ขอเชิญทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเราในการสร้า้งสังคมแห่งการเรียนรู้...

หากต้องการลงบทความ/งานเขียนของท่าน สามารถแจ้งความประสงค์ได้ทางเว็บบอร์ด หรือทางอีเมล์แอดเดรส; po_kenchin@hotmail.com
หรือจะสมัครสมาชิกอย่างเดียวก็ได้นะครับ

08 กุมภาพันธ์ 2554

ข้อเสนอปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ


ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติเป็นฐานชีวิต   และปัจจัยการผลิตที่สำคัญสำหรับคน
ทุกคน แต่โครงการการจัดการที่ดินของประเทศไทย        โดยปล่อยให้รัฐและอำ 
นาจทางทุนเข้าถือครองที่ดินอย่างไม่จำกัด ได้สร้างความไม่เป็นธรรมให้แก่สังคม 
กล่าวคือ       ขณะที่ประชาชนจำนวนมากต้องสูญเสียที่ดินซึ่งคนเคยถือครองหรือ
ทำมาหากินมานาน แต่กลับมีที่ดินที่ปล่อยให้ทิ้งร้างว่างเปล่าจำนวนมหาศาล มีการ
เก็งกำไรที่ดินจนมีราคาแพง  ทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ยาก ไม่คุ้มกับการลงทุนทำ
การเกษตร  มีปัญหาการใช้ที่ดินที่ไม่เหมาะสมกับระบบนิเวศ     มีการประกาศเขต
ป่าอนุรักษ์  และพื้นที่สาธารณะโดยไม่คำนึงถึงความมีอยู่ของชุมชนท้องถิ่นซึ่งอยู่
ในพื้นที่ดังกล่าวมาเป็นเวลาช้านาน    ส่งผลให้เกษตรกรทำกินอยู่ในพื้นที่ซ้อนทับ
อย่างผิดกฎหมาย      ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญาในข้อหา
บุกรุกที่ดินของรัฐและของเอกชน  เกษตรกรต้องประสบกับความทุกข์ยากทั้งทาง
เศรษฐกิจและสังคม   รวมทั้งถูกจำกัดในเรื่องการพัฒนา ซึ่งสร้างความอ่อนแอแก่
สังคมการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศชาติโดยรวม
เมื่อวิเคราะห์ถึงรากฐานความขัดแย้งเรื่องที่ดินพบว่ามีปัญหาหลายระดับ ประการแรก ระดับความคิดเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรี ซึ่งได้เปลี่ยนคุณค่าที่ดินจากฐานชีวิตมาเป็นสินค้า กำหนดทิศทางการพัฒนาที่ให้ความสำคัญแก่การเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มทุนรายใหญ่มากกว่าความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของเกษตรกรรายย่อย ตลอดจนความมั่นคงทางอาหาร และฐานทรัพยากร และระดับโครงสร้างที่ให้ความสำคัญกับระบบกรรมสิทธิ์แบบปัจเจกที่ผูกติดกับกลไกตลาด รวมทั้งการครอบครองและจัดการที่ดินแบบรวมศูนย์อำนาจของรัฐเข้ามาเบียดขับระบบการจัดการที่ดินและทรัพยากรร่วมกันของชุมชนหรือสิทธิชุมชนในท้องถิ่น รวมทั้งการกระจายการถือครองที่ดินที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

