามกับทิศทางแรก เช่นกรณีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในสังคมไทยถูกดึงให้เข้าร่วมกระบวนการการพัฒนา โดยเฉพาะการส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่กลับกลายเป็นการดึงให้พวกเขาถูกแปลกแยก ถูกดึงให้เป็นคนชายขอบ เพราะมีสถานภาพเป็นเพียงสินค้าสำหรับนักท่องเที่ยวเท่านั้น และกรณีของผู้นิยมบริโภคสินค้าเงินผ่อน ก็ถูกทำให้กลายเป็นคนชายขอบได้ เพราะยิ่งเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริโภค ก็ยิ่งกลายเป็นชายขอบในเชิงเศรษฐกิจ ด้วยการติดหนี้สินรุงรังจนไร้ความเป็นตัวของตัวเอง
                ดังนั้นกระบวนการกลายเป็นชายขอบจึงไม่ได้เกิดขึ้นเพราะถูกกีดกันด้านเดียว แต่เกิดจากกระบวนการทั้ง 2 ด้าน ทั้งด้านที่ถูกผนวกและด้านที่ถูกกีดกันก็สามารถเป็นชายขอบได้ทั้งคู่ เพราะฉะนั้นประเด็นสำคัญคือเงื่อนไขและสาเหตุอะไรที่ทำให้กระบวนการตรงข้ามกันนั้นก่อให้เกิดผลอย่างเดียวกันได้อย่างไร ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับ 3 บริบทด้วยกัน ในบริบทแรกชุมชนเผชิญกับกระแสของรัฐชาติ ซึ่งสร้างแรงกดดันลงไปในชุมชนต่างๆ ภายในประเทศ เช่น การผสมกลมกลืนให้ “กะเหรี่ยงกลายเป็นไทย” ส่วนรัฐชาติก็เน้นการอนุรักษ์ ก็จะสร้างกระแสของการกีดกันชุมชนต่างๆ ออกจากการเข้าถึงทรัพยากร สำหรับบริบทที่ 2 นั้น ชุมชนจะตกอยู่ในกระแสของทุนนิยมและโลกาภิวัตน์ จนเกิดปัญหาในเรื่องของพื้นที่ยืนเดิม ซึ่งมักเกี่ยวกับชุมชนภายใต้หน่วยที่ซับซ้อน กล่าวคือ หน่วยเดิมเป็นเรื่องของชุมชนและชาติพันธุ์ แต่ต้องไปยืนอยู่ในกระแสที่เชี่ยวกรากของทุนนิยม บริโภคนิยม และกระแสของโลกาภิวัตน์ ทำให้ถูกเปลี่ยนความหมายจนสูญเสียพื้นที่ของความเป็นมนุษย์ และบริบทสุดท้ายจะเป็นเรื่องของตัวตนของผู้คนกลุ่มต่างๆ ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการก่อตัวของตัวตน ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภค ผู้หญิง หรือผู้เป็นโรคเอดส์ ที่ตกอยู่ในสถานการณ์ของการเปลี่ยนผ่านทางสังคม เช่น ในกรณีของคนเป็นโรคเอดส์ต้องสูญเสียความเป็นคนเพราะถูกติดป้ายว่าเป็นผู้ไร้ศีลธรรม
                ภายใต้บริบทดังกล่าวในปัจจุบันนี้จะพบว่า ความเป็นชายขอบสามารถเกิดขึ้นได้ทุกหนทุกแห่ง ทั้งพื้นที่ในเมือง ในบาร์ ในโรงงาน พื้นที่กึ่งเมืองกึ่งชนบท พื้นที่ในชนบท จนกระทั่งพื้นที่สูงในป่า การเป็นคนชายขอบซึ่งอาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน ในเกือบจะทุกสถานการณ์ ขึ้นอยู่กับมุมมอง เช่น นักวิชาการก็อาจจะกลายเป็นชายขอบได้ ถ้าหากถูกติดป้ายว่าเป็นพวกไม่หวังดี ดังนั้นการเป็นชายขอบจึงไม่ได้หมายความว่า เกิดขึ้นเฉพาะในบริเวณชายขอบเท่านั้น ความเป็นชายขอบเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกหนทุกแห่ง เมื่อมีการกีดกันพื้นที่ในรูปของการสร้างพรมแดนขึ้นมาปิดกั้นผู้คนบางกลุ่ม
                แต่ความเข้าใจทั่วไปมักจะมองคนชายขอบว่า เป็นเพียงวัฒนธรรมกลุ่มย่อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ขนาดเล็ก ทั้งนี้เพราะมองเห็นได้ง่าย และคนทั่วไปอาจยังติดอยู่กับความคิดแบบเหยียดสีผิวและเชื้อชาติอยู่ การใช้มิติทางชาติพันธุ์จึงเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด รวมทั้งทางการเมืองก็ง่ายที่สุดด้วย เช่น กรณีชาวเขาต่อสู้เรื่องสิทธิที่จะอาศัยในป่า ก็ถูกป้ายสีว่าไม่ใช่คนไทย ซึ่งคนที่ไม่เข้าใจเรื่องเหล่านี้มีจำนวนมาก ดังนั้นความเป็นชาติพันธุ์ (Ethnicity) ยังต้องเป็นประเด็นสำคัญ ในการเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจกับความหลากหลายทางวัฒนธรรม

การศึกษาเกี่ยวกับคนชายขอบ
                การศึกษาคนชายขอบจะช่วยให้เข้าใจกระบวนการเรียนรู้ ในชีวิตจริงของการต่อสู้ของผู้คนกลุ่มต่าง เป็นความพยายามสร้างพื้นที่ของการขัดขืนต่ออำนาจ พร้อมๆ ไปกับการสร้างสรรค์เพื่อแสดงถึงพลังของความเป็นมนุษย์ ในการปรับตัวเพื่อมีชีวิตอยู่ภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ซึ่งก็น่าจะช่วยเปิดช่องทางให้สังคมไทยได้เรียนรู้จากทุกๆ ส่วนของสังคม เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้ศักยภาพของตนได้อย่างแท้จริง และมีส่วนร่วมในการสร้างประชาสังคมได้มากขึ้น ซึ่งงานศึกษาเกี่ยวกับคนชายขอบในสังคมไทยในแง่มุมต่างๆ มีดังต่อไปนี้
เสียงจากคนชายขอบ[8]
                เป็นงานวิจัยที่พยายามสะท้อนเสียงจากชนชายขอบที่ถูกการพัฒนาโหมรุกเข้าไปเปลี่ยนวิธีชีวิต วิถีปฏิบัติออกไปสู่สังคม เป็นการศึกษาเชิงมานุษยวิทยาว่าด้วยการปรับตัวทางวัฒนธรรมของชุมชนชาวเขายากจนที่กำลังตกอยู่ในสถานะเป็นคนชายขอบ หรือ “ภาวะตกขอบทางสังคม” (Marginalization) ซึ่งนอกจากเป็นคนชายขอบที่อาศัยอยู่ตามชายแดนประเทศไทยแล้วยังเป็นคนชายขอบของการพัฒนาด้วย
                งานชิ้นนี้มุ่งวิเคราะห์พลังของพิธีกรรมที่ชาวลีซอใช้เป็นเวทีนิยามปัญหาและตีความสถานการณ์เพื่อสืบทอดความเป็นชาติพันธุ์ในบริบทที่ชุมชนไร้อำนาจในการจัดการทรัพยากร และปัจเจกบุคคลสูญเสียศักดิ์ศรีของความเป็นคน โดยใช้แนวคิดที่มีลักษณะเคลื่อนไหว 3 ประการ คือ  แนวคิดว่าด้วยอำนาจ  แนวคิดว่าด้วยความเป็นชาติพันธุ์  และแนวคิดว่าด้วยการปรับเปลี่ยนอำนาจของพิธีกรรม ในการวิเคราะห์พลังของพิธีกรรมทั้ง 3 ระดับ ได้แก่ ชุมชน ครัวเรือน และปัจเจกบุคคล  โดยใช้วิธีการสังเกตแบบมีส่วนร่วมควบคู่ไปกับการสัมภาษณ์เชิงลึก
                สรุปได้ 3 ประเด็นคือ ประเด็นแรก การประเปลี่ยนโลกทัศน์ชาวลีซอได้ปรับเปลี่ยนอำนาจของวัฒนธรรมไทยซึ่งมีการครอบงำให้เข้ามาอยู่ในบริบทของท้องถิ่น มีการแสดงออกผ่านกระบวนการประทะประสานทางอุดมการณ์ระหว่างอำนาจครอบงำและอำนาจท้องถิ่นหรืออีกนัยหนึ่งเป็นการขยายพื้นที่ทางวัฒนธรรมของตนเอง  เพื่ออธิบายและตีความปัญหาของการพัฒนาด้วยความหมายใหม่ ทำให้เกิดประสบการณ์ใหม่ เพื่อจะได้ทำความเข้าใจปรากฏการณ์ร่วมกันได้อย่างครอบคลุมยิ่งขึ้น  ประเด็นที่สอง การตีความสำนึกของชาติพันธุ์ในบริบทใหม่  เป็นต้นว่าชาวตีซอได้มีการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของอาปาหมุฮี หรือศาลผีเสื้อบ้านซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของของความเป็นชุมชนของชาวลีซอทั่วไปให้มีลักษณะที่ทันสมัย เพื่อจะได้มีสถานภาพที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลมาจากปัจจัยจากภายนอกมากยิ่งขึ้น การตีความภาวะที่มีมลทินทางสังคมของครัวเรือนที่ซื้อของใหม่มาทำให้ดูราวกับเป็นของเก่า แล้วนำไปขายให้กับนักท่องเที่ยวว่าเป็นการกระทำที่ขัดกับกฎจารีตและเห็นว่าการไปอยู่ในเมืองเป็นประจำจะมีความเจ็บป่วย ฯลฯ  และ ประเด็นที่สาม คือ การปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ซึ่งเกิดขึ้นทั้งภายในชุมชนและเกิดขึ้นกับคนของรัฐ เช่น กระชับความสัมพันธ์กับตัวแทนของอำนาจรัฐซึ่งก็เป็นการสร้างพันธมิตรวิธีหนึ่ง
