ขอเชิญทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเราในการสร้า้งสังคมแห่งการเรียนรู้...

หากต้องการลงบทความ/งานเขียนของท่าน สามารถแจ้งความประสงค์ได้ทางเว็บบอร์ด หรือทางอีเมล์แอดเดรส; po_kenchin@hotmail.com
หรือจะสมัครสมาชิกอย่างเดียวก็ได้นะครับ

23 มกราคม 2554

ประชาธิปไตยกับเงินเดือนนักการเมือง


            
           บันทึกช่วยจำของผม ชอบสรุปข่าวสถานการณ์บ้านเมืองแต่ละวันแต่ละสัปดาห์ไว้สั้นๆ ในยามว่างๆ ผมชอบนำมาอ่านอีกรอบเพื่อทบทวนครุ่นคิด บางทีก็ทำให้เห็นอะไรกว้างๆ ขึ้นๆ ถ้าเราได้อ่านปะติดปะต่อความคิดต่างๆ ในแต่ละเรื่อง อย่างประเด็นเรื่องเงินขึ้นเงินเดือนข้าราชการและเงินเดือนนักการเมือง ก็เช่นกัน ที่เป็นข่าวดังมากๆ ในรอบสัปดาห์สองสัปดาห์นี้ บันทึกถ้อยคำคนสำคัญในข่าวทำให้เห็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างคน ข่าวและผลประโยชน์ทับซ้อน อาทิ “ นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงกรณีการปรับขึ้นเงินเดือน ข้าราชการและนักการเมือง ว่า ข้าราชการขึ้น 5% นักการเมือง ทั้งส.ส.และส.ว. ขึ้น 14.7% โดยเฉพาะการปรับขึ้นเงินเดือนของนายกรัฐมนตรี ที่ขณะนี้ถือว่ามีอัตราที่น้อยกว่าผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ เพราะผู้บริหารบางคนได้เงินเดือนมากถึง 3 แสน-1 ล้านบาท ทั้งๆ ที่เป็นองค์กรที่อยู่ใต้การบริหารงานของนายกฯ” และ “ถ้าเทียบกับผู้บริหารในตำแหน่งเดียวกันของประเทศอื่นถือว่า นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยมีเงินเดือนน้อยมาก” 
ส่วนนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พูดเรื่องปรับขึ้นเงินเดือนให้กับข้าราชการการเมืองในระดับท้องถิ่น อาทิ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.), รองนายก อบต. ,ประธานสภา อบต. ,เป็นต้น ว่า “การปรับขึ้นเงินเดือนดังกล่าวเพื่อเป็นขวัญและกำลังในการทำงานให้ กับ อบต. ส่วนเงินที่นำมาปรับเพิ่มขึ้นให้ อบต. ก็เป็นเงินท้องถิ่น ซึ่งมาจากภาษีบำรุงท้องที่ เป็นเงินของ อบต. จึงไม่ต้องนำเข้าที่ประชุม ครม.” โดยมีกรอบการปรับขึ้นดังนี้ คือ อบต. ที่มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีสูงสุด คือ เกิน 50 ล้านบาท นายกฯ อบต.ได้เงินตอบแทนรายเดือน 18,400 บาท , เงินค่าตอบแทนประจำตำแหน่ง 2,000 บาท , เงินค่าตอบแทนพิเศษ 2,000 บาท รวมเป็น 22,400 บาท ส่วน รองนายกฯ ได้เพิ่มขึ้นทั้งหมดเดือนละ 12,120 บาท ประธานสภา อบต. ได้เดือนละ 10,120 บาท และ สมาชิก อบต. เลขานุการ นายกฯ อบต. และเลขานุการสภา อบต. ได้เดือน 6,600 บาท ส่วน อบต. ที่มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีต่ำสุด คือ ไม่เกิน 5 ล้านบาท นายกฯ อบต.ได้ขึ้นรวมแล้วเดือนละ 18, 700 บาท รองนายกฯ อบต.ได้ขึ้นเดือนละ 10,150 บาท ประธานสภา อบต. ได้ขึ้นเดือนละ 8,690 บาท ส่วนสมาชิกอบต. เลขานุการนายก อบต. และเลขานุการสภา อบต. ได้ขึ้นเดือน 5 , 530 บาท