หากสังคมไทยมีจินตนาการให้คนไทยทุกคน ซึ่งจะมีจำนวนสูง สุดราว 70 ล้านคน ตามที่คาดไว้ในอีก 10 ปีข้างหน้า มีที่อยู่อาศัยและที่ทำกินได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอต่อการดำรงชีวิตที่ดี มีระบบการศึกษาที่สอนคนให้เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน มีความรักคุณค่าทางวัฒนธรรมและท้องถิ่น มีอาหารบริโภคที่มีคุณภาพและปลอดภัย เกษตรกรที่มีที่ดินทำการเกษตรเป็นของตนเองเพื่อเลี้ยงชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยวิถีการเกษตรที่สมดุลยั่งยืน มีสภาพแวดล้อมที่ดี มีฐานทรัพยากรดิน น้ำ ป่าที่สมบูรณ์ ซึ่งชุมชนสามารถดูแลจัดการใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ เกษตรกรที่ประสงค์จะทำการผลิตเพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้นก็สามารถเข้าถึงที่ดินขนาดที่เพียงพอคุ้มกับการลงทุนหรือบริหารจัดการร่วมกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์เพื่อสร้างอำนาจต่อรองทางการตลาดได้ด้วย เหตุนี้จึงมีความ จำเป็นต้องแก้ปัญหาที่ดินเพื่อการเกษตรโดยวิธีการปฏิรูปโครงสร้างอย่างเป็นระบบโดยเร็ว

กระบวนการปฏิรูปต้องเริ่มจากปัญหาความเดือดร้อนที่ประชาชนประสบอยู่ โดยอาศัยความรู้และประสบการณ์ของชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งความเข้มแข็งมุ่งมั่นของเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน ควบคู่ไปกับการปรับปรุงโครงสร้างเชิงนโยบายและสถาบันให้สอดคล้องกันไปด้วย

คณะกรรมการปฏิรูปจึงมีข้อเสนอเบื้องต้นเพื่อปฏิรูปโครงสร้างการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตรทั้งระบบ ดังต่อไปนี้

1.ให้โอกาสและสิทธิคนจนต้องคดีที่ดินเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมสภาพปัญหา
เกษตรกรในชนบทจำนวนมากประสบปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ของรัฐโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และถูกจับกุมดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกที่ดินของรัฐและของเอกชนอย่างไม่เป็นธรรม เกษตรกรถูกดำเนินคดีและถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำหรือสภาพที่ต้องขังแล้ว 836 ราย (ข้อมูลถึงเดือนธันวาคม 2553) ประชาชนที่เกี่ยวข้องกับคดีที่ดินคนจนที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี และที่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมีเป็นจำนวนหลายแสนครอบครัวข้อเสนอ

เพื่อให้การพิจารณาคดีที่ดินทำกินของเกษตรกรยากจนที่ถูกจับกุมคุมขังขณะยังอยู่ระหว่างการแก้ปัญหาทางนโยบายของรัฐมีความเป็นธรรม โดยเกษตรกรได้รับโอกาสและสิทธิในการเข้าถึงความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมที่หลากหลายและสอดคล้องกับกรณีพิพาท จึงมีข้อเสนอดังนี้

1.1 คดีที่ดินที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ขอให้มีการพักโทษ ลดโทษ และคุมประพฤติ โดยให้ผู้ต้องโทษกลับไปอยู่ดูแลครอบครัว ทำการเกษตรเลี้ยงครอบครัวในที่ดินเดิม และให้ทำงานเป็นอาสาสมัครดูแลรักษาทรัพยากรในท้องถิ่นแทนการจำคุก

1.2 คดีที่ดินอยู่ระหว่างการพิจารณา ขอให้มีการจำหน่ายคดีชั่วคราว อนุญาตให้เกษตรกรผู้ต้องหาและครอบครัวอยู่อาศัยทำกินในที่ดินเดิม และให้ทำงานเป็นอาสาสมัครดูแลรักษาทรัพยากรในท้องถิ่น จนกว่าการแก้ไขปัญหาตามนโยบายของรัฐบาลจะแล้วเสร็จ

1.3 กรณีปัญหาที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เนื่องจากยังมีชุมชนที่อยู่ในเขตป่าอย่างผิดกฎหมายจำนวนมากที่อยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหาตามนโยบายของรัฐบาล จึงสมควรระงับการดำเนินการใดๆ ที่เป็นการเพิ่มความเดือดร้อนและความรุนแรงกับคนจน โดยขอให้ระงับการขยายเขตพื้นที่อนุรักษ์ ระงับการจับกุมประชาชนที่ทำกินอยู่ในพื้นที่ขัดแย้งเดิมที่ไม่ใช่การถางป่าใหม่ รวมทั้งระงับการจำกัดการพัฒนาชุมชนขั้นพื้นฐานที่จำเป็น จนกว่าการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดินตามนโยบายของรัฐจะแล้วเสร็จ