โลกของคนไร้บ้าน[9]
                งานวิจัยชิ้นนี้ได้แสดงให้เห็นถึงสาเหตุของการกลายเป็นคนไร้บ้านหรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นกระบวนการกลายเป็นคนชายขอบของคนกลุ่มนี้ตลอดตนการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อการอยู่รอด กระบวนการกลายเป็นคนชายขอบมีสาเหตุหลายอย่างที่ทับซ้อนกัน สาเหตุที่สำคัญคือความเปราะบางของสถาบันครอบครัว คนไร้บ้านหลายคนไม่ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวในช่วงวิกฤตชีวิต กลุ่มแรกคือคนชราที่ไม่อาจหาเลี้ยงชีพตัวเองได้ เมื่อกลับไปอยู่กับญาติก็รู้สึกว่าตนเป็นที่ไม่ต้องการ กลุ่มที่สองคือวัยรุ่นจากครอบครัวแตกแยกเป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงเพราะอาจข้องแวะกับสิ่งเสพติด ส่วนผู้ใหญ่ที่อยู่ในวัยทำงานก็มักมีความสัมพันธ์ที่เปราะบางกับเครือญาติ กล่าวอีกอย่างหนึ่งว่าคนเหล่านี้สูญเสียทั้งต้นทุนทางสังคมและต้นทุนทางเศรษฐกิจ ทำให้ยากตัวเองสู่กับผันตัวเองกลับคืนสู่สภาพเดิมได้ นานไปก็เกิดความเคยชินและสมัครใจเป็นคนไร้บ้าน
                คนชายขอบเหล่านี้ก็มีช่วงชั้นแตกต่างกัน ซึ่งแสดงถึงความแตกต่างกันไปด้วย คนไร้บ้านที่มีอาชีพประจำ เช่น คนขายกระดาษเพื่อรองใช้นั่งตามเทศกาลงานวัดต่างๆ ที่มีมหกรรมการแสดง และคนเก็บของเก่า ในหมู่คนไร้บ้านด้วยกันถือว่าคนกลุ่มนี้มีสถานะสูงและส่วนมากเห็นว่าพวกตนประกอบสัมมาชีพ อีกกลุ่มหนึ่งคือคนไร้บ้านที่ไม่มีงานประจำหรือที่เรียกว่า “ผี”มักยังชีพด้วยการสงเคราะห์ เช่น รับประทานข้าวที่สภาสังคมสงเคราะห์ฯ และชอบเดินทางตระเวนเที่ยวในช่วงเทศกาลตามสถานที่ต่างๆ เช่น งานวัด นอกจากนี้ยังมีคนไร้บ้านที่เรียกว่าคนชายขอบของชายขอบอีก ได้แก่ คนเดินชันตังค์ อันหมายถึงคนที่ขอเงินจากคนรอรถเมล์ คนที่รับประทานอาหารอยู่ตามร้านอาหารด้วยการสร้างเรื่องเพื่อให้น่าสงสาร เช่น ขอเงินค่ารถเพื่อกลับภูมิลำเนา แม้แต่ในหมู่คนไร้บ้านเองก็ไม่ชอบคนกลุ่มนี้ เพราะนอกจากทำเกิดภาพลักษณ์ไม่ดีกับคนไร้บ้าน ยังกลายเป็นอุปสรรคในการทำมาหาเลี้ยงชีพอย่างสุจริตด้วย ซึ่งเรียกว่า “ผีทำเสีย”
                นอกจากนี้บุญเลิศเห็นว่าคนไร้บ้านก็มีการนิยามอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันไป บางคนไม่ยอมรับตัวเองว่าเป็นคนไร้บ้าน แต่ให้ความหมายแก่ตัวเองว่าเป็นคนรักอิสระหรือเรียกว่าเป็นคนชอบเที่ยว คนไร้บ้านบางกลุ่ม เช่น คนให้เช่าพระเครื่อง ก็ไม่ยอมรับอัตลักษณ์เดียวกับคนไร้บ้านทั่วไปและมักนิยามตัวเองว่าเป็นคนมีหลักแหล่ง แต่ไม่เช่าบ้านอยู่ก็เพราะความจำเป็นด้านอาชีพที่จับจองพื้นที่ในการวางพระเครื่อง เป็นต้น
                จริงอยู่ที่มีคนไร้บ้านที่เป็นปัญหา เช่น พวกที่ยุ่งเกี่ยวกับสิ่งเสพติด การค้าประเวณี แต่ผู้ศึกษาได้ให้ข้อคิดที่น่ารับฟังยิ่งว่า “มีความ หลากหลายในการใช้ชีวิตรอดของคนไร้บ้าน แน่นอนว่าย่อมมีคนที่สร้างความเดือดร้อน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่สร้างปัญหา การมองคนไร้บ้านอย่างสรุปเหมารวมเชิงลบ จึงเป็นการมองที่ไม่อาจทำความเข้าใจใดๆเป็นการมองที่ผลักพวกเขาไปสู่นอกระบบ สู่การไม่ยอมรับและวิธีคิดที่ติดตามมาก็จะเน้นการควบคุม การจำกัดมากกว่าการเกื้อหนุนเปิดโอกาส ขณะเดียวกันเราก็ไม่อาจมองพวกเขาในเชิงพาฝันเราไม่อาจจะบอกว่าพวกเขาเป็นคนตกงานที่กำลังดิ้นรนหางานทำ  เพราะมีบางคนที่สามารถปรับตัว พึงพอใจกับชีวิตข้างถนนแล้ว
วิถีชีวิตคนใน “ชุมชนชายขอบ” ของสังคมเมือง : กรณีศึกษาคนคุ้ยขยะในชุมชนกองขยะชานเมือง[10]
แนวคิดในการศึกษาสลัมมีอย่างน้อย 2 แง่มุมซึ่งดูเหมือนจะขัดกัน ฝ่ายหนึ่งได้โต้แย้งแนวคิดที่เห็นว่า สลัมเป็น “ชายขอบ” คือภาระ เป็นกาฝาก หรือเป็นปัญหาของสังคมเมือง แต่อีกฝ่ายหนึ่งมองว่า สลัมมีหน้าที่ที่มีประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจการเมืองโดยรวม คือเป็นแหล่งแรงงานราคาถูกให้กับระบบทุนนิยม เมื่อพิจารณาถึง “กลุ่มคนจนอีกแบบหนึ่ง” ที่ “ชุมชนกองขยะ” เป็นพื้นที่ที่มีลักษณะคล้ายสังคมชนบทในแง่ที่ว่ามีทรัพยากรใกล้ชุมชน แต่มีความแตกต่างในเรื่องของการใช้ทรัพยากรซึ่งเป็นของเหลือใช้จากสังคมอื่นไม่ใช่เป็นทรัพยากรธรรมชาติโดยตรง
                แม้ว่าจะมีทรัพยากรของตนเองแต่การพึ่งพิงภายนอกก็ยังคงมีค่อนข้างอยู่มาก ทั้งในแง่เศรษฐกิจและจากการบริการต่างๆ ของรัฐ นอกจากนี้เนื่องจากกองขยะซึ่งเป็นแหล่งทำกินของพวกเขานั้นเป็นพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ไม่ใช่สมบัติของชุมชน อีกทั้งขยะก็เป็นสิ่งปฏิกูลที่จำเป็นต้องถูกทำลาย ดังนั้นการเข้าไปคุ้ยขยะของคนในชุมชนเพื่อที่จะนำขยะออกมาขายจึงต้องสร้างปฏิสัมพันธ์กับทั้งเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานครและพ่อค้าคนกลาง ซึ่งหากมองในเงื่อนไขของการประกอบอาชีพและการทำมาหากินอันเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจแล้ว ชุมชนน่าจะตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ถูกกำหนดจากเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครและพ่อค้าคนกลาง แต่การปฏิบัติต่อกันระหว่างคนคุ้ยขยะและพ่อค้าคนกลางหรือเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร หรือแม้แต่ระหว่างพ่อค้าคนกลางกับเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร พบว่ามีการกำหนดทิศทางหรือสร้างนิยามในสถานการณ์ต่างๆ โดยไม่มีกฎเกณฑ์หรือแนวปฏิบัติที่ตายตัว
                พื้นที่ชุมชนกองขยะในฐานะที่เป็น “พื้นที่สังคม” (social space) ของชุมชนกองขยะที่มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นๆ ในอีกด้านหนึ่งพื้นที่นี้ก็แสดงตนในฐานะที่เป็นชายขอบ (marginality) ของวิถีชีวิตสังคมเมือง การเป็นชายขอบในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการถูกกีดกันหรือเป็นกาฝากของสังคม ขยะในทัศนะของชาวบ้านคือ “แหล่งโชคลาภ แหล่งรายได้และความเป็นอิสระ นอกจากนี้ชาวชุมชนยังมีวิธีการจัดระเบียบและขอบเขตของขยะ เพื่อลดความรู้สึกแปลกแยกหรือภาวะกดดันต่อพวกเขาเองด้วย
