ขอเชิญทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเราในการสร้า้งสังคมแห่งการเรียนรู้...

หากต้องการลงบทความ/งานเขียนของท่าน สามารถแจ้งความประสงค์ได้ทางเว็บบอร์ด หรือทางอีเมล์แอดเดรส; po_kenchin@hotmail.com
หรือจะสมัครสมาชิกอย่างเดียวก็ได้นะครับ

16 พฤศจิกายน 2554

อภิมหาโครงการจัดการน้ำ! ภาวะคุกคามชาวอีสานรอบใหม่

กล่าวนำ
            เนิ่นนานมาแล้วแนวทางการพัฒนาของภาครัฐ  ที่ยึดติดกับมายาคติว่า ภาคอีสานแห้งแล้ง  ชาวอีสานยากจน สูตรสำเร็จอย่างหนึ่งในการแก้ไขปัญหาความยากจนจึงมุ่งเน้นไปสู่การแก้ไขปัญหาความแห้งแล้งผ่านการจัดการน้ำ  ด้วยการมีระบบชลประทานเพื่อสนับสนุนการทำเกษตรตามพื้นที่ต่างๆ ในภาคอีสาน  ซึ่งมีพื้นที่ในการทำการเกษตรมากกว่า 57.7 ล้านไร่  เพราะหากว่าสามารถแก้ไขปัญหาความแห้งแล้งให้กับชาวอีสาน ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมจะทำให้ชาวอีสานมีรายได้เพิ่มขึ้น ระบบเศรษฐกิจเติบโตขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตาม   อันจะนำไปสู่การหลุดพ้นจากภาวะความยากจน 
            เมื่อหน่วยงานภาครัฐยึดติดกับความคิดที่จะใช้โครงการด้านการจัดการน้ำแก้ไขปัญหาความแห้งแล้ง และความยากจน  ตลอดจนส่งเสริมเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของชาวอีสานให้ดีขึ้นนั้น  อภิมหาโครงการโขงชีมูลจึงได้ผุดขึ้นมา ด้วยระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ระยะในช่วงปี พ.ศ. 2535 – 2576 รวม 42 ปี  ใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 228,000 ล้านบาท ภายใต้โครงการจะมีการสร้าง เขื่อน ฝาย สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า คลองผันน้ำและคลองส่งน้ำ  มุ่งเน้นพื้นที่ชลประทานลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำโขง  โดยมีพื้นที่ชลประทานที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์ประมาณ 4.98 ล้านไร่ 
แต่เมื่อดำเนินโครงการไปได้แล้วในระยะแรกซึ่งใช้งบประมาณไปแล้ว 10,346 ล้านบาท กลับต้องหยุดชะลอการดำเนินโครงการ  เนื่องจากการสร้างเขื่อนภายใต้โครงการทำให้เกิดน้ำท่วม ระบบนิเวศถูกทำลาย และที่สำคัญภูมิประเทศภาคอีสานที่ใต้ดินมีโดมเกลือขนาดใหญ่ทำให้การดำเนินโครงการเกิดผลกระทบที่ตามมา คือ การแพร่กระจายของดินเค็มในหลายพื้นที่ของการดำเนินโครงการ  ส่งผลให้สิ่งปลูกสร้างที่ใช้ในระบบชลประทานของโครงการโขงชีมูล  ได้ถูกทิ้งร้างไว้เป็นอนุสรณ์สอนใจให้นักวางแผนการพัฒนาทั่วพื้นที่ทำการเกษตรในภาคอีสาน
            จวบจนวันนี้ที่  โครงการโขงชีมูล  ได้สร้างบาดแผลความเดือดร้อนให้กับชาวอีสานไว้อย่างบาดลึกจนยากที่จะเยียวยารักษา  แต่ทว่าหน่วยงานภาครัฐกลับไม่ได้เรียนรู้บทเรียนในอดีตที่ผ่านมา  ในทางตรงกันข้าม  ยังมีความพยามที่จะผลิตซ้ำความคิดความเชื่อที่จะจัดการน้ำด้วยโครงการขนาดใหญ่ เพื่อแก้ไขปัญหาความแห้งแล้งและความยากจนในภาคอีสาน  ด้วยรูปแบบ/เทคนิคของโครงการในลักษณะเดิม เพียงแต่ต่อเติมให้ภาพของการจัดการน้ำในภาคอีสานให้ดูเป็นระบบมากขึ้น
ภาพรวมสถานการณ์การจัดการน้ำภาคอีสานในปัจจุบัน
            รอยแผลในอดีตของโครงการโขงชีมูล  นอกจากหน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง คือ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะไม่ใส่ใจในการเยียวยาแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบแล้วนั้น  แต่กำลังจะตอกย้ำให้สาธารณะชนให้ได้เห็นว่า  แนวทางการจัดการน้ำในภาคอีสานที่ผ่านมานั้น  ได้ทำอย่างถูกต้องและเหมาะสมแล้ว  ไม่สนใจเสียงท้วงติง หรือคำวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ จึงได้ผุดแนวคิดผลักดัน  โครงการบริหารจัดการน้ำโขงเลยชีมูลโดยแรงโน้มถ่วง ภาคตะวันนออกเฉียงเหนือ  มีหน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับผิดชอบดำเนินการ ทำการศึกษาความเหมาะสม(Feasibility:FS) และผลกระทบสิ่งแวดล้อม(Environmental Impact Assessment:EIA) และการประเมินสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์(Strategic Environmental Assessment:SEA ในช่วงระหว่างเดือนกันยายน 2552 – เดือนกันยายน 2554  ใช้งบประมาณ รวมทั้งสิ้น 190,000,000 บาท  และอีกหนึ่งโครงการ คือ โครงการระบบเครือข่ายน้ำในพื้นที่วิกฤตน้ำ 19 พื้นที่  รับผิดชอบโดย กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ(Feasibility:FS) ศึกษาการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(Environmental Impact Assessment:EIA) และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์(Strategic Environmental Assessment:SEA) ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2554 – เดือนกันยายน 2555  ใช้งบประมาณ รวมทั้งสิ้น 865,541,400 บาท  โดยโครงการทั้งสองได้ว่าจ้าง ให้บริษัทเอกชนที่มีความชำนาญดำเนินการศึกษา