1.4 ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมคดีที่ดินทำกินที่อยู่ระหว่างการ แก้ปัญหาเชิงนโยบาย เพื่อลดจำนวนคดีและความรุนแรงของคดีลง โดย
1.4.1 ปรับปรุงกองทุนยุติธรรมให้เกษตรกรผู้ต้องหาคดีที่ดินทำกินสามารถนำเงินกองทุนมาใช้จ่ายเป็นค่าประกันตัวผู้ต้องหา ค่าทนายในการต่อสู้คดี และเป็นค่าใช้จ่ายเยียวยาผู้ต้องหาและครอบครัว ซึ่งเป็นคนจนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคดีที่ดิน
1.4.2 แก้ไขความไม่เป็นธรรมที่ต้นทางเสนอให้รัฐสนับสนุนสถาบันวิชาการและผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมทุกฝ่ายทำการศึกษาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงแก้ไขระเบียบกฎหมายเกี่ยวข้องกับที่ดินการเกษตรทุกฉบับที่ไม่เป็นธรรมและขัดรัฐธรรมนูญ และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ
1.4.3 การแก้ไขความไม่เป็นธรรมที่ปลายทาง โดยนำกระบวน การวิธีพิจารณาคดีที่หลากหลายที่ไม่ใช่การกล่าวหามาใช้ให้สอดคล้องกับลักษณะของข้อพิพาท ได้แก่ การเดินเผชิญสืบของผู้พิพากษา การพิจารณาจากหลักฐานบุคคลหรือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่น การเจรจาไกล่เกลี่ยโดยคนกลาง กระบวนการยุติธรรมชุมชน หรือการจัดตั้งศาลเฉพาะที่มีความเชี่ยวชาญในปัญหาข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินทำกิน ตลอดจนให้มีการกลั่นกรองคดีในระดับชุมชน ก่อนการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางศาลเพื่อลดจำนวนคดีที่มีจำนวนมากให้น้อยลง

อนึ่ง กลยุทธ์ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมคดีที่ดินทำกินของเกษตรกร เสนอให้รัฐจัดเวทีสานเสวนาอย่างต่อเนื่องของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม อันได้แก่ นักการเมือง ผู้พิพากษา อัยการ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทนายความ นักวิชาการด้านกฎหมาย บุคลากร กระทรวงยุติธรรม และเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อนำไปสู่การศึกษาทำความเข้าใจกับปัญหาที่ดินทำกินและการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมให้มีความเป็นธรรมร่วมกัน

2.การแก้ปัญหาเกษตรกรไร้ที่ดินทำกินหรือมีที่ดินไม่พอทำกินสภาพปัญหา
ที่ดินในชนบทมีปัญหาเกษตรกรสูญเสียที่ดินจนไร้ที่ทำกินหรือมีที่ดินไม่พอทำกิน ข้อมูลของศูนย์อำนวยการต่อสู้เอาชนะความยากจนแห่งชาติ (ศตจ.) ในปี 2547 รายงานว่า มีผู้ไม่มีที่ดินทำกิน จำนวน 889,022 ราย มีที่ดินทำกิน แต่ไม่เพียงพอ จำนวน 517,263 ราย มีที่ดิน แต่ไม่มีเอกสารสิทธิ 811,279 ราย ที่ดินจำนวนมากกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนกลุ่มน้อย ที่ดินจำนวนมากถูกปล่อยทิ้งร้างไม่ใช้ประโยชน์ จึงกระทบต่อเศรษฐกิจฐานราก เกิดปัญหาสังคมทั้งในชนบทและในเมือง รวมทั้งส่งผลให้เกิดความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมของประเทศข้อเสนอ
การปฏิรูปแนวความคิดและวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมในการถือครองและใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตร มีข้อเสนอดังนี้

