ขอเชิญทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเราในการสร้า้งสังคมแห่งการเรียนรู้...

หากต้องการลงบทความ/งานเขียนของท่าน สามารถแจ้งความประสงค์ได้ทางเว็บบอร์ด หรือทางอีเมล์แอดเดรส; po_kenchin@hotmail.com
หรือจะสมัครสมาชิกอย่างเดียวก็ได้นะครับ

26 สิงหาคม 2554

เขื่อนแก่งเสือเต้น การหากินบนคราบน้ำตาของชาวบ้าน



แก่งเสือเต้น
ภาพ : www.trekkingthai.com
เรื่อง : วันชัย ตัน
“ผมคิดว่าการสร้างเขื่อนเป็นกระบวนการทำลายแหล่งพันธุกรรม ตลอดจนแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของสัตว์ป่า ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของผืนป่าทั้งหมด ที่มนุษย์มิอาจจะสร้างขึ้นมาใหม่ได้”
สืบ นาคะเสถียร
แก่งเสือเต้นเป็นชื่อเกาะแก่งของโขดหินในแม่น้ำยม ช่วงที่ไหลผ่านแม่น้ำยมบริเวณอุทยานแห่งชาติแม่ยม มีความยาว 2 กิโลเมตร ชื่อของแก่งเสือเต้นมาจากปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ทำให้เกิดรอยเท้าเสืออยู่บนโขดหินก้อนหนึ่งบนหาดทรายริมแม่น้ำ
ลำพังแก่งเสือเต้นก็ไม่น่าจะมีใครรู้จักมากมาย จนกระทั่งเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน มีข่าวว่าจะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นกั้นแม่น้ำยม ชื่อของแก่งเสือเต้นก็เป็นที่รู้จักของคนทั่วประเทศ โดยเฉพาะเมื่อมีปัญหาน้ำท่วม ฝนแล้ง บริเวณจังหวัดสุโขทัย หรือจังหวัดแพร่ ข่าวการสนับสนุนให้สร้างเขื่อแก่งเสือเต้นก็ดังสนั่นขึ้นจากปากของนักการเมืองทุกพรรคอย่างพร้อมเพรียงกัน ด้วยความเชื่อมั่นว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นจะเป็นยาสารพัดประโยชน์ สามารถป้องกันน้ำท่วมหรือฝนแล้งได้อย่างเด็ดขาด
ช่วงนี้พี่น้องชาวจังหวัดแพร่ สุโขทัย และอีกหลายจังหวัดทางภาคเหนือถูกภัยพิบัติซ้ำเติม โดนน้ำเอ่อล้นตลิ่ง น้ำป่าไหลท่วมบ้าน เรือกสวน ไร่นาเสียหายยับเยิน ซึ่งน่าเห็นใจเป็นอย่างยิ่ง และควรจะได้รับการเยียวยาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและถูกวิธีจากรัฐบาล
สิบกว่าปีที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ลงพื้นที่ป่าแม่ยมมาหลายครั้งแล้ว และอยู่ในบรรยากาศการขัดแย้งและโต้เถียงกันระหว่างผู้สนับสนุนและผู้คัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