            เมื่อทำการพิจารณาถึงรายละเอียดของรายงานการศึกษาของทั้ง 2 โครงการดังกล่าวข้างต้น  ทำให้เห็นว่า   เป้าหมายของโครงการ คือ แนวทางการจัดการน้ำ โดยนำน้ำเข้ามาเติมให้กับภาคอีสาน  เพื่อขยายเขตพื้นที่ชลประทานในพื้นที่ทำการเกษตรน้ำฝน  เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานจากเดิม 5.93 ล้านไร่ ให้เป็น 33 ล้านไร่  ภายใต้แนวความคิดการจัดการหาน้ำต้นทุนเดิมมาเติมให้กับน้ำในพื้นที่ชลประทานในลุ่มน้ำโขงอีสาน ลุ่มน้ำมูล และลุ่มน้ำยังชี  ซึ่งยังเป็นมิติของการมองไปในทิศทางที่ว่า ภาคอีสานยังคงมีความต้องการปริมาณน้ำเพื่อการเกษตร  เพิ่มขึ้นอีก  จึงมีความจำเป็นที่จะต้องนำน้ำมาเติม เมื่อน้ำเพิ่มก็จะสามารถพัฒนาด้านการเกษตรเพิ่มขึ้นอีก ส่งผลต่อการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นตามไปด้วย โดยสามารถมองถึงความเชื่อมโยงของทั้ง 2 โครงการด้านการจัดการน้ำที่จะเกิดขึ้นในภาคอีสาน ได้ดังนี้
            ภายใต้โครงการระบบเครือข่ายน้ำในพื้นที่วิกฤต 19 พื้นที่ มีรายละเอียดของการดำเนินโครงการ ที่สำคัญอันได้แก่
            1.เครือข่ายน้ำในพื้นที่เป็นการพัฒนาโครงการแหล่งน้ำขนาดเล็กที่กระจายไปทั่วพื้นที่ภาคอีสาน  เช่น อ่างเก็บน้ำต่างๆ ที่ดำเนินการก่อสร้างโดยกรมชลประทาน
            2.เครือข่ายน้ำพรมแดน เป็นการผันน้ำจากแม่น้ำโขง มาเติมในพื้นที่เพาะปลูกใกล้เคียง เช่น
            -เครือข่ายน้ำห้วยหลวง-ลำปาว-ชี  ซึ่งเป็นโครงการเก่าตั้งแต่โครงการโขงชีมูล ตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 แต่มีบทเรียนในอดีตที่การสูบน้ำด้วยไฟฟ้าต้องแบกรับต้นทุนค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น ทำให้เกิดความไม่คุ้มค่า จึงได้มีการศึกษาพัฒนาไปสู่แนวทางการผันน้ำด้วยแรงโน้มถ่วง
            -เครือข่ายน้ำปากชม-ลำพะเนียง-ชี เป็นโครงการที่อาศัยการยกระดับน้ำโขงที่สูงขึ้นในระดับความสูงที่ 200 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง(ม.รทก.) จากโครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำปากชม ต.หาดคัมภีร์ อ.ปากชม จ.เลย  เพื่อที่จะผันน้ำไปยังหนองหานกุมภวาปี และอ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ รับผิดชอบศึกษา โดยกรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) กระทรวงพลังงาน
            -เครือข่ายน้ำโขง-เลย-ชี-มูล  เป็นโครงการผันน้ำบริเวณปากแม่น้ำเลยภายใต้ โครงการบริหารจัดการน้ำโขงเลยชีมูลโดยแรงโน้มถ่วง ภาคตะวันนออกเฉียงเหนือ  โดยระบุไว้ว่าภาคอีสานจะมีน้ำเพื่อการเกษตรใช้ได้ตลอดทั้งปี  อีกทั้งยังสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูลได้อีกด้วย
            3.เครือข่ายน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน  โดย ใช้รูปแบบการผันน้ำมาจากแหล่งน้ำของประเทศเพื่อนบ้าน คือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  มีดังนี้ คือ
            -เครือข่ายน้ำเซบังไฟ-สกลนคร โดยผันน้ำจากประเทศลาวเข้ามายังพื้นที่ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม แล้วส่งน้ำมายังพื้นที่ จ.นครพนม และจ.สกลนคร  ขณะนี้กรมทรัพยากรน้ำกำลังศึกษาในขั้นตอน desk study
            -เครือข่ายน้ำเซบังเหียง-อำนาจเจริญ เป็นการผันน้ำจากประเทศลาวเข้ามายังพื้นที่ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี  แล้วสามารถส่งน้ำไปยังพื้นที่ จ.ยโสธร จ.อำนาจเจริญ และจ.อุบลราชธานี  ขณะนี้กรมทรัพยากรน้ำกำลังศึกษาในขั้นตอน desk study
            -เครือข่ายน้ำงึม-ห้วยหลวง ดำเนินการศึกษาโดยกรมทรัพยากรน้ำ เพื่อที่จะศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการผันน้ำจากเขื่อนน้ำงึม ประเทศลาว  เข้ามายังห้วยหลวง  แล้วสามารถทำการส่งน้ำไปยังหนองหานกุมภวาปี และอ่างเก็บน้ำลำปาว
