ขอเชิญทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเราในการสร้า้งสังคมแห่งการเรียนรู้...

หากต้องการลงบทความ/งานเขียนของท่าน สามารถแจ้งความประสงค์ได้ทางเว็บบอร์ด หรือทางอีเมล์แอดเดรส; po_kenchin@hotmail.com
หรือจะสมัครสมาชิกอย่างเดียวก็ได้นะครับ

11 พฤศจิกายน 2554

เกษตรพอเพียง

ชอลิ้วเฮียง
จากแนวพระแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตร ทรงเน้นในเรื่องของการค้นคว้า ทดลอง และวิจัยหาพันธุ์พืชต่างๆ ทั้งพืชเศรษฐกิจ พืชเพื่อการปรับปรุงบำรุงดิน และพืชสมุนไพร ตลอดจนการศึกษาเกี่ยวกับแมลงศัตรูพืช ทั้งนี้รวมพันธุ์สัตว์ต่างๆ ที่เหมาะสม เช่นโค กระบือ พันธุ์ปลา และสัตว์ปีกทั้งหลายด้วย เพื่อแนะนำให้เกษตรกรนำไปปฏิบัติได้ราคาถูก   ใช้เทคโนโลยีที่ง่ายและไม่สลับซับซ้อน ซึ่งเกษตรกรจะสามารถรับไปดำเนินการเองได้และที่สำคัญ คือ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์   หรือเทคนิควิธีการดูแลต่างๆ นั้น จะต้องเหมาะสมกับสภาพสังคมและสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นนั้นๆ
ตำบลยางคำ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น มีพื้นที่ทั้งหมด ๒๖, ๘๘๐ ไร่ เป็นพื้นที่ทำการเกษตร จำนวน รวม ๒๒,๖๑๙ ไร่ พืชเศรษฐกิจหลักที่เกษตรกรปลูก ได้แก่ ข้าว อ้อย และมันสำปะหลัง มีการเพาะปลูกพืชผักสวนครัว และไม้ผลตามสวนไร่นา เช่น พริก มะเขือ ข่า ตะไคร้ มะม่วง มะขาม มะละกอ ขนุน น้อยหน่า เป็นต้น หลังเสร็จสิ้นจากการทำนาแล้ว เกษตรกรบางรายนิยมปลูกพืชฤดูแล้งเพื่อเป็นรายได้เสริม เช่น มะเขือเทศ แตงโม แตงกวา เป็นต้น ทางด้านการเลี้ยงสัตว์ เกษตรกรมีการเลี้ยงโค กระบือ หมู เป็ด และไก่ แต่เป็นการเลี้ยงแบบพื้นบ้านเท่านั้น และเกษตรกรบางรายมีการเลี้ยงปลา เลี้ยงกบอีกด้วย
                จากการศึกษาปัญหาด้านการเกษตรของตำบลยางคำ ทั้งจากการประชุมเกษตรกร และการสัมภาษณ์ ผู้นำชุมชน  เกษตรกร และบุคลากรขององค์กรส่วนท้องถิ่น พบว่าปัญหาสำคัญ ได้แก่  ความแห้งแล้งและขาดแคลนน้ำ ซึ่งส่งผลให้การทำเกษตรได้ผลผลิตต่ำ เมื่อผลผลิตต่ำจำเป็นต้องมีการเพิ่มผลผลิตโดยการพึ่งพาปุ๋ยเคมี และสารเคมีต่างๆ ซึ่งทำให้มีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น
จำเป็นต้องมีการส่งเสริมการทำเกษตรแบบพอเพียง โดยลดต้นทุนการผลิตทางการเกษตร              ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด  เพื่อให้เกษตรกรสามารถลดรายจ่าย มีผลผลิตสำหรับบริโภคในครัวเรือน และจำหน่ายเพื่อเพิ่มรายได้ สามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน
สำนักงานโครงการอันเนื่องมากจากพระราชดำริ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้น้อมนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงด้านมาประยุกต์ใช้ ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรสู่หมู่บ้านเป้าหมายใน           ตำบลยางคำ  โดยมุ่งเน้นเทคโนโลยีที่ง่าย ต้นทุนต่ำ  และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น การทำเกษตรแบบผสมผสาน ควบคู่กับการพัฒนาและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งดิน และน้ำ โดยลด ละ เลิก การใช้สารเคมี หันมาใช้สารชีวภาพ พร้อมทั้งมีการจัดการการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้ทางด้านอาหาร  มีความพออยู่พอกิน ลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้