ชุมชนไม่ได้ตัดขาดตนเองออกจากสังคมภายนอก คนในชุมชนเองมีความเป็นอิสระและมีศักยภาพในการดำเนินวิถีชีวิตของตนเองระดับหนึ่ง แต่เมื่อสัมพันธ์กับผู้คนในสังคมเมืองก็ต้องพบกับสภาพความอิหลักอิเหลื่อ (ambivalence) ไม่รู้ว่าจะวางตัวเองอยู่ในส่วนไหนของสังคม “ตนไม่ใช่คนเมือง แต่ก็ไม่ใช่คนบ้านนอก” เวลาที่ออกไปยังนอกบริเวณชุมชนพวกเขาพยายามแต่งตัวให้ดีที่สุด ไม่เชยและสะอาดเพื่อไม่ให้ใครรู้ว่าพวกเขามาจากไหน
หญิงรักหญิง : ผู้หญิงของความเป็นอื่น[11]
การถูกกีดกันให้กลายเป็นคนชายขอบทางเพศของหญิงรักหญิงเป็นผู้มีความผิดปกติด้านจิตใจและเป็นปัญหาสังคม ทำให้หญิงรักหญิงในประเทศไทยต้องเผชิญกับความโดดเดี่ยวและความกดดันอย่างมากจากอคติและการเลือกปฏิบัติที่สังคมทั้งในระดับครอบครัว ระดับสังคม และระดับรัฐ การรับเอาวาทะกรรมวิชาการเรื่องเพศในยุคที่มองเรื่องนี้เป็นความผิดปกติทางจิตใจจากตะวันตก ตลอดจนการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชนไทย จึงเป็นการตอกย้ำและค้ำจุนให้อคติทางเพศที่มีต่อคนชายขอบกลุ่มนี้ยังคงดำรงอยู่ต่อไป
จากการถูกกดทับทางเพศจนตกอยู่ในสภาพถูกรังเกียจเดียดฉันท์ ทำให้คนรักเพศเดียวกันได้แสดงตนและออกมาเคลื่อนไหวในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น โดยรับเอามโนทัศน์เรื่องสิทธิมนุษยชนและแนวคิดใหม่ๆเกี่ยวกับคนรักเพศเดียวกันของตะวันตกมาปรับใช้เพื่อต่อรองช่วงชิงพื้นที่กับวาทะกรรมหลัก ขณะเดียวกันสังคมกระแสหลักทั้งรัฐและสื่อมวลชนเองก็พยายามควบคุมและจัดระเบียบสังคมโดยตลอด ดังเช่น ในปี พ.ศ.2540 สถาบันราชภัฏในการควบคุมดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ ได้ออกกฎระเบียบห้ามผู้มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพสเข้าศึกษาวิชาชีพครู ปรากฏว่ากลุ่มอัญจารีร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านสตรีและสิทธิมนุษยชนได้ออกมาคัดค้านและเรียกร้องให้ยกเลิกนโยบายดังกล่าว จนท้ายที่สุดกระทรวงศึกษาธิการได้ยกเลิกนโยบายนี้ไป สุไลพรชี้ให้เห็นว่าอัตลักษณ์ของหญิงรักหญิงมักถูกทำเสนอด้วยภาพของการเป็น “ทอม” และ “ดี้” ยังเป็นภาพที่คับแคบเกินไป ทั้งนี้เนื่องจากสภาพสังคมและการศึกษาแตกต่างกันไป  การทำความเข้าใจถึงตัวตนที่แตกต่างจากมุมมองของผู้ที่เป็นชายขอบเองจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่ง เพื่อที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขท่ามกลางความหลากหลายซับซ้อน
คุกกับคน:  อำนาจ และการต่อต้านขัดขืน[12]
                คนชายขอบที่อยู่ในสถานที่ต้องห้าม ซึ่งยากที่คนธรรมดาที่จะเข้าไปทราบเรื่องราวภายในได้ เพราะคุกเป็นที่คุมขังผู้ที่กระทำความผิด เป็นสถานที่ลงโทษผู้ต้องหาที่สังคมมักมองว่าไม่สามารถอยู่ร่วมกันกับคนทั่วไปได้อย่างปกติสุข คุกจึงเป็นเสมือนพื้นที่ชายขอบของสังคมไทย การศึกษาเรื่องนี้พยายามให้เห็นว่า ไม่มีอำนาจใดที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดถึงกับไม่มีพื้นที่ให้มนุษย์หาวิธีต่อต้านได้ เป็นการถ่ายทอดชีวิตและหนทางของสตรีในคุกผู้ไม่ยอมจำนนต่ออำนาจรูปแบบต่างๆ
เนื้อหาเรื่องนี้เน้นที่ 3 ประเด็นหลักคือ ประเด็นแรก ศึกษาถึงชีวิตความเป็นอยู่ วงจรชีวิตในแต่ละวันของผู้ต้องขัง รวมถึงการต่อต้านขัดขืนของผู้ต้องขังซึ่งถูกแวดล้อมด้วยกฎระเบียบชุดใหม่โดยทั่วไป เช่น การแอบเก็บผลไม้ไว้กินในกล่อง การตีช้อนให้เป็นมีดเพื่อใช้ปลอกผลไม้ ทั้งๆที่มีกฎห้ามเพราะกลัวจะใช้เป็นอาวุธ เป็นต้น มองการเรียนรู้และกระบวนการปรับตัวเข้ากับกฎระเบียบของผู้ต้องขังว่าเป็นการปรับตัวตามข้อกำหนดหรือกติกาของสังคมและวัฒนธรรมใหม่โดยสิ้นเชิง แต่มองว่าการเรียนรู้และปรับตัวของผู้ต้องขังมีหลายลักษณะขึ้นอยู่กับการตีความกฎระเบียบของผู้ต้องขังและการปรับตัวขึ้นอยู่กับการประเมินผลที่จะได้รับจากการปฏิบัติตามกฎ และเป็นไปได้ว่าในขณะที่กฎระเบียบส่งผลต่อความคิดและการปฏิบัติของผู้ต้องขัง การตีความกฎระเบียบซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้และการปฏิบัติของผู้ต้องขังก็ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบของคุกได้เช่นกัน
                ประเด็นที่สอง เนื่องจากทัณฑสถานหญิงเป็นสถานที่ลงโทษและฟื้นฟูพฤตินิสัยของผู้ต้องขังหญิง การอยู่ร่วมกันของคนเพศเดียว ซึ่งเป็นอีกลักษณะที่ต่างจากโลกภายนอก ผู้ต้องขังเหล่านี้จึงพยายามปรับเปลี่ยนโลกที่พวกเธอมีชีวิตอยู่ให้สามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐานบางอย่าง เช่น ความต้องการความรักความอบอุ่นจากครอบครัว โดยการสมมติ “บ้าน”ที่มีผู้เล่นบทบาทเป็น พ่อแม่ลูก ความต้องการการยอมรับจากคนอื่น จะเห็นได้ว่าผู้ที่มีฐานะทางการเงินดีก็ยังเป้นผู้มีอภิสิทธิ์ดีในสายตาผู้ต้องขังด้วยกัน มีการยืมเงินแล้วทำงานชดใช้หรือได้รับความช่วยเหลืออยู่ตลอดจากผู้ต้องขังคนอื่นๆโดยมีสิ่งของเป็นสิ่งล่อใจ แต่เมื่อไม่มีเงินก็จะไม่ได้รับความสนใจไม่มีเพื่อน ในเรื่องความต้องการทางเพศ มีการรักร่วมเพศ (Lesbian) แม้ว่าบางคนก่อนที่จะเข้ามามามีความสัมพันธ์ทางเพศแบบปกติชายหญิงหรือมีครอบครัวมาก่อนก็ตาม
และประเด็นสุดท้าย  เนื่องจากในหมู่ผู้ต้องขังหญิงเองก็มีความหลากหลาย  เพราะสมาชิกทัณฑสถานหญิงกลางประกอบด้วยผู้หญิงที่มาจากสถานภาพทางสังคม  เศรษฐกิจ  เชื้อชาติ  ศาสนา  กรณีศึกษานี้คือกลุ่มผู้ต้องขังหญิงชาวมุสลิม เพราะเป็นผู้ต้องขังหญิงที่มีอัตลักษณ์เฉพาะที่แตกต่างจากกลุ่มใหญ่ ซึ่งก็มีการปรับตัวในสภาพแวดล้อมและแบบแผนในการใช้ชีวิตแบบใหม่ด้วย นั่นคือ พยายามคงเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นมุสลิมไว้มีการทำละหมาด ถือศีลในเดือนเราะมะฎอน เป็นต้น
ความเป็นชายขอบ : กุญแจสู่ความเข้าใจปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้[13]
รายงานของคณะกรรมการเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติได้ระบุถึงสาเหตุความรุนแรง ได้อธิบายถึง “ชั้น” ของความรุนแรงเรื่องความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กอส. ได้อธิบายไว้ทั้งหมด 3 ชั้นด้วยกัน ได้แก่ ชั้นบุคคล ชั้นโครงสร้าง ชั้นวัฒนธรรม ว่า ก่อนที่จะเกิดขึ้นเป็นการกระทำอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินนั้น เงื่อนไขของความรุนแรงมาจากชั้นของวัฒนธรรมและชั้นของโครงสร้าง ซึ่งทั้งสองชั้นนี้เป็นความรุนแรงสนับสนุนให้กับความรุนแรงได้เพราะถูกทำให้เป็นชายขอบ