            รายละเอียดของแนวทางการจัดการน้ำในภาคอีสานข้างต้น  ทำให้เห็นภาพเชื่อมโยงที่ว่าในขณะนี้  หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง คือ กรมชลประทาน และกรมทรัพยากรน้ำ  กำลังจะริเริ่มผลักดันอภิมหาโครงการด้านการจัดการน้ำในภาคอีสานผ่าน  โครงการระบบเครือข่ายน้ำในพื้นที่วิกฤตน้ำ 19 พื้นที่  โดยมี โครงการบริหารจัดการน้ำโขงเลยชีมูลโดยแรงโน้มถ่วง ภาคตะวันนออกเฉียงเหนือ เป็นเสมือน ใจกลางหลักของโครงการจัดการน้ำในภาคอีสานทั้งระบบ  ซึ่งในขณะนี้ ทั้ง 2 โครงการ กำลังอยู่ในช่วงระยะของการก่อร่างสร้างรูปของโครงการจากแนวความคิดของหน่วยงานที่รับผิดชอบ  ไปสู่แนวทางการปฏิบัติให้เป็นจริงขึ้นมา  โดยได้เริ่มดำเนินการในส่วนของขั้นตอนในการศึกษาดังที่กล่าวแล้วข้างต้น ซึ่งมีระยะเวลาเริ่มดำเนินการศึกษา และแล้วเสร็จในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกัน
ข้อควรคิดเพื่อพิจารณาต่อสถานการณ์การจัดการน้ำในภาคอีสาน
            หากทำการพิจารณาถึงรายละเอียด และการดำเนินการภายใต้กระบวนการศึกษา  ของทั้ง 2 โครงการ  จะเห็นได้ว่าเป็นการระบุไว้ว่าหาทางเลือกที่เหมาะสม และเกิดประโยชน์สูงสุด โดยเสนอทางเลือกให้กับประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้พิจารณาเพียงแค่  ขนาดของโครงการว่าต้องการโครงการขนาดไหน  แต่กลับไม่มีประเด็นคำถามเบื้องต้นที่สำคัญว่า อภิมหาโครงการทั้ง 2 โครงการ  มีความจำเป็นมากน้อยเพียงใดต่อชาวอีสาน  อันนำไปสู่ประเด็นคำถามต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ และภาคประชาสังคมที่มีส่วนเกี่ยวข้อง  ;ว่าในท้ายที่สุดแล้วภาคประชาชนแทบจะไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมในการพัฒนาที่ส่งผลต่อสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองเลย
            บทเรียนแห่งความล้มเหลวซ้ำซากในด้านการจัดการน้ำในภาคอีสานที่ผ่านมานั้น  หน่วยงานภาครัฐไม่เคยเรียนรู้ถึงความผิดพลาดของตนเองว่า  แนวคิดในการแก้ไขปัญหาด้านน้ำในภาคอีสานด้วยโครงการขนาดใหญ่  อย่างเช่น โครงการโขงชีมูล  ไม่สามารถเป็นทางออกของเกษตรกรภาคอีสาน  ด้วยเพราะสภาพภูมิประเทศ ระบบนิเวศวัฒนธรรมของอีส่านที่มีความหลากหลายซับซ้อน  อีกทั้งทางเลือกในรูปแบบการจัดการระบบชลประทานขนาดเล็กและภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการจัดการน้ำกลับถูกละเลยมองข้ามคุณค่าความสำคัญ  ทำให้ที่ผ่านมาชาวอีสานจึงมีบาดแผลจากผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ ที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน เช่น กรณีเขื่อนหัวนา และราศีไศลที่ ปัญหาผลกระทบทางด้านระบบนิเวศ ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และผลกระทบทางสังคม  เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายจนไม่สามารถเยียวยาแก้ไขได้  อีกทั้งคุณค่าอันดีงานของชุมชนท้องถิ่นอีสานก็ได้สูญสลายไปด้วย
ในกรณีการผันน้ำมาจากประเทศลาวนั้น  ความเป็นไปได้ในการทำข้อตกลงกับประเทศลาวมีความชัดเจนมากน้อยแค่ไหน และถ้าหากว่าในอนาคตอันใกล้นั้น  ประเทศลาวมีการขยายพื้นทีเพาะปลูกทางการเกษตร  ประเทศลาวก็มีความจำเป็นใช้น้ำภายในประเทศของตนเองเช่นกัน  ถ้าหากมีการลงทุนไปแล้วเป็นจำนวนเงินทุนมหาศาล  แล้วมาประสบกับปัญหาด้านแหล่งน้ำจากต่างประเทศ  เพื่อมาเติมให้กับแหล่งน้ำภายในประเทศ จะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ากับความเสี่ยงนี้หรือไม่  ฉะนั้น การที่หน่วยงานภาครัฐตั้งงบประมาณในการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการด้วยจำนวนเงินมหาศาล  โดยที่ไม่มองที่ข้อเท็จจริงในความเป็นไปได้ที่จะดำเนินโครงการจึงไม่ต่างไปจากนำงบประมาณของประเทศไปใช้โดยไม่เกิดประโยชน์
ถึงแม้ว่าอภิมหาโครงการจัดการน้ำทั้ง 2 โครงการ  จะอยู่ในขั้นตอนของกระบวนการศึกษาของโครงการในมิติต่างๆ  นั้น  แต่นัยที่แท้จริงของบทสรุปสุดท้ายของการศึกษาในมิติต่างๆ นั้น  เสมือนได้ถูกเขียนคำตอบสำเร็จรูปไว้แล้วว่า  อภิมหาโครงการการจัดการน้ำทั้ง 2 โครงการ  เป็นสิ่งที่ประชาชนชาวอีสานต้องการ  สามารถแก้ไขปัญหาความแห้งแล้ง น้ำท่วม และสามารถขยายพื้นที่ชลประทานทางการเกษตรได้เพิ่มมากขึ้น  สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวอีสาน ระบบเศรษฐกิจจะเติบโตขึ้น และที่สำคัญคุณภาพชีวิตชาวอีสานก็จะดีขึ้นตามด้วย  สถานการณ์การจัดการน้ำในภาคอีสานในขณะนี้  จึงเปรียบดั่งภาวะคุกคามและโจทย์ที่ท้าทายภาคประชาชนอีสานอยู่ไม่น้อย