จึงดำเนินการ การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเกษตร  บริเวณด้านหน้าองค์การบริหารส่วนตำบลยางคำ      มีขนาดพื้นที่ประมาณ ๒ ไร่ อยู่ที่บ้านยางคำ หมู่ ๑ ตำบลยางคำ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งศูนย์เรียนรู้การเกษตร เกิดจากการร่วมคิด และร่วมทำ ระหว่างสำนักงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น องค์การบริหารส่วนตำบลยางคำ           และเกษตรกรตำบลยางคำ สร้างแหล่งเรียนรู้ทางด้านการเกษตรเพื่อเป็นต้นแบบเทคโนโลยีการเกษตรสำหรับเกษตรกรได้เรียนรู้และนำไปปรับใช้ได้ ได้แก่
การประยุกต์ใช้ระบบมินิสปริงเกอร์ และจักรยานปั่นน้ำ มาใช้ในการจัดการน้ำเพื่อการเกษตร  เพื่อให้เกษตรกรสามารถจัดการแหล่งน้ำที่มีอยู่ในชุมชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้เกษตรกรสามารถใช้น้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การทำปุ๋ยชีวภาพและสารไล่แมลง เพื่อ ลด ละ เลิก การใช้สารเคมีทางเกษตร และลดต้นทุนการผลิต  โดยการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น การน้ำหมักชีวภาพจากผักผลไม้ การทำน้ำหมักจากสมุนไพร   การทำเตาเผาถ่านน้ำส้มควันไม้ ช่วยให้เกษตรกรได้บริโภคอาหารที่ปลอดสารพิษ ลดต้นทุนการผลิต        และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
การขยายพันธุ์พืชด้วยวิธีการต่างๆ และการจัดการเรือนเพาะชำ  เช่น การตอนกิ่ง การทาบกิ่ง       การปักชำ เป็นต้น ช่วยให้เกษตรกรสามารถขยายพันธุ์พืชได้ด้วยตนเอง ลดต้นทุนด้านพันธุ์พืช รวมถึงสามารถจำหน่ายพันธุ์พืชเพื่อเป็นรายได้เสริมอีกด้วย
การทำโรงเห็ดและการเพาะเห็ดจากวัสดุในท้องถิ่น เช่น การเพาะเห็ดนางฟ้า การเพาะเห็ดขอนขาว เป็นต้น ช่วยให้เกษตรสามารถเพาะเห็ดเพื่อบริโภคในครัวเรือนและจำหน่ายเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง
ส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และการดูแลสุขภาพสัตว์  โดยสาธิตการทำฟางปรุงแต่ง เพื่อเป็นการเสริมธาตุอาหารให้กับฟาง สามารถเก็บไว้เป็นอาหารสำหรับโค-กระบือได้นานขึ้น นอกจากนี้ยังได้จัดทำแปลงสาธิตการจัดการแปลงหญ้าพืชอาหารสัตว์และการจัดการระบบการให้น้ำ เพื่อเป็นต้นแบบให้ชุมชนได้เข้ามาเรียนรู้ เกษตรกรได้ความรู้การจัดการแปลงหญ้าเพื่อเลี้ยงสัตว์อย่างง่าย เช่น การปลูกหญ้าบนคันนา เป็นต้น และสามารถเพิ่มสารอาหารให้กับโค - กระบือโดยการทำฟางปรุงแต่งได้ ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนพืชอาหารสัตว์และปัญหาการขาดแคลนน้ำได้
รวมถึงการใช้สมุนไพรท้องถิ่นร่วมกับการใช้จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์เพื่อการดูแลสุขภาพสัตว์และการเลี้ยงสัตว์ให้แก่ผู้นำชุมชนและเกษตรกรตำบลยางคำทั้ง ๑๔ หมู่บ้าน โดยบรรยายให้ความรู้ สาธิต และฝึกปฏิบัติการทำน้ำหมักชีวภาพ น้ำสมุนไพร ยาถ่ายพยาธิจากสมุนไพรที่มีอยู่ในชุมชน ช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนในการเลี้ยงและดูแลรักษาสุขภาพสัตว์ของตนเองได้ เช่น การใช้บอระเพ็ดในการถ่ายพยาธิโค เป็นต้น
นอกจากนี้ยังได้ส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงปลาแบบธรรมชาติ เช่น การทำอาหารปลาเองในรูปแบบของแพลงตอนหรือการทำน้ำเขียวจากเศษฟางและมูลสัตว์ เป็นต้น
จากการส่งเสริมเพื่อให้เกษตรกรพึ่งตนเอง ผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรต่างๆ ทำให้เกิดเกษตรกรต้นแบบที่สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับครัวเรือนของตนเอง มีความพออยู่พอกิน เลี้ยงตัวเองได้ และมีรายได้เสริมจากการขายผลผลิตทางการเกษตร สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้แก่เกษตรกรคนอื่นๆ ในชุมชนได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น