2.1 จัดระบบข้อมูลที่ดินเพื่อการเกษตรทั้งประเทศให้เป็นข้อมูลสาธารณะ โดยบูรณาการข้อมูลการถือครองที่ดินการเกษตร ทั้งข้อมูลการถือครองที่ดินและข้อมูลแผนที่ทั่วประเทศให้ทันสมัยตรงกับข้อเท็จจริงในปัจจุบัน และเข้าถึงได้ง่าย เพื่อใช้ในการวางแผนกระจายการถือครองที่ดิน การตรวจสอบการถือครองและใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรให้เหมาะสมและเป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

2.2 การกำหนดเขตการใช้ที่ดินและแผนการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรขึ้นใหม่ ใช้ฐานข้อมูลที่ดินและการมีส่วนร่วมของชุมชนกำหนดเขตและการทำแผนที่การใช้ที่ดินขึ้นใหม่ เริ่มจากแผนที่ดินเพื่อการเกษตรระดับชุมชน โดยแบ่งพื้นที่หลักออกเป็นพื้นที่เพื่อการเกษตร พื้นที่เมือง พื้นที่อุตสาหกรรม พื้นที่เพื่อคุ้มครองรักษาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม และที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกันให้ชัดเจน ซึ่งรวมทั้งเขตที่ดินของชุมชนดั้งเดิมที่ก่อตั้งมาแต่บรรพบุรุษ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมอันดีงามในการดูแลรักษาและใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรอย่างยั่งยืนไว้ด้วย แล้วจึงบูรณาการแผนระดับชุมชนเป็นแผนระดับจังหวัดและแผนระดับชาติให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี แล้วออกกฎหมายว่าด้วยแผนการใช้ที่ดินหลักของประเทศ และแผนการใช้ที่ดินระดับชุมชนให้มีผลบังคับใช้ทันที
สำหรับที่ดินของส่วนราชการต่างๆ ที่ขอกันไว้เป็นจำนวนมากแล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามภารกิจหลักของหน่วยงาน ขอให้รัฐนำที่ดินนั้นกลับคืนมาวางแผนใช้ประโยชน์ในการพัฒนาด้านอื่นๆ ที่จำเป็น ส่วนที่ดินที่เหมาะสมกับการเกษตร ขอให้มอบให้กองทุนธนาคารที่ดินนำไปบริหารจัดการต่อไป

2.3 คุ้มครองที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ออกกฎหมายคุ้มครองที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเพื่อช่วยหยุดยั้งการกว้านซื้อที่ดินเพื่อซื้อขายเก็งกำไรรายใหม่ๆ ซึ่งจะทำให้ราคาที่ดินลดลง ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อที่ดินคืน และเป็นการคุ้มครองที่ดินเพื่อการเกษตรไม่ให้นำไปใช้ผิดประเภท

2.4 กำหนดเพดานการถือครองที่ดินที่เหมาะสม เพื่อให้ที่ดินเพื่อการเกษตรที่จำแนกไว้ได้กระจายไปยังเกษตรกรรายย่อยผู้ทำการเกษตรด้วยตนเองได้อย่างทั่วถึง เกษตรกรสามารถใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องกำหนดเพดานการถือครองที่ดินไว้ให้เหมาะสมสอดคล้องกับจำนวนพื้นที่การเกษตรที่มีอยู่อย่างจำกัด ตลอดจนให้เหมาะกับศักยภาพและความสามารถของครัวเรือนเกษตรกรรายย่อยในการใช้ที่ดินสร้างเศรษฐกิจในครอบครัวและชนบทให้เข้มแข็ง รวมทั้งการสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับประเทศ และการดูแลรักษาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลยั่งยืน
ควรจำกัดเพดานการถือครองที่ดินที่เหมาะสมไม่ให้เกินครัวเรือนละ 50 ไร่ กรณีกลุ่มองค์กรเกษตรกรหรือสหกรณ์การเกษตร ให้มีการถือครองที่ดินตามสัดส่วนของจำนวนสมาชิกองค์กร โดยเฉลี่ยไม่เกินรายละ 50 ไร่ โดยใช้อัตราภาษีเป็นกลไกควบคุม