/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-
นายสมพงศ์   อาษากิจ  ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(ศสธ.)
ตู้ ปณ.14  อ.เมือง  จ.อุดรธานี  41000
 โทร.086 – 2317637     อีเมล์ : ton_mekong@hotmail.com

11 พฤศจิกายน 2554

นิทานก้อม: ผลงานเด็กบ้านดิน อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น

จารบวชโดน

หลวงพ่อหูหนวก

เกษตรพอเพียง

ชอลิ้วเฮียง
จากแนวพระแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตร ทรงเน้นในเรื่องของการค้นคว้า ทดลอง และวิจัยหาพันธุ์พืชต่างๆ ทั้งพืชเศรษฐกิจ พืชเพื่อการปรับปรุงบำรุงดิน และพืชสมุนไพร ตลอดจนการศึกษาเกี่ยวกับแมลงศัตรูพืช ทั้งนี้รวมพันธุ์สัตว์ต่างๆ ที่เหมาะสม เช่นโค กระบือ พันธุ์ปลา และสัตว์ปีกทั้งหลายด้วย เพื่อแนะนำให้เกษตรกรนำไปปฏิบัติได้ราคาถูก   ใช้เทคโนโลยีที่ง่ายและไม่สลับซับซ้อน ซึ่งเกษตรกรจะสามารถรับไปดำเนินการเองได้และที่สำคัญ คือ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์   หรือเทคนิควิธีการดูแลต่างๆ นั้น จะต้องเหมาะสมกับสภาพสังคมและสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นนั้นๆ
ตำบลยางคำ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น มีพื้นที่ทั้งหมด ๒๖, ๘๘๐ ไร่ เป็นพื้นที่ทำการเกษตร จำนวน รวม ๒๒,๖๑๙ ไร่ พืชเศรษฐกิจหลักที่เกษตรกรปลูก ได้แก่ ข้าว อ้อย และมันสำปะหลัง มีการเพาะปลูกพืชผักสวนครัว และไม้ผลตามสวนไร่นา เช่น พริก มะเขือ ข่า ตะไคร้ มะม่วง มะขาม มะละกอ ขนุน น้อยหน่า เป็นต้น หลังเสร็จสิ้นจากการทำนาแล้ว เกษตรกรบางรายนิยมปลูกพืชฤดูแล้งเพื่อเป็นรายได้เสริม เช่น มะเขือเทศ แตงโม แตงกวา เป็นต้น ทางด้านการเลี้ยงสัตว์ เกษตรกรมีการเลี้ยงโค กระบือ หมู เป็ด และไก่ แต่เป็นการเลี้ยงแบบพื้นบ้านเท่านั้น และเกษตรกรบางรายมีการเลี้ยงปลา เลี้ยงกบอีกด้วย
                จากการศึกษาปัญหาด้านการเกษตรของตำบลยางคำ ทั้งจากการประชุมเกษตรกร และการสัมภาษณ์ ผู้นำชุมชน  เกษตรกร และบุคลากรขององค์กรส่วนท้องถิ่น พบว่าปัญหาสำคัญ ได้แก่  ความแห้งแล้งและขาดแคลนน้ำ ซึ่งส่งผลให้การทำเกษตรได้ผลผลิตต่ำ เมื่อผลผลิตต่ำจำเป็นต้องมีการเพิ่มผลผลิตโดยการพึ่งพาปุ๋ยเคมี และสารเคมีต่างๆ ซึ่งทำให้มีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น
จำเป็นต้องมีการส่งเสริมการทำเกษตรแบบพอเพียง โดยลดต้นทุนการผลิตทางการเกษตร              ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด  เพื่อให้เกษตรกรสามารถลดรายจ่าย มีผลผลิตสำหรับบริโภคในครัวเรือน และจำหน่ายเพื่อเพิ่มรายได้ สามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน
สำนักงานโครงการอันเนื่องมากจากพระราชดำริ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้น้อมนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงด้านมาประยุกต์ใช้ ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรสู่หมู่บ้านเป้าหมายใน           ตำบลยางคำ  โดยมุ่งเน้นเทคโนโลยีที่ง่าย ต้นทุนต่ำ  และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น การทำเกษตรแบบผสมผสาน ควบคู่กับการพัฒนาและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งดิน และน้ำ โดยลด ละ เลิก การใช้สารเคมี หันมาใช้สารชีวภาพ พร้อมทั้งมีการจัดการการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้ทางด้านอาหาร  มีความพออยู่พอกิน ลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้