                คำอธิบายถึงกระบวนการกลายเป็นคนชายขอบของมลายู-มุสลิมที่ใช้กันโดยทั่วไปในแวดวงวิชาการและในรายงานของ กอส. คือการสร้างรัฐ “ไทย” จากการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางคือกรุงเทพฯ และการนิยามความเป็นไทยที่ไม่รวมเอาความเป็นมลายู-มุสลิม เอาไว้ด้วย การทำให้กลายเป็น “แขก” คนไทยส่วนใหญ่มักเรียกคนมุสลิมว่าแขก แต่ในความเป็นจริงแล้วมันมีความหมายที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะคนมุสลิมนั้นจะเรียกตัวเองว่ามุสลิม “โจรแบ่งแยกดินแดน” เป็นสิ่งที่คนในสามจังหวัดภาคใต้จะมีตราบาปติดตัวว่าเป็นโจรแบ่งแยกดินแดน และ ผู้ก่อการร้าย ส่วนผู้ก่อการร้ายนั้นสังคมส่วนใหญ่มักจะระแวงคนมุสลิมว่าจะเป็นผู้ก่อการร้ายด้วยกระแสของโลก
                การใช้ความแตกต่างทางเชื้อชาติ-ศาสนามาเป็นข้อรังเกียจ ข้อกีดกัน การเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ หากพิจารณาจากรายงาน กอส. หมู่บ้านต่างๆในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดปัญหาความรุนแรงมักจะเป็นพื้นที่มีความขัดแย้งทางด้านการจัดการทรัพยากรสูง เพราะประชาชนในพื้นที่ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรในพื้นที่ ถูกกั้นออกมาทำให้เป็นคนชายขอบทางสังคม หากจะกล่าวถึงการมีทางด้านสังคม ศาสนา วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีซึ่งแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งหมดนี้นำไปสู่การผลัดไสมลายู-มุสลิมไปสู่ชายขอบทั้งสังคมไทย ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เปราะบางต่อการฉวยโอกาสจากการกระทำทุจริตต่างๆ ซึ่งพัฒนาไปสู่ความรุนแรงที่มลายู-มุสลิมตกเป็นเหยื่อของการแสวงหาประโยชน์ ทั้งหมดนี้รัฐไทยสร้างเงื่อนไขสำคัญของปัญหาขึ้นมาด้วยตนเอง
                ชาวมลายู-มุสลิมตกเป็นคนชายขอบกับความรุนแรง สามารถพิจารณาได้ดังนี้ ประเด็นแรก การตกเป็นชายขอบขอบมลายู-มุสลิมอาจทำให้แรงกดดันต่างๆ ที่สังคมใหญ่ของมลายู-มุสลิมว่าเป็นคนชั้นสองในสังคม อาจนำไปสู่เงื่อนไขของการใช้ความรุนแรงได้ ประเด็นที่สอง ความเป็นชายขอบอาจทำให้มีกลุ่มคนต่างๆ หยิบใช้เป็นเครื่องมือเพื่อการแสวงหาผลประโยชน์ เช่น การค้ายาเสพติด การค้าอาวุธ กลุ่มผู้มีอิทธิพล ในสามจังหวัดภาคใต้เป็นพื้นที่ของกลุ่มต่างๆที่ได้ใช้ความแตกต่างทางด้านต่างๆ กับสังคมส่วนใหญ่
การนำเสนอความเป็นตัวตนของหญิงบาร์เบียร์[14]
                ขณะที่สังคมไทยกำลังเกิดภาวะการแตกสลายของครอบครัวและชุมชนภายใต้การขยายตัวของระบบทุนนิยมและความสัมพันธ์เชิงพานิชย์ ผู้หญิงกลุ่มหนึ่งดิ้นรนต่อสู้เพื่อความอยู่รอดทั้งตัวเธอและครอบครัว แต่ถูกสังคมตีตราว่าเป็นหญิงคนชั่วนั้น เป็นวิธีการประเมินคุณค่าของความเป็นมนุษย์ผู้หญิงด้วยการใช้เกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งไปพิพากษาพวกเธอ เช่น การใช้เกณฑ์ทางศีลธรรม เกณฑ์กีดกันในเรื่องเซ็กส์ที่ให้พื้นที่แก่ผู้หญิงภายในสถาบันครอบครัวเท่านั้น เกณฑ์ทางกฎหมายที่จัดวางผู้หญิงในฐานะเป็นอาชญากร การตัดสินผู้หญิงจากแง่มุมใดแง่มุมหนึ่งดังกล่าวเป็นมุมมองเชิงเดี่ยวที่ไม่คำนึงถึงความหลากหลายของสถานการณ์ชีวิตและความซับซ้อนของเงื่อนไขต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิตของผู้คน ดังนั้นการพัฒนาสังคมจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจมุมมองของผู้หญิงในฐานะที่เป็นประชากรครึ่งหนึ่งของสังคม แทนที่จะตัดสินคุณค่าของพวกเธอไปก่อนล่วงหน้าโดยละเลยหรือพิจารณาแง่มุมของผู้หญิงเพียงแต่ผิวเผิน เช่น อธิบายว่าการเกิดโสเภณีเป็นความผิดปกติของผู้หญิง หรือการตัดสินใจของผู้หญิงที่งอมืองอเท้า ชอบงานง่ายๆ เป็นต้น
                จากการศึกษาประสบการณ์ของผู้หญิงที่อาจกล่าวได้ว่า เป็นตัวแทนของกลุ่มผู้หญิงด้อยโอกาสของสังคมสะท้อนให้เห็นว่า แม้แต่ในโลกการค้าประเวณีที่ถูกสังคมมองว่าลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้หญิง ผู้หญิงก็ไม่ได้สยบยอมต่อการเป็นเพียงวัตถุทางเพศอย่างไม่มีเงื่อนไข แต่ผู้หญิงกลับใช้เงื่อนไขของบาร์เบียร์ที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมระหว่างผู้หญิงและลูกค้ามาสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบใหม่ที่เต็มไปด้วยการต่อรองเรื่องอารมณ์และยังคงรักษาพื้นที่ในการเป็นผู้ที่มีสิทธิ์แสดงความพอใจในฐานะที่เป็นมนุษย์
                เช่นเดียวกับภาวะความเป็นเมียในบริบทครอบครัว ผู้หญิงตระหนักรู้ว่าในภาวะของ “ผู้ถูกกระทำ” และได้พยายามดิ้นรนในแบบต่างๆ นับตั้งแต่การเปลี่ยนจากผัวไทยมาสู่ผัวฝรั่ง และหวนกลับไปสู่หญิงบาร์เบียร์ด้วยการจัดวางความสัมพันธ์กับผู้ชายในหลากหลายแบบ ภาพดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงพยายามเลือกจัดวางตนเองในบทบาทที่ไม่เป็นผู้รองรับในทุกมิติ
                ถ้าหากผู้หญิงยอมตกอยู่ในฐานะของ “ผู้ถูกกระทำ” ภายใต้ความสัมพันธ์ที่ตายตัวแบบเดิม ผู้หญิงย่อมไม่โอกาสได้เลือก แต่เมื่อผู้หญิงหลุดออกจากมุมมองเชิงเดี่ยวที่มากำหนดคุณค่าของความเป็นผู้หญิงแล้ว พวกเธอได้สร้างความหมายของความสัมพันธ์หญิงชายที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อนมากกว่าแค่ความเป็นผัวเมีย หรือความเป็นหญิงบริการกับลูกค้าเท่านั้น การต่อสู้เพื่อพลิกบทบาทการเป็นผู้กำหนดเพื่อรักษาคุณค่าความเป็นมนุษย์ของหญิงบาร์เบียร์เป็นไปตามโลกของประสบการณ์ที่แวดล้อมชีวิตของพวกเธอก็ไม่ได้ต่อสู้บนหนทางนี้แต่เพียงผู้เดียว หากแต่ยังมีผู้หญิงบาร์เบียร์คนอื่นๆอยู่ร่วมบนถนนสายเดียวกัน
                อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ของผู้หญิงบาร์เบียร์ไม่ได้เป็นการต่อสู้เพื่อเสรีภาพทางเพศของปัจเจกบุคคล เนื่องจากการนิยามความเป็นตัวตนของความเป็นผู้หญิงในบริบทของสังคมไทยมีรากฐานที่สัมพันธ์กับครอบครัวและชุมชน ซึ่งก่อให้เกิดความซับซ้อนและไม่หยุดนิ่งตายตัว อีกทั้งการนิยามความเป็นตัวตนยังเกิดขึ้นอย่างเป็นกระบวนการ ซึ่งมีช่วงเปลี่ยนผ่านในแต่ละสถานการณ์ของชีวิต ดังนั้นการดิ้นรนของผู้หญิงบาร์เบียร์จึงแตกต่างจากความพยายามสร้างภาพของโสเภณีให้กลายเป็นตัวตนใหม่ทางการเมือง(Political subject) เป็นกบฏในทางเพศหรือผู้ปลดปล่อยเซ็กส์ ในประเด็นนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจ “ความเป็นตัวตน” ของความเป็นผู้หญิงที่ไม่หยุดนิ่งหรือผูกขาดความหมายที่เป็นสากล อีกทั้งยังต้องคำนึงความแตกต่างทางวัฒนธรรม ความแตกต่างทางชนชั้นและเงื่อนไขของประสบการณ์ชีวิต