2.5 ให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินเพื่อการเกษตรกับเกษตรกรที่ทำเกษตรด้วยตนเอง ผู้ที่มีสิทธิ์ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อการเกษตรจะต้องเป็นผู้ที่ครอบครองและทำการเกษตรด้วยตนเองเท่านั้น ห้ามไม่ให้ผู้อื่นเช่า หรือปล่อยทิ้งร้าง หรือกระทำการเป็นการอำพรางโดยไม่มีเจตนาทำการเกษตรจริง และควรใช้มาตรการทางภาษีอัตราก้าวหน้าสูงเป็นกลไกควบคุมการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรดังกล่าว
กรณีที่ดินของรัฐตามโครงการจัดสรรที่ดินในรูปแบบต่างๆ ที่จัดให้เกษตรกรไร้ที่ทำกินแล้วถูกเปลี่ยนมือไปยังผู้อื่นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้รัฐนำกลับคืนมาเป็นที่ดินส่วนกลางเพื่อให้กองทุนธนาคารที่ดินฯ ได้นำไปจัดสรรอย่างเป็นธรรมให้เกษตรกรผู้ไร้ที่ทำกินหรือผู้มีที่ดินไม่พอทำกินต่อไป

2.6 กำหนดมาตรการทางภาษีเพื่อจัดเก็บภาษีที่ดินที่ถือครองเกินขนาดจำกัดในอัตราก้าวหน้า ที่ดินขนาดต่ำกว่า 10 ไร่ ซึ่งเป็นขนาดที่จำเป็นต่อการทำกินยังชีพ ให้เสียภาษีในอัตราต่ำร้อยละ 0.03 ที่ดิน 10-50 ไร่ เสียภาษีอัตราปานกลาง ร้อยละ 0.1 สำหรับที่ดินปล่อยทิ้งร้างหรือส่วนที่เกินจาก 50 ไร่ ให้เสียภาษีอัตราก้าวหน้าสูงร้อยละ 5

2.7 จัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อการเกษตร เสนอให้รัฐจัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อการเกษตร เพื่อนำเงินทุนไปซื้อที่ดินที่ถือครองเกินขนาดจำกัด รวมทั้งจัดซื้อที่ดินที่เป็นทรัพย์ประกันหนี้เสียของธนาคารและสถาบันการเงินมาบริหารให้กระจายไปยังเกษตรกรที่ไร้ที่ดินและมีที่ดินไม่พอทำกิน
กองทุนธนาคารที่ดินควรมีโครงสร้างการบริหารแบบกระจายอำนาจ ในระดับตำบล ระดับจังหวัด และระดับชาติ เพื่อกระจายภารกิจความรับผิดชอบและการมีส่วนร่วมไปยังชุมชนและท้องถิ่นทุกระดับ
เพื่อให้การบริหารกองทุนธนาคารที่ดินฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิ ภาพ จึงเสนอให้รัฐ
2.7.1 จัดตั้งสถาบันบริหารจัดการที่ดินและกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อการเกษตร เพื่อมารับผิดชอบบริหารกองทุนฯ และการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตร
2.7.2 จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายที่ดินเพื่อการเกษตรแห่ง ชาติ มากำกับดูแลทิศทางและยุทธศาสตร์ของกองทุนฯ และสถาบันบริหารจัดการที่ดินและกองทุนฯ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานมีผู้แทนจากหน่วยงานของรัฐจากกระทรวงเกษตร กระทรวงทรัพ ยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการคลัง ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรที่มีประสบการณ์ด้านการปฏิรูปการจัดการที่ดิน และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตร เป็นคณะกรรมการ
2.7.3 จัดหาเงินทุน ปีละ 1 แสนล้านบาท ระยะเวลา 5 ปี รวมเป็นเงิน 5 แสนบาท มาให้กองทุนฯ จัดซื้อที่ดินเพื่อกระจายไปให้เกษตรกรผู้ไร้ที่ดินหรือมีที่ดินไม่พอทำกิน จำนวนประมาณ 1 ล้านครัวเรือน