ผู้เขียนจำได้ว่า เมื่อแรกเริ่มมีโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นนั้น ผู้ผลักดันโครงการคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือเรื่องการผลิตไฟฟ้า 48 เมกะวัตต์ และการเพิ่มพื้นที่ชลประทานขนาด 300,000 ไร่ ให้แก่เกษตรกร ส่วนการป้องกันน้ำท่วม การป้องกันอุทกภัยไม่ได้อยู่ในวัตถุประสงค์ของการสร้างเขื่อเลย
พูดตามประสาชาวบ้านก็คือ เขื่อนแก่งเสือเต้น เหมาะที่จะลงทุนสร้างเพื่อผลิตไฟฟ้าและการสร้างพื้นที่ชลประทาน ส่วนเรื่องป้องกันน้ำท่วมเป็นผลพลอยได้มากกว่า แต่เมื่อข่าวการสร้างเขื่อนถูกวิจารณ์มากๆ เจ้าภาพผู้รับผิดชอบการสร้างเขื่อนก็ถูกเปลี่ยนมือมาเป็นกรมชลประทาน ผู้หมายมั่นปั้นมือว่าจะสร้างเขื่อนแห่งแรกที่กั้นแม่น้ำยมขนาดความสูง 72 เมตรให้ได้
แต่ประเด็นการโต้แย้งจากผู้คัดค้านที่ชัดเจนมากที่สุดก็คือ หากมีการสร้างเขื่อนแล้วต้องสูญเสียพื้นที่ป่ามากกว่า 60,000 ไร่ ในจำนวนนี้มีเป็นป่าสักทองธรรมชาติผืนสุดท้ายกว่า 20,000 ไร่ ที่ต้องจมน้ำไป ชาวบ้านหลายพันคนต้องอพยพออกจากบ้านเกิด โดยที่ไม่แน่ใจว่าเขื่อนแห่งนี้จะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้งได้จริงหรือ
ไม่มีใครปฏิเสธว่าไม้สักเป็นราชินีของไม้ทั้งหลายทั้งปวง เนื้อไม้สักทองถือว่าเป็นไม้คุณภาพดีและแพงที่สุดในโลก บ้านราคาแพงก็ใช้ไม้สักบ่งบอกฐานะ ส่วนประกอบของเฟอร์นิเจอร์ที่ประดับในรถยนต์หรู หรือเครื่องบินโดยสารก็ใช้ไม้สักเป็นเครื่องบ่งบอกรสนิยม และบนเรือบรรทุกเครื่องบืนส่วนใหญ่ก็ใช้ไม้สักปูดาดฟ้าเรือ จากคุณสมบัติที่มีความคงทนต่อสภาพอากาศ น้ำทะเล และการยืดหดตัวน้อยกว่าไม้ชนิดอื่น
พระเจ้าได้ประทานไม้สักบนโลกนี้เพียงสามประเทศ คือ พม่า อินเดีย ไทย และที่เมืองไทย ป่าแม่ยมคือแหล่งสุดท้ายที่มีไม้สักทองตามธรรมชาติผืนใหญ่ที่สุด และไม้สักคุณภาพดีที่สุดคือไม้สักทอง เนื้อไม้สีเหลืองทองอร่ามตา หาใช่ไม้สักหยวก ไม้สักไข หรือไม้สักขี้ควาย
ที่ผ่านมาชาวบ้านและหน่วยงานรัฐหลายแห่ง ได้ช่วยกันป้องกันและรักษาให้ป่าสักทองผืนนี้เป็นแหล่งเพาะพันธุกรรมไม้สักทอง เพื่อเป็นมรดกให้กับลูกหลานในอนาคต
แต่อีกด้านหนึ่ง พื้นที่แห่งนี้ก็ตกเป็นเป้าสายตาของบุคคลบางกลุ่มที่เห็นประโยชน์มหาศาลจากการได้สัมปทานตัดไม้สักทองร่วมสองหมื่นไร่แห่งนี้มาอย่างเงียบๆ ซึ่งเป็นการยากที่จะได้ เพราะพื้นที่ป่าแห่งนี้อยู่ในอุทยานแห่งชาติแม่ยม มีกฎหมายคุ้มครองอย่างเคร่งครัด
เมื่อมีข่าวการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นเกิดขึ้น ส่งผลให้ต้องมีการตัดไม้สักสองหมื่นกว่าไร่ดีกว่าจะจมน้ำเปล่าๆ ผลประโยชน์ร่วมกันจึงเกิดขึ้น