จึงดำเนินการ การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเกษตร  บริเวณด้านหน้าองค์การบริหารส่วนตำบลยางคำ      มีขนาดพื้นที่ประมาณ ๒ ไร่ อยู่ที่บ้านยางคำ หมู่ ๑ ตำบลยางคำ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งศูนย์เรียนรู้การเกษตร เกิดจากการร่วมคิด และร่วมทำ ระหว่างสำนักงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น องค์การบริหารส่วนตำบลยางคำ           และเกษตรกรตำบลยางคำ สร้างแหล่งเรียนรู้ทางด้านการเกษตรเพื่อเป็นต้นแบบเทคโนโลยีการเกษตรสำหรับเกษตรกรได้เรียนรู้และนำไปปรับใช้ได้ ได้แก่
การประยุกต์ใช้ระบบมินิสปริงเกอร์ และจักรยานปั่นน้ำ มาใช้ในการจัดการน้ำเพื่อการเกษตร  เพื่อให้เกษตรกรสามารถจัดการแหล่งน้ำที่มีอยู่ในชุมชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้เกษตรกรสามารถใช้น้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การทำปุ๋ยชีวภาพและสารไล่แมลง เพื่อ ลด ละ เลิก การใช้สารเคมีทางเกษตร และลดต้นทุนการผลิต  โดยการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น การน้ำหมักชีวภาพจากผักผลไม้ การทำน้ำหมักจากสมุนไพร   การทำเตาเผาถ่านน้ำส้มควันไม้ ช่วยให้เกษตรกรได้บริโภคอาหารที่ปลอดสารพิษ ลดต้นทุนการผลิต        และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
การขยายพันธุ์พืชด้วยวิธีการต่างๆ และการจัดการเรือนเพาะชำ  เช่น การตอนกิ่ง การทาบกิ่ง       การปักชำ เป็นต้น ช่วยให้เกษตรกรสามารถขยายพันธุ์พืชได้ด้วยตนเอง ลดต้นทุนด้านพันธุ์พืช รวมถึงสามารถจำหน่ายพันธุ์พืชเพื่อเป็นรายได้เสริมอีกด้วย
การทำโรงเห็ดและการเพาะเห็ดจากวัสดุในท้องถิ่น เช่น การเพาะเห็ดนางฟ้า การเพาะเห็ดขอนขาว เป็นต้น ช่วยให้เกษตรสามารถเพาะเห็ดเพื่อบริโภคในครัวเรือนและจำหน่ายเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง
ส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และการดูแลสุขภาพสัตว์  โดยสาธิตการทำฟางปรุงแต่ง เพื่อเป็นการเสริมธาตุอาหารให้กับฟาง สามารถเก็บไว้เป็นอาหารสำหรับโค-กระบือได้นานขึ้น นอกจากนี้ยังได้จัดทำแปลงสาธิตการจัดการแปลงหญ้าพืชอาหารสัตว์และการจัดการระบบการให้น้ำ เพื่อเป็นต้นแบบให้ชุมชนได้เข้ามาเรียนรู้ เกษตรกรได้ความรู้การจัดการแปลงหญ้าเพื่อเลี้ยงสัตว์อย่างง่าย เช่น การปลูกหญ้าบนคันนา เป็นต้น และสามารถเพิ่มสารอาหารให้กับโค - กระบือโดยการทำฟางปรุงแต่งได้ ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนพืชอาหารสัตว์และปัญหาการขาดแคลนน้ำได้
รวมถึงการใช้สมุนไพรท้องถิ่นร่วมกับการใช้จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์เพื่อการดูแลสุขภาพสัตว์และการเลี้ยงสัตว์ให้แก่ผู้นำชุมชนและเกษตรกรตำบลยางคำทั้ง ๑๔ หมู่บ้าน โดยบรรยายให้ความรู้ สาธิต และฝึกปฏิบัติการทำน้ำหมักชีวภาพ น้ำสมุนไพร ยาถ่ายพยาธิจากสมุนไพรที่มีอยู่ในชุมชน ช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนในการเลี้ยงและดูแลรักษาสุขภาพสัตว์ของตนเองได้ เช่น การใช้บอระเพ็ดในการถ่ายพยาธิโค เป็นต้น
นอกจากนี้ยังได้ส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงปลาแบบธรรมชาติ เช่น การทำอาหารปลาเองในรูปแบบของแพลงตอนหรือการทำน้ำเขียวจากเศษฟางและมูลสัตว์ เป็นต้น
จากการส่งเสริมเพื่อให้เกษตรกรพึ่งตนเอง ผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรต่างๆ ทำให้เกิดเกษตรกรต้นแบบที่สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับครัวเรือนของตนเอง มีความพออยู่พอกิน เลี้ยงตัวเองได้ และมีรายได้เสริมจากการขายผลผลิตทางการเกษตร สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้แก่เกษตรกรคนอื่นๆ ในชุมชนได้