2.8 การจัดตั้งหน่วยงานบริหารจัดการที่ดินและกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อการเกษตร เสนอให้รัฐ2.8.1 มอบหมายให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นเจ้าภาพรับผิดชอบจัดตั้งและบริหารสถาบันบริหารจัดการที่ดินและกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อการเกษตรที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ โดยให้บูรณาการ หน่วยงานย่อยของรัฐ ภายใต้กระทรวงและกรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่ดินเพื่อการเกษตร ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตร และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน
2.8.2 ให้สถาบันบริหารจัดการที่ดินและกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อการเกษตร สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี และออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีรองรับอำนาจการบริหาร โดยมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี 1 ท่าน เป็นผู้กำกับดูแล
2.8.3 ให้สถาบันบริหารจัดการที่ดินและกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อการเกษตร ทำหน้าที่อำนวยการ กำกับดูแล และประสานความร่วมมือ (facilitation & coordination) ในระดับนโยบาย
2.8.4 จัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดินฯ ในระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปฏิรูปการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตรในแต่ละท้องถิ่น โดยประชาชนและองค์กรท้องถิ่นร่วมกันคิด วางแผน ตัดสินใจ และดำเนินการไปอย่างสอดคล้องกับระบบนิเวศและวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นให้มากที่สุด
2.8.5 ใช้เงินกองทุนธนาคารที่ดินฯ จัดซื้อที่ดินจากผู้ประสงค์ต้องการขายให้รัฐในราคาไม่สูงกว่าราคาประเมิน แล้วนำที่ดินที่ซื้อมาจัดสรรให้กับเกษตรกรที่ไร้ที่ทำกินและเกษตรกรที่มีที่ดินไม่พอทำกิน โดยวิธีการผ่อนส่งระยะยาว 20 ปี คิดดอกเบี้ยอัตราต่ำร้อยละ 1
2.8.6 เมื่อสถาบันบริหารจัดการที่ดินเพื่อการเกษตรและกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อการเกษตรดำเนินการไปได้ครบ 5 ปี ให้สถาบันจัดทำข้อเสนอการปรับปรุงกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อการเกษตร และสถาบันบริหารจัดการที่ดินและกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อการเกษตร พร้อมทั้งจัดทำร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการที่ดินเพื่อการเกษตร เสนอต่อรัฐบาลเพื่อมารองรับการบริหารจัดการที่ดินเพื่อการเกษตรอย่างมั่นคงในระยะยาวต่อไป

2.9 ปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การจัดการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรและมาตรการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตรมีผลบังคับใช้ตามข้อเสนอดังกล่าวนี้

2.10 สร้างกลไกประกันการสูญเสียที่ดิน เพื่อไม่ให้ที่ดินเปลี่ยนมือไปอยู่กับนายทุนอีก โดยเสนอให้
2.10.1 ยกเลิกการขายฝากที่ดินเพื่อการเกษตร ซึ่งไม่เป็นธรรมกับเกษตร
2.10.2 สนับสนุนเกษตรกรที่ได้รับการจัดที่ดินให้รวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นองค์กรเครือข่ายที่เข้มแข็ง มีความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และมีอำนาจต่อรองในการประกอบอาชีพการเกษตรได้อย่างมีพลัง

กล่าวโดยสรุป ได้เสนอให้รัฐดำเนินการปฏิรูปใน 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ ปฏิรูประบบข้อมูลที่ดินเพื่อการเกษตร ให้มีความทันสมัยเป็นเอกภาพ และเป็นข้อมูลสาธารณะที่โปร่งใส ประชาชนเข้าถึงและตรวจสอบได้ ปฏิรูปการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตร ให้มุ่งกระจายการถือครองที่ดินสู่ประชาชนระดับล่าง และมีมาตรการจำกัดการถือครอง มาตรการแทรกแซงกลไกตลาด และมาตรการทางภาษี เพื่อป้องกันการผูกขาดที่ดินและสร้างความเป็นธรรมในการถือครองที่ดิน ปฏิรูประบบกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อการเกษตร โดยกำหนดมาตรการทางกฎหมายรองรับระบบการจัดการที่ดินและทรัพยากรโดยชุมชนควบคู่ไปกับระบบกรรมสิทธิ์ที่ถือครองโดยปัจเจกและโดยรัฐ เพื่อความสมดุลเชิงอำนาจระหว่างรัฐ เอกชน และชุมชน และ ปฏิรูปการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตร โดยกำหนดเขตพื้นที่การใช้ที่ดินและทรัพยากรอย่างเหมาะสมและได้ดุลภาพ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และระบบนิเวศ และให้การคุ้มครองพื้นที่เกษตรและเกษตรกรรายย่อยให้มีความมั่นคง และ ปฏิรูประบบการบริหารจัดการที่ดินเพื่อการเกษตร ให้เป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพ

กลยุทธ์การขับเคลื่อนข้อเสนอปฏิรูปการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตร ควรเริ่มต้นด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายที่ดินเพื่อการเกษตรแห่งชาติ และกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อการเกษตรขึ้นมา ก่อน เพื่อช่วยกำหนดกรอบ ทิศทาง และยุทธศาสตร์การทำงาน พร้อมกันนั้นควรมอบหมายให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นเจ้าภาพจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการที่ดินเพื่อการเกษตรขึ้นมาโดยเร็วภายใน 3 เดือน และขอให้รัฐบาลจัดงบประมาณเริ่มแรกในปีแรก จำนวน 1 แสนล้านบาท และงบบริหารจัดการอีกจำนวนหนึ่งให้เพียงพอ ประเดิมให้กับสถาบันฯ มาขับเคลื่อนกองทุนฯ บริหารจัดการที่ดินเพื่อการเกษตรให้สำเร็จลุล่วงต่อไป

การปฏิรูปการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตรให้มีความเป็นธรรมในสังคม ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นอกจากข้อเสนอเบื้องต้นดังกล่าวนี้แล้ว ยังจะมีข้อเสนออื่นๆ ตามมาในช่วงเวลาที่เหมาะสม รวมทั้งยังต้องมีการดำเนินการในด้านอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย เช่น การกระจายอำนาจตัดสินใจไปสู่ประชาชนและท้องถิ่น การเสริมความเข้มแข็งของพลังประชาชน การเปิดโอกาสให้ประชาชนและชุมชนสามารถมีส่วนสำคัญในการร่วมกันบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากร ตลอดจนการพัฒนาองค์กรประชาชนให้เป็นกลไกลสำคัญของการปฏิรูปที่ดิน และจัดการที่ดินอันเป็นฐานชีวิตของตนเอง

การปฏิรูปแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำในการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตรของชาติจะสำเร็จลงได้ ต้องอาศัยพลังการขับเคลื่อนของภาคสังคมเป็นสำคัญ คณะกรรมการปฏิรูปเป็นเพียงกลไกชั่วคราวของสังคมที่อาสาเข้ามาช่วยเชื่อมโยงภาคประชาชนให้ร่วมกันคิดและสร้างโอกาสให้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไปในทิศทางที่เหมาะสมได้เท่านั้น องค์กรภาคประชาชนด้วยตัวเองจึงต้องช่วยกันสร้างพื้นที่ปฏิบัติการให้มีรูปธรรมของความสำเร็จเป็นที่ยอมรับ สร้างสมัชชาประชาชนเพื่อสื่อสารกับสังคมทั้งในท้องถิ่นและในระดับชาติ และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนให้กว้างขวางและให้เข้มแข็งยิ่งๆ ขึ้นไป ภาคประชาชนจึงจะมีอำนาจต่อรองและมีพลังขับเคลื่อนข้อเสนอการปฏิรูปการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตรให้ไปสู่ปฏิบัติการแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำของสังคมได้จริง.

หมายเหตุ : ข้อเสนอปฏิรูปการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตร ที่นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการปฏิรูป เตรียมเสนอต่อรัฐบาล ซึ่งได้แถลงไว้เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2554 ที่บ้านพิษณุโลก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น