สมัยก่อนข้ออ้างการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้า หรือการชลประทาน คงไม่ได้รับแรงสนับสนุนจากชาวบ้านเท่าที่ควร จนกระทั่งเมื่อดินฟ้าอากาศแปรปรวนหนักขึ้น มีข่าวน้ำท่วม ภัยแล้ง สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านอยู่ไม่เว้นแต่ละปี การปลุกผีเขื่อนแก่งเสือเต้นจึงเกิดขึ้นทั้งๆ ที่จุดประสงค์ของการสร้างเขื่อนแห่งนี้ มีเพื่อไฟฟ้าและการชลประทาน หาได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมหรือภัยแล้งเลย
แต่โอกาสทองกำลังมาถึงแล้ว การประโคมข่าวของบรรดานักการเมืองระดับชาติและท้องถิ่นที่เรียกร้องให้รัฐบาลสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นสร้างความเข้าใจผิดๆ ให้ชาวบ้านเกาะขอนไม้นี้ ด้วยความรู้สึกว่าเมื่อสร้างเขื่อนแล้วชีวิตจะดีขึ้น น้ำจะไม่ท่วม และใช้ความทุกข์ยากของชาวบ้านเป็นแรงขับเคลื่อนกดดันให้เกิดการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
ขณะที่ทุกวันนี้ แม่น้ำน่านมีเขื่อนสิริกิติ์ แม้น้ำวังมีเขื่อนกิ่วลม เขื่อนกิ่วคอหมา หรือแม่น้ำปิงมีเขื่อนภูมิพลขวางกั้นลำน้ำอยู่ แต่ชาวบ้านที่อยู่ใต้น้ำก็ยังประสบปัญหาน้ำท่วม ฝนแล้งและดินถล่มอยู่เป็นประจำ และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตามสภาพดินฟ้าอากาศที่แปรปรวนจากปัญหาโลกร้อน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการตัดไม้ทำลายป่า
กรมชลประทานก็เคยศึกษาแล้วว่าการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ร้อยละ 9.6 คือหมายความว่า ถ้าน้ำท่วมสูง 1 เมตร หากมีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะทำให้น้ำลดลงได้แค่ 9.6 เซนติเมตร
คุ้มหรือไม่คุ้มกับการสร้างเขื่อนมูลค่า 12,000 ล้านบาท กับการเสียพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์มากกว่า 60,000 ไร่ เพื่อได้มาซึ่งการแก้ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้งที่ไม่ถูกจุด
ตลอดระยะเวลายี่สิบกว่าปี ทุกครั้งที่รัฐบาลจะผลักดันโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ก็จะมีการตั้งคณะกรรมการและจ้างสถาบันวิชาการระดับประเทศเพื่อศึกษาวิจัยผลดีผลเสียของการสร้างเขื่อน และเกือบทุกครั้งก็ได้ข้อสรุปตรงกันว่า การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นมูลค่า 12,000 ล้านบาท ไม้คุ้มค่าเชิงเศรษฐศาสตร์อย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะวัดด้วยอะไรก็ตาม สู้เอางบประมาณเหล่านี้ไปหาแนวทางเพื่อแก้ปัญหาที่ตรงจุดมากกว่านี้ดีกว่า
ผู้เขียนเชื่อว่า หากเขื่อนแก่งเสือเต้นสร้างสำเร็จ น้ำก็จะยังท่วมต่อไป แต่ป่าสักทองผืนสุดท้ายก็จะมลายหายไปพร้อมกับภาษีประชาชนกว่า 12,000 ล้านบาท
ขณะที่มีแนวทางการแก้ปัญหาโดยแผนการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม ได้อย่างเป็นระบบทั้งลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ตั้งแต่การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การกักเก็บน้ำตามลำน้ำสาขาต่างๆ 77 สาขา โดยการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กกระจายไปทั่ว และให้ชุมชนตลอดลุ่มน้ำมีส่วนร่วมในการจัดการน้ำ รวมไปถึงการขุดลอกตะกอนแม่น้ำ อันจะสามารถฟื้นฟูแม่น้ำให้กลับมาทำหน้าที่แม่น้ำตามธรรมชาติได้ การทำทางเบี่ยงน้ำเพื่อระบายออกนอกเขตชุมชน
แต่แน่นอนว่า การแก้ปัญหาแบบนี้ในสายตาของนักการเมืองแล้ว ถือเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า เพราะไม่เห็นผลงานที่เป็นรูปธรรม หาเสียงด้วยการสร้างเขื่อนกับหาเสียงด้วยการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ผลสะเทือนย่อมต่างกัน ไม่รวมถึงผลประโยชน์จากการก่อสร้างมูลค่า 12,000 ล้านบาท ซึ่งหากคิดจากปัญหาคอรร์รัปชั่นในบ้านเราที่สูญเงินไประหว่างทางถึง 30-40 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าการก่อสร้าง โครงการแห่งนี้จะรับเงินเข้ากระเป๋าใคร เป็นจำนวนเท่าใด และใครจะได้รับสัมปทานตัดไม้สัมปทานตัดไม้สักทองผืนใหญ่นี้ คงพอนึกภาพกันออกว่าเป็นใครไม่ได้นอกจากนักการเมือง
ไม่น่าแปลกใจที่นักการเมืองทุกยุคทุกสมัย ฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลไม่เคยทะเลาะกันเลยเรื่องการสร้างเขื่อน
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 21 สิงหาคม 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น