ฝิ่นกับคนม้ง : พลวัตความหลากหลายและความซับซ้อนแห่งอัตลักษณ์ของคนชายขอบ[15]
ปัญหายาเสพติดเป็นหนึ่งในภาพลักษณ์ที่ถูกสร้างและผลิตซ้ำในสังคมไทยเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ผู้เคยมีวัฒนธรรมการผลิตฝิ่นมายาวนานในอดีต ชาวม้งมักถูกอ้างว่าเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหายาเสพติดในฐานะผู้ปลูก ผู้เสพ ค้าฝิ่นและเฮโรอีนไปจนถึงการค้ายาบ้าในปัจจุบัน ภาพลักษณ์เหล่านี้ถูกสะท้อนและตอกย้ำให้ผู้คนในสังคมเชื่อและเข้าใจเช่นนั้นด้วยการเผยแพร่จากสื่อมวลชนออกสู่สาธารณะ ดังเช่น “มหาดไทยวางแผนย้ายม้งวัดถ้ำกระบอกเข้าสู่ศูนย์อพยพที่โคราช เพราะมีจำนวนมาก และพยายามจะตั้งหลักแหล่งถาวรที่ประเทศไทย” (กรุงเทพธุรกิจ, 2540) “แก๊งยาบ้ากำแหง จับตร.เรียกค่าไถ่ โดนม้งลากขึ้นเขา” (ไทยรัฐ, 2541) พร้อมๆ กับการเผยแพร่ภาพลักษณ์นี้สู่สาธารณะต่างก็ได้สร้างความคิดว่าชาวม้งและชนบนที่สูงเป็นกลุ่มที่ต้องได้รับความช่วยเหลือให้พ้นไปจากปัญหา ภาพลักษณ์และสถานการณ์เช่นนี้ล้วนสร้างภาพลบแก่ชาวม้งให้ถูกกีดกันและถูกประทับตราจากสังคมให้กลายเป็นผู้ต่ำต้อยทางศีลธรรมและเบียดขับชาวม้งให้กลายเป็นคนชายขอบของสังคมไปในที่สุด
                แต่หากกลับไปพิจารณาข้อมูลในประวัติศาสตร์เพื่อฉายภาพลักษณ์ฝิ่นของสังคมทั่วไปกับภาพลักษณ์ฝิ่นของชาวม้งและชนบทที่สูงกลับพบภาพลักษณ์ของฝิ่นที่ทับซ้อนกันมากมายหลายภาพ และปรับเปลี่ยนไปมาจนถึงปัจจุบัน ในสังคมตะวันตก ก่อนที่ฝิ่นจะกลายเป็นสิ่งผิดศีลธรรมและกลายเป็นยาเสพติด ภาพลักษณ์ฝิ่นของสังคมตะวันตกยุคล่าอาณานิคม คือ พืชที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์ของพ่อค้าและรัฐบาลตะวันตก จนฝิ่นแพร่ระบาดไปทั่วเอเชีย จากนั้น ฝิ่นยังกลายเป็นพืชการเมืองเพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าของประเทศจีน และถูกใช้เป็นเครื่องมือของนักล่าอุดมการณ์เสรีนิยมอย่างสหรัฐอเมริกาและกลุ่มอำนาจต่างๆ จนสร้างกระบวนการค้าฝิ่นบนภูเขาให้เติบโตขึ้นในเขตสามเหลี่ยมทองคำ
                ขณะที่ในวิถีวัฒนธรรมของชาวม้งและชนบนที่สูง ฝิ่นกลับมีภาพลักษณ์และมิติอันหลากหลายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่เชื่อมโยงกับความรู้พื้นบ้านและวัฒนธรรมทั้งในแง่การรักษาพยาบาลพื้นบ้าน การเป็นพืชองค์ประกอบของระบบการผลิตเพื่อการยังชีพที่สอดคล้องกับระบบนิเวศบนภูเขา และเป็นพืชเศรษฐกิจที่ใช้แลกเปลี่ยนสิ่งของอันจำเป็น สะสมเป็นเงินทองเป็นค่าสินสอดและใช้จ่ายในกิจกรรมต่างๆ ครอบครัวและชุมชน ตลอดจนฝิ่นยังถูกใช้แสดงเป็นเครื่องแสดงความมั่งคั่งในชีวิตและสถานภาพต่อสังคม ความสำคัญของฝิ่นต่อชาวม้งยังแทรกซึมลงไปในวิธีคิดและอุดมการณ์ของชาวม้งซึ่งสะท้อนให้เห็นในตำนาน พิธีกรรมความเชื่อและเรื่องเล่าต่างๆ ของสังคมม้ง แต่ภาพลักษณ์ฝิ่นที่มีความหลากหลายและทับซ้อนไปมาเหล่านี้ได้ถูกลดทอนให้เหลือเพียงภาพลักษณ์ของยาเสพติดในปัจจุบันที่เชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ชาวม้ง ซึ่งได้กลายเป็นภาพตีตราชาวม้งและชนบนที่สูงให้กลายเป็นผู้ต่ำต้อยทางศีลธรรมของสังคมและกักขังชาวม้งให้ติดอยู่กับอัตลักษณ์ที่ตายตัวในปัจจุบัน
                ความหมายของฝิ่นที่ถูกสร้างขึ้นจากปฏิบัติการทางภาษา (Discursive Practices) แต่ในยุคสมัยบนฐานการเมืองเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ปรับเปลี่ยนไปมาระหว่างกลุ่มวัฒนธรรมครอบงำซึ่งได้สร้างชุดวาทกรรมครอบงำผ่านการสร้างภาพตัวแทน/ผลิตชุดความหมายเพื่อสนองตอบต่อผลประโยชน์ของตนกับชาวม้งซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ด้อยอำนาจ ที่ถูกจัดวางและถูกเบียดขับจากวาทกรรมครอบงำชุดนี้ การกักขังโดยการสร้างภาพตัวแทน (Representation) ของฝิ่นเป็นชุดวาทกรรมครอบงำที่เชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ของชาวม้ง โดยภาพตัวแทนและชุดนิยามความหมายของฝิ่นว่าเป็นยาเสพติดได้สร้างความชอบธรรมให้กับรัฐ และวัฒนธรรมครอบงำได้เข้าไปควบคุมจัดและการชีวิตของชาวม้งบนแนวบนแนวคิด “การพัฒนา” ผ่านกระบวนการใช้อำนาจต่างๆ ของรัฐ ไม่ว่าการกำหนดนโยบาย มาตรการ กฎหมาย รวมไปถึงการใช้องค์กร/หน่าวยงานรัฐ ซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติการแห่งการกักขัง (Agent of Containment) ทำการควบคุมดูแลนโยบาย มาตรการ และโครงการต่างๆ สามารถดำเนินการไปได้อย่างต่อเนื่องด้วยการปฏิบัติการทางภาษาที่ผลิตและขยายองค์ความรู้ด้านยาเสพติดกับชาวม้งและชนนบนที่สูง มีการสร้างทฤษฎีจำแนกแยกแยะ สร้างกลไกจำแนกชาวม้งและชนบนที่สูงออกจากกลุ่มคนอื่นๆ มีมาตรการเฉพาะต่อการควบคุมจัดการปัญหาการปลูกฝิ่นของชนบนที่สูงเพื่อตอกย้ำการ “มีอยู่” ของภาพตัวแทนและวาทกรรม
                อย่างไรก็ตามชาวม้งก็มิได้ยอมจำนน เป็นผู้ถูกกระทำเพียงฝ่ายเดียว หากแต่ชาวม้งยังอยู่ในสถานะที่เป็นผู้กระทำ (Subject) ที่ต่อสู้ดิ้นรน (Active) ภายใต้เงื่อนไขที่แตกต่างกัน ทั้งด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน ผ่านกระบวนการในการนำเสนอตัวตนผ่าน หมอยาพื้นบ้านที่วิจารณ์รัฐ หมอผีพื้นบ้านสร้างตำนานขึ้นมาตอบโต้ การดื้อแพ่งเพิกเฉย การประชดประชันโดยการไม่รับความช่วยเหลือใดๆ การสร้างภาพใหม่เป็นชุมชนปลอดยาเสพติด การเป็นผู้มีการศึกษาโดยการเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยในเมือง
กระบวนการสร้างพื้นที่ทางสังคมของผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นปอบ[16]