ป่าโคกป่าช้า : ป่าผืนเล็กหัวใจใหญ่


ชอลิ้วเฮียง
                ป่าไม้มีประโยชน์นานัปการ ทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ อาทิ เพิ่มความชุ่มชื้นของบรรยากาศ ดูดซับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นสาเหตุของโลกร้อน เนื้อไม้นำมาสร้างบ้านเรือน พืชหลายชนิดสามารถนำมาใช้เป็นสมุนไพร เป็นต้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระราชดำริเพื่อการอนุรักษ์ป่าไม้จำนวนมาก โดยที่ชุมชนใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างชาญฉลาด แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องรู้จักอนุรักษ์ และบริหารจัดการอย่างเหมาะสม เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน
                ป่าโคกป่าช้าบ้านยางคำ ตั้งอยู่ที่ บ้านยางคำ หมู่ที่ ๑๔ ตำบลยางคำ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น มีสภาพเป็นป่าเต็งรัง ติดกับภูกระแตซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติน้ำพอง มีเนื้อที่ประมาณ ๑๗๔ ไร่ ซึ่งชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบป่าได้ใช้เป็นแหล่งอาหาร สมุนไพร ไม้ใช้สอย ไม้ฟืน และพื้นที่เลี้ยงสัตว์         
แต่จากการบุกรุกทำลายโดยชาวบ้านที่มีพื้นที่ทำกินรอบป่า เพื่อจับจองเป็นที่ดินทำกินส่วนตัวทำให้พื้นที่ป่าไม้มีขนาดลดลง  รวมทั้งการเข้ามาใช้ประโยชน์จากป่าโดยไม่มีการอนุรักษ์และดูแลรักษาที่เหมาะสมทำให้ป่าไม้มีสภาพเสื่อมโทรมลงไป
ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ สำนักงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้ประชุมชนร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลยางคำ ผู้นำชุมชน ชาวบ้าน และหน่วยงานในท้องถิ่น           เพื่อวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นกับป่าโคกป่าช้า  
 จึงมีแนวคิดร่วมกันที่จะอนุรักษ์ป่าโคกป่าช้าให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ โดยสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนและสร้างความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนให้มีความสามารถในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและการบริหารจัดการป่าชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ
เริ่มจากการจัดตั้งคณะกรรมการ โดยคัดเลือกจาก ผู้นำชุมชน ชาวบ้าน และหน่วยงานในท้องถิ่น เพื่อเข้ามาเป็นแนวร่วมในการอนุรักษ์ป่าไม้       
จากนั้นจึงจัดกระบวนการเรียนรู้ทั้งการอบรมและศึกษาดูงาน เพื่อให้คณะกรรมการและชาวบ้าน    มีความรู้และความเข้าใจแนวคิดเรื่องการจัดการป่าชุมชน 
เพื่อให้ชุมชนได้มีส่วนร่วม จึงจัดเวทีประชาพิจารณ์ เพื่อให้คณะกรรมการและชาวบ้าน ได้ร่วมตัดสินใจ และระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าโคกป่าช้า
คณะกรรมการได้ร่างระเบียบข้อบังคับการอนุรักษ์ป่าโคกตลดาใหญ่ และจัดเวทีให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมแก้ไขร่างระเบียบข้อบังคับดังกล่าวก่อนนำไปใช้
ร่วมกันสำรวจแนวเขตป่าและการจัดทำแผนที่ป่าที่มีความถูกต้อง โดยศึกษาและจัดทำแผนที่ป่าไม้ที่ลงพิกัดของต้นไม้  เส้นทางเดิน แนวป่า  ระยะทาง และจัดทำเป็นโปรแกรมภูมิศาสตร์สารสนเทศ (GIS) 
                นอกจากนี้ยังได้สำรวจพรรณไม้ และความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อเป็นฐานข้อมูลของทรัพยากรพันธุ์พืชในป่าโคกป่าช้า เผยแพร่แก่ชาวบ้านและผู้สนใจทั่วไป
ในการฟื้นฟูสภาพป่า ได้ร่วมกับชุมชน ปลูกต้นไม้และสมุนไพรทดแทน เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับป่า พร้อมกับให้ความรู้เรื่องการใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพรอีกด้วย
มีการสร้างฝายชะลอน้ำจำนวน 10 จุด เพื่อเก็บกักความชุ่มชื้นให้กับผืนป่า เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้โดยเฉพาะไม้ขนาดเล็ก
                การประยุกต์ใช้ประเพณีผูกเสี่ยวในการอนุรักษ์ป่าชุมชน โดยใช้แนวคิดที่ว่า ผูกเสี่ยวกับต้นไม้เพื่อจะได้รู้สึกรักและหวงแหนป่าไม้เสมือนเพื่อนคนหนึ่ง
                ผลที่เกิดจากการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าของตำบลยางคำ จากการดำเนินงานอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าโคกป่าช้าของบ้านยางคำ ๔ หมู่บ้าน ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นต้นมา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ทั้งต่อชุมชน ต่อเศรษฐกิจ และต่อป่าไม้เอง ไม่ว่าจะเป็น
                กลไกขับเคลื่อนในรูปแบบของคณะกรรมการ  ซึ่งจะเป็นแกนหลักในการทำงานและประสานงานร่วมกับหน่วยงานภาคีต่างๆ ทั้งภายในชุมชนและภายนอกชุมชน
การประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องของผู้นำชุมชน ทำให้ชาวบ้านมีความรู้ความเข้าใจและมีจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ป่ามากขึ้น
กลุ่มเยาวชนเข้ามีส่วนร่วมและเป็นกำลังสำคัญ  ในการสำรวจป่าไม้ทุกวันอาทิตย์ ลาดตระเวนเพื่อป้องกันการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า สำรวจและซ่อมแซมฝายชะลอน้ำ และยังเป็นอาสาสมัครช่วยเก็บขยะ   ทั้งในป่าและภายในชุนชน
มีระเบียบข้อบังคับของการอนุรักษ์ป่าโคกป่าช้าที่ชุมชนมีส่วนร่วมในการปรับปรุงแก้ไข ทำให้ได้รับการยอมรับจากชุมชน มีสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน และช่วยให้ชุมชนรู้สึกเป็นเจ้าของป่าร่วมกัน
                มีแนวเขตป่าที่ชัดเจนก็ช่วยให้คณะกรรมการป่าชุมชนและชาวบ้านรู้ขอบเขตป่าที่จะดำเนินการอนุรักษ์ฟื้นฟูมีความชัดเจนยิ่งขึ้น
มีฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพป่าโคกป่าช้าบ้านยางคำ ซึ่งจะได้มีการนำไปจัดทำเป็นโปสเตอร์สำหรับเผยแพร่ความรู้ภายในป่าและจัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติต่อไป
จากการที่ชาวบ้านหยุดบุกรุกและทำลายป่า ทำให้ป่าที่เคยเสื่อมโทรมเริ่มกลับมาฟื้นตัวโดยแทบไม่ต้องปลูกทดแทนตามพระราชดำริในเรื่องการปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก ต้นไม้ส่วนใหญ่เจริญเติบโตได้ดี       ป่ามีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มีเห็ดจำนวนมากบริเวณใกล้ๆ ร่องน้ำจุดที่มีการทำฝาย          มีชาวบ้านเข้ามาเก็บเห็ดได้เพิ่มมากขึ้น เริ่มสังเกตเห็นว่ามีสัตว์ป่าเข้ามาอยู่อาศัย เช่น ไก่ป่า สุนัขจิ้งจอก      เป็นต้น
 จากการที่ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์จากป่าไม้ภายใต้ข้อบังคับที่ตกลงร่วมกัน ทำให้มีรายได้ เพิ่มขึ้นในขณะที่รายจ่ายของครัวเรือนลดลง เพราะฟืน สมุนไพร ผักพื้นบ้าน และเห็ดที่เคยต้องซื้อ ก็ไม่ต้องซื้อ โดยเฉพาะเห็ดมีปริมาณเพิ่มขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งช่วยให้ชุมชนสามารถเก็บไปบริโภคในครัวเรือน       เหลือจากการบริโภคสามารถนำไปจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ ลดปัญหาความยากจนของชุมชน และช่วยให้ชาวบ้านสามารถพึ่งตนเองมากขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถพึ่งพาซึ่งกันและกันในรูปแบบของคณะกรรมการป่าชุมชนที่ให้ทุกภาคส่วนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วยกัน สามารถเติบโตเป็นชุมชนต้นแบบในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน

04 พฤศจิกายน 2554

เผยแผนการเปิดหน้าเหมืองโปแตชปี 55 อุดร - สกล

...อก.เตรียมแผนเปิดปากเหมืองโปแตชภาคอีสาน ให้สำเร็จในปีหน้า เล็งปักธงพื้นที่อุดร และสกลก่อน  ทส.รับลูกปลดล็อค ม.6 ทวิ วรรคสองตามกฎหมายแร่ ให้ขออาชญาบัตรได้ในกรณีพิเศษ สบช่องทุนจีนจ้องเขมือบทรัพยากร เอพีพีซี เร่งจัดฉาก เกณฑ์ผู้นำ อปท. และชาวบ้านสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมแนบ อีไอเอ เผยอาจมีการลดพื้นที่คำขอประทานบัตรเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับกลุ่มต่อต้าน ...

อุดรธานี : วันที่ 4 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานจากพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ว่า ได้มีความเคลื่อนไหวของบริษัท เอเชีย แปซิฟิก โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ เอพีพีซี ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนผู้ยื่นคำขอประทานบัตรเหมืองใต้ดิน เพื่อทำเหมืองแร่โปแตชแหล่งอุดรใต้ ได้มีการจัดเวทีในระดับพื้นที่เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมตามขั้นตอนการขออนุญาตประทานบัตร ที่กฎหมายกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.แร่ (ฉบับที่5) พ.ศ.2545

โดยเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนต.ค. เป็นต้นมา บริษัทเอพีพีซี ได้จัดกระบวนการมีส่วนร่วมกับผู้นำชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และในช่วงต้นเดือนพ.ย.ระหว่างวันที่ 1-6 จะดำเนินการกับชาวบ้านในพื้นที่ ณ ศูนย์ประชาสัมพันธ์ของบริษัทฯ ที่บ้านหนองตะไก้ ต.หนองไผ่ อ.เมือง จ.อุดรธานี

โดยนางยุพาพร  รักษาภักดี สมาชิกสภาเทศบาล (สท.) ตำบลหนองไผ่ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ตนพร้อมด้วยสมาชิกสท.ได้ถูกเชิญให้เข้าร่วมรับฟังการชี้แจงของบริษัทฯ เมื่อวันที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทฯ มีแผนจะจัดกระบวนการดังกล่าวกับผู้นำชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ครบทุกตำบลในเขตเหมือง เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม
ข้อมูลชี้แจงส่วนใหญ่ บริษัทฯ จะพูดถึงผลประโยชน์ที่ท้องถิ่นและชุมชนจะได้รับ เช่น ค่าภาคหลวงแร่ การจ้างงาน การสร้างรายได้ แต่ไม่บอกว่าจะมีผลกระทบ หรือหากเกิดผลกระทบขึ้นจริงบริษัทฯ ก็จะมีมาตรการแก้ไขได้ หลังจากนั้นก็ให้กรอกแบบสำรวจความคิดเห็น และลงชื่อในหนังสือแสดงเจตจำนงการมีส่วนร่วมที่บริษัทฯ เตรียมไว้นางยุพาพรกล่าว

