ขอเชิญทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเราในการสร้า้งสังคมแห่งการเรียนรู้...

หากต้องการลงบทความ/งานเขียนของท่าน สามารถแจ้งความประสงค์ได้ทางเว็บบอร์ด หรือทางอีเมล์แอดเดรส; po_kenchin@hotmail.com
หรือจะสมัครสมาชิกอย่างเดียวก็ได้นะครับ

23 กุมภาพันธ์ 2555

ช.น.พ. กับ “ชาร์ลี แชปลิน” ทางเดินสู่ชนบทและการเติบโตทางความคิดเพื่อสังคม

         “ตึกกิจกรรม” เป็นตึกสองชั้นมีห้องเล็กห้องน้อยที่แสดงตัวตนของคนทำกิจกรรมอันหลากหลาย เราจะได้ยินเสียงเปียโนดังมาจากห้องเล็กๆริมทางขึ้นบันได มีเสียงร้องประสานเสียงสูงต่ำ ห้องที่มีชั้นหนังสือเรียงรายมีนักศึกษาแวะเวียนเข้าออก แต่ละห้องมีกิจกรรมที่ต่างทำให้เกิดพลังของการปะทะสังสรรค์ระหว่างผู้คนในตึกกิจกรรมแห่งนี้...
          หน้าตึกมีศาลาน้อยเป็นซุ้มมุงจาก อยู่ใต้ต้นยอป่า และมีสระน้อย ๆ เคียงข้าง เมื่อลูกยอสุกดกหล่นร่วงลงสระก็จะส่งกลิ่นคลุ้งอันเป็นเอกลักษณ์ของซุ้มศาลาแห่งนี้...ที่ที่ซึ่งมีแต่เพียงคนกลุ่มเล็กๆกลุ่มหนึ่งแต่งตัวมอซอ ผมเผ้ารุงรัง ใส่เสื้อยืด กางเกงเล สะพายย่าม มานั่งเล่นกีต้าร์ร้องเพลงเพื่อชีวิตในยามเย็นย่ำ...
          หนังกลางแปลงจะฉายวนเวียนอยู่เพื่อเรียกคนเข้าไปมุงดู เสียงหัวเราะดังลั่นอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเข้าไปดูจะพบว่าเป็นหนังเรื่อง “ชาร์ลี แชปลิน”  หนังฝรั่งตลกใบ้เก่าแก่คลาสสิคที่ถูกนำมาพากย์เสียงอีสานได้อย่างฮาชนิดที่คนดูแทบจะลงไปนอนกลิ้ง...ใครจะเชื่อว่าเมื่อหนังจบ..พี่ๆคนฉายหนังกลับชวนกันพูดคุยเรื่องราวแห่งความทุกข์ยากของพี่น้องในชนบทที่ห่างไกล และชวนกันออกแบบการทำค่ายอาสาพัฒนาชุมชน...
         ที่นี่เองเราเรียกกันว่า “ช.น.พ.” (ชุมนุมนักศึกษาเพื่อการพัฒนา)
         เราซึ่งเป็นน้องใหม่ (CD4) จะเห็นภาพของกลุ่มรุ่นพี่ (ซึ่งขณะนั้นน่าจะเป็นยุคของCD 2-3) ที่มีบุคลิกจริงจังแบบไม่จริงจัง ทั้งพี่เหี่ยว (เดโช) พี่วินเลี่ยม(เทวารักษ์) พี่น้องณัฐ(ณัฐวุฒิ) พี่อู๋(พัฒนา) พี่ต๋อม(พีระ) ฯลฯ เหมือนๆพยายามจะทำตัวให้ตลกน่ารักเพราะกลัวน้องๆไม่เข้าร่วม ช.น.พ.เพราะกลัวเครียด ซีเรียส จริงจังเกินไป
         ยุคนี้เองที่ ช.น.พ. นำพานักศึกษาสาขาพัฒนาชุมชนเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมทางสังคม... ค่ายอาสาถูกปรับจาก "ค่ายสร้าง" เป็น "ค่ายต่อเนื่อง" ที่สมาชิกค่ายได้เรียนรู้ศึกษาสภาพปัญหาทางสังคมชนบทอย่างจริงจังและต่อเนื่อง มีกิจกรรมมากกว่าการสร้าง-การสงเคราะห์ มีชาวบ้านและชนบทเป็นครูสอนวิชาการพัฒนาแบบล่างขึ้นบน ค่ายอาสาที่น้องๆ(ถูกหลอกล่อ)ให้เข้าร่วมเป็นค่ายอาสาแบบต่อเนื่องค่ายแรก “บ้านหนองคูบัว” มีการแบ่งงานความรับผิดชอบไปตามประเด็นต่างๆ เช่น ด้านพัฒนา ด้านวัฒนธรรม ด้านเด็ก-การศึกษา ด้านสิ่งแวดล้อม ฯลฯ  น้องใหม่อย่างเราจึงเลือกทำงานกับเด็ก ได้พาเด็กๆวิ่งเล่นไปในทุ่งนา เรียนรู้วิถีการเล่นกับธรรมชาติรอบๆตัว และเรียนรู้การใช้ชีวิตของชาวนาไปพร้อมๆกับเด็ก  เราได้ฝึกสอนหนังสือเด็กที่โรงเรียน หานิทานและเกมส์สนุกๆมาสอน จำได้ว่ามีเด็กคนนึงติดเรามากเดินตามต้อยๆแม้กระทั่งจะเข้าห้องน้ำ พอเราออกจากห้องน้ำเห็นไอ้ตัวเล็กกำลัง “จอบเบิ้ง”เราอยู่...มันวิ่งแจ้นตะโกนประกาศไปทั่วว่า “เห็นของพี่จิ๋วแล้วๆๆ...” เราเลยจำชื่อได้แม่นว่าไอ้นุ้ยตัวแสบ...