                “ผีปอบ” เป็นผีที่เกิดจากคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ตามความเชื่อของคนอีสานแล้วผีปอบเป็นผีที่ให้โทษ เนื่องจากผู้ที่ถูกชาวบ้านกล่าวหาว่าเป็นปอบจะได้รับความเดือดร้อนจากความเกลียดชังของชาวบ้าน ในขณะเดียวกันชาวบ้านก็เกิดความกลัวว่าจะได้รับอันตรายจากผีปอบ มูลเหตุแห่งการเป็นผีปอบนั้นมีสาเหตุมาจากหลายประการ เช่น การเรียนเวทย์มนต์คาถาชนิดต่างๆแล้วทำผิดข้อห้ามหรือข้อ “ขะลำ” ถือเครื่องรางของขลัง มีว่านชนิดต่างๆ เช่น ว่านผีปอบ และว่านกระจาย เป็นต้น และคนที่มีพ่อหรือแม่เป็นปอบแล้วสืบทอดมาสู่ลูกหรือญาติมิตรคนคนสนิท เรียกว่า “ปอบเชื้อ” นอกจากนั้นยังมีสาเหตุมาจากการที่คนที่ผีปอบแฝงอยู่เสียชีวิต หรือผีปอบที่แฝงอยู่คนๆนั้น ถูกหมอธรรมหรือผู้มีเวทย์ทำพิธีขับไล่ออกจากร่างผู้ที่เป็นปอบ ผีปอบผู้ที่ข้าวของเสียชีวิตหรือถูกหมอธรรมขับไล่จะล่องลอยไปตามที่ต่างๆ โดยที่เวทย์มนต์ไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้สามารถไปแฝงอยู่ในร่างกายของคนอื่นต่อไปได้ สำหรับผู้ที่ถูกชาวบ้านเชื่อว่าเป็นผีปอบนั้น จะได้รับผลกระทบทางสังคมเป็นอย่างมาก บางคนถึงกับอยู่ร่วมในสังคมนั้นไม่ได้ แม้ว่าเรื่องความเชื่อเรื่องผปอบในสังคมคนอีสานจะไม่มีนักวิชาการยืนยันหรือมีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่ามีจริงหรือไม่ก็ตาม ปรากฏการณ์ความเชื่อทางสังคมดังกล่าว ก็ยังได้รับการถ่ายทอดมาสู่คนอีสานรุ่นแล้วรุ่นเล่าจนอาจกล่าวได้ว่าเป็นมรดกทางความเชื่อของชาวอีสานโดยปริยาย
                ความเชื่อเรื่องผีปอบมีลักษณะพิเศษกว่าผีอื่นอื่นตรงที่เป็นคน เชื่อกันว่าคนที่เล่นของเล่นคาถาอาคมแล้วทำผิดข้อห้ามจะกลายเป็นปอบ คนที่เป็นปอบชอบไปสิงอยู่ในผู้คนเพื่อกินตับไตไส้พุง จนคนที่ถูกสิงตาย หรือบางคนมีวิชาอาคมอาจเลี้ยงผีปอบไว้ เพื่อไปทำลายผู้คนที่ตนเกลียดให้เจ็บป่วยล้มตายไป ใครก็ตามที่ถูกชาวบ้านเชื่อว่าเป็นปอบจะถูกขับไล่ไสส่งออกจากหมู่บ้าน เป็นที่เกลียดกลัวของผู้คน นอกจากพวกที่เป็นปอบพระทำผิดข้อห้าม ยังมีคนที่ถูกเชื่อว่าเป็นปอบเพราะสืบทอดมาจากพ่อแม่พี่น้อง พวกนี้เรียกกันว่า “ปอบเชื้อ” คนที่เป็นอาจจะไม่รู้เรื่องอะไรมาก่อนก็ได้ มารู้ก็ต่อเมื่อคนที่ถูกผีปอบเข้า “ออกปาก” เวลาถูกหมอธรรม หมอผีไล่ ต้องมารับเคราะห์หลบลี้ไปอยู่ที่อื่นหรือไปหาคนรักษา การที่ปอบทำร้ายคนนี้เอง ทำให้คนที่ถูกชาวบ้านเชื่อว่าเป็นปอบจะถูกขับไล่ออกจากหมู่บ้าน เป็นที่เกลียดกลัวของผู้คน การที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นปอบนี้จะมีผลกระทบต่อผู้ถูกกล่าวหาเป็นอย่างมาก ชาวบ้านเกลียดชัง และบางทีชาวบ้านก็รุมทำร้าย ผู้ที่เป็นปอบต้องเร่ร่อนไปตามที่ต่างๆ แม้ว่าจะมีบ้านเรือน ที่ดิน ไร่นา เป็นของตนเองก็ไม่สามารถที่จะอาศัยอยู่ได้ ทำให้ต้องหนีไปอยู่ที่อื่นๆ ที่ไม่มีคนรู้จัก
                หากพิจารณาในทางสังคมวิทยา คนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นปอบจะมีลักษณะของการเป็นตนชายขอบ เป็นคนที่สังคมส่วนใหญ่ในชุมชนนั้นไม่ต้องการพวกเขา เป็นเหมือนกับกลุ่มคนที่เป็นเอดส์หรือกลุ่มคนที่เป็นคนเก็บขยะ เป็นกลุ่มคนที่หาพื้นที่ในสังคมปกติได้ยาก พวกเขาต้องพยายามที่จะดำรงอยู่ในสังคมและพิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขาสามารถอยู่ร่วมกับสังคมส่วนรวมได้
ภาวะการกลายเป็นคนชายขอบของผู้ป่วยเอดส์[17]
                ปัญหาการเบียดขับและกีดกันผู้ป่วยเอดส์นั้นมีเหตุปัจจัยประกอบกันหลายประการ ประการสำคัญมาจากผลของการประชาสัมพันธ์และการให้ความรู้เรื่องโรคเอดส์แก่ประชาชนโดยรัฐนั่นเอง กล่าวคือการควบคุมและป้องกันโรคเอดส์ในระยะแรก มุ่งเน้นไปที่การประชาสัมพันธ์เรื่องโรคเอดส์โดยการสร้างนิยามความหมายที่เกี่ยวข้องกับ “โรคเอดส์” ในสังคมไทยไปสู่ยุคลากรของภาครัฐ สื่อมวลชน ตลอดจนประชาชนทั่วไปโดยเน้นกลวิธี “เขียนเสือให้วัวกลัว” ด้วยการผูกโยงเรื่องโรคเอดส์เข้ากับสิ่งที่มีอันตรายร้ายแรงต่อชีวิต เช่น การนำเสนอภาพของผู้ป่วยเอดส์ในระยะสุดท้ายที่มีความน่าเกลียดน่ากลัวและทุกข์ทนทรมาน ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมากต่อความเข้าใจของประชาชนและปฏิกิริยาต่อผู้ป่วยเอดส์ ต่อมามีการปรับเปลี่ยนนโยบายและการประชาสัมพันธ์มนเรื่องโรคเอดส์ใหม่ โดยเน้นให้เข้าใจ สงสาร ยอมรับและช่วยเหลือผู้ติดเชื้อเอดส์ให้มากขึ้น แต่ยังมาสามารถลบล้างความเข้าใจเดิมๆเกี่ยวกับโรคเอดส์ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าวิตกเพราะเป็นสิ่งที่ขัดขวางการเข้าถึงผู้ติดเชื้อเอดส์ในแง่มุมต่างๆ ได้แก่การสร้างความตระหนักให้รับผิดชอบต่อสังคม และทำให้งานด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับโรคเอดส์ เช่น การป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ก็จะดำเนินไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากผู้ป่วยเอดส์ไม่ยอมที่จะเปิดเผยตนเองต่อสังคมเพราะเกรงว่าจะถูกรังเกลียดและถูกเบียดให้ตกขอบจากสังคมทำให้ไม่กล้ารักษาพยาบาลและจำยอมรับสภาพภาวะการกลายเป็นคนชายขอบโดยดุษฎี
                ผู้ป่วยเอดส์ต้องทุกข์ทรมานกับการเจ็บป่วยทางร่างกายและเผชิญกับปฏิกิริยาของคนในสังคม เช่น การถูกปฏิเสธจากสังคมโดยถูกมองว่าเป็นคนเลว ประพฤติผิดศีลธรรม และเป็นอันตรายต่อสังคม เนื่องจากการให้ข้อมูลเชิงสัญลักษณ์กับผู้ป่วยเอดส์ ซึ่งนำไปสู่การอคติแล้วการแบ่งแยกซึ่งสะท้อนให้เห็นปฏิกิริยาของสังคมที่แสดงความหวาดกลัว รังเกียจเดียดฉันท์ ไม่ยอมรับ กีดกัน ต่อต้าน ริดรอนสิทธิประโยชน์และโอกาสรับบริการต่างๆจากสังคม และเกิดผลกระทบตามมาคือ ผู้ป่วยเอดส์ถูกให้ออกจากงาน ต้องเปลี่ยนงาน หรือมาสามารถทำงานต่อไปได้ ทำให้ขาดรายได้ สูญเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการรักษา สูญเสียบทบาทหน้าที่ ไม่มีที่อยู่อาศัย ถูกปฏิเสธจากครอบครัว ถูกทอดทิ้งให้โดดเดี่ยว สูญเสียสัมพันธภาพระหว่างบุคคล และสูญเสียศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งควรจะได้รับความเข้าใจ อภัย และให้โอกาสผู้ป่วยเอดส์ ให้มีพื้นที่อยู่ในสังคม เช่น เดียวกับผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน วัณโรค หรือคนปกติทั่วไป
                แม้แต่บุคลากรทางการแพทย์ก็บ่ายเบี่ยงหรือปฏิเสธในการรักษา ซึ่งปฏิกิริยาที่แสดงออกไม่เห็นใจผู้ติดเชื้อเอชไอวี ทำให้ผู้ป่วยเอดส์มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล และไม่มารับการรักษาที่โรงพยาบาล หรือเมื่อเจ็บป่วยก็ไม่กล้าที่จะบอกกับนายจ้าง เพื่อนร่วมงาน เพราะเกรงว่าจะรับรู้เรื่องการติดเชื้อเอชไอวี และจะถูกไล่ออกจากงาน ทำให้ขาดรายได้เพื่อเลี้ยงชีพและครอบครัว ส่วนปฏิกิริยาของชุมชนที่มีต่อผู้ป่วยเอดส์และครอบครัว พบว่าได้รับการปฏิบัติในเชิงลบ เช่น เมื่อผู้ป่วยเอดส์เสียชีวิตเพื่อนบ้านไม่กล้ามาร่วมงานศพหรือหากมาร่วมก็ไม่กล้าที่จะรับประทานอาหาร หรือน้ำที่ทางครอบครัวผู้ป่วยเอดส์นำมาเลี้ยง เนื่องจากมีความเชื่อว่าจะติดเชื้อเอชไวี โดยผ่านทางอาหาร