นางยุพาพรกล่าวต่อว่า บริษัทฯ จะจัดเวทีให้ครบทั้ง 5 ตำบลในเขตพื้นที่เหมือง เพื่อให้ครอบคลุมทั้งผู้นำ และประชาชนผู้มีส่วนได้เสียด้วย ทั้งนี้ เพื่อเตรียมการเข้าสู่ขั้นตอนการทำประชาคมหมู่บ้าน และการให้ความเห็นชอบของ อบต. หรือ สท.หลังจากมีการปิดประกาศแผนที่เขตคำขอประทานบัตร นางยุพาพรกล่าว

ทั้งนี้ สอดรับกับแหล่งข่าวภายในกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เปิดเผยว่า ขณะนี้มีแผนการที่จะผลักดันให้ใบอนุญาตประทานบัตร เพื่อให้สามารถเปิดหน้าเหมืองและทำการผลิตแร่โปแตชให้ได้ภายในปี พ.ศ.2555 โดยเล็งเป้าในพื้นที่จ.อุดรธานี และจ.สกลนคร หรือที่ใดที่หนึ่งก่อน
โดยเฉพาะแหล่งอุดรใต้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีการลดพื้นที่คำขอประทานบัตรให้เล็กลงจากเดิม ที่ บริษัทเอพีพีซี ขอไว้กว่า 2.6 หมื่นไร่ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการคัดค้านของกลุ่มชาวบ้าน โดยใช้วิธีการให้อนุญาตทีละแปลงแล้วค่อยขยายต่อแปลงอื่นในภายหลัง แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวยังเปิดเผยต่อว่า ขณะนี้ กพร.ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ทำการศึกษาและประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ เอสอีเอ (Strategic Environmental Assessment ) โครงการพัฒนาแหล่งแร่โปแตช ภาคอีสาน โดยจะใช้เวลาดำเนินการ 10 เดือน ซึ่งเมื่อทำการศึกษาแล้วเสร็จ ก็จะชงเรื่องให้ กพร. เพื่อมีความชอบธรรม ต่อการออกใบอนุญาตประทานบัตร ในพื้นที่ที่มีการยื่นคำขอ ให้สามารถทำการเปิดเหมืองได้ทันที

ด้านนายสุวิทย์  กุหลาบวงษ์  เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคอีสาน ได้เปิดเผยเอกสาร ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง ให้ยื่นคำขออาชญาบัตรในเขตพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นเขตสำหรับดำเนินการสำรวจ การทดลอง การศึกษา หรือการวิจัยเกี่ยวกับแร่ได้เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งนายปรีชา  เร่งสมบูรณ์สุข รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ลงนาม

และนายสุวิทย์ยังได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า เหมืองโปแตชสกลนคร บริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษ เพื่อสำรวจแร่โปแตชใน อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร จำนวน 12 แปลง เนื้อที่ 120,000 ไร่ ตั้งแต่ ปี 47 แต่ยังติด ม.6 ทวิ วรรคสอง และกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เสนอให้กระทรวงทรัพย์ฯ เปิดพื้นที่ ดังนั้น จากเอกสารจึงเห็นได้ชัดว่าเป็นการรับลูกของกระทรวงทรัพย์ฯ เพื่อปลดล็อค ม.6 ทวิ วรรคสอง ตามกฎหมายแร่ เพื่อให้เอกชนยื่นขออาชญาบัตรเพื่อทำการสำรวจได้เป็นกรณีพิเศษ และสามารถยื่นขอประทานบัตรเพื่อทำการผลิตแร่โปแตช ได้ตามขั้นตอน ซึ่งก็จะนำไปสู่การผลักดันเหมืองโปแตช โดยที่มีกลุ่มการเมืองคอยชักใย
ทุนจากประเทศจีนที่มีเงินมหาศาล กำลังรุกหนักโดยการชี้นำของนักธุรกิจสายสมาคมมิตรภาพไทย-จีน และผลประโยชน์ของกลุ่มการเมือง ตั้งแต่สมัยนายพินิจ  จารุสมบัติ  ยังเป็นรมต.กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งจะเห็นได้ว่าผลประโยชน์ทั้งหมดไม่ได้ตกเป็นของประชาชน นายสุวิทย์กล่าว

นายสุวิทย์เปิดเผยต่อว่า ในส่วนโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี  บริษัทเอพีพีซี พยายามสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม โดยเลือกเกณฑ์เอาแต่กลุ่มคนที่สนับสนุนโครงการฯ เข้าร่วมเวที แล้วอ้างว่านี่คือกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อนำไปประกอบรายงานอีไอเอ และขั้นตอนประทานบัตร ซึ่งกระบวนการดังกล่าวไม่มีความชอบธรรม
ในพื้นที่อุดรฯ มีกลุ่มชาวบ้านออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างต่อเนื่อง และเป็นจำนวนมาก ทำให้บริษัทฯ ต้องเลือกทำกระบวนการมีส่วนร่วมกับกลุ่มที่เห็นด้วย เพื่อให้เสร็จทันกับการศึกษา เอสอีเอ ของกพร. ดังนั้น จึงเป็นไปได้ที่จะมีการลดขนาดพื้นที่ประทานบัตรลงเหลือแค่ 5,000 ไร่ จาก 2.6 หมื่นไร่ เพื่อให้ทันเปิดเหมืองในปีหน้า นายสุวิทย์กล่าว   

/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/

นายเดชา  คำเบ้าเมือง  ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ศสธ.)
ตู้ปณ. 14 อ.เมือง จ.อุดรธานี  41000
โทรศัพท์ : 081-3696266
อีเมล์ : decha_61@yahoo.com ; huktin.ud@gmail.com