         ทุกคืนชาวค่ายจะต้องมารายงานและสรุปงานร่วมกันในค่ายก่อนจะแยกย้ายกันไปนอนตามบ้านของชาวบ้าน เพราะเป็นค่ายที่ไม่ได้นอนในวัดหรือนอนในโรงเรียนรวมกัน แต่ต้องกระจายไปนอนที่บ้านชาวบ้านเพื่อให้รู้จักการปรับตัวให้เข้ากับชุมชน ในค่ายจะมีกิจกรรมที่ซาบซึ้งก่อนวันกลับเป็นกิจกรรมรอบกองไฟ หลังกิจกรรมเราจะสรุปงาน แล้วร้องเพลงเพื่อชีวิตใต้แสงดาวผิงกองไฟแล้วหลับกองกันอยู่รอบกองไฟ.... บรรยากาศชีวิตชาวค่ายในชุมชนชนบทและการทำงานแข็งขันในค่ายที่ชวนให้ทุกคนได้แสดงความคิด วิเคราะห์และต่อยอดการเรียนรู้จากการออกค่าย หล่อหลอมความคิดของพวกเรานักศึกษารุ่นใหม่ไปโดยไม่รู้ตัว  เรากลายเป็นคนที่ไม่กลัวเรื่องเครียด ไม่รู้สึกซีเรียสที่จะคุยเรื่องหนักๆ และรับรู้ได้ว่าเราเริ่มอยากเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงสังคม กลับมาหาหนังสืออ่าน หลายเล่มเป็นเรื่องแปลของนักเขียนอย่างดอสโตเยฟสกี ลีโอ ตอลสตรอย เฮอร์มานน์ เฮสเส ฯลฯ...และอยากจะมาที่ศาลาน้อยหน้าตึกกิจกรรมแห่งนี้เป็นประจำ...
         เราเติบโตขึ้น ในปีต่อๆมา ช.น.พ.ก็ถึงครามาสู่รุ่นเรา CD4 ในช่วงปี 2533-34 เป็นยุคแห่งขบวนการนักศึกษากับการพัฒนาที่เปลี่ยนแปลง สังคมที่กำลังเติบโตไปสู่ยุคนิกส์ ยุคแห่งการพัฒนาที่ไม่คำนึงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งการทำนาเกลือ การปลูกยูคาลิปตัสที่ทำให้เกษตรกรอีสานเผชิญกับปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรจากนายทุน ส่วนการเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อนนักศึกษาจำนวนหนึ่ง(มีเรารวมอยู่ในนั้นด้วย)ร่วมขบวนการคัดค้านนาเกลือ กรณีดินเค็มน้ำเสียว และคัดค้านการปลูกยูคาลิปตัส ...จำได้ว่าตอนนั้นพี่ๆและเพื่อนๆหลายคน(จำได้ว่ามีบึ้ง-บุญอ้อม โต-ถนอมศิลป์ อ๊อด-เทวินทร์ ฯลฯ)ถูกตีตอนสลายการชุมนุม และถูกจับเข้าตาราง...