ความรู้สึกของผู้ป่วยเอดส์ที่ต้องกลายเป็นคนชายขอบในสังคม คือความรู้สึกเจ็บปวดและทรมาน อ้างว้างเหมือนเป็นคนแปลกหน้าในวัฒนธรรมของตนเอง จึงต้องการให้สังคมให้โอกาสและยอมรับในฐานะบุคคลคนหนึ่งและมีพื้นที่ยืนในสังคม สามารถประกอบอาชีพ มีรายได้อยู่อย่างครอบครัวอย่างปกติสุข แต่สังคมไม่เปิดโอกาสและตั้งข้อรังเกียจนานัปการ จึงทำให้ผู้ป่วยเอดส์ไม่มีพื้นที่ในสังคม ไม่ได้รับการเอาใจใส่ดูแลเมื่อเจ็บป่วยจากครอบครัวและญาติพี่น้อง เพื่อนบ้านไม่คบหาสมาคมด้วย และต้องหาที่พักพิงก่อนตายตามลำพัง ซึ่งความเป็นชายขอบไม่เฉพาะทางด้านเศรษฐกิจและสังคมเท่านั้น แต่ยังต้องทุกข์ทนทรมานกับความเจ็บป่วยทางร่างกายและถูกตอกย้ำให้เจ็บป่วยทางจิตใจอีกด้วย

บทสรุป
                การศึกษาคนชายขอบได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า วิธีคิดเชิงเดี่ยวที่ยึดติดอยู่กับกรอบคิด หน่วยทางสังคม และความหมายอย่างตายตัวนั้น ไม่สามารถอธิบายกระบวนการที่ซับซ้อนของความเป็นชายขอบได้ เพราะคนชายขอบมีลักษณะที่หลากหลายและกว้างขวาง ขณะที่สามารเกิดขึ้นได้กับกลุ่มคนต่างๆ มากมายภายใต้กระบวนการและบริบททางสังคมที่ซับซ้อน แต่ต้องอาศัยแนวการคิดวิเคราะห์ด้วยวิธีคิดเชิงซ้อน ที่มองว่าคนนั้นมีชีวิต อยู่ในความสัมพันธ์ทางสังคมอย่างเคลื่อนไหว บนพื้นฐานที่ว่า คนสามารถสร้างความหมายหลายๆ อย่างพร้อมๆ กัน ในการดำรงชีวิตอยู่ในบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อันเนื่องมาจากการปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างกลุ่มคนต่างๆ ซึ่งต้องเรียนรู้และต่อสู้อย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาความเป็นคนของตนเอง ด้วยการผลิตความหมายและสร้างวาทกรรมต่างๆ ทั้งในแง่ของความรู้ พื้นที่ อัตลักษณ์ และบทบาท ให้มีลักษณะสลับซับซ้อนและเลื่อนไหลโดยไม่มีความหมายที่คงที่ ในความพยายามที่จะโต้ตอบและต่อรองกับการครอบงำทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการกีดกันให้สูญเสียอำนาจ และกระบวนการลดทอนความเป็นมนุษย์ ซึ่งพยายามเปลี่ยนวัฒนธรรมให้กลายเป็นสินค้า และกักขังอัตลักษณ์ด้วยการติดป้ายให้มีความหมายตายตัวในแง่ลบ เพราะกระบวนการเหล่านี้ต่างล้วนผลักดันให้มนุษย์กลายเป็นคนชายขอบ ในขณะเดียวกันกระบวนการดังกล่าวก็ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง และสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกหนทุกแห่งในสังคมไทย ภายใต้วัฒนธรรมบริโภคนิยมของกระแสโลกาภิวัตน์
                ดังนั้นการศึกษากระบวนการเรียนรู้และการต่อสู้ของคนชายขอบทั้งหลายจะช่วยให้เข้าใจศักยภาพของความเป็นคนว่าสามารถดำรงอยู่ได้อย่างไร แม้จะตกอยู่ในสถานภาพที่ถูกลดทอนความเป็นคนอย่างถึงที่สุดก็ตาม ก็จะพบในกรณีศึกษาต่างๆ ว่า คนชายขอบไม่เคยยอมถูกกักขังให้อยู่ในกรอบที่ตายตัวแต่จะขัดขืนต่อสู้ ด้วยการเรียนรู้และสร้างสรรค์อยู่ตลอดเวลา เพื่อปรับตัวให้มีชีวิตอยู่ได้ในพื้นที่และอัตลักษณ์ที่ซับซ้อนสลับไปสลับมา ศักยภาพดังกล่าวของคนชายขอบ ในด้านหนึ่งนับว่ามีนัยสำคัญต่อความเข้าใจวัฒนธรรมของการเรียนรู้ท่ามกลางการต่อสู้ในชีวิตจริง ขณะที่ในอีกด้านหนึ่งนั้น ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการสร้างประชาสังคม ที่ต้องการให้ทุกส่วนของสังคมมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงเพราะจะช่วยลดช่องว่างในสังคมปัจจุบันที่นับวันจะมองคนที่แตกต่างกันทางสังคมและวัฒนธรรมจากแง่มุมของ “ความเป็นอื่น” (The Otherness) มากขึ้น ซึ่งมักแฝงไว้ด้วยนัยของความไม่เท่าเทียมกันในสังคม โดยชี้ให้เห็นพลังของความเป็นคนว่าสามารถดำรงอยู่ได้อย่างหลากหลาย ในด้านกลับกันศักยภาพในการเรียนรู้ที่แตกต่างกันของคนชายขอบก็จะกลายเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาสังคมไทยด้วยการสร้างความเข้าใจที่หลากหลายในการปรับตัวของมนุษย์ต่อทิศทางการเปลี่ยนแปลง ที่นับวันจะยิ่งทวีความไม่แน่นอน ขณะที่สังคมไทยต้องร่วมอยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์อย่างไร้ความสามารถ ในการกำหนดชะตากรรมของตนเองมากขึ้นทุกที
                ถ้าหากสังคมไทยต้องการเห็นการต่อสู้ของคนชายขอบ แสดงทั้งพลังของความเป็นมนุษย์และพลังสร้างสรรค์อย่างแท้จริง จะต้องช่วยกันขจัดเงื่อนไขปิดกั้นต่างๆ ที่แฝงอยู่ในโครงสร้างของสังคม ไม่ว่าจะเป็นวิธีคิดเชิงเดี่ยวในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะความคิดเกี่ยวกับสิทธิ ตลอดจนโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่บิดเบือน เพราะเงื่อนไขเหล่านี้ล้วนแต่ก่อให้เกิดผลด้านลบโดยไม่ได้ตั้งใจเสมอ อีกทั้งยังทำให้เกิดความเข้าใจผิด จนมักกล่าวโทษคนที่ตกเป็นเหยื่อทั้งหลายว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาต่างๆ ในสังคม ยิ่งไปกว่านั้นยังกลายเป็นเสมือนเส้นผมที่บังภูเขา ซึ่งปิดกั้นสายตาของตนเองไม่ให้สนใจในการแสวงหาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา ทั้งนี้เพราะสาเหตุที่แท้จริงก็คือส่วนหนึ่งของเงื่อนไขที่ปิดกั้นเหล่านั้นนั่นเอง
                นอกจากจะต้องช่วยกันขจัดเงื่อนไขที่ปิดกั้นต่างๆ แล้ว ภาคประชาสังคมคงจะต้องร่วมกันสร้างเงื่อนไขที่สนับสนุนกลุ่มคนทุกๆ กลุ่มในสังคมไทยให้สามารถแสดงพลังของความเป็นคนและพลังสร้างสรรค์คือย่างอิสระมากขึ้นด้วยการหันมาสนใจเปิดพื้นที่ทางสังคมใหม่ๆ จากความคิดในประเด็นต่างๆ เช่น ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ สิทธิชุมชน สิทธิเชิงซ้อน ระบบกฎหมายเชิงซ้อน และการจัดการแบบมีส่วนร่วม ฯลฯ เป็นต้น ทั้งนี้เพราะความหมายของพื้นที่ทางสังคมใหม่ๆ นั้น ล้วนได้มาจากการเรียนรู้และการต่อสู้ของคนชายขอบนั่นเอง ซึ่งจะไม่มีความหมายอย่างตายตัว แต่เปิดกว้างให้ทุกคนทุกกลุ่มมีส่วนร่วมในการให้ความหมายอย่างอิสระ เพื่อจะช่วยกันสร้างสรรค์ความสัมพันธ์ทางสังคมขึ้นมาใหม่ ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพในสิทธิของความเป็นคนอย่างเท่าเทียมกัน


[1] บทความนำเสนอรายวิชา 415 710 สังคมวิทยาการพัฒนา ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2554
[2] นักศึกษาหลักสูตรปริญญาโทสาขาสังคมวิทยาการพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น
[3] เก็บความคำว่า “Marginalization” ใน The concise oxford dictionary of sociology, 1996, p.304. อ้างใน สุริชัย หวันแก้ว. กระบวนการกลายเป็นคนชายขอบ. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาสังคมวิทยา สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, 2546.