ทางด้าน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ก็ให้เหตุผลว่า “การขึ้นเงินเดือนอย่างเป็นเหตุ เป็นผลนี้แม้จะถูกมองว่าเป็นสร้างประชานิยม ก็เป็นประชานิยมที่จำเป็นสำหรับประชาชน…? ” 
ครับๆๆ ….จริงอยู่ครับ เรื่องค่าตอบแทนของคนทำงานหนัก คนที่มีภาระหน้าที่ที่สำคัญและยิ่งใหญ่ ที่ที่อุทิศตนเพื่อส่วนรวมเพื่อประเทศชาติเพื่อประชาชน นั้นควรได้รับค่าตอบแทนคุ้มเหนื่อยสมน้ำสมเนื้อ และจริงครับ ว่า การขึ้นเงินเดือนส.ส.และส.ว. ใช้เงินแค่ละ 34 ล้านบาท แต่ทุกๆ ท่านก็พูดไม่หมด ว่ามันไม่ได้มีแค่เท่านี้ เพราะมันยังมีเงินสวัสดิการ มีค่าเดินทาง มีอภิสิทธิ์ และอื่นๆ อีกมากมาย ที่รัฐกำหนดผลประโยชน์ ที่ประเพณีทางอำนาจจัดให้ และที่สำคัญอำนาจที่มีสามารถเอื้อประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นได้อีกมากมายมหาศาล อันนี้หละ เท่าไหร่ ? และอธิบายยังไง ซึ่งผมเองก็มีคำถามและข้อคิดเห็น 3 เรื่อง เหมือนกัน
เรื่องแรก เรื่องเงินตอบแทนเป็นเรื่องของภาษี เป็นเรื่องที่ประชาชนเลือกและจ้างให้ไปทำหน้า สำหรับผมไม่ติดขัดหากภาระหน้าที่นั้นหนักหนาจนต้องพิจารณาค่าตอบแทนให้พอคุ้มเหนื่อย แต่ในเมื่อเป็นเงินภาษีของผมเหมือนกัน ดังนั้น อย่างแรกก็ต้องมาคุยมาคิดกันหน่อย เพื่อสร้างกระบวนการตรวจสอบ ประเมินผล และกำหนดหน้าที่ข้อบังคับหรือทำสัญญาประชาคมกันก่อน เพื่อเป็นเครื่องมือให้ประชาชนใช้บริหารบทบาทและความรับผิดของนักการเมือง เพื่อ ป้องกันไม่ให้นักการเมืองท้องถิ่นไปรับใช้นักการเมืองระดับชาติ ไปหาช่องหาเศษหาเลย ซึ่งก็คือการให้ชุมชนหรือประชาชนเป็นผู้ประเมินการขึ้นเงินเดือนของนักการเมือง ส่วนรัฐบาลกลางทำหน้าที่ร่วมสนับสนุนและร่วมมือประชาชนในการใช้กลไกตรวจสอบนี้ 
เรื่องที่สอง เรื่องอัตราเงินเดือนที่ขึ้น เพื่อให้คุ้มค่ากับฐานะ ภาระความรับผิดชอบและการทำงานที่มากขึ้น ซึ่งเห็นด้วยหากแต่ต้องคิดควบคู่ไปกับมาตรการป้องกันและการเพิ่มบทลงโทษสำหรับนักการเมืองที่โกงกินหรือรับสินบนผลประโยชน์อื่นใดโดยมิชอบ ในทุกๆ ช่องทาง และนอกจากนั้น ต้องคิดบนฐานที่ควบคู่กันไปอย่างสัมพันธ์และเหมาะสมกับรายได้ประชาชน รายได้ประชาชาติ งบประมาณแผ่นดิน หนี้สินโดยรวมของประเทศ ควบคู่กับค่าแรงขั้นต่ำของประชาชน ควบคู่กับอัตราเงินเฟ้อแต่ละช่วง กับมาตรฐานเงินที่พอยังชีพปกติ คิดออกมาให้ได้ ว่าเท่าไหร่และอย่างไร จึงจะยอมกันได้ว่า สมเหตุสมผล 
เรื่องที่สาม เรื่องสุดท้าย เรื่องการขึ้นเงินเดือนกับประสิทธิภาพการทำงาน “เป็นผู้แทนประชาชน” เงินหรือประโยชน์อื่นๆ ที่มอบให้เป็นกำนัลเพื่อความสะดวก ควรจัดให้สัมพันธ์กับภาระหน้าที่ ความกระตือรือร้นในการทำงานและการสร้างแรงจูงใจให้กับนักการเมือง ยิ่งทำงานหนักยิ่งได้รับมาก ยิ่งอุทิศตนเสียสละยิ่งได้ความไว้วางใจ ถูกเลือกเข้ามาทุกยุคทุกสมัย และคำยืนยันของคนในพื้นที่ คือประกาศนียบัตร คือกระบวนการตรวจสอบ ถ่วงดุล และร่วมกำหนดทิศทางการเมืองไทยตามระบอบประชาธิปไตย 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น