ขอเชิญทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเราในการสร้า้งสังคมแห่งการเรียนรู้...

หากต้องการลงบทความ/งานเขียนของท่าน สามารถแจ้งความประสงค์ได้ทางเว็บบอร์ด หรือทางอีเมล์แอดเดรส; po_kenchin@hotmail.com
หรือจะสมัครสมาชิกอย่างเดียวก็ได้นะครับ

02 พฤษภาคม 2554

จิตร ภูมิศักดิ์


จิตร   ภูมิศักดิ์
2473 - 2509

จิตร ภูมิศักดิ์ เกิดเมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๓ ที่ตำบลประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี เป็นบุตรของนายศิริ ภูมิศักดิ์ และนางแสงเงิน


พ่อของจิตรมีอาชีพเป็นนายตรวจสรรพสามิต ในวัยเด็กจิตรจึงย้ายที่อยู่และที่เรียนบ่อย จิตรเข้าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนประจำจังหวัดกาญจนบุรี ในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ - ๒๔๘๙ บิดาย้ายไปรับราชการที่จังหวัดพระตะบอง จิตรได้เข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ ที่นั่น และได้มีโอกาสศึกษาภาษาฝรั่งเศสและเขมรจนเชี่ยวชาญ

 ต่อมาบิดาและมารดาของจิตรได้แยกทางกัน ภายหลังสงครามอินโดจีน ไทยต้องคืนจังหวัดพระตะบองให้กับเขมร มารดาของจิตรได้ย้ายไปทำงานที่ลพบุรีและหาเงินส่งลูกเรียนที่กรุงเทพฯ จิตรเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร ระหว่างเรียนที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตรนี้ จิตรมักถูกตราหน้าว่าเป็นเขมรจากครูอยู่เสมอ หลังจากนั้น จิตรได้เข้าเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาและสอบไล่ได้เตรียมสอง (ม.ศ. ๕) ในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ และในปีเดียวกันนั้นเอง จิตรสอบเข้าเรียนต่อที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขณะเรียนอยู่ที่คณะอักษรศาสตร์ จิตรได้รับตำแหน่งเป็นสาราณียกรของมหาวิทยาลัย มีหน้าที่จัดทำหนังสือมหาวิทยาลัยฉบับ ๒๓ ตุลาฯ จิตรได้จัดทำหนังสือในรูปแบบที่แหวกแนวกว่าที่เคยทำมาทุกปี โดยพยายามชี้ให้เห็นสภาพที่แท้จริงของประชาชน และค่านิยมอันไม่ถูกต้อง จากเหตุนี้ ทำให้เกิดการสอบสวนจิตร จิตรถูกกลุ่มนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์จับ "โยนบก" ลงจากเวทีหอประชุม ทำให้ได้รับบาดเจ็บ คณะกรรมการมหาวิทยาลัยยังได้มีมติลงโทษจิตร โดยให้พักการเรียนเป็นเวลา ๑ ปี ระหว่างถูกพักการเรียน จิตรได้ไปสอนหนังสือและทำงานกับหนังสือพิมพ์ "หนังสือพิมพ์ไทยใหม่" ช่วงเวลานี้ เป็นเวลาที่จิตรได้สร้างสรรค์ผลงานอันมีคุณค่าต่อประชาชน และวงวิชาการไทย

ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ จิตรกลับเข้าเรียนต่อที่จุฬาฯ จิตรได้รวมกลุ่มกับเพื่อนนิสิตที่มีแนวคิดก้าวหน้า ทำกิจกรรมที่เน้นหนักไปในการศึกษาและต่อมานำไปสู่การปฏิบัติ แนวทางการเคลื่อนไหวของกลุ่มกิจกรรมนิสิตของจิตร คือการกระตุ้นให้นักเรียนนักศึกษามีความรักชาติ รักประชาธิปไตย สนใจการเมือง พิทักษ์และส่งเสริมวัฒนธรรมอันดีงามของชาติ ค้านระบบอาวุโส ลัทธินิยมคณะ และกระตุ้นให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยต่าง ๆ เกิดความสามัคคี โดยได้พยายามจัดตั้ง "สหพันธ์นักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย" ขึ้น

ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ จิตรจบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นได้เข้าทำงานเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่วิทยาลัยครูเพชรบุรี และเป็นอาจารย์สอนวิชาภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ในขณะเดียวกัน จิตรเข้าเรียนต่อปริญญาโทที่สถาบันค้นคว้าเรื่องเด็กของยูเนสโก ที่มหาวิทยาลัยประสานมิตร จากแนวความคิดของจิตร หนังสือรับน้องใหม่ของศิลปากรจึงออกมาแหวกแนวเช่นเดียวกับหนังสือของจุฬาฯ ในหนังสือเล่มนี้ บทความของจิตร "ศิลปเพื่อชีวิต" ภายใต้นามปากกาว่า "ทีปกร" ได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรก

วันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ จิตรถูกจับพร้อมกับบุคคลอื่น ๆ ที่ต่อสู้เพื่อประชาชนในข้อหา "มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์" และ "สมคบกันกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร" เป็นผลมาจากการยึดอำนาจและการใช้นโยบายปราบปรามของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ จิตร ภูมิศักดิ์ได้รับการปล่อยตัว เนื่องจากศาลกลาโหมยกฟ้อง จิตรถูกคุมขังอยู่นานถึง ๖ ปี โดยไม่มีความผิด ระหว่างที่อยู่ในคุก จิตรได้ทุ่มเวลาเขียนหนังสือ ผลงานเด่นที่สุดของจิตรขณะที่อยู่ในคุกคือ "ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาวและขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ" ซึ่งเป็นผลงานทางวิชาการที่ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษ

เดือนตุลาคม ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ จิตรได้เดินทางสู่ชนบทอิสาน เพื่อเข้าร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในนาม "สหายปรีชา" สหายปรีชาเดินทางมุ่งสู่ที่มั่นกลางดงพระเจ้า สหายปรีชาใช้ชีวิตอยู่ที่ดงพระเจ้าได้ไม่นาน กองทหารป่าก็ถูกกำลังของเจ้าหน้าที่เข้ากวาดล้าง นับเป็นครั้งแรกที่มีการแตกเสียงปืนในดงพระเจ้า

สหายปรีชาและพวกได้ถอยทัพไปสู่ "ภูผาตั้ง" ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งใหม่ของทัพใหญ่ สหายปรีชาได้ปฏิบัติงานมวลชนที่นี่ และได้แต่งเพลง "ภูผาปฏิวัติ" ซึ่งกลายเป็นเพลงต่อต้านอันโด่งดังของขบวนการคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย

วันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๙ ระหว่างการปฏิบัติงานมวลชน จิตร ภูมิศักดิ์ได้ถูกล้อมยิงเสียชีวิตที่บ้านหนองกุง ตำบลคำบ่อ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร




เพื่อลบรอยคราบน้ำตาประชาราษฎร์
สักพันชาติจักสู้ม้วยด้วยหฤหรรษ์
แม้นชีพใหม่มีเหมือนหวังอีกครั้งครัน
จักน้อมพลีชีพนั้นเพื่อมวลชน

บทกวีของอาเวตีก อีสากยัน กวีประชาชนแห่งอาร์เมเนีย
แปลโดย จิตร ภูมิศักดิ์ บทกวีนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของจิตร ภูมิศักดิ์ในที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น