[4] แปลโดย ปราโมทย์ ตั้งเกียรติกำจาย จาก “Marginality” ใน Charlotte Seymour-Smith. MacMillan Dictionary of Anthropology. London: MacMillan, 1986. p.177-178. อ้างใน สุริชัย หวันแก้ว. กระบวนการกลายเป็นคนชายขอบ. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาสังคมวิทยา สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, 2546.
[5] ชูศักดิ์ วิทยาภัค บรรณาธิการ. “บทนำ: สังคมศาสตร์กับการศึกษาคนชายขอบ, วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 11: 1, 2541, น.17-18.
[6] สุริยา สมุทคุปติ์ และพัฒนา กิติอาษา. มานุษยวิทยากับโลกาภิวัตน์: รวมบทความ. นครราชสีมา: ห้องไทยศึกษานิทัศน์, สำนักวิชาเทคโนโลยีสังคม, มหาวิทยาลัยสุรนารี, 2542, น.21.
[7] Seymour-Smith, Charlotte. Dictionary of Anthropology. London: MacMillan Press, 1986, p.177. อ้างใน สุริยา สมุทคุปติ์ และพัฒนา กิติอาษา. มานุษยวิทยากับดลกาภิวัตน์: รวมบทความ. นครราชสีมา: ห้องไทยศึกษานิทัศน์, สำนักวิชาเทคโนโลยีสังคม, มหาวิทยาลัยสุรนารี, 2542, น.22.
[8] ทวิช  จตุวรพฤกษ์. เสียงจากคนชายขอบ. เชียงใหม่: เครือข่ายชาติพันธุ์ศึกษาศูนย์ภูมิภาคเพื่อการศึกษาสังคมศาสตร์และการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2541.
[9] บุญเลิศ  วิเศษปรีชา. โลกของคนไร้บ้าน. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2546.
[10] สิริพร สมบูรณ์บูรณะ. วิถีชีวิตคนใน “ชุมชนชายขอบ” ของสังคมเมือง : กรณีศึกษาคนคุ้ยขยะในชุมชนกองขยะชานเมือง. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2545.
[11] สุไลพร  ชลวิไล. หญิงรักหญิง : ผู้หญิงของความเป็นอื่น. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, ม.ป.ป.
[12] สายพิณ  ศุพุทธมงคล. คุกกับคน: อำนาจและการต่อต้านขัดขืน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2543.
[13] ธนะจักร เย็นบำรุง. ความเป็นชายขอบ : กุญแจสู่ความเข้าใจปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้, เอกสารสรุปสัมมนาวิชาการสมานฉันท์แก้ปัญหาสังคมขัดแย้งได้อย่างไร. ขอนแก่น: สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2548.
[14] โสภิดา วีรกุลเทวัญ. การนำเสนอความเป็นตัวตนของหญิงบาร์เบียร์. เชียงใหม่ : มูลนิธิผู้หญิง กฎหมาย และการพัฒนาชนบท และศูนย์สตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2546.
[15] อรัญญา ศิริผล. ฝิ่นกับคนม้ง : พลวัตความหลากหลายและความซับซ้อนแห่งอัตลักษณ์ของคนชายขอบ. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาพัฒนาสังคม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2544.
[16] พระมหาสัมภาษณ์ ไชยตะมาตย์. กระบวนการสร้างพื้นที่ทางสังคมของผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นปอบ. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาสังคมวิทยาการพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2553.
[17] อรอุษา ภูมิบริรักษ์. ภาวะการกลายเป็นคนชายขอบของผู้ป่วยเอดส์. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาสังคมวิทยาการพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2547.
______________________________________________________________________________________________

บรรณานุกรม
ขวัญชีวัน บัวแดง. การเปลี่ยนศาสนา : ความซับซ้อนของการแสดงตัวตนของคนกะเหรี่ยงทางภาคเหนือของประเทศไทย, ใน ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี บรรณาธิการ. อัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ และความเป็นชายขอบ. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2546.
ชูศักดิ์ วิทยาภัค บรรณาธิการ. “บทนำ: สังคมศาสตร์กับการศึกษาคนชายขอบ, วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 11: 1, 2541.
ทวิช  จตุวรพฤกษ์. เสียงจากคนชายขอบ. เชียงใหม่: เครือข่ายชาติพันธุ์ศึกษาศูนย์ภูมิภาคเพื่อการศึกษาสังคมศาสตร์และการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2541.
ธงชัย วินิจจะกูล. ประวัติศาสตร์การสร้าง “ตัวตน”, ใน สมบัติ จันทรวงศ์ และชัยวัฒ สถาอานันท์ บรรณาธิการ. อยู่เมืองไทย: รวมบทความทางสังคมเพื่อเป็นเกียรติแด่ ศ.เสน่ห์ จามริก ในโอกาสครบรอบ 60 ปี. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2530.
ธนะจักร เย็นบำรุง. ความเป็นชายขอบ : กุญแจสู่ความเข้าใจปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้, เอกสารสรุปสัมมนาวิชาการสมานฉันท์แก้ปัญหาสังคมขัดแย้งได้อย่างไร. ขอนแก่น: สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2548.
นรินทร คูณเมือง. ความเป็นชายขอบในชาติพันธุ์ถิ่น-ยวนในจังหวัดเลย. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปะศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาสังคมวิทยาการพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2550.
บุญเลิศ  วิเศษปรีชา. โลกของคนไร้บ้าน. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2546.
ปนัดดา  บุณยสาระนัย. ชาวอาข่าในเชียงใหม่ : ภาวะจำยอมต่อภาพลักษณ์ที่ถูกสร้างกับการต่อสู้เพื่อรักษาภาพลักษณ์ที่ถูกต้อง, ใน ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี บรรณาธิการ. อัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ และความเป็นชายขอบ. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2546.
ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี. ชาติพันธุ์  อัตลักษณ์  และชายขอบในความเคลื่อนไหว, ใน อัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ และความเป็นชายขอบ. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2546.
พระมหาสัมภาษณ์ ไชยตะมาตย์. กระบวนการสร้างพื้นที่ทางสังคมของผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นปอบ. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาสังคมวิทยาการพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2553.
ลัดดา  ประสพสมบัติ. การขยายตัวของระบบสินเชื่อแบบผ่อนส่งและการโต้ตอบของผู้บริโภคสินค้า
ในชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบท จังหวัดลำพูน.วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาพัฒนาสังคม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2544.
วิเศษ สุจินพรัหม. การเคลื่อนไหวในพื้นที่สาธารณะของผู้หญิงในการจัดการป่าชุมชนจังหวัดลำพูน.วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาพัฒนาสังคม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2544.
สายพิณ  ศุพุทธมงคล. คุกกับคน: อำนาจและการต่อต้านขัดขืน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2543.
สิริพร สมบูรณ์บูรณะ. วิถีชีวิตคนใน “ชุมชนชายขอบ” ของสังคมเมือง : กรณีศึกษาคนคุ้ยขยะในชุมชนกองขยะชานเมือง. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2545.
โสภิดา วีรกุลเทวัญ. การนำเสนอความเป็นตัวตนของหญิงบาร์เบียร์. เชียงใหม่ : มูลนิธิผู้หญิง กฎหมาย และการพัฒนาชนบท และศูนย์สตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2546.
สุริชัย หวันแก้ว. กระบวนการกลายเป็นคนชายขอบ. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาสังคมวิทยา สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, 2546.
______________. คนชายขอบ: จากความคิดสู่ความจริง. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2550.
สุริยา สมุทคุปติ์ และพัฒนา กิติอาษา. มานุษยวิทยากับโลกาภิวัตน์: รวมบทความ. นครราชสีมา: ห้องไทยศึกษานิทัศน์, สำนักวิชาเทคโนโลยีสังคม, มหาวิทยาลัยสุรนารี, 2542.
สุไลพร  ชลวิไล. หญิงรักหญิง : ผู้หญิงของความเป็นอื่น. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, ม.ป.ป.
อรัญญา ศิริผล. ฝิ่นกับคนม้ง : พลวัตความหลากหลายและความซับซ้อนแห่งอัตลักษณ์ของคนชายขอบ. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาพัฒนาสังคม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2544.
อานันท์ กาญจนพันธุ์. การต่อสู้เพื่อความเป็นคนของคนชายขอบในสังคมไทย, ใน อยู่ชายขอบมองลอดความรู้: รวมบทความเนื่องในวาระครบรอบ 60 ปี ฉลาดชาย รมิตานนท์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2549.
อรอุษา ภูมิบริรักษ์. ภาวะการกลายเป็นคนชายขอบของผู้ป่วยเอดส์. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาสังคมวิทยาการพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2547.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น