         งานค่ายอาสาถูกรับช่วงต่อเนื่องมาจากรุ่นพี่ ซึ่งรุ่นเรามี แดง-รัตนา ได้รับเลือกให้เป็นประธานค่ายนำพาน้องๆรุ่นหลังเข้าสู่กิจกรรมค่ายอาสาที่เข้มข้นไม่เปลี่ยนแปลง
         บรรยากาศการทำงานทางสังคมยุคนั้นเติบโตมาก และเป็นส่วนหล่อหลอมอุดมการณ์ทางสังคมให้กับหลายคนที่เมื่อจบออกมาจากมหาวิทยาลัยยังคงเลือกทำงานพัฒนาตามที่ตนเรียนมา ...รวมทั้งเราด้วย...
         สาขาพัฒนาชุมชนมักถูกมองว่าเป็นคนจน จบไปแล้วก็ไม่รวย หางานทำก็ยาก แต่สำหรับเราแล้ว เราขอบคุณ ช.น.พ. ที่ทำให้คนที่ผ่านเข้ามาร่วมกิจกรรมของชุมนุมนี้ ถึงแม้จะไปอยู่ที่ตรงไหนของสังคม พวกเขายังระลึกถึงภาพของชุมชนชนบทและมีสำนึกที่จะทำงานเพื่อสังคม...
          หลังจบจากมหาวิทยาลัย เราตั้งเป้าไปที่งานพัฒนาชุมชน เลือกเป็นเอ็นจีโอ(NGOs) ทำงานกับองค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่ได้ขึ้นต่อรัฐ ทำงานกับกลุ่มเกษตรกรในภาคอีสาน เคยร่วมขบวนเดินทางไกลกับชาวบ้านอีสานเพื่อคัดค้านโครงการ คจก. ที่ขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ และร่วมขบวนการชุมนุมของสมัชชาคนจน ทำงานกับพี่น้องที่ราษีไศลคัดค้านเขื่อนราษีไศล  จ.ศรีสะเกษ  สิ่งที่พาเราเดินทางมาสู่การทำงานแบบนี้ได้นั้น คงไม่ใช่เพียงชั่วระยะเวลาในการทำค่ายอาสาเพียงลำพัง มีสิ่งมากมายหลายสิ่งที่รายล้อมอยู่ในช่วงชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย เรามีเพื่อนCD4ที่เป็นเหมือนสายสัมพันธ์อันหลากหลาย เพื่อนที่มาจากหลายที่หลายแบบแต่มาหล่อหลอมผูกพันกันได้อย่างไม่แปลกแยก  พี่ๆน้องๆชาวCD ที่มีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้น(ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมากกว่าสาขาและคณะอื่นๆ) มีอาจารย์ที่เปรียบเสมือนพ่อแม่คนที่สองของเรา(อย่าง อ.สุริยา สมุทรคุปติ์ และอ.รัตนา บุญมัธยะ ฯลฯ) ...และมีบรรยากาศการต่อสู้ของขบวนการชาวบ้านและพี่เอ็นจีโอทั้งหลายนำพาการเติบโตทางความคิด สิ่งเหล่านี้เองที่เป็นเบ้าหลอมและเส้นโยงใยเชื่อมตัวตนของเราในวัยแสวงหาให้เข้าที่เข้าทางและมีหลักมั่นในชีวิต... ยังนึกถึงภาพของชาร์ลี แชปลินที่มักเดินแล้วล้ม แล้วลุก แล้วล้ม แล้วก็ลุกใหม่...ด้วยอาการเคอะเขิน ถ่อมตน แต่มุ่งมั่นมีจุดหมายของตน... เบื้องลึกของหนังตลกโปกฮาที่มีปรัชญาลึกล้ำ...มักหวนกลับมาหาเราเสมอ...
         ทุกวันนี้เรายังคงทำงานพัฒนา เป็นเอ็นจีโอ(NGOs) องค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่ได้ขึ้นต่อรัฐ แม้งานจะไม่มั่นคง ไม่มีหลักประกัน ไม่มีตำแหน่งยศถาบรรดาศักดิ์ให้ไต่เต้าเติบโต แต่เราก็รู้สึกภาคภูมิใจที่เลือกเป็น...จะล้มแล้วลุกกี่ครั้ง เราก็ยังคงเดินต่อ อย่างมุ่งมั่น....  
         อย่างไรก็ตาม เราพบว่าเพื่อนๆร่วมรุ่นทั้งหลาย ต่างไปอยู่ในจุดที่แตกต่างกัน แต่พวกเราต่างก็มีภาพความทรงจำและสายสัมพันธ์ที่ทำให้ความเป็นCDยังตราตรึงอยู่และยังคงมีความคิดของการเป็นนักศึกษาเพื่อการพัฒนาสังคมที่ไม่แตกต่างกันเลย...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น